องค์การแห่งการเรียนรู้และการบริหารงานทางคลินิกที่ดี


Clinical Governance

องค์การแห่งการเรียนรู้และการบริหารงานทางคลินิกที่ดี
Learning Organization and Clinical Governance

เอนก สุวรรณบัณฑิต ศศ.ม., วท.บ.
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต. องค์การแห่งการเรียนรู้และการบริหารงานทางคลินิกที่ดี.
วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 ; 1(2): 9-14



องค์การต่างๆ ต้องการการปรับตัวและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการเรียนรู้แรงขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ เช่น แนวทางใหม่ของการจัดการองค์การและการเรียนรู้ในที่ทำงาน การมีโปรแกรมการฝึกอบรมใหม่ ยุทธศาสตร์ในการคัดเลือกพนักงาน และแนวทางการจัดการความรู้ และการเรียนรู้เฉพาะกลุ่มอย่างต่อเนื่อง หากแต่การบูรณาการอย่างเป็นจุดๆ จะเกิดการเรียนรู้ได้ยาก (Mulholland, Zdrahal and Domingue, 2005)

แนวทางอย่างหนึ่งที่นำมาใช้กันในองค์การต่างๆ ก็คือองค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามมีแนวทางการจัดการองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ 3 แนวทางได้แก่ Senge (1990), Garvin (1993) และ Marquardt (1996) ดังตารางที่ 1

Senge 1990 Garvin 1993 Marquardt 1996
System thinking
Shared vision
Team learning
Mental model
Personal mastery
Systematic problem solving
Experimentation
Learning from past
Learning from others
Transferring knowledge
Learning subsystem
Organization subsystem
People subsystem
Knowledge subsystem
Technology subsystem

สำหรับองค์การด้านการแพทย์ มีการนำแนวทางองค์การแห่งการเรียนรู้มาใช้ในอังกฤษ (NHS) ตั้งแต่ปี 1997 มีการพัฒนาระบบ มาตรฐานและกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพในการรักษาพยาบาลและการจัดการความเสี่ยง มุ่งเน้น ผลการทำงานแบบมืออาชีพ (professional performance) การใช้ทรัพยากร (resource management) การจัดการความเสี่ยง (risk management) และ ความพึงพอใจของผู้ป่วย (patient satisfaction) อย่างไรก็ตามแนวทางการบริหารด้านการแพทย์มักจะเป็นแบบจากบนลงล่าง (top down management) ผ่านกฎ ระเบียบและมาตรฐาน ในขณะที่องค์การแห่งการเรียนรู้จะมุ่งเน้นการบริหารแบบล่างขึ้นบน นั่นคือใช้ความรู้จากรากหญ้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องใช้ระดับความไว้วางใจที่สูงร่วมด้วย (Wilkinson, Rushmer and Davie, 2004) หากแต่ว่าแนวโน้มของโลกนั้นองค์การภาครัฐจะปรับตัวไปสู่องค์การแห่งการเรียนรู้ภายในปี 2010 (Vince, 2000)

สำหรับโรงเรียนแพทย์สิ่งที่เข้ามากระทบก็คือการเรียนรู้ในองค์การเกิดได้น้อยเนื่องจากผลกระทบจากกระบวนการด้านการบริการวิชาการ การลดลงของความเป็นมืออาชีพ(deprofessionalization) การอ้างอิง evidence based ที่น้อย ดังนั้นแนวทางที่ควรสร้างก็คือการสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (community of practise) การจัดให้มีความพร้อมในทักษะที่จำเป็น (equipping with survival skills) ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า (better use of the clinical environment and resources) และต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (expertise in using information technology) องค์การต้องจัดโครงสร้างทางการแพทย์ให้มีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นคุณค่าความเป็นมืออาชีพและใช้อย่างเป็นประโยชน์ที่สุด และ ลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ (Gordon, Hazlett, Cate et al, 2000) องค์การทางการแพทย์ เช่น NHS เน้นว่าองค์การต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (single loop learning) ให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ (double loop learning) และการศึกษาแนวทางการเรียนรู้ในองค์การ (meta-learning : deutero) ซึ่งจะนำไปสู่การให้คำจำกัดความใหม่แก่เป้าหมายขององค์การ ธรรมเนียมปฏิบัติ นโยบาย กระบวนการทำงาน และโครงสร้างต่างๆ องค์การต้องใส่ใจกับ cultural value , structural mechanisms ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ในองค์การ (Nutley and Davies, 2001) ซึ่งหากองค์การทางการแพทย์ นำแนวทางองค์การแห่งการเรียนรู้มาใช้จะต้องปรับองค์กรใน 5 ด้านได้แก่ (Cumming and Worley,1997)


1. โครงสร้าง (structure) องค์การต้องมีโครงสร้างที่สำคัญได้แก่ การทำงานเป็นทีม และการมีเครือข่ายระหว่างภายในและภายนอกองค์การ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล การคิดเชิงระบบ และการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ระบบต้องยอมให้บุคลากรมีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีความ
สำคัญต่อทั้งองค์การ
2. ระบบข้อมูลข่าวสาร (information systems) การเรียนรู้ในองค์การอยู่ที่การรวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร มีระบบโครงสร้างความรู้ทางการจัดการ (knowledge management architec
ture) การใช้เว็บท่า (web portal) เช่นระบบ Lotus Notes เพื่อให้ใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตนเอง ลูกค้า และการบริการ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในองค์การเข้าด้วยกัน
3. การใช้ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Practices) มีการวางระบบการเรียนรู้ของบุคลากร การประเมินและการให้รางวัล เพื่อผลการปฏิบัติงานในระยะยาว มีการส่งเสริม การแสวงหาและแลก
เปลี่ยนทักษะและความรู้ใหม่ๆ มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้การพัฒนาทักษะในการทำงาน และการให้เครดิตทางการศึกษาต่อเนื่องอื่นๆ อีกด้วย
4. วัฒนธรรมองค์การ (organization culture) องค์การต้องมีวัฒนธรรมที่จะส่งเสริมการเปิดกว้าง การคิดอย่างสร้างสรรค์ และการทดลองขึ้น โดยมีการสนับสนุนทางสังคม กระตุ้นพนักงานให้แสวงหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่อกัน มีอิสระในการทดลองสิ่งใหม่ มีโอกาสที่จะผิดพลาดและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
5. ภาวะผู้นำ (leadership) การเปลี่ยนแปลงองค์การต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ มีความเปิดกว้าง กล้าที่จะเสี่ยง และเน้นความสำคัญของการเรียนรู้ มีการสื่อสารวิสัยทัศน์และส่งเสริม สนับสนุนพนักงานของตนเอง

 

การบริหารงานที่ดี (Good Governace for a Good Goverment)

การบริหารงานที่ดีต้องใช้เกณฑ์ 3 เกณฑ์ โดยผสมผสานกันอย่างเหมาะสมด้วยคุณธรรมแห่งความพอเพียง คือ

  1. เกณฑ์จำเป็น ต้องออกกฎที่กระตุ้นให้บุคลากรขยันขันแข็งทำงาน โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ทั้งส่วนตนและพวกพ้อง เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงปลอดภัยขององค์การ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอย่างเพียงพอมิให้ความขยันขันแข็งของใครมีผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้อื่นโดยเขาไม่ยินยอม ถือว่าทุกฝ่าย คือ ผู้ออกกฎ ผู้รักษากฎและผู้ชี้ขาดกฎ ระเบียบนั้น ในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต้องต้องใช้กฎ ระเบียบเพื่อควบคุมทุกคนโดยไม่ไว้หน้า
  2. เกณฑ์เสริม การบริหารที่ดีจะต้องเสริมกฎ ระเบียบด้วยข้อปฏิบัติทางศาสนา ไม่ใช่เพียงแต่ส่งเสริม โดยถือว่าคำสอนของศาสนาเป็นส่วนเสริมที่จำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิตของบุคลากร ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัย แต่ต้องมองว่าเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในสังคมของบุคลากรของตนด้วย
  3. เกณฑ์ส่งเสริม ถ้ามีเพียงกฎ ระเบียบขององค์การ และข้อปฏิบัติทางศาสนาเท่านั้น ก็ยังอาจจะมีจุดอ่อนในสังคมการทำงาน หนทางหนึ่งคือการส่งเสริมการจัดตั้งสมาคม ชมรมอิสระมามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อสร้างจิตสำนึกในหน้าที่ (Duty Call) คือ สร้างความรู้สึกว่ามีหน้าที่บางอย่างต้องทำเพื่อให้คนสรรเสริญ



การบริหารงานที่ดีทุกระดับและทุกด้าน จะต้องมองไปที่ความพอเพียงและพอดีระหว่างเกณฑ์ทั้ง 3 อย่างเหมาะสม

ดังนั้นเมื่อพิจารณาแนวโน้มองค์การทางการแพทย์ในประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์การแห่งการเรียนรู้และการบริหารงานที่ดี ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเพิ่มเติมจากการจัดการความรู้ (knowledge management) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกันคุณภาพโรงพยาบาล (hospital accreditation) และเป็นแนวทางของการพัฒนาองค์การที่เป็นเลิศตามมาตรฐาน (Thailand quality award) รวมไปถึงการนำมาตรฐานใหม่ๆ เช่น Joint Commission International ซึ่งเป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลในระดับสากลมาใช้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การทางการแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลเอกชน แน่นอนที่ว่าแผนกรังสีวิทยาย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แม้ว่าจะมีการนำระบบสารสนเทศหลายประเภทมาใช้ เช่น PACS, Groupware และ web portal หากแต่ส่วนใหญ่การพัฒนามุ่งเน้นการใช้เพื่อการทำงาน มิได้มุ่งเน้นเพื่อการเรียนรู้ ดังนั้นด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์ทางด้านรังสีวิทยา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล รังสีเทคนิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การทางการแพทย์ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เข้ากับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ นั่นคือ มุ่งเน้นความเป็นวิชาชีพ และการวิจัยเชิง evidence based มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องการสร้างความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT familiar) การเปิดกว้างทางความคิด (Openness) การไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Trust) และการมีชุมชนนักปฏิบัติ (community of practise) ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เกณฑ์มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รังสีเทคนิคยืนหยัดอย่างมีคุณค่าในระบบสาธารณสุขซึ่งมุ่งหน้าไปอย่างรวดเร็วในการจัดการความรู้และความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้



บรรณานุกรม
1. Gavin A.D. General Management: Processes and action Text and Cases. McGraw-Hill , 2002
2. Cummings, T. G. and Worley C.G. Organizational development and change. 6th Ed. South-Western, Ohio., 1997
3. Marquardt M.J. Building the Learning Organization. McGraw-Hill, 1996
4. Senge M.P., Roberts C., Ross B.R.,Smith J.B., Kleiner A. The fifth discipline field book: strategies and tools for building a learning organization. New York, Doubleday : 1994
5. Gordon F., Hazlett C., Cate O.T. et al., Strategic planning in medical education: enhancing the learning environment for students in clinical setting. Medical Education, 2000; 34: 841-850
6. Mulholland P., Zdrahal Z. and Domingue J. Supporting continuous learning in a large organization: the role of group and organizational perspectives. Applied Ergonomics 2005 (36);127-134
7. Nutley S.M. and Davies H.T.O. Developing organizational learning in the NHS. Medical Education, 2001; 35: 35-42
8. Vince R. Learning in public organizations in 2010. Public money & management, 2000; jan-mar:39-44
9. Wilkinson J., Rushmer R.K. and Davies H.T.O. Clinical governance and the learning organization. J Nursing Management. 2004;12: 105-113
10. เอกสารของคณะอนุกรรมาธิการคุณธรรมจริยธรรม คณะกรรมาธิการศาสนา จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม.สอนคุณธรรมอย่างไรให้ธำรงสามัคคี .สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2550

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การบริการงาน
หมายเลขบันทึก: 161926เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท