หวาดกลัว...คนจะมาฆ่า


ขณะที่นั่งอ่านอะไรไปเรื่อยใน GotoKnow ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จากน้องประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบว่ามีผู้ป่วยวิกฤติสุขภาพจิต อาละวาดและถูกส่งตัวไปที่สถานีตำรวจ ข้าพเจ้าจึงได้ประสานงานกลับไปที่หน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ทราบรายละเอียดว่า...มีคนไข้รายหนึ่งที่รับยาทางจิตเวช มีอาการเอะอะโวยวาย อาละวาด และวิ่งหนีบุกเข้าไปในบ้านคนอื่น ซึ่งในเบื้องต้นน้องบุรุษพยาบาลได้ออกไปสังเกตอาการแล้วที่ห้องขังสถานีตำรวจ...

ข้าพเจ้าจึงรีบออกไปเพื่อไปประเมินสภาพทางจิต...

พบชายหนุ่มวัยยี่สิบปี...หลับสลบไสลอย่างหมดฤทธิ์พิษสง...ในมือมีกุญแจคล้องไว้

ทราบว่าขาดยามาได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลังขาดยาเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นใครก็คิดแต่ว่าเขาจะมาฆ่าตัวเอง และวิ่งหนีไม่อยู่นิ่ง บางครั้งก็มีพูดบ่นพึมพำอยู่คนเดียว แต่ไม่มีทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น...

ข้าพเจ้าจึงพิจารณาประสานไปที่แพทย์เวรที่อุบัติเหตุฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

การเรียนรู้...การทำงานในช่วงเที่ยงวันหยุดเช่นนี้

ทำให้มองเห็นระบบงานที่ชัดเจน ทำให้การประสานงานไปตามจุดต่างๆ ทำได้สะดวกรื่นและคล่อง และหากว่าเราไม่ชำนาญในการประสานงานแต่ละจุดแต่เมื่อเราเปิดประตูใจเพื่อเรียนรู้ การทำงานก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ายุ่งยากหรือวุ่นวาย...ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำค่อนข้างดีจากเจ้าที่ EMS ถึงขั้นตอนหรือกระบวนการที่ต้องดำเนินในวันหยุดเช่นนี้

เพื่อให้เรียบร้อย...ข้าพเจ้าได้อยู่รอจนผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนถูกนำส่งตัว

ระหว่างขับรถกลับมาที่บ้าน...

ข้าพเจ้านึกไปถึงผู้ป่วยจิตเวช ...ก่อนที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะป่วย เขาก็มีสภาวะความเป็นปกติเฉกเช่นพวกเราทุกคน แต่เมื่อได้ป่วยทางจิตเวชแล้วระบบการทำงานในเรื่องอารมณ์ความรู้สึก นึกคิด ก็แปรเปลี่ยนไป การควบคุมตนเองก็ไม่สามารถทำได้ดี สูญเสียศักยภาพของการทำงานด้าน "สติสัมปชัญญะ"...

ความดี กับความบ้า...มีเพียงสติเป็นตัวกางกั้น

และเมื่อสติแตก จิตก็เตลิดไปตามอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด ฟุ้งซ่านเลอะเลือนไปอย่างที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ ...

ทำให้คิดไปถึงว่า...ในคนที่ยังพอมีสติสัมปชัญญะนั้นทำไมนะในช่วงที่ยังปกติอยู่นี่เราถึงไม่ดูแลถนอมสุขภาพจิตของเราให้อยู่ในความสมดุลย์ ทำไมเราจึงมักปล่อยตนเองคล้อยไปตามอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดฟุ้งซ่าน อันมีตัวอยาก ตัวโกรธ ตัวหลงเป็นผู้ชักใยทางให้เดินไป ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยจิตเวชนั้นจัดว่าเป็นผู้ที่มีความพ่ายแพ้ต่อ "กิเลส"...

ในผู้ป่วยรายนี้ก็เช่นกัน

ดูแล้วอายุก็ยังน้อย...กลับต้องมาเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อกิเลสครอบงำที่แปลงมาในรูปของ "ความหวาดกลัว" จนทำให้เสียสติ เกิดเป็นความเดือนร้อนต่อ...สรรพสิ่งต่างๆ อย่างที่ได้เห็น

 

๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓

๑๒.๐๕

หมายเลขบันทึก: 401731เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2010 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

น่าสงสารเขานะคะ อายุยังน้อย พ่อแม่คงทุกข์มากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท