ถอดบทเรียนระนองตอนที่สอง >>> “ตื่นรู้สู่งานประจำ”


"การหัน/ย้อนกลับมามองตนเองอย่างรู้ตัว ว่าขณะนี้งานที่เราทำนั้นคือ อะไร และทำอย่างไร มองอย่างเข้าใจ อย่างวางใจจะนำไปสู่การเห็นโอกาสของการหยิบยกหน้างานมาพัฒนา"

          หลังจากได้รับการต้อนรับอาหารมื้อกลางวันอันเป็นมื้อแรกสำหรับข้าพเจ้า ณ โรงพยาบาลระนองแล้วเสร็จนั้น ข้าพเจ้าถูกเชื้อเชิญให้มาที่ห้องประชุมใหม่ ที่มีป้ายโตๆหน้าห้องประชุมติดไว้ว่า โกมาซุม อันเป็นชื่อที่สะดุดตาข้าพเจ้ามาก เป็นชื่อที่แปลกฟังแล้วไพเราะในความรู้สึกของข้าพเจ้าและมาทราบภายหลังว่า โกมาซุมนี้เป็นชื่อดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง เกิดและออกดอกได้ดีช่วงปลายปี ---> ห้องประชุมโกมาซุมเป็นห้องใหญ่กว่าห้องประชุมเดิมในช่วงเช้าที่ใช้ทำกระบวนการ ได้มีการจัดโต๊ะสำหรับผู้เข้าเรียนรู้ที่ดูแล้ว Relax มากขึ้นกว่าการนั่งเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน ทำให้มีพื้นที่แห่งการเคลื่อนไหวกายและอิริยบทมากขึ้น

 

ให้ทุกคนนั่งตามสบาย...จะนอนหลับก็ได้หรือจะเป็นเพียงแค่

ตามลมหายใจเข้าและออก

ละวางการครุ่นคิดลง ทำใจเบาเบา...

 

เป็นเพียงคำแนะนำสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าบอกกล่าวต่อห้องประชุม เราร่วมกันอยู่ในอิริยบทนี้ประมาณสิบห้านาที พร้อมสภาวะแห่งคลื่นเสียงที่ดังมาจากเพลงบรรเลงที่เปิดประกอบ พลังของคลื่นเสียงสามารถทำให้สภาวะแห่งความวุ่นวายน้อยลง มีจุดศูนย์รวมมากขึ้น เข้าสู่สภาวะการเกิดความต่อเนื่องของความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น สมาธิ.... สิบกว่านาทีที่ผ่านไปการได้ลืมตาตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และแย้มยิ้มให้กับสรรพสิ่งแรกที่สายตาเราไปกระทบ ทำให้เกิดพลังแห่งการให้และแบ่งปันด้วยใจที่อ่อนโยนมากขึ้น

 

          รู้สึกดีจัง ได้นอน ทำให้หายง่วง

 

          แววตาที่สดใสเป็นประกาย ผิวหน้าดูผ่องใสและเบิกบาน บรรยากาศแห่งความง่วงซึมเบาเบาลง ความสดชื่นสดใสมีเข้ามาแทนที่เพิ่มมากขึ้นในผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในช่วงบ่ายนี้ มีเสียงแซวกัน หยอกล้อกันด้วยความสนุกสนาน

 

          การเริ่มต้นเข้าไปสู่การเรียนรู้ด้วยใจเบาเบา ไม่ต้องใช้สภาวะการเค้นออกมาทางความคิดมากนัก แต่ให้ค่อยๆ เคลื่อนไปสู่สภาวะการรำลึกถึง (Recall) ประสบการณ์และเรื่องราวเดิมๆ ที่แต่ละบุคคลมีฝังเก็บไว้ในกระบวนการทางปัญญาของตนเอง

 

ย้อนกลับไปเรื่องราวเดิมผ่านจากการกระตุ้นด้วยคำถาม

นำไปสู่การทบทวนและเรียบเรียง

สะท้อนออกมาผ่านการเล่าเรื่องด้วยใจเบาเบา

ภายใต้บรรยากาศแห่งการน้อมใจลงฟังด้วยใจที่นอบน้อม

 

ภายใต้บรรยากาศของการฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง  ฟังกันด้วยใจเบาเบาแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ตัดสิน ไม่วิพากษ์ ไม่ตำหนิ แต่แทนที่ด้วยพื้นทีว่างแห่งความเข้าใจและน้อมใจลงฟังกันและกัน การสร้างสภาวะแห่งบรรยากาศการเรียนรู้เช่นนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าอันเป็นต้นทุนแห่งภายในเข้าไปแทนที่ต้นทุนเดิมที่มีน้อยเหลือเกินในจิตใจของคนหน้างานที่ทำให้เกิดการเกาะกินจากความแห้งผากทางอารมณ์ บรรยากาศหลังๆ ขององค์กรแห่งการทำงานจึงมักเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด กระทบกระทั่งและที่สุดนำไปสู่ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นในอารมณ์ความรู้สึกของคนหน้างาน

 

          การสร้างสภาวะใหม่ที่นำไปสู่การย้อนกลับมามองตนเอง พิจารณาตนเองด้วยใจที่ใคร่ครวญนี้ทำให้บุคคลเกิดภาวะใจเบาเบา มองสิ่งที่ปรากฏต่อตนเองที่ผ่านมาด้วยใจที่เที่ยงธรรมมากขึ้น มองเห็นตนเองชัดเจนขึ้นว่าปัจจุบันขณะตนเองกำลังทำอะไร งานที่ทำมีอะไรบ้าง และที่ทำอยู่นั้นเราได้ทำอย่างเต็มที่หรือยัง เต็มที่ในที่นี้หมายถึง สภาวะความเต็มที่ที่ทำด้วยใจเบาเบา ใจที่ไม่ขุ่นมัวและใจที่ปราศจากอคติและเปี่ยมไปด้วย ความตั้งใจ อย่างเต็มที่

 

          เวลาผ่านไปกว่าเกือบสองชั่วโมง ที่อยู่ภายใต้การน้อมใจลงฟังและแบ่งปันเรื่องราวสู่กันและกัน การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นสำหรับข้าพเจ้าทำให้มองเห็นการเคลื่อนไปและความแตกต่างจากผู้เรียนรู้มากขึ้น แม้ว่าบรรยากาศ/สภาวะภายนอกจะโน้มนำแต่ก็ยังมีผู้คนในส่วนเล็กๆ ที่ยังติดยึดต่อการ adjust/ตัดสิน ตนเองจากสภาวะการย้อนกลับมาพิจารณางานตนเอง เป็นต้นว่า... การมองงานที่ตนเองทำอย่างเป็นทฤษฎีที่ท่องจำได้อย่างขึ้นใจ ... สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อเข้าสลายสภาวะเกือบที่ข้าพเจ้ามักเปรียบเปรยกับตนเองว่าเป็นการมองตนเองอย่างเป็นหุ่นยนต์... คือ การได้มีโอกาสเข้าไปแทรกด้วยคำถามเชิงลึกให้เข้าไปสู่สภาวะการค้นหาและมองตนเองได้อย่างลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น (อาจเป็นความโชคดีที่ได้เคยผ่าน skill training ทาง Psychology of Counseling)

 

          จากที่พี่เล่าให้ฟังว่าดีใจที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้น้องมองและเข้าใจการทำงานได้ดีขึ้นนั้น พี่พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าพี่มีวิธีการช่วยให้น้องเข้าใจในการทำงานได้ดียิ่งขึ้นนั้น พี่ช่วยน้องๆ อย่างไรบ้าง...

 

          ข้าพเจ้าขออนุญาตแทรกและใช้โอกาส เพราะสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความปิติและความภูมิใจบางอย่างที่เกิดขึ้น ขณะที่พี่ตาหรือคุณแววตา ผู้รับผิดชอบงาน IC ของโรงพยาบาลระนองกำลังเล่าเรื่องงานของตนเองให้เพื่อนๆ ผู้ร่วมเรียนรู้ในกลุ่มได้รับฟัง และพูดประโยคนี้ซ้ำๆ อยู่สองสามครั้งว่าดีใจที่ได้ช่วยให้น้องๆ ในทีมงานเข้าใจการทำงานได้ดีขึ้น...

 

          การแทรกด้วยคำถามในห้วงจังหวะที่เหมาะสมทางเวลาและอารมณ์ทำให้เรื่องเล่าของพี่ตามีพลังแห่งความเบิกบานมากขึ้น อาจเนื่องด้วยได้รับพลังแห่งการหนุนนำจากกลุ่มด้วยที่อยู่ในสภาวะเปิดใจรับฟัง จดจ่ออยู่ที่เรื่องเล่าของพี่ตา ได้เกิดการทบทวน เรียบเรียง ตีความ และประมวลผลออกมาใหม่เป็นความชัดเจนในการได้มองเห็นวิธีการและกระบวนการทำงานที่ตนเองใช้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

          เมื่อไรก็ตามที่ผู้คนมองเห็นความชัดเจนในตนเองมากขึ้น จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนและต่อยอดภาพที่ตนเองเห็นนั้นเป็นพลังที่เต็มเปี่ยม กระตือรือร้นและไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

          ความชัดเจนในตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจในตนเองและรู้ว่า...

          ตนเองกำลังยืนอยู่ ณ จุดไหนของการทำงาน และจะมีทิศทาง

          ขับเคลื่อนการทำงานประจำของตนเองไปอย่างไรบ้าง...

 

การเรียนรู้ช่วงหลังของวันแรก จบลงด้วยบรรยากาศที่ไม่บีบคั้นและกระแทกกระทั้นทางอารมณ์ ไม่ปวดหัวเลย ไม่เครียดด้วย คือเสียงสะท้อนจากการสุ่มถามก่อนที่เราจะแยกย้ายกัน ข้าพเจ้าได้รับบันทึกที่ได้ร่วมกันบันทึกหลังจากได้เล่าเรื่องสู่กันฟัง ... เป็นเรื่องราวหน้างานของแต่ละบุคคลหอบกลับไปอ่านต่อในช่วงค่ำคืนของวัน... เรื่องเล่าผ่านบันทึกที่แต่ละคนเขียนลงไปนั้นตอบต่อตนเองในประเด็นที่ว่า

  •  
    •  
      • งานที่เราทำทุกวันๆ...ความแง่งามที่เราอยากนำมาพัฒนาต่อนั้นมีอะไร
      • เพราะอะไรเราถึงอยากจะพัฒนาต่อ...
      • กระบวนการพัฒนานั้นเราจะทำอย่างไร
      • ทำแล้วเราวาดหวังอยากให้เกิดอะไร เกิดขึ้น

การเรียนรู้วันแรกสำหรับข้าพเจ้าเอง คือ การตอกย้ำความคิด ความเชื่อในทัศนะของข้าพเจ้าเองที่ว่า...

 

ทำเรื่องยากให้ยากน้อยลง และ

ทำเรื่องง่ายให้ง่ายยิ่งขึ้น

 

ปรากฏเด่นชัดและเชื่อในกระบวนการภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีงามและน้อมนำให้มนุษย์เรานั้นใช้ความซับซ้อนในชีวิตได้น้อยลงไปได้ ชีวิตง่ายขึ้นเกิดสภาวะสุขเบาเบาเพิ่มมากขึ้น...

         

-------------------------

Note: วรรคเริ่มต้นและวรรคสุดท้ายของความคิด

การที่เราทำงานประจำทุกวันเป็นปกติ ทำให้เรา/คนหน้างานมีความเคยชินจากการปฏิบัติงาน จนบางครั้งลืมไปว่าเรากำลังทำงานด้วยความท้าทายและได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาของการทำงาน ความเคยชินทำให้ความมีชีวิตชีวาในการทำงานหายไป ลดทอนพลังแห่งความสดชื่นและตื่นเต้นต่อประสบการณ์ที่แปลกใหม่อันเกิดขึ้นอยู่ในทุกขณะจิต แต่หากว่าเราได้หยุดและสูดลมหายใจอย่างที่เป็นการหายใจอย่างรู้ตัวและอย่างมีสติแล้วจะทำให้เราตื่น และตั้งใจพิจารณางานของตนเองด้วยหัวใจอย่างใคร่ครวญ ด้วยใจเบาเบา ไม่หนักหน่วง ไม่ใช้สมองคิดมากไปหรืออารมณ์ความรู้สึกมากไป หากแต่ใช้สองสภาวะนี้อย่างสมดุลเป็นเหตุเป็นผลคละเคล้าไปด้วยอารมณ์แห่งสุนทรียะ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 231982เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบตรงนี้ค่ะ ....ทำจริงๆ ก้ไม่ง่ายมากนะคะ ต้องมีสติ และปราศจากอคติด้วยนะคะ อยากเห็นดอกโกมาซุมค่ะ

"ทำเรื่องยากให้ยากน้อยลง" และ
"ทำเรื่องง่ายให้ง่ายยิ่งขึ้น"


ขอบพระคุณสำหรับการ์ดนะคะ...คุณพี่ศศินันท์

เป็นเรื่องจริงที่เราต้องเรียนรู้ และ re-check ภายใต้สภาวะแห่งการมีสติกำกับมากเลยค่ะว่า เรากำลังนำพาชีวิตเราไปสู่ความซับซ้อนหรือเปล่า...เพราะเมื่อไรทีไม่มีสติและขาดปัญญา นั่นน่ะเราอาจกำลังพาตัวเองไปสู่การสร้างสภาวะใหม่ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในการดำรงชีวิตก็อาจเป็นได้นะคะ

(^___^)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท