พายเถิดพ่ออย่ารั้งรอพาย


รูปตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด 


โคลงโลกนิติ

พายเถิดพ่ออย่ารั้ง          รอพาย
จวนตระวันจักสาย           ส่องฟ้า
ของสดสิ่งควรขาย          จักขาด ค่าแฮ
ตระหลาดเลิกแล้วอ้า        บ่นอื้อเอาใคร


โคลงโลกนิติบทนี้สอนอะไร?


โคลงโลกนิติบทนี้กล่าวถึง การกระทำสิ่งที่ถูกครรลองคลองธรรม อย่างถูกต้อง และถูกเวลา (Doing the right thing, Doing the thing right, at the right time.) พร้อมทั้งสอนว่า ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลย ซึ่งจะนำไปสู่การเสียผลประโยชน์จนสายเกินแก้

โคลงโลกนิติบทนี้มีลักษณะเป็น นามธรรม ผู้ประพันธ์โคลงโลกนิติบทนี้ จึงทำให้ นามธรรม เป็น รูปธรรม ขึ้นมาโดยใช้ โวหารภาพพจน์ (figure of speech) บรรยายความ

เมื่อผู้เขียนอ่านโคลงโลกนิติ บทนี้ เกิดมโนภาพ เห็นคุณยายแก่ๆ และหลานชาย กำลังพายเรือบรรทุกผักมุ่งหน้าไปยังตลาดสดในยามเช้าตรู่ ยายกำชับหลานชาย ขึ้นว่า "พายเถิดพ่ออย่ารั้งรอพาย" ถ้าพ่อไม่รีบพายเรือให้ถึงตลาดในเวลาเช้า ผักสดๆ ถูกแดดถูกลมเข้าก็จะไม่สด ถึงเวลาที่จะเอาออกขายเราก็จะขายไม่ได้ราคา และยิ่งถ้าเราไปถึงตลาดช้า ตลาดวายไม่มีลูกค้าเสียแล้ว ยายก็ไม่รู้ว่าจะบ่นอุทธรณ์เอากับกับผู้ใดได้

คุณยาย ที่ผู้เขียนกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ บุคคลวัต (Personification) ที่สร้างขึ้นมาจากนามธรรม

อนึ่งในชีวิตจริง คุณยาย ผู้คอยพร่ำย้ำเตือนเราให้กระทำแต่สิ่งที่ถูกครรลองคลองธรรม อย่างถูกต้อง และถูกเวลา ก็คือ จิตสำนึก (conscious) ของเรานั่นเอง

โคลงโลกนิติบทนี้สะท้อนวิถีชีวิตแบบไทยๆ ในอดีตที่พึ่งพิงอิงอาศัยแม่น้ำลำคลองในการสัญจรเดินทาง แม่น้ำซึ่งเปรียบเสมือนสายโลหิตใหญ่หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ในปัจจุบันการคมนาคมทางบกและทางอากาศมีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากกว่าการคมนาคมทางน้ำ ฉะนั้นการเดินทางโดยใช้เรือพาย จึงเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปโดยปริยาย

อันที่จริงการเดินทางโดยใช้เรือพายสัญจรไปตามแม่น้ำลำคลอง เป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรไร้ซึ่งมลภาวะ ทั้งยังเป็นการออกกำลังกายอีกทางหนึ่งด้วย ในสังคมปัจจุบัน รถยนต์คือพาหนะสำคัญที่ใช้ในการเดินทางบนท้องถนน แต่รถยนต์ก็ได้สร้างมลภาวะต่อโลก ถึงแม้นการเดินทางโดยรถยนต์จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ เพราะไม่ต้องเหนื่อยแรงเหมือนกับการพายเรือสามารถถึงที่หมายได้ด้วยความเร็วสูง แต่ก็เสี่ยงกับอุบัติเหตุบนท้องถนน

สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีรถยนต์วิ่งบนท้องถนนจนแน่นขจัด ปัญหาที่ตามมาก็คือ ปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ขยับเขยื้อนไปได้ที่ละคืบสองคืบ บางทีถ้าพายเรือไปยังจะเร็วซะกว่า คำว่า จราจร มาจากการสนธิ ระหว่างคำว่า จร+อจร

จร แปลว่าไป
อจร แปลว่า ไม่ไป
จราจร จึงแปลว่า ไปบ้างไม่ไปบ้าง

โลกของเราหมุนไปในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที แต่ละวินาที มีการพัฒนาขึ้นทุกๆ ด้าน ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะเดินทางโดยจักรกลเวลา (Time engine) ก็เป็นได้ ในทรรศนะของผู้เขียน เกี่ยวกับการพัฒนานั้น ต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในเชิงสร้างสรร ที่สำคัญก็คือมนุษย์ควรตระหนักรู้เกี่ยวกับการพึ่งพาตนเอง การพัฒนานั้นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

คำสำคัญ (Tags): #พาย
หมายเลขบันทึก: 172072เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2008 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาเยี่ยม ...

เป็นสื่อของความพยายามดีแท้ ๆ

สวัสดีครับพี่กวิน

ซึ้งมาก ๆ เลยครับ บรรยายเห็นภาพเลย

ได้ข้อคิดด้วย

ขอบคุณนะครับ ^^

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.อุทัย ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม จะพยามเขียนเรื่อยๆ นะครับ

สวัสดีครับน้อง เอก ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ

สวัสดีเจ้าค่ะ พี่กวิน

ทำอันใดพี่เจ้า ตอนนี้

อยากแต่งกลอนให้ดี เก่งกล้า

หนูนั้นอยากเป็นกวี เหมือนพี่ นั้นนา

พี่กวินสอนหนูน้า โปรดน้องสักคน

* แวะมาแต่งโคลงมั่งอ่ะ แต่อาจไม่เพราะนะค่ะ มาแต่งเล่นๆ คิคิ*

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----> น้องจิ ^_^

น้องจิน้องต้องเลือก.....หนังสือ-

จำพวกวรรณคดีถือ......ค่ำเช้า

แล้วมันจะซึมมือ........สู่สมอง เอย

เชื่อพี่รับรองเจ้า.........จะได้เป็นกวี

จร แปลว่าไป

อจร แปลว่า ไม่ไป

จราจร จึงแปลว่า ไปบ้างไม่ไปบ้าง

ก็เลยต้องหยุดดูไฟแดงกันใช่ไหมค่ะ

จราจรติดขัด แปลว่าไปบ้าง ไม่ไป นานแล้วนะเฟ้ย ....... รึเปล่า อิอิ

สวัสดีครับคุณแก่นจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท