ทฤษฎีของ Mc Gregor และ ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า



เพลงลาวคำหอม @  172401



ดักลาส  แมคเกรเกอร์ (Douglas Mc Gregor) ได้เสนอทฤษฎีไม้แข็ง (X Theory) และทฤษฎีไม้นวม (Y Theory )  เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในการทำงานของคน โดยสรุปว่า


ทฤษฎี X (Theory X)  คือคนประเภทเกียจคร้าน  ในการบริหารจึงควรใช้มาตรการบังคับ  มีระเบียบกฎเกณฑ์คอยกำกับ  มีการควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด  และมีการลงโทษเป็นหลัก

ทฤษฎี Y (Theory Y)  คือคนประเภทขยัน  ควรมีการกำหนดหน้าที่การงานที่เหมาะสม  ท้าทายความสามารถ  สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานเชิงบวก  และควรเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน



คนในโลก  คงไม่มีแค่ 2 ประเภท  แบบทฤษฎี X  และทฤษฎี Y โดยสิ้นเชิงเท่านั้น  ประเภทที่มีมากที่สุดน่าจะเป็น ทฤษฎี XY  คือ  บางครั้งขี้เกียจ  บางครั้งขยัน  แต่ขี้เกียจมากกว่าขยัน หรือจะเป็นทฤษฎี YX  คือ  บางครั้งขยัน  บางครั้งขี้เกียจ  แต่ขยันมากกว่าขี้เกียจ  ไม่เชื่อลองตรวจสอบอารมณ์ของท่านเองก็ได้ว่า  ระหว่าง X, Y, XY  และ YX  ท่านอยู่ในประเภทไหน?
(รองศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ นพรัก :1)



จะเห็นได้ว่า 


Theory X = คิดลบ   (negative thinking)
Theory Y = คิดบวก (positive thinking)



พุทธทาสภิกขุ เอง ท่านก็ได้สอนให้ คิดบวก เข้าไว้ นั่นคือ ท่านมองว่า คนเราล้วนมีความ เลวดี ปะปนกัน มากบ้างน้อยบ้าง และไม่ควรเพ่งโทษ ผู้อื่น (อาจรวมทั้งไม่ควรเพ่งโทษตัวเองด้วย)   ไม่ควรมองผู้อื่นแต่ในแง่คิดลบ หรือ ไม่ควรมองคนเฉพาะด้านที่เลว  โดยเสนอว่า ให้มองแต่แง่ดี หรือมองในแง่บวก เข้าไว้ ดังคำกลอนที่ว่า



พุทธทาส :
เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา              จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู            ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว                  อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนค้นหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย    ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง


แต่ทว่า การคิดบวก หรือการมองคนในแง่ดี ในลักษณะเช่นนี้ ไม่เหมาะกับสภาพสังคม ที่ยังมากไปด้วยกิเลส  การคิดบวก/การมองคนในแง่ดี นั้นจะใช้อ้างอิงได้กับเฉพาะในบางกรณีเท่านั้น การคิดบวก/การมองคนในแง่ดี โดยไม่คิดลบ/มองคนในแง่ร้าย เลยนั้น ย่อมจะส่งผลให้ ในบางครั้งบางคราว ผู้ที่มองโลกในแง่บวก/มองคนในแง่ดี  ก็อาจจะเกิดความประมาทในชีวิต ส่วนการคิดลบ/มองคนในแง่ร้าย นั้นก็ย่อมสร้างความทุรุนทุรายใจ ความคับข้องหมองใจ ความหวาดวิตก ระแวงระวัง  ฉะนั้นคนเรา ควรที่จะมองโลกให้ครบทั้งสองด้าน คือควรที่จะคิดบวก และคิดลบ ให้ครบถ้วนแล้วนำมาชั่งน้ำหนัก วิเคราะห์และประเมินผล ดังคำกลอนที่ว่า



กวิน:
เขามีส่วน ดีจง อย่าหลงเขลา               จงมองเงา- เค้าความเลว เหลวไหลอยู่
เป็นประโยชน์ โภชน์ผล ของคนดู         ดีเลวรู้ สู่จิต  ครุ่นคิดเอย
แม้นยืนข้าง เลวดี ที่จุดเดียว                ใจจะเอี้ยว (ลำ)เอียงได้ สหายเอ๋ย
ใจแม้นหมุน ดุลไว้ ไม่ไกวเลย               ฝึกให้เคย มองเลวดี มีคุณจริง


หากเราคิดแต่แง่บวก เช่นว่า ฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นคนดี โดยที่เรามิได้เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเราหลอกตัวเอง หรือการคิดว่า ฉันเป็นคนไม่เก่ง ฉันเป็นคนไม่ดี การคิดเช่นนี้ก็เท่ากับการทำร้ายจิตใจตนเองเช่นเดียวกัน

คนทุกคนย่อมมี ด้านดี และด้านเลว (darkside) คนเราเมื่อมองโลกในแง่ดี ก็ย่อมที่จะเห็นแต่ความดี และอาจหลงในความดี นั้นอย่างหัวปักหัวปำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนมาทำดีกับเรา เราก็มองว่าเขาช่างเป็นคนดีซะเหลือเกิน หรือใครที่ทำเลวกับเรา เราก็ย่อมมองว่า มันช่างเลวซะเหลือเกิน

เมื่อใดก็ตามที่เรามองคนเพียงแค่ด้านดี หรือด้านเลว เพียงด้านเดียว เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่เห็นความจริงครบทั้งสองด้าน ส่งผลให้เกิด อคติ คือความลำเอียงเกิดขึ้นในใจได้ ฉะนั้นโบราณท่านจึง สอนว่า ให้รู้จัก ยับยั้ง ชั่งใจ นั่นคือการมองสิ่งต่างๆ ให้เห็นครบ ทั้งด้านที่ดี และด้านที่เลว  แล้วนำมาชั่งน้ำหนักดู โดยใช้ใจของเราเป็นตาชั่ง

เช่นเดียวกันกับในยาม ที่เรามองดูตัวเราเอง/คิด/พูด/ กับตัวเอง หรือแม้กระทั่งจะตัดสินใจ กระทำ หรือไม่กระทำ สิ่งใดๆ ก็ตาม เราก็ควรที่จะรู้จัก ยับยั้ง ชั่งใจ  เสียก่อน นั่นคือ มองให้เห็น ทั้งในแง่บวก แง่ลบ ด้านดี ด้านเลว ที่จะบังเกิดขึ้น แล้วจึงตัดสินใจกระทำ หรือไม่กระทำ สิ่งต่างๆ  เมื่อเรา  ยับยั้ง ชั่งใจ  และใคร่ครวญจนครบถ้วนดีแล้ว ความพลาดผิด ที่ยังมิบังเกิด ย่อมระงับดับไป ความพลาดผิดที่บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทุเลาเบาบางลง เช่นนี้แล้ว ประโยชน์โภชนผล ย่อมมีกับคน ผู้รู้จัก มองโลก ทั้งในแง่ดี และร้าย (คิดบวก คิดลบ)  แล้วนำมา ยับยั้ง ชั่งใจ ด้วยประการฉะนี้
และด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค ท่านจึงได้เสนอ ทฤษฎี  (X+Y)/2  = นิติธรรม  ไว้เมื่อ 2551 ปีก่อน ที่ว่า


X=อัตกิลมถาลิกานุโยค  (negative thinking)
Y=กามสุขขัลลิกานุโยค  (positive thinking)
/2=มัชฌิมาปฏิปทา       
ผลลัพธ์=นิติธรรม



ตามทรรศนะของพระผู้มีพระภาค ทรงเล็งเห็นว่า การมอง/การกระทำ ก็ดี ล้วนต้องยึดหนทางสายกลาง ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ควรที่จะนำจิตไป  ผูกรัก ผูกชัง  (โมหคติ โทสคติ) และที่สำคัญที่สุด การคิดนั้นต้องเป็นการคิดที่อาศัย  โยนิโสมนสิการ (คิดถูกทาง) ประกอบด้วยทุกๆ ครั้ง

ปล. บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นเพราะมีความเห็นต่าง กับกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง กัลยาณมิตรท่านนี้เป็นผู้ที่ นิยมชมชอบ การมองโลกในแง่ดี และมักจะมองเห็นว่า "โลกนี้มีแต่ความดี มีแต่คนดี โลกนี้ช่างสวยงาม" ประโยคเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง คำกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สอนในเรื่องของ "การมองโลกในแง่ดี" ผู้เขียนจึงลองนั่ง ไตร่ตรอง และเริ่มตระหนักว่า  "การมองโลกในแง่ดี"  นี้มีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์เสียจริงหนอ หากไม่รู้จักเลือกนำไปใช้ให้ถูกกาลเทศะ

"การมองโลกในแง่ดี" นี้เหมือนกับ ปืน ซึ่ง ปืนนั้นเอาไว้ใช้ป้องกันตนจากภยันตรายอันจะมาถึงตัวก็ได้ แต่ถ้าใช้ปืนไม่เป็น ปืนก็อาจจะลั่นใส่ตัวให้ต้องได้รับบาดเจ็บ ปืนซึ่งมีไว้ใช้ป้องกันภยันตรายอันจะมาถึงตัวนี้ ก็คือการมองโลกในแง่ดี/การคิดบวกการมองโลกในแง่ดี/การคิดบวก นั้นย่อมทำให้เราเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ สดใส เบิกบาน บังเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) คือ ยอมรับนับถือตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง คารพในตนและผู้อื่น มีชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมาย แต่ถ้าใช้ปืนแห่งการมองโลกในแง่ดี/คิดบวก นี้ไม่เป็น ปืนนี้ก็อาจจะลั่นใส่ตัวให้ต้องได้รับบาดเจ็บ ด้วยเพราะการการมองโลกในแง่ดี/คิดบวก ที่ว่า "โลกนี้มีแต่ความดี มีแต่คนดี โลกนี้ช่างสวยงาม" จนลืมระแวดระวังภัย ว่า โลกนี้ ด้านที่ร้ายนั้นก็ยังมีอยู่ คนเลวนั้นก็ยังมีอยู่ โลกด้านที่น่าเกลียดน่ากลัวนั้นก็ยังมีอยู่ เมื่อใจบังคับตาให้มองเห็นแต่ด้านดี ตาก็ย่อมมองไม่เห็นด้านเลว  จนบังเกิดเป็นความประมาท บังเกิดเป็นอคติ ในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นอันตราย  อุปมาเหมือนเด็กที่ นำปืนมาลูบคลำเล่นโดยที่ไม่รู้อานุภาพแห่งปืน

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงพยามคิดต่อยอดจากท่านพุทธทาสภิกขุว่าด้วยเรื่อง "การมองโลกในแง่ดี" ซึ่งมีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์ เหมือนปืน อนึ่งผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะหลบหลู่ครูบาอาจารย์ในทางกลับกัน บทความนี้เป็นการปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์  ด้วยการคิดต่อยอด จากความคิดของครูบาอาจารย์นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 203025เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2008 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ตามมาเยี่ยมน้องกวินครับ

สบายดีนะครับ

ขอบคุณครับมาคนแรกเลยนะพี่โย่ง

+ น้องกวินค่ะ....เจ้าโย่งวินทุกที.....

+ พี่อ๋อยว่า...ดีเลวก็มองมันทั้งสองอย่างนั่นแหละ...

+ พี่ว่าพี่คิดเหมือนกวินนั่นแหละ....มองตามสภาพจริง...

+ แต่เมื่อรู้แล้วก็ต้องเดินตามทางสายกลางค่ะ

+ อิ อิ.....

แวะมาอ่าน...ค่ะ..^_^..

นำดอกโมก...มาฝาก แต่นี่เป็นโมกดอกชั้นเดียว มีโมกซ้อนด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณแม่น้องแอมแปร์ เมื่อคืนรีบๆ พิมพ์เลยอ้างอิง มั่วๆ ไปหน่อยวันนี้มาจัดเรียงความคิดใหม่ ขอบคุณมากๆครับ

ขอบคุณคนไม่มีรากมากๆครับ ใบไม้สีเขียวๆ ดูแล้วสบายตาดีนะครับ ดอกโมกข์ ดีนะครับ นึกถึง โมกขธรรม

 โมกขธรรม คำแปล น. ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น หมายถึง พระนิพพาน. ที่มา (1)
 
 

คิดอย่าง โยนิโสมนสิการ (คิดถูกทาง) ประกอบด้วยทุกๆ ครั้ง ถุกที่สุดค่ะ
พี่เดินแนวนี้มาตลอดค่ะ 

 

ขอบคุณครับพี่ผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ทำที่คิดนี่ เรียกว่า ลบหรือบวก แต่ที่แน่ๆ ผมว่าผมทำถูก คิดถูกทางพอสมควรนะครับ :)

แวะมาทักคุณกวินครับ

สบายดีนะครับ  ผมเพิ่งไปฮ่องกงกับคุณพ่อมา เลยไม่ค่อยได้มาอ่านบทความคุณกวิน

ผมคิดว่า มนุษย์เป็นส่วนรวมของ X/Y นะครับ ขึ้นกับบางช่วงบางตอน บางอารมณ์ของชีวิต แต่ก็ชอบที่คุณวิเคราะห์ครับ

ต้องมองโลกทั้งแง่บวกและลบ แต่ในการดำรงชีวิตจำเป็นต้องอาศัย...ความคิดทางบวกนะครับ...เราจึงจะมีกำลังใจอยู่ได้  ตัวเองผมเป็นต้น ถ้าคิดว่าตัวเองป่วยและต้องกินยาไปตลอดชีวิต ก็คงไม่มีทางหายได้ แต่ตอนนี้ผมมีกำลังใจ คิดได้ จึงกลับมาเกือบปกติอีกครั้งแล้ว

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับคุณใพธิ์ ขอบคุณสำหรับทรรศนะที่เสนอไว้ ไปฮ่องกง เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากสถานการณ์บ้านเมืองดีจังนะครับ ขอเป็นกำลังใจให้คุณใบโพธิ ด้วยคนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท