สายสวนหลอดเลือด


Catheters

สายสวนหลอดเลือด
Catheters

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ    วท.บ.รังสีเทคนิค
เสาวนีย์ หอมสุด**    พย.บ.
วีรชาติ ชูรอด           วทบ.รังสีเทคนิค
วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์  วท.บ.รังสีเทคนิค
วิธวัช หมอหวัง         วท.บ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
** งานการพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช

 

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, เสาวนีย์ หอมสุด,วีรชาติ ชูรอด, วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์, วิธวัช หมอหวัง . สายสวนหลอดเลือด . วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(2) : 85-90

 

บทนำ

เมื่องานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษามีการขยายตัวขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่งก็คือการพัฒนาสายสวนหลอดเลือดและอุปกรณ์นำส่งผ่านทางหลอดเลือด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท1 ได้แก่

1 สายสวนหลอดเลือดนำ (Guiding catheters)
2 สายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษ (Microcatheters)
3 สายสวนหลอดเลือดชนิดมีบอลลูนติดอยู่ (balloon catheters)
4 สายสวนหลอดเลือดชนิดนำส่งบอลลูนชนิดปลดออกได้ (detachable balloon catheters)
5 สายสวนหลอดเลือดนำส่งโครงลวดถ่างขยาย (stent delivery catheters)


สายสวนหลอดเลือดนำ (Guiding catheters)

สายสวนหลอดเลือดนำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่แตกต่างกัน โดยจะพิจารณาเส้นผ่านศูนย์กลางที่มากกว่าหรือเท่ากับ 3 Fr. (1.00 มม.) สายสวนหลอดเลือดทำด้วย polyethelene แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ shaft , distal shaft ซึ่งจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไปแต่ละชนิดของสายสวน และ tip ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากความโค้ง และจำนวนโค้งที่แตกต่างกัน การเตรียมสายสวนหลอดเลือดเพื่อหัตถการจะต้องเลือกชุดอุปกรณ์ทั้งหมดให้มีความเหมาะสมร่วมด้วย ทั้ง introducer sheath, guiding catheter, coaxial assembly เช่น microcatheter, balloons, balloon-tip catheter , stent เป็นต้น

 

สายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษ (Microcatheters)

สายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่สายสวนหลอดเลือดที่ต้องใช้ร่วมกับขดลวดนำ (over the guidewire microcatheter) และ สายสวนหลอดเลือดที่นำไปโดยกระแสเลือด (flow guided microcatheter) สายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษมีด้วยกันหลายรูปแบบจากหลากหลายบริษัท เนื่องจากมีส่วนของ shaft และ distal ที่แตกต่างกันในด้านความแข็ง (stiffness) ของส่วน shaft และความอ่อน (softer) และดัดได้โดยง่าย (pliable) ของส่วนปลาย และบางชนิดมีส่วนโค้งสำเร็จรูป (pre-shaped tip) เพื่อการเข้าถึงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ต้องการได้แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามสายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษจะมีขนาด 1-3 Fr. และได้มีการพัฒนาการเคลือบผิวด้านนอกด้วย hydrophilic technology ซึ่งจะทำให้มีความลื่นและเลื้อยผ่านหลอดเลือดได้ง่าย สายสวนหลอดเลือดเกิดจากการถักกัน (braided shaft) ของขดลวดและโพลิเมอร์ ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการหมุน (torque) และผลักดันได้ (pushability) ขณะเดียวกันก็มีความคงตัว ไม่ยุบตัว หรือหงิกงอเข้าหากัน (collapse, kinking) ซึ่งทำให้มีความง่ายและความปลอดภัยในการใช้ สายสวนหลอดเลือดเล็กพิเศษจะออกแบบให้ส่วนปลาย 7-30 ซม.มีความอ่อน สามารถเลื้อยไปตามกระแสเลือดได้ ซึ่งทำให้เข้าไปยังส่วนปลายของหลอดเลือด หรือผ่านหลอดเลือดที่ขรุขระได้ง่าย

Flow guide microcatheter จะเหมาะสมกับการเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ตำแหน่งรอยโรคอยู่ปลายหลอดเลือดมากๆ หรือหลอดเลือดขนาดเล็ก เนื่องจากจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตามหลอดเลือดนั้นจะต้องไม่เป็น high flow vessel เช่น Magic, Batacci (Balt)

Over the guidewire microcatheter จะเหมาะสมกับการใช้ในหลอดเลือดที่ใหญ่กว่า หรือมีความโค้งงอมาก โดยจะใช้ขดลวดนำเป็นตัวนำพาไป มักใช้ในการรักษาหลอดเลือดโป่งพอง เช่น Excelsior (Boston Scientific), Powler (Cordis), Echelon (EV3)

 

สายสวนหลอดเลือดชนิดมีบอลลูนติดอยู่ (balloon catheters)

Balloon catheter แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่

1. single lumen balloon catheter มีความยาว ขนาด ที่แตกต่างกันเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

1.1 ใช้ในเป็นเครื่องช่วยในการอุดหลอดเลือด โดยการควบคุมกระแสเลือด(flow control) หรือใช้เป็น balloon assisted remodeling technique สำหรับการอุดหลอดเลือดโป่งพอง เช่น HyperForm, Hyperglide (MTI)
1.2 เพื่อการขยายหลอดเลือดตีบ (angioplasty balloon catheter) ในผู้ป่วย arteriostenosis, atherosclerosis ในหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดแขน ขา และหลอดเลือดระบบประสาท โดยตัวบอลลูนจะทนความดันได้ถึง 12 atm เช่น Sentry (Boston Scientific) อย่างไรก็ตามยังมีอีกชนิดหนึ่งทีใช้เพื่อวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน ได้แก่ cutting balloon catheter ซึ่งมีใบมีดขนาดเล็กติดอยู่ที่บอลลูน เมื่อขยายบอลลูน ใบมีดจะไปกรีดคราบหินปูนในหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไหลผ่านรอยอุดตันนั้นได้
1.3 เพื่อการทดลองอุดเส้นเลือด หรือการบังคับกระแสเลือด (tolerance testing balloon catheter) จะใช้ในการทดลองอุดหลอดเลือด (balloon occlusion test) ในผู้ป่วยที่มีแผนในการตัดทิ้งหลอดเลือด(sacrified vessel) หรือการเชื่อมต่อหลอดเลือด (bypass vessel) ซึ่งต้องมีการประเมินผู้ป่วยในสถานการณ์จำลองเมื่อหลอดเลือดนั้นหายไปจากระบบไหลเวียนเลือด


2. double lumen balloon catheter จะมีบอลลูนติดอยู่เพื่อการควบคุมกระแสเลือดระหว่างการอุดหลอดเลือด (flow control balloon catheter) ซึ่งจะเป็น double lumen balloon catheter เป็นสายสวนหลอดเลือดที่มี 2 lumen ชั้น outer lumen เป็นส่วนของบอลลูน และ inner lumen สำหรับฉีดสารอุดหลอดเลือด เช่น balloon catheter ที่ใช้ในการอุดหลอดเลือด ในกรณีที่มีตำแหน่งรอยโรคมีภาวะ high flow ตัวบอลลูนทำจาก latex ซึ่งออกแบบให้สามารถขยาย (Inflation) และหดตัว (deflation) ได้หลายครั้ง เพื่อที่จะเห็นตัวบอลลูนจากภาพ fluoro จะมีการผสมสารละลาย (NSS + contrast media) ที่อัตราส่วน 30-50% แล้วใช้ฉีดเพื่อให้บอลลูนขยายตัวให้ได้ขนาดที่เหมาะสมเพื่อการควบคุมกระแสเลือด หรือการหยุดการไหลของเลือดขณะทำการอุดหลอดเลือด (flow arrest) ด้วยสารอุดหลอดเลือดแบบเหลว (liquid agent) เช่น NBCA, EVAL

 

สายสวนหลอดเลือดชนิดนำส่งบอลลูนชนิดปลดออกได้ (detachable balloon catheters)

สายสวนหลอดเลือดชนิดนำส่งบอลลูนชนิดปลดออกได้ออกแบบครั้งแรกโดย Serbinenko (1974) เพื่อใช้นำส่งบอลลูนชนิดปลดออกได้ เพื่อการอุดรอยรั่วของหลอดเลือดในผู้ป่วย carotid carvernous fistula ซึ่งเป็น single hole fistulae มีข้อดีในการปิดรอยรั่วได้อย่างแม่นยำ, สามารถเลื้อยไปตามหลอดเลือดด้วย flow navigation,ตัวบอลลูนสามารถขยายหรือหดได้หลายครั้งเพื่อให้มีขนาดเหมาะสมกับขนาดรูรั่วได้ เมื่อยังไม่ได้ปลดออกสามารถเลื่อน หรือขยับตำแหน่งได้ และสามารถผ่านไปยังหลอดเลือดดำเพื่ออุดรอยโรคได้ สายสวนหลอดเลือดนี้ใช้ร่วมกับ latex balloon เช่น GoldValve balloon ตัวอย่างของสายสวนหลอดเลือดชนิดนี้ได้แก่ Minitorquer : CIFN (Zuellig Pharma), MABDPE, COAXIAL (Balt)

 

สายสวนหลอดเลือดเพื่อนำส่งโครงลวดถ่างขยาย (stent delivery catheters)

เมื่อโครงลวดถ่างขยาย (stent) มีการพัฒนาขึ้น ได้มีการพัฒนาเทคนิคในการนำส่ง 2 รูปแบบได้แก่ balloon mounted stent และ self expanding stent โดยที่ stent อาจทำจาก stainless steel, nitinol โดยระบบ balloon mounted stent จะใช้ระบบสายสวนหลอดเลือดที่ใหญ่ เนื่องจากต้องนำส่งตัว stent เมื่อต้องการถ่างขยายจะทำการ inflation ตัวบอลลูน ซึ่ง stent จะขยายตาม เมื่อได้ความกว้างที่ต้องการ ก็จะ deflation แล้วเอาสายสวนหลอดเลือดพร้อมบอลลูนออกได้ ส่วนระบบ self expanding stent จะใช้ระบบสายสวนหลอดเลือดที่เล็กกว่า (3F delivery system) และใช้เทคนิคในการกางตัว stent เอง เมื่อกาง stent ได้ตามที่ต้องการก็จะดึงตัวขากางออก อย่างไรก็ตามยังมี cover stent ซึ่งสามารถกางตัว stent ได้เอง แต่เนื่องจาก stent ยังมีความแข็งจึงต้องใช้ delivery system ที่มีขนาดใหญ่อยู่


บรรณานุกรม

 

  1. Berenstein A., Lasjaunias P. and Ter Brugge K.G. Surgical Neuroangiography 2.2, 2ndEd. Springer Inc, Berlin, 2004 pp.933-969
  2. คง บุญคุ้ม, ตองอ่อน น้อยวัฒน์, จุฑา ศรีเอี่ยม, เอนก สุวรรณบัณฑิตและธันยาภรณ์ สุวรรณสิทธิ์. การใช้อุปกรณ์ใช้ซ้ำในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีหลอดเลือด. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2550, 1(1) : 32-42

 

คำสำคัญ (Tags): #catheter
หมายเลขบันทึก: 161939เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท