การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก


osteoporosis

การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก
(Vertebroplasty)

เกิดศิริ ธรรมนำสุข พย.บ.
งานการพยาบาลรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


เกิดศิริ ธรรมนำสุข.การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(1) : 20-23



คำนำ
โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะกระดูกบางลง และมีโอกาสที่กระดูกสันหลังหักยุบโดยง่าย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังอย่างมาก แม้จะมีแนวทางการรักษาให้วิธี เช่น การนอนพัก การใช้ยาแก้ปวด การใส่เสื้อเกราะพยุงหลังและการทำกายภาพบำบัด แต่ในผู้ป่วยบางรายยังไม่อาจบรรเทาอาการปวดได้ การรักษาแนวทางใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้ ได้แก่ การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกสันหลังที่หลังยุบ (Vertebroplasty) ซึ่งเป็นการรักษาแนวใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกจะซ่อมบรรเทาอาการปวดและป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังยุบตัวมากขึ้น อาการปวดจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการฉีดซีเมนต์1 ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปกติผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักยุบ (Fracture/collapse) จากกระดูกบางมักไม่แสดงอาการในตอนแรก อาการจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป2 แต่มีบางรายที่เกิดอาการปวดอย่างเฉียบพลันจนขยับตัวและลุกเดินไม่ได้ แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะตรวจร่างกาย ซักถามอาการและส่งตรวจทางรังสีเพื่อวินิจฉัย เพื่อดูกายภาพของกระดูกสันหลังและวินิจฉัยรอยโรคและตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่ยุบตัว การตรวจวินิจฉัยดังกล่าว ได้แก่ การถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระดูกสันหลัง การตรวจกระดูกสันหลังด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอหรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เมื่อพบโรคแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะส่งต่อผู้ป่วยให้รังสีแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก ซึ่งทางรังสีแพทย์จะให้คำปรึกษาและให้ผู้ป่วยลงนามยินยอมรับการรักษาก่อน

 

1. การเตรียมตัวก่อนการฉีดซีเมนต์
ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีและมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

2. ขั้นตอนการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก
การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกจะกระทำในห้องเอกซเรย์หลอดเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่ (Lumbar block) โดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนอนคว่ำหน้าเนื่องจากเป็นท่าที่ใช้ในการฉีดซีเมนต์ขณะที่ทำการรักษา อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รังสีแพทย์จะกรีดผิวหนังเป็นรอยเล็กๆ เพื่อสอดเข็มผ่านกล้ามเนื้อไขสันหลังจนปลายเข็มอยู่ตำแหน่งกระดูกสันหลังข้อที่หักยุบ ซีเมนต์ที่ฉีดเข้าไปในกระดูกสันหลังจะแข็งตัวภายใน 10-20 นาที1 ซีเมนต์ที่แข็งตัวจะยึดกระดูกสันหลังเหมือนเกราะภายใน จึงเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกสันหลังที่หักยุบ เข็มฉีดซีเมนต์มีลักษณะกลวงขนาดหลอดกาแฟ ส่วนซีเมนต์มีลักษณะคล้ายกาวหรือยาสีฟันซึ่งเป็นส่วนผสมของโพลีเมธิลเมธาคริเลต (Poly methyl methacrylate) (PMMA) และผงแบบเรียมกับสารละลาย



ภาพที่ 1 ประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา)
1. Spinal Needle No. 21
2. Cannula Stainless steel
3. Stylet Stainless steel (Scoop tip)
4. Stylet Stainless steel (Trocar tip)
5. Mallet

ภาพที่ 2 ประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา)
1. Normal Saline
2. Bone Cement

3. ผลของการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก

การฉีดซีเมนต์เข้าไปที่ตัวกระดูกสันหลังจะช่วยยืดและเสริมกระดูกให้แข็งแรง การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกไม่ช่วยแก้ไขกระดูกสันหลังที่โก่งงอที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน เพียงแต่ช่วยไม่ให้หลังโก่งงอมากขึ้น ลดความเจ็บปวดจากการที่กระดูกสันหลังยุบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหยุดหรือลดการใช้ยาแก้ปวดอย่างเห็นได้ชัดและกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

4. การปฏิบัติตัวภายหลังการได้รับการฉีดซีเมนต์

ผู้ป่วยอาจเจ็บบริเวณรอยเข็มที่ถูกแทง ให้ใช้แผ่นประคบความเย็นเพื่อลดอาการปวด นอนพักบนเตียง 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ซีเมนต์แข็งตัวและสังเกตอาการต่ออย่างต่อเนื่อง จากนั้นผู้ป่วยสามารถยืนหรือเดินได้เล็กน้อยโดยไม่มีอาการเจ็บปวดเลย1

5. ภาวะแทรกซ้อน
การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยและเพียงชั่วคราวได้แก่ มีไข้ อาการปวดรุนแรง 2-3 ชั่วโมงหลังทำเนื่องจากความร้อนที่เกิดจากซีเมนต์แข็งตัว ซีเมนต์กระดูกที่ฉีดเข้าไปอาจมีการซึมออกจาก Vertebral body เล็กน้อยซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรง นอกเสียจากซีเมนต์จะหลุดเข้าไปในตำแหน่งที่อันตราย เช่น ช่องไขสันหลัง (spinal canal)1 ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นการติดเชื้อ กระดูกสันหลังหรือซี่โครงหัก ภาวะเลือดออกปวดหลังเพิ่มขึ้นและอาการทางระบบประสาท เช่นอาการชา อัมพาต ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยมาก

6. ข้อจำกัดในการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก

1. ผู้ป่วยกระดูกสันหลังยุบจากกระดูกบางซึ่งยึดติดไปแล้ว หรือใช้การรักษาตามอาการแล้วได้ผล
2. มีการตอบสนองกระดูกสันหลัง, การติดเชื้อในกระแสเลือด
3. มีการยุบตัวของกระดูกสันหลังมากกว่า 80-90%
4. กระดูกสันหลังหักนานกว่า 1 ปี
5. มีปัญหาการจับตัวของลิ่มเลือดที่ไม่ได้รักษาเพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ



บรรณานุกรม
1.http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=vertebro&bscp=1
2.Predey TA., Sewall LE. Smith SJ. Percutaneous Vertebroplasty: New Treatment for Vertebral Compression Fractures. American Family Physician, 2002;1-7

 

หมายเลขบันทึก: 183499เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆ พอดีคุณแม่อายุ 77 คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกยุบ ต้องการทราบราคาในการรักษาด้วยวิธีนี้ค่ะ และใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกได้หรือเปล่าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท