เรือดีพายดีไม่ขี่ข้าม กลับเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่ -> 危機


 

 

 

ต่อเนื่องมาจากบทความ ข้ามภพ (ครบพล่าม)

Crisis

 The Chinese word weiji (危機 translated as "crisis") is often said to be composed of the characters for "danger" and "opportunity"; the implication being that in Chinese culture, a crisis is regarded not merely as a danger, but also as an opportunity. (Ref.1 + Ref.2)

คำว่าเหวยจี (危機) มาจากคำว่า อันตราย (danger) และโอกาส (opportunity) สมาสกัน รวมความแล้วแปลได้ว่า วิกฤติ (crisis) ซึ่งหมายถึง ในยามที่เกิด อันตราย ย่อมที่จะมีโอกาส(รอด) พร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น(การมี) เรือดีพายดีไม่ขี่ข้าม กลับเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่ ผู้ที่นำเรือมีรูมาพายในน้ำ แน่นอนเขาผู้นั้นย่อมที่จะต้องประสบกับสภาวะวิกฤติ   คือต้อง ล่ม จม แน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะใครก็ตามที่โดยสาร โดยเรืออันมีรูรั่ว (ไม่ต้องนั่งสมาธิแล้วได้ อนาคตังสญาณ ก็ยังรู้เลยว่าเขาผู้นั้นย่อมที่จะต้อง ล่ม จม ลงพร้อมกับเรือ ไม่เร็วก็ช้า) ความล่มจม ก็คือความอันตราย ของชีวิต โอกาส(รอด)  ของเขาผู้นั้นก็คือ รีบนำเรือกลับเข้าฝั่ง เพื่ออุดรู รั่ว ในระหว่างที่ยังไม่ถึงฝั่งอาจจะต้องใช้มือวิดน้ำออกจากท้องเรือด้วย อันว่าพระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ความว่า วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา (เกิดเป็นคนควรจะพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ) และ วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ  บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ตัวอย่างก็เช่น  พระมหาชนก ผู้ซึ่งมีความเพียรพยายามแหวกไหว้อยู่กลางทะเลหลวงถึง เจ็ดทิวาราตรี ผู้ที่เพียรพยายามอย่างเต็มที่แล้วบัณฑิตย่อมไม่ติเตียน   การแหวกว่ายในทะเลหลวงนั้นถือเป็นสภาวะวิกฤติ ทว่าการแหวกว่ายอยู่ โอฆสงสาร นั้น ถือเป็น สภาวะวิกฤติที่ยิ่งกว่า

 

 

ฉะนั้น หากว่าลอยเรือออกไปไกลจากฝั่งมากโขแล้ว และเรือล่มจมลงเสียก่อนที่จะกลับเข้าถึงฝั่ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ การเพียรว่ายน้ำกลับเข้าหาฝั่งแม้จะต้องเปียกปอน ทว่าหากไม่ทิ้งความเพียร ก็ย่อมที่จะต้องมีชีวิตรอดเฉกเช่นเดียวกับ พระมหาชนก จะเห็นได้ว่าการมี เรือดีพายดีไม่ขี่ข้าม กลับเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่  นั้นย่อมก่อให้เกิด เหวยจี (危機)

แต่มนุษย์บางคนกลับ ไม่หวั่นกลัว ภยันตราย และสภาวะวิฤติอันได้แก่ความ ล่มจมลงในห้วง โอฆสงสาร เพราะสำคัญตนว่า ตนนั้น ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ที่ตกน้ำไม่ไหล ก็อาจจะเป็นเพราะหนักอึ้งไปด้วย มิจฉาทิฐิ เวลาตกน้ำจึงไม่ไหลไปไหน (ตกน้ำแล้วจมลงทันทีเพราะหนัก) ส่วนตกไฟไม่ไหม้นั้น ก็อาจจะเป็นเพราะเขาผู้นั้นเปียกชุ่มไปด้วย โมหะ เวลาที่ตกไฟจึงไม่ไหม้  นี่คือความหมายของคำว่า ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ สำหรับ ผู้ที่เป็น ทุรชน


ส่วนผู้ที่เป็นสาธุชน (ผู้ถึงฝั่งแล้ว) ย่อมไม่มีทางที่จะตกต่ำอยู่ในห้วงโอฆสงสารนั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือเหล่า สาธุชน ย่อมมีปลายทางคือสุคติภูมิ  เปลวไฟ แห่งอบายภูมิ ย่อมมิสามารถแผดเผา ผู้ที่มีความร่มเย็นในจิตใจให้ได้รับความรุ่มร้อนได้นั้นอีกประการหนึ่ง แลสำหรับผู้ที่ยังต้องแหวกไหว้อยู่ในห้วงโอฆสงสาร ขอไหว้วอนต่อนางมณีเมขลา และแม่ย่านางประจำเรือ โปรดจงช่วยคุ้มครองผู้ที่กำลังจะ ล่ม จม ลงสู่ห้วงโอฆสงสาร ขอให้เขาผู้นั้นจงตื่นฟื้นคืนสติ เร่งประกอบความเพียร และแหวกว่ายกลับเข้าหาฝั่งด้วยความปลอดภัยด้วยเถิด  ส๊า...ธุ

คำสำคัญ (Tags): #เหวยจี
หมายเลขบันทึก: 199145เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2008 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • โอโฮ...นี่ 3 ภาษาเลย
  • เก่งจัง
  • มาครบพล่าม..555

คนที่รู้ว่าเรือมีรูรั่ว มีโอกาสอุดรูรั่ว เรือไม่จม ก็มีโอกาสรอด

แต่คนที่ไม่รู้ว่าเรือรั่ว ไม่มีโอกาสอุดรูรั่ว เรือก็ต้องจมและจบลงด้วยประการฉะนี้แล

สวัสดีครับคุณกวิน

มีเรือดีพายดีไม่ขี่ข้าม     กลับเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่

ราชการงานเมืองจะเอาดี   กลับเอาคนอ...รี มาทำงาน

กลอนบทนี้ เคยลงใน นสพ เสียงราษฏร์ ซึ่งเป็น นสพ.ท้องถิ่นของ จ.นครศรีธรรมราช สมัยก่อน 14 ตุลา หลายปีครับ

ผมยังจำได้ดี

  • แวะมาเยี่ยมน้องกวิน
  • สบายดีนะครับ
  • คิดถึงครับ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

มาอ่านและได้รับความรู้เพิ่มขึ้นค่ะ

อันตรายและโอกาส...(รอด)...เป็นสิ่งคู่กันเสมอ...ว่าไหมคะ

ความจริงมนุษย์ควรมีความสุขในการ...ฝ่าฝันวิกฤตในชีวิต...(ถ้ามี) เพราะถ้ารอด...นั่นย่อมเป็น...รางวัลในชีวิตเสมอ

                        (^__^)

เมื่อวิกฤติในชีวิตมาถึง บางครั้งก็ต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อโอกาสรอด

เอ..ที่บอกว่า "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" มาจากคำว่า "危機" ด้วยหรือเปล่าน้า สงสัย ๆ ..^_^..

  • สวัสดีค่ะคุณกวิน
  • ไฟ แห่งอบายภูมิ ย่อมมิสามารถแผดเผา ผู้ที่มีความร่มเย็นในจิตใจให้ได้รับความรุ่มร้อนได้นั้น
  •  จริงแท้แน่นอนความสงบเย็นของจิตท่ามกลางความรุ่มร้อน
  • เป็นสิ่งดียิ่งนักเกิดขึ้นได้บ้างบางโอกาสรู้สึกมีสมาธิเบาสบาย  ใช้บ่อยและพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเสมอในงานประจำที่ทำอยู่ค่ะ....

สวัสดีค่ะ คุณกวิน เห็นจั่วหัว แล้วก็อดที่จะแวะเข้ามาทักทายไม่ได้ เรื่องน่าสนใจค่ะ แล้วก็คิดไปหลายประเด็น บางครั้งก็คิดว่าท้าทายดี บางทีก็คิดว่าทำผิดหรือไม่ที่ขี่เรือรั่ว ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ (ผอ.ประจักษ์) ข้าม (ไตร) ภพ (ครบพล่าม) จึงต้อง พล่าม ให้ครบ (ไตร)ภาษา ค้าบ ขอบคุณสำหรับไมตรีจิตที่มีให้เสมอมานะครับ (เข้ามาอ่านและคอมเม้นท์ ไว้บ่อยๆ) ขอบคุณมากๆๆๆ ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ NONGYAO - CHAMCHOY ใช่ครับ ถูกต้องครับ

สวัสดีครับ ลุงพูน กลอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าใครแต่ง ตามข้อมูลที่ลุงพูน ให้ไว้ อนุมานได้ว่า อย่างน้อยๆ กลอนนี้ต้องแต่งขึ้นระหว่าง  พศ.2516  หรือก่อนหน้านั้น อนึ่งกลอนนี้ผมอ่านเจอจากหนังสือที่เขียนโดยคุณ จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา,  ชื่อหนังสือ อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง 7 ท่าน.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : พัฒนา, 2533. แต่คำในกระสวนกลอน มีที่เพี้ยนกันบ้าง ดังนี้ครับ

มีเรือดีพายดีไม่ขี่ข้าม           กลับเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่
อยากให้ราชการงานเมืองดี    กลับเอาคนอัปรีย์มาใช้งาน

บริบทของกลอนกล่าวให้คติเตือนใจว่าด้วยเรื่อง การคัดสรรคนเข้าทำงานสายปกครอง เพื่อนำพารัฐนาวา ไปสู่จุดมุ่งหมาย (ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข) ซึ่ง  เรือ+ รั่ว มีความหมายที่แฝงนัยยะสำคัญทางการเมือง ส่วน เรือ+รั่ว ในที่นี้แฝงนัยยะสำคัญในทางธรรม ครับ :) ขอบคุณๆ ลุงพูนมากๆ ครับ

สวัสดีครับพี่ ครูโย่ง สบายดีครับผม อืมพี่ พ่อผมชอบดูคมแฝกนะ เมื่อเย็นนั่งคุยกะพ่อมา :)

สวัสดีครับ คนไม่มีราก ความจริงมนุษย์ควรมีความสุขในการ...ฝ่าฝันวิกฤตในชีวิต...(ถ้ามี) เพราะถ้ารอด...นั่นย่อมเป็น...รางวัลในชีวิตเสมอ

ครับกระผม 

สวัสดีครับคุณ ใบไม้ย้อนแสง

เอ..ที่บอกว่า "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" มาจากคำว่า "危機" ด้วยหรือเปล่าน้า สงสัย ๆ ..^_^..

น่าจะใช่นะครับ บางคนก็ชอบพลิกโอกาส ให้เป็นวิกฤติ นะ เคยเห็นมั้ยคนแบบนี้ บางทีก็มีอยู่ในโลกนะ

สวัสดีครับพี่นุส  nussa-udon 

จริงแท้แน่นอนความสงบเย็นของจิตท่ามกลางความรุ่มร้อน เป็นสิ่งดียิ่งนักเกิดขึ้นได้บ้างบางโอกาสรู้สึกมีสมาธิเบาสบาย ใช้บ่อยและพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเสมอในงานประจำที่ทำอยู่ค่ะ.

อาชีพพยาบาลของพี่นุส นั้นเป็นอาชีพที่ ต้องเปลี่ยนวิกฤติ(ของผู้ป่วย)ให้เป็นโอกาส อยู่เสมอๆนะครับ :) 

ความโกรธ ความคับข้องใจ  ความรุ่นร้อน ที่เกิดจากเพื่อนร่วมงาน หรือคนไข้ก็ดี จะหายไปถ้า ...........

เล่าเป็นนิทานให้พี่ฟังดีกว่า เรื่องมันมีอยู่ว่า

เด็กคนหนึ่งพบเต่าคลานอยู่ข้างถนน จึงจับมาเล่น แต่เต่าตัวนั้นหดหัวและขาเข้าไปอยู่ในกระดอง เด็กน้อยหาไม้เพื่อที่จะงัดเอาหัวเต่าออกมาดู

“เอ็งกำลังจะฆ่าเต่าหรือ” ยายถามเด็กน้อย

“เปล่าครับ ผมจะเอาไม้งัดหัวเต่าออกมาดู”

“แต่วิธีที่เอ็งทำนั้นจะเป็นการฆ่าเต่านะ”

ยายพูดพร้อมใช้มือยกเต่าตัวนั้นมาวางที่สนามหญ้า เอาน้ำพรมลงที่ตัวเต่า แล้วชวนหลานถอยออกไปดูเงียบ ๆ อีกครู่เดียวเต่าตัวนั้นก็ยืดหัวและขาออกมาเดิน

เต่านั้นก็เหมือนคนน่ะหลานเอ๋ย เราไม่สามารถบังคับขู่เข็ญให้คนอื่นทำทุกอย่างตามที่เราต้องการได้ด้วย ด้วยวาจา หรือด้วยกำลัง ในบางครั้งเราก็ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบ คือรู้จักให้น้ำใจไมตรีแก่เขา เหมือนดังที่ท่าน สุนทรภู่ ท่าน แต่งเป็นกลอนไว้ใน เพลงยาวถวายโอวาท ความว่า

ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง

สวัสดีครับพี่  Apinyaka Karomprath

สวัสดีค่ะ คุณกวิน เห็นจั่วหัว แล้วก็อดที่จะแวะเข้ามาทักทายไม่ได้ เรื่องน่าสนใจค่ะ แล้วก็คิดไปหลายประเด็น บางครั้งก็คิดว่าท้าทายดี บางทีก็คิดว่าทำผิดหรือไม่ที่ขี่เรือรั่ว ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ

เมื่อเราได้เสี่ยงมาลัย เอ้ยเสี่ยงเรือ แล้ว และได้พายเรือ(ชีวิต) ออกไปห่างฝั่ง ก็ต้องล่มหัวจมท้ายไปกับเรือ นะครับ  น่าจะผิดที่เราครึ่งหนึ่ง ผิดที่เรือครึ่งหนึ่งครับ ผลที่ตามมาจึงเกิดความท้าทายในชีวิต  ร่างกายจึง ผลิตสาร Adrenaline แต่ว่า Adrenaline น่าจะเข้าข่ายเป็นสารเสพย์ติดนะครับ ฮาๆเอิ๊กๆ พวกที่ชอบหาความตื่นเต้นให้กับชีวิต นี่สมควรต้องพาไปเลิกที่ถ้ำกระบอกนะครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท