อาสา หรือ ไม่อาสา ดีหนอ ?


Q : ช่วงนี้ สมาชิก G2K คงได้ยินคำว่า อาสา ผ่านตา ผ่านหู (ซ้ายทะลุหูขวา) กันอยู่บ้าง ก็แล้ว อาสา คำคำนี้แปลว่าอะไรเล่า? อยากรู้หรือไม่ ถ้าไม่อยากรู้ ก็ไม่ต้องอ่านต่อให้เสียสายตา?

A : พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำจำกัดความ คำว่า อาสา ไว้ความว่า
 
"อาสา เป็นคำ กริยา แปลว่า เสนอตัวเข้ารับทำ. หากเป็นคำนามหมายถึง ความหวัง เช่น นิราสา หมายถึง ความหวังหมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก. (ป.; ส. อาศา) (1) 


เอ ดู แล้วคำ ว่า อาสา นี้ เค้าเดิม นั้นจะเป็นคำในแง่ลบ  สอดคล้องกับ บทความทางวิชาการ (E-Book) ของโรงเรียนเทพบดินทร์วิทยา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งร่วมกับทางเวปไซต์หวานใจดอทคอม ได้ให้คำ อรรถาธิบาย ถึงคำว่า อาสา และ นิราสา/นิราศา/นิราส/นิราศ ไว้ดังนี้  

คำว่า นิราศ เป็นศัพท์สันนิษฐานกันหลายนัย ยังไม่ยุติได้ว่า มีที่มา จากรากศัพท์ที่ใด อาจมาจากคำว่า นิร แล้วเปลี่ยนสระให้ยาวขึ้น และมีการเติม ศ เข้า ลิลิต จาก นิร-นิรา-นิราศ ในพจนานุกรม ของ  เซอร์มอเนียร์ วิลเลียมส์ (Sir Monier Williams) นิราศ แปลว่า ปราศจากหวัง ในวรรณคดี มีความหมายถึง การจากไป คำว่า นิราศ ภาษาบาลี เกิดจากการสนธิ ระหว่าง นิร กับ อาสา แปลว่า ปราศจากหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่ (นิร+อาสา=นิราส) คำว่า นิราศ ภาษาสันสกฤต แปลว่า การต่อต้าน การปฏิเสธ หรือ ปัดส่ง การขับ หรือ กำจัด การเปลื้อง การโยกย้าย หรือ จากไป การสละ หรือ ทิ้ง พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  นามปากกา น.ม.ส. ทรงให้คำอธิบายว่า การแปลตามรูปศัพท์ดังกล่าว ไม่ตรงกับลักษณะการแต่งเพราะหนังสือนิราศแสดงให้เห็นว่า กวีแต่ง อย่างมีความหวังที่จะเป็นสุข เมื่อได้กลับคืนมาหานาง หรือที่อยู่ อันเป็นที่รักของตน มิได้จากไปอย่างปราศจากความหวัง หรือสละละทิ้งไป นิราศในที่นี้หมายความว่า ไม่มีนาง เพราะบทนิราศเป็นบทที่กวีคร่ำครวญถึงผู้หญิง เมื่อไม่มีนางจึงต้องครวญ ในวรรณคดีที่มี ความหมายถึง จากไป ในกำสรวล ศรีปราชญ์ (กำสรวลโคลงดั้น) มีคำว่า นิราศ ปรากฏในโคลงบทหนึ่ง ดังนี้

เสนาะนิราศน้อง         ลงเรือ
สาวส่งงเลวงเตม        ฝ่งงเฝ้า
เสนาะพี่หลยวเหลือ     อกส่งง
สยงส่งงข้าเจ้าพ้ยง     ส่งงตน (เขียนตามอักขรวิธีสมัยอยุธยา)


ใจความว่า พี่แสนเศร้าใจในการพี่ต้องจากน้องลงเรือ
เสียงสาวร้องสั่งพี่ออกแซ่ พากันมาคอยส่งจนเต็ม(ริมฝั่ง)ตลิ่ง
พี่แล(เหลียว) แล้วใจหายรู้สึกทุกข์ท่วมอก จนเหลือที่จะร้องสั่งตอบ
เสียงน้อง(เจ้า) (ซึ่งเป็นข้าเจ้า/ข้าของเจ้า) ร้องสั่งตัวของ(เจ้า)หล่อนเอง 

 
คำว่า นิราศ ในโคลงบทนี้ มีความหมายว่า ต้องจากไป ในวรรณคดีนิราศ เรื่อง ทวาทศมาส (เดือน 12 12 เดือน) ใช้คำว่า ราศ ในความหมายเดียวกัน ดังโคลงบทต่อไปนี้

ศรีอนิรุทธ์ราศร้าง        แรมสมร
ศรีอุสาจยรไคล           คลาศแคล้ว
เทวานราจร                จำจาก
ยงงพร่ำน้าวน้องแก้ว   ค่อยคืน
(2) (เขียนตามอักขรวิธีสมัยอยุธยา)

-พระอนิรุทธ์ (นิ)ราศ ร้าง (รอน) แรม จากมิ่งสมร
-ผู้มีนามพระนามว่าพระนาง(สาว) (ศรี)อุษา ต้องจากกันอย่าง เจียร/จิร=ยาวนาน ไคล(คลา) คลาดแคล้ว
-เพราะเทพารักษ์ประจำต้นไทร (พระไทร) อุ้ม พระอนิรุทธิ์ ไปสู่สมกับพระนาง(สาว) อุษา พอรุ่งเช้า พระไทร ก็อุ้มพระอนิรุทธิ์ ให้จำจากกันกับพระนาง(สาว)อุษา
-ท้าวเธอทั้งสองยังพร่ำ(เพ้อ) ถึงกัน พระนาง(สาว)อุษา ตื่นขึ้นมาระลึกถึงเหตุกาณ์เมื่อคืน ก็รู้ว่าตนได้เสียตัว ให้กับ ชายหน้าแปลก ชายแปลกหน้า เสียแล้วจึงสะอึกสะอื้น พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ พี่เลี้ยง (นางกำนัล) ฟัง พี่เลี้ยง จึงปลอบใจว่า เดี๋ยวจะลองวาดภาพ เจ้าชาย แห่งเมืองต่างๆ ให้ พระนาง(สาว)อุษา ดู ก็อาจจะทราบว่า ใครกันแน่ที่มาแอบลักหลับ พระนาง(สาว)อุษา พระนาง(สาว)อุษาจึงพูดจา (โน้ม) น้าว ให้พี่เลี้ยง (คาดว่าจะชื่อน้องแก้ว เพราะในคำประพันธ์แต่งว่า ยังพร่ำน้าวน้องแก้ว)  พระนาง(สาว)อุษาจึงพูดจา (โน้ม) น้าว ให้พี่เลี้ยง วาดรูปเหมือนเจ้าชายตามเมืองต่างๆ ให้ตนดู
 

"กระทั่งถึงรูปพระอนิรุทธิ์นางเห็นก็จำได้ พี่เลี้ยงจึงเหอะไปยังเมืองของพระอนิรุทธิ์ แล้วสะกดพระอนิรุทธิ์ไปยังเมือง โสนินคร ความทราบถึง ท้าวพานาสูร ผู้เป็นพระพระบิดา ว่าพระนาง(สาว)อุษา แอบเอาผู้ชายมากกในห้อง จึงสั่งให้ทหารยักษ์ มาล้อมจับพระอนิรุทธิ์ และแผลงศรมัดพระองค์ไว้ เดือดร้อนถึงพระกฤษณะ ต้องเสด็จมาช่วยจนต้องต่อสู้กับพระอิศวรเมื่อพระอิศวรถอนทัพกลับ พระอนิรุทธิ์และนาง(สาว)อุษาจึงอยู่ร่วมกัน อย่างมีความสุข" (3)


เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านย่อมที่จะทราบความหมายของคำว่า อาสา ละเอียดถึ่ถ้วน ถ่องแท้ดีแล้ว และแล้วหากจะนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ของ ซิกมุนต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาวิเคราะห์ จิตอาสา ก็จะประจักษ์แจ้งว่า จิต(ที่)อาสา ก็คืออิฐ (Id or libido) อย่างหนึ่ง ดังนี้


 Id  (libido<--- Ego <-- Super ego

พอมีอิฐ (Id) ก็มี อัตตา (Ego) คือเกิดตัวกูของกูขึ้นมา จากนั้นแล้ว อัตตา (Ego)  ก็ทำตาม อิฐ (Id) ซึ่งในที่นี้คือ อาสา นั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น ฉันมีจิตอาสา (Id)  ฉันอยากจะไปช่วยเหลือมวลชนผู้ยากไร้บนดอยสูง ทั้งที่ฉันนั้นเป็นหมอ เป็นนางพยาบาล ผู้มีหน้าที่รักษา/วินิฉัยโรคให้คนป่วยไข้ซึ่งกำลังรอคอยความหวังอันริบหรี่ แต่ช่างประไร เพราะบุญ เพราะกุศล ที่ฉันทำอยู่ตอนนี้ มันคงจะน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับ มหาบุญ มหากุศล ที่ฉันกำลังจะสร้างด้วยการเดินทางไปช่วยเหลือมวลชนผู้ทุกข์ยาก ผู้ซึ่งอยู่บนดอยสูง (บุญกุศลฉันคงจะสูงส่งเหมือนระดับความสูงของดอยสูง ที่ฉันกำลังจะเดินทางไป) แล้วคนไข้ทางนี้ล่ะ? ช่างหัวมันสิ! งานประจำแบบนี้ฉันทำแล้วไม่เห็นได้รับคำชื่นชมจากไครสักเท่าไรเลย ถ้าฉันเดินทางข้ามน้ำข้ามเขาเพื่อขึ้นดอยสูง (ระหว่างทางก็แหกปากป่าวประกาศให้คนอื่นได้รับรู้ไปด้วยว่า เจ้าข้าเอ๋ย ฉันเป็นหมอ ฉันเป็นพยาบาล ฉันเป็นครู ฉันเป็นวิศวกร ที่ทิ้งหน้าที่การงาน มาจ้า ฉันจะไปช่วยเหลือมวลชนผู้ทุกข์ยากบนดอยสูงจ้า ฉันจะไปสัก 6 วันจ้า เดินทางไปก็ประมาณ 1 วัน เดินทางกลับก็ประมาณ 1 วัน จ้า พวกฉันจะเอาวัตุนิยมไปแจก แจก แจก และก็แจก ประมาณ 1 วัน จ้า ที่เหลืออีก 3 วัน พวกฉันจะเดินเที่ยวชมนกชมไม้จ้า  อย่าว่าพวกฉันเลยจ้า  เพราะพวกฉันคือ คนที่มีจิตอาสา (Id)  พวกฉันคือคนดีนะจ๊ะ คนทำดีนั้นมันเหนื่อยยากมากเลยจ้า เจ้าข้าเอ๋ย เหนื่อยกายแล้ว พวกฉันจะขอเที่ยวให้สบายใจบ้างไม่ได้หรือจ๊ะ?) 

นี่ล่ะก็คือผลของ อัตตา (Ego) ซึ่งมาหนุนนำตอบสนองต่อ อิฐ (Id) ซึ่งถ้าหากมี พระเอกขี่ม้าขาวคือ Super man ego มาห้ามไว้ได้ทันท่วงที อัตตา (Ego) ก็จะถูกข่มไว้ กลายเป็นว่า

เออนี่แน่ะ นี่แน่ะ เราเป็นหมอ เราเป็นพยาบาล เราเป็นครู เราเป็นวิศวกร เราทำงานของเราโดยสุจริต โดยไม่ไปคดโกงใครก็ถือเป็น สัมมาอาชีวะ แล้วนี่นะ หากการทำ มหาบุญ มหากุศล เพื่อมุ่งหวังจะช่วยเหลือมวลชนผู้ยากไร้บนดอยสูงนั้นทำให้ความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานอันสุจริต และมีความสำคัญต่อชีวิตคนไข้ หรือต่อชีวิตของลูกศิษย์ลูกหา และรวมถึงต่อชีวิตของลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ต้องตกต่ำ ลงแล้วล่ะก็ ฉันก็ไม่ควรทำเนอะ เราทำงานของเรา วันหนึ่งๆ ก็ช่วยเหลือคนป่วย ช่วยเหลือคนไข้ ช่วยเหลือเด็กตาแดงๆ (เด็กเป็นโรคตาแดง) ช่วยเหลือคนงานในความรับผิดชอบของเราได้เป็น สิบสิบ ร้อยร้อย อยู่แล้ว ไอ้เจ้า อัตตา (Ego) นี่มันมายุแหย่ ยั่วเย้า ให้เราหลงไปว่าทำบุญที่นั่นที่นี่มีบุญมาก โถโถโถ เรานี่โง่เง่าเต่าตุ่นจริงๆ หนอ ไม่ปงไปมันแล้ววุ้ย ส่งข้าวปลาอาหาร และเสื้อผ้าไปแทนก็แล้วกัน (เอ ฉันชอบใส่สายเดี่ยว และเกาะอก งั้นส่งไปให้ชาวเขา ได้ใส่แบบชาวเราบ้างดีกว่า


สุดท้ายบันทึกเรื่องนี้ก็จบแบบไม่หักมุมเท่าไร คือจบอย่าง Happy Ending

 ปล. ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ใครได้ทำกิจกรรมจิตอาสา (Id) ระหว่างที่เดินทางไป-กลับ อย่าลืมแต่ง นิราศ มาฝากบ้างนะครับ (ช่วงแรกของนิราศนิยมชมความงามของบ้านเมืองตน (จังหวัดตน) ช่วงกลางบรรยายความว่าด้วยเรื่องของความอาลัยอาวรณ์ถึงการที่ต้องจากสามี-ภรรยา จากลูกจากเต้า จากบ้านจากเมือง และในช่วงท้ายของบทนิราศ มักจะบรรยายความเพื่อ ชมนกชมไม้ ชมไพร ชมสัตว์ และที่จะขาดเสียมิได้นั่นก็คือ การสอดแทรกคติธรรมทางศาสนาเอาไว้ในทุกๆ บทด้วย) 




อ้างอิง

(1) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์. เวปไซต์ราชบัณฑิตยสถาน [cited 2008 October 29]. Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

(2) นิราศ ความหมาย เนื้อหา รูปแบบ และลักษณะสำคัญ. เวปไซต์หวานใจดอทคอม [cited 2008 October 29].  Available from: URL; http://www.wanjai.com/ebook/listknowledge.php?q_id=59&l=thai

(3) ภาษาสยาม (นามแฝง). อนิรุทธิ์คำฉันท์. เวปไซต์ภาษาสยาม. 2008 September [cited 2008 October 29].  Available from: URL;  http://www.pasasiam.com/home/index.php/li-ayuthaya/112-2008-09-06-07-03-05

คำสำคัญ (Tags): #อาสา
หมายเลขบันทึก: 219541เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อยากทราบความหมายจิตอาสาอยู๋พอดี...ตามความคิดของน้องกวินตรงและแรงดีค่ะ..

ขอบคุณครับพี่นุส nussa-udon ภาษาใต้เขาว่า อย่างแรงเลยนิ

สวัสดีค่ะ

* จิตอาสา(เอ ฉันชอบใส่สายเดี่ยว และเกาะอก งั้นส่งไปให้ชาวเขา ได้ใส่แบบชาวเราบ้างดีกว่า

* น่าสนใจ...

* ทีนี้เราก็มีธุรกิจใหม่แล้ว....จัดการแสดงวิถีชาวบ้าน
* ระวังกันไว้เป็นสิ่งดีค่ะ

สวัสดีค่ะ  จิตอาสา (เอ ฉันชอบใส่สายเดี่ยว และเกาะอก งั้นส่งไปให้ชาวเขา ได้ใส่แบบชาวเราบ้างดีกว่า)  น่าสนใจ ทีนี้เราก็มีธุรกิจใหม่แล้ว จัดการแสดงวิถีชาวบ้าน  ระวังกันไว้เป็นสิ่งดีค่ะ

ครับผมคิดว่าอย่างนี้นะครับคุณพี่อาจารย์  พรรณา ผิวเผือก กระเหรี่ยงคอยาว แม้ว มูเซอ อีก้อ อาข่า ฯลฯ พวกเขาย่อมไม่ใช่ ช่วงช่วง หรือ หลินฮุ่ย (หมาแพนดี้ หมีแพนด้า) ที่เราจะไปพบเขาก็เพื่อไปดูวิถีชีวิต ของเขาเยี่ยงชีวิตของสัตว์คือหมีแพนด้า

พวกเขาเหมือนตัวแปลกประหลาดกระนั้นหรือ? เขาก็มีสองหู สองแขนสองขา สองตา เหมือนกับเรา พอดูเสร็จแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระทึก ระลึก กลับจากดูวิถีชีวิตสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ก็กลับมาพักที่พักหรูๆ กินอาหารดีๆ กาแฟอร่อยๆ หัวเราะร่าเริงกับการได้ชมวิถีชีวิตสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ของพวกเขา?

หรือว่าจะไปดูให้เห็นว่าพวกเขานั้นแร้นแค้นเพียงใด ขอเต้นท์ทหารไปกางนอน หรือไปนอนกับพวกเขาสักคืน+กินอาหารที่เขากิน ทำได้เช่นนี้แล้ว ก็จะได้พูดได้ว่า อืม!! นี่ล่ะรสชาติของชีวิต

ทำแบบนี้ไม่ต้องมีเงิน 5,000.-บาท (ขาดตัว) ก็สามารถไปเรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ของพวกเขาได้

กลับมาก็จะมีแรงทำงานเพื่อสังคมต่อไป แต่ถ้าไปออกค่ายจิตอาสาโดยตั้งธงไว้ว่าจะไปเที่ยวกันอย่างออกนอกหน้าเสียแล้ว กลับมาจะได้อะไรล่ะครับนอกจากรู ปถ่าย และความอ่อนล้าจากการเดินทาง เมื่อเลือกใส่แว่นตากัดแดดเพื่อที่จะไปเที่ยว ก็ย่อมมองไม่เห็นถึงความลำบากยากแค้นของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย ความภาคภูมิใจของการเป็นผู้ให้ก็ไม่ต่างไปจากการให้เงินขอทานข้างถนน ว่ามั้ยครับ

+ จ๊ะเอ๋...กวิน...

+ เอาไงดีละนี่....คิด ๆ คิด ๆ อ่าน ๆ คิด ๆ อ่าน ๆ ....มาหาบันทึกกวินที่ไรออกกลับแบบเซทุกที...

+ เอาเป็นว่าถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ทำไปเถิดมั้ง...

+ แบบว่าเห็นด้วยด้วย...แต่มีบางความรู้สึกก็แอบเถียงด้วย....

+ แต่อย่างไรซะ...บันทึกนี้ของกวินก็เตือนให้ได้คิด (คิดหนัก คิดจริงจัง)อะไรมากขึ้น...แต่ไม่บอกกวินหรอกนะ...

         

+ ถ้างั้นพี่ยกให้กวินเป็น พิชาน เลยนะจ๊ะ

+ ทำไมบันทึกนี้ของกวินทำให้พี่ต้องอ่าน(อ่านหลายรอบ)และคิดหนัก...แถมไปชวนพ่อสัมมาช่วยคิดด้วย...

+ สงสัยว่า...มีอะไรในความรู้สึก...แต่ยังจับความรู้สึกนั้นให้อยู่หมัดไม่ได้...

+ ขอบใจจ๊ะน้องรัก....

ครับพี่อ๋อย แอมแปร์~natadee  เห้อ..พิมพ์ตกก็เยอะยังไม่ได้เกลาสำนวน ขอบคุณพี่อ๋อยที่มาอ่านนะครับ ถ้าประเทศไทยมีผู้ที่มี พิชาน อย่างพี่อ๋อย่อมที่จะเจริญกว่านี้เป็นแน่แท้นะครับ

ขอบคุณค่ะเพิ่งทราบความหมายของคำว่า อาสา ที่แท้จริงนะคะนี่

สวัสดีค่ะ

ถ้าไปออกค่ายจิตอาสาโดยตั้งธงไว้ว่าจะไปเที่ยวกันอย่างออกนอกหน้าเสียแล้ว ... เมื่อเลือกใส่แว่นตากัดแดดเพื่อที่จะไปเที่ยว ก็ย่อมมองไม่เห็นถึงความลำบากยากแค้นของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย ความภาคภูมิใจของการเป็นผู้ให้ก็ไม่ต่างไปจากการให้เงินขอทานข้างถนน ว่ามั้ยครับ

* ไม่ว่าค่ะ ..แปลว่านั่นสินะ

 

สวัสดีค่ะ

ถ้าไปออกค่ายจิตอาสาโดยตั้งธงไว้ว่าจะไปเที่ยวกันอย่างออกนอกหน้าเสียแล้ว ... เมื่อเลือกใส่แว่นตากัดแดดเพื่อที่จะไปเที่ยว ก็ย่อมมองไม่เห็นถึงความลำบากยากแค้นของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย ความภาคภูมิใจของการเป็นผู้ให้ก็ไม่ต่างไปจากการให้เงินขอทานข้างถนน ว่ามั้ยครับ

* ไม่ว่าค่ะ ..แปลว่านั่นสินะ

 

ขอตอบพี่อ๋อยใหม่นะครับ ตรงที่แก้คือตรงที่ทำไฮไลน์สีเหลืองเอาไว้นะครับ



สวัสดีครับพี่อ๋อย  แอมแปร์~natadee คนมีปัญญาคือปัญญาชนนั้นรู้จักครุ่นคิดไว้ให้มากๆ  ด้วยเหตุหากกวินเป็น บัณฑิต ที่ยังไม่ได้เป็น มหาบัณฑิต หรือเป็น ดุษฎีบัณฑิต แต่ถ้าคิดมากๆ ก็อาจจะได้รับ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หรือได้รับยกย่องให้เป็น ศาสตราจารย์พิชาน  ก็ได้เหมือนกัน :)

ปถพีรดี (นามแฝง) แห่ง ศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้เขียนบทความอ้างอิงถึงคำว่า ศาสตราจารย์พิชาน  ไว้ในนิตยสารสกุลไทย  ฉบับที่ 2471 ปีที่  48 ประจำวัน  อังคาร ที่  26 กุมภาพันธ์  2545 ความว่า


"ศาสตราจารย์พิชาน คือตำแหน่งอะไร หมายความว่าอะไร ศาสตราภิชาน เป็นตำแหน่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้แก่บุคคลเพื่อยกย่องว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย มาจากคำว่า ศาสตร+อภิธาน หมายถึง ผู้มีความรู้ยิ่งในศาสตร์ (หรือวิชาความรู้)" (1) 

ซึ่งตามความหมายนี้ ผู้เขียนคิดว่าไม่ถูกต้องนัก นั่นเพราะคำว่า พิชาน ย่อมไม่ใช่ อภิธาน ตัีว ชอช้าง ย่อมไม่ใช่ตัว ธอธง คำว่า ศาสตราจารย์พิชาน  ศาสตราภิธาน และ ศาสตราพิชาน มีการใช้สลับสับสนกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งกวินเห็นว่าควรที่จะใช้ก ศาสตร+อาจารย+พิชาน=ศาสตราจารย์พิชาน มากกว่า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า พิชาน ไว้ดังนี้

พิชาน เป็นคำนามหมายถึง  ความรู้สึกตัว, การรับรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้า. (อ. consciousness). (2) 

ฉะนั้นคนที่จะเป็น ศาสตราจารย์พิชาน ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมี consciousness นั่นเอง

อนึ่งคำว่า consciousness  นี้ พจนานุกรม Longdo English-Thai ได้ให้คำจำกัดความไว้ ความว่า

consciousness (คอน'เชิสเนส) n. ความมีสติ,ความมีจิตสำนึก,ความคิดและความรู้สึกรวมกัน,ภาวะจิต,ความตระหนัก, S. knowledge (3) 

ฉะนั้นหาก คนมีปัญญาคือปัญญาชนนั้นรู้จักครุ่นคิดไว้ให้มากๆ   แล้ว ก็ย่อมถือว่าคือ ว่าที่ ศาสตราจารย์พิชาน ส่วนผู้ที่ถึงแม้นว่าจะสำเร็จเป็น ดุษฎีบัณฑิต แต่หากไม่มี consciousness ก็อาจจะยังถือได้ว่าความ พิชานในศาสตร์ นั้นๆ ยังไม่มี

ฉะนั้นพี่อ๋อยในฐานะที่พี่ อ๋อย แอมแปร์~natadee มี พิชาน กวินจึงขอมอบตำแหน่ง ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ไว้ให้กับพี่อ๋อย ครับกระผม ถ้าประเทศไทยมีผู้ที่มี พิชาน อย่างพี่อ๋อแอมแปร์~natadee เยอะๆ ประเทศไทยย่อมที่จะเจริญกว่านี้เป็นแน่แท้นะครับ

อ้างอิง

(1) ปถพีรดี (นามแฝง).ศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน นิตยสรสกุลไทย ฉบับที่ 2471 ปีที่  48 ประจำวัน  อังคาร ที่  26 กุมภาพันธ์  2545. [cited 2008 October 30]. Available from: URL; http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=1253&stissueid=2471&stcolcatid=9&stauthorid=10

(2) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์. เวปไซต์ราชบัณฑิตยสถาน [cited 2008 October 30]. Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

(3) Longdo English-Thai. [cited 2008 October 30]. Available from: URL; http://dict.longdo.com/search/consciousness

ขอบคุณอาจารย์ ว่าที่ ศาสตราจารย์พิชาน ดร.พรรณา ผิวเผือก  ครับ ถ้ากวิน ก่อตั้ง โรงเรียนจิตาสา สำเร็จเมื่อใด กวินก็จะมอบ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์+ศาสตราจารย์พิชาน ให้ คุณพี่พรรณา ผิวเผือกนะครับตอนนี้เป็น ว่าที่ไปก่อนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท