การดูแลผู้ป่วยที่มาตรวจ CT Angiography


CTA

การดูแลผู้ป่วยที่มาตรวจ  CT Angiography

Nursing Cares for CT Angiography patient

                                                          พรรณี   สมจิตประเสริฐ     พย.บ.

แผนกเอกซเรย์ รพ.เจ้าพระยา

 

พรรณี   สมจิตประเสริฐ.  การดูแลผู้ป่วยที่มาตรวจ  CT Angiography. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553; 4(1) : 6-8

การตรวจหาความผิดปรกติของหลอดเลือดในร่างกาย   มีการตรวจได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจด้วยเครื่อง ultrasound (color doppler),  การตรวจ angiography, การตรวจ MRA การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (CT Angiography)  หรือการตรวจดูหลอดเลือดหัวใจของสาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า ธัลเลี่ยม เพอร์ฟิวชั่น ซึ่งแต่ละการตรวจสามารถสร้างภาพเพื่อดูหลอดเลือดได้ดีใกล้เคียงกัน แต่ก็มีข้อดี และข้อจำกัดในการตรวจแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

การตรวจหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (CT Angiography  )  เป็นวิธีการตรวจหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดได้ทุกส่วนของร่างกายได้แก่ Cerebral artery, Aorta, Coronary artery, Pulmonary artery, hepatic artery, Renal artery  และหลอดเลือดของแขน ขา เป็นต้น  การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถสร้างภาพและวินิจฉัยโรคได้ดีและแม่นยำไม่แพ้การตรวจด้วยวิธีอื่นๆ   แต่อัตราการเสี่ยงต่ำกว่าการตรวจโดยการสวน catheter เข้าหลอดเลือดโดยตรง (Angiography) หลังการตรวจผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ ดังนั้นการตรวจด้วยวิธีจึงเป็นที่นิยมของแพทย์ทั่วไป

ผู้ป่วยที่จะตรวจด้วยวิธีนี้ต้องได้รับการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อม  ได้แก่ การงดอาหารและน้ำทางปากก่อนการตรวจ 4-6 ชั่วโมง  เจาะเลือดส่งห้องปฏิบัติการทางเคมีเพื่อหาค่าของ BUN และ Creatinine   ผู้ป่วยต้องเซนยินยอมรับการตรวจ ถ้าผู้ป่วยเซนเองไม่ได้ต้องให้ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ตามกฎหมายเซนต์แทน  

พยาบาลที่ปฏิบัติงานห้อง CT scan  เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมตรวจ  การดูแลและให้การพยาบาลผู้ป่วยก่อน  ขณะ และภายหลังการตรวจ  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง  รวดเร็ว ไม่มีภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานห้องนี้ต้องได้รับการฝึกฝนความรู้และทักษะเป็นอย่างดี  เกี่ยวกับโรคและการพยาบาลเฉพาะทาง  การประเมิน การคัดกรองผู้ป่วยถึงความเร่งด่วนในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัย มีความรู้เกี่ยวกับ สารทึบรังสี การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการแพ้สารทึบรังสี ที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงผู้มีอาการแพ้รุนแรง  รวมทั้งการเตรียมยา และอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ครบและพร้อมใช้ตลอดเวลา ควรมีแผนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการแพ้สารทึบรังสีติดให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเห็นชัดเจน  รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปรกติ ที่มารับการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่อง CT scan เป็นต้น

          ในขณะทำการตรวจผู้ป่วยส่วนมากจะมีความกลัว มีความวิตกกังวล พยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านนี้ควรเข้าใจ อธิบายวิธีการตรวจที่เข้าใจง่าย และการปฏิบัติตัวขณะรับการตรวจให้ผู้ป่วยทราบ  เพื่อให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการตรวจ การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การพูดคุยขณะให้การพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยมีความอุ่นใจ และคลายความกลัว ความวิตกกังวลลงได้ .ในขณะทำการตรวจพยาบาลต้องเฝ้าระวัง ประเมินอาการและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ การหายใจ หรือภาวะที่มีการแพ้สารทึบรังสีหรือสารทึบรังสีอยู่นอกหลอดเลือด (leakage of contrast media) ถ้าพบเห็นอาการไม่พึ่งประสงค์ใดๆเกิดขึ้นจะได้ให้ความช่วยเหลือ และรีบให้การพยาบาลได้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนเป็นต้น

          ภายหลังการตรวจควร observe ดูอาการผู้ป่วย  15-30 นาที  และตรวจเชคสัญญาณชีพ  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้สารทึบรังสี และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ก่อนออกจากห้องตรวจ  และแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับสารทึบรังสีออกทางปัสสาวะโดยเร็ว

          การเขียนบันทึกทางการพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญ  พยาบาลที่ปฏิบัติงานในห้องนี้ต้องเขียนบันทึกทางการพยาบาลโดยละเอียดเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆให้ทราบ  และเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่าผู้ป่วยปลอดภัยดีไม่มีภาวะ
แทรกซ้อนใดๆ ขณะมารับการตรวจ  หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ได้แก่มีการแพ้สารทึบรังสีรุนแรง รวมทั้งได้รับการรักษา แก้ไขภาวะฉุกเฉินอย่างไรบ้าง ยาที่ผู้ป่วยได้รับมีอะไร ขนาดเท่าไรเป็นต้น

 

บรรณานุกรม 

1.  กฤษฎี ประภาสะวัต, วลัยลักษณ์ ชัยสูตร, อภิญญา เจริญศักดิ์. รังสีวินิจฉัย Diagnostic Radiology. ทีซีจี พรินติ้ง, กรุงเทพฯ; 2546.

2. นรา แววศร. รังสีร่วมรักษา. เรือนแก้วการพิมพ์, กรุงเทพฯ ; 2530.

3.  ร่มไทร สุวรรณิก,ฤดี ปลีหจินดา.ความสำเร็จใน 50 ปี ของเวชศาสตร์นิวเคลียร์. ใน Excellent Medical practices For Better Quality of Live. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.ชวนพิมพ์,  กรุงเทพฯ ;2548

4.  สมจิต หนุเจริญกุล และ อรสา พันธ์ภักดี.( 2553) การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง : บูรณาการสู่การปฏิบัติ.  สำนักพิมพ์จุดทอง, กรุงเทพฯ ; 2553

คำสำคัญ (Tags): #CTA#nursing care
หมายเลขบันทึก: 420230เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท