หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สามเณร : เด็กชายที่ชายขอบสังคมไทย ตอนที่ ๒


หลายครั้งเขาต้องทนฉันอาหารบูดอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเส้นทางที่เขาไปบิณฑบาตนั้น จะมีแม่ค้านำอาหารใส่ถุงเป็นชุดแล้ววางจำหน่ายแก่ผู้มีจิตศรัทธาซื้อไปใส่บาตร ซึ่งบ่อยครั้งที่เขาได้อาหารบูดซึ่งเป็นอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในวันก่อน ๆ

     ภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกุฏิที่พักของสามเณร ๕ รูป ที่พวกเขาอยู่ร่วมกันมากว่า ๒ ปี

     เกือบเที่ยงคืนในขณะที่เพื่อน ๆ จำวัด (นอนหลับ) สามเณรบุญทอง  ราตรีอำไพ ยังคงอาศัยแสงสว่างจากเทียนเล่มเล็กอ่านหนังสือโดยไม่ใช้แสงไฟจากหลอดนีออนภายในห้อง ด้วยเกรงว่าจะรบกวนการนอนของเพื่อนร่วมห้อง การอ่านหนังสือเกือบถึงเที่ยงคืนเป็นกิจวัตรของเขา ซึ่งส่งผลให้การเรียนค่อนข้างดี เทอมที่ผ่านมาเขาทำเกรดเฉลี่ยได้ถึง ๓.๐๕ เป็นอันดับต้น ๆ ของห้อง

     สามเณรบุญทอง  ราตรีอำไพ เป็นชาวปกาเกอะญอ อายุ ๑๘ ปี มาจากบ้านหนองแดง ต.วัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีพี่น้อง ๔ คน เขาเป็นคนที่สาม บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ ๒ ปีก่อน หลังจากจบชั้น ม.๓ จากโรงเรียนขยายโอกาส ในตำบลที่เขาอยู่ โดยการแนะนำของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่จาริกเข้าไปเผยแพร่ธรรมในหมู่บ้าน

     สามเณรบุญทอง มีชีวิตที่ค่อนข้างลำบากไม่ต่างจากสามเณรรูปอื่น ๆ ที่มาอาศัยใบบุญวัดศรีโสดา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์

     แม่ผมตายเมื่อหลายปีก่อน พ่อก็เพิ่งมาตายเมื่อปีที่แล้ว ผมจะบวชเรียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบปริญญาตรี เพราะถ้าสึกออกไปก็คงไม่มีใครส่งผมเรียน พี่สาวก็แต่งงานแล้ว พี่ชายยังไม่มีงานทำ...

     แม้ว่าวัดศรีโสดาที่เอื้อเฟื้อเป็นทั้งที่พักและที่เรียน แต่วัดก็ไม่มีกำลังพอที่จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่างได้ เขาเองยังต้องพึ่งตัวเองในหลายเรื่อง ทั้งวัสดุอุปกรณ์การเรียนอย่างเช่นสมุด ปากกา ดินสอ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก เขาต้องหาเอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินจัดซื้อมาทั้งสิ้น

     เนื่องจากพ่อแม่ไม่มี พี่สาวแต่งาน         พี่ชายไม่มีงานทำ เขาจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใคร ดีที่ว่าการบิณฑบาตทุกเช้า บางครั้งญาติโยมนอกจากจะใส่อาหารแล้วก็ยังใส่เป็นเงินบ้าง

     ช่วงปิดภาคเรียนในขณะที่เพื่อน ๆ สามเณรรูปอื่นกลับบ้าน เขาเลือกที่จะไม่กลับบ้านแต่จะอยู่ช่วยทางวัดจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งหลังสิ้นสุดงานทางวัดก็จะมอบเงินให้จำนวนหนึ่งให้ แม้ไม่มากแต่ก็พอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นได้เกือบทั้งปี

     เนื่องจากวัดที่สามเณรบุญทองอาศัยอยู่ มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำอาหารเช้าเลี้ยงพระ เณรที่มีเกือบ ๔๐๐ รูปได้ การบิณฑบาตจึงเป็นเพียงช่องทางเดียวของเขาจะได้อาหารเช้ามาขบฉัน อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตก็ไม่แน่นอนบางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ วันไหนที่ไม่ได้ก็จะนำอาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาตเก็บไว้นำมาฉัน หากไม่มีก็ไม่ได้ฉัน รอไว้ฉันเพลครั้งเดียวที่ทางวัดจัดเลี้ยง

     หลายครั้งเขาต้องทนฉันอาหารบูดอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเส้นทางที่เขาไปบิณฑบาตนั้น จะมีแม่ค้านำอาหารใส่ถุงเป็นชุดแล้ววางจำหน่ายแก่ผู้มีจิตศรัทธาซื้อไปใส่บาตร ซึ่งบ่อยครั้งที่เขาได้อาหารบูดซึ่งเป็นอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในวันก่อน ๆ

     สามเณรบุญทองยังมีน้องชายอีกหนึ่งอาศัยอยู่กับพี่สาวคนโต ขณะนี้เรียนหนังสืออยู่ในหมู่บ้าน เขาเคยฝากอาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาตไปให้น้องบ่อย ๆ ปีหน้าจะจบ ม.๓ ก็จะชวนน้องมาบวชเรียนเช่นเดียวกับเขา เพราะหากไม่มาบวชเรียนเหมือนเขาก็คงไม่มีโอกาสได้เรียน

     เขาเป็นคนตั้งใจและมุมานะในการเรียน เมื่อถามถึงอนาคต

     ผมอยากเป็นครู อยากมีฐานะดี จะได้ช่วยพี่ช่วยน้อง...           

..........

 

     เสียงกริ่งดังจากอาคารสี่ชั้นภายในวัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อาคารดังกล่าวเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนบาลีสาธิต เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแก่พระภิกษุสามเณร

     สิ้นเสียงกริ่งสักครู่ภิกษุสามเณรทยอยเดินออกจากห้องเรียนลงมายังด้านล่างอาคาร บ้างก็เดินเข้าโรงอาหารที่อยู่ด้านหน้าทางด้านขวาของตัวอาคาร บ้างก็เลือกโต๊ะหินอ่อนใต้ร่มไม้ด้านหน้าอาคารด้านซ้าย เพื่อฉันภัตตาหารเพล

     สามเณรบันเทิง  กิจพูเฟื่อง สามเณรอุปการ  ปูแป สามเณรอดิสร  งามสกุลแก้ว และสามเณรปรีชา  ปู่ไหม นักเรียนชั้น ม.๕ และ ม.๖ นั่งล้อมวงที่ม้าหินอ่อนฉันอาหารที่ได้จากบิณฑบาตเมื่อเช้า

     สามเณรทั้ง ๔ รูป เป็นชาวปกาเกอะญอ อายุไล่เลี่ยกันมาจากบ้านเมืองน้อย ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทุกรูปจบชั้น ม.๓ ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดจากโรงเรียนในหมู่บ้าน

     ทั้ง ๔ รูปเรียนอยู่ชั้น ม.๕ และ ม.๖ สายวิทย์ - คณิตฯ ผลการเรียนค่อนขางดี หากพวกเขาไม่มีโอกาสบวชเรียน ศักยภาพด้านการศึกษาก็จะสิ้นสุดลง

     โชคดีที่พระสงฆ์ในหมู่บ้านเห็นศักยภาพนี้ จึงได้แนะนำให้มาบวชเรียนต่อ เดิมได้แนะนำให้ไปเรียนต่อที่วัดศรีโสดา แต่เนื่องจากพวกเขาต้องการเรียนสายวิทย์ฯ ซึ่งที่วัดศรีโสดาไม่ได้เปิดสอนสายนี้ จึงตัดสินใจมาเรียนที่โรงเรียนบาลีสาธิต วัดสวนดอก หลังจากมาสมัครแล้วทางโรงเรียนได้จัดให้ไปพักในวัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก ใช้เวลาเดินเท้าราว ๔๐ นาที

     พวกผมเดินมาโรงเรียนทุกวัน ตอนเช้าเดินมา ตอนเย็นก็เดินกลับ ใช้เวลาเดินประมาณ ๔๐ นาที เดินในเมืองไม่เหมือนกับเดินบนดอย ต้องคอยระวังรถ ต้องเดินหลบคน

     วัดที่เขาอยู่เป็นวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รอบวัดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านละแวกนี้มีกำลังเพียงพอที่จะอุปถัมภ์ปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ราว ๑๐ รูปอย่างไม่ขัดสนนัก

     เจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกันกับโรงเรียนบาลีสาธิตที่สามเณรทั้ง ๔ เล่าเรียนอยู่ จึงเป็นความโชคดีของเหล่าสามเณรที่เข้าอาวาสค่อนข้างเข้าใจและใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรภายในวัด

     แม้ว่าโรงเรียนจะไม่เรียกเก็บค่าเล่าเรียน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่พวกเขาต้องรับผิดชอบด้วยตนเองอีกหลายเรื่อง เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ที่นักเรียนจะต้องเสียเงินลงทะเบียนเทอมละ ๒๐๐ บาท

     เงินที่นำมาใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนทั้ง ๔ รูป ไม่ได้รับจากทางบ้าน ด้วยความขัดสนของครอบครัว พวกเขาต้องเก็บเล็กผสมน้อยเงินที่ได้รับจากการบิณฑบาตบ้าง จากการไปสวดศพบ้าง ในช่วงที่ไม่มีจริง ๆ หลวงพ่อใจดีก็จะให้การช่วยเหลือเป็นครั้งคราว

     หลวงพ่อใจดี เวลาไม่มีของไปขอก็ให้ บางครั้งจะกลับบ้านไม่มีเงิน หลวงพ่อก็ให้เงินเป็นค่ารถ

     สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน แม้ว่าครูบาอาจารย์จะเอาใจใส่อย่างดี แต่ด้วยความขัดสนหลายประการทำให้เขาได้เรียนรู้ไม่เต็มที่นัก

     อาจารย์เอาใจใส่นักเรียนดี แต่อุปกรณ์การเรียนไม่ค่อยมี บางครั้งก็เรียนแต่หนังสือ ไม่ค่อยได้ทดลอง เคยไปที่โรงเรียนอื่นที่เป็นฆราวาส เขามีเครื่องมือเยอะแยะ ได้ทดลองสิ่งที่เรียนหลายอย่าง...

     ต่อคำถามอนาคตของพวกเขา

     ผมอยากเรียนสูง ๆ ชีวิตจะได้ไม่ลำบากเหมือนที่ผ่านมา

     ถ้าผมมีงานทำ พ่อแม่และน้อง ๆ ที่อยู่ทางบ้านก็จะได้สบาย

..........

 

 

หมายเลขบันทึก: 293638เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านบทความดี ๆ

ปกติแอบอ่านอย่างเดียว เพิ่งจะมีโอกาสได้สมัครสมาชิกค่ะ

ชอบอ่านเรื่องเล่าของพี่หนานเกียรติ อ่านแล้วมองเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว

P สวัสดีครับ คุณวางแพลน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม

ขอบคุณที่ติดตามอ่านบันทึกของผมครับ

ขอบคุณอีกคร้ังสำหรับคำชมครับ

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านบทความดี ๆ

ปกติแอบอ่านอย่างเดียว เพิ่งจะมีโอกาสได้สมัครสมาชิกค่ะ

ชอบอ่านเรื่องเล่าของพี่หนานเกียรติ อ่านแล้วมองเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว

* เนื้อเรื่องสะท้อนภาพของสังคมที่พึ่งพาวัดเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตนะคะ

* จำได้ว่าหลายปีมาแล้วที่เคยขึ้นไปทำบุญที่วัดถ้ำตับเตาในอ.ร้องกวางจ.เชียงใหม่กับเพื่อนๆ..เจ้าอาวาสท่านบอกบุญเรื่องซ่อมอาคารที่ทรุดโทรมของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนของสมเด็จย่า..เหตุผลของพระคือ อยากให้ชาวบ้านหันมาสนใจวัด..พระท่านต้องการอนุเคราะห์ช่วยเหลือทางศีลธรรมแก่เด็กๆลูกของชาวบ้านให้เป็นคนดี...ไม่ใช่อยู่กินกันไปวันๆๆ..

* เมื่อโรงเรียนซ่อมแซมเสร็จ หลายเดือนต่อมา พระท่านมีหนังสือมารายงานโยมว่า พ่อแม่พาเด็กๆมาเข้าวัดมากขึ้น..และทุกวันปีใหม่ เด็กๆและครูส่งบัตรอวยพรมาให้โยมทางกรุงเทพอย่างสม่ำเสมอค่ะ..

P พี่นงนาท ครับ

ผมเคยสอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกือบสองปีครับ

จริง ๆ แล้ว โรงเรียนแบบนี้มีศีกยภาพเยอะเลย เช่น ขยายโอกาส/สร้างความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา, การสร้างศาสนทายาทที่เข้มแข็ง ฯลฯ

แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความเหลียวแลทั้งจากรัฐและคณะสงฆ์

น่าเห็นใจมากครับ

สวัสดีค่ะ

  • รู้สึกสลดใจ กับเรื่องแกงบูดค่ะ
  • สงสารสามเณร  น่าเห็นใจจริง ๆ ค่ะ
  • วัด เป็นที่พึ่งได้ทั้งทางกายและทางใจเสมอ
  • อยากให้วัดต่าง ๆ ได้รับการดูแล จากหน่วยงานของรัฐมากขึ้น
  • ขอบคุณค่ะ  ความดีคุ้มครองนะคะ

ค่าเรียนคอมพิวเตอร์เทอมละ 200 บาทเรียกว่าอยากให้ได้เรียนจริงๆค่ะ..สังคมเราขาดความสมดุลยเสมอเลย..คนมีฐานะก็ไม่อยากจะเรียน..คนไม่มีก็อยากจะศึกษาเล่าเรียนคนเรียนดีทำไมต้องลำบากก่อนด้วยก็ไม่รู้..หรือว่ากำลังถูกทดสอบจากธรรมชาติในเรื่องของความอดทน..รอดตรงนี้ไปได้ถือว่าสอบผ่านความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนหรืออย่างไร..

  • ก่อนมาอยู่ต่างประเทศ พบแต่เหตุการณ์ทีทำให้สลดใจกับพฤติกรรมของพระสงฆ์ในวัดแถวๆบ้าน(ภาคอิสาน) ก็เลยพาลให้ไม่อยากไปวัด
  • แต่วันนี้อ่านเรื่องที่อาจารย์เล่าแล้ว..น่าเห็นใจสามเณรที่ตั้งใจเรียน เพื่ออนาคต ใฝ่ดี ประพฤติดีนะคะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวดีดีค่ะ
  • และขอบพระคุณที่แวะไปทักทานที่บล๊อกนะคะ

P สวัสดีครับ ครู อิงจันทร์

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

อาจเป็นอย่างที่พี่อ้อยบอกก็ได้ครับว่านั่นอาจเป็นบทพิสูจน์...

ผมเพียงคิดว่า โรงเรียนเช่นนี้มีศักยภาพมากมายที่จะทำประโยชน์ให้สังคมดดยลงทุนอีกไม่มาก

..... 

P สวัสดีครับ พี่ อ้อยเล็ก

เป็นจริงอย่างที่พี่ว่าครับ ...

และพยายามคิดเข้าข้างว่าสามเณรเหล่านั้นกำลังถูกพิสูจน์

แต่อีกใจนึงก็คิดว่าพิสูจน์กันแรงไปหรือเปล่า มีคนหล่นหายไปเพราะไม่ไหวก็มาก

 

  • ฟังเรื่องของสามเณรแล้ว คงคล้ายกับนักเรียนอีกหลายๆคน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย
  • เมื่อมีโอกาสไปโรงพยาบาล จะพบเห็นคนไข้มากมาย ที่ต้องนอนเตียง ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามระเบียงอาคาร
  • จึงคิดเสมอว่า การศึกษากับสาธารณสุขเป็น 2 เรื่องเร่งด่วนของบ้านเรา ที่รัฐบาลต้องทำให้เร็ว ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณโยมหนานเกียรติและผู้อ่านทุกท่าน

  • เมื่อวานคุยกับลูกศิษย์ว่า อาหารที่ญาติโยมซื้อตามร้านข้าวแกงใส่บาตร ถ้าคุณโยมได้รับประทานสักครั้งคงจะไม่ซื้ออีกเลยก็ได้ โยมอย่าเชื่อนะต้องไปพิสูจน์ด้วยตนเอง
  • เราสนใจเรื่องไกลตัวมาก ๆ แต่ใกล้ตัวสุด ๆ คือสังคมแวดล้อมนี่แหละมองไม่ดีก็ไม่เห็นหรือบ้างครั้งก็ทำเป็นไม่เห็นก็มี หรือทำกลบเกลื่อนไว้แล้วก็ทำเป็นลืมไปในที่สุดเป็นอย่างนี้ไหม
  • เคยบอกญาติโยมว่า ชาวบ้านนั้นลงทุนจนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ หมดเท่าไรก็ยอม แต่เมื่อบอกว่าพระเณรท่านเรียนหนังสือ โยมมักมีท่าทีสงสัยว่า พระเณรเรียนทำไมแปลกจริงหนอ
  • ถ้าเขาไม่บวชก็คือเยาวชนที่ต้องเรียนหนังสือแต่ไม่มีโอกาสพอจะมีโอกาสบ้างในทางบวช แต่กลับถูลละเลยมองข้ามไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นประโยชน์การสร้างปัญญา สร้างคน
  • สร้างวัตถุแล้วอย่าลืมสร้างคนไว้รักษาวัตถุบ้างไม่งั้นจะถูกทิ้งโดยไม่มีคนรักษาวัตถุที่เราสร้างไว้ ตอนนี้มีอยู่มากมายแล้ว วัดไม่มีคนคือพระเณรจะรักรัษาวัดไว้ได้เพราะมุ่งแต่จะสร้างวัดโดยลืมสร้างคนก็เป็นด้วยประการฉะนี้แหละโยม เอวัง.

เจริญพร

 

 

นมัสการครับพระอาจารย์

ผมมีความรู้สึกว่าพระก็อึดอัดใจไม่น้อยที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับญาติโยม

ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารใส่บาตร รวมไปถึงถังสังฆทานที่ใช้อะไรแทบไม่ได้เลย

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์อย่างยิ่งเลยครับว่าชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาของพระเณร ญาติโยมบริจาคส่วนใหญ่ก็ด้วยวัตถุประสงค์การสร้างวัตถุ ไม่สนใจเรื่องสร้างคน บ้านเราจึงมีวัดร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

P อาจารย์ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ครับ

เห็นด้วยกับที่อาจารย์เสนอมาครับ

เรื่องการศึกษาเรื่องสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่รัฐควรต้องเร่งดำเนินการ

แต่สองเรื่องนี้ผลประโยชน์น้อยครับอาจารย์ เขาเลยไม่ค่อยจะสนใจ

ไปทำในเรื่องไร้สาระแต่มีผลประโยชน์มาก ๆ ดีกว่า

เดี๋ยวไม่มีทุนเลือกต้ังสมัยหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท