ตกกระแส...


เมื่อไปถึงยอดแล้วที่นี่มันก็สบายแล้ว มันมีแต่วิ่งลง เรียกว่า มัน “ตกกระแส” แล้ว

 

การภาวนาเราไม่ใช่ว่าเดินจงกลมหรือนั่งสมาธิหรือว่าไม่ใช่อย่างนั้น  แต่ว่าการภาวนาเรามัน “ทุกอิริยาบถ...”
เราต้องจัดการกับตัวเอง

เราจะปล่อยให้มันเฉย ๆ ไป ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ได้พัฒนาตนเอง
ถ้าต้นไม้ต้นหนึ่ง ถ้าเราไม่เอาน้ำให้เค้า ไม่เอาปุ๋ยหว่านรอบ ๆ รากเล็ก ๆ น้อย ๆ รอยฝอยก็จะไม่เจริญ จะไม่เติบโต มันก็จะอยู่ “แห้งแล้ง” อย่างนั้น ก็เพราะว่าน้ำมันไม่มี ปุ๋ยมันไม่มี...

เราก็อยู่ปกติของเราธรรมอย่างนี้แหละ แต่ว่าเราไม่ทิ้งเรื่องจิตของใจ เรื่องการ “ภาวนา”

ความเครียดคร้านทุกอย่าง ที่ไม่อยากยืดเส้นยืดสาย ไม่อยากเอาระบบสมองมาใช้ปัญญาพิจารณา เป็นตัวที่ไม่ให้เราก้าวหน้าตัวหนึ่ง

เราทำไปเรื่อย ๆ อย่างนี้มันก็ไม่เคร่งเครียด มันก็เป็น “ธรรมชาติ” ของมัน
แต่ถ้าเราไปขยันเป็นครั้งเป็นคราวมันก็เครียดมันกันนะ
แต่ถ้าว่าเราจัดการไป “เรื่อย เรื่อย เรื่อย” เรามันก็ไม่เครียด

เราภาวนาไป เดี๋ยวปัญญามันก็เกิด สมาธิก็เกิดเอง
การบ่มนิสัย การบ่มอินทรีย์เราต้องทำไปเรื่อย ๆ ทำไปปกติ “ธรรมดา ธรรมดา” อย่างนี้แหละ
ใครจะรู้ก็ทำ ใครจะไม่รู้ก็ทำของเราอย่างนี้ รับผิดชอบอย่างนี้

คนเราถ้ามันสบายแล้วมันก็ไม่อยากทำอะไรนะ
มันก็อยากอยู่สบาย สบายไปเรื่อย
อันนี้มันเป็นการติดสบาย “ติดสุข...”

เราอย่าไปสนใจเรื่องความสุข ความดับทุกข์แค่นี้
มันเป็นถนนหนทาง ผ่านที่พักผ่อนข้างทางเฉย ๆ
ถ้าความดับทุกข์มันแค่นี้มันก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ
มันต้องมากกว่านี้ แล้วก็เป็น “อมตะ...”

มันจะเหนื่อยบ้าง ลำบากบ้าง เราก็ไม่ไปสนใจมัน ความเหนื่อย ความลำบาก ความอะไร ถ้าเราสนใจเท่าไร “ยิ่งอ่อนแอ”
ความอ่อนแอมันครอบงำเรา แล้วก็ก็ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
สมมติว่าเรามีความอ่อนแอจะขึ้นภูเขาลูกนี้ก็ “ท้อใจ” มัน “ไม่กล้า”
เราอย่าไปอ่อนแอ “ตายก็ช่างมัน” ลำบากก็ช่างมัน อะไรก็ช่างมัน
มันผอมได้มันก็ต้องอ้วนได้ อย่างมากก็แค่ตายเท่านั้น…

มันวิตกกังวล กลัวอย่างโน้น กลัวอย่างนี้
บางทีกลัวสุขภาพสู้ไม่ไหว กลัว
นั่งสมาธิไปก็กลั๊ว กลัว กลัวมัน
ถ้าเราจะตั้งสติให้จิตใจเป็นหนึ่ง อยู่เหนือนิวรณ์  ก็กลัวพักผ่อนไม่พอ กลัวไปนั่งหลับ อะไร อะไร
เพราะความอ่อนแอ พยายามเข้มแข็ง พยายามฝืนสติ พยายามใช้พลังจิตให้สติมันแข็งแรงให้มันข้ามนิวรณ์ไป
ถ้ามันข้ามได้บ่อย ๆ มันก็รู้ที่มัน

อารมณ์อะไรมันจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน ความคิดอะไรมันจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน เราอย่าตามมันไป เราอย่าไปง่อนแง่นคลอนแคลนตามมัน

ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ ปัญญาไม่เกิดนะ...
ถ้าเราไม่อยากให้มีอารมณ์ กลัวอารมณ์ล่ะก็ เราก็ไม่ได้ต่อสู้กับความจริงอีก
จิตใจมันขี้เกียจไม่อยากทำงาน “ติดสุข” อีกแล้ว

อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน อะไรเกิดขึ้นเราก็รู้มัน
ยิ่งแข็งแกร่ง ยิ่งมีปัญญาขึ้นนะ ยิ่งไม่ปรุง ยิ่งไม่แต่ง ยิ่งไม่หวั่นไหว ยิ่งมี “ปัญญา...”

“เก็บอารมณ์”
เข้ากรรมฐานเก็บอารมณ์ อารมณ์อะไรมาก็เก็บมันเลย ไม่ปล่อยมันไป เก็บมันลงใส่ตระกร้า ตั้งแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เราอย่าไปติดสุข อย่าให้สมองเราเฉื่อยช้า
เราต้องเอาตัวสัมปชัญญะ ตัวปัญญามารู้ “สติ” เพื่อทำการทำงานเกี่ยวกับกิเลสนี้

สมองมันช้าเกินบางทีมันไม่ทันกิเลส ไม่รู้กิเลส
ทำไมมันถึงช้า ก็เพราะเราไม่ได้ฝึก “ฝึกรู้อารมณ์”
มันยังไม่เป็นสัญชาติญาณที่จะ “ป้องกันภัย” หรือว่า “มันยังไม่เห็นทุกข์”
มันก็ไม่ยากเท่าไหร่ มันไม่ไกลเท่าไหร่ เพราะว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในปัจจุบัน
ไม่ใช่ของมันปฏิบัติไม่ได้ ของมัน “ปฏิบัติได้...”

ท่านถึงบอกให้ตื่นอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก
อันนี้ก็พูดตามหลักแล้วไม่ได้หมายถึง นอนหลับทางกายนะ “เป็นหลับทางจิตใจ”
ใจมันหลับ ใจมันไม่ยอมตื่น ใจมันไม่ยอมทำการทำงาน

สมาธิอย่างเดียวมันก็มีหวังได้เข้าคอกวัวเหมือนกันนะ
สมาธิกับปัญญามันต้องไปเสมอกัน ต้องเสมอกันตลอด ถึงจะ “สมดุล” กัน
 
แล้วสมาธินี่ชอบหลงอีกด้วย เอาไปเอามา “ตาขวาง ๆ” อีกด้วยนะ
ถ้าปัญญาไม่ขึ้นมาเสมอ ปฏิบัติไป ปฏิบัติมาบางทีเพี้ยนไปด้วย
สมาธิอย่างเดียวชอบอวดอีกด้วยนะ ความอวดมันรุนแรง ปัญญามันไม่มี
อะไรมาขัดใจนิดหน่อยก็ “โมโห” เร็ว ต้องเอาปัญญาไปร่วม “เสมอ ๆ” กัน

ถ้าขาดสมาธิมันก็ใจไม่เย็น มันไม่สงบ
กรรมฐานพากันอยู่สบาย ๆ บางทีไม่พัฒนาจิตใจก็มีนะ

บางทีก็ปรุงแต่งในสิ่งที่ไม่ปรุง นั่งสมาธิไม่ได้นั่งสมาธิ “นั่งปรุงแต่ง”
กว่าจะจบสมาธิก็เวียนหัวหมด กว่าจะจบชั่วโมงก็ ไม่รู้เรื่องไหนเป็นเรื่องไหนเข้ามา

ก็คนหลับตามันก็ไม่รู้ว่าใครไปใครมา คนลืมตามันก็รู้ว่าใครไปใครมา
ลืมตานี่ก็หมายถึงว่า เรามีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีจิตใจอยู่กับปัจจุบัน มีจิตใจที่ “สบาย...”

นักปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะที่ดี ที่สมบูรณ์ ต้องมี “ความเชื่อมั่นใจตัวเอง”
ถ้าทำอะไรไม่แน่ใจและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง มันก็ “ลำบาก”เหมือนกัน

ทำไมมันมีความเชื่อมั่นใจตัวเอง...?
เพราะว่าจิตใจอยู่กับปัจจุบัน จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจมันดับทุกข์ได้อะไรได้ เพราะว่ามันเห็นความดับทุกข์อยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว มันเห็นนิพพานอยู่ต่อหน้าอยู่แล้ว มันไม่ต้องรอนิพพานที่ตายเข้าโลง...
นิพพานไม่ใหญ่ นิพพานน้อย ๆ มันก็เห็นอยู่แล้ว มันก็เลยไม่สงสัยในความ “ดับทุกข์...”

ถ้าเรามองไกลแบบนี้ ไปคิดไปคำนวณ มันก็มั่วไปหมด สงสัยไปหมด
เพราะว่ามันไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ชีวิตจริง มันอยู่ด้วยลม ๆ แล้ง ๆ

อะไรเกิดมาเราก็ “รู้” มันอยู่อย่างนั้น ในปัจจุบันนี้แหละ
ใครจะไปจะมาก็รู้ นั่งมองอยู่นี่แหละ
มันจะไปไหนก็รู้อยู่ ก็คนไม่ได้ไปไหน คนอยู่บ้าน คนเฝ้าบ้าน

ถ้าเราไปอ่านหนังสือ หรือว่าไปดูตำรา รู้สึกว่าบางทีนิพพานมันอยู่ไกลเหมือนกัน
“ยิ่งเรียนไปมากยิ่งอยู่ไกลมาก”

แต่ถ้าเรากลับมาหาตัวเรา กลับมาหาปัจจุบัน มันก็ง่าย รู้สึกว่ามันใกล้เข้ามา
มันรู้วิธีดับทุกข์อย่างสบาย ๆ

ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว ใจอยู่กับปัจจุบันแล้ว เขาไม่กลัวหรอก
เขาไม่กลัวนั่งกี่วัน กี่คืนเขาก็ไม่กลัว จะตื่นตีสองตีสามก็ไม่กลัว
ก็เพราะว่าจิตใจมันอยู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่ไม่ปรุงแต่ง
อันนั้นมันเป็นเพียงแต่เราทำหน้าที่เฉย ๆ

เรื่องเวลา เรื่องอะไร มันเป็นเรื่องของนาฬิกา หรือว่าดวงอาทิตย์อะไรเฉย ๆ
เรื่องทั้งหลายทั้งปวงมันอยู่ที่เรื่องเราไปปรุงแต่งเฉย ๆ
เพราะธรรมชาติมันก็อย่างนั้น ถ้าเราไม่นอนมันก็เหนื่อยเป็นธรรมดา แต่ว่าใจของเรานั้นมันก็เป็นปกติของเขาอย่างนั้น “ใจของเราไม่เป็นทุกข์”
ถ้าเราไม่ได้ทานข้าวก็หิวเป็นธรรมดา แต่ว่าใจของเราไม่ทุกข์
ใจของเรามันไม่ระส่ำระสาย
มันเป็นทุกข์ก็ทุกข์ทางกาย จิตใจไม่ได้ทุกข์...
ถ้าเราได้ฝึกอย่างนี้ เราได้สัมผัสอย่างนี้เราก็รู้แนวทาง เอ้อ...วิธีการดับทุกข์มันดับอย่างนี้ มันดับง่าย ๆ อย่างนี้

ถ้าตามความดับทุกข์ทางเนื้อหนังมันไม่จบซักที
เราก็รู้วิธีดับทุกข์
เราอยู่ที่ไหนเราก็ฝึกดับทุกข์อย่างเราอย่างนั้นแหละ เพื่อให้มันชำนาญ ให้มันสมบูรณ์
เราฝึกอย่างนี้ จิตใจของเราจะได้แยกกาย แยกจิต แยกธรรมชัดเจน
ใจของเราจะได้มีสมาธิ มีความไม่หวั่นไหว ตามผัสสะ ตามนิวรณ์ ตามอะไร
ใจของเราจะได้เกิด “ปัญญา”

ถ้าเราไม่มีอุปกรณ์ฝึกเลยมันก็ไม่ได้เหมือนกัน
อย่างอยู่เฉย ๆ จะให้มันได้บรรลุมันก็ไม่ได้เหมือนกัน มันต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย

ก็คนไม่มีบารมีเก่าก็ยิ่งต้องได้สร้างมาก
แต่มีบารมีเก่าแล้วถ้าไปติดสุข ถ้าประมาทแล้วก็สู้บารมีใหม่ไม่ได้
เศรษฐีใหม่มาเร็วก็มีนะ เศรษฐีเก่าตกกระป๋องก็มีนะ “ไม่แน่...”

มันขึ้นอยู่ที่เรา ขึ้นอยู่ที่ความอุตสาหะของเรา
ทุกคนก็มาจากพ่อแม่ธรรมดา มาจากปกติธรรมดา
แต่ที่มันจะต่างกันก็เพราะว่า ก็ท่านองค์นั้นเขาตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ ตั้งใจรับผิดชอบ
เห็นว่าทางนี้แหละหนทางที่ดับทุกข์ที่แท้จริง แล้วเค้าก็ก้าวไปเรื่อย เดี๋ยวอีกหลายปีมองหากันไม่เจอ

เหมือนกับเราท่องมนต์ท่องอะไรไม่ได้ ท่องไม่ได้เราก็ท่องอยู่อย่างนั้น
เมื่อเราท่องไม่หยุดมันก็ได้เอง
แต่การท่องไม่ได้มันลำบาก มัน “เครียด”

เราเอาร่างกายนี้ เลือดเนื้อที่มันเกิดแก่เจ็บตายนี้ อีกไม่นานก็จะได้เผานี้มาทำประโยชน์ ให้มันมากที่สุด
ถ้าอย่างนั้นเราก็จะไม่ได้ใช้ยานพาหนะที่มันใช้ดีที่สุดให้มันเกิดประโยชน์

เราไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์
ไม่ใช่ว่าเราจะได้ทำอย่างนี้ตลอดไป
ถ้าใจของมันเป็นแล้ว สิ่งที่เป็นแล้วก็แล้วไป
สิ่งที่ยังไม่เป็นเราต้องพัฒนาไปอีก

ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งสบายไปเรื่อยนะ ถ้ามันถูกวิธี
แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้จักสบายนะเดี๋ยวนี้
เราเอาสบายกันแต่เนื้อหนัง เค้าเรียกว่าเราเอาสบายใน “โลกียะ” ทางเนื้อหนัง
การอยู่ดี กินดี การพักผ่อนสบาย มีที่อยู่ที่อาศัยสบาย ใครพูดถูกหูสบายอย่างนี้นะ เอาสบายอย่างนั้น

เราไม่รู้จักสบายที่มันอยู่เหนือไปอีก
ถ้าเราอยู่ไปเรื่อย เราก็ยิ่งเห็นไปเรื่อย ถ้าเรา “ภาวนา...”
ทุกอย่างมันไม่แน่ ไม่เที่ยง

ต้องภาวนาตลอด ไม่ว่าอะไรทุกอย่างต้องภาวนา
ปัญญาเรานี้ สมาธิต้องแวววาว
ถ้าเป็นมีดต้องมีดอย่างคม ไม่ใช่มีดทื่อ ๆ แหลมด้วยคมด้วย
ถ้ามีดคม ๆ ล่ะ อะไรแวววาวนี่ โจรเห็นก็วิ่งเหมือนกันเน๊อะ
ปืนยี่ห้อนี่ดี เม็ดมันเยอะนะ เห็นก็วิ่งเหมือนกันนะ

อันนี้ก็เหมือนกัน
ถ้าสมาธิเราดี ความแข็งแกร่ง ไม่สะทกสะท้าน มีอุเบกขาอย่างน้อย วางเฉย มีปัญญา เขาไม่กล้าสู้เหมือนกัน

ส่วนมากมันจะมาเวลาเผลอนะ
นิสัยไม่ค่อยดีชอบเปิดประตูให้ขโมย แล้วก็นั่งดู
ขโมยเขากลับไปแล้วยังยกมือบ๊ายบ่าย บ๊ายบ่าย โชคดีนะคุณ อย่างนี้แหละ ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามัน “เคยชิน”

ในชีวิตประจำวันเราจะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าจิตใจของเรามันฝึกยังไม่เป็น
มันจะยินดีในอารมณ์ ในธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น

มีหัวดี ๆ มีปัญญาดี ๆ เราก็ต้องเอามาทำงาน เอามาใช้งาน
คนเรามันเริ่มเรียนตั้งแต่ที่เกิดมา จนเข้าอนุบาล เข้า ป. เข้า ม. เข้าอันนี้ไปเรื่อย ๆ ทำภายนอกอันนี้ให้พัฒนาไป
แต่ถ้าเราฝึกเรียนรู้ความคิด รู้อารมณ์ ฝึกทำจิตใจเป็นสมาธิ มันก็เหมือนกัน ก็ไม่ต่างกัน
แต่อันนั้นมันเป็นทางที่เขาทำมาหากินกัน อันนี้เป็นทางดับทุกข์ทางจิตใจ เป็นการตัดกระแสทางวัฏฏะทางจิตใจ

“อานาปานสติ” นี่เราเจริญสม่ำเสมออยู่เรื่อย ๆ แหละดี
เดิน เหิน นั่ง นอนอะไรพยายามฝึกหายใจเข้าสบายออกสบาย อันนี้มันจะฟอกจิตใจของเราไม่ให้หลงอารมณ์ หลงต่าง ๆ

ไม่ใช่เราเอาไปใช้เวลานั่งสมาธิ ต้องใช้ตลอด ใช้บ่อย ๆ
เช่นว่าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอย่างนี้ล่ะก็ หายใจเข้าออกยาวลึก “สบาย” หลาย ๆ ครั้งมันก็กลับมาหาเนื้อหาตัวได้
หรือว่าคนเราเกิดความประหม่าเกิดอะไรอย่างนี้ ตามหลักเราก็หายใจเข้าออกยาวหลาย ๆ ครั้งก็กลับมาหาเนื้อหาตัว

ครูบาอาจารย์ท่านถึงให้ฝึก “พุทธโธ”
หายใจเข้าพุทธ... หายใจออกโธ... พุทธโธไว้ เพื่อให้จิตใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  
หายใจเข้าออกให้มัน “สบาย...” บ่อย ๆ

เราสังเกตุดูใครทำอะไรอะไรนี้นะ
ใครชอบหมกหมุ่นในอารมณ์หรือความคิด เรามองดูมันก็รู้นะ
บางทีมันออกมามาก มองดูก็ขวาง ๆ
เพราะว่าใจมันไม่ผ่องใส
บางคนก็ยิ้มอยู่ ยิ้มแต่ฟัน แต่ใจไม่ยิ้มบางทีก็ “น่าเกลียด”
หมกหมุ่น ครุ่นคิดอยู่กับอารมณ์ สิ่งที่เป็นอดีต เป็นอะไรซึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงในปัจจุบัน
เอาแต่อดีตมาคิด เอาแต่คิด กังวล นั่นแสดงว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
ดูหน้าตาแล้วก็เหมือน “ยาปวดหาย” อะไรอย่างนี้นะ ไปหมกหมุ่นครุ่นคิดในอารมณ์ ในอะไร มันเป็นอย่างนั้น...

ต้องฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบายไว้เสมอ
ถ้าเราไม่ต้องการเอาสมองเรามาคิดเราก็อยู่อย่างนั้นแหละ ธรรมดา ๆ
คล้าย ๆ ว่าต้องการเอาสมองเรามาใช้งาน เหมือนกับเราจะเอามีดอะไรมาใช้อย่างนี้นะ เราก็เอาออกมาใช้ ถ้าไม่ต้องการเอาออกมาใช้เราก็เก็บไว้ โดยที่เราไม่เอามาใช้ให้มันเปลือง สิ้นเปลือง เราเอาระบบสมองไม่มีปัญญา ใช้จิตชีวิตไม่เกิดปัญญา
ก็ดีแล้วเรามันคิดเก่งก็ดีแล้ว แต่เราต้องรู้จักความคิด อย่างนั้นเราจะได้เข้มแข็ง จิตใจของเราจะได้แวววาว

จะชอบใจ จะไม่ชอบใจอะไรเราก็ “เฉย…” อย่างนี้นะ
อยากฟังก็เฉย ไม่อยากฟังก็เฉย อย่างนี้นะ
รำคาญก็เฉย ไม่รำคาญก็เฉย อย่างนี้
ที่ว่าเฉยไม่ใช่ว่าเฉยไม่รู้นะ เฉยให้มีปัญญานะ

คนไม่รู้จักความสงบมันก็วิ่งหาความสงบไปเรื่อย
ถ้าเรารู้จักความสงบว่ามันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงจุดนี้มันก็ง่าย มันจะไม่ได้วุ่นวายตามอารมณ์
มันจะไม่ต้องไปโทษคนโน้น โทษคนนี้
เดี๋ยวก็ไปโทษเสียงเค้าอีกแล้ว ไปโทษโน้นอีกแล้ว
ก็สมัยทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไง โลกมันวิวัฒนาการ จะทำไม่วิวัฒนาการอะไรมัน มันแก้ใจของตนเองไม่อยู่
ก็ต้องฝึกใจของเรา ทำอย่างไงใจของเราถึงจะไม่เข้าไปปรุงในเสียง ในอะไร ก็ต้องหาวิธีวางจิตวางใจของเรา เพื่อใจของเรามันจะได้สงบ ถ้าเราสงบได้ก็แสดงว่ามันค่อยยังชั่วหน่อย “ไม่แพ้” ชนะอยู่ ห้าสิบหกสิบ บางทีเจ็ดสิบแปดสิบ บางทีร้อย
เสียงเขามาเมื่อไหร่ เค้าจัดงานอะไรอะไร เปิดเพลงอะไรแพ้เค้าทุกที อย่างนี้ก็ไม่ไหวนะ

นี่ก็แสดงว่าเราอยู่ไปเราได้พัฒนาจิตใจของตัวเองน้อย
ทำไมเราเห็นรูปมา ใจของเราถึงจะไม่ไปตามรูป
ถ้าใจของเราไปตามรูปก็แสดงว่าสมาธิเรามันอ่อน ปัญญาเรามันอ่อน
เพราะว่ารูปนี้มันมาสะดุดใจเราได้

สมาธิเราต้องแข็งแกร่ง
อานาปานสติเราต้องชัดเจนขึ้น เรื่องการวางอุเบกขาเราต้องแข็งแรงขึ้น หรือการมองให้เกิดปัญญาก็ต้องมากขึ้น

ให้จิตใจของเราขึ้นสู่ความว่าง ขึ้นอยู่อนัตตา มันถึงจะชัดเจนนะ
ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวแพ้เค้าทุกที
เจอรูปทุกทีเดี๋ยวลืมหายใจสบายทุกที
แสดงว่าเราเสียสภาพ “ดุล” ของจิตใจ ที่เรียกว่าใจมัน “ไหว”

ถ้าเราฝึกแล้วอย่างนี้ มันก็จะมีหน้าที่เดินไปเรื่อย เหมือนกับนาฬิกา จะมีหน้าที่ไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าใจของเราไม่เป็นปกติ มันก็จะเป็นเหมือนหัวใจของเรา ถ้าอารมณ์มาอย่างหนึ่งมันจะหัวใจเต้นช้า อารมณ์อย่างหนึ่งหัวใจเต้นเร็ว อันนี้มันขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ

ถ้าเราหนีไปโดยที่ไม่ได้เห็นไม่ได้ยินมันก็หนีกันดีอยู่ แต่ว่าหนีแล้วบางทีเจอทุกทีก็แพ้ทุกที มันต้องหนีด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

ไปในเมือง สมาธิเราต้องแข็งแรง ปัญญาของเราต้องเฉียบขาด
ปัญญาถึงต้องฝึกเอาซักหน่อย ต้องเจียรนัยกันหน่อย...
 
เราอย่าไปใจอ่อน ใจอ่อนตามรูปตามเสียง หมายถึงว่าสมาธิต้องแข็งแรง

ส่วนมากมันใจอ่อน...
ทำไมถึงใจอ่อน “ปัญญาไม่มี” ไปด้วยกันนั่นแหละ
มันไม่รู้ว่าไอ้ตรงนี้ใจเข้มแข็ง อันนี้ต้องใจที่มีปัญญา
มันไม่รู้ว่าอันนี้แหละทุกข์มันจะเผาตัวเอง

เมื่อจิตใจของเราชนะบ่อย ๆ จิตใจของเราก็จะสว่างไสว มันก็ไม่มัว

ถ้าเรารักษาไว้ได้ ทรงไว้นาน ๆ ยิ่งเข้มแข็งยิ่งชำนาญขึ้น
คล้าย ๆ ว่าเราไปภูเขาลูกนี้นะ เราเห็นแล้วว่าภูเขามันใกล้จะถึงแล้ว จะถึงยอดแล้ว ยอดภูเขาแล้ว เลยยอดไปแล้วมันมีที่โล่ง แต่ว่ามันยังไม่ถึง มันก็มีกำลังใจ

ในเมื่อใจของเรามันแข็งแรง ใจมันไม่อ่อนแอตามรูป ตามอะไรต่าง ๆ
มันก็ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ เพราะว่ามันไม่ท้อแท้ เพราะความเข้มแข็งยังมี “ผู้ต่อสู้ชกไม่ลง”
เมื่อไปถึงยอดแล้วที่นี่มันก็สบายแล้ว มันมีแต่วิ่งลง เรียกว่า มัน “ตกกระแส” แล้ว
เพราะว่ามันหมดสงสัยแล้วว่าอันนี้แหละเป็น “ทางดับทุกข์ที่แท้จริง...”

การที่ไม่อ่อนแอ การที่ตั้งมั่น การที่ไม่สงสัย ทุกคนมันก็น่าจะทำได้ถ้าจิตใจมัน “เข้มแข็ง” จิตใจมัน “ไม่ทอดธุระ...”

ก็พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระอริยะเจ้าท่านก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ถ้าไม่เข้มแข็งอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้แล้ว จ้างก็ไปไม่ได้ จะขอร้องไปอ้อนวอนอะไรก็ไม่ได้

เพราะมันของจริงต้องผ่านไปตรงนี้ เดินไปตรงนี้
ถ้าทางอื่นก็ทางเก่านั่นและ

ถ้าเรามาหลงทางโลก ทางวัตถุ มันไม่ได้อะไร เสียท่าแล้วนี่
“จิตใจอ่อน” มันหลงทางโลก ทางวัตถุ ทางอะไร เขาเรียกว่า “หมดท่า” แล้วนี่
ถ้าเป็นฤาษี เป็นฤาษีหลงเปรี้ยวหวานมันเค็ม คราวนี้มันสบายแล้ว เหาะอยู่ก็ตกลงมาได้นะ…

ต้องจิตใจหนักแน่น จิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีปัญญา
ก็พระพุทธเจ้าท่านมีพลังมากมาย หมายถึงจิตท่านมีพลัง จิตท่านแข็งแรงมาก
 
เป็นครูบาอาจารย์เค้าเหมือนกันนะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เข้มแข็ง ลูกศิษย์ก็ล้มเหมือนกัน
เพราะว่าโลกมันดึงไปกินหมด คล้าย ๆ ว่าแม่ทัพไม่เข้มแข็ง เสือจับไปกินหมด เดินผ่านป่า ผ่านอะไรข้าศึกศัตรูจับไปกินหมด...

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์
๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๘

คำสำคัญ (Tags): #ตกกระแส
หมายเลขบันทึก: 294777เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2009 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท