ประวัติรังสีวิทยาหลอดเลือดสากล


Modern history

ประวัติรังสีวิทยาหลอดเลือดสากล
Modern history of Vascular Radiology

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ วท.บ.รังสีเทคนิค
วิธวัช หมอหวัง       วท.บ.รังสีเทคนิค
ยุพิน จงศักดิ์สกุล    พย.บ.
เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 
พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, วิธวัช หมอหวัง, ยุพิน จงศักดิ์สกุล, เอนก สุวรรณบัณฑิต.  ประวัติรังสีวิทยาหลอดเลือดสากล. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(1) : 92-6

บทคัดย่อ
ความเป็นมาของพัฒนาการทางด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับบุคลากรทางด้านนี้ที่จะต้องรู้และเข้าใจในพัฒนาการเพื่อที่จะได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เพื่อให้งานรังสีวิทยาหลอดเลือดมีความก้าวหน้าต่อไป

 การพัฒนาของรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษานั้นเป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยซึ่งมีได้หลายมุมมอง แนวทางแรกเป็นการพิจารณาในด้านการใช้สายสวนหลอดเลือดโดยแพทย์เพื่อเข้าไปดูเส้นเลือด และการใช้อุปกรณ์ เครื่องมืออื่นๆ ในการดูเส้นเลือดและการทำรังสีร่วมรักษา.

ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาบนฐานของการใช้เครื่อง fluoroscopy ทำให้เกิดการพัฒนาในช่วงแรกของการวินิจฉัยทางรังสีหลอดเลือด และการทำรังสีร่วมรักษา อย่างไรก็ตามแนวทางการได้ภาพตัดขวางจากเทคนิคอื่นๆ เช่น CT หรือ Ultrasound ก็ช่วยในการพัฒนาแนวทางรังสีร่วมรักษาขึ้นด้วย (non VIR) เครื่องมือเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดการคัดเลือกแพทย์และการประสานการรักษา มีการใช้ทางเลือกต่างๆ ในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไปเป็นความเฉพาะด้านของรังสีร่วมรักษา ( interventional specialty)

การสร้างภาพเส้นเลือดโดยใช้สารไอโอดีนกับผู้ป่วยนั้นมีรายงานไว้เมื่อปี 1929 (พ.ศ.2472) โดย Dos Santos ซึ่งก็คือ 34ปี หลังการค้นพบเอกซเรย์ และเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเริ่มใช้ไอโอดีนเป็นสารทึบรังสี แต่ด้วยความที่ระบบ fluoroscopy ยังไม่ค่อยดี การตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ ( aortogram) จะทำโดยใช้ a blind translumbar puncture ซึ่งจะเป็นการผ่านหลอดโลหะ (metallic cannula) โดยการใช้การสังเกต surface anatomic landmarks เท่านั้น การถ่ายภาพจะใช้เป็นแบบภาพเอกซเรย์ธรรมดา การใช้เทคนิค translumbar technique นั้นใช้มานานกว่า 30 ปี เนื่องจาก 2 เหตุผล 1) ไม่มีแรงผลักอย่างจริงจังในการพัฒนาเพราะว่าเป็นหัตถการที่เกิดขึ้นน้อย และมักจะทำเฉพาะในโรค atherosclerotic occlusive disease หรือ aneurysm เท่านั้นและมีข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการการตรวจหลอดเลือดเพียงไม่กี่อย่าง และ 2) ยังไม่มีการพัฒนากันอย่างจริงจังในด้านเทคนิคด้านภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างภาพที่ง่ายและมีประสิทธิภาพระหว่างการใช้สายสวนหลอดเลือดเพื่อตรวจหลอดเลือด (real image real time)

ในปีต้น 1930 Egas Moniz ได้ตีพิมพ์รายงานการตรวจหลอดเลือดสมองเป็นครั้งแรก (cerebral angiography)

ช่วงต้นปี 1950 (พ.ศ.2493) ระบบ fluoroscopy มีการพัฒนาขึ้นด้วยการกระตุ้น 2 ประการเพื่อให้เกิดการทำการตรวจรังสีเส้นเลือดเพื่อการวินิจฉัย ในปี 1952 มีการทำ vascular bypass graft ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคของเส้นเลือด ซึ่งทำให้เกิดความต้องการในการวินิจฉัยก่อนการผ่าตัด ในปี 1953 (พ.ศ. 2496) Seldinger (แพทย์ชาวสวีเดน) ได้บรรยายถึง percutaneous catheterization โดยการใช้เข็มที่มีรูกลวงและระบบขดลวดนำเจาะเข้าทาง femoral artery ที่ขาหนีบ ซึ่งมีความปลอดภัย ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่า translumbar catheterization และด้วยการใช้ catheter ที่หยุ่นเหนียวต่อจากขดลวดนำ Seldinger technique จึงสามารถทำให้สามารถที่จะเลือกตรวจเส้นเลือดหรือ superselective ไปสู่เส้นเลือดสาขาได้ดีกว่า ต่อมาในปี 1955 Odman ได้พัฒนาให้สายสวนหลอดเลือดมีความทึบต่อรังสีเพื่อให้สามารถเห็นสายสวนได้

ช่วงต้นปี 1960 ระบบ fluoroscopy ได้มีการพัฒนาตัวรับภาพมาเป็น image intensifier ซึ่งทำให้สามารถเห็นภาพเส้นเลือดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเกิดการทำหัตถการต่างๆ มากยิ่งขึ้น เช่น ในปี 1963 Charles Dotter ได้นำเสนอการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจและเทคนิคการตรวจหลอดเลือดในอนาคต ณ ที่ประชุม Czechoslovak Radiologic Congress เมือง Karlovy Vary หลังจากนั้นในปี 1964 Dotter ยังได้ทำการขยายหลอดเลือดขา (dilatation of stenosis) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของ percutaneou tranluminal angioplasty (PTA) ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเทคนิคต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในเชิงอุตสาหกรรม จาก Amplatz, Gianturco และ Cook Inc.

Gruntzig แพทย์ชาวเยอรมันได้เป็นผู้เริ่มต้นการใช้ balloon dilatation actheter และทำหัตถการทาง PTA ในเส้นเลือดต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นเลือดหัวใจอีกด้วย

ในปี 1972 หัตถการเพื่อการสลายลิ่มเลือด (thrombolysis) ได้เกิดขึ้นโดยใช้ Urokinase ซึ่งนำโดย McNamara, Bookstein และ Kandarpa

GI bleeding interventions เกิดขึ้นในช่วงปี 1970 โดย Baum และ Nusbaum โดยการใช้สายสวนหลอดเลือดทำการ superselective เข้าไปแล้วให้การรักษา ช่วงเวลาเดียวกันได้มีการทำหัตถการ TIPS ขึ้น รวมไปถึง spinal and soft tissue AVM embolization ด้วยช่วงแรกเป็นการอุดด้วย autologous clot (Dopmann and Newton) ต่อมาจึงมีการใช้ Gelfoam (Djindjan and Merland) และการใช้ acrylate glue (Kerber) ขณะเดียวกันการอุดรูรั่วของหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง (detachable balloon embolization) ก็เกิดขึ้นโดย Serbenenko รวมไปถึง Uterine Fiboid Embolization ก็เป็นอีกหัตถการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้โดย Merland, Goodwin และ Spies

Stent เป็นอีกอุปกรณ์ที่ได้รับการคิดค้นและเริ่มนำมาใช้ในปี 1969 โดย Dotter และเกิดการพัฒนาเป็นexpandable nitinol stent , balloon expandable stent (Palmaz) , Wall stent (Wallsten) , self expandable Z stent (Gianturco) , Flex stent, Balloon expandable tantalum stent, stent graft (Parodi) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่าง 1960-1980 แม้หัตถการจะเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ระบบห้องตรวจหลอดเลือด (angiogram) ที่เป็นมาตรฐานนั้นยังมีน้อย การพัฒนามาตรฐานห้องและเครื่องตรวจหลอดเลือดเริ่มจริงจังหลังปี 1980 ให้ต่างจากห้อง fluoroscopy ทั่วไป เรียกว่า IR suite ในช่วงนี้มีการใช้เครื่องตรวจหลอดเลือดที่ถ่ายภาพลงบนฟิล์มแล้วทำการซ้อนภาพเพื่อให้ได้เส้นเลือดได้ แต่ยังต้องนำฟิล์มไปล้างในห้องมืด ซึ่งบางการตรวจ อาจต้องถ่ายภาพ 20-30 ภาพต่อชุดภาพ การตรวจ(series) ทำให้เสียเวลาและแรงงานในการล้างฟิล์มมาก ในขณะที่บางการตรวจอาจต้องใช้หลายชุดภาพ


IR suite มีมาตรฐานการจัดวางและการใช้งานในราวปีปลายยุค 1980 โดยมีสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือแขนรูปตัวซีที่เคลื่อนที่ได้ (movable multiple-angle C-arm fluoroscopy) และการจัดเก็บภาพดิจิตอล (digital image acquisition) ซึ่งทำให้สามารถเห็นภาพในองศาต่างๆ ได้ และการจัดเก็บภาพอยู่ในระบบดิจิตอลทำให้เห็นภาพได้ทันที ไม่ต้องรอฟิล์มที่นำไปล้างอีก ระบบภาพดิจิตอลยังทำให้สามารถค้างภาพระหว่างการตรวจและทำภาพนำทางได้ (fluoroscopic road mapping)


ในช่วงปลายปี 1990 ได้มีการพัฒนาการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อัลตราซาวน์ด และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้สามารถสร้างภาพเส้นเลือดได้ การตรวจวินิจฉัยทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นแนวโน้มการตรวจเส้นเลือดด้วย angiogram จึงลดลง อย่างไรก็ตาม ภาพเส้นเลือดจาก angiogram ยังถือเป็นมาตรฐานอยู่ และหากต้องทำการรักษาด้วย endovascular treatment ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บทบาทของ Intervention radiology ยังมีแนวโน้มทางบวกอยู่


ภายใต้การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หัตถการทางรังสีร่วมรักษาเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เกิดหัตถการใหม่และมีการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มแพทย์เป็นสมาคมต่างๆ ขึ้น เช่น SIR ของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ Baun และ Athanasoulis, CIRSE ในยุโรปภายใต้การนำของ Boijsen, Lunderquist, Rossi, Zeitler และ Zollikofer และ APCCVIR ในเอเชียแปซิฟิกภายใต้การนำของ Hahn, Hiramatsu, Parker, Sharman, Tan, Thompson และ Vaeurson

สรุป
รังสีวิทยาหลอดเลือดมีพัฒนการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1929 แต่ได้พัฒนาอย่างเด่นชันในช่วง 1950-80 และประสานกับการพัฒนาของระบบ IR suite ในปลาย 1980 ทำให้เกิดหัตถการต่างจำนวนมาก


บรรณานุกรม
1. Josef Rosch. World history of interventional radiology. เอกสารประชุมวิชาการ 7th APCCVIR Pattaya city. 2006, pp.75-78
2. Curtis W. Bakal. Advances in Imaging Technology and the Growth of Vascular and Interventional Radiology: A Brief History Journal of Vascular and Interventional Radiology 2003;14:855-860
3. Christos A. Athanasoulis. Vascular Radiology: Looking into the Past to Learn about the Future. Radiology. 2001;218:317-322
4. Ligon B. L. The mystery of angiography and the "unawarded" Nobel Prize: Egas Moniz and Hans Christian Jacobaeus. Neurosurgery. 1998 Sep;43(3):602-11.

 

คำสำคัญ (Tags): #angiogram#history
หมายเลขบันทึก: 161954เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท