คำถามถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ


คำถามสำคัญ ถึง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ของประเทศไทย ภายหลังจากเหตุการณ์พายุใหญ่ พายุไซโคลนนาร์กีส พัดถล่มและสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ประเทศพม่า และประชาชนชาวพม่า นับแสนนับล้านคนที่อยู่ท่ามกลางความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ มีคำถามเช่นเดียวกัน ในกระบวนการ บทบาท หน้าที่ และภารกิจของ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ของประเทศไทยวันนี้ ว่ากำลังทำอะไรอยู่

คำถามถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

พอเห็นรายงาน

ตัวเลขผู้บาดเจ็บเสียชีวิต

จากความรุนแรงของภัยพายุใหญ่นาร์กีส

โดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศพม่า ยิ่งทำให้ผมนึกถึง วันเวลาเมื่อสามปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความเสียหาย บาดเจ็บ ล้มตาย ความโศกเศร้าของคนไทยและชาวต่างประเทศ เราถามหาถึงความผิดพลาดใด ในการทำนายและเตรียมการณ์ เพื่อป้องกันวิบัติภัยของประเทศชาติ

ประเทศไทยจึงจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

และดำเนินการเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ

วันที่ 30 พฤษภาคม 2548

เราจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการพยากรณ์ เตรียมการณ์ และเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านการเตือนภัย การเตรียมแผนรับมือ การอพยพผู้คนในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งการประกาศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และผู้คนในแผ่นดินไทยรับรู้ หากเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติ

หน้าที่สำคัญ

เพื่อเป็นหน่วยงานหลัก

ที่บอกกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลง

และอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติให้ผู้คนรับทราบ ดูเหมือนจะได้รับการตอบสนอง จากอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คุณสมิทธ ธรรมสโรช ซึ่งกระตือรือร้นและเข้าใจดีถึงความเสียหาย อันเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เรากำลังเริ่มต้นดำเนินการ

แต่พอหลังจากคุณสมิทธ ธรรมสโรช

ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ประธานอำนวยการ

ทุกอย่างในข่าวคราวของ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็เงียบหายและเงียบงันไป พร้อมกับเหตุผลลาออก ที่คุณสมิทธ ได้อธิบายถึงความไม่เชื่อมั่นในขั้นตอนกลไก และความไร้ประสิทธิภาพในการจัดตั้งหน่วยงานแห่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดและวางแผนไว้

ความจริงของภัยเงียบ

และราคาของชีวิตคนไทย

จึงกลายเป็นเรื่องซึ่งเงียบหาย

หากวันนี้แผ่นดินไทยไม่มีคนตายจากเหตุพิบัติภัยเหล่านี้ ยิ่งเมื่อมองถึงแนวโน้มความรุนแรง มองเห็นปรากฎการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่มสูงขึ้น เหตุการณ์พายุที่พัดถล่มพม่า และอีกหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีดินถล่ม น้ำป่าไหลบ่า แผ่นดินยุบตัว หรือกระทั่งพายุฤดูร้อน

วันนี้ชีวิตคนไทยทุกคนกำลังถูกทดลอง

ด้วยราคาของหน่วยงานรัฐ

ที่ด้อยประสิทธิภาพ

และไม่ตระหนักต่อความรุนแรง ที่กำลังคืบคลานเข้ามา ในท่ามกลางวิกฤติการณ์ของโลกสีฟ้าใบนี้ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง กร้าวร้าว และโหดร้าย วันนี้พิบัติภัยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล วันนี้เราไม่สามารถคาดการณ์

หรือกระทั่งคาดเดา

ว่าลมพายุจะพัดผ่านหรือพัดตรง

หรือกระทั่งก่อผลเสียหายรุนแรงเช่นไร

เรามีเพียงการเตรียมการ ฝึกซ้อม ซักซ้อมทำความเข้าใจต่อประชาชนคนไทย ให้พร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และเตรียมพร้อมสำหรับความเสียหายที่สามารถทุเลาเบาบางได้ เพราะเรามีแผนการณ์ที่เตรียมไว้พร้อมสรรพ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน

 

เปล่าเลยสำหรับการเตรียมพร้อมเหล่านั้น

ไม่มีแม้แต่คำชี้แนะเหมือนนั่งเรือบิน

ว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา

เราคนไทยต้องทำเช่นไร เราจะอพยพไปอยู่ในที่สูงที่ใดในชุมชน หากอยู่บนอาคารสูงต้องลงมาอย่างไร หากลมพายุกำลังจะเข้ามา เราจะประกาศเตือนภัยเช่นไร แผ่นดินไหวทำอย่างไร น้ำท่วมใหญ่โดยมิได้ตั้งใจเราจะเริ่มต้นอพยพไปที่ใด ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน

เพราะหากเราไม่เคยประสบ

เราจะไม่รู้ถึงช่วงเวลาอันเลวร้ายเหล่านั้น

ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งของเงินทอง แต่คือชีวิตคนที่เรารัก

วันนี้สังคมไทยและคนไทย กำลังอยู่ในขั้นตอนของความสุ่มเสี่ยงจากพิบัติภัย ท่ามกลางหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และพูดคุยกับคนไทยตลอดเวลา คอยกระตุ้นและดำเนินการฝึกซ้อมเตือนภัย เตรียมพร้อมเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง

แต่ในความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

สำหรับหน่วยงานรัฐ

ที่มัวแต่เงียบ

และมัวแต่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้งบประมาณในแต่ละปี ที่เราไม่รู้และไม่สามารถตรวจสอบได้เลย จนกระทั่งพิบัติภัยเกิดขึ้นจริง เราจึงจะรู้ว่าหน่วยงานนี้ได้ทำหน้าที่ไปถึงไหน หรือเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจได้ยินคำแถลงของหน่วยงานนี้ ระบุว่า ได้วางแผนไว้แล้ว

แต่ไม่ได้งบประมาณ

ยังไม่ได้มีการจัดประมูลสอบราคา

หรือยังไม่มีการนำงบประมาณมาใช้เพื่อการทำงาน

สำหรับคำตอบในการตรวจสอบการทำงาน ความโปร่งใสและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ การที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อประชาชน จะทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชนคนไทย และคนที่อยู่ในประเทศไทยตลอดเวลา คงไม่มีใครมาว่ามาด่า หรือมาตำหนิติเตียนอย่างแน่นอน

วันนี้ผมไม่อยากได้ยินข่าวการรายงาน

ถึงข้อมูลตัวเลขอันยุ่งยาก

แต่ผมแค่อยากรู้

ว่าหากเกิดพิบัติภัยขึ้นจริงในประเทศไทย ไม่ว่าจะแผ่นดินไหว จากน้ำท่วม จากลมพายุ และภัยธรรมชาติใดใดก็ตามแต่ เรามีหน่วยงานใดที่จะออกมารับหน้า และเป็นหน้าเสื่อบอกรับว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพหรือไม่ เหมือนเช่นกรณีควันไฟที่เกิดขึ้นในทุกหน้าแล้งของประเทศไทย

ถามหน่อยเถอะว่า

ใครคือเจ้าภาพหน่วยงานหลัก

ขณะที่สิ่งเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้

ว่าต้องเกิดขึ้นในทุกหน้าแล้ง หลังความแห้งแล้งเกิดการเผาป่าเผาหญ้า ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นหมอกควัน และฝุ่นละอองที่สร้างปัญหากับคนไทย ถามหน่อยเถอะว่า สิ่งเหล่านี้เป็นภัยที่เราเตรียมการณ์ได้หรือไม่ สำหรับความจริงใจในภารกิจของหน่วยงานรัฐหน่วยงานนี้

แค่ได้ยินได้ฟังตัวเลขผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ

ผมยิ่งนึกถึงตัวเลขของผู้ร้องไห้เศร้าโศก

จากคนที่รักเขาเหล่านั้นได้หลั่งน้ำตา

แค่นี้ผมก็คิดว่า เจ็บปวดมากเกินไปแล้ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 181677เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2008 02:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีวันวิสาขบูชาค่ะ คุณkati

* กำลังคิดว่าจะเขียนถามเรื่องนี้ พอดีเลยค่ะ เพราะสงสัยเช่นกัน

* ดีเลย ที่คุณ kati เขียน เพราะจะได้มุมมองที่กว้างกว่า ...

* ได้ยินข่าวเช่นกันค่ะ ว่าตอนนี้ สถานการณ์องค์กรของ NDWC

สั่นคลอนมากๆ  ...

* รัฐไม่ได้ให้ความจริงจัง จริงใจ ไม่เห็นความสำคัญ

* ก่อตั้งทางการ 2548  ฐานะองค์กรอิสระ  ...

ต่อมา สั่งเปลี่ยนเข้าสังกัด กรมอุตุฯ ..

* ยิ่งขณะนี้บ้านเราอยู่ในพท. เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ..

* ....

* ในส่วนของพม่า ได้ทราบว่า จริงๆ แล้วทางศูนย์ข่าวอินเดีย แจ้งเค้าทราบเรื่อง และแจ้งเตือนมาที่พม่าแล้ว

* แต่เนื่องด้วย ข้อผิดพลาดด้านการสื่อสารและข้อมูล ใช่ไหมคะ ?ทำให้แก้ไข สถานการณ์ได้ไม่ทันเวลา  .. น่าเศร้าใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท