มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือด


Diagnostic Arteriography

Standard and Technical of Performance of Diagnostic Arteriography

เอนก สุวรรณบัณฑิต*      วท.บ.รังสีเทคนิค
วิธวัช หมอหวัง*             วท.บ.รังสีเทคนิค
ธันยาภรณ์ สุวรรณสิทธิ์** พย.บ.
เสาวนีย์ หอมสุด**          พย.บ.
*ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
**งานการพยาบาลรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช

เอนก สุวรรณบัณฑิต, วิธวัช หมอหวัง, ธันยาภรณ์ สุวรรณสิทธิ์และเสาวนีย์ หอมสุด.มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือด. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(2) : 87-99


บทคัดย่อ
การให้การบริการวินิจฉัยทางรังสีวิทยาหลอดเลือดอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย การเข้าใจต่อความจำเพาะของการวินิจฉัย ข้อจำกัด และการปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด จะเพิ่มผลสำเร็จทางเทคนิคในอัตราที่สูง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

 

การวินิจฉัยทางรังสีวิทยาหลอดเลือด (Diagnostic Arteriography) เป็นหัตถการที่ได้รับการยืนยันว่ามีความบาดเจ็บน้อย (invasive) และมีภาวะแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย1 แสดงถึงความปลอดภัยของการทำหัตถการ และเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพในการประเมินความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกอบรมของรังสีแพทย์

ความสำเร็จของหัตถการคือการได้ภาพการวินิจฉัยหลอดเลือดที่สมบูรณ์ นั่นคือได้ภาพครบถ้วน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ร่วมในการตัดสินการรักษาผู้ป่วยของแพทย์เจ้าของไข้ รวมถึงมีการแปลผลภาพทางรังสีอย่างทันเวลาและถูกต้อง

วิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งอเมริกา (the american college of radiology,2007) ได้ให้คำนิยามของ diagnostic arteriography คือ กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องด้วยการแทงเข็มหรือสายสวนหลอดเลือดผ่านผิวหนังไปยังหลอดเลือด ตามด้วยการฉีดสารทึบรังสีและทำการเก็บภาพทางรังสีของการกระจายตัวของหลอดเลือดที่สงสัย โดยเก็บภาพเป็นชุดภาพดิจิตอล หรือแบบชุดฟิล์มก็ได้

หัตถการทางรังสีวิทยาหลอดเลือดแม้จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำ แต่ควรที่จะพิจารณาถึงการตรวจทางรังสีวินิจฉัยอื่นที่มีความไวและความจำเพาะสูงใกล้เคียงกันเช่น การตรวจด้วยอัลตราซาวน์ด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือด การตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหลอดเลือด หรืออาจใช้การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แทนก็ได้

การวินิจฉัยหลอดเลือดเป็นหัตถการที่แพทย์ทำการสอดใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านทาง femoral artery หรือ axillary artery และนำสู่หลอดเลือดในตำแหน่งที่ต้องการประเมินพยาธิสภาพ การฉีดสารทึบรังสีจะต้องมีอัตราการฉีดและปริมาณที่มีความปลอดภัยและมีความทึบรังสีเพียงพอที่จะได้ภาพที่แสดงพยาธิสภาพอย่างชัดเจน ตำแหน่ง มุมของภาพ การขยายของภาพ และการจัดเก็บชุดภาพที่ดี การถ่ายภาพในหลายมุมมองจะช่วยให้สามารถประเมินพยาธิสภาพได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้รังสีจะต้องเป็นไปตามหลัก As Low As Reasonably Achievable: ALARA

อัตราความสำเร็จของหัตถการ (success rate) และอัตราภาวะแทรกซ้อน (complication rate) เป็นตัวชี้วัดที่จะต้องประเมินอย่างต่อเนื่อง

 

การคัดเลือกผู้ป่วย
การคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อรับการวินิจฉัยทางรังสีวิทยาหลอดเลือดเป็นกระบวนการแรกที่จะต้องจัดให้มีเพื่อป้องกันการตรวจทางรังสีที่เกินความจำเป็น โดยการคัดเลือกมีเกณฑ์ในการบ่งชี้และข้อห้ามแบ่งออกตามหัตถการหลักๆ ดังนี้

ข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการ

1. Pulmonary arteriography

1.1 เพื่อตรวจหา acute pulmonary embolus ในผู้ป่วยที่ไม่อาจตรวจได้จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
1.2 เพื่อตรวจหา chronic pulmonary embolus
1.3 เพื่อตรวจหาอาการ pulmonary abnormalities ต่างๆ


2. Spinal arteriography

2.1 เพื่อการหา spine and spinal cord tumors.
2.2 เพื่อการหา vascular malformations.
2.3 เพื่อวินิจฉัย Spinal trauma.
2.4 เพื่อประเมินก่อนการผ่าตัด


3. Bronchial arteriography

3.1 เพื่อวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยHemoptysis
3.2 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย congenital cardiopulmonary anomalies
3.3 เพื่อประเมินการไหลเวียนของ distal pulmonary artery ในผู้ป่วยก่อนผ่าตัด



4. Aortography

4.1 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น transection, dissection, aneurysm, occlusive disease, aortitis, และ congenital anomaly
4.2 เพื่อประเมินการก่อนรักษาหรือผ่าตัด


5. Abdominal visceral arteriography

5.1 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วยภาวะ Acute or chronic gastrointestinal hemorrhage
5.2 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย abdominal trauma
5.3 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย Intrabdominal tumors
5.4 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย acute or chronic intestinal ischemia
5.5 เพื่อประเมิน mesenteric, splenic, and portal vein patency ในผู้ป่วยที่มีภาวะ portal hypertension
5.6 เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น aneurysms, vascular malformations,occlusive disease, หรือ vasculitis
5.7 เพื่อการประเมินก่อนการผ่าตัด หรือการเปลี่ยนอวัยวะ

 

6. Renal arteriography

6.1 เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะ Renovascular occlusive disease
6.2 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย Renal vascular trauma.
6.3 เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น aneurysms, vascular malformations หรือ vasculitis
6.4 เพื่อประเมินในผู้ป่วย Renal tumors
6.5 เพื่อประเมินในผู้ป่วย Hematuria โดยไม่ทราบสาเหตุ
6.6 เพื่อการประเมินก่อนและหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต


7. Pelvic arteriography

7.1 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย atherosclerotic aortoiliac disease
7.2 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย gastrointestinal or genitourinary bleeding
7.3 เพื่อประเมินในผู้ป่วยอุบัติเหตุ
7.4 เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น aneurysms, vascular malformations หรือ vasculitis
7.5 เพื่อประเมินผู้ป่วยชายภาวะ male impotence ซี่งอาจมีสาเหตุจาก arterial occlusive disease
7.6 เพื่อประเมินในผู้ป่วย pelvic tumors

8. Extremity arteriography

8.1 เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น aneurysms, emboli, occlusive disease, and thrombosis
8.2 เพื่อประเมินในผู้ป่วย vascular trauma
8.3 เพื่อประเมินวางแผนในผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดหลอดเลือด
8.4 เพื่อประเมินการผ่าตัด bypass grafts and dialysis grafts and fistulas
8.5 เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วย vascular abnormalities
8.6 เพื่อประเมินในผู้ป่วยมะเร็ง

 

ข้อห้ามต่อการทำหัตถการ

ไม่มีข้อห้ามอย่างสมบูรณ์สำหรับการวินิจฉัยหลอดเลือดหากแต่มีข้อห้ามบางประการที่ต้องประเมินก่อน ได้แก่

1. ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง
2. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถแก้ผลเลือดได้
3. ผู้ป่วยที่แพ้สารทึบรังสีอย่างรุนแรง
4. ผู้ป่วยที่มีภาวะ renal insufficiency
5. ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
6. ผู้ป่วยที่มีไม่อาจแทงสายสวนผ่านผิวหนังได้เนื่องจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อเอง


ความจำเพาะของหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือด (specifications of procedure)

การวินิจฉัยหลอดเลือดเน้นที่ความปลอดภัยและความสำเร็จของหัตถการ ซึ่งมีสิ่งที่ต้องจัดให้มีอย่างจำเพาะ ได้แก่


1.เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ร่วมตรวจ (Angiographic equipment and facilities)
2.อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพและฟื้นคืนชีวิต (Physiological Monitoring and Resuscitation equipment)
3. การสนับสนุนด้านบุคลากร (support personnel)
4. การสนับสนุนด้านการผ่าตัด (surgical
and emergency support)
5. การดูแลผู้ป่วย (Patient care)
6.เกณฑ์การคัดเลือกเพื่อการสังเกตอาการระยะสั้น (selection criteria for short term observation
7.ข้อห้ามต่อการสังเกตอาการระยะสั้น (relative contraindication to short term observation)

1) เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ร่วมตรวจ (Angiographic equipment and facilities)

หัตถการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดจะต้องมีการเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและอุปกรณ์ประกอบการตรวจต่างๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงและระยะเวลาในการทำหัตถการ ดังนั้นต้องจัดความพร้อมต่างๆ เป็น 5 ด้านได้แก่

1. เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้จะต้องเป็นเครื่องฟลูโอโรสโคปีที่มีระบบเก็บภาพที่มีรายละเอียดสูง และมีการเก็บภาพเป็นชุดภาพได้ หากเป็นระบบฟิล์มจะต้องมีขนาด 14 นิ้วขึ้นไป และสำหรับระบบดิจิตอลจะต้องให้ภาพที่มีความละเอียด 1024 matrix อย่างไรก็ตามเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดจะให้ภาพที่มีคุณภาพดีกว่า ขณะที่จะใช้ปริมาณสารทึบรังสีในการตรวจน้อยกว่าและใช้เวลาตรวจน้อยกว่าเช่นกัน และหากมีระบบสามารถแสดงภาพแบบ last image hold และ ระบบ pulse fluoroscopy ก็จะช่วยลดปริมาณรังสีแก่ผู้ป่วยด้วย
2. อุปกรณ์สำหรับการตรวจ เช่น สายสวนหลอดเลือด ขดลวดนำทางและอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ที่ต้องมีอย่างพอเพียงและหลากหลาย
3. เครื่องฉีดสารทึบรังสีอัตโนมัติที่สามารถกำหนดปริมาณและอัตราการฉีดสารทึบรังสีได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อป้องกันการฉีดสารทึบรังสีมากเกินความจำเป็น
4. ห้องเอกซเรย์หลอดเลือดที่มีความกว้างและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมไปถึงสามารถจัดวางโต๊ะปลอดเชื้อและชุดอุปกรณ์ต่างๆ แล้วผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวก โดยไม่เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค
5. พื้นที่สำหรับการเตรียมตัวผู้ป่วยและการสังเกตอาการผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังหัตถการ ควรอยู่ในพื้นที่ใกล้กับห้องเอกซเรย์หลอดเลือดหรือในพื้นที่ใกล้เคียงและสะดวกต่อการหยิบใช้อุปกรณ์ฟื้นคืนชีวิต


2) อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพและฟื้นคืนชีวิต (Physiological Monitoring and Resuscitation equipment)

 

1. ภายในห้องเอกซเรย์หลอดเลือดจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ และระบบออกซิเจนที่พร้อม
2. ต้องจัดให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพได้อย่างง่ายและสะดวกทั้งเครื่องมือและยา เช่น emergency defibrillator, tracheal intubation, laryngoscope, ventilation bag-valve-mask apparatus, narcotic drugs
3. หากมีหัตถการ peripheral angiography และ pulmonary angiography เป็นประจำ จะต้องมี pressure monitor เพื่อใช้วัด intra-arterial pressure gradients


3) การสนับสนุนด้านบุคลากร (support personnel)

1. รังสีเทคนิคที่ได้รับการอบรมในการใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจหลอดเลือด มีความรู้ด้านกระบวนการและการเก็บภาพหลอดเลือดต่างๆ การใช้สารทึบรังสีและการสังเกตอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่างๆ
2. หากผู้ป่วยไม่ได้อยู่ใน moderate sedation จะต้องมีพยาบาลทำการสังเกตสัญญาณชีพ ให้ยา สารน้ำและให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ป่วย

 

4) การสนับสนุนทางการผ่าตัดและภาวะฉุกเฉิน (surgical and emergency support)

ถึงแม้ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดได้น้อย แต่จะต้องมีการวางระบบประสานงานไว้กับทางห้องผ่าตัด เพื่อความสะดวกในการประสานงานในทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการสำรองเตียง การเคลื่อนย้าย และการช่วยชีวิตต่างๆ

5) การดูแลผู้ป่วย (patient care)

ผู้ป่วยที่จะรับการตรวจต้องมีใบขอการตรวจที่มีข้อมูลเพียงพอและมีข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงความจำเป็นในการตรวจ เช่น อาการ ประวัติโรค และออกโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต


1. การดูแลก่อนหัตถการ (pre-procedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยก่อนหัตถการมีหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

1.1 ตรวจสอบใบขอทำหัตถการว่ามี ประวัติและข้อบ่งชี้ในการตรวจ
1.2 ประวัติ ผลการตรวจทางคลินิกและข้อควรระวังทางคลินิกต่างๆ สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
1.3 ตรวจสอบผลการตรวจทางห้อง
ปฏิบัติการต่างๆเช่น hemoglobin, hematocrit, creatinine, electrolytes และcoagulation parameters.

2. การดูแลระหว่างหัตถการ (pro-cedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยระหว่างหัตถการมีขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

2.1 การปฏิบัติตามมาตรฐาน Joint commission Universal protocal ในด้านการป้องกันการผ่าตัดผิดตำแหน่ง ผิดขั้นตอน ผิดคน จะต้องมีการยึดถือโดยการทำ time out ก่อนการเริ่มหัตถการ โดยต้องจัดการดังนี้
         - ต้องเกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งทีม
         - มีการใช้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
         - มีการใช้ข้อมูลกระดาษ checklist ต่างๆ
        -ทำกระบวนการระบุตัวผู้ป่วย ระบุตำแหน่งและข้าง ยืนยันชนิดของหัตถการ การจัดท่าทางผู้ป่วย และการระบุอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง
2.2 การบันทึกสัญญาณชีพต่างๆจะต้องบันทึกไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นช่วงๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นหัตถการ และมีการบันทึกค่าวัดต่างๆ
2.3 ผู้ป่วยจะต้องได้รับการให้สารน้ำหรือยาทางหลอดเลือดดำ จึงต้องมีการบริหารจัดการและบันทึกการให้ยาและสารน้ำต่างๆ
2.4 ถ้าผู้ป่วยได้รับการดมยาระดับ moderate sedation ต้องมีการบันทึกขนาดยาและเวลาในการให้ตลอดหัตถการ โดยพยาบาลจะต้องรับผิดชอบสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและบันทึกไว้
2.5 แพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วยเมื่อเสร็จสิ้นการตรวจใหม่ๆ เพื่อกดหยุดเลือดและประเมินอาการผู้ป่วย


3. การดูแลภายหลังหัตถการ (post-procedural care) มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภายหลังหัตถการมีขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

3.1 สรุปบันทึกระหว่างหัตถการ ผลการวินิจฉัยและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งต้องได้รับการบันทึกลงในเวชระเบียนอย่างย่อ เพื่อสื่อสารแก่แพทย์เจ้าของไข้ อย่างไรก็ตามรายงานผลอย่างเป็นทางการจะต้องออกตามไปในเวลา 2-3 ชม.
3.2 ผู้ป่วยต้องนอนพักและสังเกตอาการช่วงหลังเสร็จหัตถการใหม่ๆ ระยะเวลาในการนอนพักขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่เจาะสวนหลอดเลือด หรือยาที่ให้แก่ผู้ป่วย
3.3 ช่วงเสร็จหัตถการใหม่ๆ พยาบาลต้องเป็นผู้สังเกตตำแหน่งที่เจาะสวนหลอดเลือด และสถานะของหลอดเลือดปลายทางต่างๆ ว่ามีการขาดเลือดหรือไม่
3.4 พยาบาลจะต้องคอยสังเกตและบันทึกปริมาณปัสสาวะที่ขับออก อัตราการเต้นของหัวใจ อาการปวด และตัวชี้วัดการไหลเวียนเลือดอื่นๆ ตลอดทั้งคืนหลังการตรวจ
3.5 พยาบาลต้องดูแลและตรวจสอบตำแหน่งที่ตรวจสวนหลอดเลือด การทำงานของอวัยวะต่างๆ และการเคลื่อนไหวแขนขาของผู้ป่วย
3.6 ถ้าการตรวจสวนหลอดเลือดต้องมีการรบกวนในหลอดเลือด thoracic aorta และ brachio
cephalic จะต้องมีการประเมินการทำงานของสมองด้วย
3.7 แพทย์ผู้ทำหัตถการจะต้องเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยหลังเสร็จหัตถการเพื่อสรุปผลลงในรายงานผล (progressive note) และเวชระเบียน และแพทย์ที่ได้รับมอบหมายจะต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อประเมินระหว่างที่ยังพักค้างในโรงพยาบาล

 

6) เกณฑ์การสังเกตอาการระยะสั้น (selection criteria for short term observation)

หลังการตรวจเสร็จสิ้น ผู้ป่วยควรได้รับการสังเกตอาการต่ออีก 8 ชม.ก่อนการออกจากโรงพยาบาล ซึ่งระหว่างนั้นจะต้องมีการสังเกตอาการและสภาวะของผู้ป่วยดังนี้
1. ผู้ป่วยได้รับการประเมินว่าเมื่อกลับบ้านจะสามารถช่วยตัวเองได้เป็นอย่างดี
2. ผู้ป่วยได้รับการประเมินสภาวะทางระบบประสาทและสมอง สามารถทำตามคำสั่งได้
3. ผู้ป่วยได้รับการให้ข้อมูลถึงการสังเกตภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และวิธีการในการติดต่อกับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์
4. ผู้ป่วยมีผู้ดูแลที่ได้รับการให้ข้อมูลถึงการสังเกตภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และวิธีการในการติดต่อกับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์
5. ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ
6. ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาจะต้องฟื้นคืนจากการให้การดมยาแล้ว

7) เกณฑ์การสังเกตอาการต่อเนื่อง(relative contraindication to short term observation)

ปัจจัยบางประการก็เป็นข้อบ่งชี้ให้ต้องสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด hematoma ได้
2. ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสี ภาวะไตไม่ดี และต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดเลือดดำ
3. ผู้ป่วยมีผลการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ดี ต้องได้รับการแก้ไขก่อน
4. ผู้ป่วยเบาหวานต้องได้รับการดูแลการให้ insulin ก่อน
5. ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนย่อยจากหัตถการ
6. ผู้ป่วยมีภาวะการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ การเต้นของหัวใจไม่คงที่
7. ผู้ป่วยพักอาศัยในสถานที่ห่างจากสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมากกว่า 1 ชม. เดินทาง

มาตรฐานของการจัดการเอกสารต่างๆ (documentation)

การจัดการเอกสารแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่


1. เวชระเบียน จะต้องมีการเติมบันทึกทางรังสี รายงานผลการตรวจ ประเภทและปริมาณของสารทึบรังสี ประเภทและปริมาณยาที่ได้รับ ปริมาณรังสีที่ได้รับ รวมไปถึงรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจด้วย
2. เอกสารก่อนการตรวจ จะต้องมีผลการประเมินผู้ป่วยก่อนการตรวจ ประวัติ และข้อบ่งชี้การตรวจ ผลทางห้องปฏิบัติการ การให้ข้อมูลและใบอนุญาตตรวจ รวมถึงแผนการตรวจที่จะกระทำ
3. บันทึกหลังเสร็จการตรวจ จะต้องมีข้อมูลกระบวนการตรวจ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ ตำแหน่งที่เจาะสวน ผลการตรวจ ภาวะแทรกซ้อนและแผนการรักษาหลังการตรวจ
4. รายงานผลการตรวจ จะต้องแสดงชื่อกระบวนการตรวจ วันที่ทำหัตถการ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ ข้อบ่งชี้การตรวจ ขั้นตอนและกระบวนตรวจ หลอดเลือดที่ตรวจ อุปกรณ์ที่ใช้ ยาและสารน้ำที่ได้รับ ผลการตรวจ ภาวะแทรกซ้อน ผลสรุปการตรวจ และแผนการรักษาต่อเนื่อง

 

อัตราความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อน (Success and complication rates and tresholds)

ตัวชี้วัดด้านความสำเร็จ และภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนของการประเมินประสิทธิผลของหัตถการ ซึ่งมีระดับที่ยอมรับได้ซึ่งต้องคำนึงถึง โดยเป็นสัดส่วนต่อกันระหว่างความสำเร็จทางเทคนิคและภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนแบ่งออกได้เป็นภาวะแทรกซ้อนหลักและภาวะแทรกซ้อนย่อย ส่วนความสำเร็จทางเทคนิคนั้นประเมินจากข้อมูลการตรวจหลอดเลือดที่ได้อย่างเพียงพอต่อการวินิจฉัยซึ่งมีระดับอยู่ที่ 95% เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน จะต้องมีการประเมินและบริหารจัดการเพื่อการรักษา ซึ่งการประเมินจะเป็นไปตามการจำแนกระดับของภาวะแทรกซ้อนตามผลลัพธ์ (Classification of Complications by Outcome) โดย society on interventional radiology standards of practice committee สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนย่อย และภาวะแทรกซ้อนหลัก โดยแบ่งได้ดังนี้

1. ภาวะแทรกซ้อนย่อย (Minor complications) หมายถึงเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่มีผลลัพธ์ที่ไม่มีเหตุการณ์ตามหลังอื่น แต่ยังต้องการการรักษาเล็กน้อย หรือพักค้างในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ แบ่งออกเป็น


A.No therapy, no consequence
B.Nominal therapy, overnight admission for observation only

2. ภาวะแทรกซ้อนหลัก (Major complications) หมายถึงเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่มีผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยต้องพักค้างในโรงพยาบาลต่อเพื่อการรักษา มีการรักษาที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าร่วมด้วย หรือผลลัพธ์ทำให้เกิดภาวะพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ แบ่งออกเป็น

C. Require therapy, hospitalization <48 hrs.
D. Require major therapy, unplanned increase in level of care, prolonged hospitalization >48 hrs.
E. Permanent adverse sequelae
F. Death


เทคนิคทางการสร้างภาพรังสีระหว่างหัตถการ (achiveing of images)

ในการตรวจวินิฉัยหลอดเลือดนั้นจะต้องมีการจัดแนวของอวัยวะนั้นให้อยู่ในท่าตรงตาม anatomical position เพื่อให้ได้ภาพทางรังสีที่ถูกต้อง เมื่อแพทย์นำสายสวนถึงตำแหน่งตอของหลอดเลือดที่ต้องการ จะต้องจัดให้ภาพคลุมตำแหน่งของหลอดเลือดที่ต้องการ จะต้องมีการเพิ่ม/ลดขนาดของภาพให้เหมาะสม และเพื่อลดปริมาณรังสีแก่ผู้ป่วย จะต้องปรับระดับเตียงให้สูงที่สุด และให้ตัวรับภาพอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่สุด และเพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพจะต้องมีการให้ปริมาณสารทึบรังสีและอัตราการฉีดที่เหมาะสม


อย่างไรก็ตามระหว่างหัตถการจะต้องจัดให้มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีที่จำเป็นต่างๆ เช่น ฉากตะกั่วตั้งพื้น ฉากตะกั่วแขวน เสื้อตะกั่ว ปลอกคอตะกั่ว ถุงมือตะกั่วเพื่อให้แพทย์ และผู้ป่วยได้รับปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และมีการย้ำเตือนระยะปลอดภัยต่อรังสี (dose isocurve) สำหรับบุคลากรอื่นเพื่อที่จะได้ยืน หรือทำงานอื่นในห้องหัตถการได้โดยได้รับปริมาณรังสีน้อยเท่าที่จำเป็น (As Low As Reasonably Achievable: ALARA)

 

สรุป
หัตถการทางรังสีวิทยาหลอดเลือดนั้นจะพัฒนากระบวนการให้มีคุณภาพในการบริการได้นั้น มาตรฐานและแนวปฏิบัติจะต้องดำเนินไปด้วยความเข้าใจ เข้าถึงรอบคอบ และตระหนักถึงความสำคัญในปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ข้อบ่งชี้ การเตรียมผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วย การรายงานผลและจัดการเอกสารต่างๆ และการสื่อสารกับแพทย์เจ้าของไข้และพยาบาลหอผู้ป่วยอย่างถูกต้อง โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นที่เกี่ยวข้องกับหัตถการเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพในมาตรฐานสากล

บรรณานุกรม
1. Practice guideline for the perfor
mance of diagnostic arteriography in adults, ACR Practice Guideline, The american college of radiology,2007: 709-23
2. Kandarpa K. and Aruny J.E. Handbook of Interventional Radiologic Procedures. 3rd Ed. Lippincott Williams & Wilkins, NewYork, 2002

คำสำคัญ (Tags): #angiogram#ฉีดสี
หมายเลขบันทึก: 241569เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท