มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง


Standardized

มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง

Standard and Technical of Performance of Diagnostic Cerebral Angiography

เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค
วิธวัช หมอหวัง        วท.บ.รังสีเทคนิค
คง บุญคุ้ม              อนุ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เอนก สุวรรณบัณฑิต, วิธวัช หมอหวัง และ คง บุญคุ้ม. มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(1) : 9-19


บทคัดย่อ
การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสีหลอดเลือดสมองโดยตรงถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง มาตรฐานของหัตถการและเทคนิคต่างๆ รวมถึงภาพทางรังสีเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้หัตถการมีประสิทธิภาพ มีผลสำเร็จในอัตราที่สูง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย


การวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง (Diagnostic Cerebral Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบรังสีหลอดเลือดสมองโดยตรงได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการประเมินความผิดปกติของหลอดเลือดในตำแหน่งศีรษะและลำคอ

การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยจะต้องมีเหตุผลทางการแพทย์รองรับอย่างเพียงพอ และจัดให้เกิดการใช้รังสีในปริมาณน้อยที่สุดเพื่อให้ได้ภาพทางรังสีที่จำเป็นสำหรับการวินิจฉัย โดยถือได้ว่าเป็นการตรวจที่ไม่รุนแรงและมีความเสี่ยงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นหัตถการที่ถือเป็นการตรวจประจำสำหรับการประเมินความผิดปกติของหลอดเลือดและระบบประสาทสมอง

มาตรฐานในการทำหัตถการจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับการเน้นย้ำใน 3 ประเด็นหลักได้แก่

1) การคัดเลือกผู้ป่วย, การเตรียมความพร้อมและการให้ความรู้
2) การทำหัตถการอย่างเชี่ยวชาญและการมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้
3) การตรวจวัดและประเมินผู้ป่วย

สิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่ทำหัตถการนี้จะต้องคำนึงถึงได้แก่อัตราความสำเร็จ และอัตราภาวะแทรกซ้อนจากหัตถการซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของหน่วยงานทีเดียว

วิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งอเมริกา (the american college of radiology,2005) ได้ให้คำนิยามของ diagnostic cervicocerebral angiography คือ กระบวนการที่กระทำต่อผู้ป่วยโดยการแทงสายสวนหลอดเลือดผ่านผิวหนังไปยังหลอดเลือดที่เลี้ยงลำคอและศีรษะ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีและทำการเก็บภาพทางรังสีของระบบหมุนเวียนโลหิตทั้งในส่วนลำคอและศีรษะโดยเก็บภาพเป็นชุดภาพซึ่งทำได้ทั้งแบบเป็นฟิล์มหรือเก็บแบบดิจิตอล

การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเป็นหัตถการที่แพทย์ทำการสอดใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านทาง femoral artery และนำสู่หลอดเลือดลำคอและศีรษะ การทำ aortogram ในระดับ aortic arch อาจมีความจำเป็นเพื่อการประเมินตำแหน่งและความคดงอของหลอดเลือดก่อนที่จะทำการนำส่งสายสวนหลอดเลือดไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยที่ยังต้องมีความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย การเลือกหลอดเลือดเพื่อพิจารณาการไหลเวียนเลือดในระบบหลอดเลือดต่างๆ และทำการประเมินพยาธิสภาพต่างๆ โดยต้องเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำ

การฉีดสารทึบรังสีจะต้องมีอัตราการฉีดและปริมาณที่มีความปลอดภัยและมีความทึบรังสีเพียงพอที่จะได้ภาพที่แสดงพยาธิสภาพอย่างชัดเจน ตำแหน่ง มุมของภาพ การขยายของภาพ และการจัดเก็บชุดภาพที่ดี การถ่ายภาพในหลายมุมมองจะช่วยให้สามารถประเมินพยาธิสภาพได้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยควรเก็บภาพใน 2 มุมมอง อย่างไรก็ตามการใช้รังสีจะต้องเป็นไปตามหลัก As Low As Reasonably Achievable: ALARA

อัตราความสำเร็จของหัตถการและอัตราภาวะแทรกซ้อนเป็นตัวชี้วัดที่จะต้องประเมินอย่างต่อเนื่อง

 

การคัดเลือกผู้ป่วย (patient selection)

การคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อรับการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเป็นกระบวนการแรกที่จะต้องจัดให้มีเพื่อป้องกันการตรวจทางรังสีที่เกินความจำเป็น โดยการคัดเลือกมีเกณฑ์ในการบ่งชี้และข้อห้ามหลายประการ ดังนี้
ข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจที่ไม่จำเป็น

  1. เพื่อวินิจฉัยภาวะอุดตัน/อุดกั้นของหลอดเลือดสมอง
  2. เพื่อวินิจฉัยอาการเลือดออกของหลอดเลือดศีรษะและลำคอ
  3. เพื่อวินิจฉัยประเภท ตำแหน่งและลักษณะทางกายภาพของหลอดเลือดโป่งพองและความผิดปกติของหลอดเลือดศีรษะและลำคอ
  4. เพื่อประเมินการบีบรัดตัวของหลอดเลือด (vasospasm) ที่เกี่ยวข้องกับการมีเลือดออกในสมองชนิด subarachnoid hemorrage หรือการใช้ยาต่างๆ
  5. เพื่อวินิจฉัยประเภท ตำแหน่งและลักษณะของหลอดเลือดศีรษะและลำคอที่ได้รับอันตราย (injury)
  6. เพื่อวินิจฉัยหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
  7. เพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดอักเสบ (vaculitis)
  8. เพื่อวินิจฉัยภาวะความผิดปกติและลักษณะของหลอดเลือดที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง
  9. เพื่อวินิจฉัยภาวะตีบตันของหลอดเลือดดำ
  10. เพื่อประเมินลักษณะทางกายภาพของหลอดเลือดเพื่อวางแผนการรักษา
  11. เพื่อทดสอบการทำงานของสมอง


อย่างไรก็ตามไม่มีข้อห้ามอย่างสมบูรณ์สำหรับการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง หากแต่มีข้อห้ามบางประการที่ต้องประเมินก่อน ได้แก่ ภาวะความดันเลือดสูง ผลการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ดี การแพ้สารทึบรังสี ภาวะไตขาดประสิทธิภาพ และภาวะหัวใจล้มเหลว โดยที่การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองต้องมีระดับของความสำเร็จที่ 99%

ความจำเพาะของหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง (specifications of procedure)

การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเน้นที่ความปลอดภัยและความสำเร็จของหัตถการ ซึ่งมีสิ่งที่ต้องจัดให้มีอย่างจำเพาะ ได้แก่
1. เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ร่วมตรวจ (Angiographic equipment and facilities)
2. อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพและฟื้นคืนชีวิต (Physiological Monitoring and Resuscitation equipment)
3. การสนับสนุนด้านบุคลากร (support personnel)
4. การสนับสนุนด้านการผ่าตัด (surgical and emergency support)
5. การดูแลผู้ป่วย (Patient care)
6. เกณฑ์การคัดเลือกเพื่อการสังเกตอาการระยะสั้น (selection criteria for short term observation
7. ข้อห้ามต่อการสังเกตอาการระยะสั้น (relative contraindication to short term observation)

 

 1) เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ร่วมตรวจ (Angiographic equipment and facilities)

หัตถการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองจะต้องมีการเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ร่วมตรวจต่างๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อลดความเสี่ยงและระยะเวลาในการทำหัตถการ ดังนั้นต้องจัดความพร้อมต่างๆ เป็น 5 ด้านได้แก่

1. เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่มีระบบเก็บภาพที่มีรายละเอียดสูงและมีการเก็บภาพเป็นชุดภาพได้ อาจเป็นระบบฟิล์มหรือระบบดิจิตอล มีการแสดงภาพแบบ last image hold และ มีระบบ pulse fluoroscopy เพื่อลดปริมาณรังสี
2. อุปกรณ์สำหรับการสวนหลอดเลือดและอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ที่ต้องมีอย่างพอเพียงและหลากหลาย
3. เครื่องฉีดสารทึบรังสีอัตโนมัติที่สามารถกำหนดปริมาณและอัตราการฉีดสารทึบรังสีได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อป้องกันการฉีดสารทึบรังสีมากเกินความจำเป็น
4. ห้องเอกซเรย์หลอดเลือดที่มีความกว้างและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมไปถึงสามารถจัดวางโต๊ะปลอดเชื้อและชุดอุปกรณ์ต่างๆ แล้วผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวก โดยไม่เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค
5. พื้นที่สำหรับการเตรียมตัวผู้ป่วยและการสังเกตอาการผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังหัตถการ ควรอยู่ในพื้นที่ใกล้กับห้องเอกซเรย์หลอดเลือดหรือในพื้นที่ใกล้เคียงและสะดวกต่อการหยิบใช้อุปกรณ์ฟื้นคืนชีวิต



2) อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพและฟื้นคืนชีวิตก (Physiological Monitoring and Resuscitation equipment)

1. ภายในห้องเอกซเรย์หลอดเลือดจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ และระบบออกซิเจนที่พร้อม
2. ต้องจัดให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพได้อย่างง่ายและสะดวกทั้งเครื่องมือและยา เช่น emergency defibrillator, tracheal intubation, laryngoscope, ventilation bag-valve-mask apparatus, narcotic drugs



3) การสนับสนุนด้านบุคลากร (support personnel)


1. รังสีเทคนิคที่ได้รับการอบรมในการใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจหลอดเลือด มีความรู้ด้านกระบวนการและการเก็บภาพหลอดเลือดต่างๆ การใช้สารทึบรังสีและการสังเกตอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่างๆ
2. หากผู้ป่วยไม่ได้อยู่ใน moderate sedation จะต้องมีพยาบาลทำการสังเกตสัญญาณชีพ ให้ยา สารน้ำและให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ป่วย


4) การสนับสนุนทางการผ่าตัดและภาวะฉุกเฉิน (surgical and emergency support)

ถึงแม้ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดได้น้อย แต่จะต้องมีการวางระบบประสานงานไว้กับทางห้องผ่าตัด เพื่อความสะดวกในการประสานงานในทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการสำรองเตียง การเคลื่อนย้าย และการช่วยชีวิตต่างๆ

 

 5) การดูแลผู้ป่วย (patient care)
ผู้ป่วยที่จะรับการตรวจต้องมีใบขอการตรวจที่มีข้อมูลเพียงพอและมีข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงความจำเป็นในการตรวจ เช่น อาการ ประวัติโรค และออกโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต

1. การดูแลก่อนหัตถการ (pre-procedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยก่อนหัตถการมีหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

1.1 ตรวจสอบใบขอทำหัตถการว่ามี ประวัติและและข้อบ่งชี้ในการตรวจ
1.2 ประวัติ ผลการตรวจทางคลินิกและผลทดสอบต่างๆ
1.3 มีใบอนุญาตตรวจที่ลงลายมือชื่อแล้ว
1.4 ตรวจสอบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ และผลการแข็งตัวของเลือด

2. การดูแลระหว่างหัตถการ (procedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยระหว่างหัตถการมีขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

2.1 การปฏิบัติตามมาตรฐาน Joint commission Universal protocal ในด้านการป้องกันการผ่าตัดผิดตำแหน่ง ผิดขั้นตอน ผิดคน จะต้องมีการยึดถือโดยการทำ time out ก่อนการเริ่มหัตถการ โดยต้องจัดการดังนี้

- ต้องเกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งทีม
- มีการใช้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
- มีการใช้ข้อมูลกระดาษ checklist ต่างๆ
- ทำกระบวนการระบุตัวผู้ป่วย ระบุตำแหน่งและข้าง ยืนยันชนิดของหัตถการ การจัดท่าทางผู้ป่วย และการระบุอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง

2.2 การบันทึกสัญญาณชีพต่างๆจะต้องทำตามระยะเวลาที่กำหนดตลอดเวลาในการทำหัตถการ และมีการบันทึกค่าวัดต่างๆ
2.3 ผู้ป่วยจะต้องได้รับการให้สารน้ำหรือยาทางหลอดเลือดดำ จึงต้องมีการบริหารจัดการและบันทึกการให้ยาและสารน้ำต่างๆ
2.4 ถ้าผู้ป่วยได้รับการดมยาระดับ moderate sedation ต้องมีการบันทึกขนาดยาและเวลาในการให้ไว้ตลอดหัตถการ
2.5 ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินสถานะทางระบบประสาทระหว่างหัตถการ
2.6 แพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วยเมื่อเสร็จสิ้นการตรวจใหม่ๆ เพื่อกดหยุดเลือดและประเมินอาการผู้ป่วย

3. การดูแลภายหลังหัตถการ (post-procedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภายหลังหัตถการมีขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

3.1 สรุปบันทึกระหว่างหัตถการ ผลการวินิจฉัยและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งต้องได้รับการบันทึกลงในเวชระเบียนอย่างย่อ เพื่อสื่อสารแก่แพทย์เจ้าของไข้ อย่างไรก็ตามรายงานผลอย่างเป็นทางการจะต้องออกตามไปในเวลา 2-3 ชม.
3.2 ผู้ป่วยต้องนอนพักและสังเกตอาการช่วงหลังเสร็จหัตถการใหม่ๆ ระยะเวลาในการนอนพักขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่เจาะสวนหลอดเลือด หรือยาที่ให้แก่ผู้ป่วย
3.3 ช่วงเสร็จหัตถการใหม่ๆ พยาบาลต้องเป็นผู้สังเกตตำแหน่งที่เจาะสวนหลอดเลือด และสถานะของหลอดเลือดปลายทางต่างๆ ว่ามีการขาดเลือดหรือไม่
3.4 ผู้ป่วยต้องได้รับการบันทึกปริมาณปัสสาวะที่ขับออก อัตราการเต้นของหัวใจ อาการปวด และตัวชี้วัดการไหลเวียนเลือดอื่นๆ ตลอดทั้งคืนหลังการตรวจ
3.5 ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลและตรวจสอบตำแหน่งที่ตรวจสวนหลอดเลือด การทำงานของอวัยวะต่างๆ และการเคลื่อนไหว
3.6 ถ้าการตรวจสวนหลอดเลือดต้องมีการรบกวนในหลอดเลือด thoracic aorta และ brachio
cephalic จะต้องมีการประเมินการทำงานของสมองด้วย
3.7 แพทย์ผู้ทำหัตถการจะต้องเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยหลังเสร็จหัตถการเพื่อสรุปผลลงในรายงานผล (progressive note) และเวชระเบียน และแพทย์ที่ได้รับมอบหมายจะต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อประเมินระหว่างที่ยังพักค้างในโรงพยาบาล



6) เกณฑ์การคัดเลือกเพื่อการสังเกตอาการระยะสั้น (selection criteria for short term observation)
หลังการตรวจเสร็จสิ้น ผู้ป่วยควรได้รับการสังเกตอาการต่ออีก 8 ชม.ก่อนการออกจากโรงพยาบาล ซึ่งระหว่างนั้นจะต้องมีการสังเกตอาการและสภาวะของผู้ป่วยดังนี้

1. ผู้ป่วยได้รับการประเมินว่าเมื่อกลับบ้านจะสามารถช่วยตัวเองได้เป็นอย่างดี
2. ผู้ป่วยได้รับการประเมินสภาวะทางระบบประสาทและสมอง สามารถทำตามคำสั่งได้
3. ผู้ป่วยได้รับการให้ข้อมูลถึงการสังเกตภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และวิธีการในการติดต่อกับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์
4. ผู้ป่วยมีผู้ดูแลที่ได้รับการให้ข้อมูลถึงการสังเกตภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และวิธีการในการติดต่อกับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์
5. ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ
6. ผู้ป่วยฟื้นคืนจากการให้การดมยา

 

 7) ข้อห้ามต่อการสังเกตอาการระยะสั้น (relative contraindication to short term observation)

ปัจจัยบางประการก็เป็นข้อบ่งชี้ให้ต้องสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด hematoma ได้
2. ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสี ภาวะไตไม่ดี และต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดเลือดดำ
3. ผู้ป่วยมีผลการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ดี ต้องได้รับการแก้ไขก่อน
4. ผู้ป่วยเบาหวานต้องได้รับการดูแลการให้ insulin ก่อน
5. ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนย่อยจากหัตถการ
6. ผู้ป่วยมีภาวะการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ การเต้นของหัวใจไม่คงที่
7. ผู้ป่วยพักอาศัยในสถานที่ห่างจากสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมากกว่า 1 ชม. เดินทาง
8. ผู้ป่วยอาศัยอยู่เพียงลำตัวคนเดียว



มาตรฐานของการจัดการเอกสารต่างๆ (documentation)
การจัดการเอกสารแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. เวชระเบียน จะต้องมีการเติมบันทึกทางรังสี รายงานผลการตรวจ ประเภทและปริมาณของสารทึบรังสี ประเภทและปริมาณยาที่ได้รับ ปริมาณรังสีที่ได้รับ รวมไปถึงรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจด้วย
2. เอกสารก่อนการตรวจ จะต้องมีผลการประเมินผู้ป่วยก่อนการตรวจ ประวัติ และข้อบ่งชี้การตรวจ ผลทางห้องปฏิบัติการ การให้ข้อมูลและใบอนุญาตตรวจ รวมถึงแผนการตรวจที่จะกระทำ
3. บันทึกหลังเสร็จการตรวจ จะต้องมีข้อมูลกระบวนการตรวจ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ ตำแหน่งที่เจาะสวน ผลการตรวจ ภาวะแทรกซ้อนและแผนการรักษาหลังการตรวจ
4. รายงานผลการตรวจ จะต้องแสดงชื่อกระบวนการตรวจ วันที่ทำหัตถการ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ ข้อบ่งชี้การตรวจ ขั้นตอนและกระบวนตรวจ หลอดเลือดที่ตรวจ อุปกรณ์ที่ใช้ ยาและสารน้ำที่ได้รับ ผลการตรวจ ภาวะแทรก
ซ้อน ผลสรุปการตรวจ และแผนการรักษาต่อเนื่อง


อัตราความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อน (Success and complication rates and tresholds)


ตัวชี้วัดด้านความสำเร็จ และภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนของการประเมินประสิทธิผลของหัตถการ ซึ่งมีระดับที่ยอมรับได้ซึ่งต้องคำนึงถึง โดยเป็นสัดส่วนต่อกันระหว่างความสำเร็จทางเทคนิคและภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนแบ่งออกได้เป็นภาวะแทรกซ้อนหลักและภาวะแทรกซ้อนย่อย ส่วนความสำเร็จทางเทคนิคนั้นประเมินจากข้อมูลการตรวจหลอดเลือดที่ได้อย่างเพียงพอต่อการวินิจฉัยซึ่งมีระดับอยู่ที่ 99% ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญมีระดับที่ยอมรับได้ดังตารางที่ 1

เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน จะต้องมีการประเมินและบริหารจัดการเพื่อการรักษา ซึ่งการประเมินจะเป็นไปตามการจำแนกระดับของภาวะแทรกซ้อนตามผลลัพธ์ (Classification of Complica
tions by Outcome) โดย society on interventional radiology standards of practice committee สามารถแบ่งออก
เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนย่อย และภาวะแทรกซ้อนหลัก โดยแบ่งได้ดังนี้

1. ภาวะแทรกซ้อนย่อย (Minor complications) หมายถึงเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่มีผลลัพธ์ที่ไม่มีเหตุการณ์ตามหลังอื่น แต่ยังต้องการการรักษาเล็กน้อย หรือพักค้างในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ แบ่งออกเป็น

A. No therapy, no consequence
B. Nominal therapy, overnight admission for observation only

2. ภาวะแทรกซ้อนหลัก (Major complications) หมายถึงเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่มีผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยต้องพักค้างในโรงพยาบาลต่อเพื่อการรักษา มีการรักษาที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าร่วมด้วย หรือผลลัพธ์ทำให้เกิดภาวะพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ แบ่งออกเป็น

C. Require therapy, hospitaliza
tion <48 hrs.
D. Require major therapy, unplanned increase in level of care, prolonged hospitalization >48 hrs.
E. Permanent adverse sequelae
F. Death

Specific complication Thresholes (%)
Neurologic complication
- reversible neruological deficit
- permanent neurological deficit

2.5
1

Contrast media associated
nehrotoxicity
0.2
Arterial occlusion requiring
surgical thrombectomy or
thrombolysis
0.2
Arteriovenous fistula/
pseudoaneurysm
0.2
Hematoma requiring transfusion
or surgery
0.5
overall complication 2

 

เทคนิคทางการสร้างภาพรังสีระหว่างหัตถการ (achiveing of images)


ในการตรวจหลอดเลือดสมองจะต้องมีการจัดศีรษะของผู้ป่วยให้อยู่ในท่าตรงตาม anatomical position เพื่อให้ได้ภาพทางรังสีที่ถูกต้อง โดยในการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองจะตรวจหลอดเลือด 6 เส้น ได้แก่ Left & Right Internal Carotid arteries, Left & Right External Carotid arteries, Left & Right Vertebral arteries โดยอาจตรวจเพิ่มในหลอดเลือด Left & Right Common carotid arteries และเลือกจำเพาะหลอดเลือดแขนงย่อยของ external carotid arteries อีกก็ได้ และมีการให้ปริมาณสารทึบรังสีและอัตราการฉีดดังตาราง 2

Artery volume Flow rate Pressure
internal carotid artery 8 5 150
external carotid artery 5 3 150
vertebral artery 6 4 150
common carotid artery 12 8 150


อย่างไรก็ตามระหว่างหัตถการจะต้องจัดให้มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้แพทย์ บุคลากรในหัตถการ และผู้ป่วยได้รับปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (As Low As Reasonably Achievable: ALARA)


บรรณานุกรม
1. Practice guideline for the performance of diagnostic cervicocerebral angiography in adults, ACR Practice Guideline, the american college of radiology,2005: 125-139
2.ตองอ่อน น้อยวัฒน์, จุฑา ศรีเอี่ยม, สมจิตร จอมแก้ว, วิธวัช หมอหวัง และ สุธิดา กัลย์วงศ์. ความปลอดภัยของผู้ป่วยในการตรวจทางรังสีวิทยาหลอดเลือด, วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1:20-25

 

หมายเลขบันทึก: 183497เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท