หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สามเณร : เด็กชายที่ชายขอบสังคมไทย ตอนที่ ๑


ในขณะที่ยังมีเด็กชายจำนวนหนึ่ง ไม่มีโอกาสแม้จะเรียนหนังสือ และหากพวกเขาไม่ขวนขวายหาโอกาสนั้น ชีวิตเขาก็จะยิ่งตกขอบไปเรื่อย ๆ การเข้ามาบวชเป็น “สามเณร” เป็นช่องทางหนึ่งที่พวกเขาจะเข้าถึง “โอกาสทางการศึกษา” ได้เล่าเรียนหนังสือเพื่อที่จะได้เลื่อนฐานะทางสังคมของพวกเขาให้สูงขึ้น

ภาพของเด็กนักเรียนลูกคนชั้นกลางในเมือง ที่ตื่นเช้าขึ้นมาแต่งตัวไปเรียน กลางวันเรียนหนังสือที่โรงเรียน ตกเย็นกวดวิชา วันเสาร์-อาทิตย์ไม่กวดวิชาก็เล่นเกมทีวี ปิดภาคเรียนเข้า Summer camp ชีวิตไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนักนอกจากเรียนและเล่น คงเป็นที่ชินตาของใครต่อใครหลายคน

ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กชายจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีโอกาสแม้จะเรียนหนังสือ และหากพวกเขาไม่ขวนขวายหาโอกาสนั้น ชีวิตเขาก็จะยิ่งตกขอบลงไปเรื่อย ๆ การเข้ามาบวชเป็น สามเณร เป็นช่องทางหนึ่งที่พวกเขาจะเข้าถึง โอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเล่าเรียนหนังสือเพื่อจะเลื่อนฐานะทางสังคมให้สูงขึ้น

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก (ปอ.ปยุตโต) กล่าวไว้ว่า

...การศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ ทำหน้าที่อยู่ ๒ ประการ ประการแรก การศึกษาของคณะสงฆ์ทำหน้าที่เป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาท คือ ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหน้าที่นี้เป็นหน้าที่หลัก และประการที่สอง เป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในการศึกษา บทบาทด้านนี้เด่นชัดมาก แต่เพราะไม่มีการทำความเข้าใจและยอมรับกัน จึงกลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก...

...เพราะในสังคมไทยนั้น การศึกษามีความหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นเครื่องเลื่อนสถานะทางสังคม ชาวบ้านยากจน ลูกชาวไร่ชาวนาถิ่นห่างไกล ไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนฐานะในสังคมด้วยการศึกษาของรัฐ อย่างคนที่มั่งมีและอยู่ในถิ่นกลาง เขาก็เลยต้องอาศัยวัด ฉะนั้นวัดก็เลยมีลูกชาวบ้านมาบวชกันมาก อย่างนี้เราจึงเรียกว่าวัดได้ทำหน้าที่เป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาส...

แม้ว่าสิ่งที่ท่านเจ้าคุณฯ จะกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๑ ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย การบวชเรียนยังคงเป็นช่องทางของผู้ด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

จากการสำรวจนักเรียนโรงเรียนบาลีสาธิต วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า อาชีพของผู้ปกครองของสามเณรเป็นเกษตรกร ร้อยละ ๕๐.๕๑ และรับจ้างร้อยละ ๓๐.๓๐     รายได้ของผู้ปกครองต่อเดือน ระหว่าง ๑,๐๐๐ ๓,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๔๙.๑๑ ระหว่าง ๓,๐๐๐ ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๓๓.๗๓ ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาทมีถึงร้อยละ ๑๐.๐๖ และสูงกว่า ๕,๐๐๐ บาท มีเพียงร้อยละ ๑๒ เท่านั้น

ถ้าไม่ได้บวชผมคงไม่ได้เรียนหนังสือ

เป็นคำพูดจากสามเณรหลายรูปที่มีโอกาสได้พูดคุย

โรงเรียนพระปริยัติธรรมจึงเป็นแหล่งเดียวที่สามเณรซึ่งเป็นเด็กชายที่จะไขว่คว้าหาโอกาสให้ได้เรียนหนังสือ

....................................................................................................................

 

บาทวิถียามเช้าตรู่เช่นนี้ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝนที่ตกโปรยปรายต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อคืน สามเณรหลายรูปกำลังเดินฝ่าสายฝนเพื่อออกรับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยมผู้ใจบุญ ฝนตกเช่นนี้ภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตไม่มาก ทำให้สามเณรแก้วชัย มั่นใจว่าแม้จะต้องเดินฝ่าสายฝนอันหนาวเหน็บ แต่น่าจะมีอาหารเพียงพอสำหรับการขบฉันในเช้านี้

กลับจากบิณฑบาต รีบเปลี่ยนสบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) ด้วยความหนาวเหน็บ ชุดที่นุ่งห่มออกบิณฑบาตเปียกแฉะไปด้วยน้ำฝนถูกนำไปซักแล้วนำมาผึ่งไว้ในที่โล่งภายในอาคาร ผ้าที่นำมาผลัดใหม่ก็ยังแห้งไม่สนิท ด้วยฝนที่ตกพรำติดต่อกันมาหลายวัน เขามีผ้าสบง จีวรไม่กี่ผืน การนุ่งห่มผ้าที่มีคราบเชื้อราในหน้าฝนเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ

สามเณรแก้วชัย  แซ่ท้าว วัย ๑๙ ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปี ๑ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยาเขตเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของคณะสงฆ์

เขาอาศัยและเรียนอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง วัดที่ให้เขาพักพิงและเรียนหนังสือนั้นมีภิกษุสามเณรอยู่รวมกันกว่า ๔๐๐ รูป ทางวัดมีเพียงอาหารเพลเท่านั้นที่เลี้ยง ส่วนมื้อเช้าเป็นเรื่องที่เขาและภิกษุสามเณรรูปอื่นจะต้องช่วยตนเอง

ฝนตกอย่างไรก็ต้องออกไปบิณฑบาต ถ้าไม่ไปก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนฉัน วันไหนไม่ได้อาหารก็จะไม่มีฉัน รอฉันเพลครั้งเดียว

สามเณรแก้วชัย  แซ่ท้าว  เดิมเป็นเด็กชายชาวม้ง ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน อาศัยอยู่กับแม่และพี่สาว พ่อเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังจำความไม่ได้

ความลำบากของครอบครัวทำให้พี่สาวไม่ได้เรียนหนังสือ แม้ว่าในหมู่บ้านจะมีโรงเรียนประถมศึกษาตั้งอยู่ เพราะต้องออกไปทำไร่เป็นเพื่อนแม่ ในบรรดาพี่น้องสองคนเด็กชายแก้วชัยจึงเป็นคนเดียวที่ได้เรียนหนังสือ

เรียนยังไม่ทันจะจบชั้น ป.๖ ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดของโรงเรียนในหมู่บ้าน ก็ตามเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านที่ถูกชักชวนจากพระรูปหนึ่งไปบวชเป็นสามเณรเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี

ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไร เห็นเพื่อน ๆ ไปกันเยอะก็คิดสนุกตามเขาไป ตอนแรกแม่ไม่ให้ไปร้องห่มร้องให้ เพราะเป็นลูกชายคนเดียว แต่ก็ทนรบเร้าไม่ไหวจึงยอมให้ไป

อยู่ที่นี่ชีวิตไม่ลำบากนัก เช้ามีรถมารับไปบิณฑบาต นอกจากได้อาหารมาฉันแล้วก็ยังได้อาหารแห้งและเงินไว้จับจ่ายใช้สอย และเมื่อได้กลับบ้านปีละครั้งก็จะนำอาหารแห้งและเงินที่ได้จากการบิณฑบาตกลับไปให้แม่ที่อยู่บ้าน เขาเคยให้เงินแม่ถึง ๘๐๐ บาท เมื่อกลับไปบ้าน

แม้ความเป็นอยู่จะไม่ลำบาก เนื่องจากมีญาติโยมคอยให้ความอุปถัมภ์ปัจจัยสี่ แต่ในด้านการเรียนการสอนค่อนข้างมีปัญหา วัสดุการเรียนการสอนต่อนข้างขาดแคลน รวมทั้งห้องเรียนก็ไม่เพียงพอ ต้องไปนั่งเรียนใต้ต้นไม้บ่อยครั้ง ครูก็มีน้อยมาสอนบ้างไม่มาบ้าง

เรียนจนจบ ม.๓ สามเณรแก้วชัย ไม่ได้คิดจะลาสิกขาเหมือนเพื่อนคนอื่น เนื่องจากเขายังอยากจะเรียน แต่ฐานะทางบ้านไม่อำนวย หลังจากเขาไปเรียนไม่นานนักแม่ก็แต่งงานใหม่แล้วย้ายไปอยู่กับสามี พี่สาวที่มีคนเดียวก็แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่จังหวัดตาก ระยะหลังเมื่อเขากลับไปบ้านก็ไปอาศัยอยู่กับลุง ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยเหลือเขามากนัก

ผมไม่อยากกลับบ้าน กลับไปก็ไม่มีใคร

เขาย้ายมาอยู่ในวัดศรีโสดา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเรียนต่อชั้น ม.๔  ตามคำแนะนำของพระรูปเดิมที่พาเขาไปเรียนที่ จ.ปทุมธานี วัดแห่งใหม่แม้ความเป็นอยู่จะไม่สะดวกสบายเหมือนที่เดิม แต่สิ่งที่ชดเชยกันได้คือคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีกว่าแห่งเดิม ความเอาใจใส่ในด้านการศึกษาของเจ้าอาวาสและครูบาอาจารย์ ทำให้เขาเรียนจนจบ ม.๖ และได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาในที่สุด

ถ้าไม่ได้บวชคงไม่มีโอกาสได้เรียน คงจบอย่างมากแค่ ป.๖ และคงไม่มีใครส่งผมเรียนได้

....................................................................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 293364เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มายืนยันครับ
  • ถ้าไม่ได้บวช
  • คงไม่ได้เรียน
  • เมื่อได้เรียน
  • ก็จะทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
  • สมกับที่ได้เรียนครับ
  • เอาเณรน้อยหน้าตาดีมาฝาก
  • ฮ่าๆๆๆๆๆๆ
  • Khajittrainee1

     โรงเรียนพระปริยัติธรรม   เป็นการ "ขยายโอกาส"  หรือการ "สร้างโอกาส"  ทางการศึกษา อีกรูปแบบหนึ่ง

     ที่คุ้มค่า  และ   แก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างดี และ ตรงจุด ครับ

เจ้าตัวอ้วนที่บ้าน เช้าขึ้นมาก็ถามแม่ วันนี้มีอะไรกิน

อยากให้บวชเณรบ้างจัง จะได้รับรู้รสชาติการต้องพึ่งตัวเอง

 คนที่มานะเรียนด้วยตัวเอง เมื่อเติบใหญ่มักเป็นคนที่มีคุณภาพ ไม่เหมือนคนที่พ่อ-แม่บังคับให้เรียน ออกนอกลู่นอกทางเสียเยอะ

เช่นเดียวกันครับหนานเกียรติ ถ้าไม่ได้เรียน ปอเนาะ คงไม่ได้เรียนหนังสือ (โรงเรียน ฟัรดูอีน)

P อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ครับ

มายืนยันคล้ายกับว่าได้ผ่านประสบการณ์บวชเรียนมา ???

คนที่ผ่านการบวชเรียนในบ้านเรามีเยอะเลยนะครับที่ทำคุณประโยชน์ให้สังคม คงไม่ต้องเอ่ยชื่อ...

รัฐได้ประโยชน์เต็ม ๆ แต่ลงทุนน้อยมาก

สามเณรในรูปนอกจากน่าตาดีแล้วดูท่าทางมีแวว...ด้วยนะครับ

หน้าตาคุ้น ๆ นะนี่...

ขอบคุณที่เข้ามาทักทายและแสดงความเห็นครับ

.....

สวัสดีครับ P อ. small man

ถูกต้องที่สุดครับ โรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการ "ขยาย/สร้างโอกาส" ทางการศึกษา อีกรูปแบบหนึ่ง

สร้างคนให้สังคมให้ประเทศโดยไม่ได้รับการเหลียวแลทั้งรัฐและคณะสงฆ์

ดูผิวเผินเหมือนว่าคณะสงฆ์จะใส่ใจนะครับ แต่ไม่จริงเลย ทรัพยากรของสงฆ์ถูกนำมาใช้เรื่องการจัดการศึกษาน้อยมาก

วงการพระยังนิยมสร้างโบสถ์มากกว่าสร้างคนครับ

.....

สวัสดีครับ P พี่ ครู ป.1

เจ้าตัวอ้วนที่บ้าน หากได้มีโอกาสบวชเณรเพียงแค่ภาคฤดูร้อนสักปีละคร้ัง...จะเป็นการฝึกฝนพัฒนาตนที่หาไม่ได้จากระบบการศึกษาในปกติ

เพียงแต่ต้องเลือกสถานที่ที่จะส่งไป...

ถ้าต้องการคำแนะนำ เอ่ยปากมาเลยนะครับมิต้องเกรงใจ

พอจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง พอที่จะให้คำปรึกษาได้ครับ

.....

สวัสดีครับ P พี่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ผมมีเพื่อนและรุ่นพี่หลายคนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนา แต่ละคนศาสนาอยู่ในหัวใจจริง ๆ ครับ

ผมสนใจการเรียนรู้ศาสนาของพี่น้องมุสลิมมาก ว่าทำไมจึงสามารถถ่ายทอดให้ศาสนาเข้าไปอยู่ในหัวใจคนได้อย่างแนบแน่น

 

  • ว่าจะมาบอกลืมทุกที่
  • ต้องย่อภาพโดยใช้โปรแกรมนี่นะครับ
  • ย่อรูปภาพ

    http://gotoknow.org/blog/katti/255954

    ตกแต่งบล็อก

    http://gotoknow.org/blog/katti/199894

    ย่อรูปแต่งรูปพี่ดาวคนสวยใจดี

  • แล้วทำแบบนี้ การเอารูปขึ้น
  • ·     ไปที่เมนูของ muangmit

    ·     ไปที่ไฟล์อัลบัม

    ·     กดนำไฟล์ขึ้น

    ·     browse หาภาพจากเครื่อง

    ·     กดบันทึก

    ·     ไปที่บันทึก

    ·     กดแก้ไขบันทึก

    ·     ข้างล่างมีเขียนว่า

    ·     แทรกรูปภาพ

    ·     กดที่แทรกภาพ

    ·     จะเห็นภาพปรากฏ

    ·     กดที่ภาพ

    ·     ภาพจะไปอยู่ที่บันทึก

    ·     กดบันทึกเก็บ

    ·     เดี๋ยวจะตามมาดูนะครับ

P ขอบคุณครับ

เป็นแล้วครับ เยี่ยมชมภาพเฌวาได้เลยครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณโยมหนานเกียรติและผู้อ่านทุกท่าน

  • เมื่อยี่สิบปีเพื่อนพระจากนครสวรรค์ไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่วัดศรีบุญเรือง,วัดพระสิงห์และวัดอื่นๆ จำไม่ได้แล้ว
  • ต้องนำพริก เกลือ ปลาร้า หอม กระเทียม จากบ้านโยมมาทำอาหาร
  • บิณฑบาตต้องออกแต่ตีสี่-ตีห้า เพราะพระเณรเยอะ ออกช้ากว่านี้มีสิทธิ์อดข้าวเช้า
  • ไม่ทราบปัจจุบันปัญหานี้ยังมีหรือเปล่าหนอ
  • เด็กชายมีสิทธิ์ได้บวชเรียน แล้วเด็กหญิงละมีสิทธิ์บ้างไหมเอ่ย
  • สร้างคนเห็นผลช้า สังคมไทยยังนิยมสร้างวัตถุอยู่มาก
  • ต้องกลับมามองกันใหม่ให้จริงจังกว่านี้ ปัญญาทาน การสร้างความรู้ สร้างคนให้มีวิชาจำเป็นทุกยุคสมัยแต่คนไม่ค่อยเห็นหรอก.

เจริญพร

นมัสการครับท่านอาจารย์

ความเป็นอยู่ของพระเณรทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะครับ

ญาติโยมนิยม/ให้ความสนใจทำบุญกับพระเณรที่ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น

แต่เท่าที่ผมสังเกตุมาระยะห้าหกปีหลังนี้จำนวนพระเณรที่บวชเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

การบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่เคยมีนักเรียนเข้าสู่ ร.ร.พระปริยัติก็ลดลง โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้องส่งคนขึ้นไปหาเด็กชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลมาบวชเรียน

มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องปรับตัว เริ่มรับฆราวาสเข้ามาเรียน

แหะ แหะ ที่ท่านอาจารย์ถามเรื่องเด็กชายเด็กหญิงนี้คงหยอกกันเล่นใช่ไหมครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมและแสดงความเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท