จริยธรรมของรังสีเทคนิคเฉพาะทางรังสีร่วมรักษา


Ethic

จริยธรรมของรังสีเทคนิคเฉพาะทางรังสีร่วมรักษา 

Ethic of Interventional radiology radiologic technologist

เอนก สุวรรณบัณฑิต  วท.บ., ศศ.ม., ปร.ด.(กำลังศึกษา)
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต. จริยธรรมของรังสีเทคนิคเฉพาะทางรังสีร่วมรักษา. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553 ; 4(1) : 55-64  

 

จริยธรรมเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากใน 2-3 ปี มานี้ จนกระทั่งรัฐบาลได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงมีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมและบังคับใช้ในหน่วยงานนั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและคลุมเครือกับกฎบริหารทรัพยากรบุคคลที่ใช้กันอยู่ สิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงถึงจึงอยู่ที่ว่าจริยธรรมคืออะไร ปฏิบัติอย่างไรให้บรรลุได้ และในแต่ละสาขาอาชีพต้องทำแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร สำหรับนักรังสีเทคนิคก็มีประมวลจริยธรรมวิชาชีพอยู่ สิ่งที่ต้องคิดกันขณะนี้ก็คือเราจะวิเคราะห์ (analysis) วิจักษ์ (appreciation) และวิธาน (application) กันอย่างไร โดยเฉพาะนักรังสีเทคนิคเฉพาะทางรังสีร่วมรักษาซึ่งเป็นสาขาย่อยลงไปอีกชั้นหนึ่ง แต่เนื้องานมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรงกว่านักรังสีเทคนิคในสายรังสีวินิจฉัยทั่วไป

 

นิยามของจริยธรรม

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้กำหนดความหมายของคำดังต่อไปนี้

มาตรฐาน หมายถึง สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์ที่รับรองกันทั่วไป     

คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดี

จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ ศีลธรรม

มาตรฐานทางคุณธรรม  หมายถึง สิ่งที่ต้องถือเอาเป็นหลักเทียบทางสภาพคุณงามความดี ทั้งที่อยู่ภายในจิตใจ และที่แสดงออกทางกิริยาที่ควรประพฤติที่คนในสังคมนั้นองค์การนั้น หรือส่วนราชการนั้น ได้ยอมรับนับถือกันมา หรือได้กำหนดร่วมกันขึ้นมาใหม่และประพฤติปฏิบัติร่วมกันยอมรับร่วมกันว่าข้อประพฤติอะไรเป็นสิ่งดี อะไรเป็นสิ่งชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ  

จริยธรรมวิชาชีพ เป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับกลุ่มวิชาชีพ เรียกว่า “จรรยาวิชาชีพ หรือ จรรยาบรรณวิชาชีพ” 

จริยธรรมในหน่วยงาน เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติสำหรับคนในองค์กรถูกกำหนดไว้เป็นระเบียบวินัยจะเห็นได้ว่ามาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ โดยแท้จริงแล้ว คือเรื่องเดียวกันนั่นเอง เพราะหมายถึง การนำจริยธรรมหรือความประพฤติที่เหมาะสมสำหรับบุคคลที่อยู่ในอาชีพใดอาชีพหนึ่งมาประมวลเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้บุคคลในกลุ่มอาชีพเดียวกันนั้น   ปฏิบัติตามเพื่อเป็นการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาชีพนั้น ๆ 

 

            คำว่า  จริยธรรม  มีผู้นิยามความหมายไว้หลายอย่าง  แต่เพื่อความเข้าใจชัดเจนควรศึกษาความหมายของคำอื่นที่ใกล้เคียงเกี่ยวข้องกับคำว่าจริยธรรมซึ่งได้แก่คำว่าจริยศาสตร์  จริยศึกษาและ ศีลธรรม    เพราะคำเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด  และบางครั้งก็มีผู้นำมาใช้แทนกัน  โดยมีความหมายเหมือนกันและต่างกัน ดังนี้

 

จริยศาสตร์        เป็นคำผสมของคำ 2 คำ คือ  จริย  กับ  ศาสตร์  โดยมีต้นกำเนิดของคำต่างกัน  และคำว่า 

- จริย  มาจากภาษาบาลี  แปลว่า ความประพฤติ  กิริยาที่ควรประพฤติ

- ศาสตร์ มาจากภาษาสันสกฤต  แปลว่า  วิชา

เมื่อนำคำสองคำนี้มาผสมกันจะได้นัยความหมายว่า วิชาที่มีเนื้อหาเรื่องความประพฤติ หรือสิ่งที่ควรประพฤติ  และจากการศึกษาความหมายของคำว่า  “จริยศาสตร์” ก็จะมีความหมายและเนื้อหาพาดพิงเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรมด้วย

 

จริยศึกษา    เป็นคำผสมของคำ2 คำ เช่นเดียวกัน  คือ  จริย  กับ  ศึกษา  โดยคำว่า

- จริย    มีความหมายอย่างเดียวกับข้างต้น

- ศึกษา มาจากภาษาสันสกฤต  แปลว่า  การเล่าเรียน  การฝึกฝน  การอบรม 

เมื่อนำมารวมเป็นคำเดียวกันจะมีความหมายว่า  การเล่าเรียนฝึกอบรมเรื่องความประพฤติเพื่อประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในแนวทางของศีลธรรม และวัฒนธรรมตลอดจนระเบียบกฎหมายของบ้านเมืองแห่งชุมชนและประเทศนั้นๆ               

 

ศีลธรรม เป็นคำผสมของคำว่า  ศีล  กับ  ธรรม  และมีความหมายว่า  กฎ   ข้อบังคับ  ระเบียบ  ตลอดจนหลักปฏิบัติทางศาสนาที่บุคคลพึงปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประกอบด้วยคุณธรรม 

 

ความหมายของคำว่า  ศีลธรรม  จะมีความหมายที่แตกต่างออกไปจาก  จริยศาสตร์  และ  จริยศึกษา  กล่าวคือ จริยศาสตร์   จะเน้นที่อุดมคติ  หรือทฤษฎีที่ควรปฏิบัติ   จริยศึกษา  จะเน้นที่การเล่าเรียน  กระบวนการเรียนรู้

 

ทั้งสองคำมีความหมายขยายความถึงศีลธรรมด้วย  ความเป็นคนดีมีศีลธรรมก็เป็นอุดมการณ์  อุดมคติของชีวิต  และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรศึกษาเล่าเรียนให้เกิดผลแก่ชีวิตอย่างจริงจัง  ส่วนเฉพาะของคำว่า  ศีลธรรม  ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความหมายในแง่ปฏิบัติ  และ ผลของการปฏิบัติ  ซึ่งคนที่มีศีลธรรมก็คือคนที่มีศาสนาอยู่ในใจนั่นเอง  คำว่า  ศีลธรรม  นี้มีความหมายใกล้เคียงหรือเหมือนกับคำว่า  “จริยธรรม” มากที่สุดอีกคำหนึ่งด้วย

 

ขอบข่ายของจริยธรรม    

            เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แจ่มแจ้งและชัดเจนยิ่งขึ้น  เราจะต้องทำความเข้าใจคำซึ่งอยู่ในขอบข่ายของ จริยธรรม  ดังนี้

จรรยา   หมายถึง  ความประพฤติ  กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ  เช่น  จรรยาครู  จรรยาตำรวจ ฯลฯ

จรรยาบรรณ  หมายถึง  ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น  เพื่อรักษา  และส่งเสริมเกียรติคุณ  ชื่อเสียง  และฐานะของสมาชิก

คุณธรรม หมายถึง  สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ  เช่น  ความเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จ  โดยหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นคุณธรรม  คุณธรรม คือ จริยธรรมที่ฝึกฝนจนเป็นนิสัย  เช่น ซื่อสัตย์  ขยัน  อดทน  เสียสละ  รับผิดชอบ

มโนธรรม หมายถึง  ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  ความรู้สึกว่าอะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ  เชื่อกันว่า มนุษย์ทุกคนมีมโนธรรม  เนื่องจากบางขณะเราจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจระหว่างความรู้สึกว่าต้องการทำสิ่งหนึ่ง  และรู้ว่าควรทำอีกสิ่งหนึ่ง

มารยาท  หมายถึง  กิริยา  วาจา  ที่สังคมกำหนดไว้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป

 

สำหรับผู้เขียนพิจารณาว่า คุณธรรมได้แก่ความประพฤติดีจนเคยชิน จริยธรรมคือชุดของคุณธรรม แต่ละคนมีชุดคุณธรรมต่างกัน กฎหมายคือข้อบังคับในจริยธรรมที่สำคัญว่าต้องทำ จรรยาบรรณคือจริยธรรมของวิชาชีพหนึ่งๆ เฉพาะวิชาชีพนั้น 

 

จริยธรรมเป็นผลประมวลของกรอบคิดทางปรัชญา วัฒนธรรม สังคม จิตวิทยาและค่านิยม โดยมีฐานสำคัญคือวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ดังนั้นในสถานที่ต่างกัน ยุคสมัยต่างกัน จริยธรรมย่อมแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม แอเริสทาเทิล (Aristotle ก่อน ค.ศ.384-322) ได้นำเสนอคุณธรรมแม่บท 4 ประการสำหรับการตัดสินใจกระทำ ได้แก่

  1. ความรอบคอบ (prudence) เป็นการคิดอย่างรอบคอบ รอบรู้ในด้านต่างๆ
  2. ความเข้มแข็ง (Courage) คือความกล้าหาญที่จะกระทำอย่างเข้มแข็ง
  3. ความพอเพียง (Temperance) มีระดับการกระทำไม่มาก ไม่น้อยเกินไป
  4. ยุติธรรม (Just) ตามมาตรฐานในยุคสมัย หรือมีความชอบธรรม

คุณธรรมแม่บทนี้อาจมองได้ว่าตรงกันกับฆราวาสธรรม 4 ได้แก่

  1. สัจจะ การรู้จริง ทำจริง
  2. ทมะ อดทน ไม่ย่อท้อต่อสิ่งรุกราน
  3. ขันติ อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยวน ทำอย่างพอเพียง
  4. จาคะ เสียสละ ไม่เห็นแก่ตน ทำตามความชอบธรรม

 

จริยธรรมตามมุมมองปรัชญาหลังนวยุค (postmodern philosophy) พิจารณารอบด้านระหว่างผลประโยชน์กับความถูกต้อง ในนวยุคมีแนวคิดจริยธรรมในหลายมุมมอง เช่น  เบนแธมชี้ถึงการมุ่งเน้นผลประโยชน์ การทำงานต้องคุ้มค่า ความถูกผิดเป็นเรื่องรองลงไป มิลล์ชี้ถึงการคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ความก้าวหน้าในภาพรวม เมื่อภาพรวมดี ผู้ปฏิบัติก็ย่อมต้องได้รับสิ่งตอบแทนที่ดีไปด้วย คานท์ชี้ถึงสำนึกในหน้าที่ที่มีมโนธรรม การเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น ช่วยคนอื่น แนวคิดหลังนวยุคมองทะลุผ่านตาข่ายของความคิดระหว่างผลประโยชน์กับความถูกต้อง โดยเน้นการนำส่วนดีจากแนวคิดของยุคสมัยต่างๆ มาใช้ โดยมุ่งเน้นการดูแลระหว่างกัน การผลิตที่มีคุณภาพ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน การทำกำไรโดยคำนึงถึงส่วนรวม การรู้จักหน้าที่ การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามจริยธรรมได้แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ (differance) ตามการปรับเปลี่ยนของสังคม ไม่มีข้อจำกัดที่แน่นอน แต่ต้องคิดใหม่อยู่เสมอในแต่ละยุคสมัย หรือสถานการณ์เป็นครั้ง ๆไป สิ่งสำคัญของจริยธรรมคือการสร้างมโนธรรมต่อเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เกิดการตัดสินใจต่อวิถีการกระทำดี  

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมมีหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่

  1. ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. จรรยาข้าราชการของส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หมวด 5 การรักษาจรรยาข้าราชการ
  3. การพัฒนาความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาล 30 ธ.ค.2551 นโยบายการบริหารจัดการที่ดี ข้อ 8.1.6 การสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และถูกต้องชอบธรรม

 

การจัดทำมาตรฐานจริยธรรม

แนวคิดการจัดทำมาตรฐานจริยธรรม เป็นการผลักดันเชิงนโยบายโดย สำนักงาน ก.พ. ในฐานะองค์กรกลางรับผิดชอบนโยบายการพัฒนาข้าราชการที่ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการประสานกิจกรรมด้านการส่งเสริมจริยธรรมและการเสริมสร้างราชการใสสะอาด ให้บังเกิดแก่หน่วยราชการทุกภาคส่วน  โดยได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมในการสร้างและพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดจริยธรรมหรือมาตรฐานความประพฤติเฉพาะแต่ละวิชาชีพขึ้นในระบบราชการอย่างกว้างขวางและทั่วถึงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สำนักงาน ก.พ. โดยศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ตระหนักถึงความสำคัญของจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรม และจริยธรรม   ทั้งในรูปแบบของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำคู่มือ และสื่อประเภทต่าง เพื่อเผยแพร่ให้กับส่วนราชการที่ยังไม่เคยจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมเกิดความเข้าใจ และได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวและสามารถนำไปปฏิบัติในหน่วยงานของตนได้

 

            สำหรับในสังคมไทยปัจจุบัน  การพัฒนาคุณธรรมยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่มากทั้งๆที่ทุกคนก็ต่างทราบว่า  สังคมมีปัญหาและบกพร่องในเรื่องนี้  แต่ก็ยังไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขคุณธรรมของตนเองอย่างจริงจัง  และไม่กล้าพูดหรือประกาศตนต่อหน้าสาธารณชนว่า  ตนเป็นผู้มีคุณธรรม  แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมาประณามว่า  ตนเป็นผู้ไม่มีคุณธรรม  ผู้ที่ได้รับการอบรมส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้มีคุณธรรมอยู่แล้ว  และเป็นผู้ที่ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม  แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ที่สร้างปัญหาให้กับสังคมกลับไม่มีโอกาสรับการอบรม

 

เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม และจริยธรรมได้รับความสำคัญเพิ่มยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นกลไกซึ่งจะขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ให้เป็นระบบที่สร้างประโยชน์เพื่อประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง   จึงได้มีแนวนโยบาย และการกำหนดเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายระดับต่างๆมาโดยตลอด  

 

การบริหารงานที่ดี (Good Governance)

 เมื่อพิจารณาตามแนวทางการบริหารงานที่ดี รังสีเทคนิคที่ดีทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อวิถีชีวิตของตนเองใน ๓ ระดับ คือ

  1. เกณฑ์จำเป็น การควบคุมตนเองให้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่รังสีเทคนิคที่ดีได้อย่างเต็มความสามารถ โดยละเมิดกฎ ระเบียบของวิชาชีพและกฎระเบียบของรัฐที่กำหนดให้รังสีเทคนิคทำหน้าที่ หากละเมิดกฎก็จะได้การลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่รัฐได้กำหนดไว้
  2. เกณฑ์เสริม สิ่งจำเป็นที่รังสีเทคนิคที่ดีทุกคนต้องปฏิบัติ คือ การปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตนได้ปฏิบัติตามที่จรรยาบรรณของรังสีเทคนิคได้กำหนดไว้ โดยระบบจะมีการประเมินสถานภาพตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ สำหรับผู้ที่ละเมิดจรรยาบรรณเมื่อตรวจสอบตามกฎระเบียบแล้วก็จะมีกฎการลงโทษ โดยไม่ให้สิทธิในการประกอบอาชีพหรือพักการประกอบวิชาชีพชั่วคราวหรืออาจได้โทษเพียงการว่ากล่าวตักเตือน
  3. เกณฑ์ส่งเสริม หากผู้ที่เป็นรังสีเทคนิค ต้องการหลักประกันที่ชัดเจนว่าตนเองได้ปฏิบัติตนอย่างไม่บกพร่องในกฎ ระเบียบของราชการ และจรรยาบรรณของรังสีเทคนิค  จึงยินดีเสียสละเวลาส่วนตนบางเวลาทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติงานราชการของตน เช่น การพัฒนาทักษะเฉพาะบางอย่างที่ใช้ในการปฏิบัติงานราชการที่ตนรับผิดชอบโดยเข้าร่วมกับสมาคมฯ  ชมรมฯ หรือมูลนิธิต่างๆ ของรังสีเทคนิค เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางของรังสีเทคนิคที่ดี   

 

จากเกณฑ์จำเป็น เกณฑ์เสริม และเกณฑ์ส่งเสริม รังสีเทคนิคในสาขารังสีวินิจฉัยและสาขาเฉพาะทางรังสีร่วมรักษาจะต้องพิจารณาจรรณยาบรรณวิชาชีพและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ (ที่มา: สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย http://www.tsrt.or.th) ดังนี้

ข้อบังคับ

  1. ข้อบังคับสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ฉบับปัจจุบัน

พระราชบัญญัติ

  1. พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542
  2. พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
  3. พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

พระราชกฤษฎีกา

  1. พระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 พ.ศ.2545

ระเบียบ กระทรวงสาธารณสุข

  1. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2547

ประกาศ

  1. เรื่อง สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ.2551

 

ในมุมมองจริยธรรมของวิชาชีพ ผู้เขียนเห็นว่าประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค เรื่อง สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2551 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 179 ง หน้า17-19 เป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพมากที่สุด โดยได้ระบุ ไว้ในมาตรฐาน 1 ว่าด้วยความเป็นวิชาชีพและความรับผิดชอบ ในข้อ 3 และ 4 ดังนี้

 

ข้อ 3 ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคต้องมีความเป็นวิชาชีพและตรวจสอบได้ ดังนี้

1) ปฏิบัติงานภายใต้กฎ ระเบียบ และจรรยาบรรณวิชาชีพ

ก) เข้าใจกฎหมาย ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ที่กำหนด และให้ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคถือปฏิบัติ

ข) เข้าใจถึงข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ และข้อแนะนำ ที่เป็นสากล

ค) เข้าใจในเรื่องสิทธิของผู้ป่วย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงบทบาทของตน ในการบริการทางรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

2) ปฏิบัติงานโดยเสมอภาค ไม่เลือกชั้นวรรณะ

3) รักษาความลับของผู้ป่วย

4) ร่วมจัดทำคำยินยอมของผู้ป่วยก่อนการตรวจทางรังสีที่จำเป็น

5) รู้ถึงข้อจำกัดในการให้บริการ

ก) สามารถประเมินสถานการณ์ ลักษณะและระดับความรุนแรงของปัญหาและปรึกษาผู้รู้และมีประสบการณ์มากกว่าเพื่อแก้ปัญหานั้น

ข) สามารถประเมินวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

6) สามารถบริหารจัดการภาระงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7) ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้และทักษะอย่างสม่ำเสมอ

8) เข้าใจถึงความจำเป็นในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพ

9) แสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคในสถานที่ปฏิบัติงาน

 

ข้อ 4 ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคต้องมีความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ ต่อผู้ร่วมงานและผู้รับบริการดังนี้

1) รู้ถึงขอบเขตวิชาชีพและขอบเขตการให้บริการของตนเอง

2) ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ร่วมวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้รับบริการอื่นได้

ก) ปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ

ข) แนะนำความเห็นทางวิชาชีพแก่ผู้ร่วมงาน

ค) เข้าใจถึงความจำเป็นในการนัดหมาย การเตรียมผู้ป่วย และการให้คำแนะนำในการตรวจแก่ผู้ป่วย ผู้รับบริการ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อการวางแผน ประเมินการวินิจฉัย และการรักษา

ง) แปลผลข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติ และปรับปริมาณรังสีให้น้อยที่สุดเท่าที่ปฏิบัติได้

3) แสดงทักษะการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในการให้ข้อมูล คำแนะนำ และข้อคิดเห็นด้านวิชาชีพ แก่ผู้ร่วมงาน ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้รับบริการ

ก) เข้าใจถึงทักษะการสื่อสารที่มีผลต่อการประเมินผู้ป่วย และสามารถใช้ทักษะ การสื่อสารได้อย่างเหมาะสมตามอายุ การศึกษา และสภาพร่างกายและจิตใจ

ข) เข้าใจถึงการแสดงกริยาท่าทางและอื่น ๆ ที่เป็นการสื่อสารที่มิใช่การพูดซึ่งอาจมีผลกระทบทางศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อส่วนบุคคล และเศรษฐสถานะ

ค) เข้าใจถึงความสำคัญที่ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ป่วย และผู้รับบริการ เพื่อการตัดสินใจในการรับบริการ

4) เข้าใจถึงความต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาที่ให้บริการดูแลผู้ป่วย ผู้รับบริการ หรือผู้ใช้บริการ

ก) เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยรังสี หรือการตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี

ข) ใช้การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ผู้รับบริการ และผู้ใช้บริการให้เกิด การมีส่วนร่วม

 

ผู้เขียนมองโดยสรุปจรรยาบรรณของรังสีเทคนิค มีได้ 4 ระดับได้แก่ 

1. จรรยาบรรณต่อตนเอง

-         มีศีลธรรม(จริยธรรม) ประพฤติตนเหมาะสม

-         ใช้วิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาประโยชน์

-         มีทัศนคติที่ดีและพัฒนาตนเอง

2. จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน

-         สุจริต เสมอภาค ปราศจากอคติ

-         ปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ รวดเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้อง สมเหตุสมผล

-         ตรงต่อเวลา ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ

-         ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัดคุ้มค่า

3. จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงาน

-         ร่วมมือ ช่วยเหลือ แนะนำ

-         เอาใจใส่ดูแลลูกน้อง

-         สร้างความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่

-         สุภาพ มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์

-         ละเว้นการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

4. จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม

-         ให้ความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจสุภาพ อ่อนโยน

-         ประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป

-         ละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัย จากผู้มารับบริการจากผู้ที่ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค  

 

กลไกมโนธรรม 

            มนุษย์ทุกคนต่างมีแนวโน้มที่จะประพฤติปฏิบัติด้วยใจเสรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภายใน คือความเป็นตัวตน ทัศนคติต่างๆ และอิทธิพลภายนอกได้แก่ค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ ข้อกฎหมายต่างๆ โดยที่พิจารณาถึงการบรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งได้แก่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีนิยามต่างกันไปตามแต่ปรัชญาของผู้นั้นว่าเป็นระดับชาวบ้านหรือระดับของนักปราชญ์ การตัดสินใจแสดงพฤติกรรมนั้นจะต้องถูกต้องตามวิถีประชา เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมและบรรลุเป้าหมายเฉพาะกิจหนึ่งๆ ที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ ดังภาพ 1

 

 ภาพ 1 แสดงกลไกมโนธรรมของมนุษย์ 

แนวคิดมโนธรรมในทางปรัชญาจะเกิดขึ้นจากวิภาษวิธี (dialectic method) คือการถามตอบเพื่อหาความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังและสิ่งที่ค้ำประกันความเป็นจริงนั้น ดังนั้นหากจะตั้งคำถามกับรังสีเทคนิคโดยทั่วไปว่า ทำไมจึงมาทำงานทุกวัน โดยไม่โกงเวลางานหลายคนอาจตอบว่า เพราะต้องทำตามกฎของที่ทำงานที่ทุกคนต้องมาปฏิบัติงานตามเวลาที่กำหนด ลาพักผ่อน ลากิจ ลาป่วยได้ตามสิทธิ  เมื่อถามว่า ทำไมจึงต้องทำตามกฎ ทุกคนจะตอบเหมือนกันว่า เพราะไม่ต้องการถูกไล่ออกจากงาน ก็ถามต่อไปว่าทำไมจึงกลัวการถูกไล่ออกจากงาน ก็ตอบว่า กลัวว่าไม่มีเงินค่าจ้างมาใช้จ่ายในวิถีชีวิตประจำวันเพื่อตนเองจะได้มีความสุข ฉะนั้นแม้นว่าคำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่แตกต่างหลากหลายกันตามเป้าหมายของแต่ละคน และคำตอบส่วนมากที่ได้รับมักตอบว่า เพราะอาชีพรังสีเทคนิคเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทั้งในด้านรายได้ การครองชีพ และเป็นอาชีพที่ดีได้รับการยอมรับจากสังคม คำตอบเหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายเฉพาะกิจ เพราะเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในสังคม  ความมั่นคง ทั้งรายได้ การครองชีพและเป็นอาชีพที่ดีย่อมเป็นหลักประกันได้ว่าจะต้องมีชีวิตที่ดีได้อย่างมีความสุข โดยสรุปเป้าหมายสุดท้ายหรือเป้าหมายสูงสุดของการเป็นรังสีเทคนิคในฐานะมนุษย์แล้วก็คือ การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข หากจะถามต่อไปว่าทำไมจึงอยากให้ทุกคนมีความสุขและอื่นๆ ต่อไป ในที่สุดก็ลงเอยว่า เพื่อให้ตนเองมีความสุข หรือบรรลุเป้าหมายสูงสุดของศาสนาที่ตนเองนับถือ

สำหรับรังสีเทคนิคเฉพาะทางรังสีร่วมรักษาที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องด้วยหัตถการทางรังสีร่วมรักษาที่ต้องการความรู้ความชำนาญเฉพาะทางอย่างสูง การปฏิบัติตามจรรณยาบรรณวิชาชีพ คงไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุด หากแต่ต้องเสริมสร้างมโนธรรม และการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมเพื่อให้ได้การประพฤติดีที่แท้จริง และเสริมสร้างคุณค่าของวิชาชีพในวงการแพทย์และสาธารณสุขให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น

 

บรรณานุกรม

  1. กีรติ  บุญเจือ. คู่มือจริยศาสตร์ตามหลักวิชาการสากล.  ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ,กรุงเทพฯ, 2552
  2. รวิช ตาแก้ว. กลไกมโนธรรมของข้าราชการ. http://gotoknow.org/
    blog/teachingvirtue/134199
  3. คณะทำงานสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระแสง.จริยธรรม. www.prasangpolice.com
  4. สำนักงาน ก.พ. การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในภาครัฐ. www.ocsc.go.th
  5. สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย.www.tsrt.or.th
หมายเลขบันทึก: 433036เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2011 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท