ถ้าเราไม่พูดไม่เขียนเราจะไม่สามารถเอาความรู้ออกมาได้เลย


กระบวนการสร้างความรู้ของเรามีโครงสร้างความซับซ้อนอย่างยิ่ง มีหลายๆ ประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างความรู้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าตนเองนั่งถอดบทเรียนเรื่องนี้ทั้งชีวิตก็ไม่จบ เหมือนเป็นการวิ่งไล่ตามการเกิดของกระบวนการทางปัญญาอย่างไรอย่างนั้น แต่ที่สุดแล้ว...เมื่อต้องหยุดก็คือ ต้องหยุด แต่ตอนนี้ยังมีลมหายใจที่สามารถทำให้ข้าพเจ้าได้ดำรงอยู่ต่อการงานได้ จึงไม่อยากที่จะสูญเสียโอกาสของการได้ทำสิ่งที่มีค่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้เกิดมาและได้ทำ

การเรียนรู้ของบุคคลนั้นเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ... ขึ้นกับว่าเราใช้แว่นไหนส่องดู แว่นตาที่มีคุณภาพสูง ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นอะไรต่อมิอะไรได้ชัดเจนขึ้น ละเอียดขึ้น

และกระบวนการที่เกิดขึ้นนั้น ค่อนข้างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งเรานั้นแทบจะตามไม่ทัน "ตัวรู้" จะเคลื่อนไปในมิติต่างๆ แห่งภายในปัญญาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการเจริญสติเพื่อที่จะได้เกิดการตามรอยนั้นได้เร็วและทัน..รอยแห่งความเจริญทางปัญญา

กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในนักทฤษฎีทางการจัดการความรู้เรียกว่า tacit knowledge หรือภาษาไทยเราจะคุ้นกับคำว่า ความรู้ฝังลึก... แต่ในฐานของนักจิตวิทยาการเรียนรู้บางคนจะเรียกว่า mental model หรืออาจเรียกว่า มีการขยายโครงสร้างทางปัญญาเกิดขึ้น (schemata) แต่จะเรียกอะไรก็ตามสำหรับข้าพเจ้าน้อมนำเรียกว่า "ปัญญา"... เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นทางสมองและลึกซึ้งลงไปในหัวใจของบุคคล (Mind)

การเรียนรู้ของเราผ่านวิถีหลากหลาย แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องผ่านผัสสะทั้งหก "ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ" การเปิดรับสิ่งต่างๆ ผ่านเข้าไปจะมีกระบวนการคัดกรองอัตโนมัติ สติจะเป็นตัวกำกับให้เราได้คัดสรรว่าจะให้ข้อมูลอะไรผ่านเข้าไปได้บ้าง

เมื่อข้อมูลได้ผ่านเข้าไป...กระบวนการภายในจะทำงานอย่างรวดเร็ว..

ดูซึม (assimilation) และเชื่อมโยงปรับขยายโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)...หาจุดลงตัวที่เหมาะสม จะอย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยพื้นที่ที่ค่อนข้างมีคุณลักษณะที่ดีต่อการเอื้อให้เกิด นั่นก็คือ กายวิภาคของสมองและสารสื่อประสาทต่างๆ...และบรรยากาศที่ผ่อนคลายต่อการเรียนรู้

กระบวนการทางปัญญาจะเกิดความลุ่มลึกขึ้น จะต้องผ่านการเรียนรู้ที่เป็นรูปแบบของการลงมือปฏิบัติ

หากไม่ปฏิบัติก็ยากที่จะเกิดความลุ่มลึกทางปัญญาเกิดขึ้น...นอกจากบุคคลนั้นจะเกิดมามีความอัจฉริยะเลย...แต่จะอัจฉริยะแค่ไหนก็ยังต้องเรียนรู้ เพราะนั้นยังตกอยู่ในเงื่อนไขของคำว่าเป็น "มนุษย์" อยู่

ไม่ว่าจะมีไอคิวสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน บุคคล...ก็จะเคลื่อนไปสู่สภาวะแห่งการเรียนรู้กันทุกคน

โครงสร้างทางปัญญาของบุคคลจะถูกขยับขยายอยู่ตลอดเวลา...กระบวนการเก็บก็จะถูกนำไปเก็บอย่างเป็นระเบียบบ้าง ไม่เป็นระเบียบบ้าง...

แต่วิธีการที่เอื้อและช่วยให้เกิดการเก็บอย่างเป็นระเบียบได้ คือ การพูดและเป็นการพูดที่ผ่านการคิดและพูดอย่างมีสติ ผ่อนคลาย หรืออาจจะเป็นการเขียน...ซึ่งสองอย่างนี้ช่วยให้โครงสร้างทางปัญญาได้เกิดการจัดระบบระเบียบ...กระบวนการภายใน ฝึกทำฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทำให้การขยายโครงสร้างทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน "การเคลื่อนไปสู่ความลุ่มลึกของตัวรู้" ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ใครที่ไม่ชอบการขีดเขียนบันทึก หรือเรียบเรียงทางความคิด...

ข้อมูลที่มีอยู่ในปัญญาจะไม่ถูกจัดอย่างเป็นระบบระเบียบ สังเกตได้จากพูด หรือการกระทำ ที่บางครั้งอาจสะท้อนความสบสนภายในออกมา...

 การพูดหรือการได้เขียน...เป็นประตูที่เปิดไปสู่การจัดระบบระเบียบทางความคิดและปัญญา...

ถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ทางปัญญา 

เมษายน ๒๕๕๒

 ------------------------------------------------------

 

Cogtech2

หมายเลขบันทึก: 258289เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

แต่การพูดของบางคน อาจจะทำให้เกิดความรู้ยากขึ้น โดยเฉพาะ อาจารย์มหาวิทยาลัย บางคนพูดแล้วต้องไปแปลอีกรอบ หรือหลายรอบ ก็มีให้เห็นมากมาย

การใช้ภาษาในการพูดก็เป็นประเด็นสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการสร้างความรู้ ด้วยไหมครับ

สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ  ผศ.วศิน เหลี่ยมปรีชา

ตอนนี้อาจารย์คงอยู่ในช่วงงานเขียนนะคะ...(แอบติดตามค่ะ)...

ขอแลกเปลี่ยนในมุมมองที่กะปุ๋มพอมีฐานความรู้เดิมอยู่บ้างนะคะ กะปุ๋มจะมองอยู่สองด้านว่า "ทำไมเวลาพูดและฟังจึงเกิดความไม่เข้าใจ" 

  • ด้านแรกอยู่ที่ผู้พูด...เรื่องที่พูดนั้น บางครั้งอาจจะยังไม่ตกผลึกในความคิด เวลาที่พูดหรือสื่อสารให้ผู้ฟัง==> ฟังจึงไม่สามารถเรียบเรียงออกมาได้ดีนัก (Retrive) ตัวเองเคยมีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน คือ สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรืออาจมีปัญหาในเรื่องการจัดระบบระเบียบทางความคิด... หรืออาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ ลุ่มลึก และลึกซึ้ง... พูดแล้วฟังยาก เข้าใจยาก ... สังเกตนะคะว่า เวลาที่ใครสามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายนั่นน่ะ ได้เกิดการตกผลึกในเรื่องที่รู้.. การที่เราจะลุ่มลึกหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่เราจะพูดต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีคือ ผ่านการลงมือกระทำเรียนรู้นั้นด้วยตนเอง ดังนั้นอาจารย์ที่ทำวิจัยเยอะๆในเรื่องที่ตนเองสนใจและเชี่ยวชาญ เวลาที่ถ่ายทอดออกมาจะเข้าใจและฟังง่ายกว่าอาจารย์ที่เรียนรู้เฉพาะทฤษฎี ยกตัวอย่างเช่น รศ.ดร.แสวง ท่านเป็นอาจารย์สอนทางสาขาเกษตร เวลาที่กะปุ๋มฟังท่านพูดเรื่องการทำนา จะเข้าใจเพราะอาจารย์ได้นำความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีทางด้านวิชาการและการปฏิบัติ(อาจารย์ลงมือทำนาเอง)มาเชื่อมโยงกัน เวลาที่อธิบายอาจารย์จะไม่อธิบายเป็นวิชาการ แต่ผ่านการบอกเล่าเป็นเรื่องราวสบายๆ ก็ทำให้เราซึ่งอยู่นอกฟิวเข้าใจได้
  • ด้านผู้ฟัง บางครั้งฐานความรู้เดิมของผู้ฟังก็มีส่วน ทางทฤษฎีการเรียนรู้เขาจะเรียกว่า pior knowledge แต่กะปุ๋มจะชอบเรียกว่าพื้นความรู้เดิม ในบางคนที่ไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องที่ฟัง แต่ถ้าหากได้ใช้แนวทางการฟังแบบ deep listening ซึ่งเป็นการฟังอันปราศจากอคติ เปิดประตูใจฟัง กระบวนการนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้จะทำได้ดีกว่าการฟังที่เต็มไปด้วยอคติและการตัดสินผู้พูด ดังนั้นเวลาที่เราฟังเรื่องใหม่ๆ ถึงแม้ว่าคนพูดจะพูดรู้เรื่องไม่รู้เรื่อง แต่เราเปิดประตูใจในการฟัง สะสม สั่งสมตัวเนื้อความรู้ (Data) ขณะเดียวกัน ลงมือหาความรู้เพิ่มเติม เราจะเริ่มเข้าใจในเรื่องนั้นมากขึ้น นั่นน่ะเป็นเพราะว่าได้เกิดการขยายโครงสร้างทางปัญญาในเรื่องนั้นเกิดขึ้นค่ะ

และคำถามที่อาจารย์เปิดประเด็นว่า

"การใช้ภาษาในการพูดก็เป็นประเด็นสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการสร้างความรู้ ด้วยไหมครับ"

ในทัศนะของตนเองมองว่าสำคัญค่ะ...การใช้ภาษาที่เหมาะสม สุภาพ เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้ฟัง จะทำให้ผู้ฟังอยากจะสนใจและเรียนรู้ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยรู้เรื่องนั้นมาก่อน สิ่งนี้เขาเรียกว่าส่งเสริมแรงบัลดาลใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้ฟัง (แรงจูงใจ) เช่น กะปุ๋มรู้จักอาจารย์ท่านหนึ่ง รศ.ดร.ตรีเพชร ทำวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์ และได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของท่านด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่มีความรู้เลยซึ่งเต็มไปด้วยโครงสร้างทางเคมี แต่พอได้อ่านและได้ฟังการอธิบายด้วยภาษาที่ง่ายแบบไม่ลดทอนกำลังใจของผู้ฟัง ทำให้เราอยากจะฟังอยากจะอ่าน และพอได้อ่านกระบวนการของการทำความเข้าใจของเราจะเป็นอิสระปราศจากอคติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความเข้าใจมากขึ้น สภาวะของความเข้าใจนั้นน่ะ คือ สะท้อนถึงโครงสร้างทางปัญญาของเราได้เกิดการสร้างความรู้ในเรื่องนั้นเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง

ต้องขอบคุณอาจารย์ที่มากระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

(^____^)

ถูกต้องชัดเจนค่ะ ถ้าไม่ถ่ายทอดออกมา ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน เราก็จะไม่รู้ว่าเรานั่งทับนอนทับความรู้อะไรอยู่บ้างค่ะ :)

ชอบค่ะอาจารย์ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ที่ว่า "นั่งทับนอนทับความรู้" :) เห็นภาพเลยค่ะ

การที่เราพูดบ่อยๆ เขียนบ่อยๆ ...

จะทำให้เราได้มองเห็นภาพความเข้าใจของเรา (Mental Model) ว่าเรารู้อะไรไปบ้าง มากน้อยเพียงไร เข้าใจลึกซึ้งหรือลุ่มลึกแค่ไหน การพูดหรือการเขียนออกมา คือ การสะท้อนต่อตนเองค่ะ

และเป็นการสะท้อนที่ผ่านระบบการจัดเรียงข้อมูลในโครงสร้างทางปัญญาของเรา การพูดหรือเขียนแบบรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง ... เราจะเห็นเราชัดขึ้น เมื่อเราเห็นเรา เราจะน้อมนำไปสู่กระบวนการพัฒนาภายในตนเองได้ดีขึ้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ตัวเองก็เคยมีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ  คือ บางทีพูดแล้ว คนอื่นไม่เข้าใจ แต่เขาไม่ถาม ไปทำงานมาส่ง แล้วเราก็งงๆๆ ว่า เราไม่ต้องการแบบนี้  เลยย้อนดูตัวเราเอง ว่า สงสัยเราจะพูดไม่ชัดเจน แล้วคนฟังๆไม่รู้เรื่องค่ะ

พอเราใช้ใจเราน้อมลง ใส่ใจผู้ฟัง ตั้งใจและพยายามที่อยากจะให้เขาได้เข้าใจในเรื่องที่เราสื่อสารออกมา ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน ... กลับกลายเป็นว่า "ทักษะการเรียนรู้ด้านนี้ของเรากลับดีขึ้นนะคะ"...

ขอบพระคุณพี่ Sasinand ที่มาร่วมวงด้วยนะคะ

(^___^)

ดูเหมือนว่า โรค...ฟัง ไม่รู้เรื่อง

พูดไม่รู้เรื่อง

แก้ยากจังค่ะ

เลยพลอยให้.... เขียนไม่รู้เรื่องไปด้วยค่ะ

(^_^)

ฝึกเขียนบ่อยๆ...กระบวนการภายในทางปัญญาจะเยียวยาตนเองด้วยตนเอง... :)

พี่นก ตามอาจารย์มาฝึกเขียนค่ะ จะพยายามเรียนรู้เรียบเรียงเท่าที่พอมีเวลา ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดขึ้นก็คือเหมือนเราได้ตกผลึก ไตร่ตรอง หยุดนิ่งอยู่กับตัวเองจริงๆ เวลาเขียน เป็นการเยียวยาตนเองด้วยตนเองจริงๆ เช่นที่อาจารย์กล่าว ขอบคุณเรื่องราวดีของวันนี้นะคะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

บันทึกของ G2K นี่ก็เป็นเครื่องมือฝึกคิด ฝึกเขียนที่ดี...

สวัสดีครับ อ.Kapoom

        ขออนุญาตคิดเสริม & คิดต่างนะครับ ^__^

        เห็นด้วยครับว่า การพูดและการเขียนให้ดี นั้นจะเป็นการจัดระบบระเบียบทางความคิดและสติปัญญาอย่างแน่นอน เพราะต้องมีการประมวลความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ ฯลฯ แล้วเรียบเรียงออกมาให้ประสานกลมกลืนกันก่อนจะแสดงออกไปโดยการพูด และ/หรือ การเขียน

        อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าอาจมีหลายกรณีที่การแสดง "ความประสานกลมกลืน" หรือ การจัดระเบียบความคิดนี้ อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแสดงออกโดยการพูดหรือการเขียนเท่านั้น เช่น

           - การสื่อสารโดยใช้อวัจนภาษา
           - การแสดงความสามารถ (หรือแม้แต่การสอน) ผ่านทางทัศนศิลป์

           - หรือแม้กระทั่งการแสดงความคิดผ่านการกระทำหรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนมีรูปแบบโดยพูดหรือเขียนน้อยมาก (อาจนึกถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือกัลยาณมิตร ที่เป็น "ตัวอย่าง" ให้แก่ลูก ศิษย์ หรือคนรอบข้าง...ผ่านการกระทำของเขานั่นเองครับ)

        โดยสรุปคือ ผมเห็นด้วยกับ "แก่นสาระ" ที่ อาจารย์ Kapoom นำเสนอในบันทึกนี้อย่างที่สุด....แต่ขัดๆ ตรงชื่อบันทึก ซึ่งออกจะสุดโต่งไปสักหน่อย (เพราะไม่ครอบคลุมทุกกรณี) 

        แต่ถ้าเป็น "ถ้าเราพูดหรือเขียน เราจะสามารถนำความรู้มาแสดง หรือมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ก็จะขัดใจ (ผม) น้อยลงครับ ;-)

ด้วยความนับถือ

บัญชา

ขอบพระคุณค่ะ...อ. บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดีใจจังเลยค่ะที่ชายผู้หลงรักมวลเมฆมาทักทายถึงบันทึกนี้

ทุกคราที่นั่งอยู่นอกหน้าต่างเครื่องบินมองเห็นเมฆ อ.บัญชาจะเป็นหนึ่งในหลายๆ บุคคลที่กะปุ๋มนึกถึง เพราะเมฆนี้งามนัก...

หาก อ.บัญชา...ไม่พูดหรือเขียนออกมาในความคิดเห็นนี้...

กะปุ๋มก็อาจจะไม่ทราบได้ว่าท่านช่างคิดได้ลุ่มลึกเหลือเกินค่ะ...ในทัศนะของการจัดการความรู้

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท