ตำนานโรงหนัง


หนังสือที่บอกเล่าประวัติศาสตร์โรงหนังไทย จากจุดเริ่มต้นผ่านพัฒนาการ ความหมายของโรงมหรสพแห่งชีวิต และความบันเทิงบนจอหน้ง

แนะนำหนังสือ 

ตำนานโรงหนัง 

ธนาทิพ ฉัตรภูมิ

ผู้เขียน 

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เวลาดี

เมษายน 2547 

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำ  

หนังสือซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย

ผ่านเรื่องราวการเดินทางของโรงภาพยนตร์

โรงมหรสพแห่งชีวิตบนแผ่นดินไทย 

หัวเราะ ร้องไห้ เศร้าโศก ยินดี

หลากอารมณ์ของหลายผู้คนในดินแดนแห่งมนตรา 

เรื่องราวอธิบายในหน้าปกหนังสือเล่มนี้ เสมือนหนึ่งคำโปรยใบปิดหน้าหนัง โปสเตอร์ภาพยนตร์มักบอกกล่าวว่า เรื่องราวภายในจะขมวดปม และดำเนินไปสู่คำตอบใด บ่อยครั้งกระตุ้นให้ฉุกคิด บ่อยครั้งค่อยเล่าเรียงให้เห็นถึงแต่ละจังหวะของเรื่องราว บ้างกระชากอารมณ์ด้วยคำสะดุดใจ หรืออีกหลากหลายวิธีสื่อสาร แต่สุดท้ายคำและความหมายในใบปิดหน้าหนัง ก็คือเหตุผลเดียวกัน ด้วยเป้าหมายสำคัญเพื่อจะนำเราเข้าสู่โรงมหรสพแห่งชีวิต 

ธนาทิพ ฉัตรภูมิ เริ่มต้นเรื่องราว เหมือนการลำดับการเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ ให้เราได้เข้าใจถึงย่างก้าวที่เดินผ่านมานานนับศตวรรษ ของโรงภาพยนตร์ในแผ่นดินไทย เสมือนเรื่องราวเหล่านั้นถูกบีบอัดจัดวาง อยู่ภายในจุดรวมของหนังสือที่สำนักพิมพ์นี้ ซึ่งพยายามถ่ายทอดออกมา ในรูปแบบของเวลาวันวาน 

คำสวยงามในถ้อยคำนิยม ของ โดม สุขวงศ์ คือหนึ่งในความงดงามของภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ เมื่อกล่าวว่า หนังเป็นประหนึ่งลมหายใจแห่งความฝันของมนุษย์ทั่วโลก นับแต่เตาไฟของเครื่องฉายหนังเตาแรกติดขึ้นเมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว มันไม่เคยดับเลย มันยังคงฉายแสงกะพริบฝันของมนุษย์อยู่ทุกวินาที ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งบนโลกนี้ 

โรงถ่ายหนังจึงเคยได้สมญาว่า โรงงานผลิตฝัน Dream Factory และโรงหนังจึงเป็นโรงร้านหรือสถานขายฝัน ที่จริง การเปรียบว่าหนังเป็นความฝันนี้ ออกจะเป็นคติในเชิงลบ หมิ่นแคลน ว่าหนังเป็นสื่อชักพาคนไปทางต่ำ เป็นฝันละเมอเพ้อพก บ้างก็เห็นว่าหนังเป็นตัวการชักพาให้คนหลงใหลใจแตก หรือหนักถึงขั้นกล่าวหาว่าหนังเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง โรงหนังจึงอาจถูกมองเป็นสถานอบายมุข 

แต่อีกคติหนึ่งในทางบวก ก็มีผู้นับถือว่าหนังเป็นครูอย่างเอกของโลก โรงหนังจึงเป็นโรงเรียนโรงใหญ่ของโลก เป็นที่ให้คนทั่วโลก ไม่เลือกชั้นวรรณะ ได้เรียนรู้เรื่อง ของโลก และเรื่องของชีวิต หากจะให้มากกว่านับถือ คือศรัทธา ยังมีผู้ศรัทธาแก่กล้าว่าหนังเป็นศาสนา โรงหนังจึงเป็นโบสถ์ เชื่อได้ว่า โรงหนังทั่วโลกเป็นโบสถ์ของศาสนาอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะศาสนาฝัน ที่มีคนไปเข้ารีตมากที่สุดและถี่ที่สุด 

ภายใต้คำนิยม และคำอธิบายที่งดงามของ โดม สุขวงศ์ ซึ่งระบุว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกของหนังสือเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และเป็นไปของโรงหนังในประเทศไทย จนกระทั่งเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการค้นคว้าศึกษาเรื่องของโรงหนังสืบต่อไป ล้วนเป็นหนึ่งในความหมายที่พยายามบอกกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้น่าสนใจเพียงใด 

ภาค 1           กำเนิดโรงหนังในเมืองไทย 

ลำดับเรื่องจากจุดกำเนิดของภาพยนตร์ จากการถ่ายภาพนิ่งรูปแรกของโลก ที่ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2369 ด้วยผลงานของ โจเซฟ เนียฟฟอร์ จนกระทั่งมาสู่การพัฒนาของ โธมัส เอลวา เอดิสัน และวิลเลียม เคนเนดี้ คิดสัน ซึ่งร่วมกันสร้าง กล้อง Kinetograph และกล้องดูภาพ หรือตู้ดูภาพยนตร์ที่เรียกว่า Kinetoscope โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น่าจะเป็นชาวสยามพระองค์แรกที่ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์ Kinetoscope เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสสิงคโปร์และชวา ในปี 2439 จนเมื่อผ่านไป หลุยส์ และออกุสท์ ลูมิแอร์ สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนา Kinetoscope ให้สามารถฉายขึ้นสู่จอใหญ่ได้ เรียกว่า Cinematograph โดยใช้ห้องโถงใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในปารีส จัดฉายภาพยนตร์เก็บเงินผู้ดูในลักษณะโรงหนัง เป็นครั้งแรกของโลกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2438 นับจากนั้นก็มีการส่งหนังเร่ Cinematographe Films แพร่หลายไปทั่วโลก 

10 มิถุนายน พ.ศ.2440 เอส จี มาร์คอฟสกี้ ได้นำ Cinematograph เข้ามาฉายเก็บเงินในสยาม โดยใช้โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ใกล้ประตูสามยอดเป็นที่จัดฉาย จนกล่าวได้ว่าเป็นที่ฉายหนังแห่งแรกของสยาม ซึ่งโรงละครดังกล่าวเป็นโรงละครใหม่ ที่เปิดเมื่อ 2439 เป็นโรงละครที่มีเสาเหล็กอยู่ตรงกลาง ในปัจจุบันได้มีการจัดทำหลักหมาย เพื่อรำลึกถึงสถานที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโรงหนังแห่งแรกของประเทศไทย ในวาระครบรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โดยมูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้จัดทำติดตั้งไว้ 

จากโรงหนังแห่งแรกของประเทศไทย แม้มีจุดเริ่มต้นแต่ก็ยังไม่ใช่โรงหนังถาวร จนเมื่อปี 2448 โทโมโยริ วาตานาเบะ ได้จัดตั้งโรงหนังถาวรแห่งแรก บริเวณเวิ้งหลังวัดชัยชนะสงคราม หรือวัดตึก ถนนเจริญกรุง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า เวิ้งนาครเขษม  จนถูกเรียกขานว่าโรงหนังญี่ปุ่น หลังจากนั้นโรงหนังต่างๆ ได้กำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม โรงหนังกรุงเทพซีนีมาโตกราฟ หรือโรงหนังวังเจ้าปรีดา ในปี 2450 โรงหนังสามแยก และโรงหนังบางรัก ในปี 2451 โรงหนังรัตนปีระกา 2452 โรงหนังพัฒนากร ปี 2453 

กระทั่งในปี 2456 การแข่งขันได้เพิ่มสูงขึ้น โรงหนังพัฒนากรได้จัดตั้งบริษัทที่เข้าแข่งขันในธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยตั้ง บริษัทพยนต์พัฒนากร กล่าวกันว่า ก่อนจะมีคำว่า ภาพยนตร์ ข้อสังเกตที่สำคัญของคำเรียกหนัง คือคำว่า พยนต์  

 พัฒนาการของโรงหนังไทยสอดคล้องและต่อเนื่อง มาสู่การสร้างหนังครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2466 โดย เฮนรี่ เอ แมกเร ได้สร้างหนังที่ใช้ชาวสยามเป็นผู้แสดงครั้งแรก ในนามของหนังที่ชื่อ นางสาวสุวรรณ  กระทั่งในสันที่ 30 กรกฎาคม 2470 โรงหนังพัฒนากร ได้นำหนังฝีมือชาวสยาม ออกฉายเป็นครั้งแรก ในชื่อ โชคสองชั้น สร้างโดย กรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัท  

ในยุคนั้นหนังที่ฉายยังเป็นหนังเงียบไม่มีเสียง กลายเป็นจุดเริ่มสำคัญของอาชีพนักพากย์หนังในเมืองไทย ที่เข้ามาสร้างบันเทิงให้แก่ผู้ชม แม้หนังเสียงจะเข้าสู่สยาม ในปี 2471 แต่ด้วยความที่เสียงเป็นภาษาอังกฤษ นักพากย์จึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวสยาม ที่ต้องการดูหนัง จนในวันที่ 1 เมษายน 2475 หลงทาง คือหนังไทยพูดได้เรื่องแรกของประเทศ ได้ฉายขึ้นในโอกาสร่วมเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปี พร้อมพระราชดำริ ในการจัดสร้างศาลาเฉลิมกรุงขึ้น 

จนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีกว่า ศาลาเฉลิมกรุงฤกษ์ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2476 โดยมีหนังชื่อ มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์มเป็นเรื่องแรกที่เปิดฉาย กล่าวกันว่าศาลาเฉลิมกรุง เป็นโรงหนังในประเทศสยามที่ก้าวสู่ยุคใหม่ ด้วยความหมายของความหรูหรา สะดวกสบาย ทันสมัย และฉายหนังเสียง และเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ  

จากนั้นพัฒนาการของโรงหนังไทยก็เดินทางผ่านยุคสมัย จากตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาสู่ยุคละครเวทีรุ่งเรือง เข้ายุคเฟื่องฟูของหนังไทย ภายหลังแผนพัฒนาของประเทศไทยเริ่มขึ้น กระทั่งสู่ความตกต่ำที่โรงหนังขนาดใหญ่อยู่ไม่ได้ จนต้องแยกเป็นโรงขนาดเล็ก แบบมินิเธียเตอร์ ท่ามกลางการเติบโตของวีดีโอเทป กระทั่งสู่ยุคใหม่ในการเติบโตของโรงหนังไทยมัลติเพล็กซ์  

ภาค 2           จากวังเจ้าปรีดา...ถึงศาลาหย่อนใจ 

ในบทนี้การลำดับเรื่อง ย้อนสู่รายละเอียดเล็กน้อยของเกร็ดประวัติศาสตร์ของโรงหนัง การแข่งขันของโรงหนังของเชื้อพระวงศ์ กับโรงหนังจีน โรงหนังญี่ปุ่น ที่มาพร้อมใบปลิวเล่าเรื่องย่อหนัง จากยุครุ่งเรืองในหนังก่อนสงครามโลก มาสู่ยุคตกต่ำหลังสงคราม เมื่อละครเวทีเข้ามาแทนที่ความบันเทิง กระทั่งยุคที่กรุงเทพมหานครสวยงาม ในสมัยซิกซ์ตี้  

รายละเอียดสำคัญในการเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของโรงหนังไทย ได้รับการอธิบาย ผ่านศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพที่รวมศาสตร์และศิลป์อันยิ่งใหญ่ของไทย เข้ากับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในระดับโลก แง่มุมของจุดกำเนิดมากมายได้เกิดขึ้น  

การผสมผสานสถาปัตยกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่จากฝรั่งเศส ฝีมือช่างไทย จนมาสู่ยุครุ่งเรืองที่กล่าวกันว่า ศาลาเฉลิมกรุง คือ ฮอลีวู้ดแห่งเมืองไทย ในยุคสมัยหนึ่ง หลังจากนั้นความเปลี่ยนแปลง ได้มาเยือนศาลาเฉลิมกรุง การปรับตัวอีกครั้งจึงเริ่มต้นขึ้น เกร็ดความหมายของคำว่า ศาลา กลายเป็นหนึ่งหน้าในประวัติศาสตร์ เมื่อหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น การพระราชทานนาม ศาลา ที่หมายถึงที่พักร้อนนั้น กลายเป็นตั้งแหล่งและกำเนิดของโรงหนังอีกหลายแห่ง หลังจากบริษัทสหศีนิมา กิจการในพระองค์ได้เข้าดูแลกิจการของโรงหนัง จากบริษัทสยามภาพยนตร์ 

ความเปลี่ยนแปลงจึงมาเยือน ไม่ว่าจะเป็น โรงหนังพัฒนารมณ์ เป็นศาลาเฉลิมนคร โรงหนังสิงคโปร์ เป็นศาลาเฉลิมบุรี โรงหนังชวา เป็นศาลาเฉลิมเวียง โรงหนังบางรัก เป็นศาลาเฉลิมรัฐ โรงหนังสาธร เป็นศาลาเฉลิมราษฏร์ โรงหนังนางเลิ้ง เป็นศาลาเฉลิมธานี ซึ่งแต่ละศาลาต่างได้รับพระราชทานตราครุฑ ติดไว้หน้าโรงหนังเหล่านั้น การลำดับเรื่องราวมาถึงข้อต่อทางประวัติศาสตร์สำคัญ โรงหนังศาลาเฉลิมไทย คือจุดหนึ่งในข้อต่อนี้ จุดกำเนิด การเริ่มต้น และความยิ่งใหญ่คือหัวใจที่ผลักดันให้คุณค่า ของโรงหนังริมถนนราชดำเนินปรากฏขึ้น  

แม้จะเริ่มต้นจากโรงละคร แต่เฉลิมไทย ก็กลายเป็นโรงหนังที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ จุดแรกของโรงหนังไทยที่มีการขายข้าวโพดคั่วแบบอเมริกัน จนสู่วันสุดท้ายของโรงหนังแห่งนี้ และรอบสุดท้ายของการแสดง เมื่อมีการจัดแสดงละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ เพื่อสั่งลาความยิ่งใหญ่ จากจุดกำเนิดของโรงละครสู่จุดสุดท้ายด้วยโรงละคร  

ภาค 3           จุดนัดฝัน 

การย้อนรอยเรื่องราวกลับไปมา ด้วยการอธิบายย้ำถึงโรงหนังในยุคก่อนพุทธกาล 2500 คือหนึ่งในเสน่ห์ของบันทึกบทนี้ เมื่อตลาดและโรงหนัง คือสิ่งที่เกี่ยวพันกัน ผู้คน ตลาด และโรงหนังในสยาม จึงกลายเป็นศูนย์รวมของความบันเทิง  ตลาดนางเลิ้งที่มีโรงหนังนางเลิ้ง - ศาลาเฉลิมธานี ตลาดบางรักที่มีโรงหนังชวา ศาลาเฉลิมเวียง ตลาดปีระกาในเวิ้งนาครเขษม ที่มีโรงหนังปีระกา ตลาดสะพานขาว ที่มีโรงหนังแอมบาสเดอร์ โรงหนังปารีส ปากคลองตลาดที่มีโรงหนังเอมไพร์ หรือตลาดพลูที่มีโรงหนังศรีตลาดพลู และโรงหนังกึงกัง เหล่านี้คือคำตอบในหน้าประวัติศาสตร์โรงหนังไทย 

ความเกี่ยวพันของ ตลาด โรงหนัง และผู้คน คือคำตอบเดียวกันในความหมายของย่านการค้า เมื่อวังบูรพาคือจุดเชื่อมต่อเดียวกัน ที่ทำให้ศาลาเฉลิมกรุง คือศูนย์กลางผู้คนในยุคสมัยหนึ่งของสังคมไทย โรงหนัง คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ กระทั่งความเปลี่ยนแปลงมาเยือน ย่านการค้าใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่ ความเจริญที่กระจายออกไป เมื่อสะพานยศเส มีโรงหนังเฉลิมเขตต์ ราชเทวีมีโรงหนังโคลิเซียม ย่านประตูน้ำมีโรงหนังเมโทร  

จนกระทั่งการเริ่มต้นขึ้นของ โรงหนังสยาม ในสยามสแควร์ ศูนย์การค้าแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์โรงหนังไทยขึ้นมา ควบคู่ศูนย์การค้าใหม่ กระทั่งมีโรงหนังลิโด้ และโรงหนังสกาล่า ตามมา หน้าประวัติการเดินทางของโรงหนังที่ขยายอย่างกว้างขวาง เปลี่ยนพื้นที่และผู้แข่งขัน เมื่อความจริงมาเยือนในยุคที่ผู้คนชมความบันเทิง ด้วยเครื่องเล่นวีดีโอเทปที่บ้านได้ การปรับตัวจึงเป็นโจทย์สำคัญ และบทสัมภาษณ์ของตระกูลที่บริหารโรงหนัง คือคำตอบสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  

ภาค 4           เรื่องเล่าจากหัวเมือง 

นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี 2504 ตำนานโรงหนังหัวเมืองของประเทศไทยจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อโรงหนังเป็นความบันเทิงสมัยใหม่ ที่มาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตำนานโรงหนังหัวเมือง ยังเป็นแรงบันดาลและจุดเริ่มต้นในการต่อสู้ ของนักธุรกิจภูธรมากมาย ที่เติบโตขึ้นมาจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก จนกลายเป็นนักธุรกิจระดับประเทศ จากโรงหนังศรีวิศาล ที่เชียงใหม่ของ เลิศ ชินวัตร โรงหนังศรีตราดราม่า ของบิดา สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ผู้สร้างอาณาจักร เอส เอฟ ซีนีม่าซิตี้ 

ตำนานโรงหนังภูธร คือรอยต่อที่พัฒนามาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และพัฒนาต่อเนื่องก้าวกระโดดในสมัยแผนพัฒนาประเทศไทย ความโดดเด่นสำคัญของโรงหนังภูธร คือเสน่ห์ของแตรวงประจำโรงหนัง ที่มีไว้คอยเล่นประกอบการฉายหนัง และเล่นเรียกคนดู ก่อนจะเข้าโรงในยามพลบค่ำ 

นอกจากโรงหนังหัวเมือง จะเป็นเสน่ห์สีสันในการเติบโตของพลังบันเทิงบนแผ่นฟิล์ม ที่แผ่กระจายไปทุกหัวระแหงของประเทศไทย กองทัพความบันเทิงที่ขับเคลื่อนด้วยขบวนรถหนังเร่ ที่ตระเวนออกไปให้ความบันเทิงในแต่ละท้องถิ่น คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โรงหนังไทย และเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการประชันขันแข่งความบันเทิง จนมาสู่ยุคหนังกลางแปลงเฟื่องฟู ในระหว่างปี 2515 2525 ที่สามารถกล่าวได้ว่า พลังของหนัง จอหนัง และลำโพง ที่บางครั้งกองไว้อย่างกว้างและใหญ่กว่าจอหนัง คือเครื่องหมายแสดงถึงพลังแห่งความรุ่งเรือง ที่ความบันเทิงบนฟิล์มได้เคยทำหน้าที่ให้แก่คนไทย  

ภาค 5           อลังการโรงหนัง 

หลังวีดีโอแพร่หลาย  การล่มสลายและปรับตัวของโรงหนัง Stand alone จึงได้เริ่มต้นขึ้น จากโรงหนังขนาดใหญ่ปรับตัวสู่โรงขนาดเล็ก เพื่อประคับประคองกิจการบันเทิง กระทั่งพัฒนาการ และการต่อสู้ กลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โรงหนังไทย ที่มาสู่ความอลังการในหน้าใหม่ 

บทสัมภาษณ์และการศึกษา พัฒนาการตระกูลผู้บริหารโรงหนังของ พูลวรลักษณ์ และ ทองร่มโพธิ์ จากการปรับตัวของ Stand alone สู่มินิเธียเตอร์ จนกระทั่งสู่ มัลติเพล็กซ์ คำตอบในการต่อสู้เพื่อปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ขยับขยายเพื่อไปสู่อนาคต คือบทสำคัญให้เราเห็น จากความบันเทิงของหนัง ร้านอาหาร โรงโบว์ลิ่ง ร้องคาราโอเกะ ความบันเทิงมากมายที่รวมอยู่ใต้ชายคาโรงหนัง เหล่านี้คือสัญลักษณ์แห่งการปรับตัวตามความต้องการ และคือเสน่ห์ที่โรงหนังไทย ยังคงมอบไว้  

ภาค 6           อันเนื่องมาแต่โรงหนัง 

บทสุดท้ายของหนังสือ ที่ขยายความหน้าหนังได้อย่างงดงาม ด้วยการอธิบายถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันงดงาม นับจากบรรยากาศข้าวเหนียวปิ้ง ไก่ย่าง อ้อยควั่น สู่การนัดเพื่อนฝูงดูหนัง การถือข้าวโพดคั่ว และน้ำดื่ม การร้องคาราโอเกะ เหล่านี้คือบรรยากาศแวดล้อมความบันเทิง ของโรงหนังไทย ที่เติบโตมานับจากอดีต เนื้อหาในการไล่เรียงอดีต จากเรื่องราวของแตรวงประจำโรงหนัง เมื่อยุคหนังเงียบ ที่ต้องมีการเป่าเพลงมาร์ช เป็นสัญญาณก่อนเริ่มฉาย หรือการบรรเลงเพลงในแต่ละจังหวะอารมณ์ของหนัง ซึ่งมีทั้งวงดนตรีไทย วงดนตรีสากล จนกระทั่งยุคหนังเสียง ได้เข้ามายืนแทนที่แตรวง และหนังเสียงในฟิล์ม และเสียงแห้งได้แทนที่เสียงสดในการบรรเลงขณะชมหนัง 

ตำนานอันยิ่งใหญ่ของนักพากย์คนไทย ยังเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่เพิ่มเติม และเชื่อมโยงแต่ละหน้าประวัติศาสตร์ ของตำนานนักพากย์เสียง ซึ่งฝากผลงานแห่งความยิ่งใหญ่ประดับความบันเทิงไทย จากทิดเขียว สิน สีบุญเรือง จากคนขายน้ำมะเน็ดหน้าโรงหนัง จนย่างก้าวสู่บรมครูนักพากย์ เพ็ญ ปัญญาพล ผู้พากย์โขนเล่นลิเก สู่งานพากย์ในหน้าหนัง และ ม.ล. รุจิรา อิศรางกูร ณ อยุธยา จากนักแสดงโขน มาเป็นมนุษย์พากย์ 6 เสียง  

หากปิดท้ายเรื่องราวโรงหนังไทย ไม่ได้นับ Pop Corn เข้าไปส่วนหนึ่งของความบันเทิงในโรง รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ในการเข้ามาของข้าวโพดคั่ว ยิ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์โรงหนังไทยอ่อนด้อยลงไป พร้อมกับการเชื่อมต่อประวัติไอศกรีม และจุดนัดพบหน้าโรงหนัง ว่าคือหนังในธรรมเนียมของความบันเทิง ที่มาพร้อมประวัติศาสตร์โรงหนังไทย    

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ 

ปีที่พิมพ์             :           เมษายน 2547

ชื่อหนังสือ          :           ตำนานโรงหนัง

ประเภท             :           สารคดี ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ ในประเทศไทย 

ชื่อผู้เขียน           :           ธนาทิพ ฉัตรภูมิ

บรรณาธิการ       :           ทัศนีย์ เอื้อวิทยา    

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ

ISBN 974-9659-11-2

หมายเลขบันทึก: 96998เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

* คำกล่าวหลังปก

หนังสือ ตำนานโรงหนัง

พิมพ์ครั้งแรก : 2547

ในอนาคตโรงหนังจะมีลักษณะเช่นใด คำตอบของคำถามนี้คงอยู่ในสายธารของกาลเวลา รูปแบบและเหตุการณ์เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนไปอยู่เสมอ แต่อารมณ์ที่ได้รับกลับเป็นความคงเดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพราะในทุกครั้งที่เราได้ก้าวเข้ามานั่ง ณ สถานที่แห่งนี้ ความตื่นเต้นสนุนสนาน น้ำตา และเสียงหัวเราะ ยังคงเกิดขึ้นเสมอจากมนตราของดินแดนมหัศจรรย์ที่เรียกขานกันว่า โรงหนัง

สวัสดีค่ะ คุณkati

        ดิฉันเลือกเข้าบันทึกนี้ เพราะสมัยอยู่กรุงเทพฯ(เคย)ชอบดูหนังโรงในโรงหนังเป็นชีวิตจิตใจ     ตอนนี้อยู่ต่างจังหวัด  จึงไม่ใคร่ได้ไปดูหนังโรง   แต่ยังจำบรรยากาศในโรงหนังได้เสมอ   ว่าสามารถสะกดความรู้ตัวตนของเราให้หายไป   เหลือแต่อารมณ์และความรู้สึกล้วนๆ .......  

.......และบันดาลให้เราเป็นไปได้ต่างๆจนกระทั่งมนต์เนรมิตนั้นจบสิ้นลง......

      ดิฉันเคยอยากเป็นคนเขียนบทหนังฝรั่ง (ความฝันแบบเด็กๆนะคะ)  ครั้นเมื่ออายุมากขึ้นและตื่นจากฝัน  ก็ได้เห็นว่าการจะ  "สร้าง"  อะไรสักอย่างนั้นมิใช่ของง่าย   

     เห็นคุณโดม สุขวงศ์ มุ่งมั่นเรื่องหอภาพยนตร์แห่งชาติแล้วชื่นชม  เคยได้พบตัวจริงสมัยเรียนปริญญาโท  ก็รู้สึกว่าคนที่มุ่งมั่นเอาจริงทุกคนมีลักษณะร่วมอะไรบางอย่าง

     อะไรบางอย่างจะบอกเราว่าเขาพร้อมที่จะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งนั้น........

     ............ทิ้งค้างไว้อย่างนี้  เพราะเริ่มจะตั้งคำถามตัวเองอยู่บ้างเหมือนกันว่ากำลังจะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งใดน่ะค่ะ........  : )    

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ยินดีสำหรับการแวะเวียนเข้ามาครับ
  • ยินดีสำหรับความคิดเห็น ในแต่ละแรงบันดาลใจ และความใฝ่ฝันของชีวิตครับ
  • โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างจะเป็นคนที่ดูหนังน้อย เมื่อเทียบกับเพื่อน หรือเทียบกับอาการหลงรักหนังสือ
  • ผมพบว่า ตัวความใฝ่ฝัน เป็นสิ่งที่ยากอธิบายครับ จะเป็นประเภทที่หาขอบเขตตัวตนได้ลำบาก มีสถานะที่ประหลาดอย่างมาก
  • บางครั้งก็อ่อนไหว เหลวไปตามอารมณ์ บ่อยครั้งการแข็งแกร่งจนต้องให้คนอื่นมาคอยเตือน หรือบางทีก็วูบไหวไปมา เพราะใจเราล่องลอย ไม่สามารถจับเก็บความใฝ่ฝัน ให้คงสภาพได้
  • มีผู้คนบางจำพวก บางประเภท ที่สามารถมั่นคง ศรัทธา ต่อสู้ ขับเคลื่อน ผลักดันความใฝ่ฝันของตนเองได้ ท่ามกลางเงื่อนไข ปัจจัย สิ่งเร้า และแรงกระแทกรอบตัวอันมากมาย
  • บางทีไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าแต่ละความใฝ่ฝันจะก้าวย่างยังไง
  • ผมพบว่า ถ้าเราเก็บมันไว้ในลมหายใจ เราจะอยู่กับความใฝ่ฝันเหล่านั้นได้นาน แทบจะนานที่สุดที่มีโอกาสหายใจบนโลกนี้
  • ผมเคยสัมภาษณ์ ผู้บริหารด้านสื่อสารมวลชน ที่กำลังเริ่มต้นเรียนดำน้ำตอนอายุใกล้ 50 ผมพบว่า เขามีพลังในการอธิบายมากมาย
  • เขาอธิบายบางอย่างให้ผมได้เข้าใจ เช่น การเล่าให้ฟังถึงรุ่นพี่ที่เป็นนักธุรกิจบางคน ปั่นจักรยานเสื้อภูเขาตอนเฉียด 60 หรือบางคนหัดปีนเขา ตอนอายุ 50
  • ผมว่า ความใฝ่ฝัน มันต้องได้รับการทดสอบอยู่เสมอครับ
  • เมื่อทดสอบแล้ว ก็มีการท้าทายของใจตัวเอง
  • แล้วสุดท้าย ก็ลองทำดู
  • ได้ ไม่ได้ ไม่รู้
  • แต่ต้องทำครับ เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็เริ่มใหม่
  • คิดว่า ไม่ใช่การทิ้งค้างครับ สามารถเก็บขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้ทุกขณะครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นความคิดเห็น
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท