การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดดำที่ขาแบบฉีดสีขึ้น


Leg Assending Venography

อภิชาติ กล้ากลางชน   อนุ.รังสีเทคนิค
ตองอ่อน น้อยวัฒน์     อนุ.รังสีเทคนิค
วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์    วท.บ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อภิชาติ กล้ากลางชน, ตองอ่อน น้อยวัฒน์ และวสันต์ ปันเขื่อนขัติย์.การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดดำที่ขาแบบฉีดสีขึ้น. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(2) : 82-86


การวินิจฉัยหลอดเลือดดำที่ขาแบบฉีดสีขึ้นมีความสำคัญในการตรวจหาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ข้อบ่งชี้และขั้นตอนการตรวจเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาและปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและให้ได้ผลทางคลินิกที่ดี เพื่อประโยชน์ในการแปลผลและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้


บทนำ
การวินิจฉัยหลอดเลือดดำ มีชื่อเรียกทั่วไปว่า venography และมีชื่อเรียกอื่นหลายชื่อ เช่น phlebography และ venogram การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดดำนั้นจำแนกหัตถการออกเป็นส่วนๆ โดยการตรวจหลอดเลือดดำที่ขามีได้หลายวิธี แต่หากพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ควรที่จะเลือกใช้วิธีการไม่รุนแรงก่อน เช่น อัลตราซาวน์ดชนิดดอปเปอร์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดดำ อย่างไรก็ตามการตรวจทางรังสีวิทยาหลอดเลือดนั้นถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่มีความไวและความน่าเชื่อถือในการแปลผลมากที่สุด

การเลือกตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดดำขาแบบฉีดสีขึ้น (Leg Assending Venography) เป็นหัตถการหนึ่งที่กระทำกันมาอย่างยาวนาน มีการรายงานผลครั้งแรกในปี 1954 โดย Greitz T. ในวารสาร Acta Radiology ในหัวข้อ the techinique of ascending phlebography of the lower extremity และได้มีการรายงานผลการวิจัยทั้งในด้านความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนต่อมาอีกหลายชิ้น เช่น Rabinov and Paulin,1972; Thomas,1972; Spigos et al,1977; Hull,1981; Bettmann et al,1987; Weinmann and Salzman,1994 การทบทวนวรรณกรรมและแนวทางปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อการพัฒนาคุณภาพในการบริการ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
1. การวินิจฉัยการอุดตันของหลอดเลือดดำในระดับลึก (deep vein thrombosis) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจ doppler ultasound หรือมีอาการบ่งชี้ภาวะหลอดเลือดดำในระดับลึกอุดตันแต่ตรวจไม่พบด้วยอัลตราซาวน์ด
2. เพื่อประเมินความผิดปกติของหลอดเลือดดำ (venous malformation)
3. เพื่อประเมินการวางตัวของหลอดเลือดดำที่ห่อหุ้มก้อนมะเร็ง (tumor encasement)

ข้อห้ามต่อการตรวจ
1. ผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีอย่างรุนแรง
2. ผู้ป่วยหญิงที่ตั้งครรภ์
3. ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบหลอดเลือดและหัวใจขั้นรุนแรง

การเตรียมผู้ป่วยก่อนการตรวจ
1. งดน้ำและอาหารก่อนตรวจ 3-4 ชม.
2. ตรวจสอบการทำงานของไต ได้แก่ค่า BUN และ Creatinine ในผู้ป่วยเบาหวานจะต้องพิจารณาภาวะขาดน้ำด้วย
3. ให้คำอธิบายขั้นตอนการตรวจ ความเสี่ยงและการลงลายมือชื่อยินยอมรับการตรวจ
4. ลดภาวะวิตกกังวลของผู้ป่วยถ้าจำเป็นโดยให้ผู้ป่วยทานยา diazepam (Valium) ขนาด 5-10 mg.

การดูแลผู้ป่วยก่อนการตรวจ
1. ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้สารทึบรังสีจะต้องมีการให้ยาป้องกันการแพ้ก่อนเสมอ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการเท้าบวม ต้องให้ยกขาสูง 4-6 ชม.ก่อนหน้าการตรวจ หรือพันผ้าที่เท้าให้แน่นราว 30-60 นาทีก่อนการตรวจ
3. ผู้ป่วยที่หาเส้นเลือดดำได้ยาก ให้จัดท่าขาในท่าที่ทำให้มองหาเส้นได้ง่ายที่สุด อาจประคบร้อนที่ปลายเท้า หรือใช้อัลตราซาวน์ดช่วยนำทาง หากเป็นรายที่ยากมาก อาจใช้การกรีดผิวหนัง (surgical cutdown) ช่วยเพื่อให้สามารถเข้าถึงหลอดเลือดดำได้
4. การตรวจควรเลือกใช้สารทึบรังสีชนิดไม่มีประจุ (non ionic contrast) ซึ่งมีความหนืดต่ำ โดยควรเลือดความเข้มข้นใกล้กับ 200 mg/ml และหากต้องการลดความปวดเนื่องจากการฉีด ให้ผสม Xylocaine 2% ปริมาณ 2ml กับสารทึบรังสีปริมาณ 50ml

ขั้นตอนการตรวจ
1. การจัดท่าผู้ป่วยมีได้ 2 แบบ ได้แก่

1.1 Greitz technique ซึ่งได้รับการพัฒนาเพิ่มจาก Rabinov and Paulin โดยให้ผู้ป่วยนอนหงานบนเตียงที่เอียงขึ้น 60 องศา ไม่ต้องรัดขาด้วย tourniquet
1.2 Thomas technique ให้นอนหงายบนเตียงที่เอียงขึ้น 30 องศา และรัดยางที่บริเวณเหนือกว่าข้อเท้า

2. การแทงเข็มเลือกใช้เข็มแบบผีเสื้อ (butter
fly) ขนาด 19-22G ทำการแทงเส้นเลือดดำที่หลังเท้า (pheripheral vein of dorsum of the foot) โดยแทงไปทางนิ้วเท้า จนได้เลือดดำไหลออกมา จึงต่อปลายเข็มเข้ากับสายต่อ (connection tube) หากเกิดการรั่วซึมเล็กน้อยให้เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มใหม่
3. ทำการฉีดสารทึบรังสีช้าๆ ร่วมกับการถ่ายภาพทางรังสีในตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องการ โดยฉีดสารทึบรังสีปริมาณรวม 50-100 ml แต่หากพบว่ามีการรั่วซึมของสารทึบรังสีให้หยุดฉีด และทำการแทงเข็มใหม่แทน แต่ถ้าการรั่วซึมเกิดมาก ให้หยุดหัตถการและทำการประคบร้อน

 

การสร้างภาพทางรังสี
ภาพทางรังสีที่ต้องการจะต้องเป็นตัวแทนของกายวิภาคของหลอดเลือดดำขา

การถ่ายภาพอาจใช้ได้ทั้งระบบถ่ายภาพลงบนฟิล์มและการใช้ระบบ digital spot ของเครื่องฟลูโอโรสโคปีซึ่งจะสะดวกกว่า โดยจะต้องถ่ายภาพในตำแหน่งต่างๆ เมื่อสารทึบรังสีไหลขึ้นไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยเริ่มถ่ายภาพแรกเมื่อสารทึบรังสีไหลไปถึง popliteal vein ที่ข้อเข่า ขณะถ่ายภาพที่ตำแหน่งต่างๆ จะมีการเอียงเตียงร่วมด้วย

หากสารทึบรังสีไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำระดับลึก (deep vein) ได้น้อย ให้ใช้ tourniquet รัดที่บริเวณข้อเท้า หรือ สูงกว่าเข่า เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันได้ และต้องปล่อยยางรัดเมื่อการถ่ายภาพเสร็จสิ้น ให้สังเกตและบันทึกระหว่างการฉีดว่าจุดใดที่สารทึบรังสีไหลช้า และหากต้องการดูไปถึงหลอดเลือดดำใหญ่ (inferior venacava) ให้ทำการรัดต้นขาหรือให้ยกขาสูงร่วมด้วย



การดูแลผู้ป่วยหลังเสร็จการตรวจ
1. หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ให้ส่งผู้ป่วยกลับหอผู้ป่วย และให้รับประทานอาหารและน้ำได้
2. อาจฉีดไล่สารทึบรังสีให้ขับออกมายิ่งขึ้น ด้วย heparinized saline เพื่อลดการเกิด postvenography thrombophlebitis


ภาวะแทรกซ้อน
1. การติดเชื้อ
2. หลอดเลือดดำอุดตันอักเสบ (thrombophlebitis) จะเกิดเนื่องจากการใช้สารทึบรังสีชนิดมีประจุ (ionic contrast media) และแสดงอาการภายใน 24ชม.
3. การรั่วซึมของสารทึบรังสีออกนอกเส้นเลือดไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงระหว่างการฉีด หากพบให้หยุดฉีดทันที ถ้ารั่วซึมน้อยกว่า 10ml จะเกิดผลน้อย ยังคงสามารถแทงเข็มที่จุดอื่นเพื่อการตรวจต่อได้ แต่ถ้ารั่วซึมมากจะต้องทำการประคบร้อนเป็นเวลา 24 ชม. และนวดบริเวณบวมพร้อมทั้งยกขาสูง

สรุป
การตรวจหลอดเลือดดำขาด้วยการฉีดสีขึ้นจะต้องมีการเตรียมผู้ป่วยให้ง่ายต่อการแทงเข็ม และการถ่ายภาพทางรังสีจะต้องให้ได้ภาพที่ดีเพียงพอต่อการวินิจฉัยพยาธิสภาพของผู้ป่วยได้ขณะเดียวกันจะต้องระวังภาวะแทรกซ้อนจากการรั่วซึมของสารทึบรังสีซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนหลัก เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

บรรณานุกรม
1. Kandarpa K. and Aruny J.E. Handbook of interventional Radiologic Procedures. 3rd, Lippincott Williams & Wilkins, NewYork, 2002
2. http://en.wikipedia.org
3. http://www.e-radiography.net
4. http://www.vascularweb.org
5. http://www.medcyclopaedia.com

คำสำคัญ (Tags): #venogram#ฉีดสี
หมายเลขบันทึก: 241561เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาย cutdown tube สำหรับใสให้ผู้ป่วยแล้วเวลาเอกซเรย์สามารถมองให้สายcutdown ได้นั้นอยากถามว่าสายcutdown tube ซื้อจากบริษัทอะไร เพราะใช้ของคาวาซูมิอยู่ แพทย์บอกว่ามองไม่เห็นเลย ตอบด่วนนะค่ะ ขอบคุณค่ะ เมล์ [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท