แวะไปคุยกับ Mr.Direct l ตกผลึกแห่งชีวิตจากการปฏิบัติวิจัยในตน


เราน่ะนะเชื่อว่า "ประสบการณ์ที่ตกผลึก" น่ะสะท้อนถึงความรู้ทีเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เป็นเรื่องของการสร้างความรู้น่ะนะ (Knowledge construction)

เช้านี้ได้มีโอกาสก้าวเดินไปอ่านในเรื่องราวที่เหล่ากัลยาณมิตรถอดบทเรียนมาเล่าสู่กันฟัง ทำให้เกิดเป็นในตนเองที่ต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่าน "ประสบการณ์" "ประสบการณ์ตกผลึก" และ "ทักษะ"...ในบันทึกของ Mr.Direct ความมีอยู่ว่า

_____________________________________________________________________________________________

"ประสบการณ์ที่ตกผลึก"...หากในทัศนะของการสร้างความรู้ กะปุ๋มก็มองว่า นี่น่ะ คือ Tacit Knowledge ที่ปรากฏขึ้นแห่งกระบวนการภายในของนักวิจัย... แต่ที่ว่า พยายามหลีกเลี่ยงประสบการณ์ของนักวิจัยนั้น นั่นน่ะอาจเป็นเพราะว่า บางครานักวิจัยอาจไปใช้การจดจำ การปรุงแต่งทางความคิด มากกว่าที่จะดึงเอา "ความรู้ที่ปรากฏอันลึกซึ้งผ่านประสบการณ์ที่แท้มาบอกมากล่าวกัน"...

ทำให้กะปุ๋มนึกถึงว่า...

"ความรู้"...ที่หลายๆ คนกำลังพูดถึงนั้น

เราลืมพูดถึง ความรู้ที่เราซึ้งลงไปในใจจริงๆ หรือเปล่า? อันเป็นความรู้อันลุ่มลึก ซึ้งลงไปในใจบุคคล ดั่งเช่น กะปุ๋มได้รับการรับฟังจากน้องตาลว่า "เป็นผู้ที่มีทักษะการทำอาหารที่รสชาติได้อร่อยมาก... ทั้งๆ ที่อาหารบางอย่างเธอเพียงแค่ได้ชิมหรือได้ทานครั้งหรือสองครั้ง หรือบางคราเป็นการทำอาหารเพียงแค่เห็นภาพและนำมาทดลองทำ และเมื่อเธอได้ลงมือทำแล้ว... คนใกล้ชิดบอกว่า อร่อย คล้ายถิ่นเจ้าตำหรับทำเลย"... ซึ่งเมื่อน้องตาลมาพูดคุยเรื่องการทำอาหาร เธอก็จะนำจากประสบการณ์ที่เธอได้ทำมาเล่าได้อย่างซึ้งใจ...

ขณะที่เธอเล่าถึงเรื่องนี้ ช่างเป็นเรื่องเล่าที่ส่งมาจากใจของเธอ มากกว่าการจดจำหรือความนึกคิด... หากแต่มันออกมาจากภาพแห่งประสบการณ์ที่ฝังและตกผลึกอยู่ในอณูแห่งความรู้ในเรื่องนี้ของเธอ ...

นี่น่ะ น่าจะเรียกได้ว่า "เป็นประสบกาณ์ที่ตกผลึก"...

ความตกผลึกนี้ จะฝังลงไปในรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของเธอ ...

ความเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพในทัศนะของกะปุ๋มเอง ก็ไม่ได้มองว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นนักวิชาการนะ หากแต่เขาเป็น "นักชีวิต" ที่เข้าใจในเหตุแห่งความเป็นไปของความที่ปรากฏอยู่รอบด้าน รอบตัวและผ่านเข้ามาในผัสสะของเขา... ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยเชื่อมโยงผัสสะที่กระทบแล้วเกิดการประมวลผล แบบงวดเข้า...งวดเข้าเรื่อยๆ... จนกลายเป็นตกผลึกในเรื่องนั้นๆ...

ทุกวันนี้นักวิจัยเฉกเช่นนี้...หายากนะ...

เพราะว่า...อะไรล่ะ ?

เพราะว่า ทุกวันนี้เรามีนักวิจัยที่เป็นนักวิชาการเยอะ แต่หานักวิจัยที่เป็นนักปฏิบัติไปในตัวนี่หายาก การเป็นนักวิจัยที่ดีนั้น ต้องเป็นผู้ปฏิบัติวิจัยในตนเองอยู่เนืองๆ...หากไม่ปฏิบัติวิจัยในตัวในตนแล้ว ก็อยากที่จะเกิดเป็นประสบการณ์ตกผลึก...

 

 

หมายเลขบันทึก: 313587เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามอ่านการต่อยอดความรู้สู่การปฎิบัติครับ...

หากแต่เขาเป็น "นักชีวิต" ที่เข้าใจในเหตุแห่งความเป็นไปของความที่ปรากฏอยู่รอบด้าน รอบตัวและผ่านเข้ามาในผัสสะของเขา... ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยเชื่อมโยงผัสสะที่กระทบแล้วเกิดการประมวลผล แบบงวดเข้า...งวดเข้าเรื่อยๆ... จนกลายเป็นตกผลึกในเรื่องนั้นๆ...

สำหรับประเด็นนี้ผมเห็นด้วยและมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ครับ เพราะหากนักวิจัยไม่เข้าใจใน "ชีวิต" แล้วย่อมยากที่จะเข้าใจในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนะครับ ยิ่งการวิจัยในทางสังคมและพฤติกรรมด้วยแล้วย่อมเกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งสิ้นนะครับ...

ขอบคุณมากครับ...

หากว่าเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจ "ชีวิต"...นี่ก็น่าสนใจนะคะ

นี่แหละคือ ประเด็นของความหมายของการเกิดมา ... การเกิดมานี่เรามาเพื่อทำความเข้าใจเรื่อง "ชีวิต" เรื่องเดียวเลย

หากเราเริ่มตั้งโจทย์วิจัย...โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจ "ชีวิต"นี่...น่าจะเป็นเรื่องที่น่าท้าทายนะคะ... เชื่อว่ามีหลายๆ คนที่เคยสงสัยว่า "ตนเองนั้นเกิดมาทำไม..ทำไมจึงเกิดมาเป็นคน...และทำไมเราจึงต้องตาย"...

หากเราเริ่มต้นคำถามต่อตนเอง ต่อชีวิต

เราจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการวิจัย...อันเป็นการวิจัยที่เราใช้ตัวเรานั้นเป็นเครื่องมือ เพือแสวงหาคำตอบ อันเป็นคำตอบที่เราต้องรู้ซึ้งด้วยตัวเราเอง...การบอกเล่า บอกกล่าวของบุคคลอื่นนั่นน่ะเป็นเพียง Review leterlature หรือการทบทวนวรรณกรรม เพื่อนำมาประกอบในการศึกษาวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่การไป copy ชีวิตนั้นเรามาครอบลงในตัวเรา

น่าสนุกนะหากว่าเราได้ลองทำ หรือว่าคุณดิเรกมองเห็นว่าเช่นไร...?

 

 

ผมมองอย่างนี้ครับ...

การทำวิจัยก็เพื่อค้นหาความรู้ความจริงและธรรมชาติของสรรพสิ่งต่าง ๆ เพื่ออธิบายหรือเสนอแนะแนวทางหรือแง่มุมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และ "ชีวิต" ก็เป็นอีกอย่างที่มีความจำเป็นต้องค้นหาความรู้ความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนะครับ....

หากผู้วิจัยเข้าใจความรู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตของตนเองได้ดีแล้ว ผมเชื่อว่าย่อมสามารถที่จะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวได้ดีเช่นกันนะครับ และหากผู้วิจัยไม่อาจเข้าใจในสาระสำคัญของชีวิตตนเองแล้ว อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าใจสิ่งรอบข้างได้อย่างชัดแจ้งและแจ่มชัดนะครับ หรือบางครั้งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้นะครับ...

ขอบคุณครับผม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท