หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สามเณร : เด็กชายที่ชายขอบสังคมไทย ตอนที่ ๓ (จบ)


“โรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควรเป็นเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก ทั้งที่โรงเรียนได้ช่วยบรรเทาภาระของรัฐบาลได้มาก เพราะมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการการศึกษาของรัฐจำนวนมาก แม้ว่าส่วนใหญ่ของนักเรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะลาสิกขา คนกลุ่มนี้ก็เป็นกำลังสำคัญของชาติโดยรัฐลงทุนน้อยมาก”

     โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ สำหรับพระภิกษุสามเณร ปัจจุบันมี ๔๐๖ แห่งทั่วประเทศ จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น ๗๑,๘๙๒ คน มีห้องเรียน ๒,๗๐๑ ห้องแยกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๑,๘๒๑ ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๘๘๐ ห้อง มีครูประจำการ ๔,๓๖๓ รูป/คน แยกเป็นครูบรรพชิต ๑,๘๗๓ รูป เป็นครูฆราวาส ๒,๔๙๐ คน 

     แม้ว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เมื่อเทียบกับโรงเรียนโดยทั่วไปถือว่าได้น้อยมาก ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจัดสรรตามรายหัวนักเรียนได้เพียง รูปละ ๖,๕๐๐ บาทต่อปี ลำพังค่าใช้จ่ายที่ถูกจักสรรให้น้อยอยู่แล้วยังถูกหักอีก ๒,๓๐๐ บาทที่ส่วนกลาง เหลือตกมาถึงโรงเรียนจริง ๆ เพียง ๔,๒๐๐ บาท เงินที่ถูกหักไปแท้ที่จริงแล้วเกิดประโยชน์กับโรงเรียนน้อยมาก เพราะเงินที่ได้รับโรงเรียนต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ค่าตอบแทนผู้บริหารโรงเรียน ค่าตอบแทนครูสอน ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งอยู่ในภาวะที่อัตคัดขัดสนเป็นอย่างยิ่ง

     พระสมุห์สุพล  สุทฺธสีโล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาลีสาธิต ได้สะท้อนปัญหาการบริหารโรงเรียนว่า

     โรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควรเป็นเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก ทั้งที่โรงเรียนได้ช่วยบรรเทาภาระของรัฐบาลได้มาก เพราะมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการการศึกษาของรัฐจำนวนมาก แม้ว่าส่วนใหญ่ของนักเรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะลาสิกขา คนกลุ่มนี้ก็เป็นกำลังสำคัญของชาติโดยรัฐลงทุนน้อยมาก

     ในส่วนการสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วไปก็มีไม่มาก

     ญาติโยมไม่ค่อยทำบุญในส่วนของการสร้างคน มักจะทำบุญไปในการก่อสร้างวัตถุสิ่งของ เงินบริจาคที่โรงเรียนได้รับมีน้อยมาก จนเอาไปทำอะไรไม่ได้

     พระปลัดธงชัย  ปุญฺญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดศรีโสดา กล่าวถึงการบริหารโรงเรียนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐบาลว่า

     โรงเรียนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการได้รับการสนับสนุนมาหลายปี ในปีการศึกษา ๒๕๔๖ ได้ตัดสินใจรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เหลือเพียง ๔๐ รูป

     ซึ่งการตัดสินใจของโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ดังกล่าว จะส่งผลให้สามเณรที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า ๑๐๐ รูป รวมทั้งเด็กชายที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่มีความหวังกับการบวชเรียน โอกาสดังกล่าวก็จะลดลง

....................................................................................................................

 

     สามเณรจำนวนมากที่เป็นเด็กชายขอบสังคมไทย ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการการศึกษาของรัฐ และหากไม่ขวนขวายดิ้นรนเข้ามาบวชเรียน โอกาสที่จะได้รับการศึกษาก็จะริบหรี่ลงไป

     แม้ว่าจะมีโอกาสเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ชีวิตก็ยังคงดิ้นรนต่อสู้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเดินฝ่าสายฝนเพื่อรับอาหารบิณฑบาตเพื่อยังชีพ บางครั้งต้องทนฉันอาหารบูด บางคราวต้องอดอาหาร การเรียนการสอนก็ด้อยคุณภาพเต็มทีจากการจำกัดจำเขี่ยของทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุน

     เป็นเพราะเราไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างจริงจังและยอมรับว่าปัญหานี้มีอยู่จริง จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะจัดการกันเอง โดยการสนับสนุนจากรัฐที่ได้รับเพียงหยิบมือทั้งที่รัฐและสังคมได้ประโยชน์มากมาย

     แนวโน้มที่จะยุบโรงเรียน และรับนักเรียนใหม่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมลดลงจึงมีมากขึ้น

     เด็กชายไทยที่อยู่ชายขอบสังคม เราจะเอาเขาไปไว้ที่ไหน ?

 

หมายเลขบันทึก: 293839เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ธุค่ะ..

เด็กชายไทยที่อยู่ชายขอบสังคม เราจะเอาเขาไปไว้ที่ไหน ?

จริงๆ แล้วพวกเขามีตัวตน   เพียงแต่บางทีหน่วยงานที่ควรจะเกี่ยวข้องได้มองผ่านเลยพวกเขาไปคล้ายมองอากาศธาตุ    หรือเห็นว่าพวกเขาตัวเล็กๆ   เล็กเกินไป   เนอะ

ความหวังริบหรี่..ก็คงจะริบหรี่ต่อไป  หากไม่มีผู้ยิ่งใหญ่คนไหนมาเหลียวแล

P น้องต้อม เนปาลี  ครับ

บ้านเราแปลกจริง ๆ ครับ

วัดเริ่มร้างจากสามเณรไปเรื่อย ๆ

โรงเรียนพระปริยัติธรรมทะยอยปิดตัวลง

ขณะที่เด็กเร่ร่อนตามท้องถนนมีมากขึ้น

เฮ้อ....กลุ้ม....

  • คุณหนานเกียรติคะ..

ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ไม่เคยก้มลงมองต่ำกว่าที่เคยค่ะ   หรืออาจจะอยู่บนหอคอยงาช้างจนไม่รู้ซึ้งถึงปัญหา    สงสัย "ในหัวใจ" จะใช้ไม้บรรทัดคนละอันกับของเราค่ะ

กลุ้มจริงๆ ด้วยค่ะ....    เวลาเห็นเด็กเร่ร่อนแล้วสะท้อนใจ

      มุมมองของผม ผมว่าส่วนหนึ่ง เรามักจะเน้นการพัฒนาแต่เด็กเก่งครับ เป็นงานที่มีสีสรร และ สร้างภาพ สร้างผลงานได้ง่าย

      ไม่ค่อยสนใจที่จะแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาส   เพราะเป็นงานปิดทองหลังพระ

      ต่างประเทศเขามี No child   left  behind

      ของเราก็มี many children left behind

                     ขอบคุณครับ

P น้องต้อม เนปาลี ครับ

ใช่ ๆ ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ไม่เคยก้มลงมองต่ำ อยู่บนหอคอยงาช้างจนไม่รู้ซึ้งถึงปัญหา  และใช้ไม้บรรทัดคนละอันกับของเรา

ไม้บรรทัดของเขานี่ หน่วยวัดเป็น ผลประโยชน์ที่เป็นเงินทองที่จะเข้ากระเป๋าตัวและพวกพ้อง

ส่วนของเรา เป็น โอกาส ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ความเป็นคนที่เท่าเทียม คุณภาพชีวิต

....

P ท่านรองครับ small man

เห็นด้วยครับว่าคนว่วนใหญ่เน้นงานที่มีสีสรร สร้างภาพ สร้างผลงาน

เผอิญผมมีโอกาเข้าไปทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษอยู่พักใหญ่ ผมพบว่าเด็กพวกนี้ก็เป็นเด็กด้อยโอกาสจำพวกหนึ่งเหมือนกัน

คนที่มีฐานะ ครอบครัวพร้อมก็ดีไป

แต่เด็กที่เกิดมาในฐานะระดับกลางลงมาถึงล่างนี่ค่อนข้างลำบาก

น่าสงสารไปอีกแบบครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณโยมหนานเกียรติ

  • ขอให้กำลังใจในการขีดเขียนเรื่องราวเหล่านี้เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมยไทย
  •  พระเองคงต้องอาศัยโยมที่มีจิตเมตตาเห็นความสำคัญเป็นตัวช่วยกระจายความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยในสังคมเป็นการบอกความทุกข์เข็นแก่คนในแผ่นดินว่าอย่าลืมคนเล็ก ๆ กันนะ
  • พระพูดไปเหมือนขอความเห็นใจคล้าย ๆ เรียกร้องความสนใจท่านก็เลยต้องอดทนเงียบฉิบแบกรับภาระที่หนัก ๆ ไว้คนเดียว
  • พอแบกไม่ไหวก็ต้องล้มทั้งยืนตายคาต้นเลยแหละโยม

เจริญพร

นมัสการท่านอาจารย์ครับ

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจจากท่านอาจารย์ครับ

ผมได้ดิบได้ดี ได้เรียนหนังสือและเป็นผู้เป็นคนมาเพราะการบวชเรียนนี่หละครับ

เป็นบุญคุณที่ตอบแทนชดใช้อย่างไรก็ไม่หมดไม่สิ้น

มีความต้ังใจจะพยายามตอบแทนพระศาสนาให้เต็มกำลังเท่าที่จะทำได้

การเขียนสะท้อนปัญหาก็เป็นวิธีการหนึ่งในการตอบแทนคุณ

ผมเองเห็นด้วย บางทีพระเองก็พูดอะไรได้ไม่มากและไม่สะดวกนัก

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ปัญหารดังกล่าวนี้จะต้องมีการดูแลจากทั้งภาครัฐ และพระมหาเถรสมาคม จะต้องช่วยให้การดูแลและสนับสนุน เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นที่คนไทยให้การนับถือมาชานาน

แต่ในปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ สามเณรลดน้อยถอดลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องมีการช่วยกันทุกฝ่าย เพื่อที่จะให้พระพุทธศาสนาดำเนินอยู่คู่คนไทยต่อไปในอนาคต .....เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์ครับ

ขอบพระคุณที่แวะเข้าเยี่ยมและแบ่งปันความเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท