อารมณ์ "ความตาย"


ละความชั่วทุกขณะจิตทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ น้อมระลึกหายใจเข้าและออกถึง "ความตาย"

ในชีวิตเราได้ระลึกถึงความตายไหม... เราให้ความหมายของระยะเวลาการตาย คือ เมื่อไร

นี่เป็นคำถามที่มักปรากฏอยู่ในใจข้าพเจ้า เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะมองเรื่องความตายแบบเป็นความหมายที่บ่งถึงระยะเวลาที่อยู่ไกลและห่างตัวมาก การดำเนินชีวิตแต่ละวันไม่เคยระลึกถึง เพราะตามการรับรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา มองว่า หากพูดถึง "ความตาย" เป็นเรื่องอัปมงคล หากบอกหรือชี้นำให้ผู้อื่นระลึกถึง "ความตาย" ก็จะถูกประนามว่ากำลังสาปแช่งเขา...

นั่นเป็นความเห็นที่มาจากพลังด้านลบในจิตใจเรา จริงๆ แล้วผู้ชี้ให้เราน้อมระลึกถึงความตาย คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "มรณานุสติ"...

ในการฝึกมรณานุสติ...ทำสติ-ระลึกรู้ต่อสิ่งนี้บ่อยแค่ไหน ถี่แค่ไหน

เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะมัวเสียเวลาว่า หน้าที่การงานของข้าพเจ้าดำเนินไปในทิศทางใด ข้าพเจ้าจะก่อร่างสร้างฐานะอย่างไรบ้าง เรียนไปแล้วจะไปทำอะไรบ้าง จะแต่งงานมีครอบครัวไหม จะมีลูกกี่คนดี หรือหากมีลูกจะเลี้ยงลูกไปอย่างไร และอีกต่างๆ มากมายที่ปรากฏขึ้นมาเป็นความคิด จะกระทำสิ่งนั้นจะกระทำสิ่งนี้

แต่ อารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับความตายนี้ไม่มีเลย รู้แต่ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย ทุกคนต้องตาย เมื่อถึงเวลาตายก็ตายไปเองนั่นแหละ นี่เป็นการรับรู้ที่ยังไม่ลงไปที่ใจ หากแต่ตกค้างอยู่ที่สมองเท่านั้น

"ข้าพเจ้าน้อมมองตนเอง มองว่าเป็นบุญบารมีมาก ที่ข้าพเจ้าได้เจอธรรมะ ที่ว่าธรรมะนี้คือ อะไร คือ การได้น้อมตนเองลงปฏิบัติธรรม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การไปวัด ทำบุญตักบาตร อ่านหรือศึกษาพระธรรม ... แต่ได้เจอที่มากกว่านั้น คือ ความเข้าใจและปฏิบัติธรรมในทุกลมหายใจเข้าและออก... จากการได้เจอธรรมะนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นความเน่าและไม่สวยงามของร่างกายตนเอง ได้เห็นจิตใจทีชั่วของตนเอง...

และขณะเดียวกันข้าพเจ้าได้มองเห็นและเผชิญหน้าต่อความตายที่อยู่ตรงหน้า ผ่านเหตุการณ์และประสบการณ์ที่จากระดับหยาบไปสู่ระดับละเอียด ทำให้น้อมลงทำความรู้สึกตัวอยู่ที่ความตายทุกขณะจิตลมหายใจ

หายใจเข้า ข้าพเจ้าอาจตายได้

หายใจออก ข้าพเจ้าอาจตายได้

ในขณะที่ลมหายใจเข้าและออกนี้ ดวงจิตของข้าพเจ้าคิดดีหรือยัง ข้าพเจ้าละเว้นความชั่วหรือยัง การกระทำนั้นได้กระทำออกมาจากดวงจิตที่เป็นลักษณะเช่นไร เป็นแบบคิดดี หรือคิดชั่ว คิดดีต่อตนเองแต่คิดชั่วต่อผู้อื่นนั่นน่ะไม่ใช่ ครูบาอาจารย์เคยเอาแส้เฆี่ยนตีกมลสันดานแห่งดวงจิตเช่นนี้บ่อยครั้ง (เป็นการปรียบเทียบ) แต่ตอนนั้นใจมืด มองไม่เห็นเจตนาที่ครูสอน"

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มักบอกกับตนเองว่าเดี๋ยวค่อยทำ ทำสิ่งนั้นก่อนทำสิ่งนี้ก่อน เช่น การขอโทษ ขอขมา การอโหสิกรรม ชะลอวันวันนั้นก่อนวันนี้ก่อน เพราะใจยังหนักอยู่ ใจยังโกรธอยู่ นี่เป็นสภาวะจิตที่เป็นอยู่ ณ ตอนนั้น... แต่พอได้ทำอารมณ์อยู่ในเรื่อง "ความตาย" ทำให้ตระหนักเลยว่า ความตายจ่ออยู่ที่ลมหายใจเรานี่เอง...

"ใจ เริ่มกลัวความชั่ว เพราะความชั่วทำให้จิตดวงนี้ของข้าพเจ้าเศร้าหมอง ข้าพเจ้าไม่อยากจะตายไปด้วยอารมณ์เศร้าหมอง หรือจิตมีความเกลียด โกรธ อาฆาต แค้นผู้อื่น ข้าพเจ้ายังไม่ได้ลิ้มรสอารมณ์ของความเบาสบายในใจเลย... ระดับความตระหนักในตนเองเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ...

การเปลี่ยนแปลงจากภายในมาสู่ภายนอก ทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากเสียเวลาต่อการทำสิ่งที่ก่อประโยชน์ไม่มาก แต่ข้าพเจ้าน้อมกลับมาก่อประโยชน์ในใจตนเองมากขึ้น คือ การเยียวยาตนเอง จากจิตขุ่นๆ หมองๆ มัว ๆ อันเป็นความกังวลที่มาจากการดำเนินชีวิตภายนอก ทำให้ทุกข์ไปแบบโง่เขลา

เริ่มมาหาวิธีการขัดเกลาจิตใจตนเอง ทำอย่างไร จิตนี้ถึงจะได้เบิกบานผ่องแผ้วทุกอารมณ์ของการหายใจเข้า หายใจออก... ก็ได้พบกับหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเปลี่ยนแปลงตนเองก็ค่อยๆ บังเกิดขึ้นทีละนิดละนิด เรื่อยๆ... ไม่ว่าจะเจอกับสภาวะเช่นไรใจก็นิ่ง ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า "กระทบ" แต่ไม่ "กระเทือน - กระเพื่อมตาม" ได้อย่างซึ้งไปในใจ

การเปลี่ยนแปลงภายนอก...ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากว่าจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร ชื่อเสียงไม่มีประโยชน์สำหรับข้าพเจ้า เงินทองไม่ต้องมีมากพออยู่พอใช้ ไม่โกงกินล่อลวง มีก็มีไม่มีก็ไม่มี...การมีหนี้สินก็น้อมรับและใช้หนี้สินนั้นไปด้วยใจที่นอบน้อม และไม่สั่งสมเพิ่มขึ้น

หน้าเหี่ยวหรือผิวเหี่ยว...ก็ปล่อยไป ไม่บำรุง ตัวดำก็ปล่อยตัวดำ หน้าเป็นกระก็เป็นไป

แต่...ความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้นภายในใจตนเอง "ความเป็นอิสระ" อิสระจากอารมณ์ทั้งปวง อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์เศร้าหมอง มาทราบทีหลังว่าเหล่านี้มาจาก "กามราคะ"....

การดำเนินชีวิตภายนอกก็ดำเนินไปตามปกติแต่เป็นไปตามความรู้ตัวมากขึ้น

ทุกวันนี้ทำอารมณ์ให้มีสติกับความตาย ... เห็นคนรอบด้านดำรงอยู่ในชีวิตที่ประมาท ประมาทตรงที่ดำรงตนอยู่ภายใต้อารมณ์ที่ยึดไว้อยู่ ... ทำให้รู้สึกเป็นห่วง แต่ความเป็นห่วงก็คือความเป็นห่วง พึงได้ช่วยเหลือได้ ก็ลงมือรีบช่วยเหลืออย่างไม่รอช้า ไม่กลัว ไม่เกรง เพราะใจที่อยากช่วยเหลือเท่านั้น จึงไม่ได้กลัวว่าจะโดนคนที่เรากำลังช่วยถีบหรือเตะ หรือตบ... พอได้ช่วยแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลก็น้อมใจลงเบาๆ... อย่างวางใจ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของชีวิตบุคคลนั้น (ตามกฏแห่งกรรม)

"จิต" เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ความรู้ทางด้านจิตวิทยาที่ข้าพเจ้าเรียนมา ยังไม่บังเกิดเป็นความรู้เข้าไปในใจ ได้แต่เป็นเพียงตัวความรู้เท่าที่สมองรับรู้เท่านั้น แต่ไม่น้อมลงไปในใจมากเท่าคำตอบเรื่องจิตที่ได้มาจากการปฏิบัติธรรมทางการชี้ทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทุกพระองค์

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมปฏิบัติบูชา ... แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกขณะจิตแห่งลมหายใจที่มีอยู่นี้ด้วยความตั้งอยู่ในสติอารมณ์ "ความตาย"

สาธุ

....................................................

 

หมายเลขบันทึก: 189354เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2008 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่เคยคิดเรื่องนี้ ถ้าเราจะต้องตาย มีอะไรที่เราจะต้องห่วงไหม มีอะไรเรายังไม่ได้ทำ

ขอบคุณที่ได้รับคำตอบที่ดี เพราะคิดทีไร พี่ก็คิดยังไม่จบทุกที

มาทักทายจ๊ะ

คิดถึงความตายอย่างผ่องใส สบาย เบา ^ ^

สวัสดีค่ะพี่แก้ว :

  • พิจารณาไปเรื่อยๆ ตลอด จะทำให้ภูมิที่รู้นี้ละเอียดขึ้นและละเอียดขึ้น และที่สำคัญจะช่วยให้พี่แก้วได้เยียวยาผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้ายได้อย่างประเสริฐยิ่งต่อการดับไปแห่งดวงจิตดวงสุดท้ายของเขาคะ

พี่ตุ๋ยคะ :

  • สาธุ สาธุ สาธุ
  • ขอให้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นนะคะ

(^___^)

กะปุ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท