การทำประกันชีวิตในทางโลก และทางธรรม วิเคราะห์กรณีโฆษณา ไทยประกันชีวิต


การให้ นั้นถ้าหากว่าให้แล้วยังหวังผลตอบแทน สมควรจะเรียกว่าการ แลก มากกว่า

ก่อนจะ Hi อะไรกะใครควรจะต้องสนิทกันก่อนถ้ายังไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า ควรจะแค่ Hello


"ให้ท่านท่านจักให้ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปองนอบไหว้"
จริงจะเป็นเช่นว่า หรือว่าไร
โอ้ไฉนเช่นนี้ ไม่มีจริง

ที่ให้ตอบแทนกัน นั้นเรียกแลก
ควรแยะแยกการให้ในทุกสิ่ง
จะให้เลยให้เล่นเป็นประวิง
ทำนองทิ้งหรือจะทวงเพราะหวงยัง

แลกหรือขาย ก็คือให้ใช่ไม่ให้
แต่ว่าได้แทนทด ไม่หมดหวัง
เสน่หา ให้กันอนันตัง
ใครจะคลั่ง คืนให้ ไม่เห็นมี

อันไหว้กัน นั้นเรียกว่าแลกไหว้
ไหว้พระให้มือหัก เป็นสักขี
พระที่ไหน ไหว้เราเข้าสักที
เราคงตี ตนตายเพราะอายเอย


กลอนบทนี้ นายผี (อัศนี พลจันทร) แสดง ทรรศนะที่ขัดแย้งแนวความคิดของคนโบราณซึ่งปรากฎอยู่ใน โคลงโลกนิติ บทที่ว่า


ให้ท่านท่านจักให้            ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง         นอบไหว้
รักท่านท่านจักครอง        ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้-                แต่ผู้ทรชน


คนโบราณมองว่า เมื่อรู้จักให้ ก็จะได้รับเมื่อไหว้ก็จะได้รับการไหว้ตอบเมื่อให้ความรักความเสน่หาก็จะได้รับความรักความเสน่หาตอบ แต่ถ้าให้สิ่งเหล่านี้กับ คนไม่ดี (ทรชน) ก็จะไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ตอบกลับมา(สามสิ่งนี้เว้นไว้แต่ผู้ทรชน) ในกรณีที่เราให้การกราบไหว้พระสงฆ์องค์เณร พระหรือเณรท่านย่อมไม่ไหว้เรากลับซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่าพระสงฆ์องค์เณรเป็นผู้ทรชน(คนเลว) -_-'' 

อนึ่ง นายผียังได้แสดงทรรศนะว่าด้วยการให้ เอาไว้อีกว่า การให้ นั้นถ้าหากว่าให้แล้วยังหวังผลตอบแทน สมควรจะเรียกว่าการ แลก มากกว่า (ที่ให้ตอบแทนกัน นั้นเรียกแลก ควรแยะแยกการให้ในทุกสิ่ง)



โฆษณาไทยประกันชีวิต (ชีวิตที่มีคุณค่าคืออะไร?) นั้น ก็สามารถ อธิบายได้ด้วยแนวคิดของ นายผี ว่าด้วยเรื่องของ การให้ คือการแลก ชนิดหนึ่ง โฆษณาไทยประกันชีวิต (ชีวิตที่มีคุณค่าคืออะไร?) เริ่มต้นด้วยประโยค

"คุณเคยถามตัวเองไหมว่าชีวิตที่มีค่าคืออะไร? ผู้หญิงคนนี้ชื่อ ต้อย จนผัวทิ้ง นี่คิตตี้บ้านแตก นี่แม็ก โปลิโอ เฮียโต ขี้ขโมย เด็กทุกคนมีแม่คนเดียวกันแม่ต้อย คนที่เก็บเด็กพวกนั้นมาเลี้ยง แม่ต้อยเป็นโรคมะเร็ง อยู่ได้ไม่เกินสองปี แต่เธอบอกว่า โชคดีจัง สองปีทำอะไรได้อีกเยอะ เธอสอนเด็กๆ ว่า ชีวิตที่มีค่าไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวยมีเกียรติ หรือก็อายุยืน แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่าและทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า"




คำถาม 1 :   ต้องคนจน +โดนผัวทิ้ง (เมียทิ้ง) เท่านั้นหรือที่จะเห็นคุณค่าของชีวิต?  
คำถาม 2 :   คนจน+ผัวไม่ทิ้ง (เมียไม่ทิ้ง) 
                  คนรวย+ผัวทิ้ง (เมียทิ้ง) 
                   คนรวย+ผัวไม่ทิ้ง (เมียไม่ทิ้ง) 
    จะ  เห็น/ไม่เห็น คุณค่าของชีวิตบ้างได้หรือไม่?


คำตอบ 1-2 :

ศ.ดร.พริ้มเพรา ดิษยวณิช (1) ได้อรรถาธิบายถึง ทฤษฎีแรงจูงใจจากความต้องการพื้นฐานทางชีวภาพ (basic biological needs) ของ อับราฮัม มาสโลว (Abraham Maslow)  ไว้ดังนี้

          1. ความต้องการทางสรีรวิทยา (physiological needs) : ความหิว ความกระหาย เป็นต้น
          2. ความต้องการทางความปลอดภัย (sefty needs) : การรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ปราศจากอันตราย
          3. ความต้องการทางความเป็นเจ้าของและความรัก (Belongingness and love need) : การผูกพันกับคนอื่น การได้รับการยอมรับและการเป็นเจ้าของ
          4. ความต้องการทางการยกย่อง (esteem needs) : การบรรลุผลสำเร็จ การมีความสามารถ การได้รับการยอมรับและการรู้จักจากคนอื่น
          5. ความต้องการทางการรู้ (cognitive needs) : การรู้ การเข้าใจและการสำรวจ
          6. ความต้องการทางสุนทรียภาพ (aesthetic needs) : สมมาตร ความมีระเบียบและความงาม
          7. ความต้องการทางความจริงแท้แห่งตน (self-actualization needs) : การพบความสำเร็จแห่งตนและการเข้าใจศักยภาพของตน


จะเห็นได้ว่า ความต้องการทางความเป็นเจ้าของและความรัก (Belongingness and love need) อีกทั้ง ความต้องการทางการยกย่อง (esteem needs) เป็นสิ่งที่แม่ต้อยขาด เป็น แรงจูงใจที่อยู่สูง กว่าความหิว+ความกระหาย+ความรู้สึกว่าต้องการความปลอดภัย 

เพราะแม่ต้อยย่อมมีความหิว+มีความต้องการความปลอดภัย แต่เพราะความจนจึงทำให้ แม่ต้อยได้รับ ความอิ่ม+และความปลอดภัยนี้ได้ยาก
การทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ต่างๆ เช่น การถ่ายรูป วาดภาพ จัดรายการวิทยุ ปลูกต้นไม้ ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ดูหนังฟังเพลง หรือการทำกิจกรรมจิตอาสาโดยต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามเขาไปดู กระเหรี่ยงคอยาว จากนั้นก็นอนค้างโรงแรมหรูๆ กินอาหารดีๆ ทิ้งงานทิ้งการประจำไปนั้น  ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นการ เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต เป็นการลบปมด้อยภายในจิตใจทั้งสิ้น แต่กิจกรรมเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้เงิน คนจน อย่างแม่ต้อย ย่อมทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้ได้ยาก  เมื่อแม่ต้อยรู้สึก ขาดความรักความอบอุ่นจากสามี ก็จึง แสวงหา+ให้ ความรัก นั้นแก่ เด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กที่มีปัญหา ซึ่งการให้ความรัก ในลักษณะนี้ เป็นความรักที่บริสุทธิ์ มิได้หวังคำชื่นชม หรือหวัง มหาบุญ มหากุศล เป็นการตอบแทน (หรืออาจจะหวังอยู่บ้าง แต่ก็ยากที่จะรับรู้รับทราบ)  การให้แล้วได้รับ ความรัก ตอบกลับมา จากเด็กๆ นั้น ย่อมทำให้ ตนเองมีคุณค่า อย่างน้อยๆ ก็มีคุณค่าในสายตาของเด็กๆ ที่ตนให้การช่วยเหลือ

ในทางจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า เป็น การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) ด้วยการหาทางออก ในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่นการต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้นั่นเอง พฤติกรรม การชดเชยความรักที่ตนรู้สึกว่าได้ขาดหาย หรือไม่ได้รับจากสามี นี้ อุปมาดั่งคนที่พิการ ขาขาด ที่พยายามค้นหา ขาเทียม มาใส่เดิน แทนขาจริง ผู้พิการก็ย่อมไม่รู้สึกว่าตนพิการ เป็นการลบปมด้อย ของตนเองได้ชั่วครู่ชั่วขณะหนึ่ง

แต่ในสังคม ย่อมมีทั้ง

       คนจน+ผัวไม่ทิ้ง (เมียไม่ทิ้ง)
       คนจน+ผัวทิ้ง (เมียทิ้ง) 
       คนรวย+ผัวทิ้ง (เมียทิ้ง)
       คนรวย+ผัวไม่ทิ้ง (เมียไม่ทิ้ง)

เมื่อขึ้นชื่อว่าคนแล้วก็ย่อมต้องเกิดแรงจูงใจจากความต้องการพื้นฐานทางชีวภาพ (basic biological needs) ตามทฤษฎีของ อับราฮัม มาสโลว (Abraham Maslow)  แทบทั้งสิ้น เราจะเห็นได้ว่ามหาเศรษฐี อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) หรือ วอร์เรน บัพเฟตต์ ( Warren Buffet) ก็ยังเลือกที่จะบริจาคเงินจำนวนมากมายมหาศาล แก่มวลชนผู้ทุกข์ยาก นอกเหนือไปจากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณาแล้ว ก็อาจที่จะยังแฝงไปด้วย  ความต้องการทางความเป็นเจ้าของและความรัก (Belongingness and love need) อีกทั้ง ความต้องการทางการยกย่อง (esteem needs) อยู่ด้วยนั่นเอง อนึ่งแนวคิดของ  อับราฮัม มาสโลว (Abraham Maslow)  นี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงอรรถาธิบายไว้นานมากแล้ว คือเรื่องว่าด้วย ตัณหา ตามตารางเปรียบเทียบดังต่อไปนี้




รูปที่ การเปรียบเทียบความต้องการ (needs) ตามทรรศนะของ อับราฮัม มาสโลว (Abraham Maslow)  กับ ตัณหา (desire or cravings) ตามทรรศนะของพระพุทธเจ้า (1)



โดยสรุปแล้ว

การที่มีผู้ใด หยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างให้กับผู้หนึ่ง  ลึกๆ แล้วเขาก็ย่อมต้องการบางสิ่งบางอย่าง ตอบกลับ (interchange)  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของตัวเงิน ก็เป็นได้ ดังเช่นกรณี ของแม่ต้อยใน โฆษณา เขาก็ย่อมได้รับ ความรัก ความอบอุ่นตอบกลับนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับทรรศนะของนายผีที่ว่า  การให้ นั้นถ้าหากว่าให้แล้วยังหวังผลตอบแทน (มีตัณหา) สมควรที่จะเรียกว่าการ แลก มากกว่า และถ้าจะกล่าวว่า แม่ต้อยคือ นักลงทุนที่มุ่งหวังผลกำไร ก็ไม่น่าที่จะผิดนัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็น นักลุงทุน นั่นก็คือ หากเป็นการลงทุนในธุรกิจที่ขาวสะอาด ก็มักที่จะได้รับคำชื่นชม O_o



วิเคราะห์

คนเราทุกคนนั้นมีโอกาส จน+ผัว/เมีย ทิ้ง+เป็นโรคมะเร็ง(ป่วยหนัก) จึงควรทำประกันชีวิต! นี่ล่ะคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการโฆษณา

พุทธศาสนา นั้นสอนเรื่องการให้ทาน+การให้การช่วยเหลือมวลชนผู้ทุกข์ยาก ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การให้ทาน+การให้การช่วยเหลือมวลชนผู้ทุกข์ยากโดยมี ตัณหา เป็นสิ่งเร้านั้น ย่อมไม่ใช่ ชีวิตที่มีค่าอย่างแท้จริง  การทำประกันชีวิตในทางธรรม นั้นควรพยายาม ลด ละ เลิก กิเลสตัณหา ต่างๆ โดยการหมั่นพิจารณาถึง อริยสัจ 4 ดำเนินตามหลัก มรรคมีองค์ 8 เพื่อหนทางการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ทำได้ดังนี้จึงจะถือว่าเป็น การทำประกันชีวิตในทางธรรมโดยจริงแท้



อ้างอิง

(1) พริ้มเพรา ดิษยวณิช. เอกสารประกอบการบรรยาย วิชาพฤติกรรมศาสตร์ 304202.  [cited 2008 November 7]. Available from: http://www.chamlongclinic-psych.com/document/motif/index.html

หมายเลขบันทึก: 221400เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

......ก่อนจะ Hi อะไรกะใครควรจะต้องสนิทกันก่อนถ้ายังไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า ควรจะแค่ Hello...

ผมว่ามันใช้สำหรับผู้หญิงบางคนเท่านั้น เห็นไอ้กันผู้ชาย มันก็ Hi ตะพึดตะพือ

อ้อ อีกอย่างหนึ่ง ผู้หญิงที่พูดภาษาอังกฤษและผู้ชาย ส่วนใหญ่ ไม่เห็นสนใจนอนหัวนอนปลายเท้า เวลาจะหาคนไปนอนค้างคืนด้วย สักแต่ว่าเป็นคนที่หน้าตา รูปร่างถูกสเป๊ค ก็ OK ตื่นขึ้นมา จำชื่อไม่ได้ ด้วยซ้ำไป

มาถึงเรื่อง...อนึ่งแนวคิดของ Abraham Maslow นี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงอรรถาธิบายไว้นานมากแล้ว คือเรื่องว่าด้วย ตัณหา ตามตารางเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

คุณ เควิน ( Kevin น่ะชื่อผู้ชาย )

อย่ามั่วนักเลย ตัณหา มันคนละเรื่องเดียวกัน

เวลาศึกษาอะไร ควรศึกษาให้มันรู้ถึงแก่นแท้ นะครับ

ไอ้มั่วเอ้ยยยย

จิตว่างหรือเปล่าจ๊ะ

คิดมากไปมะ? อย่าไปอิน

เชื่อเถอะว่าคนที่มีจิตใจอยู่เหนือเส้นแบ่งโลกียะและอยู่นอกเหนือทฤษฏีของซิกมันด์ ฟรอยด์ น่ะมีอยู่จริง

ขอบคุณๆ ไม่แสดงตน ที่ช่วยสอนเรื่องไวยากรณ์ภาษาอังกฤษให้นะครับ เคยประพฤติ เอ้ยพูดแบบที่ว่าบ่อยหรือครับ?

ส่วนเรื่อง ตัณหา3  ของพุทธองค์  กับ ความต้องการพื้นฐานทางชีวภาพ (basic biological needs) ของ   Maslow นั้นเป็นเรื่องที่ผู้มีปัญญาอย่าง ศ.ดร.พริ้มเพรา ดิษยวณิช อรรถาธิบายไว้ ซึ่งผู้มีปัญญาก็ย่อมที่จะสามารถใช้วิจารณญาณของตนเอง ทำความเข้าใจได้นะครับ ว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่  การศึกษาถึงแก่น นั้นยังไม่พอนะครับ ต้องศึกษาลงลึกถึงระดับ Molecule หรือ Quarks  กันเลยทีเดียว

 

ขอบคุณครับคุณ  ใครสักคน ไม่ได้แสดงทรรศนะใดๆ หักล้างหรือ สนับสนุนเยี่ยงคนมีปัญญา เอาไว้เลย ทิ้งเอาไว้แต่หมายเลขไอพีไว้ให้แกะรอย เท่านั้นเอง o_O

ขอบคุณะจ๊ะคุณ จิตว่างหรือเปล่าจ๊ะ สงสัยจะคิดมากไปน่ะจ่ะ ไม่ได้อินเท่าไรหรอกครับ ถ้าอินก็จะไม่เขียนแนวนี้นี่เนอะ เพียงแต่ เขียนเอาเพราะเคยเรียนจิตวิทยามาบ้าง ก็เลยนึกถึงที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนไว้ เลยนำมาเขียนดูน่ะจ่ะ

 ขอบคุณครับ คุณ ผ่านมาอ่าน ที่ว่า เชื่อเถอะว่าคนที่มีจิตใจอยู่เหนือเส้นแบ่งโลกียะและอยู่นอกเหนือทฤษฏีของซิกมันด์ ฟรอยด์ น่ะมีอยู่จริง

การไม่เชื่อ นั้นอยู่ในหลัก กาลามสูตร ใช่หรือไม่ครับ :) ตามที่คุณว่า ก็คงจะหมายถึง พระอริยบุคคล กระมังครับ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

ไม่แน่ใจว่าควรจะใช้ Hi หรือ Hello ดี ... ^__^...

มาอ่านอีกแง่มุมหนึ่งที่คุณกวินวิเคราะห์  ไม่ได้ "เห็นด้วย" และไม่ได้ "ไม่เห็นด้วย" ทั้งหมด เพราะบางแง่มุมของความคิดก็คงแล้วแต่การตึความ

การมองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการให้สติและสร้างประเด็นที่จะได้มองให้ถ้วนถี่ เพราะถ้าทุกคนมองเหมือนกัน มุมเดียวกันแล้ว คงไม่มีสิ่งใหม่  ๆ เกิดขึ้นในโลกนี้

...เราอาจจะต้องนั่งเกวียน ขี่ม้า ใช้เทียนไข กันอยู่เลย...

การคิดสิ่งต่าง มองอีกมุมจึงน่ายกย่อง

แต่โจทย์เดียวกัน คนตอบก็ตอบไม่เหมือนกัน คิดต่าง มองต่าง ด้วยภูมิรู้ ภูมิธรรมที่ต่างกัน ...

คนไม่มีรากจึงคิดว่า... ตัณหา อาจไม่ใช่ คำตอบของโฆษณาชุดนี้เสมอไป ... มองต่างมุมหน่อยนะคะ  เพื่อความงอกงามของสติปัญญาค่ะ...^_^....

ส่งนิทานดี ๆ มาให้อ่านค่ะ...(^___^)

http://gotoknow.org/blog/ton1/216604

สวัสดีค่ะ

โดยสรุปแล้ว

การที่มีผู้ใด หยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างให้กับผู้หนึ่ง  ลึกๆ แล้วเขาก็ย่อมต้องการบางสิ่งบางอย่าง ตอบกลับ (interchange)  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของตัวเงิน ก็เป็นได้ ดังเช่นกรณี ของแม่ต้อยใน โฆษณา เขาก็ย่อมได้รับ ความรัก ความอบอุ่นตอบกลับนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับทรรศนะของนายผีที่ว่า  การให้ นั้นถ้าหากว่าให้แล้วยังหวังผลตอบแทน (มีตัณหา) สมควรที่จะเรียกว่าการ แลก มากกว่า และถ้าจะกล่าวว่า แม่ต้อยคือ นักลงทุนที่มุ่งหวังผลกำไร ก็ไม่น่าที่จะผิดนัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็น นักลุงทุน นั่นก็คือ หากเป็นการลงทุนในธุรกิจที่ขาวสะอาด ก็มักที่จะได้รับคำชื่นชม O_o

* อยากให้ 0 _0 มากกว่า 0_๐ หรือ ๐ _ 0 หรือ ๐_Q 



-อากงสอนหลาน จากคนไณ้รากเขาพาไปดู มอง 4 ด้าน ที่บ้านมีตะเกียง 6 ด้าน มอง ไปมองมาเวียนหัวดีค่ะ ..หลับเลย อิอิ

-สวัสดีค่ะ ติดตามอ่านมาหลายบทความแล้วค่ะ เป็นมุมมองแบบนักวิชาการ นำธรรมะมาเคียงข้าง

-ในโลกนี้ พระพุทธองค์ให้ธรรมะก็หวังว่าใครจะหลุดพ้น ไม่ได้บังคับให้เอา ถ้าอยากได้ให้ปฏิบัติเอง ทำเอง เห็นเอง พ้นเอง

ขอบคุณที่ช่วยให้หัวหมุน สนุกดีค่ะ หลากหลายความคิด

-มาชวนไปปลูกป่า เป็นกำลังใจช่วยลุงเปียก นะคะ

-อันนี้ไม่ได้ทำให้ใคร แต่ทำเผื่อคนรุ่นหลังจะรอด อิอิ

และหวังว่าจะมีคนมาช่วย ...แผ่นดินใคร??? 555+

สวัสดีครับ  คนไม่มีราก ขอบคุณสำหรับนิทาน  อากงสอนหลาน ที่ว่า "ก็เพราะคนทุกคนมองจากมุมมองของตัวเอง เห็นในสี่งที่ตัวเองเห็น แต่ถ้าเจ้าอยากเข้าใจว่าทำไมคนอื่นเห็นอย่างที่เขาเห็น เจ้าก็เดินไปมองที่มุมของเขา แล้วเราก็จะเห็นอย่างที่เขาเห็นถ้าลองนึกภาพนะเจ้าทั้งสี่นั่งอยู่ที่เดียวกัน มองของอย่างเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ยังเห็นไม่เหมือนกันเลย ในอนาคตเวลาที่อยู่ในสังคมเป็นไปได้มั้ย คนก็มองสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่คนคิดไม่เหมือนเรา ใครผิด?"

อากง เนี่ย สมัยก่อนต้องเเคยเกิดเป็น นาย มิตตวินทุก แน่ๆ เลยจึงทำให้ สอนหลานๆ ได้ลุ่มลึกเช่นนี้ จริงๆ การมองเห็นโคมไฟ สีนั้นสีนี้ นั้นเป็นเรื่องของการมองต่างมุม จริงๆ ด้วยล่ะครับ  อย่าว่าแต่โคมไฟเลย เพราะแม้แต่ กงจักร บางคนก็เห็นเป็น ดอกบัว ไปเสียได้เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่ในสังคม  คนก็ย่อมมองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่คนคิดไม่เหมือนเรา ใครผิด?" คำถามของอากงคงจะตอบได้ด้วย มิตตวินทุกชาดก  ที่ว่า

อรรถกถา มิตตวินทุกชาดก (1) ว่าด้วย จักรกรดพัดบนหัว พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนา เรื่องปัจจุบันจักมีแจ้งใน มหามิตตวินทุกชาดก ความว่า

ก็นาย มิตตวินทุกะ นี้ถูกเขาโยนทิ้งในทะเล แล้วได้ไปพบ นาง เวมานิกเปรต แห่งหนึ่ง ๔ นาง  (เวมานิกเปรต คือเปรตอยู่ วิมาน ได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลาง คืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมาน มีร่างเป็นทิพย์สวยงาม เวลาจะเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นน่าเกลียดน่ากลัว(2))

ไม่พอใจจึงเดินจากมาจึงพบ นาง เวมานิกเปรต แห่งหนึ่ง ๘ นาง แต่ก็ยังไม่พอใจจึงเดินจากมาจึงพบ นาง เวมานิกเปรต แห่งหนึ่ง ๑๖ นาง แต่ก็ยังไม่พอใจจึงเดินจากมาจึงพบ นาง เวมานิกเปรต แห่งหนึ่ง ๓๒ นาง แต่ก็ยังเป็นผู้ปรารถนายิ่งขึ้นไม่รู้จักพอ จึงเดินต่อไปข้างหน้า ได้พบ อุสสุทนรก อันเป็นสถานที่เสวยวิบากของพวกสัตว์นรก จึงได้เข้าไปด้วยสำคัญว่า เป็นเมืองๆ หนึ่ง เห็น จักรกรด พัดอยู่บนหัวสัตว์นรก สำคัญว่าเป็น เครื่องประดับ(คือดอกบัว) จึงยินดีชอบใจจักรกรด อ้อนวอนขอได้มา พอจักรกรดพัดติ้วบนศีรษะแล้วจึงรู้ว่า ที่แท้ กงจักร ที่ตนเห็นนั้นหาใช่ดอกบัวไม่ คราวนั้น พระโพธิสัตว์ เผ้เสวยพระชาติเป็นเทวบุตรเที่ยวจาริกไปใน อุสสุทนรก  นายมิตตวินทุกะนั้นเห็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว  จึงกล่าว ว่า :

ข้าแต่เทพบุตรผู้เป็นนาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมชื่ออะไรไว้แก่เหล่าเทพยดา เหล่าเทพยดาเบียดเบียนข้าพเจ้าทำไม นายมิตตวินทุกะได้รับทุกขเวทนา กำหนด (จดจำ) บาปที่ตนทำไว้ไม่ได้ เพราะมีทุกข์มาก จึงได้กล่าวเพ้อไป อย่างนั้น

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า:- ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก ปราสาทแก้วมณี ปราสาทเงิน และปราสาททอง แล้วมาที่นี้ เพราะเหตุอะไร ท่านละนางเทพธิดาเหล่านี้ คือเทพธิดา ๔ นาง ๘ นาง ๑๖ นาง และ ๓๒ นาง ในปราสาทแก้วผลึกเป็นต้นเหล่านี้ แล้วก้าวล่วงปราสาทเหล่านั้นมาที่นี้ เพราะเหตุอะไร?

นายมิตตวินทุกะกล่าว ว่า :- เชิญท่านดูข้าพเจ้าผู้ถึงความฉิบหาย เพราะความสำคัญนี้ว่า โภคสมบัติในที่นี้ เห็นจะมีมากกว่าโภคสมบัติในปราสาททั้งสี่นั้น จักมีเหลือเฟือกว่าโภคสมบัติในปราสาททั้งสี่นี้

พระโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า:- ท่านละทิ้งนางเวมานิกเปรต ๔ มาได้ นางเวมานิกเปรต ๘ ละทิ้งนางเวมานิกเปรต ๘ มาได้นางเวมานิกเปรต ๑๖ ละทิ้งนางเวมานิกเปรต ๑๖ มาได้นางเวมานิกเปรต ๓๒ ยังปรารถนายิ่งขึ้นไม่รู้จักพอ มายินดีจักรกรด จักรกรดจึงพัดอยู่บนกระหม่อมของท่านผู้ถูกความปรารถนาครอบงำ  อันธรรมดาตัณหาเป็นสิ่งที่กว้างขวางอยู่ในเบื้องบน ให้เต็มได้ยาก มักเป็นไปตามอำนาจของความปรารถนา เพราะฉะนั้น ชนเหล่าใดมากำหนัดยินดีตัณหานั้น ชนเหล่านั้นจึงต้องเป็นผู้ทูนจักรกรดไว้ ดูก่อนมิตตวินทุกะ ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้ เมื่อบุคคลซ่องเสพอยู่ย่อมเป็นของกว้างขวางอยู่เบื้องบน คือเป็นของแผ่ไป ธรรมดาตัณหาให้เต็มได้โดยยาก เสมือนมหาสมุทรมีปกติไปตามอำนาจความอยากได้ คือความปรารถนาซึ่งอยากได้อารมณ์นั้นๆ ในบรรดารูปารมณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น คนเหล่าใดมากำหนัดยินดีตัณหานั้นคือเห็นปานนั้น คือเป็นผู้อยากได้แล้วๆ เล่าๆ ยึดถืออยู่ ชนเหล่านั้นย่อมทูนจักรกรดนั้นไว้

ก็นายมิตตวินทุกะกำลังพูดอยู่นั่นแหละ จักรแม้นั้นก็พัดกดลงไป ด้วยเหตุนั้น เขาจึงไม่อาจจะกล่าวอีกต่อไป เทพบุตรจึงไปยังเทวสถานของตนทีเดียว

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นายมิตตวินทุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุว่ายาก ส่วนเทพบุตรในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล จบ อรรถกถามิตตวินทุกชาดกที่ ๙ .. อรรถกถา มิตตวินทุกชาดก ว่าด้วย จักรกรดพัดบนหัว จบ.



อ้างอิง

(1) อรรถกถา มิตตวินทุกชาดก ว่าด้วย จักรกรดพัดบนหัว. เวปไซต์ 84000 พระธรรมขันธ์ [cited 2008 November 10].  Available from: URL; http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=793

(2) เวมานิกเปรต - เวหาสกุฎี. เวปไซต์ธรรมไทย [cited 2008 November 10].  Available from: URL;  http://www.dhammathai.org/buddhistdic/ring288.php

ขอบคุณ ว่าที่ ศาสตารจารย์พิชาน ดร.พรรณา ผิวเผือก ครับ

ขอบคุณครูต่อย เอ้ยครูต้อยนะครับ krutoi ปลูกป่าแล้วต้องคอยรดน้ำด้วยนะครับ เป็นกำลังใจให้นะครับ :)

ไม่เห็นโฆษณาจะบอกตรงไหนเลยว่า จนผัวทิ้ง แล้วจึงเห็นคุณค่าชีวิต ... คำว่าจนผัวทิ้ง เป้นแค่คำขยายภูมิหลังธรรมดาๆมากกว่า โฆษณาต่างหากที่ตั้งโจทย์ถามเราว่า คุณเคยถามตัวเองไหมว่าชีวิตที่มีค่าคืออะไร? แล้วผู้หญิงคนหนึ่ง(แม่ต้อย) ก็ให้คำตอบในแบบของตัวเอง(อาจจะถูกหรือผิด หรือถูกมั่งผิดมั่ง)และสอนเด็กๆว่า ชีวิตที่มีค่าไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวยมีเกียรติ(เพราะเธอและเด็กๆยากจน) หรือก็อายุยืน (เพราะเธอกำลังจะตาย)แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่าและทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า(ในกำลังที่เธอจะสามารถทำได้)...ก็แค่นั้น ไม่เห็นจะต้องคิดซับซ้อน

ขอบคุณครับ คุณ ไม่แสดงตน ขออภัยที่คิดและเขียนซับซ้อน ไปหน่อยนะครับ หงเข้าใจว่า เป็นการเขียนตามภูมิรู้ธรรมดาๆ มากกว่า :P

ขอบคุณที่มาร่วม แอบดูเอ้ย ยลตามช่อง ด้วยกันนะครับ คุณ  ครูใหม่ บ้านน้ำจุน เห็นอะไรบ้างมั้ยครับ ขอดูบ้าง?

ไม่ได้ แอบดู สักครั้งที่เข้ามาอ่านบันทึกของคุณกวินนะคะ แต่แบบว่า คิดตามไม่ทัน นึก ไม่ออก ไงคะ บางที เข้ามาแล้วออกไป ก็ยังไม่ทราบแสดงความคิดเห็นอย่างไรดี บางที เข้ามา มีคนแสดงความคิดเห้นก่อนหน้า เครียด เรา เครียดตาม ไงคะ ถ้าเป็นเรื่อง ลูก ลูก เรื่อง ข้าว ข้าว ขอให้บอก คะ คุณ กวิน เจ้า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม .....

ขอบคุณครู ครูใหม่ บ้านน้ำจุน

สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นภวัคคพรหม 
อีกคนตาแหลมคม  เห็นนรกตกกระทะทองแดง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท