พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ บะโช มะทสึโอะ


ใครจะคิดบ้างหรือไม่ว่า ไฮขุ อาจมีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย ตั้งแต่สมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็เป็นไปได้

หลายปีมานี้ กระแส ไฮกุ/ไฮขุ (Haiku) มีอิทธิพลต่อวงการกวีไทย พอพูดถึง ไฮขุ กวี บางท่านอาจจะพอทราบที่มาบ้างแล้ว แต่วันนี้ผู้เขียนขอเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ขอให้กวีช่วยสวน กันสักหน่อย (สวน [สะวะนะ] น. การฟัง. (ป.; ส. ศฺรวณ). อ่านจบแล้วอนุญาตให้ สรวล  

สระน้ำ อันเก่าแก่
เจ้ากบตัวหนึ่งกระโดดลง
เสียงน้ำพลันดังจ๋อม

บะโช มะทสึโอะ (ฺBashoo Matsuo)


นี่คือ โคลงไฮขุ ที่มีชื่อเสียงที่สุดบทหนึ่งของญี่ปุ่น จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าไฮขุ เป็นโคลงที่มีขนาดสั้นมากโดยมีเพียง 17 พยางค์ ประกอบด้วย 3 วรรคคือ วรรคละ 5, 7 และ 5 พยางค์ตามลำดับ

บทกวีที่เรียกว่า ไฮไค-เร็งงะ (haikai-renga) เป็นที่แพร่หลายตอนปลายสมัย มุโระมะฉิ ( Muromachi ค.ศ.1338-1570 ) ช่วงต้นศตวรรษที่ 15 - 16 ส่วนแรกคือ 17 พยางค์ของ ไฮไค-เร็งงะ เรียกกันว่า ไฮไค (haikai)

 

Image:MatsuoBashoChusonji.jpg

ในสมัยเอะโดะ( ค.ศ. 1603 - 1868) บทกวีไฮไคของ บะโช มะทสึโอะ ( ค.ศ.1644 - 1694) มีท่วงทำนองศิลปะที่ขัดเกลาประณีตที่พรรณนาถึงความสอดคล้องประสานในฉากแห่งธรรมชาติและชีวิตมนุษย์

ในสมัยเมจิ ( ค.ศ.1868 - 1912) ชิคิ มะซะโอะคะ ( Shiki Masaoka) ตั้งชื่อรูปแบบกวีนิพนธ์นี้ว่า ไฮขุ และมีการใช้ชื่อนี้นับตั้งแต่นั้นมา ใครๆ ก็สามารถแต่งโคลงไฮขุ ได้ค่อนข้างง่ายเนื่องจากรูปแบบคำประพันธ์สั้นๆ


ในป่าดงพงไพร
เราได้ยินเสียงแห่งความเงียบ
ของใบไม้มากมาย

inside the forest
a quiet sound
of the leaves

Takahito Suzuki 10yrs :Japanese
Shotoku Elementary School, Tokyo

บนเตา
เราได้ยินเสียง
กาน้ำร้องไห้

on a stove
a kettle
crying

Sanae Nakata 12yrs :Japanese

คืนหนึ่งในฤดูร้อน
ฉันผวาตื่นลุกขึ้นมา
เสียงยุงบินหวี่วี้....

summer night
woken up
buzzing mosquitos

Yu-ichiro Sano 13yrs :Japanese

พ่อขุนรามคำแหงฯทรงสร้างหลักศิลาจารึก

คราวนี้พอ ไฮขุ แพร่ระบาดมาถึงไทย ก็เข้าทาง คนไทย เพราะแต่งง่ายนี่นะ แต่ใครจะคิดบ้างหรือไม่ว่า ไฮขุ อาจมีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย ตั้งแต่สมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็เป็นไปได้ ไม่เชื่อลอง ฟังสำนวนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1 ความว่า

พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์       แม่กูชื่อนางเสือง
พี่กูชื่อบานเมือง               ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน
ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง       พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก
เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า


(สิบเก้าเข้า คือ สิบเก้าข้าว แปลว่า 19 ฝน 19 หนาว ทำนาข้าวมา 19 ครั้ง/19 ขวบ กรณีการยืดหดของกระสวนเสียงกรณีนี้ คล้ายกับกรณีคนภาคกลาง ออกเสียงเรียกควายว่าควาย แต่คนอีสานจะออกเสียงเรียก ควายว่า ข้วย นั่นเอง )

ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก   พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย
ขุนสามชนขับมาหัวขวา                     ขุนสามชนเกลื่อนเข้า
ไพร่ฟ้าหน้าใส                                 พ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ
กูบ่หนี กูขี่ช้างเบิก*พล                        กูขับเข้าก่อนพ่อกู
กูต่อช้างด้วยขุนสามชน                     ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ **



*สตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Prof.George Coedès) ถอดความไว้ว่า "กูขี่ช้างเนกพล" (คำว่า เนกพล กร่อนเสียงมาจาก อเนกพล=มีกำลังมากกว่าหนึ่ง คำว่า อเนกพล กลายเป็น เนกพล นั้นก็น่าจะมาจาก การตัดเสียง (Chipping) ตามหลักนิรุกติศาสตร์ (philology) คล้ายกรณีคำว่า  อนุช/อนุชา ถูกตัดเสียง เหลือ นุช หรือ อัญชุลี/อัญชลี ถูกตัดเสียงเหลือ ชลี/ชุลี) "กูขี่ช้างเนกพล" นี้ จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า น่าจะอ่านว่า "กูขี่ช้างเบิกพล"

**้ /แป๊ เป็นภาษาล้านนา หากคำว่าแพ้ อยู่ท้ายประโยค ต้องแปลว่า ชนะ ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าช้างที่ชื่อมาสเมืองแพ้ แต่แปลว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เองเอาชนะช้างชื่อมาสเมืองได้) กรณีการใช้คำว่าแพ้ ในความหมายว่า ชนะ ยังมีให้เห็นในวงการศาสนาเช่น การแปลพระคาถาบาลี บทที่ว่า

ชยํ เวรํ ปสวติ ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต. อุปสนฺโต สุขํ เสติ หิตฺวา ชยปราชยํ.

อรรถกถาจารย์ (ล้านนา) ได้ถอดความไว้ว่า

ผู้แพ้(แป๊)ย่อมก่อเวร
ผู้พ่าย(ป๊าย)ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ผู้ละความแพ้(แป๊)และความพ่าย(ป๊าย)เสีย
มีใจสงบระงับนั่นแหละเป็นสุข


*คำว่า "แพ้"/"แป๊" แปลว่า ชนะ "พ่าย"/"ป๊าย" แปลว่า ไม่ชนะ คำว่าแพ้ นี้เป็น ภาษาไทยโบราณ ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกับที่ใช้ในปัจจุบัน )

ขุนสามชนพ่ายหนี
พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู
ชื่อพระรามคำแหง
เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน
(จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1)

หลายท่านอ่านประโยคในศิลาจารึก ที่ว่า "พ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ" ก็อาจจะมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พระราชบิดา) เพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พูดจาเข้าทำนองประจานพระราชบิดาว่า "หนีกระเจิดกระเจิงกลางสนามรบ"


ในทางกลับกัน ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าคนในยุคสมัยสุโขทัย  พูดจาจริงใจ จริงจัง ถ้าเป็นสมัยถัดจากนี้ (สมัยอยุธยา) กวีมักจะบรรยายฉาก การทำยุทธหัตถี อย่างโอฬาร ตระการตา อีกทั้งต้องสงวนคำสงวนความ ให้ดูเคร่งขรึม เช่น

บทจะชมพระเจ้าแผ่นดิน

ลวง..หาญหาญกว่าผู้................หาญเหลือ กว่านา
ริ..กว่าริคนริ.............................ยิ่งผู้
ลวง..กลใส่กลเหนือ...................กลแกว่น กลแฮ
รู้..นิ่งรู้กว่ารู้..............................เรื่องกล

บทชมขบวนช้างศึก

ลางสาร....ตามเงื่อนแคล้ง...........เกลาเหลา
ลางสํ่า.....จรางมันผัน.................ม่ายม้าห์ .
ลางสาร....อาจเอาธาร................ชาญเชี่ยว
ลางสํ่า......แกล้วกล้าป่า..............ชื่นตา ..

บท ยอยศพระเจ้าแผ่นดิน

พิษณุพระกร...แกว่นส้าย.............สงคราม
พรพระกรรม์....ไกรกล.................วาดไว้
พรรณพระเกตุ...เงื่อนงาม............โสภาศ
เพศพระกาณฐิ์..ควรไท้................แทบองค์
(ที่มา:ลิลิตยวนพ่าย)

จะสังเกตได้ว่า บทประพันธ์ทั้งสอง มีโครงเรื่องที่เหมือนกันคือเรื่อง ว่าด้วยการทำ สงครามและการทำยุทธหัตถี ของพระมหากษัตริย์ แต่กวีใช้รูปแบบและวิธีการพูดต่างกัน โดยยวนพ่ายพูดอ้อมค้อม ส่วนจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พูดแบบตรงๆ การพูดแบบตรงๆ แต่กินใจ ที่พบในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังมีอีกกรณีหนึ่งตัวอย่างเช่น


"เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม"
(จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1)

เมื่อเราอ่านจบ ก็จะพบทั้งความ กตัญญู (รู้คุณ) และ กตเวที (ตอบแทนคุณ) จากประโยคง่ายๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นสมัยที่ถัดจากนี้เช่น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ต้องบรรยายใหม่ให้สละสลวย ความว่า

คุณแม่หนาหนักเพี้ยง...........พสุธา
คุณบิดรดุจอา......................กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา...................เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง..............อาจสู้สาคร
(โคลงโลกนิติ)

โคลงโลกนิติบทนี้เพียงแต่เปรียบเทียบว่าพ่อแม่มีพระคุณเท่านั้นเท่านี้ จะว่ากินใจ ก็กินใจ แต่ก็ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะโคลงได้แสดงเพียงแค่ความ กตัญญู แต่ยังขาดการแสดงภาพ ของการ กตเวที (ตอบแทนคุณ)

เช่นเดียวกับโคลงที่ชื่อ บุพการี ซึ่งประพันธ์ โดย อังคาร กัลยาณพงศ์ (มี13 บท ถ้าเกียจคร้านที่จะอ่าน ให้ดูย่อหน้าถัดไป)  ที่ว่า

ใครแทนพ่อแม่ได้............ไป่มี เลยท่าน
คือคู่จันทร์สุรีย์ศรี................สว่างหล้า
สิ้นท่านทั่วปฐพี...................มืดหม่น
หมองมิ่งขวัญซ่อนหน้า.........นิ่งน้ำตาไหล ฯ
 
๏ พ่อแม่เสมอพระเจ้า............บนสวรรค์
ลูกนิ่งน้อมมิ่งขวัญ................กราบไหว้
น้ำตาต่างรสสุคันธ์...............อบร่ำ หอมฤๅ
หอมค่าน้ำใจไซร้.................ท่านให้หมดเสมอ ฯ

๏ ถึงตายเกิดใหม่ซ้ำ............. ไฉนสนอง
คุณพ่อแม่ทั้งสอง.................. สั่งฟ้า
น้ำนมที่ลูกรอง.....................ดูดดื่ม
หวานใหม่ในชาติหน้า.......... กี่หล้าฤๅสลาย ฯ
 
๏ รอยเท้าพ่อแม่ได้................เหยียบลง ใดแล
เพียงแค่ฝุ่นธุลีผง..................ค่าไร้
กราบรอยท่านมิ่งมง-.............คลคู่ ใจนา
กายสิทธิ์ใส่เกล้าไว้................เพื่อให้ขวัญขลัง ฯ
 
๏ น้ำนมแม่มิ่งไม้..................รสสุคนธ์
ทั้งโลกตลอดเมืองบน..............ป่าฟ้า
อ้อยตาลทุกแห่งหน................แพ้พ่าย
หวานค่าถึงชาติหน้า..............กี่หล้าหวานเสมอ ฯ
 
๏ ละเมอหวานตาลอื่นอ้อย......โอษฐ์ขม
หวานแต่สายน้ำนม.............. แม่ให้
เกิดกายแก่นใจผสม.............. เพชรพร่าง
ปางนี่หนอลูกใบ้.................... ช่างไร้ภาษา ฯ
 
๏ เพรียกหาทั่วฝั่งฟ้า.............. ปรโลก
พ่อแม่เอยลูกโศก.................. สั่งหล้า
น้ำตาร่ำลมโบก.................... เป็นเมฆ
เมฆช่วยมองภพหน้า............. ท่านนั้นสถิตไหน ฯ
 
๏ ไหวชีวิตสั่นสิ้น................. วิญญาณ
พ่อแม่ลืมธาตุปราณ...............ท่านไว้
ในอกแห่งลูกหลาน................ครวญคร่ำ
ร่ำทุกหายใจไหม้...................อยู่ม้วยเสมอเสมือน ฯ
 
๏ เฟือนโศกปรโลกเศร้า.......... หนาวขวัญ
ไหวหวั่นดั่งชีวัน.................... ว่างไร้
อเนจอนาถนี่หลับฝัน.............. หรือตื่น
ขมขื่นสะดุ้งอกไหม้................ ร่ำไห้ถวิลหา ฯ

๏ โศกกว่าเศร้าสั่นสิ้น.............. สายใจ
ไหวหวั่นชีวาลัย..................... ดิ่งสะดุ้ง
น้ำตาร่วงระเหยไป................. เป็นเมฆ เมฆเอย
ฝนห่าแก้วหลั่งรุ้ง.................... ดับร้อนเผาขวัญ ฯ
 
๏ อโหข้าน้อยต่ำต้อย.............. หอยปู
เจ็บป่วยร่ำจมรู .......................นรกไหม้
พุทธองค์เร่งเอ็นดู................... มาโปรด พระเอย
ข้าไม่ช่วยม้วยไซร้..................โลกสิ้นกวีศรี ฯ
 
๏ พระชี้ดาวพร่างรุ้ง................. แก้วมณี
ใจกว่าเพชรวิเศษศรี.................สั่งไว้
แสงรุ้งร่วงปฐพี........................ ตมต่ำ ก็ดี
เปื้อนที่ไหนนิ่งไซร้.................. เร่งซึ้งสัจจธรรม ฯ
 
๏ มรณํขลังดั่งแก้ว..................... อนุสสติ
อสุภหนึ่งถึงสิบสิ........................ เพ่งไว้
อนาปานสติมิ..........................ประมาท มุ่งเทอญ
ถึงแก่นพุทธธรรมไซร้ ...............สว่างสิ้นภพไตร ๚๛

อังคาร กัลยาณพงศ์ ย่อมได้รับการสืบทอดแนวความคิดมาจากโคลงโลกนิติไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ทั้ง "โคลงโลกนิตยางคารกัลยาณพงศ์" ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า ความงดงาม ยังด้อยกว่า คำประพันธ์ของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วรรคที่ว่า

"เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม" (ทั้งกลม เป็นคำโบราณแปลว่าทั้งหมด เช่น ตายทั้งกลม ก็คือตายหมดทั้งแม่ทั้งลูก ไม่ใช่ ตายท้องกลม)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ใช้คำพูดง่ายๆ ถอดความได้ว่า เวลากินอะไรดีๆ ก็นึกถึงพ่อถึงแม่และพี่ชาย แล้วก็นำของที่กินอร่อยกินดีนั้นไปให้พ่อแม่และพี่ชายกินด้วยคำประพันธ์ของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงสร้างความซาบซึ้ง เพราะได้แสดงภาพ ความกตัญญูกตเวที อย่างครบถ้วน เรียกได้ว่า เป็นการสะท้อนจิตเดิมแท้ออกมาเลยทีเดียว

อนึ่ง ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี และ ไมเคิล วิกเคอรี ได้เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้วว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหงอาจไม่ได้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ และเสนอว่าจารึกหลักที่ 1ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เพิ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง

นอกจากนี้นักวิชาการอีกหลายคน เช่น ไมเคิล ไรท์ , สุจิตต์ วงษ์เทศ ,พิ เศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ให้ความเห็นไปในทิศทางที่ไม่เชื่อว่าจารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เช่นกัน

อีกฟากหนึ่ง จิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตรวจพิสูจน์หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2532 โดยดูการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีของร่องรอยการขูดขีด พบว่าเป็นร่องรอยที่มีอายุอยู่ในสมัยกรุงสุโขทัยแน่นอน แต่จะเป็นรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ใดไม่สามารถระบุได้แน่ชัด

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ กรมศิลปากร ก็เป็นอีกคนที่ยืนยันว่า จารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแน่นอน

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกอย่าง ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ก็ออกมาชี้แจงโต้แย้งประเด็นที่เป็นพิรุธในทุกกรณีตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา


เอาล่ะ พอเขียนมาถึงย่อหน้านี้ ใครอยากแต่ง ไฮขุ กันบ้างแล้วบ้าง แต่เอ่อ....ถ้าสังเกตสังกา ดีๆจะเห็นว่า กลอนไฮขุ ที่ประเทศ ญี่ปุ่น เขาเอาไว้ให้เด็ก 10-13 ขวบ หัดแต่ง

ทว่า ถึงอย่างไรก็ตาม โบราณราชกวีของญี่ปุ่น ท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนานิกายเซ็น กลอนไฮขุ จึงแฝง ไปด้วยปรัชญา แห่ง จิตเดิมแท้ อยู่มิใช่น้อย อนึ่งโคลงของ บะโช มะทสึโอะ ที่ว่า


สระน้ำ อันเก่าแก่
เจ้ากบตัวหนึ่งกระโดดลง
เสียงน้ำพลันดังจ๋อม

โคลงไฮขุ บทนี้สะท้อนให้เห็นว่า บะโช มะทสึโอะ เป็น นักปฏิบัติธรรม/นักเจริญวิปัสสนา/นักดูจิต  และกำลังฝึก สติปัฎฐานสี่ เพื่อเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สระน้ำอันเก่าแก่ เจ้ากบตัวหนึ่งกระโดดลง (ก็คือการภาวะนาว่า เห็นหนอๆๆๆๆ แบบเถรวาท)
เสียงน้ำพลันดังจ๋อม (ก็คือการภาวะนาว่า เสียงหนอๆๆๆๆ นั่นเอง)


แต่ก็นั่นล่ะ สมัยนี้ใครจะไปสนใจเรื่องเซ็น เรื่อง สติปัฏฐานสี่ กวีสมัยนี้ห่างวัด ห่างพระ บทกวีสมัยนี้จึงมีลักษณะมุ่งที่จะ สำรอกอารมณ์ สำเร็จความใคร่ใส่ตัวอักษร เพียงเท่านั้น

ถ้าไม่เชื่อกันละก็  ท่านก็ลองหาบทกวีซีไรต์ในยุคปัจจุบันมาอ่านดูซี แล้วท่านจะเชื่อว่า บทกวีสมัยนี้ไม่ต่างกับ ยุคสุโขทัย   นั่นคือไม่เน้นฉันทลักษณ์ ไม่เคร่งในสัมผัสอักษร สัมผัสสระ เขาว่ากันว่ากลอนแบบนี้เป็นกลอนสมัยใหม่  หุยฮา โห่ฮิ้ว...

หมายเลขบันทึก: 167946เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2008 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มาละเหวย มาละว่า มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล่า
  • หุยฮ่า โห่ ฮิ้ว
  • ตามมาอ่าน
  • ชอบมากๆๆที่เปรียบเทียบให้เห็น
  • บางทีกลอนสมัยใหม่จะฉีกแนวต่อไปเรื่อยๆๆนะครับ
  • ชอบอ่านไฮกุ ภาษาอังกฤษและภาษาลาว
  • เคยอ่านไหมครับ

เรื่องราวเล่าน่ารู้

กวีไทย-ไฮกุญี่ปุ่น

ซาบซึ้งถึงรสคำ

กลางดึก

เปิดหน้าต่าง

ฟ้ามืด

ใจสว่าง

  • สวัสดีครับคุณ P  ขจิต
  • สวัสดีครับคุณP  tuk-a-toon
  • สวัสดีครับคุณ P  ธ.วั ช ชั ย ไฮขุเพราะครับ ใจความลุ่มลึก

 

แดดร้อนยามกลางวัน

ฉันเปิดหน้าต่าง

ฟ้าสว่าง

ใจฉันมืด

ฉันเปิดหน้าต่าง

มองออกไป

ฉันไม่เห็นอะไรเลย

  • สวัสดีครับ อาจารย์ P พรรณา
  • ไฮขุ เพราะดีครับขอบคุณที่แวะมาอ่าน ค้าบ

ลองอ่านดูน่ะค่ะ

finite finite please

I want to finite school

Please give me the grade

 

Learn in the college

Major in electronic

Give me the grade please

 

only you can give

the best thing of my mile life

to goal of my life

 

I very hanppy

I can finite my life goal

only only you

 

นักเรียมมาให้ช่วยแต่ บอกว่าจหะไปเอาวุฒิการศึกษามาครูที่โรงเรียนเดิมขอให้แต่กลอนให้ จึงแต่ง ค่ะท่าน

แวะหาเกร็ดความรู้

กวินได้เล่าเรื่องเปรียบเทียบ

น่าทึ่งซาบซึ้งใจ

  • สวัสดีครับ คุณ siri
  • ควรคำว่า finish   แทน finite
  • จบ จบเสียที ฉันอยากเลิกไปโรงเรียน
    ขอเกรด เสียที
    จะได้ไปเรียนมหาลัย
    เอกไฟฟ้า
    ขอเกรดเสียที
  • แต่ท่อนหลังๆ ผิดไวยากรณ์ แต่งเก่งนะครับ ผมยังแต่งไมได้เลย อิๆๆ
  • สวัสดีคัรบอาจารย์ แจ่มใส  ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท