ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป?


พุทธพจน์ ที่ว่า ยาทิสํ  ลภเต  พีชํ  ตาติสํ  ลภเต  ผลํ  หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น และ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ทำดี(ได้)ดี ปาปการี จ ปาปกํ. ทำชั่ว(ได้)ชั่ว อีกทั้งสำนวนที่ว่า  คนดีผีคุ้ม คงจะเป็นสำนวนที่ดูล้าสมัย และทำให้เกิดคำถามสำหรับผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันว่า กรรม มีจริงหรือ? ทำดีได้ดี จริงหรือ? (ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป?)

ผู้เขียนจำได้ว่า รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งออกอากาศทางช่อง ๕ พิธีกรในรายการ  ได้เรียนถามคำถาม ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป? นี้กับ ท่านพระมหาสมปอง ตาลปุตโต   ซึ่งพระอาจารย์ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ท่านได้ วิสัชชนาไว้อย่างแยบคายว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด อยากให้เข้าใจซะใหม่ว่า

ทำดี-ดี  ทำชั่ว-ชั่ว           (ตัดคำว่าได้ออกไป)
การทำดี   คนที่ทำก็จะดี   (แต่อาจจะยังไม่ได้รับผลดี)
การทำชั่ว คนที่ทำก็จะชั่ว (แต่อาจจะยังไม่ได้รับผลชั่ว)


ผู้เขียนได้ฟังคำ วิสัชนาการ ของท่านพระมหาสมปอง ตาลปุตโต   ก็ทำให้นึกถึงโคลงโลกนิติที่มีเนื้อหาอ้างอิงพุทธพจน์ ซึ่ง เทียบเคียง ได้ดังนี้

ยาทิสํ  ลภเต  พีชํ  ตาติสํ  ลภเต  ผลํ  หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น

โคลงโลกนิติ

ฟักเเฟงเเตงเต้าถั่ว        งายล
หว่านสิ่งใดให้ผล          สิ่งนั้น
ทำทานหว่านกุศล         ผลเพิ่ม พูนนา
ทำบาปบาปซั้นซั้น       ไล่เลี้ยวตามตน

กลฺยาณการี กลฺยาณํ  ทำดีได้ดี  ปาปการี  จ  ปาปกํ   ทำชั่วได้ชั่ว

โคลงโลกนิติ

ทำบุญบุญแต่งให้         เห็นผล
คือดั่งเงาตามตน          ติดแท้
ผู้ทำสิ่งอกุศล               กรรมติด ตามนา
ดุจจักรเกวียนเวียนแล้   ไล่ต้อนตีนโค


พุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการทำกรรมดี และ กรรมชั่ว ว่าเหมือนกับ การปลูกพืช  เหตุว่าพืชบางชนิดออกดอกออกผลเร็ว แต่พืชบางชนิดก็ออกดอกออกผลช้า  กรรมก็เช่นเดียวกันกับพืช กรรมบางอย่างออกดอกออกผลเร็ว  คือออกดอกออกผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม กรรมบางชนิดออกดอกออกผลช้า คือออกดอกออกผลในชาติหน้า เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมบางชนิดออกดอกออกผลในชาติต่อๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม ดังนั้นการที่คนชั่วทำความชั่วแต่กลับยังอยู่ดีมีสุขดี ก็เพราะกรรมชั่วยังไม่ออกดอกออกผล ด้วยเพระกรรมดีที่เขาเคยทำไว้ยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดก็ตามที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะออกดอกออกผลเป็น อุปฆาตกรรม ทำให้คนทำชั่วได้รับ ผลชั่วที่เขาได้ทำไว้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ไม่ชาติหน้าก็ชาติต่อๆไป อย่างแน่นอน

การที่โคลงโลกนิติ ได้อุปมาอุปไมยถึงความดี ความชั่ว ว่า เสมือนดั่งเงาติดตามตัว และอุปมาอุปไมยว่า คนทำกรรมดี กรรมชั่ว เสมือนดั่งโค กรรมดีกรรมชั่ว เสมือนดั่งล้อเกวียนซึ่งเทียมโคเอาไว้ฉันใด เมื่อโคก้าวเท้าเดิน  กงจักรแห่งล้อเกวียนก็จะเริ่มหมุน และย่อมหมุนไล่ตามรอยเท้าโคที่ออกเดินฉันนั้น

สำหรับ สำนวนที่ว่า คนดีผีคุ้ม นั้น ตามทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ผี ในสำนวน นดีผีคุ้ม เป็น บุคคลาธิษฐาน (Personification) แทน ความดี  เพราะความดีเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างหน้าตา โบราณจึงเปรียบเทียบ ไว้อย่างคมคายว่า คน(ทำ)ดีผีคุ้ม (ผีมองไม่เห็น แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าผีมีจริง) ผี นั้นมีทั้ง ผีที่ดี และผีที่ชั่ว เช่นเดียวกับกรรม ซึ่งย่อมมีทั้งกรรมดี และ กรรมชั่ว ทำดี หรือ ทำชั่ว ผีดี ผีชั่ว นั้นก็จะ คอยอยู่คุ้ม อยู่ครอง แก่ผู้ทำดี ทำชั่วนั้น นั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่องกรรมไว้ใน อภิณหปัจจเวกขณ์ (ข้อที่พึงพิจารณาเนืองๆ ๕ ประการ) ไว้ความว่า

กทฺทสฺสโกมหิ  กมฺมทายาโท  เรามีกรรมเป็นของๆตน  เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ เรามีกรรมเป็นแดนเกิด  เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์
กมฺมปฏิสรโน ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้
กลฺยาณํ วา ปาปกัง วา  เป็นกรรมดีก็ตาม  เป็นกรรมชั่วก็ตาม
ตสฺส  ทายาโท  ภวิสฺสามิ เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น



เมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้ ทั้งผู้เขียน-และผู้อ่าน ย่อมที่จะต้องเกิดคำถามที่ว่า เช่นนั้นแล้ว สิ่งใด เรียกว่า กรรมดี-กรรมชั่ว  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ ทำกรรมใดแล้ว ร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล 

หากพิจารณาจากพุทธพจน์ ย่อมพอจะอนุมาน (estimate) ได้ว่า กรรมดีชั่ว-กรรมชั่ว/บาป นั้นน่าจะมีรสหวาน น่าลิ้มลองพอๆกัน แต่ทว่าการกระทำ กรรมชั่ว/บาป นั้น เมื่อกระทำสำเร็จแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความร้อนใจ ความกระวนกระวายใจในภายหลัง อนึ่งในบทความ  มรรควิธีการบำบัดน้ำเสีย  อรรถกถาจารย์ท่าน มักจะใช้ เกลือ เป็นสัญลักษณ์ แทน วิบากกรรม (กรรมเก่า) การจะทำให้ ความเค็มของเกลือ ลดลง ก็ด้วยการนำน้ำใส (บริสุทธิ์) ใส่ลงในน้ำเกลือ เกลือย่อมเจือจางความเค็มลงได้ฉันใด การกระทำกรรมดียิ่งๆ ขึ้น (to increase good)  ก็จะสามารถบรรเทาความเข้มข้นของวิบากกรรมได้ฉันนั้น (จบ)



แรงบันดาลใจในการเขียนจาก ภาพปริศนา : สำนวนอะไรเอ่ย? @190529    โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ  (ตอนเขียนนึกถึง นักการเมืองฉ้อราษฎร์ ที่ยังอยู่ดีมีสุขครับ และนึกถึงวลีที่ว่า ยิ่งรวยยิ่งโกง คนดีก็เลย ต๊อแต๊...)

ปล. อ่านแล้วเริ่มรู้สึกว่าร้อนๆ กันบ้างหรือไม่หนอ (น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ ทำกรรมใดแล้ว ร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี) จึ๋ย..
หมายเลขบันทึก: 191336เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

สวัสดีค่ะ

* มารับธรรมยามเที่ยงค่ะ

โคลงโลกนิติ

ฟังเเฟงเเตงเต้าถั่ว งายล

หว่านสิ่งใดให้ผล สิ่งนั้น

ทำทานหว่านกุศล ผลเพิ่ม พูนนา

ทำบาปบาปซั้นซั้น ไล่เลี้ยวตามตน

* สุขสันต์รับดวงวันจันทร์นะคะ

ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว

มีลาบเสื่อมลาบ

มียศเสื่อมยศ

แต่ก็มิได้นำพา

  • ขอบคุณคุณพี่ อาจารย์ พรรณา ผิวเผือก มิตรรักอักษรา ที่ช่วยตรวจทานคำผิดให้ครับ ฟัก นี่ภาษาอังกฤษเป็นคำหยาบนะครับ ฮาๆเอิ๊กๆ ฟักแฟง......ขอบคุณที่ช่วยทักท้วงนะครับ แม๋ รูปสามเณรน้อยนอนห้อยต่องแต่งบนเถาวัลย์นี่ดูแล้วก็เป็นห่วงสามเณรท่านนะครับ กลัวจะตกเถาวัลย์ อาจารย์ไม่ต้องกลัวผมตกเถาวัลย์นะครับ ตอนนี้กำลัง ตัดๆ กิ่งเถาวัลย์ทิ้ง ...ฉับๆๆๆ
  • สวัสดีครับคุณพี่ ครูโย่ง ผมไม่ค่อยได้แวะไปเยี่ยมพี่ที่บลอกเลยรู้สึกเกรงใจจัง คิดถึงนะครับ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ  

ประเด็นว่า ทำดี - ดี ทำชั่ว - ชั่ว นี้ คิดว่าท่านมหาสมปอง น่าจะไม่ได้คิดเอง น่าจะเอามาจากบทปาฐกถาของท่านพุทธทาส ซึ่งมีมานานแล้ว... และความเห็นของท่านพุทธทาสประเด็นนี้  ก็เป็นที่รับรู้ทั่วไปในผู้ใคร่ในงานของท่าน... (อาจารย์ลองค้นหางานปาฐกถาของท่านพุทธทาสดู เจอแน่นอน)

สำหรับความเห็นส่วนตัว คิดว่าท่านพุทธทาสน่าจะพูดง่ายเกินไปเพราะไม่ถูกตามนัยแห่งหลักการแปลเบื้องต้นนัก...

อันที่จริงข้อความว่า ย่อมได้ผลดี หรือ ย่อมได้สาเหตุแห่งความดีี นั้น มิได้เป็นการแปลที่เพี้ยนไป เพียงแต่เราให้ความหมายของคำว่า ดี ต่างไปจากความหมายตามอุดมคติทางพระพุทธศาสนา...

สำหรับ ดี ผลดี หรือ สาเหตุแห่งความดี ในทางพระพุึทธศาสนานั้น หมายถึงบารมีธรรมที่ทำให้เข้าใกล้พระนิพพาน... ส่วน ชั่ว ผลชั่ว หรือ สาเหตุแห่งความชั่ว นั้น ก็คือนัยตรงข้ามจากวรรคแรก...

เจริญพร

  • นมัสการพระคุณเจ้า  BM.chaiwut 
  • ขอบพระคุณพระคุณเจ้าครับกระผมที่ช่วยชี้แนะ ว่าด้วยเรื่อง ปาฐกถาของท่านพุทธทาส ครับกระผม
  • รู้สึกขวยเขิน เหมือน นำมะพร้าว(นาฬิเก)ห้าว มาขายสวน(มะพร้าวนาฬิเก) 
  • มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลาง(ทะ)เลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลาง(ทะ)เลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้(ล้น)พ้นบุญเอย
  • พระอาจารย์ชี้แนะได้เข้าใจแจ่มแจ้งดีเหลือเกินครับ ว่าด้วยเรื่องคำแปล  (ทำดี)ย่อมได้ผลดี หรือ (ทำดี)ย่อมได้สาเหตุแห่งความดี
  • ขอบพระคุณพระอาจารย์มากๆ ครับ ที่ทำให้ความรู้ทางธรรม เจริญงอกงามขึ้นมากโข
  • บทความทางธรรมะนี้เสมือนเป็นการบ้านวิชาพุทธศาสน์ ส่งพระอาจารย์ตรวจทานนะขอรับ กระผม

สวัสดีค่ะ

* ตกลงจะฟักหรือฟัง....ครุพรรณาไม่ได้นึกไปโน่นหรอกนะ....ถ้าจะคิดแล้วฟังจะแปลว่าอะไร....เช่นภาษาลาวบางกลุ่มคำพูดเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน...เล่นเอาครูพรรณาหน้าม้านไปหลายตลบ...คำว่าหัวโค้ย....บ้านหนึ่งหมายถึงหัวเข่า..แต่อีกบ้านหนึ่งหมายถึงตาตุ่ม(ข้างเท้า)...ทั้งๆที่ก็มาเรียนโรงเรียนเดียวกัน

* พูดถึงฟัก...เมื่อปีก่อนไปหัดเรียนภาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร....แล้วครูฝรั่ง(นักภาษาศาสตร์)เขาก็พาไปเที่ยววัดป่าก์เลไลยก์...ข้างวัดก็มีร้านขายขนมมากมาย...อาจารย์ก็ให้นักเรียนนำชมแล้วถามเป็นคนๆ ไป...ถึงฟักเชื่อม...ท่านก็ถามครูพรรณา..ว่าชื่อหารชนิดใด...

* ตอบทันใจเลย...ภาษาไทยเรียกว่าฟักเชื่อม....อาจารย์ท่านทวนคำอยู่หลายหน...แล้วทำหน้าพิกล...

* ตอนนี้เรื่องที่เรียนก็ส่งคืนอาจารย์ไปแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

  • มาอ่านเรื่องดี ๆ อย่างนี้อ่านแล้วต้อง...ได้ดี..แน่เลย
  • ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ต้องสงสัย
  • แต่เรียน ๆ ไป...ไม่ตั้งใจให้ดี ๆ อาจได้..ดี (เกรด D) คราวนี้ไม่รู้จะโทษใคร....^_^...
  • มีความสุขในการสร้างสรรค์งานดี ๆ นะคะ
  • สวัสดครับคุณพี่อาจารย์ พรรณา ผิวเผือก เมเดๆ สัญญาณไม่ค่อยชัดเลยครับ เปลี่ยน
  • ฟัก ครั้น ชิต ดาม ฝรั่งเรียกถือว่าเป็นคำหยาบครับ  
  • ภาษาอีสานน่าสนใจจังครับ ถ้าเป็นไปได้อยากพูดภาษาอีสาน ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ให้ได้คล่องๆ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ทางด้านการค้นคว้าทางภาษามากๆเลยนะครับ
  •  สวัสดีครับ คนไม่มีราก  ขอให้ได้เกรด A นะครับ เดี๋ยว(พา)ไปเลี้ยงฉลอง..(น้ำอัดลมหนึ่งขวด) 
  • เป็นห่วงเรื่องเดียวก็คือ เรื่องที่คนไม่มีรากไป แอบสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยราชดำเนิน นะครับ กลัวสอบตกภาคปฏิบัติที่นั่นนะครับ :(

 

คุณกวิน

  • คนไม่มีรากไม่ดื่มน้ำอัดลมค่ะ..เลี้ยงอย่างอื่นแล้วกัน...^_^...
  • ได้ของดีมาจากคุณอุ๊ในอนุทิน...นำมาฝากคุณกวินค่ะ

Thought for Today:

"Watch your thoughts; they become words. Watch your words; they become actions. Watch your actions; they become habits. Watch your habits; they become character. Watch your character; it becomes your destiny.

  • เรื่องมหา'ลัย ราชดำเนินนั้น ไม่ต้องห่วงค่ะ สอบไม่ตกแน่นอน เพราะมีเวลาเมื่อไหร่ก็ไปเก็บหน่วยกิตภาคปฏิบัติได้ตลอดเวลา...^_^...
  • อ้อ..ตอนนี้ย้ายไปที่ สะพานชมัยมรุเชษฐ แล้วล่ะค่ะ

 

  •  คนไม่มีราก  ครับขอบคุณสำหรับคำคมภาษาอังกฤษนะครับ
  • "Watch your thoughts; they become words. Watch your words; they become actions. Watch your actions; they become habits. Watch your habits; they become character. Watch your character; it becomes your destiny.

  • แล้วคนที่สมองตายตั้งแต่ คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก อะไรกำหนดชะตากรรมของ เขาล่ะหนอ

  • รูปังอนิจจัง รูปังอนัตตา  แปลว่า รูปไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่เรามองเห็น คือโมเลกุลที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ถ้าเรามองเห็น หรือรู้ไม่เท่าทัน เราก็มองเห็นเป็นตัวฉันของฉัน ตัวเธอของเธอ ซึ่งมี character อย่างโน้นอย่างนี้

  • พุทธองค์ทรงตรัสว่า จิตฺเดน นียติ โลโก จิตฺเตน ปริกิสฺสติ จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู โลกที่เราอาสัยคือโลกโลกที่ถูกจิต(ความคิด)ของเราชักนำให้เป็นไปอย่างโน้นอย่างนี้ จิตความคิด) ย่อมเสือกไสให้โลกเป็นไปอย่างที่คิดที่ฝัน ที่หวัง ที่ต้องการ โลกทั้งหมดเป็นไปตาม อำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต

  • โอเค ถ้าว่างจะไปลงเรียนด้วยนะครับ มหาวิทยาลัยราชดำเนิน

เรามีกรรมเป็นของๆตน เราจักเป็นผู้รับผลของกรรม

เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้

เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม

เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น

...ใครจะชี้ถูกชี้ผิดของแต่ละคนได้ ....ต่างเต้นตามจังหวะกรรมของตนอยากบอกว่า..กำลังใช้มรรคาวิธีการบำบัดน้ำเสียเต็มกำลังความสามารถค่ะ  เมื่อถึงวันที่กายเนื้อแตกดับ  วิญญานก็ยังคงพอมีความสุขอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

  • สวัสดีครับพี่นุช nussa-udon 
  • ก็จริงครับ ใครจะชี้ถูกชี้ผิดของแต่ละคนได้ ....ต่างเต้นตามจังหวะกรรมของตน
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ สู้ๆ หาก กายเนื้อแตกดับแล้วเจอกันที่ ทิพยพิมานดาวดึงส์ นะครับ ฮาๆเอิ๊กๆ

สาธุ..ครูแอนก็เชื่อว่าทำดีต้องได้ดีสักวัน ผลที่เห็นขณะนั้น ก็คือความ สบายใจ ...คนดีผีดีคุ้ม  อย่าเจอผีไม่ดีเลย...จรึ๊ย!

  • นั่นสิ ครูแอน พูดน่าคิดเนอะ
  • ผีมาคุ้มก็ดีอยู่หรอก แต่อย่าเจอผีเลยจะดีที่สุด... 

สวัสดีครับ

  • ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยืนยันๆ ;) แถมยังมีผีมาคุม เอ๊ย คุ้ม ด้วย

ตามเก็บตก

  • โคลงโลนิติ
  • กลฺยา ณ การี กลฺยาณํ , ทำไมแยกไปอย่างนั้นก็ไม่ทราบ
  • จิตฺเดน, เกรงจะกลายเป็น เดนจิต ไป อิๆๆ
  • เสนอแนะ สะกดแบบไทย หรือแบบบาลี ก็น่าจะใช้แบบไหนสักอย่าง, ข้างบนใช้ "กลฺยาณการี กลฺยาณํ" มาข้างล่าง ใช้ "กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา" เกรงว่าญาติโยมจะเวียนหัวนะครับ ;)
  • สวัสดีคัรบอาจารย์ ธ.วั ช ชั ย
  • ขอบคุณครับ นึกอยู่เหมือนกัน พอดี ก๊อบมา ต่างกรรมต่างวาระกันน่ะครับ ฮาๆเอิ๊กๆ

ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว คงเป็นสัจธรรมค่ะ แต่ การทำดี คงต้องทำมากหน่อย จึงจะเห็นผลค่ะ..ไม่ท้อแท้ค่ะ

สวัสดีครับ น้องกวิน

        ขอป่วนยามเช้าก่อน....สุ (ทุ?) ภาษิตคนขี้เหล้าบอกว่า

         "รักดีกินถั่ว รักชั่วกินเหล้า รักทั้งดีทั้งชั่ว กินถั่วแกล้มเหล้า" (เอิ๊กๆๆ - เลียนแบบใครบางคนแถวๆ นี ;-))

        เข้าเรื่องครับ...เรื่องนี้อาจจะมองได้หลายระดับ ระดับปัจเจกดุเหมือนจะมีผู้รู้ว่าไปแล้ว

        พี่เลยขอชวนคิดในระดับสังคมดูบ้าง (ก่อนอื่นต้องบอกว่ ที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นการ 'ชวนคิด' คือนำเอาความคิดที่เคยได้รับฟังมาบ้าง คิดเองบ้าง มาปะติปะต่อกัน - ไม่ได้ปักใจเชื่อว่าเป็นอย่างนี้แน่ๆ อย่างไม่สงสัย)

        คำว่า "ผี" นี่ในความหมายหนึ่งเห็นนักมานุษยวิทยาบางคนตีฟาม เอ้ย! ตีความว่าหมายถึง กฎ ระเบียบ ค่านิยม วัตรปฏิบัติ ข้อห้าม (taboo) ฯลฯ ของสังคม

        หากสังคมที่เราอยู่ยึดถือว่า การกระทำหรือพฤติกรรมหนึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หรือถึงกับขนาดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ หากเราสิ่งนั้น เราก็ทำดี และได้ดีด้วย เพราะ "ผี" (สังคม) เห็นดีเห็นงาม

        แต่ถ้าทำในสิ่งที่ขัดกับ "ผี" (กฎ ระเบียบ ค่านิยม วัตรปฏิบัติ ข้อห้าม ฯลฯ) สังคมก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับในทำนองไม่เห็นด้วย และถ้าขัดมากๆ ก็ถึงกับลงโทษได้ (โดนผีหลอก)

        แต่ทีนี้หากคนในสังคมจำนวนมากตั้งมาตรฐานไว้ต่ำ เช่น เฮ้ย! มันจะโกงนิดหน่อยแค่ 1-2 แสนล้าน แต่ทำงาน ดีกว่าพวกที่โกงเหมือนกัน แม้จะโกงน้อย แต่ใส่เกียร์ว่าง....อย่างนี้ก็มีปัญหาแน่ครับ

        ส่วนเรื่อง "พ้นดี พ้นชั่ว" นี่ ก็น่าคิดเหมือนกัน แต่อาจเป็นอีกระดับหนึ่ง ที่มองแบบกลางๆ เป็นธรรมชาติว่า มันเป็นเช่นนั้นเพราะมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้น

        เอ่อ...ถ้าอ่านแล้วรู้เรื่อง แสดงว่าพี่ยังปกติอยู่ แต่ถ้าอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง แสดงว่า พี่น่าจะเป็นนักปรัชญาได้ครับ ;-)

ปล. ที่บ้านพี่ไม่มีใครไปเข้าเรียนที่ ม.ราชดำเนิน แต่เรียนทางไกล (ผ่าน ASTV) ทุกวันเลย แถมยังจ่ายค่าเรียน (บริจาค) ไปแล้วอีกตะหาก...เอิ๊กๆๆๆ 

  • สวัสดีครับคุณพี่  Sasinanda การปลูกต้นไม้แล้วยังไม่เห็นต้นไม้ออกดอกออกผล บางทีก็นำมาสู่ความท้อแท้นะครับ แต่ถ้าเรารักที่ปลูกความดี แล้ว เราก็ต้องมีความอดทนและมีความพยามนะครับนึกถึงพุทธพจน์ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ. คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร (ทำความดี) (ขุ.สุ. ๒๕/๓๖๑.) (คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร สมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ เคยนำไปใช้เป็นหัวข้อการประกวด กล่าวสุนทรพจน์ ผมยังลงสมัครประกวดกล่าวสุนทรพจน์กับเขาเลย แต่บ่ได้รางวัล ฮาๆเอิ๊กๆ)

 

  • สวัสดีครับท่าน ดร.บัญชา (พี่ชิว)
  • บทความที่พี่คอมเมนท์ไว้ สามารถนำไปลงคอลัมน์หนังสือพิมพ์การเมืองได้เลยนะครับ อ่านแล้ว สนุกและแฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ลึกล้ำ
  • ตามที่พี่ชิวเสนอทรรศนะว่า คำว่า "ผี" นี่ในความหมายหนึ่งเห็นนักมานุษยวิทยาบางคนตีฟาม เอ้ย! ตีความว่าหมายถึง กฎ ระเบียบ ค่านิยม วัตรปฏิบัติ ข้อห้าม (taboo)
  • ทำให้นึกถึง โคลงที่เชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ แต่งเอาไว้เมื่อครั้งต้องพระราชอาญา ถูกลงโทษให้ขุดดินโกยเลน พระสนมนางใน  พากันมาหัวเราะเยาะ ศรีปราชญ์จึงเอาโคลนและเลนสาดใส่ ส่งผลให้ศรีปราชญ์ถูกคุมตัวไปศาล ศรีปราชญ์ ให้การกับ ตุลาการ ด้วยโคลง ความว่า

 

ผิดผีผียั้งละ                  ลาเพ
ผิดพระราชโปเร            จะล้าง
เหนื่อยนักพักพอเท-       ถูกแม่ กระมังนา
ในพระราชกฤษฎีกาอ้าง  ท่านไว้ ยังไฉน

 

  • ศรีปราชญ์ เปรียบเทียบการกระทำที่ผิดผี ผียังให้อภัย(เช่น ความเชื่อที่ว่า ผู้ชายหากล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นการกระทำที่ ผิดผี ต้องทำพิธีแต่งงานกัน ผี จึงจะให้อภัย)
  • ศรีปราชญ์เผลอพลั้งกระทำผิด  โบราณราชประเพณี (กระทำการล่วงเกินพระสนมนางในโดนการโสดโคลนเปื้อนพวกนาง) ก็จะคิด (ฆ่า)ล้าง กันเจียวหรือ
  • ในกฎหมาย (พระราชกฤษฎีกา) บัญญัติไว้ว่า คนเดินให้หลีกคนแบกหาม ศรีปราชญ์แบกหาม ถังใส่โคลน หนักอึ้งอยู่ แต่พวกพระสนมนางใน ไม่หลบหลีก ศรีปราชญ์ ซ้ำยืนหัวเราะเยาะเย้ย ศรีปราชญ์ซึ่งกำลังเดินแบกถังใส่โคลนอันหนักอึ้งมานั้น ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ศรีปราชญ์จึงเผลอพลั้งทำโคลนในถังหกเทเลอะเทอะเปื้อนกายพระสนมนางใน เหล่านั้น
  • เมื่อ้างถึง พระราชกฤษฎีกาที่ บัญญัติไว้ว่า คนเดินให้หลีกคนแบกหาม ฉะนี้แล้วหากจะถือเป็นความผิดของศรีปราชญ์ จึงไม่ถูกต้องนัก
  • นี่คือเนื้อหาในโคลงที่ศรีปราชญ์ยกการกระทำที่ผิดกฎหมาย มาเทียบกับการกระทำที่ ผิดผี ครับกระผม
  • แต่ปัจจุบันนักวิชาการทางภาษาเชื่อว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนและไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์โคลง กำสรวลศรีปราชญ์  นะครับฮาๆเอิ๊กๆ  

สวัสดียามบ่ายครับ กวิน

         พี่ว่าเรื่องผีๆ นี่ชักจะยาว สงสัยต้องเอาไปไว้ในบันทึกใหม่ละกระมัง :-P  ไว้จะหาโอกาสมาต่อยอดใหม่อีกทีครับ

ปล. อีก 300 ปีข้างหน้า อาจมีนักประวัติศาสตร์ในอนาคตบอกว่า

        "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ไม่มีตัวตนจริง

        และไม่ได้แต่งหนังสือ "คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์"

       คงจะมีการถกเถียงกันมัน (ส์) ล่ะครับ...เอิ๊กๆๆ      

  • สวัสดีครับท่าน ดร.บัญชา (พี่ชิว)
  •   อีก 300 ปีข้างหน้า อาจมีนักประวัติศาสตร์ในอนาคตบอกว่า"สุจิตต์ วงษ์เทศ" ไม่มีตัวตนจริงและไม่ได้แต่งหนังสือ "คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์"
  • มุขนี้ฮามากๆ ครับ

  •  ฮาๆเอิ๊กๆ

  • พี่ชิว เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นนักปรัชญา(ทางการเมือง) ด้วยนะครับเพราะลงเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมนี่เอง ( ASTV)

สวัสดีค่ะ

อนุโมทนา สำหรับบทความดีๆค่ะ

แต่ก็ยังเชื่อว่า " ทำดีต้องได้ดี"  อยู่นะค่ะ :)

ขอบคุณอาจารย์  orawan (Dhamma) ครับ :)

คนดีดีแต่สร้าง กรรมศรี

สร้างสิ่งชั่วสักที อาจพลั้ง

คนชั่วชั่วนานปี กรรมแย่

สร้างสิ่งดีสักครั้ง แน่แท้หลอกลวง

ปลายดีแต่กกไม้-          โค้งคด
ท่านเปรียบคนชั่วปลด-  ชั่วทิ้ง
กกตรงแต่ปลายลด-       เลี้ยวกิ่ง
ท่านเปรียบคนดี พริ้ง-    เพริศแล้วเลวทราม


กกตรงปลายคด
กกคดปลายตรง
กกตรงปลายตรง
กกไม่ตรงปบายไม่ตรง

จะเป็นแบบไหนดีครับคุณ ไข่มุกราณี

เราจะเป็นแบบไหนดีครับคุณ ไข่มุกราณี? ติดใจที่คุณ 'ราณี แต่งโคลงเอาไว้ว่า คนชั่วชั่วนานปีกรรมแย่ สร้างสิ่งดีสักครั้งแน่แท้หลอกลวง (นึกถึง องคุลีมาลย์ แน่นอนว่าเมื่อละชั่วได้แล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่อง ของการสร้างภาพ/หลอกลวงเสมอไป) พุทธองค์ท่านว่า ถึงอดีตจะคด/เลว มาอย่างไร แต่ถ้าปลายตรง ก็ยังถือว่า ดี ผิดกับคนที่ทำดีมาเสมอๆ ในบั้นปลายชีวิต จะมาทำตัวคดๆ งอๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ (ทางแก้ ไม่อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ถ้าจะดัดต้องใช้ไฟลนให้ร้อนแล้วดัด) สุนทรภู่สอนเอาไว้ว่าการจะดูคนว่า ดีหรือไม่ดี(ตรง/คด) นั้นดูยากเพราะ "ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท