บอกว่า ..ไม่ได้โป๊..


 

 

 

ข้าพเจ้าหัดเขียนกลอนกับเพื่อน และมีความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้าง  เพื่อนข้าพเจ้าผู้นี้ก็คือนาย ธนเชษฐ์ วิสัยจร (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุลราชธานี) ซึ่งได้แต่งกลอน เสียดสีสังคม เกี่ยวกับสิทธิสตรีว่าด้วยเรื่องการแต่งกาย ไว้ ความว่า

 

(ว่าง) เปล่าค่ะ...(ว่าง) เปล่าไม่ได้โป๊      หนูแค่โชว์ศิลปะสมัยใหม่
จะล่อนจ้อนทั้งตัวหนักหัวใคร                หนูต้องแคร์ทำไมถ้าได้ตังค์
จะเจริญก้าวหน้าเป็นอารยะ                  ต้องกราบตีนคารวะพวกฝรั่ง
ทิ้งวิถีไทยไทยให้ผุพัง                         เพราะล้าหลังล้าสมัยไม่ทันกิน
คือแบบอย่างของผู้หญิงสมัยใหม่          อย่าปล่อยให้สัตว์เพศผู้มันดูหมิ่น
มีรายได้ขาวใสไร้มลทิน                       ถ่ายภาพศิลป์สร้างสรรค์บันเทิงตา
คนเขาบ่นบอกหนูนี้ที่เป็นเหตุ                ยุพวกเปรตให้ข่มขืนและฉุดคร่า
เสียงผู้ใหญ่ตำหนิติติงมา                     สิทธ์ของหนูนี่หว่าอย่าแส่ติง
ทำโหวกเหวกโวยวายได้ตังค์ไหม         ประชาชนชาวไทยที่รักยิ่ง
เบื่อพวกคนอวดรู้ไม่รู้จริง                     นี่แหละสิทธิ์ผู้หญิงอย่าว่ากัน...?

 

ความคิดที่แสดงออก ไว้ในกลอนข้างต้น จัดเป็น  มิจฉาทิฏฐิ ประเภท อกิริยทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า กรรมไม่มีจริง ไม่มีผลของกรรม บาปที่มีการทำเช่นนั้นเช่นนี้ ย่อมไม่มีแก่เขา หรือมาถึงเขา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเช่นนี้ ย่อมไม่มีแก่เขา หรือมาถึงเขา เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติที่นำเรามาเกิดและเมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ดิ้นรนหากินกันไป ทำอะไรก็ได้ให้ตนสบายโดยไม่ต้องสนใจใครทั้งสิ้น เมื่อแก่ชราก็ตายไปตามธรรมชาติ

ผู้มีความเห็นผิดเช่นนี้จึงไม่กลัวบาป ไม่มีหิริโอตตัปปะ กล้าทำความชั่วได้ทุกอย่าง ผู้มีความเห็นผิดเช่นนี้เพราะเข้าใจผิดว่า ตัวตนมีอยู่ และถือมั่นในรูปในตัวตนนั้น  ส่งผลให้เกิดความเห็นผิดในเรื่องวัฒนธรรมการแต่งตัว ส่งผลกระทบต่อศีลธรรมของสังคม


แต่ถ้าวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้ง กลอน "(ว่าง) เปล่าค่ะ...(ว่าง) เปล่าไม่ได้โป๊" เป็นการใช้ โวหารที่เรียกว่า ปฏิพากย์ (Paradox)

ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น เลวบริสุทธิ์ สวยเป็นบ้า สนุกฉิบหาย สวรรค์บนดิน ยิ่งรีบยิ่งช้า

"(ว่าง) เปล่าค่ะ...(ว่าง) เปล่าไม่ได้โป๊"  ได้สื่อความหมายว่า แค่เปลือยร่างว่างเปล่าล้อนจ้อน แต่ไม่ได้โป๊ จึงเป็นคำพูดที่สวนกลับ หรือตรงกันข้าม เหตุเพราะ  เมื่อว่างเปล่าล่อนจ้อน  จะไม่เรียกว่าโป๊อย่างไรได้  อนึ่ง สารที่จะสื่อในกลอนบทนี้เป็นการสื่อความแบบประชดประชัน (Parody) มากกว่าที่จะพูดตรงไปตรงมา

ในภาษาแขก เรียกคนโป๊ หรือ ชีเปลือย ว่า  ทิคัมพร แปลว่า นุ่งฟ้า (นุ่งลมห่มฟ้า ก็คือแก้ผ้านั่นเอง ภายหลังเกิดความละอาย จึงนุ่งขาว ห่มขาว  แล้วเรียกตนเองว่า เศวตามพร )

คำ :  ทิคัมพร
เสียง :  ทิ-คำ-พอน
ที่มา :  (ป., ส. ทิคมฺพร ว่า นุ่งทิศห่มทิศ หมายความว่า ไม่นุ่งผ้า)
นิยาม :  ชื่อนิกายในลัทธิศาสนาเชนหรือเดียรถีย์นิครนถ์ซึ่งประพฤติตนเป็นคนเปลือย.

 

ชีเปลือย/ทิคัมพร คือพวกเดียรถีย์นิครนถ์ มีปรากฏในวาระพระบาลีใจ ความว่า

 

ครูทั้ง ๖ นั้น คือ ปูรณกัสสป(Purana Kassapa) เป็นครูคนที่ ๑ ในหนังสือ สุมัคลวิลาสินี ของพระพุทธโฆษาจารย์ ปราชญ์ผู้เรืองนามราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าวไว้ว่า

ปูรณกัสสป เกิดในตระกูลวรรณะพราหมณ์ แต่ต้องไปเป็นทาสเขา ตระกูลที่ปูรณกัสสป ไปเป็นทาสนั้น มีทาสอยู่แล้ว ๙๙ คน ครั้นได้ทาสมาอีกคนหนึ่งคนจึงครบ ๑๐๐ นายเงินจึงให้ชื่อว่าเจ้าปูรณะ เหตุว่าเต็มร้อย แล้วจึงเรียกตามโคตรว่า ปูรณกัสสป ครั้นอยู่นานมา  ปูรณกัสสปก็หนีจากนายเงิน ระหว่างทางได้พบโจร   โจรชิงเอาผ้านุ่งผ้าห่มไปเสียหมด  ปูรณกัสสป ก็เหลือแต่ตัวเปล่า เข้าไปสู่บ้านแห่งหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลายได้เห็นก็สำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ จึงพากันให้ข้าวน้ำและขนม  ปูรณกัสสป ก็ยกตัวเป็นศาสดา มีศิษย์นับถือมาก เป็นนักบวชไม่นุ่งผ้าท่านผู้นี้มีคำสอนที่ว่า "วิญญาณนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานอะไร แต่ร่างกายต่างหากทำงาน วิญญาณจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลบุญและบาปที่ร่างกายทำไว้และกล่าวว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ทำเองก็ดีให้ผู้อื่นทำก็ดี ย่อมไม่มีผล สิ่งใดก็ตามที่ได้ทำลงไปแล้วดีก็ตาม ชั่วก็ตามเท่ากับว่าไม่ได้ทำไม่มีบุญหรือบาปเกิดขึ้น ทฤษฎีนี้เรียกว่า อกิริยทิฏฐิ คือการกระทำที่ไม่มีผล หรือไม่เชื่อในผลของกรรม ซึ่งค้านกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่กล่าวว่า กายกับจิตเป็นสิ่งที่เนื่องถึงกัน แยกกันไม่ได้ ทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลกรรมเช่นนั้น

ครูคนที่ ๒ ชื่อ มักกขลิโคสาล (Magghalikosala) บุตรพราหมณ์มักขลิ มารดาชื่อภัททา ณ หมู่บ้านสาลวัน ใกล้เมืองสาวัตถี พระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า คำว่าโคสาละ แปลว่าผู้เกิดใน โคสาล/โคสาลา/โคศาลา/ศาลาเลี้ยงโค/คอกวัว สมัยเป็นเด็กเป็นคนรับใช้ วันหนึ่งเดินอุ้มหม้อน้ำมันไปตามถนน ด้วยความประมาทจึงลื่นล้ม ประกอบกับกลัวนายเงินจักทำโทษจึงลุกขึ้นวิ่งหนี นายเงินฉวยผ้านุ่งผ้าห่มไว้ จึงไปแต่ตัวเปล่า มาขลิ แปลว่า อย่าลื่น จึงใช้ชื่อว่า มักขลิ  ลัทธินี้ ไม่ยอมรับอาหารที่เขาเจาะจงถวาย ไม่รับอาหารขณะมีสุนัขอยู่ข้าง ๆ หรือแมลงวันตอมอยู่เพราะถือว่าเป็นการแย่งความสุขของผู้อื่นไม่รับประทานปลา เนื้อ ไม่ดื่มสุราและของมึนเมา ไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยามข้าวยากหมากแพง ลัทธิมีคำสอนว่า "สัตว์ทั้งหลาย ต้องฟื้นคืนชีพมาอีกไม่สูญหายไปจากโลกนี้และมีภพที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไม่ว่าภพชั้นต่ำหรือสูง สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย การกระทำไม่มี ผลของการกระทำไม่มีการกระทำที่เป็นเหตุเศร้าหมองไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความ บังเอิญและโชควาสนาและอำนาจของดวงดาว การกระทำทุกอย่างอยู่ภายใต้ชะตากรรม อำนาจของดวงดาวมีอำนาจเหนือสิ่งใดในพิภพ แม้แต่พระเจ้ายังตกอยู่ในอำนาจของโชคชะตา ด้วยคำสอนแบบนี้มักขลิโทศาลจึงจัดเข้าในเจ้าลัทธิ อเหตุกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นมาของมันเอง โดยมันเองและเพื่อมันเองไม่มีใครสร้างและปรุงแต่ง" แนวคำสอนนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาลัทธิทั้งหลาย ลัทธินี้สืบต่อกันมาไม่นานก็ขาดหายไป

ครูคนที่ ๓ ชื่อว่า นิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสดามหาวีระ (Mahavira) ก่อนพุทธกาลราว ๔๓ ปี นิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ (Mahavira) ก็ได้ก่อตั้งลัทธิศาสนาหนึ่งขึ้น ซึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า ศาสนาเชน นิครนถ์นาฏบุตร นับเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาครูทั้ง ๖ ตำนานกล่าวว่าเกิดที่กุณฑคาม เมืองไวสาลี แคว้นวัชชีของพวกเจ้าลิจฉวี ครูผู้นี้ได้ชื่อว่า นิครนถ์ เพราะเคยพูดเสมอๆ ว่า พวกข้าพเจ้าไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด พวกข้าพเจ้าขาดเครื่องร้อยรัดคือกิเลสเสียแล้ว กิเลสเครื่องร้อยรัดใน วาทะของเขานั้น ได้แก่ กิเลสเครื่องกังวล อันมีราคะเป็นต้น ซึ่งมีกังวลอยู่ในเรือนของเขาเป็นกิจ มีนา สวน บุตรภรรยา เป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า นาฏบุตร นั้น เพราะเป็นบุตรของนางระบำ ด้วยวาทะของเขานั้น ชนทั้งหลายก็นับถือว่าเป็นพระอรหันต์ ฯ บิดานามว่าสิทธัตถะหรือสิทธารถะ เป็นกษัตริย์ลิจฉวีพระองค์หนึ่ง มารดาชื่อว่าตฤศลา(นางระบำ) เนื่องจากเป็นคนกล้าหาญ จึงได้ชื่อว่า มหาวีระ แปลว่า มีความแกล้วกล้าอาจหาญ ครั้งออกบวชแสวงหาโมกขธรรม ๑๒ ปี จึงบรรลุโมกษะ เมื่อได้บรรลุแล้วจึงได้นามใหม่ว่า ชินะ อันหมายถึงผู้ชนะแล้ว ท่านเป็นศิษย์ท่านปาร์ศวา (Parsva) ซึ่งถือว่าเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๓ ผู้มีอายุห่างจากท่านมหาวีระเพียง ๒๕๐ ปีเท่านั้น คำว่า ศาสดาในศาสนาเชนเรียกว่า ตัรถังกร แปลว่า ผู้ถึงท่าคือนิพพาน โดยมหาวีระเป็นองค์ที่ ๒๔ ได้สั่งสอน อยู่ ๓๐ ปี จึงนิพพานหรือ นิรวาน (Nirvan) ก่อนพระบรมศาสดา อย่างไรก็ตาม มีสาวกของมหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตรเป็นจำนวนมากที่เปลี่ยนกลับมาเป็นพุทธ สาวกเชนนับเป็นศาสนาที่ถือหลักการไม่เบียดเบียน หรืออหิงสาอย่างเอกอุ และที่มีแนวคิดใกล้คียงกันกับพุทธศาสนา แม้แต่การสร้างพระพุทธรูป ถ้าดูอย่างผิวเผินก็ไม่เห็นความแตกต่างจากพระพุทธรูปเท่าใด ยกเว้นจะเปลือยกายและมีดอกจันทน์ที่หน้าอกเท่านั้น ลัทธินี้ไม่นุ่งผ้า แต่ในภายหลังมีสาวกบางกลุ่ม แยกออกมาเป็นอีกนิกายหนึ่งชื่อว่าลัทธิ เศวตามพร โดยหันมานุ่งขาวห่มขาว แทนการเปลือยกา

ครูคนที่ ๔ มีชื่อว่า สัญชัยเวลัฏฐบุตร (Sanjaya Velatthaputra) ได้ชื่อว่า สญชัยเพราะเป็นชื่อเดิม ที่เรียกกันว่า เวลัฏฐบุตร เพราะเป็นบุตรแห่งช่างจักสาน ได้ตั้งตนเป็นคณาจารย์สั่งสอนมหาชนว่า ตนเป็นพระอรหันต์ ชนทั้งหลายก็นับถือว่าเป็นพระอรหันต์ ฯ พระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรก็เคยอยู่กับท่าน เป็นเจ้าลัทธิของพวกปริพพาชก ตั้งสำนักเผยแพร่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ชาวมคธเป็นจำนวนมากต่างนับถือในเจ้าลัทธินี้ แต่เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองผละหนีไปพร้อมลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จึงกระอักเลือดจนถึงมรณกรรม ท่านสัญชัยมีแนวคำสอนกลับกลอก เอาแน่นอนไม่ได้ ไม่สามารถบัญญัติอะไรตายตัวอะไรออกไปได้ เพราะกลัวผิดบ้าง ไม่รู้บ้าง โดยคำสอนว่า "ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง โลกนี้โลกหน้าไม่มีจะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีทั้งสองอย่าง วิญญาณไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง" ทฤษฎีของท่านสัญชัยจึงฟังยากจะเอาแน่ เอานอนไม่ได้ พูดซัดส่ายเหมือนปลาไหล ใน กรตังคสูตร จึงกล่าวประณามว่า เป็นลัทธิคนตาบอด ไม่สามารถนำตนและผู้อื่นให้เข้าถึงความจริงได้ มีปัญญาทราม โง่เขลาไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่รู้จริงอย่างถ่องแท้

 

ครูคนที่ ๕ ชื่อว่า ปกุทธกัจจายนะ (Pakudha Kacchayana) ลัทธินี้ก่อตั้งโดยปกุธกัจจายนะ ผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ สมัยเด็กมีความสนใจทางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โตขึ้นจึงออกบวชแสวงหาโมกขธรรม จนบรรลุธรรมที่มุ่งหวัง แล้วสั่งสอนจนกลายเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ครูผู้นี้ถือว่า น้ำเย็นมีชีวิต ไม่กินไม่ใช้น้ำเย็น จะกินจะใช้ก็กินก็ใช้แต่น้ำร้อนและน้ำต้ม ถ้าไปในที่ใดก็ข้ามน้ำและเหยียบน้ำ ถือว่าศีลขาด จึงทำทรายให้เป็นกองขึ้นแล้วก็สมาทานศีลกับกองทรายแล้วจึงไป ซ้ำยังสอนว่า "สภาวะที่แยก หรือทำให้แปรเปลี่ยนไปไม่ได้อีก มี ๗ อย่างคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สุข ทุกข์ วิญญาณ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือใครเนรมิตร เป็นสภาพที่ยั่งยืนตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่อาจให้สุข ทุกข์ ผู้ฆ่า ผู้ถูกฆ่า บาปกรรมจากการฆ่าจึงไม่มี เป็นแต่เพียงสภาวะที่แทรกเข้าไปวัตถุทั้ง ๗ เท่านั้น" ความเห็นของปกุธกัจจายนะจึงจัดเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าโลกเที่ยง ซึ่งเป็นแนวคำสอนที่ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา ครูผู้นี้ชนทั้งหลายก็นับถือว่าเป็นพระอรหันต์ ฯ

ครูคนที่ ๖ ชื่อว่า อชิตะเกสกัมพล (Ajita kesakambala) คำว่า เกสกัมพล แปลว่า ผู้มีผ้านุ่งผ้าห่มที่ทำด้วยผม เป็นผ้าที่หยาบและน่าเกลียด มนุษย์ทั้งหลายได้เห็นก็สำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ จึงพากันให้ข้าวน้ำขนมของกิน มีแนวความคิดที่รุนแรงคัดค้านทุกลัทธิรวมทั้งพุทธศาสนา ลัทธินี้สอนว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างขาดสูญ ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีมารดา บิดา ทำอะไรก็สักว่าแต่ทำเท่านั้นการบูชาบวงสรวงก็ไร้ผล การเคารพนับถือผู้ควรเคารพก็ไร้ผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์ตายแล้วขาดสูญ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อตายแล้วก็จบที่ป่าช้า ไม่มีอะไรเกิดอีก บาปบุญคุณโทษไม่มี การทำบุญคือคนโง่ การแสวงหาความสุขจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความสุขที่ได้มาจาก การปล้นสะดมภ์ ย่องเบา เผาบ้านสังหารชีวิตก็ควรทำ" ลัทธินี้ หนักไปในทางวัตถุนิยมยิ่งกว่าลัทธิใด เป็นลักษณะ อุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่า ตายแล้วขาดสูญ

ชีเปลือยในเรื่องพระอภัยมณีคำกลอน ก็คือนักบวชในลัทธิ อชิตะเกสกัมพล ดังเช่นคำกลอนที่สุนทรภู่ ได้บรรยายไว้ ความว่า


ไม่นุ่งผ้า คากรอง ครองหนังเสือ        ประหลาดเหลือ โล่งโต้ง โม่งโค่งขัน
น่าเหียนราก ปากมี แต่ขี้ฟัน              กรนสนั่น นอนร่าย เหมือนป่ายปีน
เหตุไฉน ใยหนอ ไม่นุ่งผ้า                 จะเป็นบ้า ไปหรือ ว่าถือ
ศีล
หนวดถึงเข่า เคราถึงนม ผมถึงตีน      ฝรั่งจีน แขกไทย ก็ใช่ที


เพราะในกลอนบอกไว้ว่า หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน จึงตรงกับลัทธิ อชิตเกสกัมพล (ผู้มีผ้านุ่งผ้าห่มที่ทำด้วยผม)

ท่านสุนทรภู่  เขียนกลอนบทนี้ โดยเล่นคำที่ใช้เสียง   "อีน"   ซึ่งมีเพียงไม่กี่คำในภาษาไทย  ถือเป็นการสำแดงฝีมือในการเขียนกลอนโดยแท้ สำหรับกลอน "อีน" นี้ อัศนี พลจันทร (นายผี)  ก็เคยสำแดงฝีมือไว้ ความว่า

โอ้ลูกสาวแสนสวยใครนวยนาฏ              เผ่นผงาดงามสมตึงนมตั้ง
ผิว์พ่อแม่แลปลื้มลืมระวัง                       เป็นต้องนั่งน้ำตาตกคา
ตีน
พวกผู้ดีดูไปซิใจชั่ว                              ล้วนแต่ตัวตีหน้าข้าถือ
ศีล
พอลับตาบ้าร้ายเล่นป่ายปีน                   ฝรั่งจีนแขกไทยไม่ยั้งมัน

                                                          
                                                         อัศนี พลจันทร : เที่ยวงานฉลอง

 พระพุทธองค์  ได้ทรงตรัสเป็นอุทธาหณ์เกี่ยวกับลัทธิแห่ง ครูทั้ง ๖ ไว้ว่า  "คบคนพาลเป็นการพินาศทั้งโลกนี้และโลกหน้า คบปราชญ์ก็ให้ได้ความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า"  ฉะนั้นใครอยากที่จะพินาศในโลกนี้และโลกหน้า  ก็จงรีบแก้ผ้า และคบคนพาล ไว ๆ

 

สำหรับทางแก้เรื่องพฤติกรรมการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่นนั้น  สถานศึกษาควรเน้นการสอนในเรื่อง อสุภกรรมฐาน เพื่อทำให้เกิด นิพพิทาญาณ เบื่อการเวียนว่ายตายเกิด (พระอริยเจ้าทุกท่านต้องผ่าน อสุภะกรรมฐานทั้งสิ้น)

 

อสุภ(ะ) แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมความแล้วได้ความว่า อสุภกรรมฐาน คือการตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน

สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัดราคะจริต นั่นก็คือการค้นคว้าหาความ จริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่นิยมชมชอบกันว่าสวยสดงดงาม ที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงใหลใฝ่ฝัน ว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความ เป็นจริง เป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น

 

ท่าน ที่เคยบรรพชาอุปสมบท คงจะจำได้ว่า เวลาเข้าไปขอบรรพชากับพระอุปัชฌาย์นั้น ท่านจะให้ ท่อง “ตจปัญจกกรรมฐาน”ว่าโดย “อนุโลม” คือว่าไปตามลำดับก็เป็นดังนี้

 เกสา-โลมา-นะขา-ทันตา-ตะโจ

แล้วท่านก็ให้ว่าย้อนลำดับเป็น “ปฏิโลม” ดังนี้

ตะโจ-ทันตา-นะขา-โลมา-เกสา

ให้ว่ากลับไปกลับมา เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เพราะถ้าจิตไม่เป็นสมาธิก็จะว่าสับลำดับกันไปหมด อย่างนี้ท่านเรียกว่า “ตจปัญจกรรมฐาน” ทั้ง “อนุโลม” และ “ปฏิโลม

ตจปัญจกรรมฐาน นี้ใช้เพื่อฝึกจิตพิจารณา  กาย ของเราว่า ไม่เที่ยง ทั้ง เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) เป็นสิ่งไม่สะอาดต้องหมั่นขัดถู ถ้าไม่ขัดถู ก็จะมีกลิ่นเหม็น ไม่สวยงาม น่ารังเกียจ เสื่อมสลายได้ตามกาล ที่เรามักหลงไปว่า สวย ว่างาม นั้น เพราะจิตเราปรุงแต่ง เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว จิตเราก็จะคลายความกำหนัดในกามคุณ

 

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียน ก็ขอจบ ด้วยกลอนที่ผู้เขียนหัดแต่งไว้ในยุคแรกๆ  อันมีใจความว่า

สักวา สายเดี่ยว เกี่ยวเกาะอก             แสนวิตก วัยรุ่น วุ่นแสงสี
เห็นกงจักร ทักทะนง จงกลนี              ดวงชีวี นี้บรรลัย ไม่หวั่นกลัว
สถานที่ อโคจร ตะลอนหา                  ท่องเที่ยวครา ราตรี  สีสลัว
กามารมณ์ ชมชื่น มึนเมามัว               หลงรสชั่ว ว่าหวาน ซาบซ่านกาย
การศึกษา เล่าเรียน สะเอียนสะอิด       สิ่งเสพย์ติด ผิดระบอบ ลอบซื้อขาย
เรื่องอัปรีย์ ศีรษะ มิละอาย                  อิ่มอบาย- ะมุข ทุกทิวา
โบสถ์วิหาร การเปรียญ เจียนสุสาน      สมภารพาล นั้นมาก ยากรักษา
สังคมเสื่อม เหลื่อมล้ำ กรรมบีฑา         นรกา คงเสบย กว่าเคยเป็น
คนกระทำ กรรมชั่ว เลิกกลัวบาป         จริตหยาบ บาปหนา พาทุกข์เข็ญ
แสงพระธรรม นำใจ หายลำเค็ญ         ยังโลดเต้น ใยเห็นฝั่ง สังสารเอย

 

หมายเลขบันทึก: 170376เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2008 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีเจ้าค่ะ พี่กวิน

          อันบทกลอนแต่ละตอนแสนปวดหัว  

          เรื่องสตรีแต่งชุดยั่วยวนหนักหนา

          ทั้งเกาะอกสายเดี่ยวเกี่ยวอุรา

          ถ้าอย่างนั้น ก็แก้ผ้า ตามสบาย

          เกิดเป็นหญิง อย่างไทยต้องใสซื่อ

          ใช่ซื่อบื้อ นะพี่จ๋า อย่าสงสัย

         ต้องซื่อสัตย์ สะอาด ด้วยวินัย

        การแต่งกาย เรียบร้อย  ถ้อยจรรยา

         กลอนของพี่ ตลกดี คิดสร้างสรรค์

          อ่านแล้วมัน สมองโล่ง  แสนหรรษา

         ว่าแต่ว่า พี่กวิน  จ๊ะพี่ยา

          แต่งกลอนมา ว่าไม่โป๊ด อ่ะโก้ดี

  * คิคิ 55555++ น้องจิแวะมาแต่งกลอนมั่วๆ ด้วยเจ้าค่ะ ชอบๆๆๆ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับ

 

 ท่าน กวีน

  • แวะมาทักทายและขอบคุณครับที่แวะไปเยี่ยม
  • โป้กับศิลป์ แค่คำก็ต่างกันแล้วครับ
  • แต่คนก็เอาคำว่าโป้ไปข้าง ๆ คู ถู ๆ ไถ ๆ เพื่อไม่ให้คนอื่นด่าว่า อนาจาร คิดว่าจริงไหมครับ
  • ขอบคุณอีกรอบ
  • แล้วจะแวะเข้ามาใหม่ครับ ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับน้อง จิ กลอนเพราะดีครับ แต่งบ่อยๆ นะครับ จะได้เก่งๆ
  • สวัสดีครับท่าน..อาจารย์ ยงยุทธ   ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ  

สวัสดีค่ะ

สำหรับทางแก้เรื่องพฤติกรรมการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่นนั้น ทางแก้สถานศึกษาควรเน้นการสอนในเรื่อง อสุภกรรมฐาน เพื่อทำให้เกิดนิพพิทาญาณ เบื่อการเวียนว่ายตายเกิด (พระอริยเจ้าทุกท่านต้องผ่าน อสุภะกรรมฐานทั้งสิ้น)

- ให้สอนขนาดนี้เลยหรือคะ...เอวังค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณกวิน

  • เกือบแล้วเชียว เกือบไม่คลิ๊กเข้ามาอ่าน
  • บันทึกนี้ดีค่ะ ชอบ
  • ชอบคำกลอนเสียดสี ชอบเนื้อหาที่สอดคล้อง
  • ขอบคุณค่ะ

น้องนุ่งไม่สน สนแต่น้องไม่นุ่ง..อิ อิ....แวะมาแอบดูเช่นกัน...

สวัสดีครับท่านอาจารย์กวินทรากร

         ชอบตรง  การใช้ โวหารที่เรียกว่า ปฏิพากย์ (Paradox)

         ตามความคิดเห็นของผมเอง ผมว่าปฏิพากย์ป็นเรื่องดีที่สร้างสรรค์นะครับ ถ้าเราเข้าใจ

         แต่มันก็ยากเหมือนกันนะครับ ที่เราจะเข้าใจว่าเขาต้องการสื่อเป็นปฏิพากย์

         ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ปูรณกัสสป   มักกขลิโคสาล  นิครนถ์นาฏบุตร สญชัยเวลัฏฐบุตรปกุทธกัจจายนะ  อชิตะเกสกัมพล

   ลัทธิ ครูทั้ง 6 ที่เลื่องชื่อ มักจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพระพุทธเจ้าในสมัยพุทํกาล ผมได้ใช้ในการสอนเกพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตอน อยู่ในร่มกาสาวภัต (ดงขมิ้น) หลายปีมาแล้ว และเกือบลืมแล้วด้วย วันนี้ได้อ่าน เหมื่อนกับขัดเกลา ความรู้ เกือบขึ้นสนิม นั้น ให้แวววาว ขึ้น

  ผะญ๋า คนเมืองเหนือเปิ้นว่า  เสียมบ่าคมหื้อใส่ด้ามหนักๆ ความฮู้บ่านักหื้อหมั่นฮ่ำหมั่นเฮียน  ยินดีจ๊าดนักครับ คุณกวีนทราภร 

  • สวัสดีครับคุณพี่อาจารย์ พรรณา เอาหมาตายมาให้ รร. พิจารณา ก็ได้ครับ อิๆ แต่ต้องพิจารณาโดยมี โยนิโสมนสิการ นะครับ
  • สวัสดีครับคุณ  pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ] ขอบคุณครับคนอุบลบ้านเดียวกับอาจารย์ ธนเชษฐ์ เลยนะครับ อิๆ
  • สวัสดีครับคุณ วิลาวัณย์  จึ่ย พูดจากำกวม พาลให้คิด..ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ
  • สวัสดีครับท่าน อาจารย์วิชชา small man ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านนะครับ เรื่อง ปฏิพากย์ เป็นโวหารชนิดหนึ่งครับ คนอาจตีความผิดได้ ถ้าสื่อสารไม่ดี นะครับ เห็นด้วยครับ  
  • สวัสดีครับอาจารย์ มาณพศักดิ์ ครูข้างถนน ยินดีครับที่แวะเข้ามาอ่าน เรื่องครูทั้ง 6 ในปัจจุบันก็ยังสามารถนำไปสอนได้อีกนะครับ  เพราะลัทธิครูทั้งหก นั้นยังฝังลึกอยู่ใน จิตไทยของชาวพุทธ โดยไม่รู้ตัว ขอบคุณครับ

มาเยี่ยม..

เห็นภาพโยคี  ฤาษีหนุ่ม...นึกถึง..ถิ่นเคยอยู่..ในชมพูทวีป  มีให้เห็นเยอะเลยครับ 

ในศาสนาเชน  ...นักบวชนุ่งลมห่มฟ้าเลยครับ..

สวัสดีครับคุณพี่กวินทรากร

พี่ไปคอมเม้นต์ให้ผมหลายครั้งแล้ว ผมยังไม่เคยมาเยี่ยมบล็อกพี่เลย แย่ๆ

ผมอ่านไปหลายบันทึกแล้วครับ แต่ละอันนี่ต้องบอกว่าสุดๆ ถือเป็นตำราภาษาไทยได้เลยนะครับเนี่ย ข้อมูลแน่นปึ๊ก เผลอๆ คนในราชบัณฑิตเห็นแล้วยังอาย ...

ส่วนผมไม่มีความรู้ด้านภาษาไทยเชิงลึกแบบนี้ ไอ้เรื่องกาพย์กลอนก็ไม่ถนัดอะไรกับเขาเลยครับ จึงไม่สามารถมา "กวีวิวาทะ" กับพี่ได้ วันไหนเขียนเบาๆ เดี๋ยวเราเจอกันนะครับ อิอิ : )

  • สวัสดีครับอาจารย์อุทัย umi ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากไปอินเดียครับ คิดว่าคงได้ไปเร็วๆนี้ครับ แฮ่ะๆ 
  • สวัสดีครับอาจารย์ สุรกานต์ ต้นกล้า บทความที่เขียนส่วนมากก็จดๆจำๆมาจากหนังสือเกี่ยวกับภาษาที่ตัวเองสนใจ นะครับ เป็นการ ลปรร. ถ้ามีตรงไหนไม่ถูกสามารถติชม เสนอแนะได้นะครับ ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะค้าบ..

มีประโยชน์มากเลยค่ะ

"ลัทธิครูทั้งหก นั้นยังฝังลึกอยู่ใน จิตไทยของชาวพุทธ โดยไม่รู้ตัว"

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

พุทธะ = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่เข้าใจ 1. อิทัปปัจยา (รวมทั้งกระบวนกรรม) 2. ไตรลักษณ์ (รวมทั้งสุญญตา)

ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็เป็นพุทธครึ่งทาง? ไม่ผิด แต่ ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ผิด เพราะเราเชื่อว่าเราพัฒนาได้

มัทเข้าใจตรงกับคุณกวินมั้ยค่ะ

สวัสดีครับคุณ มัทนา ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมชม "ลัทธิครูทั้งหก นั้นยังฝังลึกอยู่ใน จิตไทยของชาวพุทธ โดยไม่รู้ตัว" พุทธะ = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คิดว่าน่าจะเข้าใจ คล้ายๆ กันล่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท