ดอกทอง


คำว่า "ดอกทอง" เป็นคำหยาบ ใช้ด่าว่าผู้หญิงที่มีพฤติกรรมสำส่อน นอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า แต่ถ้าผู้ชายทำพฤติกรรมแบบเดียวกันมักได้รับคำชมว่าเป็น "ชายชาตรี"

นิราศกวางตุ้ง ซึ่งแต่งโดย พระยามหานุภาพ เมื่อครั้งเดินทางไปเมือกวางโจว (กวางเจา) พ.ศ.2324 พระยามหานุภาพ พาดพิงถึง หลวงราไชย ว่าได้ติดโรคผู้หญิง (กามโรค) จากหญิงคณิกา จนต้องเก็บตัวไม่กล้าออกพบผู้ใด เนื้อหาในกลอนบทนั้นมี ความว่า

"ที่ภักดีโดยการก็งานเปลือง
ไม่ยักเยื้องกริยาเหมือน "ราไชย"
เมื่อท่านยุกรบัตรหาปรึกษาของ
ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป
พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว"

คำว่า "ดอกทอง" เป็นคำหยาบ ใช้ด่าว่าผู้หญิงที่มีพฤติกรรมสำส่อน นอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า แต่ถ้าผู้ชายทำพฤติกรรมแบบเดียวกันมักได้รับคำชมว่าเป็น "ชายชาตรี"

คำว่า "ดอกทอง" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า

 ดอกทอง น. หญิงใจง่ายในทางประเวณี (เป็นคำด่า)

 คำว่า ดอกทอง ภาษาบาลี น่าจะใช้ว่า สุวรรณมาลี แต่เมื่อพิคราะห์ นาง "สุวรรณมาลี" ในเรื่องพระอภัยมณี ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมดอกทอง

เพื่อนผู้เขียน คือ ธนเชษฐ์ วิสัยจร (อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในนามปากกา เชษฐภัทร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อรรถาธิบาย คำว่า ดอกทอง ไว้ความว่า

ดอกทอง เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า คำว่า "หลกท่ง" แปลว่า แดงเหมือนเหล็กเผาไฟ/อวัยวะเพศร้อน ก็ว่า ใช้บริภาษลูกสาวหรือหลานสาวที่แสดงกิริยาม้าดีดกะโหลก ซึ่งก็มีทั้งด่าแบบเอ็นดูตามแบบคนจีน และด่าแบบเอาจริงเอาจัง

เกวลิน วรุณโสภณ นักวิชาการศึกษา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ (คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ให้ทรรศนะที่ขัดแย้งว่า คำว่า หลกท่ง น่าจะเป็นคำทับศัพท์ที่คนจีนแต้จิ๋วยืมไปจากไทยคำว่า "ดอกทอง" หากแปลกลับเป็นภาษาจีน จะได้คำว่า "กิมฮวย ซึ่งจะไม่ได้มีความหมายเป็นคำด่า แต่หมายถึง "ดอกไม้สีทอง หรือ ดอกไม้ทองคำ" ดังนั้น คำ "ดอกทอง" นี้จึงอยู่เฉพาะบริบทสังคมไทย-จีนแต้จิ๋วเท่านั้น เช่นเดียวกับอีกหลายคำ เป็นต้นว่า หลักผี้(ราชบุรี) หมั่งก๊ก(บางกอก) ขุกท่ม(นครปฐม) คนจีนในเมืองไทยเข้าใจว่าเป็นภาษาจีน

ผู้เขียนขอนอกเรื่องพูด ถึงประวัติที่มาของคำว่า ราชบุรี/ราชพรี/หลักผี้ คำว่าราชพรี เป็นภาษาปาก หมายถึง จังหวัด ราชบุรี คิดว่า หลักผี้ ทับศัพท์มาจาก ราชพรี อีกทีหนึ่ง จำคำว่า ราชพรี ได้ขึ้นใจเพราะผู้เขียนเคยอ่านบทกวีเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" ของอัศนี พลจันทร (นายผี) แล้วสะดุดตรงคำว่า ราชพรี

พระริบเอาราชพรี.....คือบุรีอันเกรียงไกร
จักริบหัวใจใจ..........ก็ประจักษ์บ่จำนน

ยานี 11 บทนี้ถือว่าใช้ สำนวนที่คมคาย โดยกล่าวเปรียบเทียบว่า ยึดได้แต่เมือง แต่ไม่สามารถยึดใจ ชาวเมืองราชพรีได้ ตอนหลังถึงได้มาทราบว่า คำว่าราชพรี เป็นชื่อเรียกเมือง ราชบุรี ของคนสมัยก่อน นายผีประพันธ์กวีนิพนธ์เรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" นี้ก็ เพื่อกล่าวถึงเรื่องต้นตระกูลของตน ต้นตระกูลของนายผีคือ พระยาพล เดิมชื่อนายจันทร เคยรบกับ พม่าจนได้ชัยชนะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี

ทว่า เมื่อพูดถึงดอกทอง ข้าพเจ้านึกถึงทรรศนะของ รองศาสตรจารย์ ยุพร แสงทักษิณ (อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เกษียณ อายุราชการแล้ว) ท่านได้อรรถาธิบายที่มาของคำว่า ดอกทอง ไว้ในหนังสือชื่อ รุ้งอักษร :เส้นสายสีแสงแห่งภาษาและวรรณคดี  รองศาสตรจารย์ยุพร แสงทักษิณ เชื่อว่า สีแดง นี้ เป็นสัญลักษณ์ของพระแม่กาลี หรือ กาลิกา (กาลราตรี)



ภาคของพระแม่กาลี นี้พระนางเป็นเทวีที่มีผิวพรรณดำสนิท มีวรกายอ้วนใหญ่ปล่อยผม สยายยาว ประบ่ามิได้รวบขึ้นรัดเกล้าไว้ พระแม่กาลี มี 10 แขน มีอาวุธร้ายถืออยู่ในทั้ง 10 มือนั้น และที่ริมฝีปากยังมีเลือดไหลหยดเป็นทางยาว และประดับเครื่องแต่งองค์ ด้วยสายปั้นเหน่งที่ร้อยไปด้วยมือ คนที่ตัดมาจากการฆ่าอีกทั้งยังมีงูตัวใหญ่ร้อยคาดองค์ดั่งสังวาล มือหนึ่งใน 10 มือของเจ้าแม่กาลีนี้ได้ถือหัวกระโหลกบ้าง บางแห่งก็ว่าไว้ว่าถือหัวยักษ์ชื่อ มาธูอสูร ซึ่งตัดใหม่มีเลือดหยดเป็นรอยไหลเป็นทาง

ตำนานกล่าวไว้ว่าพระแม่กาลีได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับมาธูอสูร ที่เคยได้รับพรจากพระศิวะว่าให้มีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดมาธูอสูรตกลงถึงพื้นดินก็จะเกิดเป็นอสูรอีกมากมายไม่สิ้นสุด ดังนั้นพระศิวะจึงได้ประทานวิธีให้พระแม่กาลีได้ดื่มเลือดอสูรทุกครั้งโดยที่ยังไม่ทันได้ตกลงถึงพื้นดิน มาธูอสูรจึงถึงแก่ความตายในที่สุด เหตุนี้ปางที่ดุร้ายอย่างพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลีจึงกลับเป็นที่นิยมบูชากันมาก เพราะเชื่อว่าทรงพลังอำนาจในการให้พรผู้บูชา ถ้าผู้ใดบูชาจนพระนางพอพระทัยก็จะประทานพรมากมาย

พระแม่กาลีในภาคนี้มีความดุร้ายเหี้ยมโหดเป็นยิ่งนัก โปรดที่จะเสวยเลือดและเห็นคนถูกฆ่าตายเพื่อบูชายัญ เชื่อกันว่าหากจะให้พระแม่กาลีลดความโหดร้าย ต้องประกอบพิธีตันตระขึ้น

พิธีตันตระคือพิธีการเสพสังวาสหมู่เพื่อถวายสักการบูชาพระแม่กาลี พระแม่จะโปรดมากและจะหยุดความดุร้ายลงได้ชั่วคราว พิธีตันตระ ปฏิบัติโดย ให้หมู่ชายหญิงผู้ศรัทธา ปสาทะ เข้าโบสถ์หรือที่อันรโหฐานแล้วปิดไฟให้มืดมิด จากนั้นให้ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงค่อย ๆ เอื้อมมือคลำไขว่คว้าหากันหากคลำได้ถูกคู่นั้นก็จะต้องเสพสังวาสกันโดยมิเลือกว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือแม้แต่พ่อแม่พี่น้องกันก็ต้องกระทำการสมสู่กัน ในคัมภีร์โบราณเล่าว่ายิ่งถ้าเป็นแม่เป็นลูก เป็นพ่อเป็นลูก หรือเป็นพี่น้องกันหากได้เสพสังวาสกันในพิธีตันตระนี้ก็จะทำให้ได้บุญมาก เพราะพระแม่กาลีจะโปรดปรานมากเป็นพิเศษ

พระแม่กาลี ต่อมาอาจถูกใช้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำส่อน (ข้าพเจ้าอนุมานว่า ภายหลังคำว่า กาลี ถูกใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริภาษผู้หญิงที่ประพฤติตนสำส่อน ว่า กาลี/กระหรี่ ก็เป็นได้)

สำหรับ คนอินเดียตอนใต้ในสมัยก่อน จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสำหรับสวมคอนักโทษ ที่จะถูกประหารชีวิต และเมื่อมีพิธีสรงสนานเจ้าแม่กาลี จะมีดอกชบา ลอยน้ำรวมกับหญ้าแพรก ใบมะตูม

 หากสืบย้อนขึ้นไปในสมัยอยุธยา คำบริภาษ ผู้หญิงว่า ดอกทอง ปรากฎอยู่ใน เพลงยาว ของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ฯ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ความว่า

.................................................................สงวนรักฤามาหักอารมณ์หวน
ไม่รักหน้าเลยว่าหน้าจะหมองนวล                   มาทำลวงล่อลิ้นให้ลมชาย
ไม่รักเนื้อเชื้อเช่นว่าเป็นหญิง                          ช่างทิ้งสัจเสียกระไรน่าใจหาย
พี่นี้หลงเชื่อลมแต่งมงาย                               ไม่หมายเลยว่าน้องจะทองแดง
ตระกูลหงส์ย่องประจงแต่โบกขเรศ                  ตามเพศพิสัยที่เคยแสวง
มิรู้กาผ่าพงษ์มาลงแปลง                               เขาปลอมแหล่งแฝงเล่นไม่เห็นรอย

         ฯลฯ                                                                        ฯลฯ       

แต่เช่นนี้อย่างนี้สักกี่หน                                 ไม่ทราบกลดอกจึ่งงงเหงาหงาย
พึ่งรู้เช่นว่าเจ้าเล่นมาหลายราย                       เมื่อคิดหมายตัวเข้าเหมือนเต่าแลน  
ทำล่อล่อจ่อจดแล้วหดหนี                               จนไมตรีพี่ค้างระคางแขวน
ไม่ยืนคำทำงอนพอคลอนแคลน                       ก็จะแปลนไปไขให้คนลือ
ถึงเสียรู้ครูใจไปวันหน้า                                   มิใช่ว่าหญิงสิ้นแผ่นดินหรือ
แต่เช่นนี้น่าจะมีเมื่อปลายมือ                            จะจดชื่อใส่ใจไว้เจียวเอย

 

คำว่า ทองแดง ในเพลงยาวนี้มีหลายนัยยะ นัยยะหนึ่ง อาจหมายถึง  ทองธรรมชาติ/ทองกวาว ซึ่งมีสีแดง (เป็นเชิงบริภาษว่า ดอกทอง นั่นเอง) นัยยะที่สอง อาจสื่อความรวมความไปถึง ทองแดง (copper) ในเชิงเปรียบเทียบว่า นางอันเป็นที่รักนี้หาได้มีราคาค่างวดเสมอด้วยทองคำ เพราะทำตัวต่ำ(ช้า) จึงมีราคาค่าตัวต่ำเตี้ยเสมอด้วย ทองแดง

จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยอยุธยา) พ.ศ. 2230 โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้บันทึกไว้ว่า

"หญิงคนเดียวมันทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งก่อนแล้วหญิงนั้นมาทำชู้ด้วยชายคนหนึ่งเล่า ชู้ก่อนมันฟันแทงชู้หลังตายก็ดี ชู้หลังมันฟันแทงชู้ก่อนตาย ก็ดี ท่านว่าเป็นหญิงร้าย ให้ทวนมัน 30 ที แล้วให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัดดอกชะบา สองหูขึ้นขาหย่างประจาน 3 วัน

 ในบางกรณีก็จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสวมคอหญิงชายที่ทำชู้ นั้นด้วย และยิ่งถ้าผู้หญิงที่เป็นราชบาทบริจาริกกาของพระมหากษัตริย์ ลอบมีชู้จะถูกให้ลอบสังวาสกับม้า และให้ประหารชีวิต หรือสั่งให้เสือขบ สำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป สามีอาจขายภรรยาที่คบชู้ไปเป็นโสเภณี ส่วนชายชู้ซึ่งถือว่าเป็นจำเลยที่ทำผิดร่วมกันกลับได้รับโทษที่เบากว่าผู้หญิงที่กระทำผิด



ในกฎหมายตราสามดวง หรือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 เป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวน 11 คน นำตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาทำการชำระครั้งใหญ่ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2348 ได้ ระบุโทษในการมีชู้ของเมีย คือสามีสามารถฆ่าชายชู้และเมียตัวเองได้โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ และสามีมีสิทธิยึดทรัพย์ทั้งหมดของภรรยา หรืออาจใช้วิธีการประจานโดยกฎหมายอนุญาตให้เอาปูนเขียนใบหน้าเมียที่มีชู้ เอาดอกชบาแดงทัดสองหูและร้อยเป็นมาลัยใส่ที่ศีรษะและคอ แล้วให้คนตีฆ้องนำหน้าประจานไปทั่ว

อาจารย์ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น  อรรถาธิบายถึงโทษแห่งหญิงเล่นชู้ ซึ่ง ปรากฎใน คัมภีร์โพสะราดและสังคะปะกอน (รวบรวมโดย สำลิด  บัวสีสะหวัด  แห่งเมืองเวียงจัน ประเทศลาว จัดพิมพ์โดย มูนนิทิโตโยตาแห่งปะเทดยี่ปุ่น)

 คัมภีร์โพสะราดและสังคะปะกอน กล่าวถึง "โทษ(แห่ง)หญิงเล่นชู้" (น.13) ไว้ความว่า  

                             

1. โทดยิงหลิ้นซู้...จะก่าวยิงแพดสะหยาโดยมาดตา 6 สะถาน  นอกใจพานหลิ้นซู้ผัวบ่ยู่ตามซายมาเถิงเคหาหน อันหนึ่ง :  โทษหญิงเล่นชู้... จะกล่าวหญิงแพศยาโดยมาตรา 6 สถาน  นอกใจพาลเล่นชู้ผัวบ่อยู่ตามชายมาถึงเคหาหน อันหนึ่ง : ศัพท์  1) หลิ้น : เล่น  2) เถิง : ถึง

2. ยิงลนลักหลอนแบะซายนอนฮามที่วันเดียวมี  3  ซู้ อันหนึ่ง : หญิงดิ้นรนลักลอบแบะท่านอนกับผู้ชายไม่เป็นที่วันเดียวมี 3 ชู้รัก อันหนึ่ง :  ศัพท์  1) หลอน : แอบ  ทำอะไรลับหลัง   2) ฮามที่ :  ไม่เป็นที่(ฮาม: เหินห่าง  ว่าง  เว้น  ในที่นี้คือ ไม่เป็นที่)  3) ซู้ภาษาอีสาน/ลาว มีความหมาย   2  อย่าง  คือ  แปลว่าคู่รัก/คนรัก  และอีกอย่างแปลว่าชู้ที่ลักลอบกันแบบภาษาไทย 

3. ฮู้ปับได้เอาสินไหม  สองถ้า  หนึ่งราคารับจ้าง อันหนึ่ง : (ถ้า)รู้ปรับเอาสินไหมได้  สอง(ถ้วน : เท่า?) เท่า (หนึ่ง) ของราคารับจ้าง (หญิงที่มีหลายชู้เพื่อแลกกับเงิน?)

4. บ่ว่างเว้นซั่วนอกใจผัวสอง กํเทียวขํขับลำท่านให้จำจงแน่ : ไม่ว่างเว้นชั่วนอกใจมีผัวสอง  เที่ยวขอ(เงิน) จากผู้ชาย (โดย) ขับร้องหมอลำ  ให้จดจำ(หญิงผู้นั้น)ให้แน่ชัด

5. เหล่านี้แหละแพดสะหยาถ้าพิจาระนา  เป็นสัดให้ยิงทัดดอกสะบา  ฮ้อยมาลาใส่สะแอวไค้วปะนาแอกพาดบ่าทั้งยิงซาย  เหมือนควายเทียมไถตะเวนไป  3  วัน : เหล่านี้แหละหญิงแพศยาถ้าพิจารณาเป็นความสัตย์  ให้หญิงนั้นทัดดอกชบา  ร้อยมาลาใส่รอบเอว  ไขว้แอกทำนามาพาดบ่าทั้งหญิงและชาย(ชู้)  เหมือนควายเทียมไถตระเวณไป  3  วัน ศัพท์  1) สะแอว : เอว  บั้นเอว  2) ปะ : แยก  ทิ้ง  เช่น  ผัวปะเมีย (ออกเสียง ผัวป๋าเมีย) : ผัวแยกทาง/หย่าร้างกับเมีย

6. ถ้าผัวมันยังฮักไค่จะหนีให้ปะจาน ฮักยิงพานอีกเล่า  ท่านให้เอาซายผัวเทียมเป็นงัวข้างหนึ่ง  เพาะดื้ดึงหลงไหล  จะปับซู้นั้นมิได้  ให้แต่โทดปะจานแล : ถ้าผัวมันยังรักใคร่  จนฝ่ายหญิงจะคิดหนี(กลับไปหาผัวเก่า) ให้ประจาน  ผัวเก่ายังรักหญิงพาลนี้อีกเล่า  ท่านให้เอาชายผัวเทียมเป็นวัวอีกข้างหนึ่งเพราะดื้อดึงหลงไหลเมียเก่าอยู่  จะปรับชู้นั้นมิได้  ให้แต่โทษประจาน(ชู้) แล



ทว่า รองศาสตราจารย์ ยุพร แสงทักษิณ กลับปักใจอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่า คำว่า ดอกทอง น่าจะมาจากคำผวน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับเอกสารประกอบการสัมนาวิชาการเรื่อง วัฒนธรรมพื้นบ้านเพชรบุรี แนวคิดบางประการในการศึกษาคติชนวิทยา วันที่ 10 กันยายน 2533 ณ วิทยาลัยครูเพชรบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง ผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยา (folklore studies) แห่ง มหาวิทยาลัยนเรศวร ไอ้อรรถธิบายเกี่ยวกับเรื่องคติชนวิทยาไว้ความว่า คนไทยไม่ชอบอะไรที่ขัดตาหรือมีความหมายส่อไปทางอวัยวะเพศ แม้แต่คำธรรมดาที่ผวนกลับมาเกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศก็ยังคงต้องหลีกเลี่ยง ตัวอย่าง เช่น

  • ถั่วงอก หลีกเป็น ถั่วเพาะ (ผวนแล้วเป็น ถ่อกงั่ว คำว่า ถอก ทำให้นึกถึง อวัยวะเพศชายที่ส่วนปลายถอกออก)

  • ผักบุ้ง หลีกเป็น ผักทอดยอด (ผวนแล้วเป็น ผุ้งบัก คำว่าบัก ทำให้นึกถึง อวัยวะเพศชาย เช่น บักหำน้อย )

  • ดอกกะทือ ดอกทอง หลีกเป็น อีดอก (ผวนแล้วเป็น  ดือกะถอก ดองถอก )

หรือแม้แต่คำไม่ผวนได้แต่ส่อลักษณะบางประการ (อันทำให้นึกถึง อวัยเพศ) ก็จำต้องเปลี่ยน เช่น

  • ไม้ตีพริก เปลี่ยนมาจาก สากกระบือ

  • ปลาหาง เปลี่ยนมาจาก ปลาช่อน

ทั้งนี้เพราะทั้ง สากและปลาช่อน มีลักษณะอันส่อความหมายข้างเคียงไปเป็นอย่างอื่นได้ ในเรื่องของการหลีกคำเทียบเคียงกับอวัยวะเพศนั้น บางครั้งก็ทำอย่างสลับซับซ้อนจนหาที่มาได้ยาก นักนิรุกติวิทยาหลายคนจึงหันมาใช้วิธีการทางพื้นบ้านเข้าช่วยในการวินิจฉัยคำ ยกตัวอย่างคำว่า เฒ่าหัวงู คำนี้ข้าพเจ้าเสนอความคลี่คลายไว้ที่พิษณุโลกหลายปีแล้วเช่นกัน ก็ยังไม่มีผู้ท้วงติง คาดว่าน่าจะมีในการนำเสนอครั้งนี้ คำว่า เฒ่าหัวงู แยกได้เป็น เฒ่า และหัวงู คำว่าเฒ่า ไม่จำเป็นต้องหาความหมาย ส่วนคำว่า หัวงู เป็นคำที่ชวนสงสัย หัวงู เป็นคำผวนมาจาก หูงัว ถึงตอนนี้จำจะต้องย้อนกลับไปถึงปริศนาของศรีธนญชัยที่ว่า อะไรเอ่ย รีรีเหมือนใบพลูมีรูตรงกลางข้าง ๆ มีขน

คำตอบ ของปริศนานี้ คือ หูงัว แต่ความหมายเทียบเคียงของ หูงัว คืออะไรก็พอจะทราบกันอยู่ ถ้าไม่ทราบก็คงไม่ใช่ผู้มีธุรกิจทางคติชนวิทยา เฒ่าหูงัว ผวนแล้วเป็น  เฒ่าหัวงู   ถูกใช้ในเชิงความหมายเทียบเคียง



(ดอก)ทองกวาว/ทองธรรมชาติ (ชื่อ ทองกวาว ,ทองธรรมชาติ เหตุใด จึงใช้คำว่า ทอง นำหน้า ทั้งๆ ที่ ดอก มี สีแดง เป็นไปได้หรือไม่ว่าในสมัยโบราณ คำว่า ทอง จะมีมากกว่าหนึ่งความหมาย เช่นหมายถึง สีแดง เช่น ทองแดง หมายถึงสีเหลือง เช่น ทองเหลือง / ทองคำ ?? )

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.)Taubert
วงศ์: LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ: Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest[1]
ชื่ออื่นๆ: กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อิสาน)



ชบา
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus syriacus L.; Hibiscus chinenis DC. ) เป็นไม้ในสกุล Hibiscus ที่มีความผันแปรทั้งรูปทรงของใบ ลำต้น และดอกมาก ตลอดจนปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย จากความสวยงามของดอกทำให้ได้รับสมญาว่า Queen of Tropic Flower หรือ ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน


ข้าพเจ้าจึงขอสันนิษฐานว่า

ข้อ 1. คำว่า ดอกทอง(กวาว)/ทองธรรมชาติ และดอกชบา ซึ่งมีสีแดง คนโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสำส่อน ความกาลี

ข้อ 2. คำว่าดอกทอง นี้ ด้านคติชนวิทยา เป็นคำผวน ซึ่งถูกเทียบเคียงกับอวัยวะเพศผู้ชาย ดอกทอง ผวนได้ว่า ดองถอก "เกี่ยว(ดอง)กับอวัยะเพศชายที่ถูก(ถอก)"

ฉะนั้นคำว่า ดอกทอง จึงเป็นทั้ง คำผวน และแสดงภาพสีแดง สีแห่งพระแม่กาลี ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงเอ่ยคำว่า ดอกทอง เพื่อใช้บริภาษ หญิงที่ประพฤติตนสำส่อนทางเพศ

 

ดังที่จะเห็นตัวอย่างได้จาก เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ใช้คำว่า (ดอก)ทอง(กวาวสี)แดง บริภาษนางอันเป็นที่รักไว้อย่าง ดุดัน ว่า

ไม่รักเนื้อเชื้อเช่นว่าเป็นหญิง                          ช่างทิ้งสัจเสียกระไรน่าใจหาย
พี่นี้หลงเชื่อลมแต่งมงาย                               ไม่หมายเลยว่าน้องจะทองแดง

 

รวมถึง พระยามหานุภาพ ใช้คำว่า ดอกทอง ในเชิงเหยียดหยามนางคณิกา และ หลวงราไชย ดังกลอนบทที่ว่า

"อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว"


สำหรับคำว่า อุปทม ที่ปรากฏอยู่ใน นิราศกวางตุ้ง คือ กามโรค ชนิดหนึ่ง ในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา อุปทม ( อุปทังสโรค) แบ่งออกได้ ๔ จำพวกดังนี้

1. อุปทม เกิดเพราะการอักเสบ เนื่องด้วยเสพเมถุนกับสตรีที่ยังไม่มีระดู ข่มขืน กระทำชำเรา ด้วยความกำหนัด สตรีเพศพรหมจารี บุรุษข่มเหงเอาด้วยกำหนัดยินดี ซึ่งสตรีเป็นเพศพรหมจารี นั้น มิรู้รสกำหนัดยินดี ด้วยเปรียบประดุจดังช้างสารตัวใหญ่เข้าไปอยู่ในโพรงอันแคบแล้วจะได้คิดว่าเจ็บปวดนั้นหามิได้ ครั้นออกจากช่องแคลแล้ว กระทำให้เจ็บปวดต่างๆ คือ ให้องค์กำเนิดช้ำนัก เดาะ เป็นหนอง เป็นโลหิตไหลออกมาตามช่องทวารเบาของตนเอง ได้รับความเจ็บปวดเวทนายิ่งนัก คือ ให้แสบร้อน ปัสสาวะไม่สะดวก ให้ลำช่องปัสสาวะบวมขึ้น แล้วก็เป็นหนองไหลออกมาตามช่องทวารเบา

2. อุปทม เกิดเพราะเสพเมถุนกับหญิงแพศยาเป็นกาลกิณีสำส่อน ด้วยกามตัณหา เป็นอาจิณ ( หญิงสัญจรโรค หรือหญิงโสเภณี) เนื่องจากสตรีนั้นคบชู้สู่ชายมาก และช่องสังวาสนั้น ช้ำชอกด้วยกิเลส กามตัณหาเป็นนิจ ด้วยเหตุที่ทวารที่ชุ่มด้วยลามกตัณหานั้น ครั้นชายไปร่วมประเวณีด้วยสตรีนั้น ก็กระทำให้บังเกิดซึ่งโรคสมมุติว่า อุปทม โดยกำลังที่ชุ่มนั้นลำราบดุจน้ำใบไม้ น้ำหญ้าเน่า และมีผู้ไปย่ำน้ำนั้น ก็กัดเอาเปื่อยพังไป เกิดทุกข์เวทนา เป็นอันมาก

3. อุปทม เกิดเพราะโทษดานและกระษัยกล่อน และกาฬมูตร มักเกิดขึ้นตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวเหน่า เรียกว่า โรคสำหรับบุรุษ บังเกิดแก่บุคคลบริสุทธิ์มิได้มักมากในทางกามตัณหา คือสมณะ ภิกษุ สามเณร ภิษุณี พราหมณ์ทั้งหลาย อันมีศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ได้เสพเมถุน กับมาตุคามเลย โรคนั้นก็บังเกิดขึ้น ด้วยโทษดานและกระษัยกล่อน ทำให้แสบร้อน ปัสสาวะมิได้ รับประทานยาถูกก็หายไป แล้วกลับเป็นอีก หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้ามักกลาย เป็นหนอง บุพโพโลหิตไหลออกมาทางช่องทวารเบา ให้เจ็บปวดต่างๆ ผู้ใดเป็นดังกล่าวมานี้ เรียกว่า โรคบุรุษ จะได้เป็นอุปทม นั้นหามิได้

4. อุปทมเกิดเพราะนิ่ว บุรุษกลายเป็นคชราช มักเกิดที่ปลายองค์กำเนิด แล้วลามเข้าไปในช่องปัสสาวะ องค์กำเหนิดบวมขึ้นแล้วแข็งเข้าเป็นดาน ถ้าสตรี ออกมาแต่ทวารครรภ์เป็นดังดาก สมมุติว่า ดากโลหิต นั้นหามิได้ คือ อุปุทังสโรค ดังกล่าวมานี้ นานเข้าก็ลามมาถึงหัวเหน่า กระทำให้โลหิตเป็นลิ่ม เป็นแท่งออกมา บางทีปลายดากขาดออกมาเหม็นคาวนัก บางทีเป็นหนอง เป็นโลหิตออกมา ให้ปวดหัวเหน่า และท้องน้อย ดังจะขาดใจ โรคดังกล่าวมานี้เป็น อติสัยโรค รักษามิได้ ถ้าจะรักษา ก็รักษายาก อุปทม เป็นกามโรคส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้อาจมีมะเร็ง เนื้องอกร่วมด้วย เช่น นิ่วเนื้ออุปทม (คชราช) เป็นเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ ในองคชาติ นอกจากนี้ยังมีโค ไส้ด้วน ไส้ลาม จัดอยู่ในกลุ่มอุปทมนี้ ซึ่งก็น่าจะคิดถึงมะเร็งไว้ด้วย

 ( จาก ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม เล่ม ๒ โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน้า ๑๒-๑๘) เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 168214เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ไม่คิดว่าจะมีประวัติยาวขนาดนี้
  • แต่ชอบดูดอกทองกวาว สวยดี
  • ออกดอกแล้วไม่มีใบ
  • ชอบๆๆ
  • ต่อไปลองเล่าประวัติเจ้าแม่กาลี
  • ดีไหมครับ
  • น่าสนใจ
  • ทำไมพระอุมา
  • มาเป็นเจ้าแม่กาลี
  • ทำไมโจรชอบ
  • อิอิอิอิ
  • รออ่านนะครับ

เล่าเรื่องต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผล วิเคราะห์ได้สนุกมากค่ะ ทำให้รู้สึกว่าทุกๆคำ ทุกๆเรื่องนี่พอเราสืบสาวราวเรื่องไปแล้วนี่ช่างมีที่มาที่ไปยาวไกลได้เหมือนกันนะคะ คุณกวินทรากร รู้สึกว่า บันทึกนี้น่าจะใส่ คำสำคัญ ได้อีกเยอะเลยนะคะ

มาเยี่ยม...ได้อ่านเรื่องแปลกที่น่าสนใจ

ผมเคยอยู่อินเดียพอมองเห็นภาพที่เล่ามา...ครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์ P ขจิต 
  • สวัสดีครับคุณ Pโอ๋-อโณ
  • สวัสดีครับคุณ P umi
  • ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ บทความนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมอีกที ว่าด้วยเรื่อง ทฤษฎีสี เพราะกำลังสงสัยว่า คนไทยมีความเข้าใจเรื่องสีอย่างไรแต่ยังไม่มีเอกสารอ้างอิงครับ คำถามที่สงสัยก็คือ ทองแดง ทองคำ ทองเหลือง คำว่าทอง หมายถึงสีอะไรกันแน่ และพอดีได้อ่านเพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง มีเอ่ยถึงคำว่า ทองแดง ไว้จะนำมาเขียนเพิ่มนะครับ  รออ่านสำหรับผู้ที่สนใจ

สวัสดีค่ะ

- ยอดเยี่ยมค่ะ

- หาหลักฐานได้เก่งมาก

- สายสังวาลถ้าบอกตำแหน่งด้วยจะได้ไหมคะ

- ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับ

มาร่วมเสนอข้อมูลโทษทัดดอกชบาหญิงที่คบชู้ครับ

ในคำพีโพสะฮาด กฏหมายโบราณของลาว กำหนดบทลงโทษหญิงที่มีชู้ไว้ว่า

"ให้ยิงทัดดอกชะบาร้อยมาลาใส่สะแอวไคว้ปะมาแอกพาดบ่าทังยิงชาย เหมือนควายเทียมไถตะเวนไปสามวัน"

ผมมีสำเนาคัมภีร์เล่มนี้อยู่อีกสองเล่มครับ สัญญากับเพื่อนที่หงสาไว้ว่าจะถือไปให้หนึ่งเล่ม ส่วนอีกเล่มหากท่านสนใจแจ้งมานะครับคิดว่าน่าจะถูกใจ

ดีมากครับ มีโอกาสเข้ามาตามอ่านบ่อยๆ อ่านสนุก สาระเต็มที่แบบนี้ให้เต็มสิบครับ  :)

ขอบพระคุณค่ะ  ได้รู้อะไรขึ้นมากเลยค่ะ 

และรู้อีกว่า  อ.ขจิต ชอบดอกทองกวาว  อิอิ  ล้อเล่นน๊า...

สวัสดีครับอาจารย์พรรณา "สายสังวาลถ้าบอกตำแหน่งด้วยจะได้ไหมคะ" ไม่เข้าใจในคำถามครับ เท้าความหน่อยครับ ตามไม่ทัน ... .... สวัสดีครับคุณ paleeyon ข้อมูลมีประโยชน์มากเลยครับส่วนมากข้อมูลที่ผมนำมาเขียนเป็นข้อมูลทุติยภูมิ ถ้าได้ข้อมูลปฐมภูมิคงดีมากๆครับ ว่าด้วยเรื่อง คำพีโพสะฮาด กฏหมายโบราณของลาว ไม่แน่ใจว่า จะคล้ายๆ คัมภีร์เม็งรายศาสตร์ของไทยหรือไม่นะครับ ไม่เคยอ่านเหมือนกัน แต่เคยอ่านเจอบ้างในหนังสือกฎหมายสมัยใหม่ที่อ้างถึงกฎหมายในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช.. สวัสดีครับคุณ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ขอบคุณครับ :) สวัสดีครับคุณ DSS "work with disability" ( หนิง ) ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

สวัสดีค่ะ

" ประดับเครื่องแต่งองค์อาภรณ์ไปด้วยสังวาลสายที่ร้อยไว้ด้วยมือ คนที่ตัดมาจากการฆ่าอีกทั้งยังมีงูตัวใหญ่ร้อยคาดองค์ดั่งสังวาลเช่นกัน  " จากภาพ หัวกะโหลกน่าจะเป็นสร้อยยาวๆ  ส่วนงูก็คล้องคอไว้  และที่เอวก็น่าจะเป็นเข็มขัด...เอวนี่แหละสำคัญมันไม่น่าจะเป็นสังวาล

- เด็กๆ มักเข้าใจว่าสังวาลหมายถึงสายที่ร้อยห้อยคอ.....รวมถึงสวมใส่แบบเฉียงแล่ง

- หากครูพรรณา เข้าใจผิดขออภัยด้วยนะคะ  ( อยากเป็นเด็ก )

สังวาล น. สร้อยเครื่องประดับชนิดหนึ่งใช้คล้องเฉวียงบ่า. (ป. เสวาล;ส. เศวาล, ไศวาล ว่าสาหร่าย). ตรวจดูพจนานุกรมแล้วครับจริงดังว่า ขอบคุณอาจารย์พรรณาครับ ขอแก้ไขเป็น ปั้นเหน่ง [-เหฺน่ง] น. เข็มขัด. (ช.)ได้มั้ยครับ ดีนะได้คัมภีร์ของราชบัณฑิตยสถานมาช่วยไว้ทัน ...เหอๆๆๆ...แต่เอ..พูดถึงคัมภีร์ คำว่า..คัมภีร์ เคยอ่านเจอ อรรถกถาจารย์ ท่านว่ามาจาก คมฺ+ภีร (ค=ไป +ภี=กลัว+อีร (ปัจจัย/suffix)) ดังนั้น คัมภีร์ แปลว่า "ไป(อย่าง)น่ากลัว" คำนี้ภาษาเดิมหมายถึงน้ำลึก แผ่นดินลึก และอุปมาได้ดั่ง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันมีอรรถละเอียดสุขุมลุ่มลึก "(ไหล)ไป(อย่าง)น่ากลัว (สำหรับคนปัญญาน้อย)" เป็นทีื่มาของคำว่า คัมภีร์ และความหมายหลังเป็นเหตุให้เลือนมาหมายถึงตำราในภาษาไทย พล่ามมาซะยาวเลยกำลังจะบอกว่า คำว่าสังวาล ผมก็ใช้เลอะเลือนแบบคำว่าคัมภีร์นี่ล่ะครับ (ไหลไปแบบ น้ำขุ่นๆ) อิๆ

คำ คือคำลาว ทอง คือคำมอญ

ทั้งสองคำแปลว่าทอง

ผมจึงไม่คิดว่าทองคำจะแปลว่ามันสีเหลืองนะครับ

ส่วนทองแดงนั้นไม่รู้เหมือนกันครับ

คำ คือคำลาว ทอง คือคำมอญ ทั้งสองคำแปลว่าทอง ผมจึงไม่คิดว่าทองคำจะแปลว่ามันสีเหลืองนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ คุณ เวิ้งหมาบ้า สำหรับความรู้เรื่องรากเหง้าของคำ มีประโยชน์มากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท