อุยกาย+วัสสการพราหมณ์+การโบยตีเฆี่ยนด้วยหวาย (แช่เยี่ยว)?+จารชน


"พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แคว้นมคธ ซึ่งทรงเป็นนักรบที่ยอดเยี่ยมในสมัยนั้น ได้ทรงกีฑาทัพไปตีเมือง ไพศาลี ต้องล่าทัพปราชัย ถึง 3 ครั้ง หมดทางที่จะเอาเมืองไพศาลีเป็นเมืองขึ้นด้วยแสนยานุภาพ เพราะกษัตริย์ลิจฉวีเคารพมั่นอยู่ ใน ลิจฉวีอปริหานิยธรรม ที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าบรมครู ทรงประทานไว้ รักษาเอกราชของราชอาณาจักรให้ปลอดภัยได้อย่างน่าสรรเสริญ ภายหลังพระเจ้าอชาตศัตรูทรงส่ง วัสสการพราหมณ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถาม ถึงเหตุที่กษัตริย์ลิจฉวี ทรงอานุภาพรักษาราชอาณาจักรไว้ได้ และเหตุที่กษัตริย์ลิจฉวีจะเสื่อมอานุภาพเสียเอกราชในกาลต่อไปด้วย โดยแน่พระทัยว่า พระพุทธเจ้ามีพระวาจาเป็นเอกไม่ตรัสคำเท็จ ตรัสคำใดคำนั้น จะต้องเป็นจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งว่า ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวียังมั่นอยู่ในสามัคคีธรรมแล้ว ตราบนั้นจะไม่มีผู้ใดไป ทำความปราชัยให้แก่กษัตริย์ลิจฉวีเป็นอันขาด ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเช่นนั้น ก็ทรงเปลี่ยนแผนการณ์ตีเมืองไพศาลีด้วยแสนยานุภาพที่ทรงใช้มาแล้วไม่ได้ผล มาเป็นแผนการทำลายสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีตามพระพุทธพยากรณ์ซึ่งถือเป็นสงครามเย็น แม้จะเป็นเวลานานก็ยังดีกว่าเพราะหวังได้เพราะไม่ต้องเสียกำลังทหารอีกด้วย และก็เป็นความจริงตามพุทธพยากรณ์ คือ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วไม่นาน (ประมาณพุทธศักราชที่ 1-10?) พระเจ้าอชาตศัตรู ได้อุบายวางแผนการทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยส่ง วัสสการ พราหมณ์ เข้าไปอยู่ใน เมืองไพศาลี ปลุกปั่น ยุแหย่ ให้กษัตริย์ตลอดนักรบทั้งหลายแตกร้าวกันหมด ทำลายความสามัคคี และความเคารพเชื่อถือกัน ในที่สุด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกกองทัพเข้ายึดเมืองไพศาลีได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียชีวิตทหารแม้แต่คนเดียว" (1)


พงศาวดารกษัตริย์ลิจฉวี แห่งเมืองไพศาลีนี้ นายชิต บุรทัต ได้นำมาแต่งเป็นกวีนิพนธ์เรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ (พ.ศ. 2457) และได้บรรยายฉาก วัสสการพราหมณ์ ซึ่งถูกโบยด้วย หวาย เอาไว้ความว่า

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

 "๏พวกราชมัลโดย-    พละโบยมิใช่เบา
สุดหัตถะแห่งเขา       ขณะหวดสิพึงกลัว
๏ บงเนื้อก็เนื้อเต้น      พิศะเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว        ก็ระริกระริวไหว
๏ แลหลังละโลมโล-    หิตะโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ       ระกะร่อยเพราะรอยหวาย
๏ เนืองนับอเนกแนว   ระยะแถวตลอดลาย
เฆี่ยนครบสยบกาย     สิระพับพะกับคา" (2)

สำหรับคำว่า ราชมัล  แปลว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำโทษคน อนึ่งว่าด้วยเรื่องของการ โบย นั้นศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือ กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ หน้า 96 ความว่า

"การถลกหนังคนทั้งเป็น นั้น ไม่เคยปรากฎในประวัติของคนไทย ถ้าเคยทำก็คงมีร่องรอยกล่าวไว้ที่ใดบ้าง แต่การลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังนั้นมีจริง มีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ศัพท์ชาวบ้านเรียก การเฆี่ยนหลัง นั้นว่า ถลกหลัง ก็มี เพราะเมื่อถูกเฆี่ยนหลังแล้วหนังของคนที่ถูกเฆี่ยนนั้นก็จะต้องขาดหรือถูกถลกตามรอย หวาย ที่เฆี่ยนลง เพราะการเฆี่ยนหลังนั้นมิได้ให้ผู้ถูกเฆี่ยนยืนหรือนอนคว่ำแล้วจึงเฆี่ยน แต่ปักหลักลงแล้วเอาคนที่ถูกเฆี่ยนนั้นนั่งหน้าหลักที่ปักไว้ ให้เหยียดเท้ายืดขาตรงไป ผูกข้อเท้าไว้กับหลักแล้วดึงแขนเหยียดตรงไปผูกข้อมือไว้กับหลักนั้นรวมไว้กับข้อเท้า ในลักษณะเช่นนี้หลังของผู้ถูกเฆี่ยนก็ต้องโค้งค่อมหลังตึงเต็มเหยียดเมื่อลงหวายก็ต้องแตกทุกฝีหวายไป หนังก็ถูกถลกตามรอย หวาย ด้วยประการฉะนี้ จึงเรียกการถูกเฆี่ยนว่าถูก ถลกหลัง ไม่ใช่ ถลกหนัง" (3)


ภาพ ต้นหวาย ซึ่งมีหนามแหลมคม (4)

"กอหวาย จะพบหวายได้ ทั่วไปในบริเวณป่าดิบแล้ง ดิบชื้น และที่ชุ่มชื้นตามริมห้วย ขนาดของต้นอาจจะเป็นกอเล็กๆ จนถึงเป็นลำใหญ่เลี้อยยาวเกาะไปตามต้นไม้ใหญ่ บางครั้งพบว่าหวายเป็นต้นไม้ที่มีเรือนยอดสูงที่สุดในผืนป่า เนื่องจากอาศัยเกาะไปตามไม้ใหญ่ ผลหวายมีเปลือกนอกคล้ายเกล็ดปกคลุม ภายในมีเนื้อหุ้มเมล็ดอยู่ เป็นอาหารของสัตว์ฟันแทะตัวเล็กๆ เช่น กระรอก หนู มนุษย์ก็เก็บกินผลหวายเช่นกัน  หนามหวาย แหลมคม มีไว้ป้องกันภัยจากสัตว์กินพืช หนามหวาย นั้นแหลมคมแค่ไหน สะท้อนได้จากการลงโทษในสมัยโบราณตามกบิลเมือง ที่ให้้ เฆี่ยนด้วยหนามหวาย  การเฆี่ยนด้วยหนามหวายนั้นเจ็บปวดและทุกข์ทรมาณ กว่า เฆี่ยนด้วยหวายแช่เยี่ยว ทำไมต้องแช่เยี่ยว? ปัสสาวะ หรือเยี่ยวนั้น ก็คือเกลือประเภทหนึ่งตามที่เราทราบว่ามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคได้ อันนี้น่าจะเป็นภูมิปัญญาคนโบราณ การเฆี่ยนด้วยหนามหวาย ต่างกันอย่างไรกับการเฆี่ยนด้วยหวายแช่เยี่ยว หวายที่เกลาหนามออกแล้วสปริงเวลาเฆี่ยน เสียงแหวกอากาศมีผลทางจิตวิทยาให้หวาดผวาเกรงกลัว คนที่ถูกเฆี่ยนด้วยหวายที่เกลาหนามออกแล้วนำไปแช่เยี่ยว ถึงจะเจ็บแสบแต่ไม่ติดเชื้อรุนแรงถึงตาย แต่การเฆี่ยนด้วยหวายที่ไม่ได้เกลาเอาหนามออกและไม่ได้แช่เยี่ยว ผลกระทบหลังจากการลงโทษ นอกจากบาดแผลแตกช้ำแล้วยังต้องแคะหาหนามหวายที่หักค้างฝังในเนื้อ ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง และอาจถึงแก่ความตายได้ในระยะเวลาอันสั้น" (4)

ว่าด้วยเรื่องของการโบยด้วยหนามหวายนี้ มีปรากฎอยู่ใน เตมียชาดก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ทศชาติชาดกความว่า

"พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ากาสิกราช ครองเมืองชื่อว่า พาราณสี มีพระมเหสี พระนามว่า จันทเทวี พระราชาไม่มีพระราชโอรสที่จะครองเมืองต่อจากพระองค์ จึงโปรดให้ พระนางจันทเทวีทำพิธีขอพระโอรสจากเทพเจ้า พระนางจันทเทวีจึงทรงอธิษฐานว่า "ข้าพเจ้าได้รักษาศีล บริสุทธิ์ตลอดมา ขอให้บุญกุศลนี้บันดาลให้ข้าพเจ้ามีโอรสเถิด" ด้วยอานุภาพแห่งศีลบริสุทธิ์ พระนางจันทเทวีทรงครรภ์ และประสูติพระโอรสสมดังความปราถนา พระโอรส มีรูปโฉม งดงามยิ่งนัก ทั้งพระราชาพระมเหสี และประชาชนทั้งหลาย มีความยินดีเป็นที่สุด พระราชาจึงตั้งพระนามโอรสว่า เตมีย์ แปลว่า เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย บรรดาพราหมณ์ผู้รู้วิชาทำนายลักษณะบุคคล ได้กราบทูล พระราชาว่า พระโอรสองค์นี้มีลักษณะประเสริฐ เมื่อเติบโตขึ้น จะได้เป็นพระราชาธิราชของมหาทวีปทั้งสี่ พระราชาทรงยินดี เป็นอย่างยิ่ง และทรงเลือกแม่นมที่มีลักษณะดีเลิศตามตำรา จำนวน 64 คน เป็นผู้ปรนนิบัติเลี้ยงดูพระเตมีย์กุมาร วันหนึ่ง พระราชาทรงอุ้มพระเตมีย์ไว้บนตัก ขณะที่กำลัง พิพากษาโทษผู้ร้าย 4 คน พระราชาตรัสสั่งให้เอา หวาย ที่มีหนามแหลมคมมาเฆี่ยนผู้ร้ายคนหนึ่ง แล้วส่งไปขังคุก ให้เอาฉมวกแทงศีรษะผู้ร้ายคนที่สาม และให้ใช้หลาว เสียบผู้ร้ายคนสุดท้าย พระเตมีย์ซึ่งอยู่บนตักพระบิดาได้ยินคำพิพากษาดังนั้น ก็มีความตกใจหวาดกลัว ทรงคิดว่า "ถ้าเราโต ขึ้นได้เป็นพระราชา เราก็คงต้องตัดสินโทษผู้ร้ายบ้างและคงต้องทำบาป เช่นเดียวกันนี้ เมื่อเราตายไป ก็จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน" (5)


ในหนังสือ โลกทีปนี หน้า 49  ซึ่งประพันธ์โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) ได้บรรยายถึง หนามหวาย  เอาไว้ความว่า 

“ถัดจาก อสิปัตตนรก นั้น ก็มาถึง อุสสุทนรก อันดับที่ 4 ซึ่งมีชื่อว่า เวตรณีนรก ณ สถานที่นี่เต็มไปด้วยน้ำเค็มตั้งอยู่ชั่วกัป มี เครือหนามหวายเหล็ก ล้อมรอบเป็นขอบขัณฑ์ ในท่ามกลางนั้น ปรากฎเป็นปทุมชาติ ทำให้สัตว์นรกทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นแม่น้ำเย็นสนิท พอตนพ้นจาก อสิปัตต นรก มาถึงที่นี่ เห็นแม่น้ำเข้าก็ดีใจ หวังจะอาบดื่มกินให้สบายวิ่งมาโดยเร็ว พอมาถึงก็กระโจนลงไป เครือหวายซึ่งคมเหมือนหอกเหมือนดาบ ก็บาดร่างกายให้เป็นแผลในน้ำเค็ม เขาทั้งหลายย่อมประสบทุกขเวทนาทั้งเจ็บทั้งแสบ แล้วก็ให้มีอันเกิดเป็นเปลวไฟลุกไหม้เผาทั้งๆ ที่อยู่ในแม่น้ำ ไฟไหม้ศีรษะร่างกายของเขาให้ดำไหม้เกรียมเหมือนกับไหม้ต้นไม้ในป่า ทำให้ร่างกายห้อยระย้าบน เครือหนามหวาย ร้องดิ้นกระวนกระวายในไม่ช้าก็ตกลงไปต้องกับ บัวหลวงอันมีกลีบคมเป็นกรด ซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำเค็มมีเปลวไฟติดอยู่ตลอดเวลา ใบบัวเหล็กอันคมนั้นก็บาดร่างกายให้ขาดวิ่น ทำให้เจ็บแสบทั้งเนื้อทั้งตัวแสนสาหัส ดิ้นทุรนทุรายเช่นปลาถูกทุบหัวฉะนั้น (6)


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า หวาย นั้นมีไว้ใช้ลงโทษมนุษย์ ทั้ง ทางกาย และทางใจ  การลงโทษทางกายนั่นก็คือการลงโทษโดยอำนาจอาชญา ส่วนการลงโทษทางใจนั่นก็คือ การที่ใจมีความทุกข์ เพราะความกลัวถูกลงโทษโดยผลกรรมใน เวตรณีนรก (สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ) สำหรับเนื้อหาใน สามัคคีเภทคำฉันท์ นั้นทำให้เราได้ทราบว่า ในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างน้อย (ก่อนพุทธศักราช 2551)  มีการใช้จารชนในการทำศึกสงคราม ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แคว้นมคธ ใช้ให้ วัสสการพราหมณ์ เป็นจราชน และ พระเจ้าปเสนทิ แห่งกรุงสาวัตถี ใช้ให้ จารชนปลอมบวชเป็น นักบวช เพื่อสืบราชการลับตามแคว้นต่างๆ ดังปรากฎใน พุทธประวัติความว่า

“พระเจ้าปเสนทิ แห่งกรุงสาวัตถี ทรงทดสอบพระพุทธองค์ คราวหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิ เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า มีนักบวชนิกายต่างๆ คือ ชฎิล นิครนถ์ อเจลก เอกสาฏก ปริพาชก ถือเครื่องบริกขารต่างๆ พะรุงพะรัง เดินผ่านไป ในที่ไม่ไกลนัก ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงกระทำ พระภูษาเฉวียง พระอังสะข้างหนึ่ง คุกพระชานุเบื้องขวาลงพื้น ประนมหัตถ์ ไปทางนักบวช เหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศ พระนามของพระองค์ ขึ้น 3 ครั้งว่า ท่านเจ้าข้า! ข้าพเจ้าคือปเสนทิโกศล (เป็นการเปล่งพระวาจา แสดงความเคารพ) ครั้นแล้ว พระองค์ได้หันไปทูลถาม พระพุทธเจ้าว่า พวกนักบวชเหล่านี้ คงเป็นพระอรหันต์ หรือ เป็นท่านผู้บรรลุ พระอรหัตตมรรค เป็นแน่ พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า มหาบพิตร! พระองค์ เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม มีเหย้าเรือน บรรทมเบียด พระชายา และโอรส ทาจุณจันทร์ อันมาแต่แคว้นกาสี ทรงทัดดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีในเงินและทอง (พระพุทธองค์ทรงตรัสเช่นนี้ก็ด้วยทราบด้วยญาณว่า นักบวช ชฎิล นิครนถ์ อเจลก เอกสาฏก ปริพาชก ที่ได้ถือเครื่องบริขารต่างๆ พะรุงพะรัง ซึ่งกำลังเดินผ่านไปนั้นคือ จารชน ของพระเจ้าพระเจ้าปเสนทิ แห่งกรุงสาวัตถี นักบวชเหล่านี้บวชแต่กายแต่ใจเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม มีเหย้าเรือน นอนเบียด เมีย และลูก ทาจุณจันทร์อันมาแต่แคว้นกาสี ทัดดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีในเงินและทอง) หากมองผิวเผินย่อมหลงว่า คนเหล่านี้เป็นพระอรหันต์  จากนั้นแล้วพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า เราจะรู้ว่า คนนั้นดีหรือชั่ว ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ เราจะรู้ว่า คนนั้นมือสะอาด หรือเปล่า ต้องดูที่ การทำงานของเขา เราจะรู้ว่า คนนั้นกล้า ก็ต่อเมื่อเกิดอันตราย เราจะรู้ว่า คนนั้นมีปัญญา ก็ต่อเมื่อได้สนทนา กันนานๆ พระเจ้าปเสนทิทรงชื่นชม ในพระพุทธพจน์ ทรงรับสารภาพว่า นักบวชที่แต่งกาย ในลัทธิต่างๆนั้น แท้จริงคือจารบุรุษ ที่พระองค์ส่งไป สืบราชการลับ ในต่างแดน (7)



และหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ประมาณ 700 ปี ณ แผ่นดินจีนในยุคสามก๊ก พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 มีการใช้แผนจราชนนี้อีกครั้ง โดย ขุนพล แคว้น ง่อก๊ก ผู้มีนามกรว่า อุยกาย อุยกาย (หวงก้าย Huangkai)  ซึ่งเป็นชาวตำบลเฉวียนหลิ่ง เมืองหลิงหลิง มีชื่อรองว่า กงฝู เป็นคนยากจนมาตั้งแต่เกิด มีอาชีพตัดฟืนขาย แต่มีความขยัน พยายามสร้างตัวเอง หาเวลาว่างศึกษาความรู้และ เพลงอาวุธ จนมีความชำนาญในการใช้แส้คู่ อาวุธของอุยกายนี้ เป็น กระบองเหล็กสี่เหลี่ยม เริ่มเข้ารับราชการเป็นทหารของ ซุนเกี๋ยน ก่อน แล้วสืบทอดจนมาถึง ซุนเซ็ก และ ซุนกวน” (8)

ใน ศึกเซ็กเพ็ก (ซื่อปี่ Chi bei) โจโฉ ยกทัพกว่าร้อยหมื่นมาบุกกังตั๋ง เมื่อ ขงเบ้ง เดินทางมาถึงกังตั๋ง ขณะถูกที่ปรึกษาที่นำโดย เตียวเจียว รุมถามด้วยคำถามที่ต้องการเยาะเย้ยมากมาย อุยกาย ปรากฏตัวขึ้นมาขวางพร้อมกล่าวว่า ขงเบ้งเป็นยอดอัจฉริยะแห่งยุค ไม่ต้องตอบคำถามคนโง่งมเหล่านี้ จะพาขงเบ้งไปหาซุนกวนโดยตรง อุยกาย เห็น จิวยี่ มีความหนักใจในการศึกครั้งนี้ จึงเสนอกุลอุบายหลอกแปรพักตร์เพื่อทำลายทัพเรือของโจโฉที่เซ็กเพ็ก โดยแกล้งทะเลาะกับ จิวยี่ แล้วให้จิวยี่ โบยตี ตนเองกลางที่ประชุมทัพ (อุยกายยอมให้ จิวยี่ เฆี่ยนหลังถึง 50 ที จิวยี่สั่งเฆี่ยน 100 ที แต่อุยกายสลบไปเสียก่อน) จากนั้น อุยกาย จึงใช้สาเหตุการถูกโบยนี้ แกล้งเข้าไปสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ ขงเบ้งเป็นผู้เดียวที่ล่วงรู้ทันแผนการนี้ ถึงกับเอ่ยปากว่า “กังตั๋งมียอดขุนพลเช่นนี้ มีหรือทัพโจโฉจะไม่แตก” ซึ่งก็เป็นดังคำของขงเบ้งในศึกเซ็กเพ็กโจโฉพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ” (9)

ภาพ:HuangGai.jpg
ภาพอุยกาย (7)







อนุสติ

ก. การแตกความสามัคคี (สามัคคีเภท) นำมาสู่ความฉิบหายภายในชาติ

ข. หวาย นั้นมีไว้ใช้ลงโทษมนุษย์ ทั้ง ทางกาย และทางใจ  การลงโทษทางกายนั่นก็คือการลงโทษโดยอำนาจอาชญา ส่วนการลงโทษทางใจนั่นก็คือ การที่ใจมีความทุกข์ เพราะความกลัวถูกลงโทษโดยผลกรรมใน เวตรณีนรก (สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ)

ค. พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แคว้นมคธ ใช้อุบาย เฆี่ยนวัสสการพราหมณ์  ส่งผลให้พระเจ้าอชาตศัตรู สามารถชนะสงครามได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อไพร่พล  แต่ทว่า จิวยี่  ใช้อุบายแบบเดียวกันโดยสั่งเฆี่ยนอุยกาย เพื่อให้โจโฉ ตายใจและยอมรับอุยกายไว้ช่วงใช้ ต่อมา อุกาย เสนออุบาย ลวงโจโฉ ทำให้ทหารของโจโฉ ต้องถูกไฟครอกตายเป็นจำนวนมาก

ง. บุคคลผู้มีพฤติกรรมดังเช่น วัสสการพราหมณ์ และอุยกาย ก็ยังมีให้ห็นอยู่บนโลกนี้ ฉะนั้นเราจึงมิควรไว้ใจใครง่ายๆ โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ

จ. ขึ้นชื่อว่า จารชน เขาย่อมมี น้ำใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ยอมสละความสุขส่วนตนเพื่อบ้านเพื่อเมือง สมควรแก่การคารวะยกย่อง



อ้างอิง

(1) พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถร).  ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ปางที่ 62 ปางนาคาวโลก. เวปไซต์วัดธรรมบารมี เมืองดอร์ทมุนด์ ประเทศเยอรมนี. 2007 February [cited 2008 October 17]. 1 (62) ; (1 screens). Available from: URL; http://www.watdo.de/Thai/Menue_Thai/fame/phra_66/062.html 

(2) ชิต บุรทัต. สามัคคีเภทคำฉันท์. พิมพ์ครั้งที่ 34. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว ; 2541. อ้างใน สรรค์เกษม (นามแฝง). สามัคคีเภทคำฉันท์ หนังสือหน้าอ่าน. เวปไซต์ fortunecity 2001 April [cited 2008 October 17]. 1 (4) ; (0 screens). Available from: URL; http://members.fortunecity.com/sunkasem/book/book004.htm   

(3) คึกฤทธิ์ ปราโมช , หม่อมราชวงศ์. กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์ ,2548.

(4) rungsira (นามแฝง). ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก. เวปไซต์คนไทยพิทักษ์ประชาธิปไตย. 2008 march [cited 2008 October 17]. 3 (53) ; (3 screens). Available from: URL; http://www.khonthais.org/board/index.php?topic=79.0 

(5)  เตมียชาดก. ทศชาติชาดก.เวปไซต์ศึกษาพระไตรปิฏก 2003 December [cited 2008 October 22]. 5 (1) ; (0 screens). Available from: URL; http://www.khonthais.org/board/index.php?topic=79.0 


(6) พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9). โลกทีปนี. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า ; 2538.

(7) ผู้คุมกฎซ้าย (นามแฝง). อุยกาย แม่ทัพเฒ่า แห่งแดนกังตั๋ง. เวปไซต์พระราชวังไทยสามก๊ก. 2006 December [cited 2008 October 17]. 2 (188) ; (0 screens).  Available from: URL; http://www.thaisamkok.com/forum/index.php?showtopic=188

(8) สมาชิกวิกิพีเดีย. อุยกาย. เวปไซต์วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. 2008 September [cited 2008 October 17]. 5 (1) ; (1 screens). Available from: URL; http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2

(9) สุวรรณา เหลืองชลธาร . พระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล . เวปไซต์ศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2003 February [cited 2008 October 17]. 5 (20) ; (5 screens). Available from: URL; http://www.pharm.chula.ac.th/computer/web_india_1/idia1_20_sawat3/

คำสำคัญ (Tags): #หวาย#โบย
หมายเลขบันทึก: 217192เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • มาเยี่ยมน้องกวิน
  • สบายดีนะครับ
  • คิดถึงอย่างแรง

สวัสดีคุณกวิน

แวะมาอ่าน เห็นว่าจะมีต่อ รออ่าน อย่าลืมเตือนนะครับ

อยากรู้ความเห็นมาของคำว่า "ถลกหนัง" กับ "ถลกหลัง"

ขอบคุณพี่โย่ง และพี่คนตัดไม้ครับ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

เรื่องนี้แม้จะยาวแต่อ่านสนุกมากค่ะ....ชอบค่ะ ได้ความรู้ที่เชื่อมโยงกันแม้จะต่างยุคต่างสมัย...จากสามัคคีเภท มาถึง อุยกาย ...

บูรณาการดีจังค่ะ

นำภาพนี้มาฝากนะคะ ตอนถ่ายภาพนี้..คิดถึงคนอยู่ 2 คนที่คงชอบภาพแบบนี้ หนึ่งในสองคน ...ก็คุณกวินค่ะ...ไม่ทราบจะถูกใจไหม...^_^....

 Nakornpatom20081010_1377

สวัสดีค่ะ

ตอนเด็ก ๆ พี่คิมเคยฟังเรื่องเล่าจากครูภาษาไทย

พอได้มาอ่านอีกครั้งก็ทำให้เกิดภาพได้ดี่ขึ้น

...วันนี้พี่คิมมาเสนอขาย...เจ้าค่ะ

ขะ...  ขะ...  ขาย......โง่...เจ้าค่ะ

http://gotoknow.org/blog/krukim/217256

ขอบคุณครับ คนไม่มีราก  ภาพสวยมาก ชอบมากๆ ครับ :)

krukim ครับกำลังจะตามไปอ่านนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท