เพลงยาวว่าพระมหาเทพ : ภาพสะท้อนกรมตำรวจไทยในอดีต ถึงปัจจุบัน


เป็นที่น่าแปลกว่า ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมา เป็นระบบประชาธิปไตย แต่สังคมศักดินาข้าราชการไม่เคยเปลี่ยนตามไปด้วยเลย

 

โลกนิติคำโคลง

จระเข้ คับน่านน้ำ              ไฉนหา..ภักษ์เฮย
รถใหญ่ กว่ารัถยา             ยากแท้
เสือใหญ่ กว่า วนา             ไฉนอยู่..ได้แฮ
เรือเขื่องคับชเลแล้             แล่นโล้ไปไหน

จระเข้ ใหญ่กว่าคลอง จะหาอาหารที่ไหนกิน
รถใหญ่กว่าถนน จะขับไปมาก็ยากลำบาก
เสือใหญ่กว่าป่า หมายถึงทำตัวเกเร ออกมากินคน คงจะอยู่ได้ไม่นาน
เรือใหญ่ๆ คับทะเล จะแล่นไปไหนก็ลำบาก

หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งก็จะพบว่า จระเข้+เสือ/สิงห์ คือสัญลักษณ์ของ ข้าราชการ ที่บ้าอำนาจ+โกงกิน และเมื่อข้าราชการหากบ้าอำนาจ+โกงกิน ก็จะไม่มีแผ่นดินแผ่นน้ำที่จะอยู่อาศัย สำหรับ รถ+เรือ คือสัญลักษณ์ของ กริยาท่าทาง +การใช้อำนาจในทางที่มิชอบนั่นเอง

โคลงโลกนิติบทนี้ ขยายความด้วยกลอน เพลงยาวว่าพระมหาเทพ (ทองปาน)
ดังนี้

เขาชมบุญ เรียกเจ้าคุณ ราชามาตย์       แต่ร้ายกาจ เกือบยักษ์ มักสัน
ลงนั่ง ยังนาวา เหมือนชาละวัน               ขึ้นบก ตกมัน เหมือนสิงห์ทอง
..................................................................................................
ถนนกว้าง สี่วา มาไม่ได้                        กีดหัวไหล่ ไกวแขน ให้ขัดข้อง
พวกหัวไม้ เหนกลัว หนังหัวพอง             ยกสอง มือกราบ อก ราบดิน


จะเห็นได้ว่าคนโบราณเปรียบเทียบข้าราชการที่บ้าอำนาจ ว่า ยามลงนั่งบนเรือดูฮึกเหิมเหมือน
 จระเข้ ยามขึ้นบนบก ดูฮึกเหิมเหมือน เสือ/สิงห์ ถนนกว้างสี่วา ก็คับแคบ ไม่พอให้สัญจรเดินทาง (อีกหน่อยก็จะไม่มีแผ่นดินแผ่นน้ำให้อาศัย เพราะใหญ่จนคับที่)

 

เพลงยาวว่าพระมหาเทพ (ทองปาน) ซึ่งมีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์นี้ มีผู้ลอบนำมาปิดไว้ ณ ที่ทำการของพระมหาเทพ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็น จมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ในรัชกาลที่ ๓ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้แต่งเพลงยาวนี้คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ปลัดกรมพระตำรวจในขวา นั่นเอง ข้อความเป็นเพลงยาว นี้ได้รับการพิมพ์ลงในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ (พิมพ์โดยคงรูปอักษรวิบัติ) มีความว่า

                                                              มิเสียที ที่เขามี วาศนา                                
แต่ เหนๆ ได้เป็น ขุนนางมา                        ไม่เหมือน ราชามาตย์ ในชาตินี้  
ประกอบหมด ยศศักดิ์ แลทรัพย์สิน              เจ๊กจีน กลัวกว่า ราชาเสรษฐี   
เมื่อชาติก่อน ได้พร ของหลวงชี                  จึงมั่งมี ดูอัศจรรย์ครัน                                

เขาชมบุญ เรียกเจ้าคุณ ราชามาตย์            แต่ร้ายกาจ เกือบยักษ์ มักสัน
ลงนั่ง ยังนาวา เหมือนชาละวัน                   ขึ้นบก ตกมัน เหมือนสิงห์ทอง
จะเข้าวัง ตั้งโห่ เสียสามหน                        ตรวจพล อึกทึก กึกก้อง
ห่อผ้า กาน้ำ มีพานรอง                             หอก สมุด ชุดกล้อง ร่มค้างคาว


นุ่งปูม เขมรใหม่ วิไลเหลือ                          สวมเสื้อ ได้ประทาน ห่มส่านขาว
ลงจาก หอ กลาง หางหงส์ยาว                    เมียชมว่า งามราว กับนายโรง


(สมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบบำเหน็จความดีความชอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ข้าราชการ จะได้รับพระราชทาน ห่อผ้ากาน้ำ พานทอง หอก สมุด ชุดกล้อง/ยาสูบ ร่มค้างคาว เรือกัญญา ฯลฯ จากพระเจ้าแผ่นดิน สิ่งของเหล่านี้จึงใช้นำมาอวดกันในหมู่ข้าราชการ )


ช่างหมดจด งดงาม ถึงสามอย่าง                จะไว้วาง กิริยา ก็อ่าโถง
แต่ใจโต กว่าตับ คับซี่โครง                         เมื่อเดินโคลง โยกย้าย หลายทำนอง
ถนนกว้าง สี่วา มาไม่ได้                             กีดหัวไหล่ ไกวแขน ให้ขัดข้อง
พวกหัวไม้ เหนกลัว หนังหัวพอง                  ยกสอง มือกราบ อก ราบดิน

ด้วยอำนาจ ราชศักดิ์ นั้นหนักหนา               ถ้าเข้า(ขื่อ)คา แล้วแต่ล้วน เปนสัตย์สิ้น
มีทหาร ชาญชัย ใจทมิฬ                            ดังจะกิน เนื้อมนุษย์ สุดภิภพ
"ไชยภักดี" ว่าที่ ขุนต่างใจ                         ทั้งนอกใน ไว้เวร ก็เจนจบ
"ศรีสังหาร" พนักงาน การ(จอง)จำคบ (ขื่อคาคบไม้)      "แสนใจรบ" รับเรียก ค่า ฤชา

ทั้งสามนาย ยอมตาย ในใต้เท้า                   มิเสียที มีบ่าว คราววาศนา
เคยเชื่อใจ ไว้วาง ต่างหูตา                         รู้อัทธยา อาไศรย น้ำใจนาย
หยุดที่ทิม กรมวัง นั่งสูบกล้อง                     ดูทำนอง กรุ้งกริ้ง หยิ่งใจหาย
พวกลูกความ ตามหมอบ เที่ยวยอบกาย       กลัวกว่า พระยานาย บ้านเมืองดี

หมอจีน ดูไว้ ในตำรา                                 ดวงชะตา ขึ้นเมษ ราษี
คงจะถึง (เจ้าพระยา) พานทอง ในสองปี      ถ้าเต็มที ผิดคาด ราชรองเมือง
ข่าวนอก พูดกัน ขันเต็มที                           ว่ากลางคืน รัศมี สีเนื้อเหลือง
ดูในเรือน เหมือนแสง แมงคาเรือง                คนฦาเลื่อง พูดมาก ปากวัดวา


พระยา บำเรอบริรักษ์ ได้ซักถาม                 ว่าเดิมความ โด่งดัง ขึ้นวังน่า
สมภาร วัดลิงขบ คบภรรยา                        ไปพูดจา กันที่วัด น่าอัศจรรย์
ครั้นพิเคราะห์ ดูความ เหนงามแน่                จนชาวแพ โลงเล่า เหล่าบางยี่ขัน
ต่างนิยม ชมชื่น ตื่นกันครัน                        ว่าเหมือนพระ พิมพ์สวรรค์ ผู้รุ่งฟ้า


 

 "วัดลิงขบ" เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน ชื่อทางราชการคือ "วัดบวรมงคล" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ใกล้กับโรงงานสุราบางยี่ขัน ท้องที่บางพลัด กทม. ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวรามัญ (มอญ) อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาก และมีพระสงฆ์ติดตามมาด้วยล้นเกล้าฯ จึงทรงกำหนดสถานที่ให้อยู่เป็นที่ๆ รวมทั้งบริเวณ วัดลิงขบ นี้ด้วย  ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (พระเจ้าน้องยาเธอ ในรัชกาลที่ ๒) ได้ทรงสถาปนา วัดลิงขบ นี้เป็นพระอารามหลวง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดบวรมงคล


ช่างสมบุญ ทั้งเจ้าคุณ ผู้หญิงใหญ่               งามลักษณะ วิไล ดั่งเลขา
งามละม้าย คล้ายแสง สุริยา                        เทวดา ดลใจ จึงได้กัน
หม่อมชาว สุรินทร์ ชื่อศิลลา                        เปนเทือกเถา เหล่าพระยา กุขัน
หม่อมทับทิม ที่ต้องเลือก เทือกรามัญ            หม่อมลูกจันทร์ เปนลาว ชาวอัดตะปือ

ตกลงมา อยู่กรุง พุงโลป่อง                         แต่ลงท้อง ตาลอย อยู่น้อยหรือ
รอดด้วยยา เข้าอึ่ง กับกิ้งกือ                       พึ่งจะรื้อ จากไข้ ได้สามเดือน
ซื่อสัตย์ สุจริต สนิทสนม                             คุณชายชม นักหนา หาไม่เหมือน
โปรดให้เปน ที่สอง รองแม่เรือน                   ได้ตักเตือน ดูแล แม่น้อยๆ

ให้คลานศอก คลานเข่า เคล่าคล่อง              ถูกทำนอง นางใน ไว้ใช้สอย

(ตีเสมอเจ้า ด้วยการให้คนรับใช้ คลานศอกคลานเข่าเข้าหา)

พนักงาน ของใคร ก็ใครคอย                      ได้ระเบียบ เรียบร้อย ทั้งถ้อยคำ
เวลา เจ้าคุณ ออกจากเฝ้า                          ให้ร้องเรื่อง อิเหนา เมื่อเข้าถ้ำ
ฝ่ายหม่อม ที่คะนอง ร้องลำๆ                       จนท้องน้ำ เลื่องฦา ระบือชา
นั่งอวด **สม**เสีย ให้เมียกลัว

                  เกิดเปนตัว กูนี้ มีวาศนา

สมในที่นี้คือ "ผ้าสมปัก" เป็นผ้าทางราชการ ยศก็ดีสังกัดก็ดีสังเกตได้จากผ้าสี โดยปกติไม่นุ่งกัน นอกจากเข้าเฝ้าหรือตามเสด็จพระราชดำเนิน แม้แต่นุ่งจาก บ้านจะเข้าวังก็ใช้ผ้าอื่นนุ่งมาก่อน สมปักให้ทนาย (พลทหาร) ถือตามมานุ่งในวัง โปรดดูเพิ่มเติมได้ที่ เวปไซต์ กองบัญชาการทหารสูงสุด http://web.schq.mi.th/~afed/history_www/bbb4-7.htm
นั่งอวด **สม**เสีย ให้เมียกลัว  หมายความว่า  แต่งเครื่องแบบตำรวจ  นั่งอวดเมีย นั่นเอง


เครื่องเสวย คาวหวาน ประทานมา                กินข้างหน้า เลื่องฦา ออกอื้ออึง
ฝ่ายหม่อม ภรรยา บรรดานั่ง                       ครั้นได้ฟัง กลัวขลาด ไม่อาจหึง
อีสาวๆ เหล่าพวก ช่างสะดึง                         มัดกีดอยู่ นิดนึง หรอกกระมัง
คิดว่า จะให้หัด มโหรี                                  เด็กๆ เสียงดี มีอยู่บ้าง

ถึงวันพระ ไม่ชำระ ความในวัง                      ออกมานั่ง หอ นอก ออกแขกเมือง
พวกทนาย เรียงราย ของกำนัล                     เจ๊กนั่น จีนนี่ มีหลายเรื่อง
เฮ้ยบ่าว อุปราช ใครขาดเคือง                       พวกหัวเมือง ขัดสน ขนไปกิน
ปลูกเรือน เหมือนกับ ถวายฎีกา                     นึกคอย วาศนา เมื่อน่ากฐิน

(ปลูกบ้านใหญ่โตเหมือนพระราชวัง ห้องหับใหญ่โตเหมือนท้องพระโรงที่ใช้รับถวายฎีกาจากราษฎร)

ปัญญาท่าน แทงลอด ตลอดดิน                    ควรจะภิญโญยศ ปรากฏไป
คนนอก พูดกัน นั้นไม่เหน                            เมื่อครั้งเปน นายทองปาน ท่านสงสัย
ข้าเจ้าได้ ส่องกล้อง เป่าไฟ                          ไม่ใกล้ไกล ออกกลัว ฝากตัวเอย



"เจ๊กจีน กลัวกว่า ราชาเสรษฐี" ราชาเสรษฐี เป็นตำแหน่งขุนนางใช้เรียกมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า โชติเศรษฐี ว่าเป็นเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลทีเดียว คำว่าโชติ เป็นภาษาบาลี เป็นคำเดียวกับที่เราเอามาใช้ว่าโชดึก ในหนังสือเก่าเขียนว่าโชฎึกก็มี คำนี้แปลว่า ผู้มีความรุ่งเรือง ผู้มีความสว่างไสว

ตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐี เป็นตำแหน่งรุ่นเดียวกับราชาเศรษฐี ในสมัยอยุธยา หลวงโชฎึกราชเศรษฐี จะทำอะไรบ้างไม่ทราบชัด มีปรากฏไว้ในกฎหมายว่า อนึ่งเบิกสำเภาเรือใหญ่ทั้งปวงไปมาณะปากใต้ แลมีตราพระจุลาราชมนตรี แลตราพระโชฎึกราชเศรษฐีเบิกไปมาตามได้พนักงานนั้น แต่ในสมัยกรุงเทพ ฯ มีหน้าที่ควบคุมชาวจีนทั่ว ๆ ไป และมีบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นถึง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ว่าราชการ กรมท่าซ้าย

การที่ "เจ๊กจีน กลัว จมื่นราชามาตย์ มากกว่ากว่า ราชาเสรษฐี" ย่อมแสดงว่า จมื่นราชามาตย์ เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากทีเดียวในสมัยนั้น

เนื้อหาในเพลงยาวนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า "สะท้อนภาพการปฏิบัติราชการของผู้ยิ่งใหญ่ในกรมพระตำรวจไว้อย่างสมบูรณ์ ...การเห่อยศศักดิ์ คลั่งในอำนาจวาสนา กระทั่ง เก็บเอาเด็กสาวมาเลี้ยงเป็นนางบำเรอ รีดเงิน รีดของกำนัล การจับประชาชนที่ทำเหมือนเสือจับเหยื่อ ระบบการทรมานและซ้อมผู้ต้องหา"

คือถ้าผู้ต้องหาไม่รับสารภาพ พระมหาเทพ (ทองปาน) ก็เอาเข้าขื่อคาทรมานจนต้องรับหมด พระมหาเทพ (ทองปาน) มีลูกน้องซึ่ง ยอมตายในใต้เท้า อยู่สามนาย คือ ขุนไชยภักดี ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการคนสนิท ขุนศรีสังหารพนักงานการ(จอง)จำ(ขื่อ/คา)คบ(ไม้) ทรมานลงโทษ และขุนแสนใจรบ เป็นพนักงานเรียกค่าฤชา  ค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเฉพาะตัวบุคคล 
          

พระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจในขวา (ดังที่ปรากฏท้ายเพลงยาวว่าเป็นผู้อยู่ "ไม่ใกล้ไกล") และเป็นผู้สำนึกในหน้าที่ไม่อาจวางเฉยอดทนดูความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมในการกระทำของจมื่นราชามาตย์ได้ จึงได้แต่งเพลงยาวนี้ขึ้นเพื่อเป็นการประจาน

เพลงยาวแผ่นนี้ เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ สมัยนั้นเรียกกันว่า เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ตกกระ เพราะท่านตกกระไปทั้งหน้าตาและแขน เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพราะมีผู้คน และ ขุนนางพากันมุงอ่าน ท่านจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ คืนให้นำไปปิดไว้ดังเก่า รับสั่งแต่เพียงว่า "เขาหยอกกันเล่น" (ความไม่เป็นถ้อย หมอยไม่เป็นขน) โดยมิได้กริ้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แท้จริงแล้วในกฎหมายตราสามดวงบทพระอัยการหลวง มาตรา ๕๔ มีกล่าวไว้ว่า "ผู้ใดรู้เหน เปนใจ หรือมิได้รู้เหนเปนใจ แต่รู้อยู่ว่ามีการข่มเหงราษฎร ไพร่ พลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน หากมิได้นำความมากล่าวพิดทูลให้ทราบ ผู้นั้นมีโทษด้วย" 

ดังนั้นเพลงยาวบทนี้ จึงเป็นเครื่องแสดงถึงความมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวของ พระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นที่น่าแปลกว่า ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมา เป็นระบบประชาธิปไตย แต่สังคมศักดินาข้าราชการไม่เคยเปลี่ยนตามไปด้วยเลย

หมายเลขบันทึก: 168636เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2008 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • พระมหามนตรีทรัพย์..ท่านเป็นคน...หลายอารมณ์..
  • อารมณ์เครียดท่านก็ทำได้ขึงขัง....อารามณ์ขันก็อ่านสนุก
  • ไม่เชื่อลองอ่านระเด่นลันได...
  • แต่ทั้งสองเรื่อง..ก็เป็นการเสียดสี...ทั้งคู่...เรื่องหนึ่งเสียดสีบุคคล อีกเรื่องเสียดสีวรรณกรรม
  • บ้างก็ว่า...ท่านมีอารมณ์..คัน...เพราะ...คำว่า..ลันได..ลองผวนกลับ...มันค่อนข้างไปทาง...ทะลึ่งนิดๆ
  • สวัสดีครับอาจารย์ P  พิสูจน์
  • ได้ความรู้ใหม่เรื่อง ละเด่น ไล่ดัน...   คิดไม่ถึง..จริงๆครับว่าพระมหามนตรี (ทรัพย์) ท่านจะมีอารมณ์ขันร้ายกาจ เช่นนี้
  • เคยอ่านแล้วครับ เรื่องละเด่นลันได และมีนักรัฐศาสตร์เอามาวิเคราะห์ในเชิงการเมื่องด้วยครับ ละเด่นลันไดเป็น กลอนเสียดสี/ล้อเลียน (parody) ทางการเมือง

สวัสดดีค่ะ

- ดีใจจังที่ครูพิสูจน์กับครูพรรณาโคจรมาใกล้กัน

- ครูพรรณา  แอบไปชม bloggang  ของคุณกวินทรากรมาแล้ว

- น่าชื่นชมมาก

- จะให้ดีช่วยย้ายมาอวดที่ G2k ด้วยนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ P พรรณา บทความเก่าๆ ใกล้หมดแล้วครับ ตอนนี้กำลังจะเขียนใหม่

ไม่มีอะไรใต้ดวงตะวันที่ตำรวจไทยทำไม่ได้

เคยได้ยินมาบ้างไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่านะคะ วีรบุรุษนาแกถูกปลดออกจากราชการไปจริงๆเมื่อวัน 2 วันก่อน 

แต่ปัจจุบันบางสิ่งเปลี่ยนไปบ้างแล้วนะคะ เดี๋ยวนี้บางคนเค้าก็ว่าสิบพระยาเลี้ยงก็ไม่อิ่มหมีพีมันเท่ากับการเป็นขี้ข้าของนักการเมืองแล้วค่ะ  พวกศักดินาข้าราชการเองก็ต้องเกาะนักการเมืองท้องถิ่นกลุ่มทุนอุปถัมภ์กันทั้งนั้นด้วยค่ะ  ประชาชนทำตาปริบๆหวานต้องอมขมต้องกลืน เอื้อกๆๆ อิ อิ

ขอบคุณมากค่ะคุณกวิน  ได้ความรู้เพิ่มเติมได้ฟังเพลงเพราะๆด้วยค่ะ

  • สวัสดีครับ มาอ่านไวจังนะครับคุณหมอ อ๋อทิงนองนอย 
  • ผมขอ ถือโอกาสแก้ไขเพิ่มเติมบทความนี้ซะเลย
  • หวานๆ ขมๆ เนาะชีวิตคนเรา...

สุดยอดของข้อมูล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท