งานมหกรรม R2R ครั้งที่ 3 l เรียนรู้อะไรที่ได้จาก R2R ในบริบทโรงเรียนแพทย์


เป็นคำชวนก่อนวันงานที่ท่าน อ.หมอสมบูรณ์  (ศ.นพ.สมบูรณ์  เทียนทอง) ได้ทักถามว่าวันแรกหากไม่ติดภารกิจอะไร ชวนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้อง Jupiter 6-7 "การนำผลงาน R2R ไปใช้ประโยชน์ในบริบทโรงเรียนแพทย์"...

ฟังดูแล้ว...อาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้าเองนั้นทำงานอยู่ในหน่วยงานเล็กๆ โรงพยาบาลทั่วไปขนาดที่ไม่ใหญ่มาก พอเห็นผลงานวิจัยโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับรางวัล R2R นั้นก็รู้สึกว่าค่อนข้างไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง คงเป็นเรื่องที่ดูน่าเบื่อ...หากว่าเราคิดในแง่ลบ

แต่...ข้าพเจ้าก็รับปาก อ.สมบูรณ์ท่านไปว่า "จะไปช่วย"

พอออกจากห้อง ทำผลการวิจัยให้มีชีวิต l งานมหกรรม R2R ครั้งที่ 3 ก็ถือโอกาสไปร่วมฟังในห้อง"การนำผลงาน R2R ไปใช้ประโยชน์ในบริบทโรงเรียนแพทย์"...เพราะโดยส่วนตัวเชื่ออย่างหนึ่งว่า "จะต้องมีอะไรให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างแน่นอน"

หากข้าพเจ้าเพียงแค่มองว่า ผลงานวิจัยในห้องนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่เกี่ยวกับตนเอง จะทำให้ข้าพเจ้าพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เพราะได้ตั้งทัศนะอันคับแคบล้อมกรอบตัวเองไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว จริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามีเรื่องราวหลากหลายแง่มุมมากมายที่เราจะเปิดประตูใจของเราเข้าไปใคร่ครวญและทำความเข้าใจ

เช่นกัน...เมื่อข้าพเจ้าหาที่นั่งได้ ก็ทันได้ฟัง ศ.ดร.โกวิท  พัฒนาปัญญาสัตย์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงงานวิจัยของท่านเกี่ยวกับ "การประยุกต์การตรวจวิเคราะห์ CD4 ที-เซลล์ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้อยู่ในงานประจำให้ง่ายราคาถูกและได้มาตรฐาน"...และ รศ.ดร.อมรรัตน์  ร่มพฤกษ์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดถึงงานวิจัย "การพัฒนาชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง"...ซึ่งงานวิจัยของทั้งสองท่านนั้นช่างห่างไกลวิถีชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าเหลือเกิน แต่ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งใจฟัง ฟังในสิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านอยากที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างให้ฟัง ซึ่งไม่ได้ตีกรอบเพียงแค่เนื้อหาในงานวิจัยเท่านั้น

"เพียงแค่ได้ช่วยประเทศชาติประหยัดเงินได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ภูมิใจ" เป็นคำพูดของ อ.หมอโกวิท ที่ประทับลงไปในใจ เป็นคำพูดที่เรียบง่าย ใบหน้าที่เจือปนไปด้วยรอยยิ้ม ปรากฏเป็นร่องรอยแห่งความสุข "อาจไม่มีใครทราบ แต่เราทราบเราก็สุขใจแล้ว"...

อาจารย์เล่าว่า "อาจารย์นั้นมีอาชีพเป็นนักวิจัย ชีวิตทำแต่วิจัย มองอะไรก็มักมองและแปรเปลี่ยนเป็น คำถามการวิจัย"

ณ ตอนที่ฟัง...ข้าพเจ้านึกในใจต่อว่า "อืม...งาน Routine ของอาจารย์คือ Research"

จากการทำงานด้วยการทำวิจัยนี้ทำให้ได้วิธีคิดและการมองงาน อีกทั้งทำให้ตนเองได้สืบค้นและทบทวนอยู่บ่อยๆ

ส่วนใหญ่จะลงมือทำไปก่อน พอมองเห็นหนทางจึงค่อยหาแหล่งทุนมาสนับสนุน ชวนทีมมาช่วยกัน

เป็นคำพูดของ อ.อมรรัตน์ ที่กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มน้อยๆ...

ทำให้ข้าพเจ้าปรากฏความคิดขึ้นมาว่า...

ปัจเจค...สู่การหาตัวช่วย เกิดการสร้างเครือข่าย

ขณะที่นั่งฟังท่านทั้งสอง ทำให้ข้าพเจ้าอุทานในใจดังๆ ว่า เกือบพลาดไปแล้วไหมล่ะที่จะไม่เข้ามาฟังในห้องนี้ สุดยอดเลย และอยากตะโกนดังๆ ให้ผู้คนได้เข้ามาฟัง ...

เพราะอะไรเหรอ...

เพราะสิ่งที่ได้จากอาจารย์ทั้งสองท่าน คือ เป้าหมายของการที่บ่มเพาะการสร้างความรู้ ... มองทุกอย่างอย่างเป็นระบบ ผ่านการใคร่ครวญ ศึกษา ทบทวน และมุ่งหาคำตอบ ทำจนเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต ที่สุดแล้ว...เป็นการทำเพื่อก่อเกิดประโยชน์ส่วนรวม

กระบวนการสนับสนุนการทำ R2R หรือการพัฒนางานประจำด้วยการทำวิจัย คือ กระบวนการบ่มเพาะมนุษยชาติที่มากกว่าผลิตรายงานวิจัยหนึ่งเรื่อง การบ่มเพาะที่ให้เกิดการเรียนรู้การใช้กระบวนการทางปัญญาจนก่อเกิดเป็นการสร้างความรู้...ผ่านวิถีชีวิตทำงานประจำวัน

ผมว่าห้องนี้คนมาฟังน้อยมาก...

เป็นคำพูดของ อ.หมอสมบูรณ์ และข้าพเจ้าได้เอ่ยกลับไปว่า

"ห้องนี้มีคุณค่ามาก หากว่าที่สุดแล้วคนหน้างาน R2R ได้มาเรียนรู้วิธีคิด วิธีมองงานประจำของตนเอง แล้วใช้กระบวนการวิจัยมาเป็นเครื่องมือพัฒนางานประจำของตนเองก็จะมาถึงจุดดั่งเช่นอาจารย์วิทยากรทั้งสองท่าน"

คือ...R2R จนเป็นธรรมชาติในวิถีชีวิตประจำวันของคนหน้างาน

สุดท้าย...

ข้าพเจ้าก็สามารถที่จะได้ใช้ประโยชน์จากห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R ในบริบทของโรงเรียนแพทย์ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องนำผลการวิจัยที่อาจารย์ทั้งสองท่านไปใช้อะไร แต่ข้าพเจ้าสามารถนำกระบวนการ วิธีคิด และวิธีลงมือทำของท่านไปใคร่ครวญและปรับใช้ต่อวิถีการงานของข้าพเจ้า

หน้างานเป็นเพียงเครื่องมือ...ที่นำพาไปสู่การบ่มเพาะ "ปัญญา"...

ไม่ว่าเราจะไปฟังหน้างานของใครก็ตามเราอาศัยหน้างานที่เขาเล่าเรื่องสู่เราฟังนำไปสู่การย้อนกลับมามองงาน...หน้างานของตนเองได้ ขณะที่เราฟังหรือเรียนรู้หน้างานของผู้อื่นนั้นทำให้ กระบวนการทางปัญญาของเราแตกหน่อก่อผล...หรือที่เราเรียกว่า เกิดการถักทอโครงสร้างทางปัญญาเกิดขึ้นนั้นเอง

ภาพบรรยากาศ...มีพี่แก้ว แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช  เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ อ.หมอสมบูรณ์  เทียนทอง จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

ภาคบ่ายวันแรกแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R

 

หมายเลขบันทึก: 376143เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆค่ะ น้องกะปุ๋ม

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาบันทึก

เรื่องไม่นึกก็ได้เห็นเป็นแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์เก็บกองสมองเรา

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษรกลอนคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท