มรรควิธีในการทำลาย อัสมิมานะ (Superiority) ผู้อื่น


ผู้เขียนเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Pyramid of life  โดยยกโคลงดั้น ที่ว่า


ฐานใหญ่ยอดเล็กแล้ว    มั่น
เหลือ
สูงสกิดเกาอมรินทร์       เล่นได้
ฐานย่อมยอดใหญ่เจือ-   จริตหยิ่ง
ตาตุ่มสูงต้อง
ใต้-           ตุ่มเสมอ


ที่มา รำลึกถึงนายผี จากป้าลม / วิมล พลจันทร 2463-2545. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2533.


ถอดความได้ว่า

-การสร้างพีรามิด( Pyramid ) /เจดีย์ ย่อมสร้างให้ฐานใหญ่ ยอดเล็ก จึงจะเกิดความมั่นคง ในโครงสร้าง
-สร้างสูงถึงสวรรค์ก็สร้างได้ (ยอดสูง จนไปสะกิดพระอินทร์ได้)
-แต่ถ้าการสร้างพีรามิด( Pyramid ) /เจดีย์ สร้างแบบ ฐานเล็ก(ขนาดย่อมเยาว์) แต่ส่วนยอดมีขนาดใหญ่ คนทักท้วงก็ไม่ฟัง เปี่ยมไปด้วย ความหยิ่งในดวงจริต เอ้ย ดวงจิต
-สร้างไป ก็สูงได้ไม่เกินตาตุ่ม


ในที่นี้จะขอแปลและวิเคราะห์ถึง มรรควิธีในการทำลายอัสมิมานะ(Superiority) ผู้อื่น โดยตั้งตุ๊กตา ขึ้นมาหนึ่งตุ๊กตา เพื่อวิเคราะห์ โดยการอุปมาอุปไมย ถึงการควบคุมงานการก่อสร้างเจดีย์ และการควบคุมงานการขุดเรือ ความว่า

ในฐานะที่เราเป็นผู้มอง และมีเขาเป็นผู้ทำ โดยเราเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในสิ่งที่เรากำลังเฝ้ามอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองเห็น คนกำลังก่อสร้างเจดีย์ แต่ได้เรียงอิฐไว้ อย่างโย้เย้ ไม่มั่นคง หากเราปล่อยปละละเลยให้เขาก่อสร้างต่อไปจนสำเร็จ ในภายภาคอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เจดีย์ย่อมมีรูปทรงบิดๆ เบี้ยวๆ

ฉะนั้น แม้ว่าเขาผู้นั้นได้เริ่มก่อร่างสร้างเจดีย์ไปแล้ว 25% ก็ดี 50% ก็ดี การติเพื่อให้เขาทำลายของเดิมทิ้ง แล้วก่อร่างสร้างใหม่ให้ถูกแบบ คงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าเขาก่อเจดีย์ไปแล้ว ถึง 75% ก็ดี หรือ ก่อเสร็จจนสมบูรณ์ 100% แล้วก็ดี คงต้องมานั่งพิจารณาว่า จะทำลายทิ้งเพื่อก่อร่างสร้างใหม่ หรือจะทำการปรับปรุงแก้ไขฐานรากให้แข็งแรงทนทาน นี่จึงเรียกว่า ติเพื่อก่อ   

แต่โบราณ ก็มีอีกสำนวนหนึ่งนั้นก็คือสำนวนที่ว่า ติเรือทั้งโกลน ซึ่งขัดแย้งกันในเชิงบริบท ติเรือทั้งโกลน นั้นหมายความว่า  ชิงติงานที่เขาเริ่มทำใหม่ ๆ โดยยังไม่ทันได้เห็นผลสัมฤทธิ์  โกลน ในสำนวนนี้หมายถึง  ซุง  ที่เขาเอามาเกลาหรือถากเพื่อที่จะต่อเป็นเรือขุด โกลนในชั้นแรกจึงดูไม่ค่อยเป็นรูปร่างดี  ต่อเมื่อโกลนดีแล้ว ซุงจึงค่อยๆ เป็นรูป เป็นทรงเรือ (1)

ตามทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า เราต้องมองให้ออกว่า เขากำลังก่ออิฐ หรือกำลังขุดเรือ โดยปกติคนเราย่อมที่จะมี อัสมิมานะ  ด้วยกันทุกคน เมื่อเขาทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย แล้วมีคนมาติว่า ก่ออิฐผิด ถากไม้ผิด ก็คงจะต้องรู้สึกโกรธ ทั้งที่เราหวังดี

วิธีการในการทำลาย อัสมิมานะ ทำได้ด้วยการใช้ คำพยากรณ์ นั่นคือในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า ถ้าก่ออิฐแบบนี้ ถากไม้แบบนี้ ขั้นตอนต่อไปจะมีปัญหาแบบนี้ ถ้าเราพยากรณ์ถูก เขาก็จะเริ่มเชื่อ เริ่มศรัทธาเราไปโดยปริยาย ที่สำคัญก็คือ เราอาจจะต้อง ทุ่มเทแรงกายแรงใจ โดยการ ก่ออิฐให้เขาดู ลงมือถากไม้ให้เขาเห็น แต่ไม่ใช่ลงมือทำแทนไปเสียทุกสิ่งอย่างทุกขั้นทุกตอน  

เมื่อเขาเข้าใจกระบวนการในการปฏิบัติดีแล้ว ต่อไปเขาก็จะทำถูกทำนองคลองธรรมได้โดยตนเองเพื่อตนเอง อนึ่งในระหว่างที่เราเฝ้ามองดูอยู่นั้น ถ้าเรารู้จักใช้พระเดช (มีแส้ มีดาบในมือ) และพระคุณ (มีเงิน มีสิ่งล่อใจในมือ) ก็จะทำให้ กรรมกร มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่มี ทั้งพระเดชและพระคุณในมือ กรรมกรเขาก็อาจจะขาดความยำเกรง หรืออาจจะบังเกิดความโลเลสงสัย ทำให้งานยากที่จะบรรลุผลสำเร็จสัมฤทธิ์ เมื่อใดก็ตามที่กรรมกร เกรงกลัวในพระเดช และยำเกรงในพระคุณ งานก็จะออกมาดีสมดังตั้งใจ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอย ดำหนิดำเนียน (ติเตียน) กรรมกร เหล่านั้นได้อีก


หมายเลขบันทึก: 209476เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คนเราปัจจุบันทั้งติทั้งต้าน...คนทำคนคิดกำลังใจแทบไม่เหลือติคนอื่นง่ายไง ...บางคนถึงกับล้มเลิกโครงการดีๆที่จะทำ

เพียงเพราะว่าฝีปาก และเขาเหล่านั้นเป็นคนของใคร...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท