หลักการการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติด้านรังสีวิทยาหลอดเลือด


ACR standard

หลักการการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดตามแนวทางวิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา

Implementation of ACR practice Guideline in Interventional Radiology Work


เอนก สุวรรณบัณฑิต ศศ.ม., วท.บ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต.หลักการการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดตามแนวทางวิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย.2551 ; 2(2) : 121-5


บทคัดย่อ

งานรังสีวิทยาหลอดเลือดที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายนั้นมิได้มีมาตรฐานที่ถือร่วมกันในระดับสากลมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามเมื่ออ้างถึงแนวทางปฏิบัตินั้น แนวปฏิบัติของวิทยาลัยรังสีวิทยาหลอดเลือดแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ถือได้ว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ควรศึกษาและประยุกต์ใช้ในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดของประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึงคำว่ามาตรฐานในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดนั้น มาตรฐานที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายนั้นมิได้มีมาตรฐานที่กำหนดเนื้องานลงไปอย่างชัดเจน หากแต่เป็นการประยุกต์ใช้มาตรฐานต่างๆ เข้ามาเพื่อจัดการระบบต่างๆ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน สำหรับประเทศไทยที่ต้องปฏิบัติตามของโรงพยาบาลก็คือมาตรฐานการประกันคุณภาพโรงพยาบาล ของสถาบันพัฒนาและรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Hospital accreditaion หรือ HA ซึ่งมีการกำหนดแนวทางการจัดการ และแนวทางการเลือกตัวชี้วัดผลการทำงาน หากแต่เมื่อเราสืบค้นไปยังพื้นฐานแนวความคิด ก็จะพบว่า HA นั้นเป็นการประยุกต์แนวคิดของการจัดการองค์การ เข้ากับแนวคิดของมาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลสากลของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Joint Commission International : JCI ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่โรงพยาบาลของไทยหลายแห่งให้ความสนใจ แต่ JCI สำหรับหน่วยงานรังสีวิทยาหลอดเลือดเองนั้นก็จะนำแนวคิดมาจากแนวทางปฏิบัติ (practice guideline for the performance ) ซึ่งออกโดยวิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American college of radiology : ACR) ดังนั้นหากสนใจที่จะพัฒนาหน่วยงานให้ได้มาตรฐานสากล ก็ควรที่จะศึกษาและประยุกต์แนวคิดของ ACR อย่างเข้าใจและมีการบูรณาการดังภาพที่ 1

 ผู้เขียนได้ประมวลแนวคิดของ ACR practice guideline ที่เกี่ยวข้องกับหัตถการทางด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ซึ่งออกมาทั้งหมด จำนวน 13 เรื่อง ได้พบประเด็นหลักที่ทาง ACR practice guideline สนใจ ได้แก่

1. การจัดการทีมงาน (team)
2. การจัดการระบบองค์การ (system)
3. การจัดการต่อผู้ป่วยนอก (outpatient)
4. การจัดการผู้ป่วยใน (inpatient)
5. การจัดการห้องตรวจและสิ่งอำนวยต่างๆ (facilities)
6. การจัดการข้อมูล (information)
7. การจัดการคุณภาพ (quality)

โดยหน่วยงานทางรังสีวิทยาหลอดเลือดสามารถมองการประยุกต์ใช้ ดังนี้

การจัดการทีมงาน (Team)

สำหรับงานรังสีวิทยาหลอดเลือด ทีมเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงให้เป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยมีรังสีแพทย์ด้านรังสีร่วมรักษาเป็นแกนกลาง โดยมีรังสีเทคนิคและพยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติงานและเตรียมการสิ่งต่างๆ โดยมีการร่วมทำงานกับทางวิสัญญี และในส่วนของสถาบันที่มีการเรียนการสอน จะต้องมีการเชื่อมโยงกับผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลการฝึกปฏิบัติอย่างใกล้ชิดอีกด้วย ดังภาพที่ 2

การจัดการระบบองค์การ (System)

สำหรับระบบในการให้บริการผู้ป่วยจะต้องมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทางรังสีร่วมรักษา โดยระบบที่สำคัญก็คือระบบฐานข้อมูลโรงพยาบาลและระบบฐานข้อมูลรังสีวิทยา ที่จะต้องประสานสอดคล้องกัน และยังมีระบบที่สำคัญก็คือระบบคลังอุปกรณ์ทางรังสีร่วมรักษา และระบบการเงินที่จะต้องมีความถูกต้องและเพื่อประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลทางรังสีร่วมรักษา ระบบฐานข้อมูลโรงพยาบาลในด้านห้องปฏิบัติการอื่นๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้ามีการเชื่อมโยงได้โดยตรง ดังภาพที่ 3

การจัดการต่อผู้ป่วยนอก (Outpatient)
หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดย่อมมีการพบผู้ป่วยในการตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาการจัดการผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ระบบที่สำคัญที่จะต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพก็คือระบบการให้คำปรึกษา (consultation) ก่อนการทำหัตถการ และระบบการติดตามผลการรักษา (follow up) เพื่อให้ได้ความครบถ้วนของการดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวม ดังภาพที่ 4

 

การจัดการผู้ป่วยใน (Inpatient)
เมื่อผู้ป่วยได้เข้าพักในโรงพยาบาลเพื่อการรักษา รังสีแพทย์และทีมจะต้องมีการเยี่ยมผู้ป่วย (ward visit) ในวันก่อนการทำหัตถการเพื่อสร้างความคุ้นเคยและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย และเมื่อเสร็จหัตถการจะต้องมีการเยี่ยมอีกครั้ง เพื่อติดตามอาการผู้ป่วย รวมไปถึงการให้คำสั่งแพทย์แก่ทางหอผู้ป่วยในการดูแลผู้ป่วยตลอดระยะเวลาของการอยู่พักในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังต้องมีการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อการดูแลต่อเนื่องที่บ้านอีกด้วย ดังภาพที่ 5

 

การจัดการห้องตรวจและสิ่งอำนวยต่างๆ (Facilities)
สำหรับการจัดการห้องตรวจ จะต้องมีการจัดห้องปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ หรือเรียกว่า Interventional radiology suite : IR suite ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการสร้างภาพระหว่างหัตถการ พื้นที่จะต้องมีการจัดการปลอดเชื้อ หรือกึ่งปลอดเชื้อ ในห้องตรวจจะต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพอย่างพร้อมเพียง คลังอุปกรณ์จะต้องมีอุปกรณ์ร่วมตรวจและวัสดุอุดหลอดเลือดต่างๆ สำรองและอย่างเพียงพอ และมีพื้นที่ในการพักรอดูอาการภายหลังจากเสร็จหัตถการก่อนที่จะส่งผู้ป่วยกลับยังหอผู้ป่วย และจะต้องมีการประสานกับระบบห้องผ่าตัดในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินและระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ต้องรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสอดคล้อง ทันต่อเวลา ดังภาพที่6

การจัดการข้อมูล (Information)

เป็นเรื่องสำคัญสำหรับความสมบูรณ์ของเวชระเบียน ซึ่งจะต้องให้แก่ผู้ป่วยเพื่อการเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจรับการทำหัตถการเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษา เนื่องจากหัตถการทางรังสีวิทยาหลอดเลือดมีความเสี่ยง ผู้ป่วยจะต้องได้รับข้อมูลทั่วไปของหัตถการนั้น รวมไปถึงข้อมูลเชิงเทคนิค และตัวเลือกทางการรักษาอื่นๆ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการให้ข้อมูลแล้ว จะต้องลงลายมือชื่อยินยอมรับการตรวจหรือการรักษานั้น ซึ่งอาจใช้ระบบกระดาษหรือระบบดิจิตอลก็ได้ ดังภาพที่ 7

การจัดการคุณภาพ (Quality)
การจัดการคุณภาพถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการในภาพรวมที่จะต้องประสานระบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติที่ดีเพียงพอตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่สามารถยอมรับได้ในการทำหัตถการ กระบวนการมาตรฐานที่ได้การนำมาใช้อย่างมาก ก็คือระบบการคัดเลือกผู้ป่วย (selection) และระบบประเมินผู้ป่วย (evaluation) เพื่อให้ผู้ป่วยที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับหัตถการนั้นและจะได้กำหนดการเตรียมตัวผู้ป่วยที่หอผู้ป่วย (preparation) อย่างถูกต้อง ซึ่งจะประสานสุดท้ายด้วยระบบขานนอกเวลา (time out) ก่อนเริ่มทำหัตถการ ซึ่งจะยืนยันความถูกคน ถูกตำแหน่ง และถูกหัตถการ และจะทำให้การดูแลผู้ป่วยตลอดหัตถการเป็นไปอย่างเหมาะสม ครบถ้วน มีการตรวจวัดสัญญาณชีพ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการบันทึกทุกขั้นตอนไว้อย่างครบถ้วนเพื่อเป็นหลักฐาน การจัดการทั้งหมดนี้อย่างคงเส้นคงวาจึงจะสามารถเป็นมาตรฐาน
ได้ ดังภาพที่ 8

เมื่อประยุกต์แนวคิดและนำใช้มาตรฐานใน 7 ประเด็นแล้ว หน่วยงานจะต้องแสดงผลการปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการนำเสนอตัวชี้วัดหรือสถิติหลักของหน่วยงาน ข้อมูลที่สำคัญก็คืออัตราความสำเร็จของหัตถการ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การนำเสนอจะต้องนำเสนอผ่านกราฟ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายและพิจารณาแนวโน้มในอนาคตได้อีกด้วย อาจแสดงได้ดังภาพที่ 9

 

บรรณานุกรม

1. The american college of radiology. ACR Practice Guideline, http://www.acr.org

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #quality#คุณภาพ#รังสี
หมายเลขบันทึก: 251501เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท