การฉีด Bleomycin เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ


โรคหลอดเลือดผิดปกติ

การฉีด Bleomycin เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ

Bleomycin injection for vascular malformation : an update in sclerotherapy

สมจิตร จอมแก้ว        อนุ.รังสีเทคนิค 
วาทิต คุ้มฉายา          วท.บ.รังสีเทคนิค
เอนก สุวรรณบัณฑิต  วท.บ.รังสีเทคนิค 

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

 

สมจิตร จอมแก้ว, วาทิต คุ้มฉายา, เอนก สุวรรณบัณฑิต. การฉีด Bleomycin เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2551 ; 2(2) : 77-81

 

การรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือดผ่านทางผิวหนังโดยตรงด้วยยาเคมีบำบัด bleomycin เป็นแนวโน้มการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย การศึกษาในมุมมองต่างๆ จะเป็นประโยชน์แก่ทีมรังสีร่วมรักษายิ่งขึ้น

บทนำ
Bleomycin ตามคำนิยามของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา คือ สารประกอบของ glycopeptide antineoplastic antibiotics ซึ่งสกัดได้จากแบคทีเรียชื่อ streptomyces verticillus โดยมีสูตรเคมี คือ C55H84N17O21S3 มีโครงสร้างโมเลกุลดังภาพที่ 1 มีน้ำหนักโมเลกุล 1415.551 มีค่าครึ่งชีวิต 2 ชั่วโมง และขับออกทางไตได้ราว 60-70% การบริหารจัดการยามี 2 วิธีคือการฉีดผ่านกล้ามเนื้อ (intramuscular) และการฉีดผ่านผิวหนัง (subscutaneous)



bleomycin ใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยโมเลกุลจะจับกับธาตุเหล็กซึ่งมีโมเลกุลของออกซิเจนลดลงไปหนึ่งตัว และทำให้สาย DNA แตกออกจากกัน และทำให้เกิด lipid peroxidation, carbohydrate oxidation และ prostaglandin synthesis and degradation อีกผลหนึ่งคือการทำลายผนังของหลอดเลือดอีกด้วย

Bleomycin ค้นพบในปี 1962 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ Hamao Umezawa ว่ามีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งและได้มีการเสนอการค้นพบในปี 1966 จากนั้นผลิตเป็นยาเคมีบำบัด โดยบริษัท Nippon Kayaku ในปี 1969 และได้รับการผ่านมาตรฐาน FDA ในปี 1973 ซึ่งได้มีการทำการตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Bristol-Myers Squibb ในชื่อ Blenoxane

Bleomycin ถูกนำมาใช้ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและได้มีการนำผลทางอ้อมมาใช้ในการฉีดรักษาหูด (wart) โดยการฉีดยังตำแหน่งโดยตรง ด้วยลักษณะการใช้นี้ได้มีการนำผลของการทำลายผนังหลอดเลือดมาใช้ในการรักษาทางรังสีร่วมรักษา ตั้งแต่ปี 1977 โดย Jura et al. ในการรักษา cystic hygroma โดยการฉีดเข้าตำแหน่งโรคโดยตรง (intralesional bleomycin injection) ซึ่งมีการรายงานผลการรักษาที่เป็นการรักษาหาย (cure) ที่สูง จากรายงานดังกล่าวนั้นได้มีการนำไปใช้ในการรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือด (vascular anormalies) และมีรายงานผลออกมาจำนวนมาก

 

ผลข้างเคียง
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือการก่อให้เกิด pulmonary fibrosis และทำให้ปอดทำงานได้ลดลง ทั้งยังช่วยเพิ่มความไวต่อภาวะออกซิเจนเป็นพิษ (oxygen toxicity) ดังนั้นจำเป็นต้องแจ้งประวัติ และภาวะแทรกซ้อนแก่วิสัญญีก่อนการดมยาเสมอ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาจได้แก่ ไข้ ผื่นแดง ผิวสีเข้มขึ้น และผมร่วงได้

การทำหัตถการ
หัตถการฉีด bleomycin โดยตรงเข้าตำแหน่งโรคจะทำในผู้ป่วยที่ได้รับการจำแนกว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่
• Arteriovenous malformations โรคความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง
กับทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำร่วมด้วย
• Capillary malformatins โรคความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแดงฝอย
• Venous malformations โรคความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดดำ
• Lymphatic malformations โรคความผิดปกติของหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับหลอดน้ำเหลือง

การนำ bleomycin มาใช้ในการฉีดผ่านผิวหนังโดยตรงเพื่อรักษาอาการหลอดเลือดผิดปกติ โดยเฉพาะหลอดเลือดดำ (venous malformaiton) และระบบหลอดน้ำเหลือง (lymphatic malformations) เป็นการนำมาใช้แทนที่แอลกอฮอล์ (ethanol injection) เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการบวม และปวดมาก การฉีดจะต้องกระทำโดยรังสีแพทย์ด้านรังสีร่วมรักษา ซึ่งจะทำการฉีดโดยมีการใช้ระบบภาพนำทาง ซึ่งมักจะเป็นฟลูออโรสโคปี

ขั้นตอนของหัตถการ
การทำหัตถการ จะต้องมีการเตรียมบริเวณที่จะฉีด bleomycin ให้สะอาดปลอดเชื้อ ด้วย chrohexidine จากนั้นทำการแทงเข็มไปยังตำแหน่งรอยโรคและฉีดสารทึบรังสีเพื่อระบุตำแหน่ง เมื่อแน่ใจแล้วจึงค่อยๆ ฉีด bleomycin อย่างช้าตามแรง โดยอาจใช้ tourniquet รัดไว้ การผสมยา bleomycin ใช้อัตราส่วน 1:1 นั่นคือ นั่นคือ bleomycin ขนาด 1 vial มียาปริมาณ 15 mg ซึ่งจะต้องผสมน้ำเกลือขนาด 15 ml เพื่อให้ได้สารละลาย 1mg/ml ปริมาณการใช้มีกำหนด ได้แก่
1. ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ใช้ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 0.5-1 mg/kg
2. ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปี และผู้ใหญ่ ให้ใช้ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1-15 mg ในแต่ละครั้งของการรักษา

ดังนั้นในการทำหัตถการ โดยอาจฉีดเข้าตำแหน่งโรคได้หลายตำแหน่งพร้อมกันในครั้งเดียว แต่ต้องมีปริมาณสูงสุดรวมต่อหัตถการไม่เกิน 15 mg


จากการสืบค้นวรรณกรรม พบว่ามีรายงานการนำ bleomycin มาใช้รักษาโรคหลอดเลือดน้ำเหลืองผิดปกติ ด้วยวิธีpercutaneous intralesional administration of bleomycin พบว่ามีการบวมลดลง 50% และมีการตอบสนองต่อยาที่ดี โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

 

การประเมินผู้ป่วยจะต้องพิจารณาประเด็นของความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งจะต้องเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย การทำหัตถการจะต้องมีเป้าประสงค์เพื่อการรักษาทางคลินิก และเนื่องจากประสิทธิ
ภาพที่ดีในการรักษา การฉีด bleomycin จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง และมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เนื่องจากต้องพิจารณาปริมาณ bleomycin สะสมซึ่งจะมีผลต่อการเกิด pulmonary fbrosis และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังตาราง

 

บรรณานุกรม
1. Blemomycin. http://www.cancer.gov
2. Bleomycin. http://en.wikipedia.org/wiki/Bleomycin
3. sclerotherapy. http://www.birthmarks.us/sclerotherapy.htm
4. Mathur NN, Rana I, Bothra R, et al. Bleomycin clerotherapy in congenital lymphatic and vascular malformations of head and neck. Int J Pediatr Otorhinolaryngol. 2005; 69(1):75-80.
5. พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, สมจิตร จอมแก้ว, ตองอ่อน น้อยวัฒน์ และคณะ. โรคหลอดเลือดดำผิดปกติ. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2007, 1(1): 84-87
6. Muir T., Kirsten M., Fourie P. Intralesional bleomycin injection (IBI) treatment for haemangiomas and congenital vascular malformations. Pediatric Surgery International, 2004
7. The ISSVA Classification ,J Dermatol 1997: 24:701-10

คำสำคัญ (Tags): #bleomycin#venous malformation
หมายเลขบันทึก: 241560เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อิอิ วาทิต คุ้มฉายา

นายวาทิต คุ้มฉายา ชื่อเล่นเบียร์ดำ รึป่าวอ่ะ

ชื่อเหมือนเพื่อนเก่าสมัยอนุบาล อิอิ

ขอบคุณค่ะข้อมูลเป็นประโยชน์มาก กำลังสนใจพอดีค่ะ จะเข้ามาติดตามเป็นระยะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท