รังสีร่วมรักษาระบบประสาท : เรื่องเล่าของความสำเร็จ


narrative

รังสีร่วมรักษาระบบประสาท : เรื่องเล่าของความสำเร็จ
Interventional Neuroradioloy : narrative of success


เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค
วาทิต คุ้มฉายา วท.บ.รังสีเทคนิค
สมจิตร จอมแก้ว อนุ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เอนก สุวรรณบัณฑิต,วาฑิต คุ้มฉายา,สมจิตร จอมแก้ว.รังสีร่วมรักษาระบบประสาท:เรื่องเล่าของความสำเร็จ.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551; 2(2) : 113-20


รังสีร่วมรักษาระบบประสาทมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทในการรักษาโรคทางระบบหลอดเลือดประสาทและไขสันหลัง เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ในหลายประเภทหัตถการ ซึ่งการพัฒนานั้นเป็นเรื่องเล่าของความสำเร็จที่บุคลากรทางการแพทย์รุ่นหลังจำเป็นจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เพื่อการพัฒนาที่ยิ่งขึ้นไปทั้งในด้านของเทคนิคหัตถการใหม่ๆ และด้านบุคคลสำคัญในระดับสากลและระดับประเทศ

 

รังสีร่วมรักษาเป็นหัตถการที่ต่อยอดมาจากการตรวจหลอดเลือดระบประสาท (cerebral angiography) ซึ่งได้มีการรายงานครั้งแรก ปี ค.ศ. 1927 โดย Dr.Egas Moniz4 ประสาทศัลยแพทย์ ชาวโปรตุเกส โดยในชั้นแรกเป็นการผ่าตัดผิวหนังเพื่อหาหลอดเลือด carotid artery โดยตรง ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1935 ได้มีการใช้เทคนิคการแทงเข็มผ่านผิวหนังแทน โดยมีการรายงานโดย Dr. James Bull แห่ง National hospital Queen’s Square จากประเทศอังกฤษ และ Loman & Myerson จากประเทศอเมริกา และได้มีการรายงานครั้งแรกจากญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 ด้วย

ในปีค.ศ. 1953 Seldinger (แพทย์ชาวสวีเดน) ได้บรรยายถึง percutaneous catheterization โดยการใช้เข็มที่มีรูกลวงและระบบขดลวดนำเจาะเข้าทาง femoral artery ที่ขาหนีบ ซึ่งมีความปลอดภัย ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่า translumbar catheterization และด้วยการใช้ catheter ที่หยุ่นเหนียวต่อจากขดลวดนำ Seldinger technique จึงสามารถทำให้สามารถที่จะเลือกตรวจเส้นเลือดหรือ superselective ไปสู่เส้นเลือดสาขาได้ดีกว่า

หัตถการทางรังสีร่วมรักษาระบบประสาท มีเรื่องเล่าของความสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่


1. Balloon Embolization
2. Glue Embolization
3. Coil Embolization


เรื่องเล่าของความสำเร็จ ของแต่ละหัตถการสามารถเล่าเรียงได้ดังนี้

Balloon Embolization เป็นหัตถการอุดหลอดเลือดที่มีรูรั่ว ซึ่งเป็นหัตถการหลักของการรักษาภาวะ direct carotid carvernous fistula ในผู้ป่วยที่มีการรั่วของหลอดเลือดจากหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีแรงดันเลือดสูง เข้าไปในแอ่งหลอดเลือดดำ ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ โดยมีการรายงานความสำเร็จของการทำหัตถการครั้งแรกโดย Dr.Fedor A. Serbinenko ประสาทศัลยแพทย์ ชาวรัสเซีย ในปี ค.ศ.1974 และได้มีการใช้ Gold Valve Balloon ซึ่งผลิตโดยบริษัท Nycomed Ingenor ประเทศฝรั่งเศส ทำให้หัตถการมีร้อยละของความสำเร็จที่สูง โดยมีการรายงานยืนยันการรักษาโดย Berenstein 1980-1985, Goto and Jieshima ในปีค.ศ. 1986, Debrun ในปีค.ศ. 1988 และนพ.สุทธิศักดิ์ สุทธิพงศ์ชัย ในปี ค.ศ. 1991


Glue Embolization เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดขอดในสมอง (brain AVM)6 โดยมีรายงานการรักษาครั้งแรกโดย Luessenhop and Spence ในปี 1960 เป็นการรายงานการอุดหลอดเลือดขอดในสมองด้วย Silastic spheres แต่ยังขาดเทคนิคที่แม่นยำ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนา isobutyl-2-cyanoacrylate (IBCA) ซึ่งได้มีรายงานความสำเร็จออกมาอย่างต่อเนื่องเช่น Zanetti and Sherman,1972; Kerber,1976 และ Berestein and Kricheff, 1979 ซึ่งรายงานการอุดหลอดเลือดขอดในสมองด้วย ขณะเดียวกันมีการรายงานการใช้ bucrylate โดย Debrun ในปี 1982 ช่วงเดียวกันได้มีการพัฒนา n-butyl 2-cyanoacrylate (NBCA) ตั้งแต่ปี 1970 โดยมีการรายงานคุณสมบัติที่เท่ากันในปี 1989 โดย Brother ทำให้มีการใช้ NBCA เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ IBCA เลิกผลิตไปในปี 1990 และมีรายงานความสำเร็จของการใช้ NBCA ออกมาอีกหลายชิ้น เช่น Lasjaunias et al ในปี 1991 จากนั้นได้มีการพัฒนา cyanoacrylate-based synthetic glue คือ Glubran®2 ขึ้นในราวปี 2000 และมีการรายงานความสำเร็จของการใช้ตั้งแต่ปี 2002 โดย Leonadi et al ต่อมามีการพัฒนา ethylene-vinyl alcohol copolymer : EVAL และได้รับการใช้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ราวปี 1990 ในชื่อ ONYX ซึ่งมีรายงานความสำเร็จออกมาหลายชิ้นในปัจจุบัน

Coil Embolization สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง โดยการใช้การรักษาจากภายในหลอดเลือด (endovascular treatment) โดยเป็นการใส่ขดลวด GDC (Guglielmi detachable coils) ซึ่งเป็นขดลวดแพลตตินัม พัฒนาโดย Dr. Guido Guglielmi ประสาทรังสีแพทย์ชาวอิตาลี ในปี 1990 และได้รายงานผลสำเร็จของการอุดหลอดเลือดสมองโป่งพองครั้งแรกโดย Guglielmi et al ในปี 1991 จากนั้นได้มีการพัฒนาขดลวดรูปแบบต่างๆ ออกมาจากหลายบริษัทผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และมีรายงานความสำเร็จของการใช้ขดลวดในการอุดหลอดเลือดสมองโป่งพองจำนวนมาก

จากเรื่องเล่าของความสำเร็จ ยังควรที่จะรู้จักบุคคลสำคัญแห่งความสำเร็จ ได้แก่

Prof. Egas Moniz เกิดในปี 1874 ศึกษาจบแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Coimbra และศึกษาต่อด้านประสาทวิทยา จาก Bordeaux และ Paris, France. ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัย Coimbra ในปี 1902 ต่อมาได้ลาออกในปี 1903 เพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศโปรตุเกสระหว่างปี 1903-1917 โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 1918 และได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสเปนในปี 1918-1919 จากนั้นจึงกลับมาเป็นศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยลิสบอนในปี 1921-44 โดยในปี 1927 ได้พัฒนาการทำ cerebral angiography และได้รับรางวัลโนเบลในปี 1945 ขณะเดียวกันในปี 1936 ได้ร่วมกับ Almeida Lima พัฒนาการผ่าตัด nerve fibers ระหว่าง thalamus กับ prefrontal cortex ซึ่งได้รับการยอมรับและเผยแพร่ จนทำให้ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันในปี 1949 Dr. Egas Moniz และเสียชีวิตในปี 1955

Prof. Luc Picard ประสาทรังสีแพทย์และประสาทอายุรแพทย์ ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาทในประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มมีผลงานวิจัยตั้งแต่ปี 1968 และเป็นผู้ริเริ่มการจัดประชุมประจำปีของกลุ่มงานรังสีร่วมรักษาระบบประสาท ณ เมือง Val d’Isère ประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน The World Federation of Interventional and Therapeutic Neuroradiology ระหว่างปี 1993 – 1995




Prof.Pierre Lasjaunias ประสาทรังสีแพทย์ หัวหน้าหน่วย Neurosciences and Neuroradiology โรงพยาบาล Bictre Hospital แห่งเมือง Paris ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1998-2008 เบื้องต้นจบการศึกษาด้านกายวิภาค มีความสนใจใน blood supply to the brain and spinal cord และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านกายวิภาค เมื่อปี 1989 เป็นผู้ริเริ่มการอบรม the European Course in Neuroradiology ในปี 1983 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง the World Federation of Therapeutic Interventional Neuroradiology และยังเป็นผู้ริเริ่มการอบรม International Master's Degree for Interventional Neuroradiology ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัย Paris Sud ผลงานที่สำคัญอีกอย่างคือได้ร่วมเขียนหนังสือกับ Alex Berenstein แห่งโรงพยาบาล Beth Israel Hospital, New York และ Karel ter Brugge แห่งโรงพยาบาล Toronto Western Hospital เรื่อง the Surgical Neuroangiography ระหว่างปี 1987-92). และยังร่วมเขียนหนังสือกับ Karel Ter Brugge, ในเรื่อ Vascular Diseases in Neonates, Infants and Children ในปี 1997 และนับเป็นความสูญเสียอย่างมาก เมื่อท่านเสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 2008

Prof.In Sup Choi จบแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Seoul National University ประเทศเกาหลีใต้ในปี 1972 ได้รับ American Board of Radiology, ในปี 1980 และได้รับ Subspecialty Certification in Neuroradiology ในปี 1996, 2006 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยา จาก Tufts University School of Medicine ปัจจุบันทำงานอยู่ที่แผนกรังสีร่วมรักษาระบบประสาท แห่ง Lahey Clinic, Berlington รัฐ Massachusetts มีความเชี่ยวชาญในด้านการรักษาโรคทางหลอดเลือดสมองต่างๆ



Prof.Karel ter Brugge จบแพทยศาสตร์ จาก University of Utrecht Medical School ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับ Specialist Certificate in Diagnostic Radiology F.R.C.P.(C) ในปี 1975 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางรังสีวิทยาจาก Department of Radiology, University of Toronto ในปี 1993 และศาสตราจารย์ทางศัลยศาสตร์จาก Department of Surgery, University of Toronto ในปี 1998 ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยรังสีวิทยาระบบประสาทของโรงพยาบาล Toronto Western Hospital และเคยดำรงตำแหน่งประธานของ the World Federation of Interventional & Therapeutic Neuroradiology ระหว่างปี 1999-2001



Prof. Alejandro Berenstein จบการศึกษาแพทยศาสตร์จาก Universidad National Autonoma de Mexico ในปี 1969 และจบ American Board of Radiology ในปี 1976 และศึกษาแพทย์ต่อยอดด้าน Neuroradiology ที่ University Medical Center, New York ในปี 1976-78 โดยเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยรังสีร่วมรักษาระบบประสาทแห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยา , ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ ที่ Albert Einstein College of Medicineปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน Beth Israel's Hyman-Newman Institute for Neurology and Neurosurgery (INN) แห่งโรงพยาบาล Roosevelt hospital , New York City และได้เป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือ Surgical Neuroangiography

รังสีร่วมรักษาระบบประสาทในประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรก โดยนพ.อุดม โปษะกฤษณะ ประสาทศัลยแพทย์ ทำ cerebral angiography เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2486 โดยใช้วิธีผ่าตัดโดยตรง และเริ่มใช้วีธีการแทงเข็มผ่านผิวหนัง (direct puncture) ในปี พ.ศ. 2496 โดยทำที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมาตลอด ซึ่งต่อมาท่านได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนทางแผนกเอกซเรย์ พญ.ปรียา กาญจนัษฐิติ รังสีแพทย์ ซึ่งได้รับ American Board of Radiology ในปี 2507 เป็นผู้ริเริ่มทำ cerebral angiography ที่แผนกเอกซเรย์เอง ในพ.ศ. 2507 และทางแผนกเอกซเรย์ได้พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีขึ้น ใน พ.ศ. 2513 ได้มีการติดตั้ง biplane angiography ของบริษัท Philips และมีการใช้เครื่องฉีดสารทึบรังสีอัตโนมัติ จึงรับตรวจหลอดเลือดระบบประสาทให้แก่ผู้ป่วยของทางประสาทอายุรแพทย์ และ เมื่อท่านจบการศึกษาต่อยอดด้านรังสีวิทยาระบบประสาทจากประเทศนอร์เวย์ในปี 2515 จึงได้เริ่มใช้วิธี transfemoral cerebral angiography ในปี 2516

ในระหว่างนั้นทางรพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.รามาธิบดีได้เริ่มมีประสาทรังสีแพทย์ ได้แก่ พญ.นิตยา สุวรรณเวลา และนพ.รัชช สมบูรณ์สิน มาปฏิบัติงาน ตามลำดับ ส่วนทาง คณะแพทย์ฯ ศิริราช ได้มี พญ.วิยะดา ภู่พัฒน์ มาเพิ่มในปี 2519 และ นพ.สุทธิศักดิ์ สุทธิพงษ์ชัย ในปี 2521 และเริ่มงานด้าน interventional neuroradiology ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 โดยเป็นหัตถการอุดหลอดเลือด external carotid arteries ในผู้ป่วย nasopharyngeal angiofibroma และเริ่มรักษาผู้ป่วย CCF โดยการใช้ ligament balloon ในปีพ.ศ. 2528 และปรับมาใช้ Gold Valve balloon ในปีพ.ศ. 2531

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ได้เริ่มทำการรักษาโรค brain AVM ด้วย Glue embolization และได้มีการจัดอบรมระยะสั้นทาง interventional neuroradiology ร่วมกับ University of Paris Sud โดยเป็นความร่วมมือผ่านทางสมาคมความร่วมมือการแพทย์ฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งมี Prof.Pierre Lasjaunias มาทำการสอน ต่อจากนั้นงานด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาทก็ได้พัฒนาขึ้น มีประสาทรังสีแพทย์ศึกษาต่อในด้านนี้อีกหลายท่าน ซึ่งประจำอยู่ในคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และ รพ.ประสาท มีการรายงานความสำเร็จของการรักษาทั้งในระดับชาติและนานาชาติอยู่เสมอ รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรแพทย์ต่อยอดทางด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาทอีกด้วย

สรุป

รังสีวิทยาหลอดเลือดมีพัฒนการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1929 แต่ได้พัฒนาอย่างเด่นชันในช่วง 1950-80 และประสานกับการพัฒนาของระบบ IR suite ในปลาย 1980 ทำให้เกิดหัตถการขั้นสูงจำนวนมาก มีการขยายตัวในประเทศไทยและมีการรายงานผลความสำเร็จของการรักษาอย่างต่อเนื่อง

บรรณานุกรม
1. สุทธิศักดิ์ สุทธิพงษ์ชัย. รังสีร่วมรักษาระบบประสาท. พิมพ์ครั้งที่ 1 ; กรุงเทพฯ, 2550
2. Curtis W. Bakal. Advances in Imaging Technology and the Growth of Vascular and Interventional Radiology: A Brief History Journal of Vascular and Interventional Radiology 2003;14:855-860
3. Berenstein A., Lasjaunias P. and Ter Brugge K.G. Surgical Neuroangiography 2.2, 2ndEd. Springer Inc, Berlin, 2004 pp.1152-1181
4. Wolpert S.M. Neuroradiology Classics. AJNR 1999 : 20: 1752-1753
5. 2005 ASNR Honorary Member,
http://www.ajnr.org
6. Hurst R.W and Rosenwasser R.H. Interventional Neuroradiology:pp.288-292
7. Strother C.M. Interventional Neuroradiology. American Journal of Neuroradiology,2000; 21:19-24
8.
http://www.wikipedia.org

คำสำคัญ (Tags): #neuroradiology#ประวัติ
หมายเลขบันทึก: 251499เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 07:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท