การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยสำหรับงานรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา


Data Management

การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยสำหรับงานรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา
Interventional Radiology Data Management : self managed view

จุฑา ศรีเอี่ยม*           ป.รังสีเทคนิค
ตองอ่อน น้อยวัฒน์*   ป.รังสีเทคนิค
คง บุญคุ้ม*              ป.รังสีเทคนิค
สมจิตร จอมแก้ว*      ป.รังสีเทคนิค
เสาวนีย์ หอมสุด**    พย.บ
เอนก สุวรรณบัณฑิต* วท.บ.รังสีเทคนิค

*ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
**งานการพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช

 
จุฑา ศรีเอี่ยม, ตองอ่อน น้อยวัฒน์, คง บุญคุ้ม, สมจิตร จอมแก้ว, เสาวนีย์ หอมสุด, เอนก สุวรรณบัณฑิต. การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยสำหรับงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(2): 22-32

บทคัดย่อ
งานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาเป็นส่วนงานที่มีการใช้ข้อมูลเพื่อการวินิจฉัย รักษาผู้ป่วย ในหลายหัตถการผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นข้อมูลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องบริหารจัดการให้พร้อมใช้ แม้ว่าระบบ Picture Archiving and Communication System (PACS) จะได้รับความนิยมในการนำมาใช้จัดการข้อมูลทางรังสีวิทยาทั้งหมด อย่างไรก็ตามยังขาดความเฉพาะเจาะจง ในด้านบันทึกความก้าวหน้าของโรค ซึ่งพบในการให้บริการทางคลินิก ดังนั้นการบริหารจัดการฐานข้อมูลด้วยตนเอง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของหน่วยงานมากที่สุด


การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการรักษาพยาบาล ผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมาตรฐานทางการปฏิบัติงานของวิชาชีพต่างๆ รวมไปถึงมาตรฐานการประกันคุณภาพโรงพยาบาลต่างก็ให้ความสนใจในการจัดเก็บที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและสถิติของหน่วยงาน ข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการตรวจรักษาของผู้ป่วยซึ่งการจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ที่ดีจะเป็นประโยชน์ในการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะทำให้สามารถรวบรวมเป็นข้อมูลในการศึกษา ค้นคว้า และทำวิจัยทางการแพทย์ของบุคลากรทุกฝ่ายได้

สถานพยาบาลหลายแห่งมีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในระบบข้อมูลของโรงพยาบาล (Hospital Information System : HIS) ซึ่งเป็นข้อมูลกลางของโรงพยาบาล แต่การเปิดใช้หรือเรียกดูข้อมูลจะมีการจำกัดในบางส่วนเนื่องด้วยสิทธิผู้ป่วย สำหรับงานรังสีวิทยามักจะมีการจัดเก็บบนฐานข้อมูลทางรังสี (Radiology Information System : RIS) ซึ่งมักจะจัดเก็บในฐานข้อมูลประเภท DICOM หรือ main server ซึ่งทำการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลรวมทั้งหมด ดังนั้นการค้นหาจะต้องมีการกำหนดการเรียงตามรหัส ตัวแปรที่สนใจ เช่น วันเดือนปี ประเภทการตรวจ ชื่อ-นามสกุล HN ซึ่งง่ายต่อการค้นหาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามส่วนงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษานั้นมีความต้องการความสมบูรณ์ของข้อมูลผู้ป่วยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรังสีร่วมรักษาระบบหลอดเลือดสมองซึ่งต้องมีการติดตามการรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การที่จะเรียกข้อมูลจากระบบ RIS มีความไม่สะดวกในการบริหารจัดการ เนื่องจากข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากฐานข้อมูลกลางมีข้อมูลเฉพาะไม่ครบถ้วน และบางกรณีเมื่อต้องการเปรียบเทียบหลายข้อมูล ระบบยังขาดความสามารถในการรองรับความต้องการเหล่านี้ อีกทั้งในการประชุมร่วมระหว่างแผนก การนำข้อมูล ฟิล์ม และผลอ่านต่างๆ ติดตัวไปทำให้เกิดภาระในการขนย้าย รวมไปถึงในการทำการวิจัยๆ เมื่อต้องการรวบรวมข้อมูลจะใช้เวลามาก ดังเช่น การที่ไม่สามารถเรียกข้อมูลผู้ป่วยในกลุ่มโรคเดียวกันได้พร้อมๆ กัน จึงทำให้การประมวลข้อมูลผู้ป่วยมีความล่าช้าไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันระบบฐานข้อมูลกลางอาจเกิดปัญหาที่ตัวระบบ เช่น ฐานข้อมูลล่ม การเปลี่ยนระบบ ทำให้ระบบใหม่ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่จัดเก็บในระบบเดิมได้ ทำให้ไม่สามารถค้นหาข้อมูลเก่าได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดในการการจัดการข้อมูลผู้ป่วยรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาใหม่ โดยมีแนวทางที่จะจัดข้อมูลผู้ป่วยมาแยกเก็บเฉพาะเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
กระบวนการในการจัดการข้อมูลผู้ป่วย (Patient Data Management)
การจัดการข้อมูลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการในการให้บริการรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา นับถึงปัจจุบันถือได้ว่าเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ของระบบการจัดการข้อมูล ซึ่งแปรตามความก้าวหน้าของระบบการสร้างภาพของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณของแต่ละแห่งอีกด้วย หากจะพิจารณานับแต่คลื่นลูกที่หนึ่ง ดังภาพที่ 1 โดยกระบวนการจัดการข้อมูล ดังนี้
  1. การแรกรับผู้ป่วย เมื่อแพทย์เจ้าของไข้ส่งผู้ป่วยพร้อมใบนัดตรวจมายังแผนก จะมีการให้คำปรึกษาการตรวจเบื้องต้น
  2. การจัดผู้ป่วยมารับการให้คำปรึกษาการตรวจก่อนวันตรวจ จะมีการทำแฟ้มประวัติประจำตัวผู้ป่วย
  3. ในวันตรวจ จะมีการทำหัตถการ อย่างไรก็ตามเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดยังใช้ระบบสร้างภาพแบบ roll film ซึ่งให้ข้อมูลเป็นภาพฟิล์มเท่านั้น
  4. แพทย์อ่านและรายงานผลการตรวจรักษาผู้ป่วย
    (interventional report)
ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยในคลื่นลูกที่ 1 จึงมักจะเป็นการสำเนาฟิล์มและผลการตรวจรักษาไว้ และจัดให้มีสถานที่เก็บโดยเฉพาะ
 

ต่อมาในราวปี 1990 เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดได้พัฒนาระบบการบันทึกภาพเป็นดิจิตอล ทำให้การจัดการฐานข้อมูลก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่ 2 โดยมีกระบวนการจัดเก็บข้อมูลตามการบริการเกิดขึ้น ดังภาพที่ 2 ซึ่งขั้นตอนดังนี้
  1. การแรกรับผู้ป่วย เมื่อแพทย์เจ้าของไข้ส่งผู้ป่วยพร้อมใบนัดตรวจมายังแผนก จะมีการให้คำปรึกษาการตรวจเบื้องต้น
  2. การจัดผู้ป่วยมารับการให้คำปรึกษาการตรวจก่อนวันตรวจ จะมีการทำแฟ้มประวัติประจำตัวผู้ป่วย
  3. ในวันตรวจ จะมีการบันทึกภาพในการตรวจเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่อง และมีการพิมพ์ภาพออกเป็นฟิล์ม
  4. อัดบันทึกภาพการตรวจลงเทป เพื่อเก็บรักษาข้อมูลแบบอนาลอก
  5. แพทย์ทำการลงบันทึก Interventional record sheet
  6. แพทย์อ่านและรายงานผลการตรวจรักษาผู้ป่วย(interventional report)

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้แม้จะสามารถจัดการภาพที่เป็นดิจิตอลได้ แต่เทคโนโลยีฐานข้อมูล (data base server) ยังเป็นการลงทุนที่สูง ดังนั้นข้อมูลจึงยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ การเรียกใช้ข้อมูลจึงจะเป็นการนำ tape record ที่มีมาอ่านซ้ำที่ตัวเครื่อง เพื่อดูภาพ แล้วสำเนาฟิล์มเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน ยังขาดการจัดการเชิงดิจิตอลอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามในราวปี 1995 กระบวนการจัดการฐานข้อมูลได้เริ่มก้าวเข้าสู่ในคลื่นลูกที่ 3 เนื่องจากการใช้ระบบฐานข้อมูล(data base server) มีราคาการลงทุนที่ถูกลง และเมื่อเชื่อมต่อระบบ ก็สามารถที่จะส่งข้อมูลไปเก็บรวมไว้ที่ฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานได้ทันที ในช่วงนี้จะมีการจัดการฐานข้อมูลในเชิงปฏิบัติคาบเกี่ยวระหว่างคลื่นลูกที่ 2และ 3 ในหลายแห่ง ดังภาพที่ 3 ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลตามการบริการ มีขั้นตอนดังนี้
  1. การแรกรับผู้ป่วย เมื่อแพทย์เจ้าของไข้ส่งผู้ป่วยพร้อมใบนัดตรวจมายังแผนก จะมีการให้คำปรึกษาการตรวจเบื้องต้น และมีการจัดการทำแฟ้มประวัติประจำตัวผู้ป่วย
  2. ในวันตรวจ จะมีการบันทึกภาพในการตรวจเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่อง และมีการพิมพ์ภาพออกเป็นฟิล์ม และจัดส่งภาพลงสู่ DICOM
  3. อัดบันทึกภาพการตรวจลงเทป เพื่อเก็บรักษาข้อมูลแบบอนาลอก
  4. แพทย์ทำการลงบันทึกInterventional record
  5. แพทย์อ่านและรายงานผลการตรวจรักษาผู้ป่วย(interventional report)

 อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพัฒนาไปจนถึงระดับหนึ่ง ความต้องการใช้ข้อมูลผู้ป่วยปรับไปจากการต้องการข้อมูลรายบุคคลเพื่อการรักษา เป็นการต้องการกลุ่มของข้อมูลเพื่อการเปรียบเทียบ วิเคราะห์และวิจัย ซึ่งระบบฐานข้อมูลกลางรองรับได้เพียงบางส่วน ดังนั้นแนวคิดในการจัดการฐานข้อมูลด้วยตนเอง (self-managed data system) จึงได้เกิดขึ้นเป็นคลื่นลูกที่ 4 ในราวปี 2000 ในแนวคิดของคลื่นลูกที่ 4 เป็นการจัดการฐานข้อมูลตามการใช้งานจริง เพื่อจุดมุ่งหมายของการสร้างกลุ่มข้อมูล เพื่อหน่วยงานนั้นๆ สิ่งสำคัญจึงเป็นประเด็นของข้อมูลที่ต้องการเพื่อการจัดเก็บ ไม่ใช้เก็บข้อมูลทั้งหมด (required data not all data)
 

ข้อมูลที่ต้องจัดเก็บ (Required Data)
การเก็บข้อมูลผู้ป่วย แต่เดิมเก็บในรูปของแฟ้มกระดาษ ผ่านการออกแบบสร้างแบบฟอร์มต่างๆ ออกมาเพื่อการจัดเก็บข้อมูล หากแต่จะมีสิ่งที่จำเป็นต้องบันทึกคล้ายๆ กันได้แก่
1. ข้อมูลประวัติ (geographic data) ที่จำเป็นจะต้องบันทึกประกอบด้วย
- ชื่อ-นามสกุล, อายุ, เพศ
- Hospital No.
- Admission No.
- Radiology No.
- หอผู้ป่วย (ward)
- วันที่ทำการให้คำปรึกษา
- วันที่ทำการตรวจ
- ที่อยู่ของผู้ป่วยและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ

2. ข้อมูลการเจ็บป่วย (Medical history data)
- ผลการวินิจฉัย (Diagnosis)
- รายงานการตรวจอื่นๆ (Study)
- ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และ ปัจจุบัน
- อาการสำคัญที่มาพบแพทย์
3. ข้อมูลการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจ (Radiology and other diagnostic data) ได้แก่
- ผลเอกซเรย์ทั่วไป (Plain film)
- Ultrasound, CT, MRI, IVP,GI, Endoscope
- ผล Biopsy
- ผล Blood chemistry ฯลฯ
- ผลการตรวจทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาที่ผ่านมา

แนวทางการจัดการข้อมูล

การบันทึกข้อมูลแต่เดิม จะมีเพียงการจดบันทึกลงกระดาษ (hard copy) หรือแบบฟอร์มต่างๆ ตั้งแต่การนัดหมาย การแรกรับ ประวัติและบันทึกระหว่างการทำหัตถการ และภายหลังการทำหัตถการ รวมถึงการติดตามอาการผู้ป่วยด้วย โดยทั่วไปจะมี 4 แบบฟอร์ม ซึ่งจะมีข้อมูลซ้ำๆ กันไป เช่น บันทึกการทำหัตถการ บันทึกภาวะแทรกซ้อน บันทึกทางการพยาบาล ทำให้ต้องเสียปริมาณกระดาษจำนวนมาก รวมไปถึงพื้นที่ในการจัดเก็บและยังเป็นการยากต่อการเรียกใช้อีกด้วย

แนวการบันทึกข้อมูลรูปแบบจัดการตนเอง (self-management Data system)

ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์นั้น ดังเช่น แนวทางของงานรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาระบบหลอดเลือด สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ใช้การจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลโดยมีการวางแนวทางการจัดการข้อมูลผู้ป่วยเพิ่มเติมดังภาพที่ 4 และมีการจัดเก็บข้อมูลลงในโปรแกรมฐานข้อมูลอีก 4 รูปแบบร่วมกัน ได้แก่

1. การลงข้อมูลประวัติผู้ป่วย (Patient profile) ในฐานข้อมูลซึ่งสร้างจากโปรแกรมสำเร็จรูป คือ โปรแกรม FileMaker Pro8 เพื่อทำการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ดังภาพที่ 5 ซึ่งมีการเก็บข้อมูลได้แก่
1.1 ประวัติทั่วไป
1.2 แพทย์ผู้ส่งตรวจ
1.3 สถานที่ติดต่อ
1.4 รังสีแพทย์ผู้รับผิดชอบ
1.5 ประวัติทางครอบครัว
1.6 ประวัติโรค
1.7 ผลการตรวจอื่น
 
2. การสร้าง Angio Unit Database โดยการใช้ Window explorer จัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วย และภาพรังสีหลอดเลือดโดยแยกตามประเภทของโรค/การตรวจ ใน Folder ดังภาพที่ 6 ซึ่งแยกออกได้เป็น 23 กลุ่ม และในแต่ละกลุ่ม sub folder จะแยกเก็บตามผู้ป่วยซึ่งจะระบุเป็นชื่อและหมายเลข HN ดังภาพที่ 7 และ ในแต่ละ sub Folder จะมีภาพทางรังสีจากการตรวจ angiography , CT หรือ MRI รวมไปถึงประวัติผู้ป่วยและรายงานผลแต่ละครั้งในรูปของไฟล์ pdf จากโปรแกรม FileMaker Pro8 ดังภาพที่ 8

 

 

การใช้โปรแกรมฐานข้อมูลเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างไฟล์ฐานข้อมูลที่สำคัญ อาจเลือกใช้ Microsoft access ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่ดีในการสร้างฐานข้อมูลก็คือ โปรแกรม FileMaker Pro ซึ่งสามารถสร้างให้ง่ายและมีหลายหน้าต่างเพื่อใช้งานได้ ส่วนสำคัญก็คือการเก็บประวัติของผู้ป่วยเพื่อการติดตามผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง หน่วยงานควรที่จะจัดการไฟล์เพื่อการติดตามแยกตามประเภทของโรคที่พบบ่อย เช่น Aneurysm. AVM, Tumor เป็นต้น

3. การใช้ SPSS file version 11.5 จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ผู้ป่วย วันเดือนปีที่ตรวจ, รังสีแพทย์ที่ทำการตรวจ, ส่วนที่ตรวจ การวินิจฉัยโรค ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ประเภทของการรักษาทางรังสีร่วมรักษา รวมทั้ง Unit cost ของผู้ป่วย และที่เรียกเก็บ จากผู้ป่วย ฯลฯ โดยโปรแกรมนี้มีความง่ายในการใช้เพื่อการคำนวณสถิติต่างๆ เพื่อทำการประเมินผลการทำงาน และสามารถนำเป็นรายงาน กราฟ หรือแสดงผลการทำงานต่างๆ ได้ดังภาพที่ 9

4. การจัดเก็บผลการตรวจทางรังสี (interventional Result) ในระบบฐานข้อมูลซึ่งสร้างจากโปรแกรมสำเร็จรูป คือ โปรแกรม FileMaker Pro8 เพื่อทำการบันทึกผลการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย ดังภาพที่ 10 ซึ่งมีการกรอกข้อมูลวิธีการตรวจ กระบวนการทำและผลที่ได้ เพื่อจัดเก็บและมีการพิมพ์ออกเพื่อใส่เข้าฟอร์มปรอทของผู้ป่วยให้แก่แพทย์เจ้าของไข้ได้รับทราบ

 

 ข้อดีของการจัดการฐานข้อมูลดิจิตอลในคลื่นลูกที่ 4

  1. การจัดการฐานข้อมูลเป็นไปได้โดยสะดวก เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
  2. ข้อมูลผู้ป่วยมีการจัดเก็บที่ครบถ้วน สมบูรณ์พร้อมสำหรับการใช้ติดตามผลและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
  3. เกิดระบบฐานข้อมูลเฉพาะของงานรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา
  4. ทำให้เกิดความพร้อมในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลตามกลุ่มโรค เพื่อการวิจัย
  5. ทำให้ง่ายต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการประชุมร่วม interdepartmental conference
  6. ข้อมูลในรูปไฟล์ดิจิตอลทั้งไฟล์ที่ลงท้ายด้วย pdf และ jpg สามารถนำไปใช้ในการเสนอต่างๆ ได้ง่าย

แนวทางการพัฒนาการจัดการฐานข้อมูลดิจิตอลใหม่
การจัดการข้อมูลทางรังสีหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาทั้งในรูปแบบเดิม ที่เป็น hard copy และรูปแบบใหม่ที่เป็น digital file ยังมีการใช้ร่วมกัน ดังนั้นเพื่อการเดินหน้าต่อไปในการจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่ดีนั้น จะต้องมีขั้นตอนที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่

  1. จัดการให้ความรู้ และแนวทางการปฎิบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานให้สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
  2. เพื่อระบบฐานข้อมูลที่ดี จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลย้อนหลังเป็นระยะ
  3. นำข้อมูลที่ยังเป็น hard copy ที่ข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นกระดาษมาทำการสแกนหรือลงข้อมูลในโปรแกรมฐานข้อมูลที่มี และนำฟิล์มไปทำการสแกนเพื่อแปลงให้เป็น digital file
  4. นำระบบการคิดค่าใช้จ่ายมารวมไว้ในฐานข้อมูล


สรุป
แนวทางการจัดการข้อมูลนั้น มุ่งเน้นการมีฐานข้อมูลเฉพาะที่ครบถ้วน แยกเก็บไว้นอกระบบกลาง โดยการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานเพื่อป้องการการสูญหายของข้อมูลจากไวรัสคอมพิวเตอร์ และทำให้สะดวกกับการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วย การศึกษา และการวิจัย ฐานข้อมูลดิจิตอลจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากแต่ในการจัดการยังคงต้องเดินไปกับการจัดเก็บข้อมูลแบบอนาลอกต่อไป เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่สร้างความยุ่งยากแก่ผู้ปฏิบัติงาน หากแต่ทำให้การทำงานปกติมีความง่ายและเกิดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


บรรณานุกรม

  1.  บุญดี บุญญากิจและณีชมน พรกาญจนานันท์. ตรวจประเมินความรู้...สู่การปฏิบัติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2550
  2. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปีการพัฒนและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลครั้งที่ 8 “Humanized Healthcare ..คืนหัวใจให้ระบบสุขภาพ”, 2550
  3. เอกสารประกอบโครงการอบรมคอมพิวเตอร์ศิริราชพยาบาล เอกสารประกอบการอบรม. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548

  

 

หมายเลขบันทึก: 161927เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท