หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๓)


        บ่ายคล้อยไปมากแล้ว

        พ่อเฒ่ายังคงนั่งจักตอกจากลำไม้ไผ่ ได้ตอกไม้ไผ่จำนวนหนึ่งแล้วก็จับปลายทั้งสองด้านงอเข้าหากัน ใช้ตอกเส้นหนึ่งมัดที่กึ่งกลางของเส้นตอกกำนั้น แล้วโยนขึ้นไปบนพื้นเรือน

        จะพือ ยืนอยู่บนพื้นไม้ฟากบนเรือนที่เพิ่งจะปูเสร็จ ส่งตอกต่อให้จะลาและจะบู เด็กหนุ่มสองคนที่กำลังมุงหลังคาอยู่

        หญ้าคาถูกส่งต่อมาจากด้านล่างด้วยไม้ค้ำสั้น ๆ จะบูและจะลารับหญ้าคาที่ไพเป็นแผ่นมัดกับลำไม้ไผ่ด้วยตอกไม้ไผ่ จะบูมุงหญ้าคาอยู่ทางด้านเหนือ ส่วนจะลาอยู่อีกฝั่ง

        การมุงหลังคาดำเนินการค่อนข้างเร็ว เนื่องจากหญ้าคาถูกไฟเป็นแผ่นไว้แล้ว หากการมุงหญ้าคาโดยมิได้ไพไว้ก่อนจะทำให้ใช้เวลานานและยุ่งยากมากกว่านี้

        ด้านหลังตัวเรือน เลยที่นั่งของพ่อเฒ่าชอก่อ จะนะกำลังประกอบท่อนและซีกไม่ไผ่เข้าด้วยกัน เขากำลังทำประตูโดยใช้วัสดุทั้งหมดจากไม้ไผ่ อีกสักพักเมื่อฝาด้านหน้าถูกประกอบขึ้นแล้ว เขาก็จะนำประตูบานนี้ไปติดตั้ง

        ที่ผนังด้านเหนือ จะเต๊าะและจะชอย ช่วยกันขัดไม้ฟากทำเป็นฝาบ้าน ที่พื้นบ้านบริเวณที่จะทำฝาบ้านด้านเหนือมีลำไม่ไผ่ ถูกเจาะเป็นรูด้านหนึ่งสำหรับวางรองรับฟากไม้ไผ่ที่เป็นตัวตั้งขัดสานกับฟากไม้ไผ่ที่วางซ้อนขึ้นไป ฟากหรือไม้ไผ่สับที่ทำเป็นฝาบ้าน จะถูดยึดกับเสาทั้งสามต้นด้วยตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกัน

        ด้านหน้าตัวเรือน วินัย จำปาและจะทอ กำลังผูกไม้เข้ากับเสาเพื่อทำเป็นนอกชานของบ้าน นอกชานนี้ต่อเติมต่างหากออกมาจากตัวเรือน ใช้เสาแยกต่างหาก เสาทั้งหมดรวมทั้งตงใช้ไม้ยืนต้นเช่นเดียวกัน ผูกด้วยคานไม้ไผ่ก่อนที่จะวางทับฟากไม้ไผ่เป็นพื้นเช่นเดียวกับตัวเรือน

        ขณะที่อะเบะผะ เจ้าของเรือน วีระพงษ์ กังวานนวกุล และสุนทร อวนศรี แขกจากกรุงเทพฯ ช่วยกันขนหญ้าคาที่ไพไว้แล้ว รวมทั้งฟากไม้ไผ่ ซึ่งกองไว้ห่างจากจุดที่ปลูกเรือนราว ๓๐๐ เมตร หลังจากที่เมื่อเช้าพวกเขาทั้งสามช่วยกันขนย้ายท่อนไม้ที่ตัดไว้สำหรับการปลูกเรือนทั้งหมด ซึ่งกองไว้ที่บริเวณเดียวกัน

        ระหว่างที่สหายต่างถิ่น นั่งพักเหนื่อยใต้ร่มไม้ใกล้เรือนหลังใหม่ ก็มีบทสนทนาแลกเปลี่ยนเป็นระยะ

        “นั่น เรียกว่าอะไร ทำมาจากไม้อะไร ทำไมต้องทำแบบนี้ มีความหมายอะไรไหม...”

        จะพือบ้าง วินัยบ้าง ผลัดกันเป็นล่ามถามไถ่พ่อเฒ่าชอก่อที่นั่งจักตอกอยู่อย่างใจเย็น เมื่อได้คำตอบแล้วก็เป็นล่ามแปลกลับมาเป็นภาษาไทยให้สหายจากเมืองกรุงได้เข้าใจถึงคำตอบจากปากพ่อเฒ่า

        การถามตอบเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นความรู้ใหม่ของสหายจากเมืองกรุงเท่านั้น แต่คนหนุ่ม ๆ หลายคนที่ทั้งเป็นชาวลาหู่ ก็กระจ่างแจ้งในความรู้นั้น ๆ อีกหลายเรื่องหลายราว

        โอกาสในการปลูกสร้างเรือนคราวนี้ จึงเป็นการถ่ายทอด-ตอกย้ำ ภูมิปัญญาการปลูกเรือนลาหู่ ที่หลานคนอาจลืมเลือนไปกระทั่งมิเคยรับรู้มาก่อนอีกด้วย

...

หมายเลขบันทึก: 340041เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ติดตามอ่านมาทั้งสามตอน ได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเรือนลาหู่มากครับ ชีวิตคนเรา..หลายเรื่องหลายเหตุการณ์เลยนะครับ ที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยกันและกันเท่านั้น
  • ขอบคุณความรู้ครับ

ปลูกเฮือน..ตามใจผู้อยู่..อยู่ใคร.ใครนอน...อิอิ....สวัสดี..ยายธีจ้ะ...(เหลนเราสบายดีหรือ)

สวัสดีครับน้องหนา ยิ่งอ่านยิ่งอยากมาเยือน นึกถึง กำลังงานสมัย ยกมัสยิดหลังแรกในหมู่บ้านมีการเตรียมการมาก่อน พอถึงวัน ไม่ต้องมีแม่งานไม่ต้องมีคนสั่งการ ใครถนัดงานไหนก็ทำงานนั้น เส็จแล้วก็นำส่วนของแต่คนมาประกอบ เป็นสถานที่ภักดีพระเจ้าที่ใจศรัทธา

ปัจจุบันความสะดวกเข้ามาสถานที่ประกอบสวยงามสะดวกสบาย ....แต่ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการครับ

เป็น300เมตร ที่ยากลำบากมากๆ

ผมนึกถึงเพลง คนสร้างบ้าน ครั้นสมัยออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทเมื่อก่อน

"สิ่งนี้แหละคือ การเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติจริงๆ(มันซึมซับเข้าไปในกายและใจ)"

ถึงแม้ว่าจะได้รับบาดเจ็บแต่ความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าครับ

จนบางครั้งผมได้ทบทวนตนเองว่า เราทำอะไรที่กทม.กัน

มาเยี่ยม มาทักทาย มาโอบกอด มาสัมผัสชีวิตแบบนี้บ้าง เราจะได้ไม่ประมาทในการทำงานนะครับ

มิตรภาพเสมอ

300 เมตร แต่แบกไปยิ้มไปนะ สหายเบิ้ม ได้ข่าวว่าจะสร้างอีกสัก 5 หลัง 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท