ถอดบทเรียนระนอง ตอนที่หนึ่ง >> "Open Mind"


"คนเรานั้นมักเกิดความรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินคำว่าวิจัย หากแต่ได้เปิดใจโดยปราศจากอคติ เปลี่ยนจากมิจฉาทิฐิมาเป็นสัมมาทิฐิ คือ ความคิดเห็นชอบต่อสิ่งนั้นๆ (วิจัย) แล้วจะมีความกล้ามากขึ้น...ความกลัวน้อยลง"

"พอรู้ว่าจะต้องมาอบรม R2R และได้ยินคำว่าวิจัย

ก็รู้สึกแล้วว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ยาก ที่เครียด และน่าปวดหัวแน่นอน"...

นี่เป็นคำบอกเล่าที่หลายคนในห้องประชุม ได้บอกกล่าวต่อกันให้ได้รับทราบถึงความในใจก่อนที่เราจะเข้าสู่บรรยากาศการเรียนรู้ R2R ในวันแรก ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับข้าพเจ้ามากนัก เพราะค่อนข้างจะคุ้นๆ กับการเริ่มทำ BAR ; หรือ Before Action Review จากในหลายๆ ที่ที่เดินทางไปเป็นวิทยากรกระบวนการ R2R ที่สะท้อนให้ได้ทราบถึงความรู้สึก นึกคิดของคนหน้างานต่อการทำ R2R

"R2R ไม่ใช่การทำวิจัย แต่เป็นการทำการพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น"... นี่เป็นประโยคที่ข้าพเจ้าคุ้นหู จากคำพูดของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เน้นย้ำทั้งทางน้ำเสียงและท่าทางผ่าน VCD ที่ทาง สวรส. จัดทำขึ้นมา... "คนทำงานประจำ พอทำไปนานๆ มันเบื่อ ... เป็นเหมือนเครื่องจักร"...

...

ขณะที่ข้าพเจ้าเปิด VCD ให้กับพยาบาลเกือบทั้งหมดในห้องประชุมของโรงพยาบาลระนองได้ชมและทราบถึงแนวคิดที่มาที่ไปของ R2R ที่ทาง สวรส. อาสารับเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนนั้น ได้สังเกตเห็นหลายคนพยักหน้าอย่างเห็นด้วยต่อคำกล่าว ประโยคคำพูดที่สะท้อนถึงความจริงที่ปรากฏอันยากที่จะปฏิเสธได้สำหรับ "คนหน้างาน" ที่เริ่มจะกลายสภาพเป็นเครื่องจักรที่ลดทอนความเป็น "ชีวิต"ลง

"ความเร่งรีบ การทำงานที่ปราศจากความสุข" เป็นเรื่องราวที่สะท้อนออกมาจากคำบอกเล่า

สิบนาทีที่เป็นเรื่องราวถ่ายทอดบอกกล่าวทั้งในแง่แนวคิดและจากคนต้นเรื่องไม่ว่าจะเป็น "โรงพยาบาลหนองกุงศรี" หรือ "โรงพยาบาลศิริราช" ต่างเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนหน้างานที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง "ชีวิตการทำงานของตนเองให้มีคุณค่าและมีความหมายเพิ่มมากขึ้น"

ทุกคนในห้องประชุมวันนั้น (17 ธันวามคม 2551) ที่เกือบจะล้นห้องจนต้องย้ายห้องประชุมใหม่หลังจากชั่วโมงแรกแห่งการเรียนรู้ได้ผ่านไป ... ทุกคนได้ย้อนกลับมามองถึงสิ่งที่ตนเองได้ฟังและได้ดู VCD และได้สะท้อนออกมาว่า... "ได้เกิดการเรียนรู้อะไรที่เกิดขึ้นภายในตนเองบ้าง"...

"R2R จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัว"

"เราดูเหมือนจะทำ R2R อยู่นะจากการทำงานของเรา"

"R2R ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก หยิบเอางานประจำที่เราทำอยู่ทุกวันนั่นแหละมาพัฒนา มาทบทวน"

นี่เป็นบทสรุปโดยภาพรวมของผู้เข้าร่วมกว่า 70 ที่สะท้อนออกมาจากการได้น้อมนำให้ได้ทบทวนในตนเองจากตัวอย่างและเรื่องราวที่ได้ดู เมื่อบุคคลได้เกิดการทบทวนต่อตนเอง การตีความก็จะแตกต่างกันออกไป ตามสภาพภูมิรู้เดิมของแต่ละบุคคล แต่สำหรับชาวพยาบาล โรงพยาบาลระนองการตีความต่อการรับรู้ R2R ผ่านการดู VCD นั้นค่อนข้างจะมีทัศนะภาพรวมเกิดขึ้นต่อ R2R ว่า "เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยุ่งยากและไม่ไกลตัว สามารถทำได้"...

การเรียนรู้ที่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งการสร้างความพร้อมที่จะเรียนรู้ผ่านผัสสะทั้งหกอันประกอบด้วย ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ของมนุษย์นี้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "กระบวนการสร้างความรู้" อันน้อมนำไปสู่การเกิดกระบวนการทางปัญญานี้ผู้เรียนรู้จะต้องมีความพร้อมอันเป็นความพร้อมจากการเปิดรับ โดยปราศจากหรือลดทอนอคติให้เบาบางลงไปได้ สภาวะการเรียนรู้จะเปิดรับได้กว้างมากขึ้นและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย สงบ เปี่ยมไปด้วยความสุขจะทำให้เกิดส่วนที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ดีๆ เข้าไปเพิ่มพื้นที่มากขึ้นในกระบวนการฝังเก็บไว้ทางปัญญา และในการเรียนรู้เริ่มต้นครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ผู้เรียนรู้ได้ผ่อนคลายพร้อมผัสสะที่ผ่านคลื่นเสียงเพลงบรรเลง ทำให้สภาวะจิตที่วุ่นวายที่สะท้อนออกมาจากความคิด คำพูด เข้าสู่สภาวะที่สงบ นิ่ง รวมจุดมากขึ้น..>>>

"กิจกรรมพักกาย-พักจิต" ก่อนกิจกรรมอันสะท้อนบทเรียนที่ได้เรียนรู้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าค่อนข้างง่ายและได้ผลที่จะดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องด้วย "สุนทรียะสนทนา" ภายใต้สโลแกนที่ข้าพเจ้ามักพูดกับตนเองเสมอๆ ว่า

"น้อมใจลงฟังและพูดคุยกันด้วยใจที่นอบน้อม"

ทำให้หลายๆ คนได้เกิดความรู้สึกดีดี ต่อการบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตนเอง มีโอกาสได้ทบทวนตนเอง เรียบเรียง และบอกเล่าออกมาโดยปราศจากการกระแทกทางอารมณ์ ซึ่งนี่น่ะเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของทักษะการฟัง...ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังด้วยใจเบาเบา อันนำไปสู่ความใคร่ครวญในสิ่งที่ฟังกันและกันมากขึ้น...

"รู้สึกว่าดีกว่าการถกหรืออภิปราย...ทำให้ไม่ปวดหัว"

จากการได้เริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่ Open Mind - สภาวะแห่งการเปิดใจน้อมรับ... ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมได้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่ อันเป็นประสบการณ์ที่คละเคล้าไปด้วยความรู้สึกดีดีต่อกัน ต่อเรื่องราว ทำให้ส่วนเปิดรับที่จะนำข้อมูลอันเป็น Data หรือ Information เข้าไปเสริมและเติมเต็มได้ดีกว่าที่เปิดการเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยบรรยากาศแห่งการบรรยายเลย...

หลังจากที่ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายแล้ว...ข้าพเจ้าได้เพิ่มเติมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ R2R ... ให้กับทางห้องประชุมได้ทราบเพิ่มเติมเพื่อเกิดความเข้าใจที่น้อมนำไปสู่ความเข้าใจในระดับลึก-Deep Understanding มากขึ้น แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด นี่เป็นเพียงประตูเริ่มต้นของการเรียนรู้ของช่วงต้นในวันแรกที่ปรากฏขึ้น ณ โรงพยาบาลระนอง...

 

-------------------------------

 

 

 Note: วรรคแรกและวรรคสุดท้ายของความคิด

----------------

"วิจัย"...เมื่อนึกถึงทุกคนจะกลัว กังวล และคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก น่าเบื่อ และไม่อยากทำ แต่นั่นเป็นภาพที่ติดอยู่ในประสบการณ์เดิมของผู้คน แต่เมื่อเราสามารถเปลี่ยนความคิดเดิมโดยการสร้างประสบการณ์ใหม่เข้าไปแทนที่ประสบการณ์เดิมได้ทัศนะต่อการทำวิจัยก็จะเปลี่ยนไป คนก็จะสนุกและรู้สึกดีดีต่อการทำวิจัยจนรู้สึกว่า "วิจัย" จริงแท้แล้วก็คือส่วนหนึ่งของชีวิต อันเป็นเครื่องมือไปสู่ความเจริญ/พัฒนา

ประสบการณ์ใหม่ = อธิบายเป็นรูปธรรมให้เห็นถึง process ที่นำไปสู่การเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ภายใน

 

  

หมายเลขบันทึก: 231942เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีคะอาจารย์Ka-Poom

ขอบคุณคะ

คิดถึงคะ อานงานเขียนแล้วได้ความรู้เพิ่ม

สวัสดีค่ะ...พี่ประกาย...P  ประกาย~natachoei

ขอบคุณสำหรับความระลึกถึงนะคะ ^__^ ... ดีใจที่งานเขียนพอที่จะก่อเกิดคุณค่าได้บ้างค่ะ...

การทักทาย...เป็นดั่งความงดงามของการดำรงอยู่ ณ ห้วงเวลานี้นะคะ

(^___^)

กะปุ๋ม

มาสวัสดีปีใหม่ค่ะ ขอให้มีความสุขมากๆ ตลอดปี 2552 นะคะ

  • คุณกะปุ๋มครับ ที่น่านก็มีการจัดกระบวนการเรียรู้เรื่อง R2R อยู่เหมือนกันครับ โดยชมรมพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ที่ไปได้ดีก็จะมีที่ รพ.เชียงกลาง รพร.ปัว และรพ.น่าน ครับ
  • ตอนนี้สสจ.น่านก็จะผลักดันให้พี่น้องๆ ที่สอ.ใช้ R2R เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและงานครับ ก็ได้แนวคิดอะไรหลายอย่างจากบันทึกใน G2K รวมทั้งบันทึกของคุณกะปุ๋มด้วยครับ
  • VCD ที่สวรส.จัดทำขึ้นเรื่อง R2R หาได้ที่ไหนครับ อยากเอามาใช้ประกอบการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมที่น่านบ้างครับ

  • คุณกะปุ๋มครับ ที่น่านก็มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง R2R อยู่เหมือนกันครับ โดยชมรมพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ที่ไปได้ดีก็จะมีที่ รพ.เชียงกลาง รพร.ปัว และรพ.น่าน ครับ
  • ตอนนี้สสจ.น่านก็จะผลักดันให้พี่น้องๆ ที่สอ.ใช้ R2R เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและงานครับ ก็ได้แนวคิดอะไรหลายอย่างจากบันทึกใน G2K รวมทั้งบันทึกของคุณกะปุ๋มด้วยครับ
  • VCD ที่สวรส.จัดทำขึ้นเรื่อง R2R หาได้ที่ไหนครับ อยากเอามาใช้ประกอบการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมที่น่านบ้างครับ

ใครน๊อเป็นคนสร้างค่านิยมว่า "การวิจัย" เป็นของยาก

เราเองถูกหัวหน้าโปรแกรมวิชาตำหนิกับเรื่องนี้ครั้งหนึ่งตอนที่ตัดเกรดรายวิชาวิจัย เพราะถูกหัวหน้าโปรแกรมทักท้วงว่า เด็กที่เราสอนนั้นไม่มีตก คือ ไม่มีใครได้ F เลย (ผิดด้วยเหรอ)แถมให้ D dog น้อยอีกต่างหาก

หัวหน้าโปรแกรมบอกว่านี่เป็นความผิด เพราะว่าวิชาวิจัยเป็นวิชาที่ "ยาก" ต้องให้ D dog และ F เยอะ ๆ

จบ...

สวัสดีค่ะ...พี่แก้ว...

ยินดีและร่วมแบ่งปันนะคะ...

R2R เป็นเพียงแค่เครื่องมือ...แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ภายใต้เครื่องมือนั้น ยิ่งใหญ่ในหัวใจคนทำงานมากกว่า..ซึ่งพี่แก้วก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เรียนรู้นี้นะคะ...

(^___^)

คุณ NU11

ขอบคุณสำหรับการ์ดงามนะคะ...ขอให้มีความสุขในวันทุกๆ วันเช่นเดียวกันนะคะ...

(^__^)

ขอบพระคุณ...คุณพี่ศศินันท์ค่ะ

การได้รับพรเป็นสิ่งที่เป็นศิริมงคลต่อชีวิตเสมอค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะ...คุณพ่อน้องซอมพอ...

ดีใจค่ะที่ได้รับเรื่องราวของชาวน่าน... เหมือนดั่งที่ท่าน อ.หมอวิจารณ์ท่านเน้นย่ำต่อพวกเราเสมอน่ะค่ะว่า... ไม่ได้ให้ทำวิจัยแต่ให้มุ่งพัฒนางานประจำ....ที่เราทำ ... นั่นน่ะคือ หัวใจแห่งการพัฒนาเลยทีเดียวค่ะ...

(^___^)

สำหรับ VCD นั่นติดต่อไปที่ สวรส.นะคะ... แต่ไม่แน่ใจว่ายังมีเหลืออยู่หรือไม่...หรือว่าคุณพ่อน้องซอมพอทิ้งที่อยู่ไว้ใน mail ของ Ka-Poom ก็ได้นะคะ...

สวัสดีค่ะ...อาจารย์ "ผู้ไม่แสดงตน"...

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่า...เรากำลังทำสิ่งที่ยากให้ยากยิ่งขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าได้น้อมนำและมองเข้าไปอย่างลึกซึ้งในความยากนั้น แล้วเปลี่ยนหมุนมิติจากยาก..ออกมาให้ง่าย เรียนรู้เข้าใจ เชื่อเลยค่ะว่า นั่นนะอาจารย์ผู้สอนได้ขยับเข้าไปถึงแก่นและความลุ่มลึก เพราะสามารถช่วยทำให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจได้อย่างง่ายในเรื่องที่ยากๆ...

 R2R อาจเป็นทางออกสำหรับคนหน้างาน ให้ได้มีโอกาสในการพัฒนางานตนเอง ได้ออกมาเป็นงานที่มีคุณค่า ยกระดับสิ่งที่ทำประจำทุกวันให้มีคุณค่ามีความหมาย และที่สำคัญได้มีพลังชีวิตอันเป็นกำลังใจในการทำงาน ไม่ให้กลายเป็นการทำงานที่ไร้เรี่ยวแรงแห่งความสุข...

ขอบคุณนะคะ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวดีดีค่ะ....

(^____^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท