สารอุดหลอดเลือดแบบเหลว


กาวอุดหลอดเลือด

 สารอุดหลอดเลือดแบบเหลว
Nonabsorbable Liquid Agents

 
พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ   วท.บ.รังสีเทคนิค
สมจิตร จอมแก้ว      ป.รังสีเทคนิค
วีรชาติ ชูรอด          วท.บ.รังสีเทคนิค
วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์ วท.บ.รังสีเทคนิค
เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, สมจิตร จอมแก้ว, วีรชาติ ชูรอด, วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์, เอนก สุวรรณบัณฑิต. สารอุดหลอดเลือดแบบเหลว. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(2): 33-38

สารอุดหลอดเลือดแบบเหลวเป็นสารที่ไม่สามารถดูดซับได้ โดยสารจะมีคุณลักษณะเป็นของเหลวในขณะที่ฉีด แต่จะกลายสภาพเป็นของแข็งเมื่อเข้าไปถึงรอยโรค (pathological angioarchitecture) โดยทำให้เกิดเป็นลักษณะคราบในหลอดเลือด (endovascular cast) ซึ่งทำให้เลือดไม่สามารถผ่านไปยังระบบการไหลเวียนในส่วนของเส้นเลือดดำ หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายได้ (venous circulation or distal arterial territory)

คุณสมบัติของสารอุดหลอดเลือดแบบเหลวนั้นจะต้องไม่สลายไปขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นพิษด้วย หากเกิดการฉีดพลาดไปยังตำแหน่งที่ไม่ต้องการ

อย่างไรก็ตามสารอุดหลอดเลือดในปัจจุบันยังไม่มีคุณสมบัติในอุดมคตินี้

สารอุดหลอดเลือดที่ได้รับการนำมาใช้ในการรักษาโรคทางหลอดเลือดได้แก่ ซิลิโคนเหลว (liquid silicone), acrylate, สารที่เป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxics) เช่น 98% ethanol และยาเคมีบำบัดบางชนิด สารอุดหลอดเลือดตัวใหม่ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ เช่น สารอุดหลอดเลือดชนิด acrylate ได้แก่ octa-cyanoacrylate neuroacryl, สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม ethylene-vinyl alcohol copolymer (EVAL) และขณะนี้มีสารอุดหลอดเลือดตัวใหม่ได้แก่ ONYX (MicroTherapeutics,Inc) ซึ่งได้รับการรับรองแล้วในสหภาพยุโรป และกำลังประเมินในการใช้เพื่ออุดหลอดเลือดในผู้ป่วย arteriovenous malformation และ Aneurysm ในสหรัฐอเมริกา

สารอุดหลอดเลือดแบบเหลวนี้มีอำนาจในการทะลุทะลวงเนื้อเยื่อและก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อได้อย่างมาก โดยจะทำให้เกิดการบวมน้ำ (swelling) ซึ่งจะทำให้เกิดการตายในที่สุด (necrosis) ดังนั้นในการใช้สารอุดหลอดเลือดจะต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม ดังนั้นจะต้องพิจารณาในประเด็นดังนี้

1. รอยโรคนี้จะถูกผ่าตัดออกภายหลังการอุดหลอดเลือดหรือไม่
2. เนื้อเยื่อหรือผิวหนังส่วนใดที่สามารถสูญเสียได้
3. เนื้อเยื่อหรือผิวหนังส่วนใดที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้
ในเนื้อเยื่อระดับลึกที่ไม่เกี่ยวข้องกับ skin และ mucous membranes นั้นการตายของเนื้อเยื่อไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา หากแต่การเกิด fibrous tissue จะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจอย่างยิ่ง
 
สารอุดหลอดเลือดแบบเหลวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม Acrylates
2. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม sclerotherapy
3. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม ethylene-vinyl alcohol copolymer : EVAL

 
ซึ่งสามารถอธิบายโดยละเอียดดังนี้
 
1. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม Acrylates
สารอุดหลอดเลือดกลุ่มนี้เป็นที่นิยมในการใช้โดยเฉพาะ N-butyl-2-cyanoacrylate (NBCA) และ Isobutyl -2-cyanoacrylate (IBCA) ได้รับการนำมาใช้ตั้งแต่ราวปี 1970s โดยในทางการค้ามีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ Hystoacryl (B.Braun, Inc) ซึ่งเป็นที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก และ Trufill (Cordis Endovascular, Inc) ซึ่งมีใช้เฉพาะในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามสารอุดหลอดเลือดกลุ่ม acrylate นี้มีความเป็นพิษอยู่โดยทำให้เกิด fibrous tissue และทำให้หลอดเลือดขยายตัวได้ ส่วนประเด็นการเป็นสารก่อมะเร็งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาระยะยาวต่อไป

ในท้องตลาดยังมีสารอุดหลอดเลือดกลุ่มนี้อีกตัวหนึ่ง คือ Glubran®2 (Bio-Vascular,Inc) ซึ่งเป็น synthetic surgical glue และมีการนำมาใช้แทนที่ Hystoacryl ในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้ว

การฉีดสารอุดหลอดเลือดกลุ่ม acrylate จะต้องเข้าใจในคุณสมบัติการเป็นโพลิเมอร์ (polimerization) โดย acrylate จะจับตัวแข็งเมื่อพบกับสารละลายที่มีไอออน (ionic solution)เช่น สารทึบรังสี อนุมูลในเลือด และ basic pH solution ดังนั้นก่อนการฉีดสารอุดหลอดเลือดจะต้องมีการล้างสายสวนหลอดเลือดด้วยสารละลายที่ไม่มีไอออน เช่น 5% dextrose solution เพื่อป้องกันการแข็งตัวภายในสายสวนหลอดเลือด หากต้องการให้สารอุดหลอดเลือดมีความทึบต่อรังสีจะต้องผสมกับสารอื่น เช่น tantalum powder, สารทึบรังสีกลุ่มไขมัน เช่น lipiodol หรือ ethiodol โดยเฉพาะ tantalum powder จะใช้ผสมในกรณีที่ใช้ฉีดในรอยรั่วที่มีการไหลของเลือดเร็ว (high flow fistula) เช่นในผู้ป่วย Galenic malformation โดยอาจผสมให้มีอัตราเข้มข้น 50%-80%NBCA การฉีดสารอุดหลอดเลือดในกลุ่มนี้มักนิยมที่จะฉีดให้ต่อเนื่อง (continuous column) เมื่อสามารถนำสายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กเข้าใกล้รอยโรคมากที่สุด (superselectivity) โดยต้องให้สารอุดหลอดเลือดอุดในส่วนแกนหลักของรอยโรค (nidus) จากนั้นสารอุดหลอดเลือดจะแข็งตัว ซึ่งอาจทำให้แข็งเกินมาที่สายสวนหลอดเลือดได้ ดังนั้นจะต้องทำการดึงสายสวนหลอดเลือดออกก่อนเวลานั้น


2. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม sclerotherapy
สารอุดหลอดเลือดในกลุ่มนี้จะใช้ในการอุดหลอดเลือดซึ่งจะให้ผลในการรักษา แต่จะมีการอักเสบซึ่งทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นได้ (scars/scleroses) โดยสารที่ใช้ก็คือ ethyl alcohol (98% ethanol) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันทั่วไปในโรงพยาบาล โดย ethanol จะทำลายส่วนประกอบของเซลล์เม็ดเลือด (blood cellular elements) และผนังของหลอดเลือด (endothelium) ซึ่งความเป็นพิษนี้ทำให้ต้องมีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่มนุษย์จะได้รับโดยในการรักษาโรคหลอดเลือดดำผิดปกติ (venous malformation) กำหนดให้ใช้ได้ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 60 ml อย่างไรก็ตามมีการนำ 98%ethanol ไปใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงผิดปกติ arteriovenous malformation ทั้งในส่วนหลอดเลือดลำตัว ศีรษะและลำคอ โดยอาจใช้ร่วมกับสารอุดหลอดเลือดกลุ่มอื่น เช่น PVA และ Gelfoam ขณะเดียวกันมีการนำไปใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง แต่มีรายงานถึงภาวะแทรกซ้อนที่สูงมาก

3. สารอุดหลอดเลือดกลุ่ม ethylene-vinyl alcohol copolymer : EVAL

ได้รับการใช้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ราวปี 1990 โดยเป็นสารในกลุ่ม dimethyl sulfoxide solvent (DMSO) และสารอีกตัวที่ได้รับการพัฒนาด้วย ได้แก่ EVOH : ONYX (MicroTherapeutic,Inc) เพื่อการฉีดรักษา โดยทั้งสองตัวจะเกิดการแข็งตัวจากภายนอกเข้ามา ขณะที่ภายในยังคงมีลักษณะเหลวอยู่ ดังนั้นจึงทำให้สามารถฉีดได้อย่างช้าๆ ในปัจจุบันมีการนำไปใช้ในการอุดหลอดเลือดในผู้ป่วย Aneurysm โดย ONYX (Onyx® Aneurysm) ที่ใช้ในการอุด aneurysm มีเพียง 1 Model ซึ่งในการฉีดจะต้องใช้ balloon assited technique ร่วมด้วย

 

MODEL DESCRIPTION
105-8300-500 ONYX HD 500


และ Onyx Liquid Embolic System สำหรับ brain AVM มี 3 Model ได้แก่

 

MODEL DESCRIPTION
105-7000-060 ONYX 18
105-7000-065 ONYX 20
105-7000-080 ONYX 34

โดยต้องเตรียมชุดการใช้ และสามารถฉีดอุดเส้นเลือดที่ผิดปกติได้ดังภาพ

 

 


สรุป
สารอุดหลอดเลือดแบบเหลวที่ใช้ในทางรังสีร่วมรักษานั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม acrylate, ethanol และ ethylene-vinyl alcohol copolymer ซึ่งมีคุณสมบัติและความเป็นพิษแตกต่างกัน การเลือกใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับแต่ละผู้ป่วย อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ในสารอุดหลอดเลือดยังต้องมีการศึกษาและค้นคว้าถึงภาวะเป็นพิษ เทคนิคในการใช้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


บรรณานุกรม

  1. Berenstein A., Lasjaunias P. and Ter Brugge K.G. Surgical Neuroangiography 2.2, 2ndEd. Springer Inc, Berlin, 2004 pp.1059-1091
  2. จุฑา ศรีเอี่ยม, สมจิตร จอมแก้ว ,คง บุญคุ้ม และคณะ. การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยการอุดกาว. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 1(1) : 43-50
  3. พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, สมจิตร จอมแก้ว, ตองอ่อน น้อยวัฒน์ และคณะ. โรคหลอดเลือดดำผิดปกติ. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 1(1) : 84-87

 

คำสำคัญ (Tags): #nbca#glue#กาว
หมายเลขบันทึก: 161929เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท