บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา


Interventional Radiology Nurse

บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา

Role of Interventional Radiology Nurse

พรรณี สมจิตประเสริฐ         พย.บ.

นันทา เกียรติกังวาฬไกล     พย.บ.

เกิดศิริ ธรรมนำสุข             พย.บ.

 

พรรณี สมจิตประเสริฐ, นันทา เกียรติกังวาฬไกล และ เกิดศิริ ธรรมนำสุข. บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550, 1(1) : 4-8

บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา เป็นหัวข้อที่มีการพูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษามีการปฏิบัติงานจริงใน 2 รูปแบบ นั้นคือรูปแบบที่ 1 มีรังสีเทคนิคเพียงวิชาชีพเดียว และ รูปแบบที่ 2 มีทั้งรังสีเทคนิคและพยาบาล ซึ่งรูปแบบที่ 2 นี้เป็นรูปแบบที่ใช้สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ดำเนินงานด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริการทางพยาบาลควบคู่ไปกับการให้บริการทางรังสี โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง อย่างไรก็ตามด้วยมาตรฐานการประกันคุณภาพโรงพยาบาลฉบับฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีนั้น ให้ความสำคัญต่อกระบวนการในการรักษาพยาบาลอย่างยิ่ง จึงเป็นสิ่งที่เพิ่มความสำคัญของพยาบาลในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาขึ้นไปกว่าเดิม ทางชมรมฯ ได้พิจารณาถึงความสำคัญนี้ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชาชีพและการปฏิบัติงาน จึงได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของพยาบาลในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาขึ้น โดยแบ่งออกได้เป็น 10 งานหลัก ดังนี้

1 การประสานงานและการนัด

หมาย (coordination and schedule) พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการประเมินผู้ป่วยเพื่อการนัดหมาย การประสานงานกับทีมงาน อันได้แก่ รังสีแพทย์ รังสีเทคนิค เพื่อกำหนดการนัดหมายในการทำหัตถการ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องอาศัยการดมยา (general anesthesia) ในการทำหัตถการ พยาบาลก็จะต้องประสานงานกับทางวิสัญญีแพทย์และทีม เพื่อให้เกิดการเข้าใจในข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วย และประสานงานกับพยาบาลของหอผู้ป่วยเพื่อการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการตรวจที่ถูกต้อง

2 การประสานงานและการให้

ข้อมูล (coordination and information) พยาบาลมีบทบาทในการประสานงานกับพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเพื่อให้ข้อมูลและแนะนำการเตรียมตัวผู้ป่วย การตรวจสอบซ้ำเพื่อการเตรียมตัวที่ถูกต้อง การกำหนดเวลาที่แน่ชัดในการตรวจ และให้คำแนะนำอื่นๆ แก่พยาบาลประจำหอผู้ป่วยอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกับรังสีแพทย์และทีมงานในด้านข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญของผู้ป่วย ผลเลือดที่จำเป็น เวลานัดหมายที่แน่ชัด การติดตามผู้ป่วยมาตรวจตามเวลา รวมไปถึงการประสานงานกับทีมวิสัญญีแพทย์เพื่อการดูแลทางการพยาบาลที่มีความพร้อมเพียงแก่ผู้ป่วย

3 การให้ข้อมูลการเตรียมตัวก่อนตรวจแก่ผู้ป่วย (patient preparation information) พยาบาลจะต้องแนะนำผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเพื่อการเตรียมตัวผู้ป่วยซึ่งผู้ป่วยจะต้องงดน้ำ และอาหาร (NPO) อย่างน้อย 4-6 ชม. การเตรียมโกนขนที่บริเวณขาหนีบ (skin preparation) รวมไปถึงการนัดแนะเวลาในการมาถึงห้องตรวจเพื่อความตรงต่อเวลา

4 การจัดเตรียมอุปกรณ์การ

ตรวจ (operation set preparation) พยาบาลยังมีหน้าที่ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักก็คือการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการตรวจ การจัดเตรียมอุปกรณ์ปลอดเชื้อ การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายสวนหลอดเลือด ขดลวดนำ และอุปกรณ์อื่นๆ ตามคำสั่งของแพทย์เพื่อความง่ายต่อการเปิดใช้ในระหว่างการตรวจ ซึ่งมี 2 ส่วนที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ส่วนที่ปลอดเชื้อ (sterile zone) อันได้แก่โต๊ะวางอุปกรณ์ปลอดเชื้อ ผ้าปลอดเชื้อ เสื้อแพทย์และอื่นๆ  และส่วนกึ่งปลอดเชื้อ (semi-sterile zone) ที่จะต้องระวังไม่ให้เกิดการปนเปื้อนต่อกัน ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสี ฉากตะกั่ว เตียงตรวจ เป็นต้น

5 การดูแลผู้ป่วยก่อนการทำ

หัตถการ (pre-operation care) เมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องตรวจ โดยมาตรฐานการพยาบาลจะต้องมีการจำแนกผู้ป่วย (patient identification) และประเมินผู้ป่วย (patient assessment) ก่อนการตรวจเพื่อความถูกต้อง มีการรับข้อมูลจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วย และตรวจสอบผลเลือดที่จำเป็นต่างๆ เช่น ค่า Creatinine , BUN, Coagulogram หรือ liver funtion ต่างๆ เพื่อรายงานต่อรังสีแพทย์ทราบเพื่อการบริหารจัดการก่อนหรือระหว่างหัตถการได้อย่างถูกต้อง พยาบาลยังต้องทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจเพื่อความเข้าใจแก่ผู้ป่วย และต้องมีการให้ผู้ป่วยลงลายมือชื่อในใบอนุญาตทำหัตถการ (consent) เพื่อความถูกต้องเชิงจริยธรรมและกฎหมาย  หลังจากนั้นจึงนำผู้ป่วยขึ้นนอนบนเตียงตรวจ และจัดการติดอุปกรณ์เพื่อวัดสัญญาณชีพต่างๆ (monitoring machine) เพื่อจะต้องตรวจสอบสัญญาณชีพ (vital sign) ของผู้ป่วยได้

6 การดูแลระหว่างการทำ

หัตถการ (peri-operation care) พยาบาทมีบทบาทสำคัญในการให้การพยาบาลระหว่างการทำหัตถการ โดยอาจทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจ ซึ่งมีสิ่งที่ต้องระวังตามแนวทางการเฝ้าระวังทางการแพทย์ (surveillance) ซึ่งได้แก่ การป้องการกันติดเชื้อ (infectious control) , การป้องกันอันตรายจากรังสี (radiation protection) ให้แก่ตนเอง ผู้ร่วมงานและผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น หากผู้ป่วยไม่ได้ดมยา มีสติดีระหว่างการตรวจ พยาบาลจะต้องคอยบอกกล่าว ปลอบใจเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดการตื่นกลัวการตรวจ (psycho-support) ในขณะเดียวกันก็จะต้องคอยตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา อีกงานหนึ่งก็คือการส่งต่ออุปกรณ์แก่รังสีแพทย์ ซึ่งอาจมองออกเป็น 2 ส่วนคือ scrub nurse และ circulation nurse ก็ได้ขึ้นกับระบบการทำงาน พยาบาลอาจต้องให้ยาบางตัวตามคำสั่งแพทย์ (medication) และหากผู้ป่วยเกิดอาการช็อค พยาบาลจะต้องช่วยในการฟื้นคืนชีพได้ (CPR) และสุดท้ายในกระบวนการก็คือการจดบันทึกลงใน nursing document เพื่อส่งต่อข้อมูลต่างๆ ระหว่างการทำหัตถการแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป

7 การดูแลภายหลังการทำ

หัตถการ (post-operation care) ภายหลังการทำหัตถการ พยาบาลอาจต้องทำหน้าที่กดแผลเพื่อห้ามเลือด และเมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวดี พยาบาลจะต้องพิจารณาสัญญาณชีพอีกครั้ง พร้อมทั้งต้องให้ข้อมูลการดูแลตนเองหลังการตรวจแก่ผู้ป่วย (post operatation patient information)  และเมื่อพยาบาลประจำหอผู้ป่วยมารับผู้ป่วย พยาบาลจะต้องให้ข้อมูลที่สำคัญของการตรวจ อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงอาการที่ต้องคอยสังเกตเพื่อเฝ้าระวังแก่พยาบาลประจำหอผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยภายหลังการตรวจของผู้ป่วย (patient turn key)

8 การดูแลในคลินิกให้คำปรึกษา (consult clinic) ซึ่งเป็นส่วนงานเพิ่มเติมที่สำคัญสำหรับติดตามดูแลอาการของผู้ป่วยภายหลังการทำหัตถการ ซึ่งจะมีการติดตามอาการทางคลินิก ซึ่งอาจเป็นที่ 1 เดือน, 3 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งพยาบาลจะต้องติดตามข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยมาเตรียมพร้อมไว้เพื่อให้รังสีแพทย์ได้วิเคราะห์ข้อมูลและสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยได้ หากผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง พยาบาลก็จะต้องจดบันทึกแผนการรักษาไว้ จัดการนัดหมายอาจให้มีการลงลายมือชื่อเพื่อการทำหัตถการไว้ล่วงหน้าก่อน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งต่อสู่ระบบนัดหมายอย่างถูกต้องต่อไป

9 การจัดการระบบคลัง (logistic) พยาบาลจะต้องคอยดูแลระบบคลังอุปกรณ์ คลังยา และคลังวัสดุสำหรับการทำหัตถการให้พร้อมใช้ รวมไปถึงการจัดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่า (material utilization) และติดต่อกับแผนกจัดซื้อเพื่อวางแผนการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้มีภาวะคงคลังที่เหมาะสม

10 การจัดเก็บค่าตรวจ (billing) เมื่อเสร็จการทำหัตถการ พยาบาลจะต้องพิจารณารายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ในหัตถการให้มีความถูกต้อง เพื่อส่งต่อแก่ฝ่ายจัดเก็บค่ารักษาเพื่อคำนวณค่าทำหัตถการ ซึ่งหากทางหน่วยงานจัดเก็บเอง จะต้องมีการดูแลด้านการจ่ายเงิน รวมไปถึงการแจ้งหนี้ไปยังหอผู้ป่วยให้มีความถูกต้อง ไม่เกิดความผิดพลาดได้

จากบทบาทและหน้าที่ 10 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่าพยาบาลมีบทบาทและหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งต่องานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ดังนั้นจึงเป็นที่หวังว่าพยาบาลที่ทำงานนี้อยู่จะมีความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะที่หลากหลาย เช่นเดียวกับพยาบาลห้องผ่าตัดอื่นๆ การนี้จะต้องมีการประสานเชื่อมโยงระหว่างกันข้ามหน่วยงาน องค์กร เพื่อให้เกิดการรวมตัว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ วิชาการ และประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #intervention#nurse
หมายเลขบันทึก: 420298เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยู่รพ.มน.ค่ะ(โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก)ตอนนี้อาจารย์แพทย์มีโครงการจะจัดตั้ง Intervention unit ค่ะ ในบทบาทของพยาบาลต้องมีหน้าที่อย่างไรบ้างค่ะ ต้องไปเรียนเฉพาะทางรังสีวิทยาก่อนรึเปล่า รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ

สภาการพยาบาลได้อนุมัติหลักสูตรพยาบาลรังสีร่วมรักษาแล้วตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งตอนนี้ ฝ่ายการพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช รามาฯ กำลังดำเนินการเพื่อจะเปิดอบรมในหลักสูตรนี้ เพื่อให้ได้รับความรู้และสามารถให้การดูแลผู้ป่วยเฉพาะได้อย่างถูกกฎหมายตาม พรบ

ความรู้ที่จะสอนครอบคลุมเนื้อหาด้านรังสีวิทยา และรังสีร่วมรักษา รวมไปถึงส่วนเฉพาะอันได้แก่การให้การพยาบาลด้วย

ทางสมาคมจะเปิดหลักสูตรพยาบาลรังสีร่วมรักษาเมื่อไรคะ สนใจมากคะ่

คาดว่าทางรามาจะเปิดอบรมเร็วๆนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท