(พระ)สูตรของเว่ยหล่าง โดย พุทธทาสภิกขุ


Essence of Mind


ภาพปก หนังสือ (พระ)สูตรของเว่ยหล่าง แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษโดย  มร.ว่อง มู ล่ำ แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย (ในภาคต้น) โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) : ในภาพเว่ยหล่างกำลังฉีกตำราทิ้งกระจุยกระจาย สื่อปริศนาธรรมพุทธศาสนานิกายเซ็น ว่ามิให้ยึดติดกับตำรา) ที่มาของภาพ http://www.welovebook.com/BookImg/5/5770/5770_1.jpg



ณ ประเทศจีน ในขณะที่สังฆปริณายกองค์ที่ ๕ กำลังเผยแผ่ศาสนาอยู่ มีเด็กหนุ่มกำพร้าพ่อคนหนึ่งชื่อ "เว่ยหล่าง"  (หรือฮุยเล้ง หรือ ฮุยเหน็ง: ญี่ปุ่นเรียก อีโน หรือเยโน ค.ศ.๖๓๘-๗๑๓) มีอาชีพตัดฟืนขายเลี้ยงมารดาผู้ชราที่ตำบลชุนเชา มณฑลกวางตุ้ง ภาคใต้ของจีน

เว่ยหล่างได้ยินอุบาสกคนหนึ่งสวด วัชรปารมิตาสูตร (The Perfection of Wisdom Sutras) ซึ่งหมายถึงพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องความสมบูรณ์ของปัญญา ในทางภาคภาษาจีนนั้นใช้คำว่า 大般若波羅蜜經 (ต้าป้อเร่อปอหลอมี่จิง) หรือ 般若經 (ป้อเร่อจิง) หรือ 摩訶般若波羅蜜經 (หม้อฮ้อป้อเร่อปอหลอมี่จิง)

大 (ต้า) หรือ 摩訶 (หม้อฮ้อ) = ความยิ่งใหญ่ ไร้ขอบเขต

般若 (ป้อเร่อ) = ปรัชญา/ปัญญา 

波羅(ปอหลอ) =  ปารํ (ปารัง) ฝั่ง หรือ ปาระ ให้สำเร็จแก่การงาน อรรถาธิบายว่า คือการข้ามไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพานได้สำเร็จ

羅蜜 (หลอมี่) = มิตา อันมิมีที่สิ้นสุด หรืออาจจะคำว่า ปอหลอ มารวมกับ หลอมี่ ก็ได้เป็น
波羅蜜 (ปอหลอมี่) = ปารมีตา/ปารมี/ปารม/ปรม(ะ)/บรม/บารมี ซึ่งทางภาษาบาลีกล่าวว่า ชื่อว่า ปารมี มีความหมายว่า  ปรม(ะ) เพราะเป็นผู้รักษาและทำให้เต็ม 

經 (จิง) =การเรียนขามชื่อหนังสือด้วยความเคารพ ในที่นี้คือ พระสูตร คัมภีร์ต่างๆ ของพระพุทธศาสนา แปลตามตัวอักษรจีนมีความหมายแปลว่า เส้นดาย ซึ่งตรงกับภาษาบาลีที่เรียกว่า สุตฺต (สูตร) (สุจ คติยํ+ต) ซึ่งแปลว่าเส้นด้าย เช่นเดียวกัน อรรถาธิบายว่า ร้อยรัดรวบรวมไว้ซึ่งพุทธวจนะ  (อ้างอิงจาก  community.buddhayan.com)


เว่ยหล่างได้ยินอุบาสกคนหนึ่งสวด วัชรปารมิตาสูตร พอได้ยินเท่านั้น ก็เกิดขนลุกชูชัน เกิดศรัทธาอยากจะศึกษาธรรมะเหลือเกิน แต่ติดขัดที่ไม่มีใครดูแลมารดา จึงรออยู่พักหนึ่งจนในที่สุดมีผู้ให้เงิน ๑๐ ตำลึง เพื่อมอบให้มารดาใช้สอยขณะเขาไม่อยู่ เว่ยหล่างจึงเดินทางไปเมืองวองมุย ใช้เวลาเดินทางถึง ๑ เดือน พอไปถึงก็เข้าไปนมัสการท่าน หวางยั่น พระสังฆปริณายกองค์ที่ ๕ เพื่อขอเรียนธรรมะด้วย

"เธอมาจากไหน" ท่านอาจารย์ถาม
"มาจากปักษ์ใต้ครับ"
"คนทางใต้เป็นคนป่าคนดง จะหวังเป็นพุทธะได้อย่างไร"
"คนอาจจะมาจากภาคเหนือภาคใต้ แต่พุทธภาวะไม่มีเหนือไม่มีใต้ มิใช่หรือครับ" เด็กหนุ่มย้อน


ท่านสังฆปริณายกรู้ทันทีว่าเด็กหนุ่มบ้านอกคนนี้ ได้รู้สัจธรรมระดับหนึ่งแล้วแต่เพื่อมิให้เป็นภัยแก่เขา จึงแสร้งดุให้เขาเงียบเสียง แล้วให้ไปช่วยทำงานในครัว

วันหนึ่งท่านอาจารย์เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้แต่ละคนเขียน "โศลก" บรรยายธรรมคนละบทเพื่อทดสอบภูมิธรรม "ชินเชา (ชินชิ่ว)" หัวหน้าศิษย์ เป็นผู้ที่ใคร ๆ ยกย่องว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งกว่าคนอื่น และมีหวังจะได้รับมอบบาตรและจีวรจากท่านอาจารย์แน่ ๆ ได้แต่งโศลกบทหนึ่ง เขียนไว้ที่ผนังว่า


"กาย คือต้นโพธิ์
ใจ คือกระจกเงาใส
จงหมั่นเช็ดถูเป็นนิตย์
อย่าปล่อยให้ฝุ่นละอองจับ"



ท่านอาจารย์อ่านโศลกของชินเชาแล้ว ชมเชยต่อหน้าศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ่ง (แต่ตอนกลางคืนเรียกเธอเข้าไปพบตามลำพังบอกว่าชินเชา "ยังไม่ถึง" ให้พยายามต่อไป) เว่ยหล่างได้ฟังโศลกของหัวหน้าศิษย์แล้ว มีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่า ผู้แต่โศลกยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง จึงแต่โศลกแก้ เสร็จแล้ววานให้เพื่อนช่วยเขียนให้ เพราะเว่ยหล่างอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ โศลกบทนั้นมีความว่า


"เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร"



ท่านอาจารย์รู้ทันทีว่า ผู้เขียนโศลกเป็นผู้เข้าถึงสัจธรรมสูงสุดแล้ว จึงถามใครเป็นคนแต่ง พอทราบว่าเว่ยหล่างเด็กบ้านนอกแต่ง จึงสั่งให้ลบทิ้ง พร้อมดุด่าต่อหน้าศิษย์อื่นๆ ว่า หนังสือยังอ่านไม่ออกสะเออะจะมาเขียนโศลก แต่พอคล้อยหลังศิษย์อื่น ท่านอาจารย์เรียกเว่ยหล่างเข้าพบมอบบาตรและจีวรให้ (มอบตำแหน่ง) แล้วสั่งให้รีบหนีไปกลางดึก

โศลกของเว่ยหล่าง ซึ่งสอดคล้องกับ วัชรปารมิตาสูตร (มหายาน) ที่ว่า


"เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร" นั้น


ตรงกับบทสวด ทำวัตร เช้า ที่ชื่อ สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ (เถรวาท) ความว่า

อิธะ ตะถาคะโต โลเก อุปปันโน อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ,ธัมโม จะ เทสิโต นิยยานิโก อุปะสะมิโก ปะรินิพพานิโก สัมโพธะคามี สุคะตัปปะเวทิโต, มะยันตัง ธัมมัง สุตวา เอวัง ชานามะ, ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง, โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา, อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง, สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา, เสยยะถีทัง, รูปูปาทานักขันโธ, เวทะนูปาทานักขันโธ, สัญญูปาทานักขันโธ, สังขารูปาทานักขันโธ, วิญญาณูปาทานักขันโธ, เยสัง ปะริญญายะ, ธะระมาโน โส ภะคะวา, เอวัง พะหุลัง สาวะเก วิเนติ, เอวัง ภาคา จะ ปะนัสสะ ภะคะวะโต สาวะเกสุ อะนุสาสะนี พะหุลา ปะวัตตะติ,

" รูปัง อะนิจจัง, เวทะนา อะนิจจา, สัญญา อะนิจจา, สังขารา อะนิจจา, วิญญาณัง อะนิจจา, รูปัง อะนัตตา, เวทะนา อนัตตา, สัญญา อะนัตตา, สังขารา อะนัตตา, วิญญาณัง อะนัตตา, สัพเพ สังขารา อะนิจจา, สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ, "

เต มะยัง โอติณณามะหะ ชาติยา ชะรามะระเณนะ, โสเกหิ ปะริเทเวหิ ทุกเขหิ โทมะนัสเสหิ อุปายาเสหิ, ทุกโขติณณา ทุกขะปะเรตา, อัปเปวะนามิมัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยา ปัญญาเยถาติ, จิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ อะระหันตัง สัมมาสัมพุทธัง,สัทธา อะคารัสมา อะนะคาริยัง ปัพพะชิตา, ตัสมิง ภะคะวะติ พรัหมะจะริยัง จะรามะ, ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันนา, ตังโน พรัหมะจะริยัง อิมัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยายะ สังวัตตะตูติฯ

ต่อไปนี้เป็นคำแปลของ "สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ"


พระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง และพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ เป็นเครื่องสงบกิเลส เป็นไปเพื่อปรินิพพาน เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นธรรมที่พระสุคตประกาศ พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้รู้อย่างนี้ว่า:- แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ:-ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ เพื่อให้สาวกกำหนดรอบรู้อุปาทานขันธ์เหล่านี้เอง จึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมทรงแนะนำสาวกทั้งหลายเช่นนี้เป็นส่วนมาก อนึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลายส่วนมาก มีส่วนในการจำแนกอย่างนี้ว่า:-


"รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนดังนี้"


พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้ว โดยความเกิด โดยความแก่ และความตาย โดยความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้? เราทั้งหลายผู้ถึงแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปรินิพพานนานแล้วพระองค์นั้นเป็นสรณะ ถึงพระธรรมด้วย ถึงพระสงฆ์ด้วย จักทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่ ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตามสติกำลัง ขอให้ความปฏิบัตินั้นๆของเราทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นเทอญ (อ้างอิงจาก http://www.jarun.org)

ดังนั้น โศลกของเว่ยหล่างที่ว่า


"เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร
"

จึงตรงกับ สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ วรรคที่ว่า

"รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนดังนี้"

(ภาวะนิพพาน เที่ยง แต่ไม่ใช่ตัวตน)


ในลิลิตพระลอ กวีกล่าวไว้ว่า

๒๑๕ สิ่งใดในโลกล้วน         อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง                 เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง                  ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้               ก่อเกื้อรักษา ฯ


-ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยงแท้จีรัง (ตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
-แต่บุญและบาป นั้นยังคงเป็นสิ่งที่เที่ยง (แท้จีรัง แต่ไม่ใช่ตัวตน)
-บุญและบาปนั้น เสมือนกับเงาที่ติดตามเจ้าของเงาไปทุกหนทุกแห่ง (ติดตรา ตรึงใจ จนเหนียวแน่นอย่างเนิ่นนาน)
-ผลบุญผลบาปที่ได้ทำไว้ ย่อมส่งผล ตามที่บุคคลนั้นๆ ก่อร่างสร้างบุญ หรือ บาป นั้นๆ

อ่านเพิ่มเติมลิลิตพระลอได้ที่ http://olddreamz.com/praloh/content2.html

 

คำชี้แจง เกี่ยวกับการศึกษาสูตรเว่ยหล่าง : พุทธทาสภิกขุ โมกขพลาราม ไชยา ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๖ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเรื่องจะต้องทราบกันเสียก่อนในเบื้องต้น อยู่ ๒ ข้อ

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นที่เข้าใจได้ สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยศึกษาทางพุทธศาสนามาก่อนเลย มันไม่ใช่หนังสือเล่มแรกสำหรับผู้ริเริ่มการศึกษาพุทธศาสนา อย่างน้อยที่สุดผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้แม้จะไม่เคยเรียนเคยอ่านหนังสือของฝ่ายมหายานมาบ้างแล้ว ก็ควรจะได้ศึกษาหลักแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาบ้างพอสมควร จนถึง กับจับใจความได้อย่างใดอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนาที่ตนศึกษาแล้วนั้นมีหลักการอย่างไร หรือวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ได้โดยเฉพาะ และอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่เคยศึกษาแต่ฝ่ายเถรวาทมาอย่างเคร่งครัด และยังแถมยึดถือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เหนียวแน่นแล้วนั้น อาจจะมองเห็นไปว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผิดหลักพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นสิ่งที่น่าอันตรายเป็นอย่างยิ่งไปก็ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุที่ หลักคิด และแนวปฏิบัติ เดินกันคนละแนว เหมือนการเดินของคนที่เดินตามทางใหญ่ที่อ้อมค้อม กับคนที่เดินทางลัด หรือถึงกับดำดินไปผิดขึ้นในที่ที่ตนต้องการจะไปให้ถึงเสียเลย ฉันใดก็ฉันนั้น

ข้อสอง ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนใจ ควรทราบไว้เสียก่อนว่า หลักนิกายเซ็นและโดยเฉพาะของพระสังฆปรินายกชื่อ เว่ยหล่าง นี้ นอกจากจะเป็นวิธีการที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ยังเป็นวิธีปฏิบัติที่อิงหลักธรรมชาติทางจิตใจของคนทั่วไปด้วย แม้ที่ไม่รู้หนังสือ หรือไม่เข้าใจพิธีรีตองต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ลัทธินี้ถูกขนานนามว่า "ลัทธิพุทธศาสนาที่อยู่นอกพระไตรปิฏก" หรืออะไรอื่นทำนองนี้อีกมากมาย ที่จริงผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ ควรจะได้รับการชักชวนให้ลืมอะไรต่างๆ ที่เคยยึดถือไว้แต่ก่อนให้หมดสิ้นเสียก่อน จึงจะเป็นการง่าย ในการอ่านให้เข้าใจ โดยเฉพาะก็คือ ให้ลืมพระไตรปิฏก ลืมระเบียบพิธีต่างๆ ทางศาสนา ลืมความคิดดิ่งๆ ด้านเดียว ที่ตนเคยยึดถือ กระทั่งลืมความเป็นพุทธบริษัทของตนเสีย คงเอาไว้แต่ใจล้วนๆ ของมนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดว่าชาติใดภาษาใด หรือถือศาสนาไหน เป็นใจซึ่งกำลังทำการคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร จิตของมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากลนี้ จักหลุดพ้นจากความบีบคั้นหุ้มห่อพัวพันได้โดยสิ้นเชิง? เท่านั้น การทำเช่นนี้จักเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่ผู้อ่าน

ในการที่จะได้ทราบอย่างชัดแจ้งถึงความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาในขอบเขตของคัมภีร์ กับพุทธศาสนาซึ่งอยู่เหนือคัมภีร์ พุทธศาสนาที่อิงอยู่กับพิธีรีตองต่างๆ ทั้งหลาย กับพุทธศาสนาที่เป็นอิสระตามธรรมชาติและเดินตามหลักธรรมชาติ พุทธศาสนาที่ให้เชื่อก่อนทำ กับพุทธศาสนาที่ให้ลองทำก่อนเชื่อ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวรรณคดี กับพุทธศาสนาประยุกต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างพุทธศาสนาที่ใช้ได้แต่กับคนบางคนกับพุทธศาสนาที่อาจใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้แก่ บุคคลทุกคนแม้ที่ไม่รู้หนังสือ ขอเพียงแต่ให้มีสติปัญญาตามปรกติสามัญมนุษย์เท่านั้น (ได้ฟังและรู้เรื่อง) ผู้ที่ได้ทราบเช่นนี้แล้วจะได้รับพุทธศาสนาชนิดที่ปฏิบัติได้จริง ตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ มาปฏิบัติอย่างเหลือเฟือ ที่บ้าน ที่ทำงาน และที่ไหนๆ และลัดดิ่งไปสู่สิ่งที่จะให้เกิดความอิ่ม ความพอ ได้โดยเร็ว ถ้ามิฉะนั้นแล้วเขาก็จะเป็นตัวหนอนที่มัวแต่กัดแทะหนังสือ หรือเป็นนักก่อการทะเลาะวิวาทตามทางปรัชญาไปตามเดิมแต่อย่างเดียว

ผู้อ่านจะสังเกตุเห็นได้เองเมื่ออ่านในตอนแรกๆ ว่า หนังสือเรื่องนี้ไม่ใช่หนังสือที่บรรจุไว้ด้วยข้อความง่ายๆ หรืออ่านเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเหตุว่าเรื่องการทำใจให้หลุดพ้นจากทุกข์จริงๆ นั้น ไม่ใช่ของง่ายเลย แต่เป็นสิ่งที่น่าแปลกประหลาดอย่างยิ่งว่า ถ้าอ่านไปจนเข้าใจแล้ว จะพบว่าทั้งที่มันเข้าใจได้ยากมาก ก็ยังอาจเป็นที่เข้าใจได้ แม้แต่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือหรือไม่เคยศึกษาพระไตรปิฏกมาก่อนอยู่นั่นเอง และทั้งไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากสิ่งที่มนุษย์ควรรู้และอาจรู้ได้โดยไม่เหลือวิสัย ข้อความทุกข้อชี้บทเรียนไปที่ตัวชีวิตนั่นเอง และได้ถือเอาความพลิกแพลงแห่งกลไกในตัวชีวิตโดยเฉพาะคือจิต ซึ่งเป็นโจทย์เลขหรือปัญหาที่ต้องตีให้แตกกระจายไป และจบสิ้นกันเพียงเท่านั้น คือเท่าที่จำเป็นจริงๆ ไม่มีปัญญาเหลือเฟือชนิดที่ตีปัญหาโลกแตก ที่ชอบถกเถียงกันในหมู่บุคคล ที่อ้างตัวว่าเป็นพุทธบริษัทอันเคร่งครัดเท่านั้นเลย

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นหนังสือในลักษณะตำราธรรมะโดยตรงเป็นเพียงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประวัติและคำนอสของเจ้าลัทธิท่านหนึ่งเท่านั้น เราไม่อาจจับเอาหลักธรรมะต่างๆ ที่จัดเป็นระเบียบเรียบร้อยจนสะดวกแก่การศึกษาไว้ก่อนแล้วโดยง่ายเลย ผู้ศึกษาจะต้องเลือกเก็บใจความที่เป็นหลักธรรมต่างๆ เอาจากเรื่องราวที่เป็นประวัติ หรือบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้น จากข้อความที่เข้าใจได้ยากๆ นั้นแหละ ผู้ศึกษาจะต้องทำการขุดเพชรในหินด้วยตนเอง

หนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นหนังสือของทางฝ่ายมหายานก็จริง แต่หาใช่มหายานชนิดที่ชาวไทยเราเคยได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง หรือเข้าใจกันอยู่โดยมากไม่ มหายานที่เราเคยได้เห็นได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นปรกตินั้น ก็เป็นชนิดที่เกี่ยวเนื่องติดแน่นกันอยู่กับพระไตรปิฏกและพิธีรีตองต่างๆ และไหลเลื่อนไปในทางเป็นของขลังและของศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน ส่วนใจความในหนังสือเล่มนี้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสิ่งของเหล่านั้น คงเป็นไปแต่ในทางปฏิบัติธรรมของทางใจโดยอาศัยปัญญาเป็นใหญ่หรือที่เราเรียกกันว่า วิปัสสนา ธุระล้วนๆ และทั้งเป็นแบบหนึ่งของตนเองซึ่งไม่ซ้ำใคร เพราะมุ่งหมายจะให้เป็นวิธีลัดสั้นที่สุด ดังกล่างแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยตั้งข้อรังเกียจต่อฝ่ายมหายาน และมีความยึดมั่นมาก จนถึงกับพอเอ่ยชื่อว่ามหายานแล้วก็ส่ายหน้าดูถูกเหยียดหยาม ไม่อยากฟังเอาเสียทีเดียวนั้น ควรทำในใจเสียใหม่ในการที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะทำให้ท่านเกิดความรู้สึกอันตรงกันข้ามจากที่แล้วๆ มาและเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาแทนว่า การตั้งข้อรังเกียจเดิมๆ ของตนนั้นมันมากและโง่เกินไป...

เมื่อกล่าวโดยหลักกว้างๆ แล้วลัทธิของเว่ยหล่างนี้ เป็นวิธีลัดที่พุ่งแรงบทหนึ่งอย่างน่าพิศวง ถ้าจะชี้ให้เห็นกันง่ายๆ ว่า ลัทธินี้มีหลักหรือวิธีการอย่างใดแล้ว ก็ต้องชี้ไปในทางที่จะวางหลักสั้นๆ ว่า ก็เมื่อปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไปย่อมเป็นผู้ที่กำลังมีความเห็นหรือความเข้าใจที่ผิดจากความจริงเป็นปกติอยู่แล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาสามัญคิดเห็นหรือเข้าใจนั่นแหละ เป็นความเห็นที่ถูก เพราะฉะนั้น เว่ยหล่างจึงได้วางหลักให้คิดชนิดที่เรียกว่า "กลับหน้าเป็นหลัง" เอาทีเดียว ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้อื่นกล่าวว่าจงพยายามชำระใจให้สะอาดเถิด เว่ยหล่างกลับกล่าวเสียว่า ใจของคนทุกคนสะอาดอยู่แล้ว จะไปชำระมันทำไมอีก สิ่งที่ไม่สะอาดนั้นไม่ใช่ใจ จะไปยุ่งกับใจมันทำไม หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็กล่าวว่า เว่ยหล่างถือว่า ใจมันไม่มีตัวไม่มีตน แล้วจะไปชำระอะไรให้แก่ใคร การที่จะไปเห็นว่าใจเป็นใจและไม่สะอาดนั้นเป็นอวิชชาของผู้นั้นเองต่างหาก ดังนี้เป็นต้น

โกอานหรือปริศนาธรรมที่ลัทธินี้วางไว้ให้ขบคิด ก็ล้วนแต่ทำให้คนสามัญทั่วไปงงงวย เพราะแต่ละข้อมีหลักให้คิดเพื่อให้เห็นสิ่งตรงกันข้าม จากที่คนธรรมดาคิดกันอยู่ หรือเห็นๆ กันอยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่ากามีสีดำ นกยางก็ต้องมีสีดำด้วย หรือถ้าเห็นว่านกยางมีสีขาว กาก็ต้องขาวด้วย และถ้าให้ถูกยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ นกยางนั่นแหละสีดำ กานั่นแหละสีขาว สังสารวัฏกับนิพพานเป็นของสิ่งเดียวกัน ที่ที่เย็นที่สุดนั้นคือที่ท่ามกลางกองเพลิงแห่งเตาหลอมเหล็ก เป็นต้น

ถ้าใครมองเห็นความจริงของแบบเว่ยหล่างเหล่านี้ ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า เขาได้เห็นสิ่งต่างๆ จนลึกถึงขั้นที่มันตรงกันข้ามจากที่คนสามัญทั่วไปเขามองเห็นกันอยู่เป็นปรกติ ฉะนั้น สำหรับการสรุปใจความของลัทธินี้อย่างสั้นๆ ที่สุดก็สรุปได้ว่า พยายามคิดจนเห็นตรงกันข้ามจากความคิดของคนที่ยังมีอวิชชาห่อหุ้มแล้ว ก็เป็นอันนับได้ว่า ได้เข้าถึงความจริงที่สุดแล้ว และวิธีการแห่งลัทธินี้ได้วางรูปปริศนาให้คิด ชนิดที่ผิดตรงกันข้ามไปเสียตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว ใครคิดออก ก็แปลว่าคนนั้นผ่านไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นวิธีที่จะทำให้ผ่านไปได้โดยเร็วที่สุดนั่นเอง คิดให้ตรงข้ามจากสามัญสัตว์ทั่วไปเถิด ก็จะเข้าถึงความคิดของพระอริยเจ้าขึ้นมาเอง ฉะนั้น นิกายนี้จึงเรียกตัวเองว่า "นิกายฉับพลัน" ซึ่งหมายถึงว่า จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามวิธีลัดนี้ให้บรรลุธรรมได้อย่างฉับพลันโดยไม่มีพิธีรีตอง

ส่วนปาฐกถาอีก 3 เรื่อง ของนายแพทย์ ตันม่อเซี้ยง ซึ่งพิมพ์ไว้ต่อท้ายเรื่องสูตรเว่ยหล่างนั้นเล่า ก็เป็นข้อความที่จะให้ผู้อ่านได้เข้าใจในวิธีการปฏิบัติของ "นิกายฉับพลัน" ได้เป็นอย่างดี จากข้อความทั้งหมดนั้น ผู้ศึกษาจะได้ความรู้ที่แน่นอนข้อหนึ่งว่า วิธีการที่ "ฉับพลัน" นั้น ย่อมขึ้นอยู่แก่ความช่วยเหลือของอาจารย์ หรือผู้ควบคุมที่สามารถจริงๆ เป็นส่วนใหญ่ เพราะตามธรรมดาแล้ว "การเขี่ยให้ถูกจุด" นั่นแหละ เป็นความสำเร็จที่ฉับพลันเหนือความสำเร็จทั้งปวก ถ้ามีความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องให้ตัวเองเป็นอาจารย์ตัวเองแล้ว ขอจงได้พยายามศึกษาและจับใจความสำคัญแห่งข้อความนั้นๆ ให้ได้จริงๆ จงทุกๆ คนเถิด

ธรรมะนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของคนเราๆ ทุกๆ คน เพราะมัวไปยกขึ้นให้สูง เป็นเรื่องคัมภีร์หรือของศักดิ์สิทธิ์ไปเสียท่าเดียว ก็เลยกลายเป็นเรื่องพ้นวิสัยของคนทั่วไป เว่ยหล่างมีความมุ่งหมายให้ธรรมะนั้นกลับมาเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญแม้ที่ไม่รู้หนังสือ เพื่อประโยชน์แก่คนตามความหมายของคำว่า "มหายาน" หวังว่าผู้ที่คิดกรุ่นอยู่ในใจเสมอว่า ตนเป็นคนฉลาด เพราะรู้หนังสือดีนั้น จัดได้ทำตนให้เป็นบุคคลที่ไม่เสียเปรียบผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้คนหนึ่งเป็นแน่



ปล. เนื้อหาใน (พระ) สูตรของเว่ยหล่าง ยังมีอีกมาก ที่นำมาลงนี้เป็นเพียงประวัติในเบื้องต้นของท่าน เว่ยหล่าง  สำหรับผู้ที่ผู้สนใจ สามารถสั่งซื้อที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรืออาจหยิบยืมจากห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ก็ได้

หมายเลขบันทึก: 195931เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีครับ น้องกวิน

  • แวะมาเยี่ยมน้องกวิน
  • หายไปนาน
  • คิดถึงครับ
  • สบายดีไหมครับ
  • รักษาสุขภาพด้วยครับ
  • งานเข้าเยอะไหมเอ่ยช่วงนี้
  • ยังไงก็ขอให้งานสำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดีนะครับ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

  • "เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงาใส เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร" 
  • อยากรู้ว่า...ท่านเว่ยหลาง จะหนีไปไหน..ต่อ
  • ขอบคุณที่แนะนำหนังสือ ดี ดี
  • ต้องไปหาอ่านแล้วค่ะ
  • สบายดีนะคะ
  • อ่านแล้วนึกถึงท่านพุทธทาสค่ะ
  • เชิญอ่านผลงานของท่านได้จากเว็บ พุทธทาสศึกษาได้นะคะ
  •   

แวะมาเยี่ยมค่ะ

เหว่ยหลางนี่ คนใกล้ตัวก็ชอบอ่านค่ะ แต่ตัวเองอ่านแล้วหลับทุกที

สบายดีนะคะ

  • มาอ่าน
  • อันนี้ท่องบ่อยครับ
  • รูปัง อะนิจจัง, เวทะนา อะนิจจา, สัญญา อะนิจจา, สังขารา อะนิจจา, วิญญาณัง อะนิจจา, รูปัง อะนัตตา, เวทะนา อนัตตา, สัญญา อะนัตตา, สังขารา อะนัตตา, วิญญาณัง อะนัตตา, สัพเพ สังขารา อะนิจจา, สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ, "
  • ว่าแต่ว่า
  • หายไปนานเลย
  • คิดถึงๆๆๆ
  • ครูพรรณา
  • มาเกษตรศาสตร์ครับ
  • พาเด็กๆๆมาอบรม

สวัสดีครับพี่โย่ง ช่วงนี้กำลัง นิ่งๆ และถืออุเบกขา ครับ อิๆ งานเข้า แต่ก็สบายๆ อยู่ครับ

  • สวัสดีครับคุณพี่ สีตะวัน
  • อัตชีวประวัติของ เว่ยหล่าง เคยเอามาทำเป็นหนังจีนฉายทางช่อง 3 นะครับเคยดู สมัยเด็กๆ จำเรื่องราวได้แต่จำชื่อ หนังจีนไม่ได้ว่าชื่ออะไร
  •  หลังจากได้รับ บาตรและจีวร แล้ว แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ เหว่ยหล่างก็ หนีหัวซุกหัวซุนไปเรื่อยๆ นะครับ ศิษย์คนอื่นๆพยามติดตามทวง แย่งชิง บาตรจีวรคืน ไม่ก็ติดตามไปเพื่อขอเรียนรู้ธรรมะจากเว่ยหล่างเช่น หลวงจีนรูปหนึ่ง สมัยก่อนเคยเป็น ขุนพลแต่ต่อมาออกบวช เก่งเรื่องสะกดรอย จึงสะกดรอยตามเว่ยหล่างไปจนพบ ได้สนทนากับเว่ยหล่างแล้ว เข้าใจธรรมะอะไรบางอย่าง
  • ต่อมาเว่ยหล่างไปอาศัยอยู่กับ น่าจะเป็นครอบครัวนายพราน เวลากินข้าว กับข้าวมีผัดผักกับเนื้อ  เว่ยหล่างก็จะเลือกกินแต่ผัก
  • ต่อมาอีกหลายปี เว่ยหล่างเจริญวัยขึ้น จึงเดินทางออกจากป่าเพื่อจะออกบวชให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เดินทางไปถึงวัดแห่งหนึ่ง หลวงจีนสองรูปกำลังเถียงกันว่า
  • ที่เห็น โบกสะบัดอยู่นั้น เป็นธง หรือ ลมกันแน่ที่โบกสะบัดอยู่ ก็เถียงกันไป
  • เว่ยหล่าง เข้าไปแสดงทัศนะว่า ที่โบกสะบัดพัดไหวอยู่คือใจของท่านทั้งสองต่างหาก หาใช่ธงหรือลม ไม่
  • หลังจากนั้นเว่ยหล่างก็ได้บวช เป็นพระภิกษุ และได้รับการยกย่องให้เป็น สังฆปริณายกองค์ที่ ๖ (อย่างสมบูรณ์) ของจีนในกาลต่อมา

ขอบพระคุณ คุณพี่ naree suwan  ที่นำเวปดีๆมาบอกเป็นธรรมทานแก่น้องกวินนะครับ อนุโมทนาสาธุ ขอให้ผลบุญหนุน ยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

สวัสดีครับ คุณ จิ๊กกี้ ดีจังนะครับที่ คนใกล้ตัวก็ชอบอ่านค่ะ แต่ตัวเองอ่านแล้วหลับทุกที

ผมก็อ่านไปได้ ครึ่งเล่มเท่านั้น ฮาๆเอิ๊กๆ จริงๆ อ่านคำนำ ที่ท่านพุทธทาสสรุปไว้ก็พอที่จะเข้าใจสังกัป ของนิกาย/ลัทธินี้ อยู่บ้างนะครับ  อ่านแล้วหลัยก็ดีสิครับ ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ (มีหลายๆ คนนอนไม่ค่อยจะหลับ ต้องพึ่งยาคลายกังวล -ยานอนหลับ) ถ้าหันมาอ่านหนังสือธรรมะ ก็ไม่ต้องพึ่งยา กิน นะครับ หันมาพึ่งยาใจ แทน  

สวัสดีครับ ขจิต ฝอยทอง  ไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ เพียงแต่ กำลังจำศีล (แบบกบ ฮาๆเอิ๊กๆ) ฝากความคิดถึงๆ คุณพี่อาจารย์พรรณา มิตรรักอักษรา ด้วยนะครับ ขยันจริงๆ ปล.คิดถึงอาจารย์ขจิต ด้วยนะครับ  หน้าฝนเข้าพรรษา ฝนตก รักษาสุขภาพ นะครับกระผม

  • เคยอ่านพระสูตรของท่านเว่ยหล่าง
  • อ่านแล้วเข้าใจยากเพราะสติปัญญาอาตมาไม่ถึง
  • เป็นคำสอนที่ท่านจะเน้นที่ปลายยอดสุด
  • การปฏิบัติธรรมอย่างพุทธเป็นไปตามลำดับ
  • เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย
  • หากขาดโยนิโสมนสิการ(การทำใจในใจให้แยบคาย)อาจทำให้ผู้ปฏิบัติหลงผิดได้ ว่าพุทธธรรมเป็นเรื่องที่รุ้ได้ง่ายเห็นได้ง่าย บุคคลเปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า
  • อุคติตัญญู(ผุ้บรรลุมรรคผลได้โดยยกหัวข้อขึ้นแสดง)ในสมัยพุทธกาลพอมียุคนี้คงจะหายาก
  • วิปจิตัญญู(ผุ้บรรลุมรรคผลได้โดยการจำแนกเนื้อความ)ยุคนี้ยังพอมีอยู่แต่ก็ไม่มากมาย
  • เนยยะ(ผู้บรรลุมรรคผลเป็นชั้นๆไปโดยอุเทศ(ยกหัวข้อแสดง) โดยไต่ถาม โดยทำไว้ในใจโดยแยบคาย  โดยสมาคม โดยคบหา โดยสนิทสนมกับกัลยาณมิตร)ในยุคนี้มีเยอะ       ต้องใช้ความเพียรสูง
  • คำสอนที่เป็นไปเพื่อการบรรลุฉับพลัน ต้องท่านผุ้มีบารมีระดับบัวเหล่าที่หนึ่ง ยกตัวอย่างท่านพระสารีบุตรเป็นต้น
  • จึงอยากให้ท่านผุ้ที่ ใฝ่     ในธรรมได้พิจารณาให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนเลือกหมวดธรรมให้เหมาะสมกับอุปนิสัยบารมีเพราะในคำสอนของท่านเว่ยหล่างที่บอกว่า "ธรรมะไม่มีอะไรมากเป็นเรืองของคนทั่วไป คนไปยกให้เป็นเรื่องสูงเรื่องยากให้พ้นวิสัยคนธรรมดาไปและท่านมีจุดมุ่งหมายให้ธรรมะเป็นเรืองของวิสัยคนสามัญอาตมาว่าจะขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่าลักษณะของพุทธธรรม ๘ประการคือ
  • ๑.คัมภีรา  (ลึกซึ้ง)
  • ๒.ทุทสา (เห็นได้ยาก)
  • ๓.ทุรนุโพธา(รุ้ตามได้ยาก)
  • ๔.สันตา (สงบ)
  • ๕ปณีตา (ประณีต)
  • ๖.อตักกาวจรา (จะคาดคะเนด้นเดามิได้)
  • ๗.นิปุณา(ละเอียด)
  • ปัณฑิตเวทนียา (รุ้ได้เฉพาะบัณฑิตแท้)
  •  พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๓๔)
  • สำหรับผู้ที่ท่านมีบารมีเก่ามาก่อนก็อาจจะรุ้เห็นได้ง่ายในธรรมตามที่ท่านเว่ยหล่างสอน   แต่ก็ควรที่จะเริ่มต้นด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เดินตามอริยมรรคมีองค์แปดซึ่งเป็นทางสายเอกของพระพุทธเจ้า ซึงอาตมามั่นใจว่าเป็นทางที่ถูกต้องตรงธรรม..สาธุให้เจริญในธรรม อนุโมทนา
  • อืม..เว่ยหล่าง เล่มนี้เล่มโปรดของใบไม้เลยค่ะ
  • ท่านพุทธทาสแปลได้ดีมากจริง ๆ ตีความได้ลึกซึ้งมาก ๆ
  • เรื่องของสภาวะจิตนั้นอยู่เหนือการท่องจำหรือทำความเข้าใจจากตำราค่ะ
  • คงต้องหยิบมาอ่านอีกซะแล้ว
  • ขอบคุณนะคะคุณกวินที่เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ ^_^

นมัสการพระคุณเจ้า  tukkatummo  ทำให้นึกถึง ปหาราทสูตร นะครับกระผม

สวัสดีคุณ ใบไม้ย้อนแสง สงสัยคืนนี้คุณใบไม้กำลังปั่นงานต้นฉบับ หรืออะไรสักอย่างแน่ๆ ใช่มั้ยครับ จึงได้มีโอกาสได้เจอกัน ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ ผมหนังสือนี้ผมก็ซื้อเก็บไว้นานแล้ว เพิ่งจะรื้อๆ มาอ่านอีกน่ะครับ

สวัสดีครับ กวิน

     เคยอ่านเล่มนี้นานแล้วเหมือนกัน อีกเล่มก็ คำสอนของฮวงโป

     พี่มีเล่มภาษาอังกฤษด้วย แต่หาไม่เจอแย้ว :( เห็นมีภาษาจีน ดีจัง เลยไป "ดูด" ภาษาอังกฤษบางส่วนมาจาก wikipedia

      "กาย คือต้นโพธิ์
       ใจ คือกระจกเงาใส
       จงหมั่นเช็ดถูเป็นนิตย์
       อย่าปล่อยให้ฝุ่นละอองจับ"

The body is a Bodhi tree,
the mind a standing mirror bright.
At all times polish it diligently,
and let no dust alight.

      

        "เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
         ไม่มีกระจกเงาใส
         เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
         ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร"

Bodhi is no tree,
nor is the mind a standing mirror bright.
Since all is originally empty,
where does the dust alight?

 

สวัสดีครับพี่ชิว โอดีจังเลยนะครับ ขอบคุณมากๆนะครับ แต่ว่าเรื่องหนังสือ นี่น่าจะอยู่แห่งไหนสักที่หนึ่ง นะครับเพราะสสารไม่หายไปจากโลกนี้ แต่มันเปลี่ยนสภาพ / เปลี่ยนที่อยู่ ผมเข้าใจถูกมั้ยครับ :)

ขอบคุณคุณกวินจากใจจริงที่เขียนบันทึกนี้ค่ะ รู้สึกเหมือนมีคนมาช่วย มาต่อได้ถูกเวลา : ) เมื่อคืนตอนก่อนนอนก็อ่านหนังสื่อชื่อ สุญญตา ของท่านพุทธทาส เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจมานานแล้ว เลยซื้อติดมือมาจากเมืองไทยเมื่อสองปีก่อน ไม่เข้าใจว่าแล้วผู้รู้คืิออะไร จิตเดิมไปไหนได้อย่างไร ว่างจริงๆเป็นยังไง (เทียนดับแล้วเปลวไฟหายไปไหน) อ่านมารอบนึงแล้ว เพิ่งจะมาพอเข้าใจ มาซาโตริก็เมื่อวันสองวันนี้เองค่ะ อ่านเมื่อคืนอีกรอบเหมือนอ่่านด้วยตาอีกตา ต่างจากตอนที่อ่านรอบแรก

แต่ก่อนรู้แต่ว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา แต่"ผู้รู้"ที่รู้เช่นนั้นยังอยู่ ....

ตอนนี้เข้าใจว่า ถ้าพิจารณาต่อผู้รู้ก็หายหมดไปเอง และนี้คือ กระบวนธรรมแท้ 

กระจกเงาใสไม่พอ....แต่เราสร้างสมปารมีไปให้ถึงฝั่งโน้น จะได้เข้่าใจจากประสบการณ์ตรง (ไม่ใช่แค่อ่านมาแบบที่เข้าใจตอนนี้) แล้วเราจะเข้าใจว่า กระจกก็ไม่มี

และไม่มีกระจกเพราะไม่มีทราย ไม่มีความร้อน มาประกอบกัน...ไม่มีีเพราะเราแยกส่วนได้ ที่อิงกันอยู่นั้นก็ไม่สามารถอิงต่อได้ มันก็ไม่มี

มัทเข้าใจถูกรึเปล่าคะ

ท่าน tukkatummo ก็สอนถูกค่ะ "ต้องเป็นไปตามลำดับ" ต้องเริ่มปฏิบัติไปเรื่อยๆ การที่เรารู้เข้าใจ สุญญตาไว้ก่อนนั้น ท่านพุทธทาสเขียนไว้ในหนังสืือว่า มันเป็นการ "ย่นย่อ" ไม่ต้องสอนทั้ง 84000 ขันธ์ ท้ายสุดแล้ว สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือ สุญญตา นั่นเอง

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ปล. บทสวด ทำวัตร เช้า ที่ชื่อ สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ

เป็นบทที่มัทชอบมากที่สุดเลยค่ะ ฟังออนไลน์ ทีไรก็ต้องหยุดฟังอย่างตั้งใจตอนท่อนนี้ทุกที

คุณกวินคะ

  • มาอ่านบันทึกนี้ด้วยความอิ่มเอมใจค่ะ...ชอบมาก...แม้จะยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบ แต่ก็เปิดอ่านในส่วนที่สะดุดความคิดไว้แล้ว...
  • เรื่อง จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ครูบาอาจารย์และปราชญ์หลายท่านกล่าวว่า...เป็น ประภัสสร...
  • ...จิตเดิมแท้ของมนุษย์ย่อมมีความผ่องแผ้ว บริสุทธิ์ ดีงาม เป็นปกติ เพียงแต่เราถูก...สภาวะทางโลก(ย์) กระหน่ำซ้ำเติม ด้วยความรู้เท่าบ้าง ไม่รู้เท่าทันบ้าง 
  • จิตของเรา...จึงมักจะไม่เป็น ประภัสสร...
  • ท่านเว่ยหลาง...ได้สลัด เกราะของจิต (กิเลส ตัณหา อุปาทาน) ออกแล้ว...จิตของท่านจึงเป็นจิตเดิมแท้ที่ประภัสสรอย่างยิ่งยวด
  • อ่านหนังสือเล่มนี้จบเมื่อไหร่ จะได้มาแลกเปลี่ยนอีกทีนะคะ

สวัสดีครับ กวิน

        เรื่อง สุญญตา ของท่านพุทธทาสนี่ ความเข้าใจของพี่ในขณะนี้ก็คือ ท่านพุทธทาสได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก ท่านนาคารชุน (Nagarajuna) [บางครั้งสะกดว่า นาคารชุนะ] ค่อนข้างมาก ท่านนาคารชุน(ะ) เป็นปราชญ์ทางสายมหายานครับ

        ความเข้าใจนี้มีส่วนถูกต้องเพียงไร คงต้องให้ผู้รู้มาช่วยวิเคราะห์กันอีกทีดีไหมครับ น่าจะได้มุมมองที่สร้างสรรค์ไม่น้อยทีเดียว ^__^

คุณหมอมัทนาครับ สุญญตา คือที่ท่านพุทธทาสสรุปไว้ ว่าให้ว่างจาก กิเลสตัณหาและอุปาทาน นั่นเอง ครับ

สวัสดีครับคนไม่มีราก ผมอ่านได้แค่ครึงเล่มครับ กำลังเริ่มๆ อ่านต่อเหมือนกัน ขอบคุณครับ

สวัสดีคุณกวิน

สบายดีนะคะ...เอาภาพมาฝากค่ะ

นกนางนวล...เมื่อครั้งไปออสเตรเลีย....

ขอจงเป็นเช่น...นางนวลที่มีอิสระ โบยบินไปสู่โลกกว้าง...แห่งจิตวิญญาณอิสระ....

มีความสุขในวันศุกร์นะคะ...^_^...

สวัสดีครับพี่ชิว ขอบคุณสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ ท่านนาคารชุน (Nagarajuna)มีประโยชน์มากๆ ครับ

ขอยืมรูปไปประกอบบทความหน่อยนะครับ ขอบคุณครับคนไม่มีราก

Hello น้องกวิน

       สสารไม่สูญหาย...หนังสือก็ไม่โดนปลวกแทะ...เจอแล้วครับ...เลยนำมาฝากไว้ตรงนี้ เผื่อมีบางท่านสนใจต้นฉบับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแปลมา จะอ่านเอาธรรมะก็ดี อ่านเอาภาษาก็ได้ อ่านเพื่อศึกษาการแปลอันเยี่ยมยอดของท่านพุทธทาสก็ได้อีก

เปิดไปปกในมีข้อมูลอย่างนี้ครับ (พอดีถ่ายภาพแล้วไม่ซัด...เอ้ย! ไม่ชัด..อิอิ)

        The Diamond Sutra & The Sutra of Hui Neng

                             Translated by

                  A.F. Price and Wong Mou-Lam

                          With Forewords by

                   W.Y. Evans-Wentz, Joe Miller

                      and Christmas Humphreys

 

                        SHAMBHALA*BOSTON

                                    1985

ให้ ISBN ไว้ซะหน่อย เผื่อมีคนอยากสั่งซื้อ (ผมไม่ได้ส่วนแบ่งเลยนะเนี่ย ;-))

                          ISBN 0-87773-005-9

 

ขอบคุณพี่ชิวครับ ฉบับภาษาไทยผมอ่านได้ครึ่งเล่มก็วางไม่ได้อ่านต่อ  (เพราะมันงง) วางมาเป็นปีแล้วครับ อีกเล่มหนึ่งคือ คำสอนของฮวงโป ซื้อมาพร้อมกันและก็อ่านไปได้ครึ่งเล่ม ฮาๆเอิ๊กๆ

เรื่องย่อ
คำสอนของฮวงโปนี้ เรียกในภาษาจีนว่า "ฮวงโป ฉวน สิ่น ฟา หยาว." มร. John bolfeld แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Zen Teaching of Huang Po พวกเราเห็นว่าควรแปลออกมาสู่ภาษาไทยจึงทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเว่ยหล่างมาก่อนแล้วพึงทราบว่า ฮวงโป เป็นหลานศิษย์ของเว่ยหล่าง กล่าวคือ เมื่อเว่ยหล่าง สังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็น ได้รับการถ่ายทอดธรรมโดยตรง ชนิดที่เรียกว่า จากจิต-ถึงจิต จากพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 แล้ว นิกายเซ็นก็แตกออกเป็น 2 สาย สายเหนือนำโดยชึนเชา คู่แข่งของเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติการตรัสรู้อย่างเชื่องช้า คือ ค่อยเป็นค่อยไป เจริญรุ่งเรืองอยู่พักหนึ่งโดยราชูปถัมภ์ของพระจักรพรรดิตั้งอยู่ไม่นานก็เงียบหายไป ส่วนสายใต้ คือสายของเว่ยหล่าง สอนวิธีการปฏิบัติที่เป็นการตรัสรู้ฉับพลัน (จนได้นามว่า Sudden School)ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตัวออกมาจนแตกเป็นนิกายย่อยๆ ลงไป

ที่มา http://www.booktime.co.th/app/image.php?file=../religious/covers/9744094982.jpg 

สวัสดีครับ น้องกวิน

        เห็นสนใจเรื่องทางพุทธศาสนามาก พี่มีบทความเกี่ยวกับ มหาวีระ ซึ่งกวินอาจจะสนใจก็ได้

        มหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน ตอนที่ 1

        มหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน ตอนที่ 2

        ลองเทียบเคียงกับพุทธประวัติดูนะครับ ^__^

  • อรุณสวัสดิ์
  • มาขัดเกลาความรู้สึกดีดี
  • ก่อนไปทำงาน

ขอบคุณพี่ชิว และขอบคุณอาจารย์ประจักษ์ครับ

I maintain that Truth is a pathless land, and you cannot approach it by any path whatsoever, by any religion, by any sect. That is my point of view, and I adhere to that absolutely and unconditionally. Truth, being limitless, unconditioned, unapproachable by any path whatsoever, cannot be organized; nor should any organization be formed to lead or to coerce people along any particular path. If you first understand that, then you will see how impossible it is to organize a belief. A belief is purely an individual matter, and you cannot and must not organize it. If you do, it becomes dead, crystallized; it becomes a creed, a sect, a religion, to be imposed on others. This is what everyone throughout the world is attempting to do. Truth is narrowed down and made a plaything for those who are weak, for those who are only momentarily discontented. Truth cannot be brought down, rather the individual must make the effort to ascend to it. You cannot bring the mountain-top to the valley. If you would attain to the mountain-top you must pass through the valley, climb the steeps, unafraid of the dangerous precipices.


Truth is a Pathless Land by J Krishnamurti.


The Order of the Star in the East was founded in 1911 to proclaim the coming of the World Teacher. Krishnamurti was made Head of the Order. On August 2, 1929, the opening day of the annual Star Camp at Ommen, Holland, Krishnamurti dissolved the Order before 3000 members.

ฝันที่สเหมือนจริง

ปฏิจจสมุปบาท, อิทัปปัจจยตา, อตัมมยตา, สุญญตา. ตถตา.

A LONE, A ONE, ALL ONE.# อนุโมทนา สาธุๆๆ, นิพพานัง ปัจจะโยโหตุ. ครับผม.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท