ความสุขที่หยุดหายไปในวัยเด็กของคนอายุย่างก้าว 50 ปี


หญิงสาวรายหนึ่งอายุย่างเข้าวัยห้าสิบปี... เป็นผู้ที่จัดได้ว่ามีการศึกษาในระดับหนึ่ง เป็นที่รู้จักและนับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไป ผิวพรรณหน้าตาถือว่าดี ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่... มีครอบครัวแต่ไม่มีบุตร เป็นคนที่จัดได้ว่ามีความตั้งใจในการทำงานมากคนหนึ่ง...

แต่...

เป็นคนที่ใครๆ ก็ไม่อยากอยู่ใกล้ ... ข้อมูลจากคนรอบด้านคือ อึดอัด เครียด และทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลนี้แล้วจะรู้สึกเครียด และขุ่นมัว...

ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับรายนี้ จนมีโอกาส ณ วันหนึ่งได้พูดคุย และเรียนรู้ ... ใบหน้าที่ได้เจอ แววตาที่หม่นหมองไม่มีประกายแห่งความสุข แม้ผิวพรรณดีโดยชาติกำเนิด แต่ไม่มีความสดใส ... เวลาที่อยู่ใกล้จะได้รับพลังแห่งความขุ่นมัว เป็นโทสะที่สาดกระทบมาภายใต้คำพูดที่ไพเราะ หน้าที่ตาที่แย้มยิ้ม แต่ไม่ได้ออกมาจากพลังข้างใน

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมสังเกต...

สิ่งหนึ่งที่ได้พบ จากข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลในอดีต ... ทำให้ได้คำตอบในประเด็นหนึ่งว่า

"หญิงสาว" ท่านนี้ไม่เคยมีความสุขในชีวิตเลย สุขที่ว่านี้ คือ สภาวะสุขเบาเบา สุขอย่างเย็นใจ เป็นสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยจากปัจจัยภายนอก... แต่เกิดขึ้นในจิตใจเรา อันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงไม่ให้จิตใจของตนเองแห้งผากเกินไปหนัก ... เป็นสภาวะที่พอทำให้เรียนรู้และดำรงตนอยู่ในสภาวะทุกข์แวดล้อมที่บีบคั้นได้ แต่สำหรับหญิงสาวนี้ไม่มีเลย แม้ว่าเธอจะแต่งหน้าแต่งตัวอย่างสวยงาม ก็หาได้สัมผัสถึงรัศมีแห่งความสุขของเธอไม่...

จากคำพูดและการกระทำที่สาดทุกข์...ใส่บุคคลอื่น

ที่พบประจำคือ การยุให้บุคคลอื่นเกิดการทะเลาะกัน ... จะเป็นสิ่งที่เธอทำอยู่เสมอ

แต่ข้าพเจ้ากลับพบเด็กตัวน้อยๆ ที่ขาดความรัก ความอบอุ่นในวัยเด็ก ... พัฒนาการของเธอต้องหยุดหายไปในช่วงวัยใดวัยหนึ่ง ... ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธอเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวและมีอายุห่างจากพี่ๆ มาก... สัมพันธภาพของเธอกับพี่น้องไม่ค่อยดีนัก... เธอมักเหยียดยามในพี่ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือมากเท่าเธอ พ่อแม่นั้นมีอายุมาก... ตอนที่แม่ตั้งครรภ์และคลอดเธอท่านอายุมากพอสมควร กรอปกับที่บ้านค้าขายไม่มีเวลาที่จะดูแลเด็กตัวน้อยๆ คนนี้มากนัก จึงมักปล่อยให้อยู่กับพี่เลี้ยงเสมอ...

นิสัยที่เอื้อเฟื้อน้อย...ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน และการให้อภัย

รวมถึง "ความเอื้ออาทร" เห็นอกเห็นใจ...สำหรับรายนี้แทบจะไม่มีเลย

บุคคลที่มารู้จักเธอ สักพักก็จากออกไป ไม่อยากสมาคมด้วย... ยิ่งทำให้เธอมีปฏิกิริยาที่ก้าวร้าวในอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดมากขึ้น... และที่แย่กว่านั้น พฤติกรรมของเธอเริ่มถดถอยเหมือนเด็กๆ เริ่มค้นข้าวของบุคคลอื่น ....

ความละเอียดอ่อนของการเยียวยาสำหรับรายนี้ทำได้ยาก เพราะบุคคลไม่ยอมรับในความเป็นไปของตนเอง และไม่ได้มองว่าตนเองพึงได้รับการเยียวยาและพัฒนาทางจิตใจ...

กระบวนการช่วยเหลือ จึงได้แต่อาศัยประคับประคองบริบทรอบด้านเธอ...

ให้เข้าใจในสภาวะที่เป็นไปของเธอ ชี้ให้พวกเขาได้มองเห็นเด็กตัวน้อยๆ ที่ขาดความรักและความอบอุ่น สิ่งที่คนรอบด้านสามารถแบ่งปันให้เธอได้ ก็คือ ความเมตตา สงสาร...และการให้อภัยในสิ่งที่เธอกระทบและดำเนินกระทบต่อการงานและสังคม...

การสนองตอบด้วยความรุนแรงต่อ...สภาวะที่เธอเป็น ไม่ใช่หนทางการช่วยเหลือเพื่อทำให้เธอดีขึ้น

หากแต่การช่วยเหลือ...เริ่มแรกคือ ทำความเข้าใจในมิติที่ละเอียด ลึกซึ้งและรอบด้าน ค้นหาเหตุที่แท้ของเธอให้เจอ... เมื่อยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในตัวเธอได้ เราก็น้อมกลับมาเปลี่ยนแปลงในตัวเรา ณ ขณะที่สัมพันธ์กับเธอ... ให้เป็นความสัมพันธ์ในความเข้าใจ สงสาร เห็นอกเห็นใจ และให้อภัยแต่ไม่ใช่ตามใจหรือปล่อยให้เธอกระทำสิ่งที่บิดเบือน... เรามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริง และข้อมูลตามจริงด้วยใจที่นิ่งและเป็นกลาง...

เมื่อไรที่ใจเรานิ่งและเป็นกลาง...

เมื่อนั้นเธอจะสัมผัสได้...ว่าปราศจากความโกรธ เกลียด และการโต้กลับที่รุนแรง...

การที่เรารักษาสภาวะใจที่เป็นกลาง อ่อนโยน อย่างเข้าใจนั่นน่ะเรากำลังช่วยรดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในใจของเธอที่มันเหี่ยวแห้งมานานแสนนาน ให้เบิกบานและเจริญเติบโตขึ้นในใจเธอให้ได้ อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง และเต็มความตั้งใจของเรา...

และเมื่อไรที่เราได้ปฏิบัติต่อเธออย่างเต็มที่และตั้งใจแล้ว...

เมื่อนั้นเราก็สามารถวางเธอลงจากใจเราได้อย่างเบาเบา....

และพร้อมยื่นมือให้เธอได้ทุกเมื่อที่เธอต้องการ...

 

คือการอิงอาศัยกันและกัน

ตามเวลาที่มาสัมพันธ์กัน

------------------------------------------

ขอบคุณ case ที่เข้ามาให้ได้เรียนรู้

และเข้าใจยิ่งขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 248263เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2009 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

“สิ่งที่คนรอบด้านสามารถแบ่งปันให้เธอได้ ก็คือ ความเมตตา สงสาร...และการให้อภัยในสิ่งที่เธอกระทบและดำเนินกระทบต่อการงานและสังคม...”

สิ่งที่ได้รับรู้จากข้อความ CASE นี้หลักตามหลักทฤษฎีของมาสโลว์เค้าคงถึงขั้นความต้องการแค่ขั้นที่ 2 ของมนุษย์นะค่ะ ( แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าขั้นที่ 2 นี้เค้าจะมีความสุขหรือเปล่า เช่น สมมติว่า มีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมีบุคลิกที่ดีสวยงามด้วยจากการแต่งกาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เสื้อผ้าราคาแพงหรืออาจเป็นแค่ ผ้าพื้นบ้านตามบริบทของที่ที่แห่งนั้น มองลึกลงไปเค้าจะมองเห็นความสวยงามในเสื้อ-ผ้า เครื่องแต่งกายที่เค้ามีหรือเปล่า วิเคราะห์นะหมือนกับว่าถ้าคนใกล้ชิดก็ดำเนินชีวิตตามปกตินี้หล่ะค่ะ แต่คนส่วนใหญ่มองว่าสวย เค้าอาจจะมองเห็นว่าการแต่งกายนั้นมันช่างสวยงามกว่าตนเอง (ในมุมมองของคนอื่นทั่วไปที่กล่าวชม เค้าได้รับทราบด้วย )แล้วเค้าก็มีพฤติกรรมลอกเลียนแบบการแต่งกายที่คล้ายคลึงกันกับคนใกล้ชิด แต่ด้วยวัย และบุคลิกภาพ หรือแม้แต่สรีระไม่เอื้อต่อเค้า แล้วก็คงไม่สุขสำหรับเสื้อ-ผ้าเครื่องนุ่งห่มของเค้าที่มีอยู่ หรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำให้เค้าต้องแสวงหาเสื้อ-ผ้าวัตถุภายนอกเหมือนคนที่เพื่อนๆชมว่าคนนี้สวยคนนั้นน่ารัก สิ่งนี้เป็นวิถีการดำเนินชีวิตตามปกติ ถ้าเค้าก้าวไม่ผ่านบันไดขั้นที่ 2ของท่านมาสโลว์ได้ แล้วความสมบูรณ์ทางด้านจิตใจ ความอิ่มเอิบในจิตใจจะพอมีได้อย่างไร มันคงยากในการเติมเต็มสิ่งที่ขาดให้เค้า นอกจากจะบันทึกรหัสแห่งการรับรู้ให้เค้าใหม่ เช่น ต้องชมว่าสวย ทั้งๆที่มันไม่ใช่ สิ่งนี้ก็ไม่ถูกต้องเลย

ความเมตตา สงสาร...และการให้อภัย ทำได้เมื่อสิ่งที่คนข้างเคียงมองว่าสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อตัวตนไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่นเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น

ในขณะเดียวกัน เกิดเป็นเหตุการณ์ที่กระทบต่องาน หน้าที่ที่เป็นภาพรวมขององค์กรที่คนคนนั้นอยู่ โดยเมื่อสิ่งที่กระทำจากคนนั้นผลการกระทำไม่อาจแยกได้ว่าเค้าทำไม่ถูก เค้าไม่ทำ สัญญาเป็นภาพองค์กร (เกิดจากการรับคำของเค้า )แม้อาจจะมีบ้างที่มีคนทีพอเกิดปัญญารู้ทัน ก็ส่งผลต่อคนในองค์กรทุกคน แล้วถ้าแม้ในองค์กรที่เค้าอยู่ การที่คนกลุ่มหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดทุกวันในเวลาทำงาน(พลวัตรกลุ่ม) ที่ต้องอดทนต่อพฤติกรรมที่เค้าทำกับเพื่อนร่วมงาน คำพูด ปฏิกิริยาที่โหดเหี้ยม ด้วยวาจา ท่าทางสายตา กระทำกับบุคลที่เค้าพอจะกระทำได้ ด้วยเพียงเพราะเพื่อนร่วมงานไม่มีความคิดในโต้ตอบเมื่อคิดว่าไม่อยากมีเรื่อง แม้จะส่งผลต่อความรู้สึก อารมณ์ขณะนั้นต้อง ด้วยเพราะ ไม่มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมเค้า ไม่มีประวัติการศึกษาที่ดีเท่ากับเค้า ไม่มีโอกาสให้ข้อมูลกับกลุ่มบุคคลที่พอดูแลองค์กรได้เพราะด้วยความที่ว่ากลัวกับปัญหาความขัดแย้ง หรือพูดแล้วหลายต่อหลายครั้งก็ยังแก้ไขไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร แม้ต้องรู้สึกแย่กับบรรยากาศองค์กรในแต่ละวันถ้ามีเค้าร่วมงานด้วย (ถ้าไม่อยู่ด้วยนานๆดูไม่ออก ถึงกิริยามารยาทตัวตนแท้จริงปิดไว้มิดชิด) ด้วยเป็นความรู้สึกอารมณ์ด้านลบในบางครั้งเป็นเรื่องที่รับไม่ไหว บางวันร่างกายเหมือนกับหมดแรงไปด้วยซ้ำ เพราะการจัดการกับอารมณ์ไม่ได้รวดเร็วนัก ถึงจะพบกับความสงบในใจได้ซะทุกครั้ง ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับ หลวงปุ่ชาท่านเคยสอนเรามาว่า ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่ เปรียบเสมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสบริสุทธ์เป็นปกติ เมื่อเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำจะกลายเป็นสีเหลือง สีเขียวไป จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็จะดีใจ ใจก็จะสบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมั่วไม่สบาย เหมือนกับน้ำที่ถูกสีเหลืองใส่เข้าไป ถูกสีเขียวก็เขียวไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

การนิ่งเฉยต่อบุคคลนั้น แต่ในมุมมองอีกด้านมันก็เป็นการสนองอารมณ์ความผิดปกติทางจิตใจ อารมณ์ ที่ทำให้คนนั้นยึดไว้เป็นเพื่อนสนิทที่เค้ามีอยู่ เพื่อดูแลช่วยเหลือป้องกันภัยร้ายที่เค้าประเมินว่ามันขัดกับความต้องการ มันขัดกับความรู้สึก ขัดกับความคิด ขัดกับความปรารถนาที่เค้าต้องการ เหมือนเป็นทฤษฎีการเรียนรู้การตอบสนองต่อสิ่งเร้า เมื่อเกิดภาวะความคิดการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเค้า

แต่ก็เอาเป็นว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพียงเพราะเหตุผลการมีชีวิตของแต่ละคน การงานก็ต้องทำต่อไปเนื่องด้วยเพื่อปัจจัยหลายอย่างของเรา กำลังใจ ให้คนใกล้กายเค้าคนนั้นเข้มแข็ง เหมือนกับความเข็มแข้งทางจิตใจของ เจ้าชายน้อย

ฝากกับเพื่อนรักที่ใกล้ตัวใกล้ใจเค้าคนนั้นว่า สถานที่ทำงานที่ต้อง(จำเป็น)ต้องอยู่ร่วมกับเค้านั้น อยากให้มองว่าเป็นที่ทำงานของเราที่ดีนะ มีความโชคดีที่มีโอกาศได้มาอยู่ตรงนี้ เหมือนกับเป็นสวนเงาะหรือสวนทุเรียน มีดินที่อุดมสมบูรณ์ อากาศก็ปลอดโปร่งดี (ดินฟ้าอากาศดี) เมล็ดพันธ์ที่ปลูกถ้ามีความสมบูรณ์ก็จะเติบโตออกผลให้สวนดี แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์ แม้อยู่ที่ดินดีเหมือนกันก็ไม่อาจได้ผลผลิตที่เป็นที่ต้องการ หรืออาจจะกลายเป็นต้นไม้ที่ไม่ออกผลเลยก็ได้ หรือออกผลเยอะมากแต่กินไม่อร่อยไม่หวาน มีเมลงกัด ก็ไม่เป็นที่ต้องการ(ถึงแม้สภาพที่อยู่ การดูแล การเจริญเติบโต มีเหมือนกันหมด หรือบางครั้งเค้าอาจได้รับปุ๋ย อากาศเยอะกว่าต้นอื่น มากเสียจนทำให้อิ่มกว่าทุกต้น ก็ไม่อาจ ส่งผลให้ผลผลิตออกมาได้เท่ากับต้นอื่น เพราะด้วยความที่ว่าเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์) เหมือนกับเพื่อนมนุษย์ที่ใกล้ชิดคนที่ทำร้ายจิตใจคนอื่น แม้กิจกรรมหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทุกคนให้ความสำคัญเท่ากัน ผลงานออกมายังไม่เหมือนกัน การ ให้ความสำคัญในสิ่งที่ทำต่างกัน สนใจผลลัพธ์ต่างกัน หรือนิยมกับข้อมูลที่เป็นตัวเลข โดยลืมไปว่ามันจะเกิดประโยชน์อะไรกับการมีตัวเลขที่เยอะแต่คุณภาพไม่ค่อยจะดูนัก หรือถ้าเปรียบเป็นผู้ป่วย ได้ยอดการบำบัดเยอะแต่ลืมไปว่าจำนวนยาก็ใช้กับแต่ละ CASE มากเหมือนกัน เพราะต้องปรับยาใหม่รักษาไม่ได้ผล หรือบางครั้งอาจหลงลืมทิ้งผู้ป่วยคนนั้นตัดออกจากจำนวนของตนเองเพราะดูแลไม่ไหวประสิทธิภาพลดลง (เพราะให้ความสำคัญกับตัวเลขมากไป) และประเด็นที่สำคัญยิ่ง คือ ที่ทำงานก็เป็นเหมือนบ้านเราแห่งที่ 2 ถ้าไม่มีความสุขกับคนในครอบครัว ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต มองคนในครอบครัวเป็นคนอื่น ไม่เคารพในความเป็นเพื่อน ไม่เคารพในสายสัมพันธ์เกื้อหนุนที่หล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิตของตนเอง ไม่ได้รับความไว้วางใจจาก คนในครอบครัว คนนั้นก็คงไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ที่มีความสุขที่เกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้จริง

ไม่ว่าสรรพสิ่งนั้น... จะเป็นเช่นไร...หรือจะถูกกำหนดให้ก่อเกิดมาในรูปแบบใดใด...

การน้อมใจลงปฏิบัติ...ต่อสรรพสิ่งต่างๆ นั้นด้วยความกรุณา...เท่าที่ใจแห่งความเป็นมนุษย์ของเรามีได้และแบ่งปันความรัก ความเมตตา - กรุณาต่อสิ่งนั้นได้...

การฝึกภาวนาด้วยใจที่เมตตากรุณานั้น...

"ใจ" เรานั้นได้เป็นผู้ได้รับการขัดเกลาก่อนสิ่งใดใดทั้งปวง...

การที่มีสรรพสิ่งเข้ามากระทบเราด้วยเรื่องราวใดใดก็ตาม น้อมใจลงขอบคุณเขา ที่เขาได้เข้ามาในชีวิตเรา เพื่อให้เราได้เรียนรู้...การฝึกเมตตาภาวนา... หากไม่มีเขา เราก็ไม่อาจสามารถรู้ได้เลยว่า "ใจที่มีเมตตาของเรานั้นเป็นเฉกเช่นใดบ้าง"...

(^___^)

อ่านแล้ว รู้สึก สงสารเธอผู้นั้นค่ะ

 

เด็กหญิงตัวน้อยๆ คนนั้น...

เธอนั่งอยู่ในความเงียบเหงา..อ้างว้าง ปราศจาก "ความรัก"...ที่อบอุ่นเพื่อให้ใจของเธอได้อิ่มเอม...

หากเราได้มีโอกาสโอบกอดเธอ ด้วยความรักและเข้าใจ แม้อาจจะเข้าไปแก้ไขอะไรในเธอไม่ได้...แต่อย่างน้อยพลังแห่งความรัก-ความเข้าใจที่ร่วมพลังอย่างทวีคูณนี้...อาจเป็นโอกาสแห่งการเยียวยา...จากสภาพบริบทแวดล้อมนี้ได้...

"ใจ" ที่นิ่งเย็นของเรา...ทำให้โลกนี้น่าอยู่...

ยิ่งกว่าการเร่งเติมเชื้อด้วยความ "ไม่ชอบใจ" ที่กัดกร่อน-ขุ่นอยู่ในจิตใจเรา...

.....ความละเอียดอ่อนของการเยียวยาสำหรับรายนี้ทำได้ยาก เพราะบุคคลไม่ยอมรับในความเป็นไปของตนเอง และไม่ได้มองว่าตนเองพึงได้รับการเยียวยาและพัฒนาทางจิตใจ.....

มีเวลา ก็เลยแวะมาอ่านอีกครั้ง..  วันนี้ได้พบบุคคลที่ไม่ยอมรับความเป็นไปของตัวเองด้วย  ทำให้ได้คิดว่า ในโลกนี้ ที่จริงแล้ว คนที่ไม่มีความสุขมักจะเป็นคนที่ยังคิดเองไม่เป็น เมื่อคาดหวังและอาศัยปัจจัยรอบข้างที่ไม่เข้ากับจริตของตนเอง ก็จะยิ่งเกิดความทุกข์ เหมือนอะไรๆ ไม่ได้ดั่งใจ  วันนี้ ได้แต่ เฮ้อๆๆๆ ในใจไปหลายรอบแล้ว..

(^__^)

P 7. a little sheep

เป็นเรื่องปัจเจคบุคคลที่จะน้อมนำการก่อเกิดปัญญานั้น แต่นอกเหนือจากความเป็นปัจเจคนั้น คือ การอิงอาศัยกันและกันของสิ่งต่างๆ ที่ได้เข้ามาและออกไปสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลบหรือบวกก็ตาม แต่นั่นนะเราก็ได้เข้าไปร่วมสัมพันธ์แล้วด้วย...

หากแต่..พึงมีการรู้ตัวภายใต้การสัมพันธ์ต่อเรื่องราว และบุคคลด้วยความเข้าใจ...อย่างที่คุณa little sheep ...น้อมใจลงทำความเข้าใจต่อเรื่องราวนั้น

ขอบพระคุณอย่างยิ่งนะคะที่ให้โอกาส...ได้ร่วมรับรู้เรื่องราวอันดีนี้ต่อชีวิตค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท