หวยวิทยา : ใครอยากรวย ต้องอ่าน..


จากที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างยืดยาว จะเห็นได้ว่า หวยมีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจของสยามประเทศ

 

กิรดัง ได้ยินมา ตฑา กาเล ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) เกิดภาวะเงินขาดแคลนท้องพระคลัง จึงทรงสงสัยว่า ไพร่ฟ้าประชาชนนำเงินใส่ไหฝังแผ่นดินก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด ไม่มีราชทรัพย์หมุนเวียนในท้องพระคลัง ครั้นทรงนำเรื่องนี้เข้าในที่ประชุมขุนนาง มีขุนนางผู้หนึ่งกราบทูลว่า ประเพณีเมืองจีน ถ้าขัดสนเงินในท้องพระคลังเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้เล่นหวยเล่นถั่วกันได้ และจะทำให้เกิดมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัวจึงทรงอนุมัติให้มีการเล่นหวย กข. นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเล่นหวยอย่างหามรุ่งหามค่ำก็เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์

สาเหตุที่ สภาขุนนางสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ได้มีการนำเสนอ นโยบายหวย กข. ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหา ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของสยามประเทศ โดยยึดถือประเพณีจีนนั้น อาจมีมูลเหตุเพราะสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ได้ทรงมีพระราโชบายใหม่อย่างหนึ่ง คือ

การส่งเจ้านายไปกำกับราชการกรม กระทรวง ต่างๆ ในทำนองเป็นผู้ดูแลเจ้ากระทรวงหรือเจ้ากรม พระองค์เจ้าทับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (ร.3 ครั้งเมื่อทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าฯ) ทรงรับมอบหมายให้กำกับราชการกรมท่า ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมเล็กกรมหนึ่ง กรมท่ามีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ ที่นำเรือสินค้าเข้ามาค้าขายยังพระนคร พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวว่า "ในขณะนั้น ราชการกรมท่า หาสู้จะมีคนต่างประเทศไปมาค้าขายมากนักไม่ พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายในราชการแผ่นดิน ที่ได้จากอากรสมพัตรในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มีน้อย ไม่พอที่จะจ่ายราชการ เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าไปค้าขายยังประเทศจีน เมื่อได้ประโยชน์กำไร ก็พอมาเจือจาน ใช้ในราชการซึ่งจะรักษาพระนคร ดังนั้นการแต่งสำเภาไปค้าขายเมืองจีน จึงเป็นพนักงานของพระองค์ (กรมหมื่นเจษฎาฯ) ที่จะต้องทรงขวนขวายหาพระราชทรัพย์ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่จะได้ ทรงจับจ่ายในราชกิจทั้งปวง ถึงแม้ว่าเป็นเวลาที่การค้าขายมิได้สมบูรณ์ พระราชทรัพย์ที่จะได้จากส่วนกำไรการค้าขาย บกพร่องไม่พอจ่ายราชการ พระองค์ก็ทรงอุตสาหะขวนขวาย มิให้ขุ่นเคือง ฝ่าละลองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมชนกนาถ " (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา , 2533 :129)

จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ว่า อากรหวย กข. เริ่มเมื่อรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2378 สาเหตุที่จะตั้งการเล่นหวย กข. นั้นเนื่องมาจากเหตุ ทุพภิกขภัย สองปีซ้อนกันคือ

  • พ.ศ.2374 น้ำมากข้าวล่ม

  • พ.ศ. 2375 น้ำน้อยข้าวไม่งาม

พวกศักดินา ได้พยามทำพิธีไล่น้ำให้ลด (พิธีไล่น้ำนี้ กษัตริย์โบราณถือเป็นพระราชประเพณีที่จะต้องทรงกระทำ เพราะเมื่อข้าวในนาเริ่มจะแก่ ถ้ายังมีน้ำท่วมอยู่ก็จะเป็นผลเสียหายจึงได้กระทำพิธีไล่น้ำให้ไปเสียหมด) ก็แล้ว ได้ตั้งพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) ก็แล้ว แต่ไม่ได้ผล หงายหลังไปทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ ผลจึงปรากฎว่าข้าวแพง ต้องซื้อข้าวต่างประเทศเข้ามาจ่ายขาย คนไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องมารับจ้างทำงานคิดเอาข้าวเป็นค่าจ้าง เจ้าภาษีอากร ก็ไม่มีเงินจะส่ง ต้องเอาสินค้า ใช้ค่าเงินหลวง ที่สุดจนจีนผูกปี้ ก็ไม่มีเงินจะส่งให้ต้องมารับทางานในกรุง (พระนิพนธ์ ร.4)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทศพร วงศรัตน์ (ราชบัณฑิต) ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับผลงานของ พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่เรารู้จักกันในนาม สุนทรภู่ ผู้รจนา พระอภัยมณีคำกลอน ในตอนที่ 45 หน้าที่ 895 ความว่า

"เพราะปี เถาะ เคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ "

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทศพร วงศรัตน์ (ราชบัณฑิต) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการใน พระอภัยมณีคำกลอน ของสุนทรภู่นั้น อาจ รจนาขึ้นโดยจำลอง วันเวลา เหตุการณ์ และสถานที่ ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยของสุนทรภู่ ก็เป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น พระอภัยมณีคำกลอน หน้า 1067 ตอนที่ 52 ท้าวสุวรรณ พระราชบิดาของพระอภัยมณี และศรีสุวรรณ สวรรคต ความว่า

"เดือนแปดปีวอกตะวันสายัณห์ย่ำ
สิบแปดค่ำพุธวันขึ้นบรรจฐรณ์
ฤกษ์อรุณทูลกระหม่อมจอมนคร
สองภูธรเธอสวรรค ครรไล
"

วันเวลา ในคำกลอนตรง กับเหตุการณ์จริง ห้วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต คือวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367 (จ.ศ.1186)

และใน ตอนที่ 26 หน้าที่ 415 (อุศเรนตายแล้วผีไปเข้านางวาลี)

"ชักชะงากรากเลือดเป็นลิ่มลิ่ม
ถึงปัจฉิมชีวาตม์ก็ขาดสาย
เป็นวันพุธอุศเรนถึงเวรตาย
ปีศาจร้ายร้องก้องท้องพระโรง
"

วันเวลา ในคำกลอนตรง กับเหตุการณ์จริง ห้วงเวลาที่ เจ้าอนุวงศ์กบฏเวียงจันทน์ ถูกจับขังกรงส่งมาถึงกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2371 หลังจากที่ได้รับการแช่งด่าทรมานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประมาณ 7 วัน 8 วัน ก็ตาย (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.3) ในกรณีนี้วันพุธของสุนทรภู่เท่ากับได้เพิ่มความชัดเจนให้แก่ประวัติศาสตร์ไทย และสืบเนื่องจากบทกลอนที่ว่า

"เพราะปี เถาะ เคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ "

ได้พ้องกับเหตุการณ์ น้ำท่วมปีเถาะ ในหนังสือประวัติวรรณคดีไทยโดย เปลื้อง ณ นคร (พ.ศ.2545) และพบว่า ที่หน้า 372 ภายใต้หัวข้อลำดับเหตุการณ์สำคัญในยุคกรุงรัตนโกสินทร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย ระบุว่า

"พ.ศ.2362 ปีเถาะ น้ำท่วมใหญ่ (ท่วมใหญ่อีกคราวหนึ่งปีเถาะ พ.ศ.2374 ในรัชกาลที่ 3) " ส่วนคำกลอนท่อนหลัง ที่ว่า " ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ " นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของสุนทรภู่ในต้นปีเถาะ พ.ศ.2350 ที่ตัวเองทะเลาะกับนางจันภรรยา จนพูดไม่ออก เพราะน้ำ "ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ "

และในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ.2547 หน้า 46 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมปีเถาะ ตรงกัน ความว่า

"ในปีเถาะนั้นกรมพระราชวังบวรทรงประชวรมานน้ำ ปีนั้นน้ำมากทั่วพระราชอาณาจักร ผู้ใหญ่ว่ามากกว่าปีมะเส็ง สัปตศก แผ่นดินที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ คืบหนึ่ง บางคนสังเกตว่า ที่หน้าพื้นวัดพนังเชิงน้ำพอเปี่ยมตลิ่ง ไม่ท่วมขึ้นไปบนลานหน้าพระวิหาร ว่าเสมอกับน้ำปีมะเส็ง และประเทศทั้งพม่าทั้งญวนได้ข่าวว่ามากเหมือนกัน น้ำครั้งนั้นจะไปข้างไหนก็ลัดไปได้ ในกำแพงพระนครก็ต้องไปด้วยเรือ ที่เล่นผ้าป่ามีเรือผ้าป่าตามธรรมเนียมสนุกมาก ข้าวปีนั้นท่วมเสีย 6 ส่วน ได้ 4 ส่วน ราษฎรซื้อขายกัน ข้าวนาทุ่งเกวียนละ 5 ตำลึงบ้าง 6 ตำลึงบ้าง เกวียนละ 7 ตำลึงบ้าง" (ทศพร วงศรัตน์ , 2549 : 160-165)

จิตร ภูมิศักดิ์ อรรถาธิบาย ไว้อีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลศักดินาก็เดือดร้อนคิดไปคิดมาก็คิดไม่ตกว่าทำไมเงินไม่มี ทำไมไม่มีเงินเข้าคลัง เงินพดด้วงตราบัว ตราครุฑ ตราปราสาท ได้ทำออกไปก็มากหายไปไหนเสียหมด

ว่าด้วยเรื่อง เงินพดด้วง ตราบัว ตราครุฑ ตราปราสาท นี้ ข้าพเจ้าขอ กล่าวแทรก เกี่ยวกับประวัติและที่มาของสัญลักษณ์เงินตราในสมัยนั้น กล่าวคือ สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2352-2367 ทรงใช้ ตราครุฑ เป็นตราประจำรัชกาล แต่ตราประจำแผ่นดินยังคงใช้ ตราจักร เหมือนเดิม สาเหตุที่ใช้ ตราครุฑ เพราะพระองค์มีพระนามเดิมว่า ฉิม ซึ่งหมายถึง ฉิมพลี อันเป็นที่ประทับของ ครุฑ จึงใช้ ตราครุฑ เป็น ตราประจำรัชกาล

ต่อมาสมัย รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2367-2394 ในสมัยนี้เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายมากดังนั้นเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระองค์จึงทรงออก เงินพดด้วง ประจำพระองค์เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนเงินพดด้วงประจำรัชกาลเป็นรูปปราสาท และตราประจำแผ่นดินยังคงเป็น ตราจักร ซึ่งหมายถึงราชวงศ์จักรี เหตุที่ตราประจำพระองค์เป็นรูปปราสาทเพราะพระองค์มีพระนามเดิมว่า ทับ หรือ ที่ประทับ (ปราสาท) ซึ่งแปลว่าที่อยู่อาศัย

เนื่องจากในสมัย ร.3 เป็นยุคที่การค้ารุ่งเรืองมีชาวต่างชาติเริ่มนำ เหรียญแบน มาใช้ให้เห็น ร.3 จึงทรงริเริ่มใช้เหรียญแบนแต่เนื่องจากประเทศเราในขณะนั้นยังไม่สามารถผลิตเหรียญแบนได้จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คนสนิทนำเหรียญแบนมาจาก ประเทศอังกฤษ เพื่อทดลองใช้ เหรียญที่ทดลองใช้ นำเข้ามามี 2 ชนิดคือ ชนิดแรก ด้านหน้าเป็นรูปช้าง ด้านหลังเขียนคำว่า เมืองไท ชนิดที่สอง ด้านหน้าเป็นรูปดอกบัว ด้านหลังเขียนคำว่าเมืองไท เหรียญทั้งสองชนิดทำมาจากทองแดง สั่งเข้ามาชนิดละ 500 เหรียญเท่านั้น (อนุรัตน์ โค้วคาลัย,2549 : 65-71) 


จิตร ภูมิศักดิ์ อรรถาธิบาย ไว้อีกว่า รัฐบาลศักดินาลืมนึกไปว่าปกติชาวนาปลูกข้าวเอาข้าวมาขายได้เงินไปใช้ ชั่วปีหนึ่งๆ บางที่หรือส่วนมากก็มักไม่พอใช้ เมื่อตัวเองทำนาไม่ได้ (เพราะเกิดทุพภิกขภัย) จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อข้าวกิน มีทางเดียวคือทิ้งนามารับจ้างทำงานในกรุง ทุกคนเข้าแต่มือ หิ้วท้องมาด้วยท้องหนึ่ง เวลารับจ้างก็ขอข้าวไม่รับเป็นเงิน ทั้งนี้เพราะข้าวหายาก แพง ซื้อยาก พอดีพอร้ายได้เงินไปแล้ว เงินก็ไม่มีค่าหาซื้อข้าวไม่ได้ หรือได้ก็แพงเสียจนซื้อได้ไม่พอกิน เงินที่หายไปก็อยู่กับพวกพ่อค้าข้าวที่ซื้อข้าวเข้ามาขายกักตุนไว้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งได้ไหลออกนอกประเทศเพื่อซื้อข้าวเขากิน แล้วจะให้ประชาชนเอาเงินมาจากไหน ?

เมื่อคิดเห็นไปเช่นนี้ ก็ตั้ง หวย กข . ขึ้น ปีแรกได้อากร 20,000.-บาท พวกประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากก็หันหาอาจารย์ บอกใบ้แทงหวย หวังรวยกันยกใหญ่ แทงหวยกันทุกวัน คนละเฟื้องคนละสลึง ยิ่งเล่นประชาชนก็ยิ่งจนลง ผู้ผูกขาดภาษีกับรัฐก็รวยขึ้นเท่าๆ กับที่ประชาชนจนลง อลัชชีฉวยโอกาส ก็มอมเมาเป่าเสกบอกหวย จนประชาชนงอมพระรามไปตามๆ กัน

การเล่นหวยระบาดไปเสียจนกระทั่ง "พอถึง เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ มีคนเข้ากรุงเทพฯ มากมายหลายร้อยหลายพัน มาทั้งทางรถและทางเรือถึงเพลาค่ำลง คนก็แน่นท้องถนนตั้งแต่หน้าโรงหวยสามยอดไปจนถึงถนนเจริญกรุงทุกปี" (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 17 ตำนานการเลิกบ่อนเบี้ยและเลิกหวย,หน้า 76) ที่พากันลงมามากมายก็เพราะมาแทงหวย เพราะหวยมีแต่ในมณฑลกรุง เทพ ฯ รวมทั้งสิ้น 38 แขวง เคยออกไปตั้งที่ เพชรบุรีและอยุธยาคนจนกรอบไปทั้งเมืองภายหลังจึงต้องเลิก

รัฐบาลศักดินา ได้รายได้จากการเก็บอากรหวย กข. เป็นจำนวนมากมายทุกปี ในสมัย ร.4 ได้ปีละราว 20,000.-บาท ในสมัย ร.5 เงินอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ยรวมกันได้ถึงปีละ 9,170,638.-บาท ภายหลังแม้นจะเลิกบ่อนเบี้ยไปมากแล้ว อากรทั้ง 2 อย่างก็ยังรวมกันเป็นจำนวนถึง 6,600,000.-บาท (พ.ศ.2458) เฉพาะอากรหวยอย่างเดียวในปีท้ายสุดก่อนเลิกยังเก็บได้ถึง 3,420,000.-บาท หวย กข. เลิก พ.ศ.2459 (จิตร ภูมิศักดิ์,2549 : 218-219)

จากข้อความข้างต้น ที่ว่า "ตั้งแต่นั้นการเล่นหวยอย่างหามรุ่งหามค่ำก็เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ " จึงมิใช่ เป็น อติพจน์ (Hyperbole) ทั้งนี้เพราะประชาชน เมาหวย (lotterism) เสียจนกระทั่ง โงหัวไม่ขึ้น

ดังนั้นใน รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ซึ่งก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงผนวชอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นระยะเวลานานถึง 27 ปี (พ.ศ. 2367 ตรงกับปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฉายาว่า "วชิรญาณมหาเถระ"

ร.4 ทรงได้เล็งเห็นโทษทัณฑ์ของหวยจึงได้ทรงออกพระบรมราชโองการ ห้ามภิกษุบอกใบ้แทงหวย สำหรับประกาศนั้น มีดังนี้ 

ประกาศห้ามพระสงฆ์ บอกใบ้แทงหวย และประพฤติอนาจาร ณ วัน จันทร์ เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปี วอก โทศก ด้วยพระธรรมการบดีศรีสุทธิศาสนวงศประการ จางวางกรมธรรมการ รับพระบรมราชโองการสั่งว่า อัญเชิญพระราชปุจฉาออกมาเผดียงถามพระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย 16 รูป ประชุมกัน ณ ตำหนัก กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตยวงศ์ วัดพระเชตุพนมหาวิหาร ว่า

แต่ครั้งก่อนพระราชาคณะผู้น้อยผู้ใหญ่ท่านประชุมกันปรึกษาโทษว่า พระภิกษุสามเณรบอกใบ้แทงหวยเป็นการใกล้ "อทินนาทาน" เหตุให้เขาเสียทรัพย์ทั้งสองฝ่าย ไม่เอาไว้ร่วมสังฆกรรมทำอุโบสถธรรมต่อไป ให้สึกเสีย

แต่ภิกษุที่แทงหวยนั้นเป็น "สเตกิจฉา" เยียวยาได้ จึงปรึกษากันว่าจะรับพระราชทานว่ากล่าวสั่งสอนเอาสัญญาทัณฑ์บนไว้ สักครั้งหนึ่ง ถ้าขืนกระทำกันต่อไป จะให้สึกเสียจากพระพุทธศาสนา ได้ถวายพระพรไว้ครั้งนี้แล้ว ก็ให้หมายประกาศทั่วทุกๆ พระอารามแล้ว

ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้ามีภิกษุสามเณรเป็นนักเลงบอกใบ้แทงหวยเกิดขึ้น ณ พระอารามใดๆ จะให้ลงทัณฑกรรมพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม เจ้าคณะอธิการในพระอารามนั้นๆ และจะถวายทัณฑกรรม เจ้าคุณผู้ใหญ่ที่มาประชุมพร้อมกัน

ด้วยกฎหมายฉบับนี้ก็ประกาศให้รู้ตัวแต่ก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ก็บัดนี้ภิกษุสามเณรยังประพฤติขืนหมายขืนอยู่ หาประพฤติตามกฎหมายที่ประกาศไว้หาเอาไม่ ยังบอกใบ้แทงหวยกินเหล้า เล่นเบี้ย ทำอนาจารต่างๆ ตามอำเภอใจ ฝ่ายพระราชาคณะฐานานุกรมผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเล่า ก็ไม่มีความละอายแก่พระสงฆ์ลังกา พม่า มอญ ซึ่งได้เข้ามาอยู่ในมหานครแลไม่มีความละอาย สัปปุรุษ สีกา ทายก ที่เขามีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาจึงละเมิดเพิกเฉยเสีย หาช่วยสั่งสอนห้ามปรามกันไม่ ภิกษุสามเณรจึงกำเริบใจ กระทำการทุจริตต่างๆ ตามอำเภอใจ ทำให้มัวหมองในพระศาสนามีเป็นอันมาก

จนถึงอ้ายสมี "เขียน" อยู่วัดชีปะขาว ไปนอนบอกหวย ที่ในบ้านสีกา 2,3,4 คืน อ้าย มหา "ขัน" อยู่วัดมหาธาตุฯ นุ่งห่มปลอมเพศเป็นคฤหัสถ์ กินเหล้า ถือดาบเที่ยวกลางถนนเพลากลางคืน ราชบุรุษจับได้ทราบถึงเจ้าแผ่นดิน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมการบดี ดำเนินพระราชปุจฉามาเผดียงถาม พระราชาคณะผู้น้อยผู้ใหญ่ว่า ภิกษุสามเณรบอกใบ้แทงหวยอย่างอ้ายเขียนแลช่างทำทองรูปพรรณนั้น ควรไว้ร่วมอุโบสถสังฆกรรม ฤาๆ จะมีรังเกียจเป็นประการใด? ให้ถวายพระพรทรงทราบ

พระราชาคณะผู้น้อยผู้ใหญ่ได้ถวายพระพรแล้วว่า ภิกษุบอกใบ้หวยอย่างอ้ายเขียนนี้เป็นบาปสมาจารแลภิกษุสามเณรกินเหล้าปลอมเพศเป็นคฤหัสถ์ อย่างอ้ายขันและเป็นช่างทำทองรูปพรรณ เป็นการจ้างหากินอย่างฆราวาสก็ดี เหล่าจำพวกนี้ ไม่รับพระราชทานเอาไว้ร่วมพระอุโบสถสังฆกรรม ถ้าจับได้จะลงทัณฑกรรม ตี 50 ทีแล้วให้สึกจากสงฆ์แต่นี้สืบไป

พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญเจ้าคุณทุกหมู่คณะ เจ้าอธิการในกรุงนอกกรุงทุกๆ พระอารามทราบหมายประกาศนี้แล้ว ช่วยว่ากล่าวสั่งสอนพระอย่าให้บอกใบ้แทงหวยทำช่างทองรูปพรรณต่างๆ เป็นการจ้างหากินอย่างฆราวาส อย่าให้นุ่งห่มผ้า คฤหัสถ์ เที่ยวกินเหล้าใส่หมวกจีโบแทงโปแทงถั่วตามโรงจีนและประเทศใดๆ ก็ดีอย่าให้มีผิดขึ้นได้ในพระอารามเป็นอันขาด ฯ ประกาศ ณ วันจันทร์ เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปี วอก โทศก (ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร,2549 :125-129)

จากประกาศข้างต้นที่ว่า "จะลงทัณฑกรรม ตี 50 ทีแล้วให้สึกจากสงฆ์แต่นี้สืบไป" การโบย/ตี/เฆี่ยน พระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยก่อน แล้วให้สึกจากความเป็นพระนี้ มีตัวอย่างให้เห็น นับย้อนขึ้นไปเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) พ.ศ. 2359

มีความบอกเล่ากันมาว่า มีการทิ้งบัตรสนเท่ห์ชุกชุม สอบได้จาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2459 ทรงเล่าถึงเหตุการณ์เริ่มแรกที่จะเกิดการทิ้งบัตรสนเท่ห์ไว้ว่า

 "เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์ ในเดือน 12 ปีชวด อัฐศก (พ.ศ.2395) นั้นมีโจทก์ฟ้องว่าพระพุทธโกษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป 1 พระญาณสมโพธิ (เต็ม) วัดนาคกลาง รูป 1 พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุ กรุงเก่า รูป 1ทั้ง 3 รูปนี้ ประพฤติผิดพระธรรมวินัยบัญญติสำคัญ ต้องเมถุนปราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน

โปรดฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษรณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (ร.3) ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำคุก"

หลังจากที่มีการสอบสวนเรื่องนี้จนกระทั่งพระราชาคณะทั้ง 3 รูปถูกสึกและติดคุกนั้น ไม่ช้านานก็เกิดการทิ้งบัตรสนเท่ห์ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า "ทอดบัตรสนเท่ห์" กันขึ้น โดยมีผู้นำไปปักไว้ที่กระถางต้นไม้หวังให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เวลาเสด็จผ่านจะได้ทอดพระเนตรเห็น โคลงบัตรสนเท่ห์ ที่ทอดไว้ มีความว่า

ไกรสรพระเสด็จได้...............สึกชี
กรมเจษฎาบดี..........................เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอาวจี.................ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้.................แม่นแม้นเมืองทมิฬ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นก็ทรงกริ้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าผู้แต่งโคลงบังอาจกล่าวหยาบช้าตลอดจนถึงแผ่นดิน จึงโปรดฯ ให้สืบเอาตัวผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์นี้ให้ได้

การสอบสวนหาตัวผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ก็จำต้องพิจารณาสำนวนโคลงและในที่สุดคณะกรรมการก็ปักใจเชื่อว่าผู้เขียนโคลงบัตรสนเท่ห์นี้คือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ พระอนุชาต่างชนนีนั่นเอง

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าคันธรส เป็นโอรสองค์ที่ 20 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติเมื่อ พ.ศ.2330 เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้วทรงมีความสามารถในทางกวี มีผลงานกวีหลายเรื่องเช่น โคลงเรื่อง สมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมวงศ์ (ร.1) ซึ่งทรงนิพนธ์ไว้เมื่อคราวงานพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และฉันท์กล่อมช้างเผือกเป็นต้น

ก็ด้วยผลงานกวีเก่าๆ นี่เอง คณะกรรมการซึ่งมีสมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเป็นประธาน ประกอบด้วยนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ที่เชี่ยวชาญกวีทั้งหลายได้ติดใจโคลงบทหนึ่งที่พระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงนิพนธ์ไว้ ในเรื่อง สมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมวงศ์ ตอนหนึ่ง ความว่า

สายัณห์ตะวันคล้อยต่ำ............ตกดิน
หนังประนังเภริน....................เร่งไม้
เชิดพระเสด็จทรงศิลป............สอดส่อง..กันนา
เม้ยพากย์กลอนตะโพนให้.....เริ่มเหล้นเฉลิมวัน


คำว่า เร่งไม้ เป็นคำที่สะกิดใจ กรรมการ เพราะพระเจ้าน้องยาเธอฯ ชอบใช้คำว่า เร่งไม้นี้ และคำว่า ไป่ ซึ่งแปลว่า ไม่ ก็เช่นเดียวกัน พอสืบได้เค้าแน่ชัดว่า พระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงฝากตัวเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับสมเด็จพระพุทธโกษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ ฉะนั้นเมื่ออาจารย์ของพระองค์ถูกชำระโทษ จึงทรงโกรธแค้นถึงกับทิ้งบัตรสนเท่ห์ดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงโปรดฯ ให้คุมพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ มาขังไว้ แล้วสอบสวน แต่ก็ไม่ทรงยอมรับจึงถูกลงพระอาญาเฆี่ยนตีเพื่อให้รับสารภาพ พระเจ้าน้องยาเธอฯ ทนพิษบาดแผลไม่ได้ ก็สิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง เมื่อ พ.ศ. 2359 (มานิต หล่อพินิจ,2549 : 38-40)

จากเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย "เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์" ทำให้เราได้ทราบความว่า สมัยก่อนเมื่อพระสงฆ์กระทำผิดพระธรรมวินัยขั้นรุนแรง นอกจากจะให้สึกแล้ว พระสงฆ์ผู้กระทำผิดยังต้องถูก โบย/ตี/เฆี่ยน/ โดย ราชมัล

แต่ทว่าในสมัยปัจจุบัน แม้นว่าภิกษุสามเณร จะประพฤติผิดพระธรรมวินัยขั้นอาบัติปราชิก อย่างมากก็แค่ สึก แล้วก็ยังอาจกลับมานุ่งเขียวห่มเขียวถือเพศสมณะได้ใหม่

ว่าด้วยเรื่องการโบย ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือ กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ หน้า 96 ความว่า


"การถลกหนังคนทั้งเป็นนั้นไม่เคย ปรากฎ ในประวัติของคนไทยถ้าเคย ทำก็คงมีร่องรอยกล่าวไว้ที่ใดบ้าง แต่การลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังนั้นมีจริง มีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ศัพท์ชาวบ้านเรียกการเฆี่ยนหลังนั้นว่า ถลกหลัง ก็มี เพราะเมื่อถูกเฆี่ยนหลังแล้วหนังของคนที่ถูกเฆี่ยนนั้นก็จะต้องขาดหรือถูกถลกตามรอยหวายที่เฆี่ยนลงเพราะการเฆี่ยนหลังนั้นมิได้ให้ผู้ถูกเฆี่ยนยืนหรือนอนคว่ำแล้วจึงเฆี่ยน แต่ปักหลักลงแล้วเอาคนที่ถูกเฆี่ยนนั้นนั่งหน้าหลักที่ปักไว้ ให้เหยียดเท้ายืดขาตรงไป ผูกข้อเท้าไว้กับหลักแล้วดึงแขนเหยียดตรงไปผูกข้อมือไว้กับหลักนั้นรวมไว้กับข้อเท้า ในลักษณะเช่นนี้หลังของผู้ถูกเฆี่ยนก็ต้องโค้งค่อมหลังตึงเต็มเหยียดเมื่อลงหวายก็ต้องแตกทุกฝีหวายไป หนังก็ถูกถลกตามรอยหวายด้วยประการฉะนี้ จึงเรียกการถูกเฆี่ยนว่าถูกถลกหลัง ไม่ใช่ถลกหนัง" (คึกฤทธิ์ ปราโมช ,2548 :96)



ด้วยเรื่องการโบย/ตี/เฆี่ยน ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายไว้สอดคล้องกับบทบรรยายภาคกวีนิพนธ์ของ นายชิต บุรทัต ที่ได้บรรยายฉากการโบยนักโทษ ไว้ในบทกวีนิพนธ์เรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ นายชิต บุรทัต ประพันธ์กวีนิพนธ์เรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ เมื่อปี พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งข้าพเจ้ายังท่องจำคณะฉันท์ (อินทรวิเชียรฉันท์ 11) ได้อย่างขึ้นใจ ความว่า

๏ พวกราชมัลโดย พละโบยมิใช่เบา
สุดหัตถะแห่งเขา ขณะหวดสิพึงกลัว
๏ บงเนื้อก็เนื้อเต้น พิศะเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว ก็ระริกระริวไหว
๏ แลหลังละโลมโล- หิตะโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ ระกะร่อยเพราะรอยหวาย
๏ เนืองนับอเนกแนว ระยะแถวตลอดลาย
เฆี่ยนครบสยบกาย สิระพับพะกับคา

วกกลับเข้ามาในหัวข้อเรื่อง ประกาศห้ามพระสงฆ์ บอกใบ้แทงหวย ที่ว่า "พระภิกษุสามเณรบอกใบ้แทงหวยเป็นการใกล้ "อทินนาทาน" เหตุให้เขาเสียทรัพย์ทั้งสองฝ่าย ไม่เอาไว้ร่วมสังฆกรรมทำอุโบสถธรรมต่อไป ให้สึกเสีย แต่ภิกษุที่แทงหวยนั้นเป็น "สเตกิจฉา" เยียวยาได้"

คำว่า "อทินนาทาน" นี้ แปลว่า การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ หมายถึง การลักทรัพย์ รวมไปถึงการเบียดบัง ฉ้อ โกง ตระบัด ทำลายทรัพย์ของผู้อื่นให้เสียหาย เป็นต้นการกระทำที่จะเป็นอทินนาทานจะต้องครบองค์ 5 คือ


1. ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
2. รู้ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
3. มีเจตนาจะลัก
4. มีความพยายามในการลัก
5. ลักทรัพย์นั้นมาได้ด้วยความพยายามนั้น

การกระทำอทินนาทานถือว่าเป็นการละเมิดศีล แสดงถึงความเป็นมีความโลภเป็นเหตุให้ผู้กระทำมัวหมอง เป็นเหตุก่อเวรภัยมีโทษถึงตกนรก และส่งผลทำให้เกิดเป็นคนยากจน ขาดแคลนสมบัติในทุกภพทุกชาติ


(อ้างอิงจาก " ธรรมะประจำวัน " http://www.kalyanamitra.org/daily/dhamma/index.php?option=com_content&task=view&id=1515&Itemid=1 )

ส่วนคำว่า "สเตกิจฉา" สอบจากพระธรรมวินัย ได้เค้าว่าเป็นโทษของอาบัติ หนัก-เบา มีดังนี้คือ

1. ครุกาบัติ คืออาบัติหนัก 2 ประเภท ได้แก่
1.1 ประเภทแก้ไม่ได้ เรียก อเตกิจฉา ได้แก่อาบัติ ปราชิก เมื่อภิกษุล่วงละเมิดหรือต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ

1.2 ประเภทแก้ไขได้ เรียก สเตกิจฉา ได้แก่ อาบัติ สังฆาทิเสส เมื่อภิกษุล่วงละเมิดหรือต้องเข้าแล้วแก้ไขด้วยการประพฤติมานัตและอยู่ปริวาส


2. ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา แก้ไขด้วยวิธีการแสดงอาบัติ คือนำความผิดของตนมาแสดงให้เพื่อนภิกษุทราบเรียก สเตกิจฉา (เหมือนครุกาบัติ ประเภทแก้ไขได้ แต่เบากว่า) ได้แก่อาบัติ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ "สมาน กัลยาณธมฺโม" , 2549 : 26)

จากข้อความข้างต้นที่ว่า "พระภิกษุสามเณรบอกใบ้แทงหวยเป็นการใกล้ "อทินนาทาน" เหตุให้เขาเสียทรัพย์ทั้งสองฝ่าย ไม่เอาไว้ร่วมสังฆกรรมทำอุโบสถธรรมต่อไป ให้สึกเสีย แต่ภิกษุที่แทงหวยนั้นเป็น "สเตกิจฉา" เยียวยาได้" นั้น

จึงพอจับใจความได้ว่า ภิกษุสามเณร สมัยก่อน ท่านห้ามบอกใบ้หวย แต่ถ้า เล่นหวยซะเองก็ไม่เป็นไร แต่ทว่าก็ยังมีมลทินเพราะไม่เหมาะสมต่อ สมณสารูป อันได้แก่ สมณะต้องสงบกาย สงบใจ พจนานุกรมพุทธศาสน์ได้อธิบายไว้เป็นพากย์ภาษาอังกฤษว่า สมณะสารูป : a monk's proper behaviour; the mien and deportment appropriate to a monk.

(อ้างอิงจาก " พจนานุกรมพุทธศาสน์ " http://www.dhammathai.org/bd/thai32_sosua.php. )

หมายเลขบันทึก: 168410เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สำหรับประวัติการออกสลากกินแบ่งฯ ในประเทศไทย ตามประวัติความเป็นมาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยมีฝรั่งชาวอังกฤษชื่อ ครูอาลบาสเตอร์เป็นผู้นำลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรปมาเผยแพร่เป็นคนแรกโดยเรียกว่า "ลอตเตอรี่"

 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศ ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2417 เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือ พ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย ในพระบรมมหาราชวัง

และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2459 ได้ทรงโปรดให้ยกเลิกการเก็บอากรหวย กข. (มีผลให้ประชาชนต้องเลิกเล่นหวย กข. ไปด้วย จากเอกสารของ จิตร ภูมิศักดิ์ ข้างต้นที่ว่า "อากรหวย กข. อย่างเดียวในปีท้ายสุดก่อนเลิกยังเก็บได้ถึง 3,420,000.-บาท )


เมื่อเลิกหวยแล้ว มีเสียงสะท้อน (feedback) ตามมาคือ ถึงขั้นมีผู้แต่งนิราศเลิกหวยกันเลยทีเดียว เข้าใจกันว่าผู้แต่งชื่อนายเฟื่อง "นิราศเลิกหวย (กข.)" ความว่า

.....................................................................นิราศร้างห่างหายเสียดายหวย
ตั้งแต่นี้ที่ไหนได้จะได้รวย......................เพราะเคยช่วยรอดตายมาหลายที
กินเสียล่อนเลี่ยนเตียนพอเหี้ยนตู้..........ก็ถูกผู้แก้ทุกข์เป็นสุขศรี
ถึงอย่างไรรอพักอีกสักปี..........................พอให้พี่รวยมากจึงจากกัน
ถึงจะได้เงินอื่นสักหมื่นแสน..................ก็ไม่แม้นเหมือนเงินเจ้าเฝ้ากระสัน
จะกินพี่ปี้ป่นจนอ่วมครัน.........................ก็ไม่หวั่นแก่เจ้าเฝ้ารำพึง
มาจากกันยามเข็ญจนเช่นนี้.....................ที่ไหนพี่จะหายวายคิดถึง
จะมีแต่โหยไห้ใจคนึง...............................เพราะเคยพึ่งตัว ก. พอบรรเทา
แสนเสียดายหวยโป พุธโธ่เอ๋ย................มาพลอยเลยเลิกลับไปกับเขา
แม่ชื่นจิตของพี่ดีไม่เบา............................เคยถูกเจ้าหลายหนจนรอดมา
ถึงจะเตือนไทยเราที่เมาหวย...................อย่านึกรวยหมายมั่นของมันหนา
เหมือนดำเข็มในสมุทรสุดปัญญา..........กว่าจะหาเห็นเข็มก็เต็มดัน
ได้มาสัก หนึ่งชั่ง เสียตั้งร้อย..................เงินเราน้อยหมดก่อนเหลือผ่อนผัน
แทงทั้งปีถูกเราเข้าสักวัน.........................ก็ลือกันว่ารวยหวยกระไร
ยามมันกินจนงอมผอมเป็นผี..................จะหามีคนผู้รู้ที่ไหน
ถ้าไม่ขืนเลิกรอมีต่อไป............................คงแย่ใหญ่พวกเราเพราะเมามัว
แต่ฉันเองผู้แต่งแถลงสาร......................มันก็ผลาญเหลือยังแต่หนังหัว
ถึงกระนั้นในใจยังไม่กลัว......................ฝันเห็นตัวแทบถลอกถกออกแทง
นี่หากว่าเลิกไปไม่ได้เล่น........................ก็จำเป็นสอนกันให้ขันแข็ง
ถ้ายังออกอยู่อีกไม่พลิกแพลง.................ต้องเบียดแบ่งเล่นมันจนวันตาย
โดยบุญจอมปฐพินแผ่นดินนี้.................ทรงปราณีกลัวคนป่นฉิบหาย
สู้ทิ้งเงินทางได้ไม่เสียดาย.......................จึงสบายด้วยกันทุกวันมา
น้อยเมื่อไรเงินสยามถึงสามล้าน............เพราะสงสารพวกเราไม่เอาหนา
ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งเทอญนา............โปรดพวกข้าพุทธเจ้าฯหายเมาเอย.

ผู้แต่ง : นายเฟื่อง พ.ศ. 2459

(ที่มา แกะจากเสียงอ่านออกอากาศรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง ไทยทีวีสี ช่อง 3 แกะเสียงโดย Kin ผู้ดูแลเวปไซต์ http://www.kalamare.com)

กระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชอาณาจักรอังกฤษซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรประสงค์จะกู้เงินจากประเทศไทยเพื่อใช้ในการสงคราม แต่ไม่อาจกู้โดยตรงจากรัฐบาลไทยได้ เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือนงบประมาณ สภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ จึงดำเนินนโยบายกู้เงินจากประชาชนด้วยการออกลอตเตอรี่โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

และต่อมาในปี พ.ศ.2466 ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออก "ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท" เพื่อหารายได้บำรุงกองเสือป่าอาสาสมัครโดยพิมพ์ จำนวน 1 ล้านฉบับ จำหน่ายฉบับละ 1 บาท

ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดเงินรัชชูปการ (เงินที่เรียกเก็บจากชายไทยที่มิต้องรับราชการทหาร) ทำให้รัฐขาดรายได้ จึงได้ดำริให้มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลขึ้นโดยเรียกว่า "ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม" โดยพิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 1 ล้านฉบับ ๆ ละ 1 บาท ปีละ 4 งวด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาลโดยกำหนดว่า หากเดือนใดเป็นเดือนที่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เดือนนั้นให้งดจำหน่ายสลากกินแบ่งของเทศบาล โดยเริ่มจำหน่ายงวดแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 แล้วออกสลากเดือนเมษายน พ.ศ. 2479 โดยพิมพ์จำนวน 500,000 ฉบับ ๆ ละ 1 บาท และได้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงเทศบาลเรื่อยมา

ในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งถือเป็นยุคที่สลากกินแบ่งรัฐบาลเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากบำรุงเทศบาล มาสังกัดกระทรวงการคลัง และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น โดยมีพระยาพรหมทัตศรีพิลาส เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2482 ในวันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจนปัจจุบัน

(อ้างอิงจาก "The Government Lottery Office : สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" http://www.glo.or.th/detail.php?link=history )

จนกระทั่ง 27 มกราคม 2490 อัศนี พลจันทร ภายใต้นามปากกา "นายผี" ได้ แต่งโคลงดั้นวิวิธมาลี "หวยรัฐกับหวยราษฎร" โจมตี นโยบายปราบปรามหวยเถื่อน หรือสลากกินรวบ อย่างจริงจัง (ซึ่ง ในขณะนั้น นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

(อ้างอิงจาก " ควง อภัยวงศ์ - วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี " http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%87_%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C )

ขณะเดียวกัน นายชาติ เศรษฐทัต เจ้าพนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าทางกองสลากกินแบ่งรัฐบาลจะออกสลากงวดพิเศษอีกงวดหนึ่งเป็นจำนวน 6 แสนฉบับ

 ("สลากงวดพิเศษ 3 บาท ผู้ซื้ออาจถูกรางวัล 2 ครั้ง" สยามนิกร 23 มกราคม พ.ศ. 2490 หน้า 1)

 ฉะนั้น นายผี จึงโจมตี นโยบายหารายได้เข้ารัฐ ด้วยวิธีการออกสลากกินแบ่งว่าเป็นการชักชวนให้ประชาชนหมกมุ่นอยู่กับการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุขอย่างหนึ่งและยังเป็นการฆ่าประชาชนทางอ้อม เพราะประชาชนได้เงินทองมาเท่าไรก็จะนำมาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและตั้งความหวังไว้จนแทบจะเสียจริตไปตามๆ กัน ดังปรากฎ เนื้อความในโคลงดั้นวิวิธมาลี ความว่า

จะซื้อล๊อตตาลี่ล้อ.............รัฐสราญ..เล่นรา
หวยเถื่อนรัฐบาลทอย.........แทบขว้ำ
หวยเถื่อนขาดทุนบาน.........เลยเบื่อ
หวยรัฐเองปล้ำแล้ว............รุ่มรวย

การพนันอย่างหนึ่งนั้น.........พุทธพจน์
ห้ามหากชินมือฉวย............ฉกยื้อ
หมูเม่นเช่นช้างมด.............ใครมุ่ง..ประหารแฮ
แบกบาปตามตื้อตึ้ง.............ต่างไฉน

ชวนชนเอาเบี้ยทุ่ม..............กลางธ รณีรา
ทุ่มบ่รูแรงได......................เรื่อยด้วย
ทุ่มจนบ่นบ้าบอ..................เบือนจริต
จำรัสรัฐ ม้วยล้วน-...............เหล่าชนา

(อัศนี พลจันทร "หวยรัฐกับหวยราษฎร" โดย นายผี (นามแฝง) สยามนิกร 27 มกราคม พ.ศ. 2490)

นายผี กล่าวเป็นโคลงดั้นวิวิธมาลี บทแรก ที่ว่า จะซื้อหวยประชด/ล้อเลียน/เสียดสี รัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลห้ามซื้อหวยเถื่อน หวยเถื่อนจึงขาดทุน ประชาชนไม่กล้าซื้อหวยเถื่อนเพราะกลัวติดคุก หวยรัฐในขณะนั้นจึงขายดิบขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า

 โคลงต้นบทนี้ นายผีได้สำแดงภูมิ โดยเลือกใช้ คำโบราณ นั่นคือคำว่า "รุ่มรวย" คำว่า "รุ่มรวย" ปรากฎ อยู่ในหนังสือ Description du Royaume Thai ou siam ของ สังฆราช ปาลเลกัวซ์ (PALLEGOIX Evêque de Mallos, vicaire apostolique de siam) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อหนังสือว่า "เล่าเรื่องเมืองสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร

เมื่อกล่าวถึง สังฆราชปาลเลกัวซ์ (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix 1805-1862) ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสังฆนายกมิซซังโรมันคาทอลิก ประจำกรุงสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ท่านได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในปี ค.ศ.1894 (พ.ศ.2397) เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงบทสนทนาระหว่าง เลกกับพระบรมวงศานุวงศ์ ความว่า

"ในกรมหลวงพระองค์หนึ่ง มีคนชื่อสา ขึ้นอยู่ในสังกัด นายสานั้นนอนรำพึงว่า :

เออนี่ กูเป็นขี้ข้าท่านมานานช้าแล้ว ยังไม่มีแก้วแหวนเงินทอง หรือทางทำมาหากินได้อะไรกะเขาเลย ถึงกูจะไม่ "รุ่มรวยสวยกราก" ก็ไม่ได้ปริปากบ่นสักคำ อีกหน่อยก็คงจะไม่มีผ้านุ่งปิดก้นแล้วว่ะ (et je n' aurai pas même ub langouti pour cacher mon Derrière)

อย่ากระนั้นเลยกูจำไปเฝ้าเจ้านายเห็นจะดีแน่ ขอพระอนุญาตพระองค์ท่านปลดจากทาส ออกไปทำไร่ไถนา ตามประสาคนยากจน คิดได้ดังนี้แล้วนายสา ก็ไปเข้าเฝ้าเจ้านาย

เจ้านายรับสั่งถาม : เหวย อ้ายสา เอ็งมาทำไมหวา

นายสา ตอบหมอบลงแล้วกล่าวว่า : ใต้ฝ่าละอองพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานอนุญาตออกไปทำไร่ไถนา พะย่ะค่ะ

กรมหลวง : เออ ไปทำไร่ทำนา แล้วเอ็ง หาผักหาปลามาให้ข้าบ้างนะ

นายสาตอบ : พะย่ะค่ะ (ถวายบังคมแล้วขอประทานอนุญาตถอยกลับออกไป)

กรมหลวง : เฮ้ย เอ็งอย่าเพ่อกลับไปเร็วนัก

นายสา : พะย่ะค่ะ

กรมหลวง : ฟังนี่ เมื่อเอ็งออกไปทำไร่ไถนาแล้วนานๆ ก็มาให้ข้าเห็นหน้าบ้าง

นายสา : พะย่ะค่ะ ถวายบังคมแล้วถอยออกไป

(สันต์ ท. โกมลบุตร,2549 :252-253)

จะเห็นได้ว่า จากบทสนทนาข้างบน ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง เลกกับพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ว่า "ถึงกูจะไม่ รุ่มรวยสวยกราก ก็ไม่ได้ปริปากบ่นสักคำ" นั้น นายผีเลือกใช้คำว่า "รุ่มรวย" ซึ่งเป็นคำโบราณยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (อย่างน้อยก็ใช้พูดกันใน สมัย ร. 4) แทนที่จะใช้คำว่า "ร่ำรวย" ซึ่งเป็นคำสมัยปัจจุบัน (ในขณะนั้น พ.ศ.2490 )

นายผีจึงอาจมีเจตนา สำแดง ความ "อหังการ์แห่งกาพย์กลอน" ผ่านโคลงดั้นวิวิธมาลี บทนี้เป็นแน่แท้

ในโคลงบทต่อไป นายผีกล่าวว่า "การพนันอย่างหนึ่งนั้นพุทธพจน์ห้าม หากชินมือฉวยฉกยื้อ" หมายความว่า พุทธองค์ท่านทรงห้ามเล่นการพนัน (คงด้วยเหตุเพราะหาก "ชินมือ" หรือเกิดติดการพนันเข้าแล้ว เมื่อไม่มีเงินย่อมจะต้อง ฉกชิงวิ่งราว ฉกฉวยแย่งยื้อทรัพย์สินของคนอื่น มาเป็นของตน มาเพื่อเล่นหรือใช้หนี้การพนัน และย่อมทำให้เกิดทุกข์ตามมา เพราะต้องถูกตำรวจจับ ฯลฯ )

และที่ว่า "หมูเม่นเช่นช้างมดใครมุ่งประหารแฮ แบกบาปตามตื้อตึ้ง ต่างไฉน" นั้น ก็คงหมายความว่า การเข่นฆ่าสัตว์  เช่น มด เม่น หมู และ ช้าง ก็ล้วนแล้วแต่บาปด้วยกันทั้งสิ้น 

 เพราะการฆ่าสัตว์ คือ การฆ่าสิ่งที่มีชีวิตให้ตายไปก่อนที่จะหมดอายุ ไม่ว่าจะเป็น ฆ่าด้วยตนเอง  ใช้คนอื่นฆ่า  ปล่อยอาวุธ ขว้าง ปา  ใช้อาวุธปืน มีด ขุดหลุมพราง ใช้อาคมคุณไสยศาสตร์ หรือใช้ฤทธิ์  องค์ประกอบของ อกุศลกรรมบถ ในการฆ่าสัตว์มี 5 ประการ คือ

1. สัตว์มีชีวิต
2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
3. มีจิตคิดจะฆ่า
4. พยายามฆ่า
5. สัตว์นั้นตายลงเพราะความพยายามนั้น

การทำบาปที่เข้าลักษณะ ๕ ประการ ชื่อว่า เป็นการทำบาปที่ครบองค์แห่งปาณาติบาต จะเป็นสัตว์ที่เป็นอาหาร หรือ สัตว์ที่ไม่เป็นอาหาร เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ก็ตาม ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น เมื่อใกล้จะตายถ้าคิดถึงบาปที่เคยฆ่าสัตว์ไว้ บาปนั้นก็สามารถนำให้ไปเกิดใน อบายภูมิ ได้ 

 การฆ่าสัตว์ จะบาปมาก หรือ บาปน้อย นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ความพยายามในการฆ่า ถ้าใช้ความพยายามมากก็บาปมาก ใช้ความพยายามน้อยก็บาปน้อย ฆ่า สัตว์มีคุณมาก ก็บาปมาก เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ถ้าฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ก็บาปน้อย ฆ่าสัตว์ตัวใหญ่บาปมาก ฆ่าสัตว์ตัวเล็กก็บาปน้อย ถ้าฆ่าคนที่มีคุณธรรมมาก บาปมาก ถ้าเป็นคนที่มีคุณธรรมน้อย ก็บาปน้อยตามลำดับ


(อ้างอิงจาก " พระอภิธรรมโชติกวิทยาลัย " http://www.buddhism-online.org/Section07A_02.htm )

อุปมาเหมือนกับการเล่น หวย ไม่ว่าจะเป็นหวยรัฐ หรือหวยราษฎร์ (หวยเถื่อน) เมื่อลองได้มีเจตนาเล่นแล้ว หรือเล่นสำเร็จแล้ว ก็ล้วนแต่ผิดศีลธรรมและเป็นบาปด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น 

และที่นายผีกล่าวว่า "ชวนชนเอาเบี้ยทุ่มกลางธรณีรา ทุ่มบ่รู้แรงไดเรื่อยด้วย" หมายถึง นโยบายหารายได้เข้ารัฐ ด้วยวิธีการเชิญชวนประชาชนให้ซื้อ สลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะถูกกฎหมาย นั้น เป็นการชักชวนให้ประชาชนหมกมุ่นอยู่กับการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุข เมื่อประชาชนลงทุนทุ่มเงินซื้อหวย บางคนมือเติบ ทุ่มเงินซื้อหวยโดยไม่ประมาณตน "ทุ่มบ่รู้แรงได เรื่อยด้วย"

(ได ภาษาเขมรแปลว่ามือ อ้างอิงจาก "เครือข่ายพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน " http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html)

"ทุ่มจนบ่นบ้าบอ เบือนจริต" หมายถึง ประชาชนเมื่อซื้อหวยแล้วก็ตั้งความหวัง บ่นบ้าบอว่าจะถูกหวยรวยกันยกใหญ่ และที่ว่า "จำรัสรัฐ ม้วยล้วนเหล่าชนา" นั้น ก็คงหมายถึง รัฐบาลเองก็มีแต่จะ จำเริญจำรัส รุ่งเรืองร่ำรวย ขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ที่มอดม้วยก็ล้วนแต่เหล่าประชาชนา นั่นเอง

แนวคิดของนายผี สอดคล้องกับแนวคิดของ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ที่ว่าหวยเป็นการพนันชนิดที่ผู้เล่นมีโอกาสถูกรางวัลน้อยมากแต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่หวยกลายเป็นการพนันที่มีผู้นิยมเล่นกันมากที่สุด

ซึ่งรางวัลที่ 1 ชุดใหญ่ 30 ล้าน บาท มีโอกาสถูกรางวัลเพียง 0.00000333% เท่านั้น และรางวัล เลขท้าย 2 ตัว มีโอกาสถูกรางวัล เพียง 1% หากยิ่งตะบี้ตะบันซื้อสลากแบบติดปลายนวมติดต่อกัน 100 งวด โดยหวังว่า อย่างน้อยๆคงจะถูกรางวัลสัก 1 ครั้ง นั้นก็เป็นความคิดที่ผิดเพราะ ยิ่งซื้อมากกว่าหนึ่งครั้ง ในที่นี้คือ 100 ครั้ง โอกาสถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว จะยิ่งลดลงเหลือเพียงแค่ 0.634% นั่นเพราะใน 100 ครั้งที่ซื้อสลาก สลากก็มีโอกาสที่จะออกรางวัลซ้ำกันได้ด้วย ค่าเฉลี่ยนี้คำนวณ โดยสูตรการกระจายแบบ ไบนอร์เมียล (Binomial Distribution) )

เพราะการพนันทุกชนิดมีกำไรคาดหวังเป็นลบทั้งสิ้น ผู้เล่นการพนันมีโอกาสที่จะได้กำไร-ขาดทุน มากหรือน้อยแค่ไหนก็ได้แต่ที่สุดแล้วเมื่อเล่นการพนันชนิดนั้นติดต่อกันในระยะยาวกำไรเฉลี่ยของผู้เล่นจะต้องมีค่าเข้าใกล้กำไรคาดหวังของการพนันชนิดนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (หวยมีกำไรคาดหวังติดลบ -40% )

เราเรียกกฎข้อนี้ของการพนันว่า กฎของความบ่อย (the law of large number) หรือพูดเป็นสำนวนนายเฟื่องก็คือ

ได้มาสัก หนึ่งชั่ง เสียตั้งร้อย..................เงินเราน้อยหมดก่อนเหลือผ่อนผัน
แทงทั้งปีถูกเราเข้าสักวัน.........................ก็ลือกันว่ารวยหวยกระไร

ถ้าบังเอิญคุณโชคดีถูกรางวัลที่หนึ่งจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงงวดเดียว สิ่งที่คุณควรทำอย่างยิ่งคือ เลิกซื้อสลากกินแบ่งไปเลยตลอดชีวิต เพราะถ้าขืนคุณยังซื้อสลากกินแบ่งต่อไป กำไรเฉลี่ย ของคุณจะต้องลดลงเรื่อยๆ จนขาดทุนในระยะยาวตามกฎของความบ่อย

อย่างไรก็ตามคนที่เคยถูกรางวัลที่หนึ่งมาแล้วมักไม่สามารถหักห้ามใจ ไม่ให้กลับไปซื้อสลากกินแบ่งได้อีก ความเชื่อเรื่องเลขเด็ดเลขดัง จากที่ต่างๆ พฤติกรรมงมงายที่พยามจะหาวิธี เอาชนะเจ้ามือพนัน เราเรียกว่า ความหลงผิดของนักพนัน (Gambler's fallacy ) (นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ,2549 :12-119)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างยืดยาว จะเห็นได้ว่า หวยมีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจของสยามประเทศ หลายครั้งหลายหน เช่น

ครั้งแรก พ.ศ.2378 รัฐาธิปัตย์ อนุญาตให้มีการเล่นหวย กข. เนื่องมาจากเหตุ ทุพภิกขภัยสองปีซ้อน พ.ศ.2374 น้ำมาก ข้าวล่ม พ.ศ. 2375 น้ำน้อยข้าวไม่งาม

และในคราวที่ 2คือ ช่วง พ.ศ. 2460 ซึ่งประเทศสยามอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชอาณาจักรอังกฤษซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรประสงค์จะกู้เงินจากประเทศไทยเพื่อใช้ในการสงคราม แต่ไม่อาจกู้โดยตรงจากรัฐบาลไทยได้ เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือนงบประมาณ สภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ จึงดำเนินนโยบายกู้เงินจากประชาชนด้วยการออกลอตเตอรี่โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า แม้ หวยจะมี "คุณานันต์" แต่ก็มีโทษมหันต์ต่อประชาชน ภิกษุ และสามเณร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท้ายที่สุดนี้ขอให้ พุทธบริษัท จำกัด (มหาชน) จงมีสติพิจารณาไตร่ตรอง และปองประหารกิเลสคือความ โลภ โกรธ หลง อันเกิดจากหวย จงถ้วนด้วยทุกคนทุกท่านเทอญ เจริญพร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

บรรณานุกรม

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง 7 ท่าน.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : พัฒนา, 2533.


คึกฤทธิ์ ปราโมช ,ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์.กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้.--กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์ ,2548.


จิตร ภูมิศักดิ์.โฉมหน้าศักดินาไทย.--พิมพ์ครั้งที่ 9.--นนทบุรี : ศรีปัญญา,2549.


นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ,หลักการพนัน.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : เดคิซูกิดอทเนต,2549


มานิต หล่อพินิจ.รวบรวมประวัติและผลงาน สุนทรภู่.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : ทิพย์วิสุทธิ์ ,2549


เปลื้อง ณ นคร.ประวัติวรรณคดีไทย.--กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช,2545.


ถนอม นพวรรณ.หนังสือที่ระลึกวันตรงกับวันเสด็จสวรรคตในพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว.--กรุงเทพฯ : จันทวาณิชย์ ,2535


ทศพร วงศรัตน์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. "ปรากฎการณ์ธรรมชาติและสึนามิในพระอภัยมณี" สารคดี ปีที่ 22 ฉบับที่ 262 ธันวาคม 2549.


ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี,เจ้าพระยา.พระราชพงศาวดารกรุงเทพรัชกาลที่ 3.--กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,2547.


พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์, ผศ. (สมาน กัลยาณธมฺโม). พุทธบัญญัติ 227.--พิมพ์ครั้งที่1.--กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,2549.


ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร.ปริศนาธรรมสมเด็จฯ โต.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ :บ้านลานธรรม,2549


สันต์ ท. โกมลบุตร.ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์,ค.ศ.1805-1862 เล่าเรื่องเมืองสยาม .--พิมพ์ครั้งที่ 3.--นนทบุรี :ศรีปัญญา,2549.


สุนทรโวหาร (ภู่) ,พระ.พระอภัยมณีคำกลอนของสุนทรภู่.--กรุงเทพฯ : บรรณาคาร,2517.


อนุรัตน์ โค้วคาลัย.เหรียญกษาปณ์กับคนรุ่นใหม่.--พิมพ์ครั้งที่ 2.--กรุงเทพฯ :แสงแดด,2549.


อัศนี พลจันทร "หวยรัฐกับหวยราษฎร" โดย นายผี (นามแฝง) สยามนิกร 27 มกราคม พ.ศ.2490.


..................."สลากงวดพิเศษ 3 บาท ผู้ซื้ออาจถูกรางวัล 2 ครั้ง" สยามนิกร 23 มกราคม พ.ศ.2490 หน้า 1.

 


สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์

ควง อภัยวงศ์ , "วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี" [ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%87_%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C ].24 December 2006.


ธรรมะประจำวัน  , " [ http://www.kalyanamitra.org/daily/dhamma/index.php?option=com_content&task=view&id=1515&Itemid=1 ] 23 December 2006.


พระอภิธรรมโชติกวิทยาลัย , " buddhism-online " [  http://www.buddhism-online.org/Section07A_02.htm ].23 December 2006.


พจนานุกรมพุทธศาสน์ , "ธรรมะไทย" [ http://www.dhammathai.org/bd/thai32_sosua.php ].20 December 2006.


King Mongkut , "พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว." [http://www.kingmongkut.com/chap1/page7.html]. 20 December 2006.

ธรรมะประจำวัน " ธรรมะประจำวัน " [http://www.kalyanamitra.org/daily/dhamma/index.php?option=com_content&task=view&id=1515&Itemid=1].20 December 2006.


KaLAmaRe FanClub , "คลับของคนรัก กาละแมร์" [http://www.kalamare.com].20 December 2006.


The Government Lottery Office , "ประวัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" [http://www.glo.or.th/detail.php?link=history].20 December 2006.


The Royal Institute , "เชื่อมตรงเครือข่ายพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน " [http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html]. 20 December 2006.

 

  • อ่านแล้ว ยายลาย อิอิอิ
  • มีหวย abc ไหมครับ
  • ฮ่าๆๆ
  • ไม่เคยซื้อเลยเพราะกลัวถูกครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ผมไม่ชอบการพนัน......มาพนันกันไหมว่าผมพูดจริงหรือไม่จริง(พูดเล่นๆ...แต่ทำจริง)
  • ขอบคุณ กวินทรากร มาก
  • บันทึกนี้มีคุณค่า...ต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง
  • ขออนุญาต..นำเข้า....วิชชาทาน ของผมนะครับ
สวัสดีครับ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ขอบคุณครับที่ตามอ่านมีเลขเด็ดๆ ก็บอกกันมั่งนะครับ สวัสดีครับ อาจารย์ พิสูจน์ ยินดีครับ พอดีช่วงที่เขียนเพราะอ่านเจอเรื่องหวยจากหลายๆที่ เลยเอามาประติดประต่อกันครับ

P

กวินทรากร

 

  • เพราะอยากรวยจึงเข้ามาอ่าน ( 5 5 5)

เริ่มต้นได้น่าสนใจ... แต่่ยาวและเล่นสีเกินไป ทำให้อ่านนานๆ แล้ว ตาลาย...

แม้เนื้อหาน่าสนใจ... แต่หลากหลายเกินไป ทำให้ ผู้อ่าน (เฉพาะหลวงพี่เท่านั้น คนอื่นไม่ทราบ ) ไม่อาจประมวลเนื้อหาให้เป็นหนึ่งเดียวได้... ถ้าจะกรุณา น่าจะแยกย่อยเป็นตอนสั้นๆ

อนึ่ง เอเตกิจฉา คำนี้ ไม่เคยเห็นว่ามีใช้ ที่ใช้อยู่ก็คือ อเตกิจฉา (อาบัติที่แก้ไม่ได้)

จะติดตามอ่านต่อไป....

เจริญพร

 

 

สัวสดีค่ะ

-ครูพรรณา  ไม่เล่นหวย....มีอยู่ปีหนึ่งถูกให้ไปราชการช่วยงานวัดเทศกาลปิดทองฝังลูกนิมิต... อยู่แผนกขายหวย.....เลขท้าย ๓ ตัว ได้รถกะบะ  ๑ คัน

- มีพระมาซื้อ ...ขอให้ครูพรรณาเลือกให้....หนูเลือกไม่ถูกหรอกเพราะไม่ใช่คนเล่นหวย...เถอะน่าครู...เลือกให้หน่อย..เอา ๕ ใบ

- อย่าบอกนะว่าการพนันเป็นประเพณี ( สิ่งดีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน)แก้จนของคนไทย

  • นมัสการพระคุณเจ้า P  BM.chaiwut ขอพระคุณครับ ขอแก้ไขตามที่ทักท้วงมาขอรับ
  • สวัสดีครับอารย์ P พรรณา เห็นด้วยครับ...

 

P

กวินทรากร

 

เวียนมาอีกครั้ง ก็เจอที่ผิดอีกแล้ว...

ตามข้อความที่คัดมา...

1. ครุกาบัติ คืออาบัติหนัก 2 ประเภท ได้แก่
1.1 ประเภทแก้ไม่ได้ เรียก อเตกิจฉา ได้แก่อาบัติ ปราชิก เมื่อภิกษุล่วงละเมิดหรือต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ

1.2 ประเภทแก้ไขได้ เรียก อเตกิจฉา ได้แก่ อาบัติ สังฆาทิเสส เมื่อภิกษุล่วงละเมิดหรือต้องเข้าแล้วแก้ไขด้วยการประพฤติมานัตและอยู่ ปริวาส

.....จะเห็นได้ว่าคำว่า อเตกิจฉา ในข้อ 1.2 ไม่ถูกต้อง อันที่จริงต้องเป็น สเตกิจฉา

.............

 

 

เจริญพร

  • นมัสการพระคุณเจ้าคำรบสองครับ ขอบพระคุณมากครับ คิดว่าคงมีสาเหตุมาจากการรีบจดบันทึก เพราะจดจากร้านหนังสือบ้าง ห้องสมุดบ้าง ถ่ายลงสมุด แบบคร่าวๆ หรือไม่ก็จดถูกแต่เวลา พิมพ์ๆ ผิดเองครับ ขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากๆครับ รีบแก้ๆ ครับ  

ใครอยากรวยครับ

แอดมาคุยกัน ผมสามารถช่วยให้คุณมีรายได้ 1 แสนบาท ภายใน 3-6 เดือนได้

อยากรู้ว่าทำยังไง แอดมาคุยกัน

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท