หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

พะตีจอนิ โอโดเชา


.

              

 

     วันนั้นเป็นวันที่ผมเข้าร่วมประชุมสมาชิกอโชก้าเฟลโลว์เป็นปีแรก ในกิจกรรมแนะนำตัวอโชก้าเฟล์โลว์ แทนที่จะให้ผู้เข้าร่วมประชุมแนะนำตนเอง ผู้ดำเนินรายการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แนะนำคนอื่น คนที่ถูกแนะนำจะเป็นคนแนะนำคนอื่นถัดไปเรื่อย ๆ จนหมด

     ผมถูกแนะนำโดย “พะตีจอนิ โอโดเชา” ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอผู้ยิ่งใหญ่ แห่งบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ผมยังจดจำคำแนะนำของพะติได้มาถึงทุกวันนิ้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ ๑๐ ปี

     พะตีจอนิ เป็นเฟล์โลว์ ก่อนหน้าผมหนึ่งปี เหตุที่ทำให้พะตีรู้จักและพอจะแนะนำผมได้เนื่องมาจากเหตุ ๒ ประการ คือ ผมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนภาคประชาชนในภาคเหนือ และผมขึ้นไปทำวิทยานิพนธ์ที่บ้านหนองเต่า มีโอกาสได้พูดคุยกับพะตีจอนิต่อเนื่องยาวนานกว่าหนึ่งปี

     จะว่าไปแล้วการเรียนจบปริญญาโทของผมนั้น หากไม่มีพะตีจอนิผมอาจไม่มีโอกาสเป็นมหาบัณฑิตด้วยข้อมูลส่วนใหญ่ รวมทั้งการวิเคราะห์เบื้องต้นในวิทยานิพนธ์ผมนั้นเป็นความเมตตาของพะตีจอนิ

     มีเรื่องขำที่ผมมักจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ที่บ้านหนองเต่าก็คือ ในช่วงที่ผมไปเก็บข้อมูลนั้น มีนักศึกษาอีก ๔ มหาวิทยาลัยทั้งปริญญาโทและเอกจากธรรมศาสตร์ ๒ คน จาก ม.เชียงใหม่ ๑ คน และจากประเทศฝรั่งเศษอีกคนนึง ไปทำวิจัยที่นี่ และเก็บข้อมูลจากพะตีจอนิ บ่อยครั้งที่นักวิจัยเจอกันในหมู่บ้านต้องแบ่งคิวสัมภาษณ์พะตีจอนิ บางคราวก็สัมภาษณ์ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ดูเหมือนผมน่าจะมีโอกาสได้คุยกับพะตีมากกว่าใครเพื่อน บางคราวพะตีจึงให้นักวิจัยมาสอบถามข้อมูลจากผมแทน

     พะตีจอนิได้มีพระคุณกับผมในแง่การให้ข้อมูลจนผมเรียนจบเท่านั้น แต่ท่านยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตปกาเกอะญอ จนทำให้ผมเข้าใจและหลงไหลในวัฒนธรรมปกาเกอะญอเป็นอันมาก นอกจากนั้นท่านยังได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันท่าทีและโลกทัศน์ให้ผมได้ค่อยซึมซับได้ไม่น้อย จะว่าไปแล้วท่าทีและทัศนคติของชาวเขาผมค่อยปรับเปลี่ยนก็เพราะท่านนั่นเอง

     ในแวดวงนักพัฒนาเอกชน รวมทั้งนักวิชาการสายนี้ไม่มีใครไม่รู้จักพะตีจอนิ ด้วยพะตีจอนิเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้และตกผลึกภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งได้นำเสนอออกมาสู่สาธารณชนอย่างลุ่มลึกและน่าสนใจ ความรู้ของท่านถูกนำไปถ่ายทอดต่อเป็นหนังสือแล้วหลายเล่ม อาทิ ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์ โดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ และ เบญจา ศิลารักษ์ สวนของคนขี้เกียจ โดย หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง ชุดนิทานปกาเกอะญอที่ ๑ – ๓ โดย นาโก๊ะลี ฯลฯ และในวันที่ผมคลุกคลีอยู่กับท่านนั้นหากพอมีฝีไม้ลายมือด้านการเขียนสักหน่อย ก็อาจจะมีอีกเล่มหนึ่งที่ออกมาจากผม

     “จอนิ” มิใช่ชื่อเดิมของท่าน ชื่อเดิมของท่านคือ “แจแปนนิส”

     ที่มาของชื่อนี้ด้วยท่านเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านหมู่บ้านที่ท่านเกิด ซึ่งธรรมเนียมปกาเกอะญอจะตั้งชื่อลูกเกิดใหม่ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ท่านเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “จอนิ” จากการเปลี่ยนของทางอำเภอที่เขียนลงในใบเกิด ด้วยฟังเฟี้ยนไปจากผู้แจ้ง

     บางคนเรียกพะตีจอนิว่าพ่อหลวงจอนิ เนื่องจากท่านเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม คำว่าพ่หลวงเป็นคำนำหน้าชื่อของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งแม้จะลาออกแล้วก็ตาม (ส่วนคำว่า “พะตี” แปลว่า “ลุง”)

     พะตีจอนิมีลูกหลายคน แต่ผู้ที่ถอดแบบและเดินตามรอยพ่ออย่างเข้มข้นมี ๒ คน คือ “พฤ” ผู้พี่ และ “แซวะ” ผู้น้อง ผมรู้จักและมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยทั้งสองคน

     ผมยังมีโอกาสพบปะพะตีจอนิอยู่บ้างในรอบปี เจอทีไรท่านก็มักมีเรื่องมาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อย ผมมีความสุขมากเมื่อได้นั่งฟังท่านคุยทุกครั้ง

 

 

ภาพประกอบโดย : “กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์” เผยแพร่ครั้งแรก : http://www.prachatai.com

 

.

หมายเลขบันทึก: 433666เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2011 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

น้องหนานเกียรติครับ

หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง คนข้างบ้านผมเอง มีผลงานหลายเล่ม คู่หูของ วีรศักดิ์ ยอดระบำ แห่งแม่น้ำเงา

บ้านผม (ขณะนี้ฝนยังตกไม่ยอมหยุด )

ท่านผู้เฒ่าครับ

พี่นนท์ (หญ้าน้ำ) เป็นครูผมคนหนึ่งครับ จะว่าไปเป็นครูคนแรก ๆ ด้วยซ้ำไป แกเป็นคนแนะแนวการเขียนให้ ผมได้แนวก็จากแกนี่แหละ ไม่ได้เจอกันนานแล้วคิดถึงแกอยู่เหมือนกัน แกเสียลูกสาวไปเมื่อหลานปีก่อน ตอนนี้น่าจะหาโศกเศร้าแล้ว...
เอาใจช่วยให้ฝนหยุดซะทีนะครับ.... 

อ้อ พันนี้เอง บ้านน้องนนท์ อยู่ริมทางรถไฟ บ้านน้ำตก ห่างจากปากพะยูน เพียง 10 กิโลเอง ผมไม่สนิทกันหรอก แต่สนิทผลงานน่ะ

อ้อ จากภูผา  สู่มหานที  ค่ายครั้งต่อไปที่ บ้านเกาะหมากน้อย ตำบลเกาะปันหยี (ที่โมฆษณา เด็กเตะกลางทะเลนั้นแหละ ) คิดโปรแกรม ตกปลาไว้แล้วด้วย  หาวันว่างแล้วแจ้งทางเกลอ นัดน้องเทียนแล้วด้วย แต่ยังไม่กำหนดวัน คงเป็นเดือน พค กำลังดี รร อยู่ไม่ไกลจากบ้านเกิดผมเท่าไหร่

อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติมมากนะคะน้องหนานเกียรติ

จะรออ่านผลงานการออกหนังสือสักเล่มของพ่อน้องเฌวาค่ะ

สวัสดีครับ พี่ krugui Chutima  

สงสัยจะรอเก้อซะแล้วครับ ถ้าจะมีก็คงจะเป็นหนังสือที่ทำเองล่ะครับพี่

 

  • ชอบและชอบครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

สวัสดีครับ คุณ ปณิธิ ภูศรีเทศ 

แหะ แหะ ขอบคุณ และขอบคุณครับ...

 

 

พะตีจอนิ กับ ความรู้นั้น ผมคิดว่า ให้ปริญญาหลังปริญญาเอก 
ยังไม่คู่ควรกับท่านเลย 

สวัสดีครับอาจารย์...

ใช่ครับ ความรู้ของท่านนั้นยิ่งใหญ่มาก ๆ
การเติบโตด้านในของผมเหตุหนึ่งก็มาจากการนั่งคุยกับท่านนี่แหละครับ 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ให้ ผมกับพี่เอนก นาคบุตร กำลังสนใจเรื่องผู้ประกอบการสังคม ในสังคมไทย (รวมถึงชนเผ่า) เราตั้งใจจะเป็นหลักสูตรที่ให้ปราชญ์และนักกิจกรรมสังคม ได้เพิ่มบทบาทในการแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยมากขึ้น ยินดีหากจะได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์มากขึ้นครับ

สวัสดีครับ พี่ศักดิ์

ด้วยความปราบปลื้มและประทับใจครับที่มาแวะทักทายที่บันทึกของผม

พี่เอนกเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ผมจะเขียนระลึกถึงด้วยครับ

เกี่ยวกับเรื่องที่พี่จะดำเนินการหากมีอะไรให้ผมช่วยเหลือได้บ้างกรุณาเอ่ยปากได้เลยนะครับ...

สวัสดีค่ะ
พะตีจอนิ เป็นครูภูิมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 ได้รู้จักท่านตั้งแต่ปี 2540 นั่งรถตู้ขึ้นดอยไปหาท่าที่บ้านหนองเต่า ได้รู้จักกับพฤและศิวกร ไม่แน่ใจคนเดียวกับแซวะหรือเปล่าค่ะ

วันนี้เพิ่งได้คุยถึงท่าน ที่สกศ.เราเรียกท่านว่า พ่อหลวงจอนิ...และเราประทับใจท่านมาที่ท่านมาประชุมโดยไม่สวมรองเท้าและใส่หมวกใบเท่ค่ะ

 

แปลกมาค่ะ....

พิมพ์คอมเม้นท์ไป แต่ไม่ปรากฏเลย...ฮา ๆ

ขี้เกียจพิมพ์ใหม่แล้วค่ะ ฝากความระลึกถึง พฤ และ ศิวกร ด้วยค่ะ

สบายดีนะคะ

อ้าวววว....มาดูอีกทีคราวนี้สองคอมเม้นท์เลย อิอิ

สวัสดีครับอาจารย์

แหะ แหะ มาสามเลยครับ...

แรก ๆ ผมก็เรียกว่าพ่อหลวงครับ แต่หลัง ๆ สนิทมากขึ้นก็เรียกพะตี

ผมมีโอกาสพบท่านราวปีละคร้ังสองคร้ังครับ สุขภาพท่านยังแข็งแรง อารมณ์ขันเหมือนเดิม

ผมไม่ได้ขึ้นไปที่หนองเต่านานแล้วครับ เจอพฤในเมืองเมื่อหลายปีก่อน ส่วนแซวะนั้นไม่ได้พบเลย ทราบเรื่องราวของสองหนุ่มจากปากพะตีจอนิเมื่อคราวพบกันล่าสุดครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท