เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือควาย (ควายคนรึคนควาย)


วันนี้และต่อไปในวันข้างหน้า ถ้ามีนักเรียนอนุบาลถามเราว่า กวีนิพนธ์ กับ ความเรียงต่างกันอย่างไร เราคงตอบลำบากเสียแล้ว เพราะกวีซีไรต์ เริ่มไร้ฉันทลักษณ์ จนดูเหมือนความเรียงเข้าไป ทุกทีๆ กวีนิพนธ์งานที่อ่านง่ายๆ บางทีเราก็ลืมง่ายๆ และไร้มนต์ขลัง เช่นกัน




ควายคนรึคนควาย (อินทรวิเชียรฉันท์ 11) : โดย อัศนี พลจันทร

อ้าพ่อลำเภาพัก-              ตรฺ(ะ)พำนักนาลี
อ้าพ่อรำพึงพี-                 รย(ะ)ภาพ(ะ)อันเพ็ญ
อ้าพ่อหาภัค                  -ะสุภาพ(ะ)เปลี่ยวเป็น
อ้าพ่อผิลำเค็ญ                 ครุราวนาลัย
อยู่เดียวบ่ดูดาย                ดล(ะ)ภาพ(ะ)อันไพ-
โรจน์เรืองประเทืองใน        นรลักษณ(ะ)เล็งลาน
ลานแดประดาษดวง          อดิรัตน(ะ)เดียวดาล
คือเจตน(ะ)จำราญ           จะริแล้วและรังไฉน
คิดควรบ่ควรทำ               ทุรโทษ(ะ)อยู่ไย
คนคือกระบือไบ                สุตศัพท(ะ)ส่ายเศียร
อ้าควายบ่เคยคิด              และคำนึงจำเนียรเพียร
สุขเพื่อจะพาเกวียน           รึกำเริบประดุจเรา
ควายคนรึคนควาย           ผิมลายและเหลือเขา
ควายคนนาเนา-            พ(ะ)บ่สุข(ะ)สำนาน
คนควายลายยัง             ศพ(ะ)ย่อมจะรำคาญ
คนควายลายมาน          ก็เสมอกะหมาแล ฯ


ถอดความได้ว่า

อ้าพ่อลำเภาพักตร(า)พำนักพนาลี
(นายผี) กูเองเป็นคนรูปหล่อ(มีใบหน้างาม) ต้องมาพำนักในป่า
อ้าพ่อรำพึงพีรยภาพ(ะ)อันเพ็ญ
กูเองรำพึงรำพันถึงความกล้าหาญ/ความพากเพียร อันมีอยู่เต็มเปี่ยม
(พิรย อาจแปลว่า เพียร หรือ กล้า วีระ/พีระ ก็ได้)

อ้าพ่อมหาภัค(ะ)สุภาพ(ะ)เปลี่ยวเป็น
กูเองเคยเป็นคนร่ำรวย อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี (สุภาพ=สุภาวะ=มีภาวะที่ดีเพราะเกิดในตระกูลขุนนางมีคนแวดล้อม) แต่ต้องมาเปลี่ยนเป็นอยู่คนเดียวแสนเปล่าเปลี่ยวนัก
อ้าพ่อผิลำเค็ญครุราวพนาลัย
กูเองแม้ยามนี้ลำเค็ญอย่างหนัก(ครุ) ต้องมาอยู่ราวป่า
อยู่เดียวบ่ดูดายดล(ะ)ภาพ(ะ)อันไพ-
ถึงอยู่คนเดียวแต่ก็มิได้นิ่งดูดายแต่อยู่อย่างสร้างภาวะอันไพโรจน์
โรจน์เรืองประเทืองในนรลักษณ(ะ)เล็งลาน
ลานแดประดาษดวงอดิรัตน(ะ)เดียวดาล
สร้างภาวะอันไพโรจน์ให้เกิดขึ้นในหมู่นรชน ซึ่งกูได้เล็งแลเห็นอยู่เต็มลานกว้าง แต่ก็เกิดความลนลานในจิตใจอันตกต่ำ (ประดาษ ว. ตกต่ำ เช่น โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเช่นฉลอง เพราะตัวต้องตกประดาษ วาสนา. (นิ. ภูเขาทอง). (ข. ผฺฎาส ว่า ผิดระเบียบ นอกรีตนอกรอย) (เพราะบัดนี้กูถูกลดอำนาจลง ไม่ได้เป็น "สหายนำ" หรือผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ทำให้
อดิรัตน์ =ดวงแก้วอันงามเลิศล้น/ความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ อันเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งเดียว ที่เคยบันดาลขึ้นในจิตใจ
คือเจตน(ะ)จำราญจะริแล้วและรังไฉน
จุดมุ่งหมายหนึ่งเดียวนั้นคือเจตนาที่จะสร้างสังคมใหม่ ตอนนี้คงต้องแหลกราญลงเสียแล้ว ครั้นจะริเริ่มรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ให้แล้วเสร็จ จะต้องใช้เวลาเนิ่นนานเรื้อรังอีกสักเท่าใดหนอ
คิดควรบ่ควรทำทุรโทษ(ะ)อยู่ไย
แต่กูก็ไม่ควรมานั่งคิดให้เป็น ทุรโทษ อยู่ไปใย
คนคือกระบือไบสุตศัพท(ะ)ส่ายเศียร
คนอย่างพวกมันก็เหมือนควายที่ฟังภาษาคนไม่ออกได้แต่ส่ายหัว
อ้าควายบ่เคยคิดและคำนึงจำเนียรเพียร
สุขเพื่อจะพาเกวียนรึกำเริบประดุจเรา
แต่จะไปเปรียบกะควายก็ไม่ถูกเพราะควายมันก็ไม่เคยคิดกำเริบเสิบสานเหมือนอย่างมนุษย์เรามันพอใจที่จะลากเกวียนเท่านั้น
ควายคนรึคนควายผิมลายและเหลือเขา
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย  หรือคนที่ทำงานหนักเหมือนควาย (อย่างพวกมัน รวมถึงตัวกูเองด้วย) ก็ต้องตายทั้งนั้น แต่ควายตายแล้วยังเหลือเขา(และหนัง)
ควายคนคนาเนาพ(ะ)บ่สุข(ะ)สำนาน
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย  หรือคนที่ทำงานหนักเหมือนควาย และผู้มาใหม่ (เนาพ=เนาว แปลว่า 9 และแปลว่าใหม่ก็ได้) ตอนนี้ก็อยู่รวมกันอย่างไม่มีความสุขมานานพอแล้ว
คนควายมลายยังศพ(ะ)ย่อมจะรำคาญ
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย หรือคนที่ทำงานหนักเหมือนควาย ตายแล้วศากศพย่อมมีกลิ่นเหม็นรำคาญ
คนควายมลายมานก็เสมอกะหมาแล ฯ
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือ คนที่โง่เหมือนควาย  หรือคนที่ทำงานหนักเหมือนควาย (คือตัวกูเอง) ตอนนี้คงต้องตายเหมือนหมา แล้วกระมัง

(ไม่ปรากฏวาระการพิมพ์ - รวมบทกวีนายผี)

คำฉันท์บทนี้เป็นฉันท์บทแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านในสมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา คำฉันท์บทนี้ผู้เขียนเองยังท่องจำได้ขึ้นใจ เรียกได้ว่าเพราะฉันท์บทนี้นี่เองทำให้ผู้เขียนหันมาสนใจกวีนิพนธ์

สาเหตุน่ะหรือ ก็เพราะอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็เลยอยากอ่านให้รู้เรื่อง อีกทั้งเห็นว่าคำที่ใช้ในคำฉันท์บทนี้ไพเราะจับใจเหลือเกิน (สมัยนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เป็น อินทรวิเชียรฉันท์ 11)

อีกทั้งมีความรู้สึกที่ว่าอยากที่จะแต่งอยากที่จะเขียนคำเพราะๆ แบบนี้ได้เองบ้าง  กระทั่ง เรียนถึงระดับชั้น มัธยมศึกษา ผู้เขียนพยายามเปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ดู ก็พอรู้ศัพท์บางศัพท์ แต่ก็ยังไม่รู้บริบทที่ฉันท์บทนี้พยายามที่จะสื่อ

สาเหตุเพราะในขณะนั้นผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาประวัติของคุณอัศนี พลจันทร (นามปากกานายผี) อย่างถ่องแท้ มาบัดนี้ข้าพเจ้าพอที่จะทราบประวัติของ คุณคุณอัศนี พลจันทร บ้าง เล็กน้อย จึงเริ่มแปล และพอที่จะเข้าใจเนื้อหาของอินทรวิเชียรฉันท์บทนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าถูกต้องเพียงใด เพราะนายผี ได้ล่วงลับไปแล้ว ไม่มีโอกาส อรรถาธิบาย วัตถุประสงค์ ในการแต่งฉันท์บทนี้ว่าต้องการสื่อถึงอะไร

ฉะนั้นการแปลฉันท์บทนี้จำต้องใช้การอนุมานจากคำประพันธ์ชนิดอื่นๆ ที่มีเนื้อหาสอดรับกัน มาใช้ในการวิเคราะห์เช่น วิเคราะห์จากเพลง คนล่าสัตว์ ที่นายผีได้ประพันธ์ไว้ความว่า

"อายุหกสิบห้าไม่มีอากาจะสะพาย มีแล้ก็แต่คาร์ไบน์ ถึงปืนไม่ร้ายแต่ใจยังจำ จับปืนขี้เมี่ยง มองเมียงมือคลำ ปังคะมำลงมา นัดหนึ่งคนหนึ่ง นิ้วตึงอกแตก เลือดทะลักชักแหลก แลกกับเลือดหกตุลา..คม ห้าขวบหย็อยๆอยู่หน้า หกสิบห้าเหย่าๆตามหลัง ทางภูดูยาวเหยียดหยัด ต้องการสมรรถพลัง สองขาพาไป จะปะอะไรก็ช่าง ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียงปืนยิงปังก้องพนา... เอ๋ย พนม ปัง ปัง ปัง.. ก้องพนา" ( เพลงคนล่าสัตว์ -  กินนร เพลินไพร )

ในท่อนที่ว่า "ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียงปืนยิงปังก้องพนา" นั้น มีผู้อรรถาธิบายว่า นายผีช่วงขณะนั้น ถูกลดทอนบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว ฉะนั้นเพลงนี้จึงซ่อนนัยยะทางการเมืองภายในพรรคฯไว้ ว่า การถูกลดบทบาทในพรรคฯ เปรียบเสมือนการหกล้ม ทว่าลูก ๆหลาน ๆ และผู้ศรัทธาในแนวความคิดของนายผี ยังไม่ล้มไปด้วย และ "ทางภูดูยาวเหยียดหยัด ต้องการสมรรถพลัง" หมายถึงอุดมการณ์แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ นั้นยังอีกยาวไกลต้องการสรรถกำลังของคนรุ่นใหม่เพื่อสานต่อ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เพลงคนล่าสัตว์ จึงเป็นเพลงต้องห้ามในพรรคฯ เช่นเดียวกับเพลงเดือนเพ็ญ ที่คนในพรรคมองว่า เมื่อนำมาขับร้องแล้วจะทำให้เกิดความคิดถึงบ้านไม่อยากสู้รบ  สำหรับผู้สนใจอ่านประวัตินายผีเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่เวป http://www.geocities.com/thaifreeman/pe/pe.html

เป็นที่ทราบดีว่า นายผีนั้น สามารถเลือกที่จะละทิ้งอุดมการณ์เดิม และหันมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้ หรือมิเช่นนั้นก็เลือกที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายในที่ๆ ไกลผู้คน ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ก็มิใช่เรื่องยากนัก แต่นายผีเลือกที่จะตายโดยมิละทิ้งอุดมการณ์เดิม ตายในประเทศที่มิใช่แผ่นดินเกิด นับว่าเป็นการตายแบบ คนมีเกียรติ ยิ่งนัก

การแปลฉันท์ ของนายผีบทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสดุดีนักรบแห่งประชาชน นั่นก็คือ นายผี หรือสหายไฟไหม้ฟ้า ผู้ประพันธ์เพลงเดือนเพ็ญ อีกทั้งเป็นการ โต้แย้งตอกย้ำ ความคิดมิจฉาทิฐฐิ ที่ว่า

"งานหลายเล่มที่เข้ารอบ(กวีซีไรต์) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลดกวีออกจากหอคอยขอบฟ้า และอัญเชิญลงมาจากหิ้ง เพราะจะสื่อให้เห็นว่าเราสามารถเขียนกวีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเกร็งและกลัว หลายคนจะรู้สึกว่ากวีมันต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ คนที่เขียนกวีต้องเป็นกวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็เลยมีความเกร็งและกลัวที่จะเสพที่จะสร้าง ถึงกับมีคำพูดว่า ถ้ากวีเดินผ่านมา นักเขียนจะต้องลุกขึ้นโค้งคำนับ วิธีคิดแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมและคนทั่วไปถอยห่างจากกวีมากขึ้น" (ไม่จิ๊ง ไม่จริง)


ข้าพเจ้าคิดว่า ความคิดเยี่ยงนี้เป็นความคิดที่ดูถูกศักยภาพของ เยาวชนรุ่นหลัง และเป็นแนวคิดที่เนรคุณต่อโบราณราชกวีเอามากๆ ที่เดียว อันว่าสิ่งที่ดีๆ ที่คนรุ่นก่อนๆ ริเริ่มไว้ดีแล้ว เราๆผู้เป็นอนุชนรุ่นหลัง ควรที่จะต่อยอด มิใช่ปล่อยให้เหี่ยวเฉาลงไปมิใช่หรือ

วันนี้และต่อไปในวันข้างหน้า ถ้ามีนักเรียนอนุบาลถามเราว่า กวีนิพนธ์ กับ ความเรียงต่างกันอย่างไร เราคงตอบลำบากเสียแล้ว เพราะกวีซีไรต์ เริ่มไร้ฉันทลักษณ์ จนดูเหมือนความเรียงเข้าไป ทุกทีๆ กวีนิพนธ์งานที่อ่านง่ายๆ บางทีเราก็ลืมง่ายๆ และไร้มนต์ขลัง เช่นกัน

ยกตัวอย่างผู้เขียนเองด้วยเพราะความเขลาจึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจแนวความคิดของนายผี เสียหลายปีดีดับ แต่ก็นับว่าเป็นการได้มาซึ่งสิ่งที่มีค่ายิ่งนัก ผู้เขียนคิดว่านี่คืออีกมนต์เสน่ห์หนึ่งของงานกวีนิพนธ์ที่เคร่งขรึม อันมีไว้เพื่อรับใช้มวลชนผู้ทุกข์ยาก ที่เราควรจะยกย่องให้เป็น แบบอย่างของ กวีซีไรต์ ในปัจจุบันกระมัง  

 

หมายเลขบันทึก: 168820เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านรอบแรกแล้วงง

อ่านรอบสองยังงงนิดหน่อย

อ่านรอบที่สามถึงจะเข้าใจ + แม่ช่วยอธิบายด้วยค่ะ

***แม่บอกยังดีนะไม่ใช่ "บังเต่าถุย"

  • สวัสดีจ้า น้อง ภาวิณีจ้า พี่ก็งงเหมือนกันพี่เขียนอะไรลงไป
  • ถ้าไม่เข้าใจตรงไหนโพสถามได้นะครับ
  • คุณแม่เก่งจัง...
  • ว่าแต่ บังเต่าถุยนี่ คืออะไรนะ ขอขำด้วยคน ไม่เข้าใจมุข

 

P

กวินทรากร

 

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์บังคับแต่งของบาลีประโยค ๘ (หลวงพี่ ยังสอบไม่ได้ เพียงแต่เคยหัดแต่งมาบ้างเท่านั้น 5 5 5) กำหนดบังคับว่า

  • คคล คคล ลคล ค

ค = ครุ (เสียงหนัก)

ล =  ลหุ (เสียงเบา)

= ปทันตครุ (สุดวรรค แม้เสียงเบาก็จัดเป็นครุ)

 

ในฉันท์บาลีก็เช่นในอภัยปริตว่า

  • ยันทุนนิ มิตตังอะ วะมังคะ ลัญจะ
  • โยจามะ นาโปสะ กุณัสสะ สัทโท
  • ......ฯลฯ......

..........

เมื่อเทียบกับฉันท์ไทยของนายผีที่อาจารย์ยกมา....

  • อ้าพ่อลำ เภาพักตระ พำนักพะ นาลี
  • อ้าพ่อรำ พึงพีิระ ยะภาพะ อันเพ็ญ
  • .........ฯลฯ........

 

ตามนัยนี้ อาจถือว่า สระอำ จัดเป็นลหุ จากคณะแรกของวรรคที่หนึ่งและที่สองคือ

  • อ้าพ่อลำ  (ลำ จัดเป็น ลหุ)
  • อ้าพ่อรำ  (รำ จัดเป็น ลหุ)

 

แต่คณะที่สามของวรรคแรก สระอำ กลับกลายมาเป็น ครุ คือ

  • พำนักพะ   (พำ จัดเป็น ครุ)

 

ประเด็นนี้ ทำให้ฉงนพอสมควร ซึ่งตามความเห็นส่วนตัว สระอำ ควรจะเป็น ครุ

............

อนึ่ง เฉพาะสองวรรคแรก หลวงพี่คิดว่า ถ้าแก้เป็น ลำ เป็น ละ ...และแก้  รำ เป็น ระ ก็น่าจะไพเราะกว่า กล่าวคือ

  • อ้าพ่อละ เภาพักตระ พำนักพะ นาลี
  • อ้าพ่อระ พึงพีระ ยะภาพะ อันเพ็ญ

 

 

ตามฉันท์ที่ยกมา ยังมีประเด็นวิจารณ์อีกบางจุด ซึ่งหลวงพี่ไม่ทราบว่าอาจารย์จะพลั้งเผลอลอกมา... หรือกวี (นายผี) ต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แต่หลวงพี่เข้าไม่ถึง...

อย่างไรก็ตาม หลวงพี่ไมเคยหัดแต่งฉันท์ไทย เคยหัดแต่งฉันท์บาลีนิดหน่อยเท่านั้น....

 เจริญพร

 

  • นมัสการพระคุณเจ้า P  BM.chaiwut
  • ยายของกระผมสวดมนต์บทนี้บ่อยๆ ผมจำได้ครับ พึ่งสังเกตว่าเป็น ฉันท์ 11  
    • ยันทุนนิ มิตตังอะ วะมังคะ ลัญจะ
    • โยจามะ นาโปสะ กุณัสสะ สัทโท
  • ประเด็นเรื่อง อำ นี้จำได้ลางเลือนเต็มที (สัญญาไม่เที่ยง) แต่จำได้ว่า อำ=อัม 
  • เสียง สระอำ เหมือนมี ม. สะกด  เป็นครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้ ไม่ค่อยมีเณฑ์ตายตัว
  • ขึ้นอยู่กับว่า สระอำ จะอยู่ตรงไหนของประโยค
  • เพราะคำครุบางคำเวลาพูดในประโยค เสียงก็กลายเป็นลหุได้ ขึ้นอยู่กับกระสวนเสียง ของแต่ละชาติ แต่ละท้องถิ่น (มีอ้างไว้ในหนังสือชื่อ ภาษาศาสตร์เบื้องต้น : ศ.ดร.อุดม วิโรตม์สิกขดิตถ์ อรรถาธิบาย เรื่องกระสวนเสียง/การออกเสียง  ) 
  • ในสมัยอยุธยา กวีแต่ง ฉันท์โดยยึดเสียงหนักเบาเป็นเกณฑ์ โดยอ่านออกเสียงแล้วใช้หูฟัง คำบางคำเป็นคำ ครุ แต่เมื่ออ่านออกเสียงทำนองเสนาะแล้ว เสียงแผ่วลงเป็น ลหุ ฉะนั้นฉันท์ ไทย กับฉันท์ของอินเดีย ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ของอินเดีย ยากกว่า
  • สมัย ร.6  ท่านทรงมีพระราชดำริให้ มีเกณฑ์ที่แน่ชัดในการแต่งฉันท์ จึงทรงให้ยึด รูปพยัญชนะ เป็นเกณฑ์ (สมัยโบราณยึดเสียงพยัญชนะเป็นเกณฑ์) ในการแต่งฉันท์ ฉะนั้นความไพเราะของคำฉันท์ ยุคหลังสมัย ร.6 จึงขาดความไพเราะลงไปมาก
  • สาเหตุเพราะคำลหุบางคำ เมื่ออยู่ในประโยค เวลาอ่านออกเสียงก็กลายเป็นเสียงครุไปก็มี
  • หากนำ อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ที่แต่งในสมัยอยุธยามาให้นักเรียนสมัยนี้ดู นักเรียนสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าเป็น กาพย์ยานี 11 แน่ๆ เพราะนักเรียนสมัยนี้ ถูกฝึกมาให้ดูรูปพยัญชนะเป็นเกณฑ์ในการแต่งฉันท์ ยกตัวอย่างเช่น สมุทรโฆษคำฉันท์

พระสมุทรโฆษรำพันถึงนางพินทุมดี

๏อ้าแม่ผู้มีหน้า...............คือศศิอันเรืองรอง
ราษตรีตระการสอง..........สุข(ะ)เล่นดีศรี

๏คิดเอวลำเภาเยา-...........พ(ะ)ดิพาล(ะ)พันลี
คิดนมกรรพุมนี-...............รช(ะ)รัตน(ะ)เรียมผจง

๏คิดคิ้วคำนวณนวย..........คือธนูอันก่งยง
ตรูตาตระบอก บง.............บมิแล้วและติดใจ

๏คิดท้องสร(ะ)แทบพาง......นพ(ะ)โรม(ะ)เรืองไร
คิดแก้มสร(ะ)แหล้มใส........และตระศักดิ์สมบูรณ์ปราง

๏บุญใดนี้โททำ..................และมานำไปสมนาง
บาปใดนี้หนอปาง...............มาบำราส งางาม

๏สุดท้าย เที่ยวหา...........ทุกตำบลนาราม
บ พบ ธูทราม..................รักษ(ะ)ท้าว นิราสา

  • คำตัวเขียว สันนิษฐานว่า โบราณท่านถือว่าเป็น คำลหุ ครับ
  • คือศศิอันเรืองรอง ถ้าสมัยนี้คำว่าคือ นั้นเป็น คำครุ ส่วน ศศิ เป็นลหุ แต่ คำฉันท์โบราณนี้ ยึดเสียงเป็นเกณฑ์ ลองอ่านออกเสียงก็จะพบว่า คำว่า "คือศ(ะ)"  เสียงเบากว่า ศิ และกระสวนเสียงถูกเน้นเสียงหนักที่คำว่า "ศิ"  ไปแผ่วเผาอีกทีที่คำว่า "อัน"
  • คำว่า ผจง = ปทันตครุ
  • คำว่า รัตน(ะ) ต้องอ่าน รัด-นะ เพื่อให้ได้คณะฉันท์
  • เทคนิคและลีลาแบบนี้นายผี เลียนแบบมาจาก ของโบราณ ครับ จึงทำให้ คำฉันท์ของนายผี มีลีลาแบบ อยุธยา ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท