หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ชาวปกาเกอะญอ ลูกหลานท่านพะวอ


คนกับป่า

      เดือนสิบเอ็ด ปีมะแม พุทธศักราช ๒๓๑๘  กองทัพทหารพม่าโดยอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพหลวง ได้เคลื่อนทัพใหญ่จากเมืองเมาะตะมะข้ามแม่น้ำต่องยินแล้วหยุดพัก

      การเคลื่อนทัพของพม่าอยู่ในสายตาของทหารไทยบนยอดเขาเหนือด่านแม่ละเมา ท่านพะวอ จึงให้ม้าเร็วนำข่าวไปแจ้งยังเมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร และเมืองอื่น ๆ ตามรายทางเพื่อรวบรวมกำลังพลไว้ตีต้านทัพพม่า รวมทั้งส่งข่าวไปถึงทัพของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ให้แจ้งต่อไปยังกรุงธนบุรี

      ล่วงถึงปลายเดือนสิบเอ็ด กองทัพพม่าเคลื่อนทัพมาถึงด่านแม่ละเมา เพื่อเป็นการขัดตาทัพและประวิงเวลา รอกำลังจากเมืองระแหง ท่านพะวอตัดสินใจนำกำลังทหารที่มีอยู่เข้าปะทะกับข้าศึกอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ท่านพะวอและทหารกล้าได้ต่อสู้กับทหารพม่าจนถูกสังหารจากการรบราคาด่านแม่ละเมา

 

      เรื่องราวของนายด่านพะวอ นับรบชาวปกาเกอะญอ ที่ปักหลักสู้กับทัพพม่า ซึ่งกรีธาทัพผ่านด่านแม่ละเมาไปยังเมืองระแหง เป็นตำนานเล่าขานมาหลายชั่วอายุคน ถึงแม้ว่า “ท่านพะวอ” จะมิได้ปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดาร แต่ชาวปกาเกอะญอ แถบนี้ต่างรับรู้ถึงวีรกรรมของท่าน มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขา ได้เคยเข้าร่วมกับท่านพะวอในการปกป้องด่านแม่ละเมา และพลีชีพร่วมรบกับทหารพม่า เพื่อปกป้องแผ่นดินสยาม และนับถือท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คอยปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข

      ในอดีต คราวที่ข้าวยากหมากแพง ชาวปกาเกอะญอจะเดินทางไปยังศาลเจ้าพ่อพะวอ ซึ่งจะนำชะลอมติดไปด้วย แล้วก็อธิษฐานขอสิ่งของจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง อาหาร เสื้อผ้าอาหาร ทิ้งชะลอมไว้คืนหนึ่ง เช้ากลับมาก็จะพบสิ่งของที่ขออยู่ในนั้น

      นอกจากนั้นยังมีตำนานเล่าขานว่า “แม่นางแก้ว” หญิงสาวของ “ท่านพะวอ” ซึ่งเป็นหญิงสาวในหมู่บ้าน เมื่อคราวที่ท่านพะวอเกณฑ์ไพร่พลไปรักษาด่านแม่ละเมา ต่อมาไม่นานนักแม่นางพบว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงได้ออกเดินทางจากหมู่บ้านเพื่อไปหาท่านพะวอ แต่ก็เดินทางไปได้ไม่ไกลจากหมู่บ้านนักก็ล้มลงสิ้นใจ ปัจจุบันยังมีศาล “แม่นางแก้ว” ตั้งอยู่

      ชาวบ้านแถบนี้ให้ความเคารพนับถือ “ศาลแม่นางแก้ว” เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านเป็นหญิงสาวของท่านพะวอ และแม่นางแก้วเองก็มีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปกปักรักษาผู้ใช้เส้นทางเดินทางสัญจรไปมา เนื่องจากแม่นางแก้วต้องพลัดพรากจากท่านพะวอ เหตุที่ท่านเป็นทหาร แม่นางจึงไม่ชอบทหาร บรรดาชายไทยที่ไปบนบานกับท่านไม่ให้ติดทหารก็จะสมหวังทุกคนไป

คำสำคัญ (Tags): #พะวอ#แม่นางแก้ว
หมายเลขบันทึก: 290906เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านสนุกค่ะ

เรื่องราวต่างๆที่เล่าขานกันมา ล้วนมีคุณค่าทางด้านจิตใจ

และทำให้เราสืบสานต่อถึงที่มาของชนชาติต่างๆ

ตำนานเล่าขาน ปากต่อปากจึงมีที่มาที่น่าติดตาม เรียนรู้

ขอถ่ายเอกสารไปให้เด็กน้อยอ่านนะคะ

และเรื่องราวอย่างนี้

ครูต้อยรู้ว่ามันชวนให้เด็กน้อยของครูต้อย

มามุงกันแย่งกันอ่านอย่างใจจดใจจ่อ

พร้อมทั้งเกิดคำถามให้ครูต้อยได้คิด

ไม่ต้องเป็นโรคสมองเสื่อมไงคะ

ขอบคุณค่ะ

P พี่ krutoi ครับ

ผมได้ทำหนังสือทำมือเรื่องเล่าจากป่าคาด้วยนะครับ

ถ้าต้องการส่งให้ได้ครับ

มีข้อแม้ว่า

....

....

....

....

....

ต้องส่งที่อยู่ที่จะส่งหนังสือให้ครับ

มิฉะนั้นส่งไปไม่ถูกครับ ฮิ ฮิ

 

  • ขอบคุณ คุณหนานเกียรติมากครับ ที่พลิกฟื้นที่บันทึกไว้ให้ผมหาอ่านง่ายขึ้น
  • พูดถีงแม่สอด หลายๆคนว่าคือเมืองฉอด  แต่ผมสงสัยจริงๆ ว่า..เป็นไปได้หรือไม่เพราะ
  • เมืองท่าสองยางเก่า มีคูเมือง ๒-๓ชั้น มีศิลปสมัยเชียงแสนมากมายที่ขุดพบ แผ่นอิฐ ขนาดจะใหญ่กว่าอิฐบล๊อกปัจจุบัน รุ่นราวคราวเดียวกับขนาดอิฐของพระธาตุแช่แห้งเมืองน่าน ทีเดียว
  • ที่สำคัญ ใกล้ๆเมืองถ่านหินลิกไนต์เก่า ติดกับบ้านแม่ตื่น มีโบราณ อยู่กลางเขา เหมือนสถานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คล้ายกับเป็นสถานที่สำคัญซักอย่างหนึ่ง
  • หากจะเดินจากเมืองท่าสองยาง มาที่บ้านแม่หละ เข้าบ้านทุ่งต้นงิ้ว ลัดมาที่ข้างบ้านแม่ตื่น ไปบ้านกิ่วสามล้อ ทะลุที่ไปที่เจดีย์ชนช้างพ่อขุนรามคำแหงกับเจ้าเมืองฉอด จะไปง่ายกว่า.....
  • ทางจากแม่สอด ผ่านด่านแม่ละเมา เข้าขุนห้วยแม่ท้อ ไปที่อำเภอบ้านตาก
  • ที่พูดอย่างนี้ เพราะเคยเดินทะลุ..มาแล้วในอดีตครับ
  • เป็นความคิด ที่สันนิษฐานจากความยากง่ายของการเดินทาง..เท่านั้นครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ สามสัก

โห... เจอผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริงแล้ว

สงสัยต้องขอความรู้เพิ่มเติมแล้วล่ะครับ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท