ดัชนีความสุขโลก(HPI: Happy Planet Index)


HPI ต้องการจะบอกว่า วันนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกไปถึงจุดหมายของ "สุขภาวะ" "ความสมดุลย์" และ "ความยั่งยืน" ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ตั้งคะแนนไว้ที่ 83.5 อันดับหนึ่งวานูอาตูได้เพียง 68.2 เท่านั้น

วันนี้ได้รื้อค้นจุลสาร เพื่อจะเก็บรวบรวมเป็นชื่อเรื่อง เปิดไปอ่านเจอบทความเรื่อง "HPI กับเศรษฐกิจพอเพียง"  ใน วารสาร บูรณาการเพื่อการพัฒนา ปีที่ 3 ฉบับที่3 เมษายน - มิถุนายน 2549 หน้า 3 - 5 

                    
              HPI เป็นแผนที่ความสุข ถ้าหากประเทศต่างๆ เดินตามแผนที่นี้ ก็จะพบความสุข ซึ่งก็เป็นเป้าหมายชีวิตของผู้คนทุกประเทศในโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้กำหนดตัวชี้วัด "ผิดๆ " มานาน คิดว่าการมีรายได้มาก การบริโภคมาก ทำให้คนมีความสุข ซึ่งไม่จริง
           
            ประเทศที่ GDP โตๆ ทั้งหลายไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้เลย อย่าไปมองไกลที่ไหนระหว่างปี 2530-2540 GDP ของไทยเติบโตทุกปีรวมแล้วเกินร้อยเปอร์เซนต์ แต่คนไทยก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้น ซ้ำยังทุกข์หนักอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อฝันสลายฟองสบู่แตกในปี 2540

คนจะมีความสุขควรจะมี 3 อย่างที่ประสานกันไป คือ

1) ความพอใจในชีวิต  ซึ่งวิชาการยืนยันว่าวัดได้ 
2) อายุยืน 
3) การใช้ทรัพยากร หรือผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้สูตรการคำนวณคือ HPI เท่ากับ 1X2 หาญด้วย 3

ความจริง ทั้งสามเรื่องก็ไม่ใช่อะไรใหม่เสียทีเดียว แต่ที่เป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ คือ กระบวนทัศน์หรือทัศนะแม่บท (paradigm) อันเป็นฐานและวิธีในการวัด "ความสุขของโลก" (HPI) ซึ่งแตกต่างไปจากของยูเอ็นและอีกหลายประเทศ ไม่เช่นนั้น สหรัฐอเมริกาไม่น่าจะหล่นไปอยู่อันดับที่ 150 อังกฤษ 108  สวิเดน 119 ฟินแลนด์ 123 ฝรั่งเศส 129 รัสเซีย 172 ยูเครน 174 ทั้งๆ ที่รัสเซียมีรายได้ต่อหัวประชากรถึง 9,230 เหรียญสหรัฐ

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ เรื่องทั้งหมดนี้มาจาก คนเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ เอ็นจีโอเล็กๆ สององค์กร คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) และ เพื่อนโลก (Friends of the Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ
            
           
วันนี้พวกเขามีตัวเลขมาบอกชาวโลกว่า ทำไมเขาถึงได้จัดสหรัฐอเมริกาไว้ที่อันดับ 150 ทั้งๆ ที่รายได้ต่อหัวประชากรถึงปีละ 37,562 เหรียญหรือ 1.420,000 บาท มีความพอใจในชีวิตอยู่ระดับสูงมาก คือ 7.4 เท่ากับวานูอาตู มากกว่าไทย (6.5) และอายุเฉลี่ยของคนอเมริกันก็ 77.4 สูงกว่าวานูอาตู (68.6)

ความแตกต่างอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของคนอเมริกันซึ่งอยู่ที่ 9.5 เกือบสูงสุดในโลก หมายความว่า คนอเมริกันใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด หรือมากกว่าที่ควรจะใช้ถึง 9.5 เท่า ไทยใช้ 1.6 สิงคโปร์ใช้ 6.2

ประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว แต่ผลาญทรัพยากรทั้งหลายจึงหล่นไปอยู่ท้ายๆ พอๆ กับประเทศยากจนในแอฟริกา ซึ่งอายุเฉลี่ยก็สั้น รายได้ประชาชาติก็น้อย (ต่ำว่าพันเหรียญต่อคนต่อปี) อย่างสวาซีแลนด์ (177) ซิมบับเว (178) สองประเทศที่กำลังล่มสลายด้วยโรคเอดส์ อายุเฉลี่ยประชากรเพียง 32.5, 36.9 ความพึงพอใจในชีวิตอยู่ที่ 4.2, 3.3 เท่านั้น

คนไทยเองก็ทำใจไม่ได้ที่เห็นเวียดนามอยู่อันดับดีกว่าไทย กลายเป็นที่หนึ่งของเอเชีย และไม่ค่อยเห็นด้วยที่ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียได้อันดับดีกว่า (15,17,23 ตามลำดับ) เพราะคิดว่าตนเองเศรษฐกิจดีกว่า "พัฒนา" มากกว่า

HPI อยากบอกว่า

1) คนจะมีความสุข สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโลกมากมายอย่างที่ใช้กันเลย

2) การพัฒนาที่สมดุลย์จะสร้างความสุขวันนี้ และมีเหลือให้ลูกหลานในวันหน้า นี่คือการพัฒนายั่งยืน

HPI ได้เสนอแนวทางไปสู่ "ความอยู่เย็นเป็นสุข" โดยมีชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดคือ
           
1) กำจัดความยากจนและความหิวโหยให้หมดไป            
2) สนับสนุนชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งอยู่นอกจากงาน ซึ่งอาจไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำด้วยใจรัก            
3) พัฒนานโยบายเศรษฐกิจในขอบเขตของทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดจำกัด  ทุกประเทศใช้เกินขีดทั้งนั้น เช่น สิงคโปร์ใช้ทรัพยากร 6.2 แปลว่า ถ้าทุกประเทศใช้อย่างนั้นเราจะต้องการโลกถึง 6 ใบกว่าๆ จึงจะตอบสนองความต้องการได้
           
ดัชนีความสุขโลกกลายเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็จะมีผลกระทบต่อสังคมโลกตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพราะได้กระตุกความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ไปโดนใจใครๆ ที่ตั้งคำถามเรื่องการพัฒนามานานแล้ว แต่ไม่มีใครหาคำตอบดีๆ ที่มีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ให้
           
ทำให้คนไทยจำนวนมากมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ใช่ปรัชญาลอยๆ แต่เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ HPI พูดถึงเลย

           
เศรษฐกิจพอเพียงบอกไว้ 3 อย่างที่สำคัญ คือ

1) ความพอเหมาะพอควร ซึ่งก็เป็นหัวใจของ HPI ที่เสนอให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่

2) ความมีเหตุมีผล เป็นแนวทางการจัดการชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจสังคม ใช้ความรู้ ใช้ปัญญา เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้คน และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราได้ใช้ด้วย "ภูมิปัญญา"

3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  หมายถึงการมีหลักประกันว่า สิ่งที่ทำจะมั่นคงยั่งยืน
           
เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานคืออะไร ขั้นก้าวหน้าคืออะไร เศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมต่อกันได้อย่างไร พอเพียงในธุรกิจ ในภาคอุตสาหกรรมและบริการคืออะไร โครงสร้างพื้นฐานขนาดไหนจึงจะ "พอเพียง"
           
           
HPI ทำให้เราเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำให้คนไทยมีความสุขได้ มีความพอใจในชีวิต มีอายุยืนยาว รวมทั้งมีรายได้เพียงพอ และมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคง
           
ถ้าเราไม่รีบดำเนินการ ไม่นานเมืองไทยอาจจะไหลลงไปเลยอันดับที่ 100 ของ HPI เพราะขณะนี้คนไทยก็เครียด บ้า และฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อยๆ  ทรัพยากรก็ลดน้อยลงไป หนี้สินชาวบ้านนับวันนับจะเพิ่มมากขึ้นแบบไม่มีทางออก

หมายเลขบันทึก: 80635เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
แวะเข้ามาอ่านครับ ดีครับ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ขอบคุณครับ
  • อ่านจนเหนื่อยเลยครับ
  • สรุปว่า ความสุขของคน ไม่ได้มาจากทรัพย์สินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือการผลาญทรัพยากร แต่อยู่ที่ความพอเพียงและความพอดีของการใช้ชีวิตแบบพอเพียง

นั่นสินะค่ะ ประเทศอเมริกาถึงจัดให้อยู่ลำดับที่ 150 เพระว่าผลาญทรัพยากรของโลกมากที่สุดในโลก แถมยังมีประชากรที่แก่งแย่งกันอีกต่างหาก

ยังดีที่ไทย ยังมี HPI อยู่ในลำดับที่ต้นๆกว่า อเมริกา ถึงแม้ว่า เศรษฐกิจจะไมได้ดีเท่ากับอเมริกา ถ้าเศรษฐกิจพอเพียง ประสบความสำเร็จ สมบูรณื ลำดับที่ HPI ของไทย คงจะอยู่ในลำดับต้นๆ พอๆกับประเทศวานูอาตู แน่ๆเลยค่ะ

สวัสดีครับPแก่นจัง

ขออนุญาติคัดลอกข้อความบางส่วนไปรวมใน

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

ขอบคุณมากครับ

ดัชนีชี้วัดความสุข คือ อยู่อย่างธรรมชาติ+ธรรมะ ไม่ทำลายเขาอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติเมื่อดูเขา เขาก็จะดูแลเรา

  • ขอบคุณ คุณพลเดชค่ะ
  • ขอบคุณอ.บีแมนด้วยนะค่ะ
  • ขอบคุณ P ถ้าทุกคนรู้จักความพอดี แต่จะมองประเทศไม่พัฒนารึเปล่าก็ไม่รู้นะ
  • ขอบคุณคุณสุทธิรักษ์ด้ววยค่ะ
  • ขอบคุณคุณอ้วน สุขทุกข์อยู่ที่เราทำ คิด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท