หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๔)


        แสงจ้าจากอาทิตย์ค่อยแผ่วลดลง เงาต้นไม้ทอดยาวไปฝั่งตะวันออกมากแล้ว

        ภารกิจการปลูกเรือนลาหู่ตามธรรมเนียมสิ้นสุดลงแล้ว สิ้นสุดก่อนพระอาทิตย์จะตกดินเสียอีก ระหว่างรอกินข้าวมือเย็นซึ่งเจ้าของเรือนใหม่ตั้งใจทำเลี้ยงอีกมื้อนอกจากมื้อกลางวัน แขกเหรื่อทั้งหมดถูกเชื้อเชิญขึ้นเรือนหลังใหม่

        เรือนหลังขนาดกระทัดรัด เนื้อที่ภายในเพียงสิบกว่าตารางเมตร แต่จุคนได้เกือบ ๒๐ ชีวิต นั่งล้อมวงพูดคุยกัน บางคนก็นั่งล้อมวงอยู่นอกชานเรือน

        เตาไฟในเรือนหลังใหม่ลุกโชนด้วยท่อนฟืนขนาดย่อม บนเตาไฟซึ่งเป็นเหล็กสามขามีกาน้ำที่ภายในนอกจากน้ำเปล่าที่กำลังเดือนพล่านแล้ว ยังมีชาตากแห้งต้มอยู่ภายในนั้น

        จะพือ ค่อยยกชาลงจากเตา ใช้ผ้าจับหูกาแล้วค่อยรินน้ำชาใส่แก้วชาแจกจ่ายไปยังสหายชาวลาหู่และชาวเมืองกรุงที่นั่งล้อมวงอยู่ภายในตัวบ้าน

        “ทำไม ลาหู่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันเดียว ?”

        คนกรุงเทพฯ คนหนึ่งเอ่ยถามจะพือ ก่อนที่จะพือจะเอ่ยถามพ่อเฒ่าด้วยภาษาลาหู่อีกทอดหนึ่ง

        พ่อเฒ่าชาวลาหู่ตอบด้วยภาษาถิ่น จะพือตอบกลับมาว่า

        “พ่อเฒ่าบอกว่า คนเฒ่าคนแก่บอกมาว่าต้องสร้างให้เสร็จภายในวันเดียว เขาบอกให้ทำอย่างนั้นก็ต้องทำอย่างนั้น...”

        อะเบะผะ เจ้าของเรือนร่วมแลกเปลี่ยนว่า

        “ชาวลาหู่อยู่กันเป็นครอบครัว อยู่กันเป็นชุมชน ต่างคนก็ต่างพึ่งพาอาศัยกัน การสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันเดียวน่าจะเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกัน...

        ...สมัยก่อนชาวลาหู่ยังชีพด้วยการทำไร่ การทำไร่ต้องใช้แรงงานเยอะ ลำพังคนในครอบครัวไม่ไหว ต้องอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้านไปช่วย อย่างตอนเผาไร่ ก็ต้องมีคนไประวังกันไม่ให้ไฟลามออกจากไร่ไปเผาป่า...

        ...ตอนจะปลูกข้าว จะเกี่ยวข้าว จะขนข้าว ก็ต้องใช้คนเยอะเหมือนกัน ชาวบ้านต้องไปช่วยกัน วันนี้ช่วยบ้านนี้ พรุ่งนี้ไปช่วยบ้านโน้น หมุนเวียนไปช่วยเหลือกัน...

        ...ผมคิดว่าการสร้างบ้านเป็นการตอกย้ำให้ชาวลาหู่รู้ว่า เกิดมาต้องพึ่งพาอาศัยกัน เหมือน ๆ กับการทำไร่ ชาวลาหู่ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันเดียวโดยลำพังเพียงครอบครัวเดียว ต้องขอแรงให้เพื่อนบ้านมาช่วย ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน บ้านจึงจะเสร็จลงได้...

        ...เหตุผลอีกอย่างหนึ่งของการปลูกเรือน โดยมีคนมาช่วยกันสร้างก็คือ การมารับคำสอนจากคนเฒ่าคนแก่ทั้งเรื่องการ ครองเรือน การกระทำในระหว่างการปลูกเรือนมีคำสอนแผงไว้มากมาย เช่น การมัดตอกร้อยไปตามคานบ้าน ซึ่งเป็นการสอนให้สมาชิกในครอบครัวมีความรักต่อกันและกัน คนในครอบครัวจะต้องมีความผูกพันเหนียวแน่น  เหมือนกับตอกที่มัดยึดไม้เข้าด้วยกัน...”

        วินัย ชาวลาหู่จากบ้านอุมยอม เอ่ยขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในวงว่า

        “ประเพณีทุกอย่างมีความหมาย พวกเราไม่ค่อยรู้ ต้องถามคนเฒ่าคนแก่ เขาจะบอกได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีไม่กี่คนที่พอจะรู้อธิบายให้เข้าใจได้...”

        การสนทนาเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของชาวลาหู่ในพื้นที่ดอยมูเซอในวงน้ำชาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับการสร้างเรือนลาหู่ สถานการณ์ที่ชาวลาหู่เผชิญในปัจจุบัน ความเป็นห่วงกังวลต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งใกล้ค่ำ อาหารเย็นที่แม่บ้านชาวลาหู่มาช่วยเตรียมการไว้ก็แล้วเสร็จ ทั้งหมดจึงย้ายวงพูดคุยไปยังวงอาหารเย็น

...

หมายเลขบันทึก: 340060เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กุศโลบายที่สืบทอดในการสร้างเรือนละหู่ให้เสร็จภายในวันเดียว ก็มาจากความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกัน..
  • ขอบคุณความรู้ครับ

สวัสดีค่ะท่านหนาน

ดีจังค่ะ น้องเฌวาได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แค่เห็นภาพเสี้ยวนึง ยังอยากไปสัมผัสเลยค่ะ

ก่อนจะมาเป็นเรือน คงมีเรื่องราวมากมาย ... นี่สร้างเสร็จภายในวันเดียว น่าทึ่งและมหัศจรรย์มาก ๆ 

รอติดตามตอนต่อไป ขอบคุณค่ะ

โอ้ๆๆๆๆ น่าสนใจหลายๆ ผมขอไปตามอ่านตอนแรกๆก่อนนะครับพี่หนาน มา mark ไว้ก่อน อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท