การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยการอุดกาว


Glue Embolization

การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยการอุดกาว
Glue Embolization for AVM

จุฑา ศรีเอี่ยม          ป.รังสีเทคนิค
สมจิตร จอมแก้ว      ป.รังสีเทคนิค
คง บุญคุ้ม              ป.รังสีเทคนิค
เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค
เสาวนีย์ หอมสุด      พย.บ.

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

จุฑา ศรีเอี่ยม, สมจิตร จอมแก้ว, คง บุญคุ้ม, เอนก สุวรรณบัณฑิต, เสาวนีย์ หอมสุด.การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยการอุดกาว. วารสารรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(1) : 43-50

บทคัดย่อ

หัตถการที่เกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดขอดในสมองที่สำคัญก็คือการอุดหลอดเลือดด้วยกาว ซึ่งเป็นหัตถการที่นิยมอย่างหนึ่ง สาเหตุของโรค ทางเลือกในการรักษาและการจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมไปถึงภาพทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในการร่วมพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง

 โรคเส้นเลือดขอดในสมอง (arteriovenous malformation) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ที่มีลักษณะเป็นกลุ่มของหลอดเลือดที่มีขนาดผิดปกติ

โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดขอด และหลอดเลือดดำที่สัมพันธ์กัน โดยหลอดเลือดแดงจะนำเลือดไปสู่บริเวณหลอดเลือดขอดและไหลเวียนออกไปทางหลอดเลือดดำ นอกจากจะพบในสมองแล้ว โรคหลอดเลือดขอดสามารถพบในตำแหน่งใด ส่วนใดของร่างกายก็ได้ โดยอัตราการเกิดโรคนี้มีไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบโรคทางหลอดเลือดสมองชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเส้นเลือดโป่งพอง โรคเส้นเลือดตีบตัน

สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดขอด

โรคหลอดเลือดขอดในสมองนั้น เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะเกิดในระยะเป็นตัวอ่อนภายในครรภ์มารดา นอกจากนี้พบว่าหลอดเลือดขอดบางชนิดมีความสัมพันธ์กับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ สำหรับสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ อุบัติเหตุ พบได้ประปรายเท่านั้น จึงอาจสรุปได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหลายตำแหน่งในร่างกาย เช่น ที่ปอดและในสมอง หรือพบหลอดเลือดขอดหลายตำแหน่ง (มากกว่า 2 ตำแหน่ง) ในสมอง

ลักษณะอาการของโรคที่ผิดปกติ

โรคหลอดเลือดนี้สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ นับตั้งแต่ภายในครรภ์มารดาจนถึงผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกัน ที่สังเกตเห็นได้ จะแยกตามกลุ่มอายุ ดังนี้
1) ผู้ป่วยเด็ก อาการผิดปกติที่พบได้ เช่น ศีรษะขนาดใหญ่ขึ้น มีเส้นเลือดสีคล้ำบริเวณใบหน้า หรือมีอาการหัวใจล้มเหลว แต่อาการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีความจำเพาะสำหรับโรคเส้นเลือดขอด ซึ่งไม่สามารถนำมาสรุปได้ทันทีว่าเป็นโรคเส้นเลือดขอดในสมอง
2) ผู้ป่วยผู้ใหญ่ อาการที่ปรากฏภายนอกในกลุ่มนี้ไม่ชัดเจน ยกเว้นอาจมีปานแดงบริเวณใบหน้าและลำคอ ส่วนใหญ่แล้วอาการที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์มี 3 ประการด้วยกัน คือ

- มีอาการชัก
- มีอาการปวดศีรษะ
- มีอาการทางสมอง เช่น หมดสติจากเส้นเลือดขอดในสมองแตก หรือมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง เป็นต้น

และเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเด็ก ที่กลุ่มอาการแสดงภายนอกเหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะให้การวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคหลอดเลือดขอดได้



วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดขอดในสมอง

เนื่องจากอาการแสดงภายนอกของผู้ป่วยไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนทุกราย จึงมีความจำเป็นต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองโดยตรง เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นหลอดเลือดได้ชัดเจน ก่อนนำไปสู่การวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมถูกต้องต่อไป

 สำหรับการรักษาที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ

1. การรักษาโดยการผ่าตัดสมอง (neurosurgery)เพราะเป็นวิธีการรักษาที่มีมานานจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังเป็นที่ยอมรับในการรักษาโรคหลอดเลือดขอด

2. การรักษาผ่านทางหลอดเลือด หรือที่เรียกกันว่ารังสีร่วมรักษา (neuro interventional radiology) เป็นการรักษาที่คล้ายขั้นตอนการตรวจหลอดเลือดสมอง โดยจะนำสายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดขอด แล้วฉีดสารอุดหลอดเลือด

3 การฉายรังสี (radiosurgery) อาจเป็นการใช้ แกมมาไนฟ์ (Gamma knife) หรือ เอกซ์-ไนฟ์ (x-knife) ก็ได้ ซึ่งเป็นการรักษาที่สามารถทำให้เส้นเลือดฝ่อตัวลงจนอุดตันได้ สำหรับวิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อหลอดเลือดขอดมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2 เซนติเมตร หรือไม่สามารถใช้ 2 วิธีแรกได้ สำหรับระยะเวลาในการรักษานั้น ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ คือ ขนาดและตำแหน่งของโรคหลอดเลือดขอด รวมทั้งวิธีการรักษา โดยถ้ามีขนาดไม่ใหญ่นักและอยู่บริเวณผิวชั้นนอกของสมองก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลาสั้น แต่ถ้าโรคมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งสมองส่วนลึก ก้านสมองก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าคือ ต้องรักษาเป็นช่วง ๆ หลายครั้ง ๆ ครั้งละ 3-7 วัน เป็นต้น มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดได้ไม่ทั้งหมด สามารถรักษาเฉพาะส่วนที่จะก่อให้เกิดอันตราย เพื่อที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดขอดบางรายจะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ


การปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดขอดในสมอง

โรคหลอดเลือดขอดอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอันเนื่องจากอาการชัก ซึ่งผลของการชักอาจจะทำให้ผู้ป่วยหมดสติ ขาดการหายใจหรือเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ยานพาหนะได้ อาการเลือดออกในสมองซึ่งถ้าปริมาณเลือดที่ออกมากอาจกดต่อเนื้อสมองที่ปกติ ซึ่งถ้าเลือดออกปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดขอดในสมองควรปฏิบัติตนตามปกติ รวมทั้งพยายามลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีอาการชักให้รับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ควรงดการขับขี่ยวดยานพาหนะ ในเรื่องของอาหารสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกำลังกายสามารถทำได้แต่ไม่ควรหักโหม รวมทั้งสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในเพศหญิงที่ต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากระหว่างการตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดขอดได้ง่ายขึ้น

การป้องกันโรค

ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดขอดในสมอง มีเพียงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก โดยการรับประทานยากันชักตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอ และมีเพียงป้องกันไม่ให้เลือดออกในสมองโดยการรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองโดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ขอเรียนให้ทราบว่า โรคหลอดเลือดขอดในสมองเป็นโรคที่พบได้ทั่ว ๆ ไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย โดยมักจะมีอาการแสดงของโรค คือ ปวดศีรษะ ชัก อาการทางระบบประสาท และจัดว่าเป็นโรคชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและถูกวิธี

การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองด้วยกาว ( Glue embolization)

การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในสมองด้วยกาวนั้นเป็นหัตถการที่ได้รับความนิยมสำหรับกลุ่มโรคนี้ โดยมีขั้นตอนการตรวจและการให้รังสีร่วมรักษาที่สำคัญ โดยในระหว่างปี 2003-2006 หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ทำการตรวจเส้นเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเส้นเลือดขอดในสมอง (diagnostic angiogram : 4vv) และในส่วนของหัตถการการอุดเส้นเลือดขอดด้วยกาว (glue embolization) ดังแสดงตามตารางที่ 1 ซึ่งได้ศึกษาถึงภาวะแทรกซ้อนจากหัตถการที่มี ซึ่งพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นความเสี่ยงของหัตถการน้อยมาก (1.47% สำหรับการวินิจฉัย และ 4.24% สำหรับรังสีร่วมรักษา)ทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็น minor complication อีกด้วย

 

 


ตัวเลือกทางอุปกรณ์สำหรับหัตถการ

สำหรับการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับหัตถการ glue embolization นั้น มีตัวเลือกทางอุปกรณ์ (choice of equipments) จำนวนหนึ่ง เนื่องจากมีตัวแทนจำหน่วยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่หลากหลายในเมืองไทย ซึ่งความสะดวก ความง่ายในการใช้ และราคาเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการใช้เพื่อการทำหัตถการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอีกด้วย ตัวเลือกทางอุปกรณ์แสดงไว้ดังตารางที่ 2



สรุป

หัตถการทางรังสีสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดขอดในสมองที่สำคัญคือ glue embolization ซึ่งการเข้าใจในสาเหตุของโรค การวางแผนในการรักษาและการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยได้



บรรณานุกรม

1. พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์. โรคเส้นเลือดขอดในสมอง บทความ.
http://www.sirirajonline.com
2. อัญชลี ชูโรจน์ Vascular Malformations: Classifications and Treatment. การประชุมวิชาการศิริราช-รามาธิบดี บูรณาวิชาการ, กรุงเทพฯ 2549 หน้า 83-89
3. ฐานข้อมูลวัสดุทางการแพทย์ คลังวัสดุทางการแพทย์กลาง หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดเลือด สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,2550

 

คำสำคัญ (Tags): #avm#glue embolization
หมายเลขบันทึก: 161952เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 04:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พ่อหนูก็เป็นโรคนี้อยู่รักษาไปแล้ว70เปอร์เซนต์เหลืออีก30เปอร์เซนต์ที่ยังไม่ได้รักษาไม่ได้รักษามาประมาณ3-4เดือนแล้วเพราะเนื่องจากว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากจะเป็นอันตรายไหมค๊ เพราะตอนนี้พ่อของหนูต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว พ่อหนูตอนนี้เค้ารู้สึกเครียดและกังวลตลอดเวลากลัวว่ามันจะแตกรอบสองอะคะ

ขอความคิดเห็นด้วยนะคะว่าต่อจากนี้จะต้องทำยังไงดี

การรักษาโรคนี้ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรพบแพทย์เจ้าของไข้อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามอาการ ที่สำคัญผู้ป่วยมักได้ยากันชัก ต้องกินตามแพทย์สั่ง หากไม่มีอาการอื่นใด สามารถรอดูอาการไปเรื่อยๆ ได้ตามดุลพินิจของแพทย์เจ้าของไข้

สำหรับด้านค่าใช้จ่าย ให้พิจารณาตามสิทธิที่มีอยู่


<div class="redactor-editor" contenteditable="true" dir="ltr" style="display: inline !important; "> <ol> <li>เคยมีประสบการณ์นี้กับตัวเองค่ะ เมื่อปี 2554 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรียนจบ ปวช.พอดี ตอนที่เป็นตอนนั้นอายุ ย่างเข้า18 ปี คงจะแปลกใจใช่ไหมค่ะว่าอายุยังน้อยแต่ทำไมถึงเป็นได้ ใช่ค่ะโรคนี้เกิดขึ้นได้และพบอยู่ในผู้ป่วย1ในล้านคน น้อยมากที่จะพบ(ฟังจากที่แพทย์เจ้าของไข้บอกมา) คือตอนที่มีอาการตอนนั้น โรคนี้มันมาเล่นงานเอาตอนที่หนูนอนหลับ มันก็แตกดัง ปึ๊ด ให้หนูได้ยิน ช่วงเวลานั้นอยากจะบอกว่ามันทรมานมาก แค่ปวดหัวปกติ ก็ทรมานแล้วนะค่ะ แต่นี่เส้นเลือดขอดในสมองแตกเลย ความทรมาณนี่ทวีคูณ เข้าไปใหญ่ แต่ตอนนี้หายดีแล้วค่ะ เพราะเข้าการรักษาได้ทันท่วงที แต่ช่วงเวลานั้นที่รักษาในเบื้องต้น ก็นอนหลับสลบไสลเป็นเวลานานพอสมควร คล้ายว่าเป็นเจ้าหญิงนิทราไปแล้ว แต่ปฏิหารย์ก็มาบังเกิดขึ้นที่หนู ลืมบอกไปค่ะว่า กรณีของหนู เข้ารับการรักษาในเบื้องต้นได้ทัน หลังจากนั้นจึงเข้ารับการผ่าตัด ในเวลาต่อมาค่ะ (ภัยเงียบนะค่ะโรคแบบนี้) มันไม่มีอาการบอกเราล่วงหน้า จะมีก็แต่ก่อนจะเป็นแค่แขนขารู้สึกอ่อนแรง และหาวบ่อยขึ้นทั้งๆที่ไม่ได้ง่วงนอนค่ะ.</li> <li>

<div class="redactor-editor" contenteditable="true" dir="ltr" style="display: inline !important; "> </div> </li> <li> <div class="redactor-editor" contenteditable="true" dir="ltr" style="display: inline !important; "> </div> </li> </ol> </div>

  1. ถ้าสนใจอยากจะฟังประสบการณ์นี้ต่อเข้ามาแอท facebook ได้นะค่ะ Nettnapitt Cherryii ค่ะ ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ เพราะเคยมีประสบการณ์เสี่ยงตายกับโรคภัยเงียบนี้ค่ะ :-D

ตอนนี้หนูเป็นเส้นเลือดขอดในสมองคะ ไม่ได้รักษามาแล้ว2ปี แล้ววันก่อนชัก ตอนนี้รอหมอจนถึงเดือนหน้าอะคะ อยากจะถามคนที่รู้ว่าต้องรักษาตัวเองอะไร แบบไหนบ้างคะ

ตอนนี้หนูเป็นเส้นเลือดขอดในสมองคะ ไม่ได้รักษามาแล้ว2ปี แล้ววันก่อนชัก ตอนนี้รอหมอจนถึงเดือนหน้าอะคะ อยากจะถามคนที่รู้ว่าต้องรักษาตัวเองอะไร แบบไหนบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท